Search
Close this search box.

Well-Being ความคาดหวังต่อคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับคนทำงานยุคปัจจุบัน

Well-Being ความคาดหวังต่อคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับคนทำงานยุคปัจจุบัน

หากองค์กรของคุณอยากเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีผลกำไรเพิ่มขึ้น และลูกค้าประทับใจ วิธีที่ดีที่สุด ไม่ใช่การพยายามเพิ่มยอดขาย ตั้ง KPI สูงๆ หรือซื้อเทคโนโลยีดีๆ แพงๆ แต่มันคือวิธีง่ายๆ นั่นคือ การสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้พนักงานในองค์กรของคุณ คำถามก็คือ ความเป็นอยู่ที่ดี หรือคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงานมีผลต่อการเติบโตขององค์กรอย่างไร แล้วเราจะสร้างความคุณภาพชีวิตที่ดีให้พนักงานได้อย่างไรบ้าง ?

จริงๆแล้วความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานนั้นมีผลมากทีเดียวต่อผลกำไรของบริษัท จากงานวิจัยของ The Economics of Wellbeing by Tom Rath & Jim Harter and Positive Intelligence ระบุว่า หากพนักงานในองค์กรมีความเป็นอยู่ที่ดี ใช้ชีวิตได้อย่างไม่ลำบาก

  • จะมีผลการทำงานที่ดีขึ้นถึง 31 %
  • พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น 3 เท่า
  • พนักงานมี Engagement รู้สึกผูกพันต่อองค์กรเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า
  • มีพนักงาน 40 % ได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น
  • สามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นได้อีกถึง 37 %
  • และพนักงานมีความรู้สึกภาคภูมิใจ และพึงพอใจในงานที่ทำเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า

ที่สำคัญนอกจากความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานจะมีผลอย่างมากมายต่อบริษัทแล้ว จากการศึกษาวิจัยพบว่า คนทำงานยุคใหม่ มีความคาดหวังต่อ Well – Being ความเป็นอยู่ที่ดีจากการทำงานมากกว่าได้ทำงานในตำแหน่งใหญ่ๆ หรืออยู่ในองค์กรโตๆ มากถึง 40 % พูดง่ายๆ ก็คือ คนทำงานยุคใหม่มักเลือกที่จะทำงานที่มอบคุณภาพชีวิตที่ดี สวัสดิการที่ดี และโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้ และการเติบโต มากกว่าจะทำงานที่มั่นคงหรือตำแหน่งใหญ่โต แต่ไม่ได้เรียนรู้หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีนัก

แล้วองค์กรยุคใหม่ที่อยากจะสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน มอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้พนักงาน ควรใส่ใจอะไรบ้าง ? เพราะมันเป็นความจริงว่า หากองค์กรของคุณต้องการดึงดูดคนเก่งๆเข้าร่วมทีม เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่คนเก่งๆ จะพิจารณา นอกจากนี้ยังเป็นการรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้นานขึ้นอีกด้วย

Well-Being 1. Positive Emotion at work

คือการสร้างบรรยากาศที่ดีและสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน ทั้งนี้มันก็ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจและวัฒนธรรมองค์กรด้วยเช่นกัน เช่น หากเป็นองค์กรประเภททำงานเชิงสร้างสรรค์ แน่นอนว่าสภาพแวดล้อมที่ดีและเหมาะสมต่อการทำงานย่อมไม่ใช่การทำงานที่อุดอู้ หยุดนิ่ง หรือเข้มงวดจนเกินไปนัก แต่ควรเป็นบรรยากาศแบบเปิด สร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นกันได้ เป็นต้น

Well-Being 2. Positive Relationships at work

คือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันในการทำงาน หรือทำงานร่วมกันในบรรยากาศที่เป็นมิตร ไม่ใช่ทำงานแบบสภาวะไซโล เพราะเป็นความจริงที่ว่า 80 % ของคนส่วนใหญ่ไม่ได้ลาออกเพราะงาน แต่ลาออกเพราะคนต่างหาก เช่น ไม่สามารถทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานที่ทัศนคติไม่ตรงกันได้ หรือไม่สามารถทำงานกับหัวหน้าที่ไม่น่าศรัทธาได้ ทั้งหมดนี้ปัญหาหลักๆก็คือ “ช่องว่างของการสื่อสาร” นั่นเอง โดยองค์กรสามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการพยายาม Feedback กันบ่อยๆ วิจารณ์งานอย่างตรงไปตรงมา และสร้าง Psychological Safety หรือพื้นที่ปลอดภัยตรงกลางที่พนักงานทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาได้

Well-Being 3. Meaning and Purpose at work

คือการทำให้พนักงานรู้สึกว่างานที่กำลังทำอยู่เป็นงานที่มีความหมายและมีผลต่อองค์กร ที่สำคัญคือต้องทำให้พนักงานเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนด้วยเช่นกัน เพราะการได้รู้สึกว่างานที่กำลังรับผิดชอบอยู่นั้นช่วยทำให้องค์กรเติบโตขึ้น มีผลกำไรที่มากขึ้น โดยทั้งหมดนี้เป็นผลจากการทำงานของพนักงาน มันย่อมสร้างความภาคภูมิใจ รู้สึกได้สร้างคุณค่าให้องค์กร และนั่นย่อมส่งผลให้พนักงานอยากทำผลงานให้ดีขึ้นต่อไปด้วยเช่นกัน

Well-Being 4. Fairness Benefit

คือผลตอบแทนที่เป็นธรรมเมื่อพิจารณาจากผลงานของพนักงาน เพราะหากคุณมีพนักงานฝีมือดีที่สามารถทำงานให้คุณและสร้างผลงานต่อองค์กรให้เติบโตขึ้นได้ นั่นหมายความว่าองค์กรของคุณจำเป็นต้องพึ่งพาพนักงานคนนี้ แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าองค์กรจะต้องมอบหมายงานยากๆหรือความรับผิดชอบมากมายให้กับพนักงานเพียงเพราะเขาสามารถทำผลงานได้ดี โดยไม่มีผลตอบแทนใดๆเพิ่มเติม หรือโอกาสในการก้าวหน้า เพราะนั่นย่อมทำให้พนักงานดีๆ รู้สึกขาด Motivation และแน่นอนว่าพวกเขาย่อมต้องมองหาโอกาสในการเติบโตที่ดีกว่า หรือความก้าวหน้าที่เพิ่มขึ้นได้มากกว่าการอยู่ที่เดิม

แน่นอนว่าการที่พนักงานมีคุณภาพชีวิต มีความเป็นอยู่ที่ดี นอกจากจะทำให้พนักงานรู้สึกดี ผูกพันต่อองค์กร และรู้สึกพอใจในงานของตัวเองแล้ว (Job Satisfaction) ยังทำให้พนักงานรู้สึกเป็นเจ้าของงานที่ตัวเองทำ เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญขององค์กรจริงๆ และนั่นย่อมทำให้พนักงานรู้สึกภาคภูมิใจในงานของตัวเอง เพราะการที่องค์กรของคุณเต็มไปด้วยพนักงานที่มีความสุข ความพอใจในการทำงาน นั่นก็คือ “ผลกำไร” ของบริษัทแล้วนั่นเอง

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง