HIGHLIGHT
|
การลาออกนั้นถือเป็นเรื่องปกติของการทำงาน และเป็นสิทธิที่พนักงานทุกคนสามารถตัดสินใจได้ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งเล็กหรือใหญ่เพียงใดก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นปัญหาอาจจะมาจากเรื่องของเหตุผลในการลาออก ที่บางครั้งก็ดูสมเหตุสมผล แต่บางครั้งก็ไม่เป็นเหตุผลที่สมควรเอาเสียเลย แถมบางทียังไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการทำงานด้วยซ้ำ มาลองดูกันว่าสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้พนักงานอยากจะลาออกมีอะไรกันบ้าง
1. มีปัญหาเรื่องคน
ปัญหายอดฮิตติดอันดับต้นๆ ของสาเหตุการลาออกก็คือเรื่องคนนี่ล่ะ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาระหว่างเพื่อนร่วมงาน, ความขัดแย้งกับเจ้านาย, การมีปากเสียงกับลูกน้อง, หรือแม้กระทั่งทะเลาะกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่องตลอดจนเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงานเลยแม้แต่น้อย แต่เมื่อมีความขุ่นข้องหมองใจกันแน่นอนว่าย่อมมีผลกระทบต่อการทำงานไม่มากก็น้อย หรืออาจจะทำให้ไม่อยากทำงานที่นี่ต่อเลยเสียด้วยซ้ำ ปัญหาเรื่องคนอีกกรณีอาจจะไม่ได้เกิดการกระทบกระทั่งกันโดยตรง แต่อาจจะเกิดจากการนินทาว่าร้าย, โยนความผิด, หรือมีพฤติกรรมที่บั่นทอนสุขภาพจิตคนอื่น ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่อยากร่วมงานได้เช่นกัน
2. มีปัญหาเรื่องสุขภาพ
ปัญหาด้านสุขภาพถือเป็นอีกสาเหตุอันดับต้นๆ ของการลาออก แล้วสาเหตุนี้ก็ดูจะสมเหตุสมผลที่สุด โดยเฉพาะหากมีใบรับรองแพทย์หรือคำสั่งแพทย์อย่างเป็นทางการ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่บริษัทจะรั้งตัวไว้หรือตำหนิพนักงานคนนั้น ปัญหาสุขภาพบางเรื่องก็เป็นเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ โรคประจำตัว หรือแม้แต่อุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน แต่ปัญหาสุขภาพบางอย่างก็มีสาเหตุมาจากการทำงาน ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ อย่างเช่นโรคเครียด, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, ประสาทตาอักเสบ, หรือบางทีก็อาจเกิดอุบัติเหตุขณะเวลาทำงานได้เหมือนกัน
3. งานเยอะจนเกินพอดี
ยุคนี้หลายบริษัทมักจะมีนโยบายการจ้างงานด้วยอัตราเงินเดือนที่น้อย แต่ต้องจ้างให้คุ้มค่าที่สุด ด้วยการให้ทำงานมากมายหลายอย่างพร้อมกัน หรือรวมงานจากหลายๆ ตำแหน่งมาไว้ในตำแหน่งเดียว งานที่มากจนเกินพิกัด (Overload) นี้อาจเกิดตั้งแต่ตอนตกลงจ้างงาน แต่พอทำจริงๆ แล้วทำไม่ไหว หรืออาจเพิ่มเติมภายหลังที่ไม่ได้มีการตกลงกันมาก่อน แล้วทำให้ความรับผิดชอบเยอะจนเกินไป หากพนักงานทำไม่ได้ รับไม่ไหว หรือรู้สึกโดนเอาเปรียบจนเกินไป ก็จะลาออกในที่สุด
4. ทำงานที่ไม่ชอบ ได้รับมอบหมายงานที่ไม่ถนัด
การได้ทำงานที่ชอบและถนัดจะทำให้พนักงานมีความสุขกับการทำงานและอยู่กับองค์กรได้นาน แต่การทนทำงานที่ไม่ชอบ หรือได้รับมอบหมายงานที่ไม่ถนัด ก็อาจทำให้เกิดความอึดอัด หรือทำให้ทำงานออกมาไม่ดีได้เหมือนกัน บางครั้งสถานการณ์เหล่านี้ไม่ใช่ความท้าทายสำหรับบางคน มันอาจกลายเป็นความไม่มั่นใจและเป็นผลเสียเสียมากกว่า และก็เป็นสาเหตุให้ลาออกได้ในที่สุด
5. อัตราจ้างต่ำเกินไป และต้องการปรับเงินเดือนขึ้น
ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าเงินเดือนมีผลต่อการทำงานของมนุษย์ออฟฟิศแทบทุกคน และเงินเดือนก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่บริษัทใช้จูงใจให้พนักงานร่วมงานอยู่ได้ เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงแล้วเงินกลายเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบันนี้ไปแล้ว และทุกคนก็ย่อมอยากได้เงินเดือนที่สูงไม่ต่างกัน ในระบบบริษัทอัตราเงินเดือนอาจหมายถึงความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน, ความรับผิดชอบ, หรือแม้แต่เรื่องของโบนัสที่มักแปรผันตรงกับศักยภาพและความสามารถ จึงไม่ผิดเลยที่ว่ามนุษย์เงือนเดือนทุกคนจะอยากได้เงินเพิ่มอันเนื่องมาจากเหตุผลด้านอื่นๆ ด้วย พนักงานหลายคนย้ายบริษัทบ่อยมากแต่นั่นไม่ใช่เพราะเขาทำงานแย่ ตรงกันข้ามเขาทำงานเก่งจนได้รับข้อเสนอในเรื่องอัตราจ้างที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จากบริษัทต่างๆ ที่ต้องการซื้อตัว และนั่นก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่พนักงานในยุคนี้ใช้การย้ายงานเพื่อเพิ่มฐานเงินเดือนของตัวเองให้สูงขึ้นเรื่อยๆ และทำให้เกิด Job Hopper มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียของโลกธุรกิจไปพร้อมๆ กัน
6. สวัสดิการไม่ดีพอ
องค์กรที่ดีมักจะดูแลใส่ใจเรื่องสวัสดิการของพนักงานได้ดีตามไปด้วย ซึ่งนี่ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พนักงานอยู่ในองค์กรได้ยืนยาว โดยเฉพาะสวัสดิการเรื่องสุขภาพและการรักษาพยาบาล ที่พนักงานหลายคนเลือกทำงานกับองค์กรที่ดูแลเรื่องนี้อย่างดี หรือแม้แต่สวัสดิการย่อยๆ อย่างค่าเดินทาง, ค่าล่วงเวลา, หรือแม้แต่วันหยุด หากองค์กรให้อย่างไม่คุ้มค่า เอาเปรียบพนักงาน ก็ย่อมทำให้พนักงานอยากลาออกไปยังบริษัทที่ให้สวัสดิการที่ดีและคุ้มค่ากว่า
7. ปัญหาโครงสร้างบริษัท
ไม่ใช่แค่เรื่องของคนเท่านั้นแต่ตัวองค์กรเองก็มีผลต่อการลาออกได้เหมือนกัน บางบริษัทมีโครงสร้างงานที่ใหญ่มาก มีตำแหน่งที่เยอะมาก มีทิศทางความก้าวหน้าในอาชีพการงานที่ชัดเจน ก็อาจเป็นแรงจูงใจที่ดีที่ทำให้พนักงานอยากทำงานในองค์กรนี้ไประยะยาว แต่ในทางตรงกันข้ามบริษัทที่ไม่ได้มีการวางแผนผังงานที่ชัดเจน ไม่มีแนวทาง Career Path ของแต่ละตำแหน่งที่เห็นได้ชัด หรือเป็นบริษัทขนาดเล็กที่เห็นได้ชัดว่าไม่มี Career Path แน่นอน ก็อาจทำให้พนักงานไม่เห็นอนาคตความก้าวหน้าของตัวเอง ไม่ตอบโจทย์ความสำเร็จในชีวิต ซึ่งก็อาจทำให้พนักงานลาออกไปหาองค์กรที่มั่นคงกว่า มีแนวโน้มก้าวหน้ากว่าก็เป็นได้
8. เจ้านายบริหารงานไม่เก่ง
ถึงแม้ว่าพนักงานคนนั้นจะได้ทำงานที่ชอบ ตำแหน่งที่ใช่ ตัวงานท้าทาย เข้าทางไปเสียทุกเรื่อง แต่อาจกลับตกม้าตายด้วยเรื่องง่ายๆ ที่ดูจะเป็นเรื่องตลกร้ายก็คือการได้เจ้านายที่ไม่เอาไหน บริหารงานไม่เก่ง ยิ่งถ้ามีการประเมินผลงานเป็นทีม เป็นแผนก ทำดีแทบตายอาจได้ผลงานรวมที่แย่ เพราะเจ้านายห่วย ก็อาจทำให้พนักงานคนนั้นรู้สึกแย่และไม่ได้รับความยุติธรรมก็เป็นได้ และยิ่งถ้าบริษัทไม่สามารถเห็นปัญหาในจุดนี้ได้ พนักงานที่มีความสามารถส่วนใหญ่ก็มักตัดสินใจย้ายไปทำงานใหม่ทันที
9. องค์กรไม่ได้ใช้ความสามารถของพนักงานอย่างมีประสิทธิภาพ
คนที่ชอบทำงาน ทำงานดี ทำงานก่ง และทุ่มเทในการทำงาน ไม่ว่าจะอยู่องค์กรใดก็ตามพวกเขาย่อมคาดหวังว่าจะได้ทำงานที่ตนเองเลือกอย่างเต็มความสามารถ เพื่อเป็นการพัฒนาตัวเอง ตลอดจนสร้างก้าวหน้าในอาชีพด้วย หากพนักงานไม่ได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่อย่างที่คาดหวังไว้ อาจจะทำให้เบื่อหน่าย หรือรู้สึกว่าไม่ได้พัฒนาตัวเอง พนักงานในกลุ่มนี้ก็มักจะไม่ทนอยู่ และมักจะหาองค์กรใหม่ที่มีงานที่ท้าทายและสนุกกว่า
10. องค์กรไม่เห็นศักยภาพและไม่ส่งเสริมพนักงานให้ก้าวหน้า
บ่อยครั้งที่องค์กรได้พนักงานเก่งๆ มาอยู่ในมือ หรือพนักงานพัฒนาตัวเองจนมีศักยภาพขึ้นมา แต่บริษัทไม่เห็นตรงส่วนนี้ หรือเห็นแล้วเพิกเฉย ละเลย ไม่สนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้า พนักงานก็อาจไม่อยากร่วมงานกับองค์กรเช่นกัน กรณีนี้อาจเกิดจากการไม่มอบหมายงานที่ท้าทายให้ ไม่ไว้ใจให้ทำงานที่อยากทำ ไม่เลื่อนตำแหน่ง ไม่ปรับขึ้นเงินเดือน หรือแม้แต่ไม่พิจาณาโบนัสให้ตามความเหมาะสม สาเหตุเหล่านี้ก็อาจทำให้พนักงานอยากเปลี่ยนองค์กรที่เห็นศักยภาพของตนมากกว่าเช่นกัน
11. ชีวิตเสียสมดุล
บางคนให้ความสำคัญกับเรื่อง Work-Life Balance มากๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่รักในการสร้างสมดุลชีวิตให้พอดี ไม่ทำงานหนักจนทำให้สุขภาพแย่ ไม่บ้างานจนทำให้ชีวิตพัง ไม่ขี้เกียจทำงานจนทำให้เลี้ยงชีพไม่รอด ไม่ทำงานที่ทำให้ชีวิตมีความทุกข์ หรือไม่รับงานที่ทำให้วิถีชีวิตของตัวเองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง อย่างเช่น งานที่ต้องเดินทางตลอดเวลาทำให้ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว, งานที่ต้องทำในเวลากลางคืนขัดกับวิถีชีวิตปกติทั่วไป, งานที่ทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อนหรือออกกำลังกาย, งานที่ต้องทำวันเสาร์-อาทิตย์เพิ่มเติม, หรือแม้แต่ออฟฟิศที่อยู่ไกลจนทำให้มีปัญหาเรื่องการเดินทาง หากพนักงานสร้างสมดุลให้กับชีวิตตัวเองไม่ได้ วิถีชีวิตทุกอย่างจะกระทบไปหมด และนั่นก็เป็นสาเหตุให้ต้องยื่นใบลาออกได้เหมือนกัน
12. ย้ายถิ่นฐาน
อีกเหตุผลสำคัญหนึ่งของการลาออกก็คือการย้ายถิ่นฐานของพนักงาน ตั้งแต่ย้ายบ้านไปอยู่อีกเขตที่ทำให้เดินทางลำบากขึ้น ครอบครัวต้องย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด หรือแม้แต่ต้องย้ายไปทำงานต่างประเทศ ก็เป็นเหตุสำคัญที่อาจไม่เกี่ยวกับเรื่องงานโดยตรง แต่ทำให้พนักงานตัดสินใจลาออกได้
13. กลับไปช่วยธุรกิจของครอบครัว เปิดกิจการเป็นของตัวเอง
อีกเหตุผลคลาสสิกทุกยุคทุกสมัยก็คือการถูกเรียกให้กลับไปช่วยบริหารงานธุรกิจของครอบครัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักเป็นเหตุผลส่วนตัวและอาจเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับใครบางคน หรือบางคนต้องการลาออกก็เพื่อที่จะไปทำธุรกิจส่วนตัว เริ่มต้นกิจการของตัวเอง โดยเฉพาะหลังช่วงได้รับเงินก้อนจากโบนัส พนักงานอาจอยากเริ่มต้นธุรกิจใหม่ของตน หรือใช้ประสบการณ์จากการทำงานไปต่อยอดธุรกิจที่ตนเห็นลู่ทางประสบความสำเร็จ
14. เบื่อหน่าย อิ่มตัว งานไม่ท้าทายอีกต่อไป
หากพนักงานรู้สึกเบื่อหน่าย สิ้นหวัง ในการทำงาน ประเภทที่ว่าตื่นลืมตามาทุกเช้าแล้วรู้สึกว่าไม่มีอะไรน่าสนใจ ไม่อยากไปทำงาน เบื่อออฟฟิศ เบื่อความจำเจ เบื่อพฤติกรรมซ้ำเดิม ก็เป็นเหตุให้อยากลาออกได้ หรือบางทีก็เป็นเหตุผลง่ายๆ สุดแสนจะคลาสสิกแต่ทว่าดูเกือบจะไร้เหตุผลอย่าง “ถึงจุดอิ่มตัว” ซึ่งพนักงานบางคนอาจทำงานนั้นมานานจนเกิดความเบื่อหน่าย การลองเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ หรือแม้แต่การเปลี่ยนสายงานใหม่ไปเลย ก็อาจเป็นทางออกที่ดีในกรณีนี้เช่นกัน
15. เหตุผลที่ไร้เหตุผล
สุดท้ายแล้วบางเหตุผลของการลาออกก็เป็นเรื่องที่ไร้เหตุผลสิ้นดี อย่างเช่น อกหักกับคนในออฟฟิศ, ย้ายตามคนรักไปอีกบริษัท, หนีหนี้, หรือแม้แต่อยากออกเดินทางท่องโลกเพื่อหาประสบการณ์ใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้บางทีก็ดูไร้เหตุผล แต่บางทีก็ดูเป็นเหตุผลสำคัญ และแฝงไปด้วยความตั้งใจอันแรงกล้าอยู่ ฝ่ายบุคคลอาจต้องมองเหตุผลและให้ดีว่าการตัดสินใจลาออกของพนักงานคนนั้นเป็นเรื่องที่ควรหรือไม่ควร เพื่อจะได้เลือกจบกันอย่างสวยงาม หรือว่าลาจากกันด้วยความโกรธเคืองจนมองหน้าไม่ติด
บทสรุป
การลาออกนั้นเป็นสิทธิของพนักงานทุกคนที่ทำได้ บริษัทเองก็ควรจะรับฟังเหตุผลจากการลาออกนั้นๆ เช่นกัน พนักงานก็ควรมีการแจ้งเหตุผลที่สมเหตุสมผล ไม่ควรออกไปดื้อๆ บริษัทเองถ้าพบปัญหาแล้วสามารถแก้ไขได้ทันท่วงทีก็อาจสามารถยับยั้งการลาออกของพนักงานได้เช่นกัน แล้วถ้าหากมีการลาออกจริงๆ การจบลงกันอย่างสวยงาม ย่อมดีกว่าการจากลาที่สร้างรอยร้าว และอาจเป็นประวัติที่ไม่ดีได้ การให้เหตุผลที่เหมาะควร จะทำให้รักษาน้ำใจกันได้ดีทั้งสองฝ่าย ไม่มีเรื่องบาดหมาง และเราไม่รู้ว่าอนาคตอาจได้กลับมาร่วมงานกันอีกครั้งก็เป็นได้ ฉะนั้นการรักษาสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด