Search
Close this search box.

4 โฟกัสที่องค์กรไม่ทำไม่ได้ ฉบับรับมือ 2021 เมื่อ New normal กลายเป็นแค่อดีต

จงโอบกอดและฝันใฝ่ในเทคโนโลยี แต่อย่าเผลอไผลกลายร่างกลายเป็นมัน”

 – Gerd Leonhard –

Content สุด Premium ในวันนี้ทีมงานของ HREX ได้รับเกียรติเป็นแขกรับเชิญให้ไปเก็บเนื้อหาชิดติดขอบเวทีถึงโรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท กรุงเทพฯ จากงานสัมมนาที่มีชื่อว่า ‘Business ‘Turn’ formation ซึ่งจัดโดย Edutech Thailand และ Scoutout บริษัทที่อยู่เบื้องหลังระบบสมัครงานของบริษัทน้อยใหญ่มากกว่า 2 หมื่นกว่าบริษัท ที่มีผู้สมัครงานเข้าไปใช้บริการแล้วกว่า 1.5 ล้านคน

บทความนี้สำหรับ

  • HR ที่ไม่อยากตกขบวนความเปลี่ยนแปลง ต้องการมีส่วนร่วมในการช่วยให้องค์กรก้าวข้ามความท้าทายในช่วงปี 2020-2022
  • ผู้บริหาร หัวหน้า นายจ้าง ที่ต้องการ ‘เข็มทิศ’ เพื่อจัดลำดับความสำคัญในการบริหารธุรกิจ บริหารทีม บริหารงาน เนื่องจากความวุ่นวายของสิ่งที่ดูเหมือนต้องทำจำนวนมาก
  • คนทำงานที่อยากรู้ว่าคนระดับบนขององค์กรกำลัง ‘ให้ค่าเรื่องอะไร’ คนที่มีทักษะแบบใด, Mindsets แบบไหนที่องค์กรให้ความสำคัญเพื่อที่จะได้พัฒนาตัวเองให้ถูกทิศทางตลาดแรงงาน

หากจากฟังจากชื่องานก็คงจะรู้ได้ทันทีว่าเป็นงานจากฝั่ง ‘ธุรกิจ’ ไม่ใช่ฝั่ง ‘HR’ โดยตรง แล้วทำไมเราถึงเลือกที่จะนำเสนอเนื้อหาจาก Event นี้  นั่นก็เพราะเราบอกเสมอว่า HR NOTE.asia อยากจะเป็น “สะพานเชื่อม” ระหว่างผู้เชี่ยวชาญทั้งในและนอกวงการกับคนที่ทำงานทรัพยากรบุคคล

เราจะขยาย ‘ขอบฟ้า’ ความรู้ของคุณให้กว้างขึ้นให้เห็นว่างาน HR ไม่ได้มีแต่ทำเรื่องขาด ลา มาสาย คิดเงินเดือน แต่ยังเกี่ยวเนื่องโยงใยอย่างใกล้ชิดกับทุกภาคส่วนขององค์กรธุรกิจ ดังเนื้อหาที่เราจะพูดถึงในบทความนี้

Session ที่เราเลือกหยิบมานำเสนอในโพสนี้มีชื่อว่า Turn People ปรับวัฒนธรรมองค์กรและบริหารจัดการบุคคลากรให้ทันธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง บรรยายโดย คุณวันเฉลิม สิริพันธุ์ Managing partner จากบริษัทที่ปรึกษา ‘Pragma and Will Group Company Limited’ ที่นิยามตัวเองว่าเป็นบริษัทที่จะช่วย ‘Integrate organization and people with technology’ บริษัทที่พยายามทำให้คนและเทคโนโลยีอยู่ด้วยกันได้

 

.

คุณวันเฉลิมเริ่มจากการตั้งคำถามหลักๆ 2 ข้อได้แก่

1. เมื่อเข้าสู่ New normal แล้ว…

  • มีปัจจัยอะไรบ้างที่เราต้องสนใจ ? (เมื่อมีความกังวลหลักร้อย หลักหน่วยที่เราต้องโฟกัสคือเรื่องอะไร)
  • เราจะปรับตัวอย่างไร เราจะปรับธุรกิจยังไง ? (เมื่อทราบแล้วว่าเรื่องนั้นคืออะไร แล้วจะ Take action ต่ออย่างไร)

2. เมื่อ New normal กลายเป็นอดีต…What’s Next ?

( สถานการณ์ COVID-19 เริ่มจางลง เราจะปรับตัวหลังจากนี้อย่างไรต่อไป อะไรคือสิ่งที่เราจะต้องคำนึงบ้าง )

  • ทำอย่างไรให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้ (Sustain) เพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่ได้ฟื้นเร็วเท่าการแพร่ระบาดของโรค
  • COVID-19 เร่งอัตราการ Digital transformation ให้เกิดขึ้นแบบพริบตาเดียว แต่อย่าลืมว่าแทบทุกบริษัทก็มีการก้าวกระโดดในการใช้เทคโนโลยีไม่แตกต่างจากบริษัทของท่านเช่นกัน นั่นหมายความว่าความพัฒนาด้านดิจิตอลที่เกิดขึ้นในองค์กรของท่านอาจไม่ใช่แต้มต่อแต่อย่างใด สิ่งที่น่าตั้งคำถามมากกว่าคือเมื่อสถานการณ์เริ่มกลับเข้ามาเป็นปกติ การใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นได้หลอมรวมเข้าไปในวัฒนธรรมของอองค์กรจริงๆ หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นทั้งวิธีการสื่อสาร การใช้ซอฟแวร์ หรือคนกลับไปทำพฤติกรรมเดิมๆ เหมือนก่อนที่ COVID-19  จะเกิดขึ้น
  • โจทย์จึงเป็นการ ‘พลิกวิกฤติเป็นโอกาส’ ทำให้จังหวะเวลานี้เป็นช่วงที่จะผลักดันการใช้เทคโนโลยีให้เกิดขึ้นในองค์กรจนเป็นเรื่องปกติ ในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะตั้งคำถามว่า ‘แล้วเพียงเท่านี้พอแล้วจริงๆหรือ’ เพราะอย่าลืมว่าสุดท้าย COVID-19 ก็จะผ่านไป  แต่เทคโนโลยีไม่เคยหยุดพัฒนาแต่กลับเติบโตแบบอัตราเร่ง (Exponential)…ใช้ COVID-19 ให้เป็นชนวน แล้วก้าวนำไปข้างหน้าด้วยพลังของเทคโนโลยี

จากคำถามตั้งต้นทั้งสอง…คุณวันเฉลิมพูดถึง ‘แง่มุม’ ที่องค์กรควรที่จะต้อง ‘โฟกัส’ ก่อนเป็นอันดับแรกๆ จำนวน 4 เรื่อง ซึ่งปรับจาก Template ของบริษัท Pragma and Will Group ให้ผู้ฟังงานสัมมนาสามารถนำไปใช้ในการปรับโฟกัสใหม่ ทั้งนี้ 4 ข้อนี้เป็นเพียงกรอบในการคิดคร่าวๆ ที่แต่ละองค์กรหรือแต่ละบุคคลต้องนำไปปรับใช้ให้ตรงกับสถานการณ์ของตัวเองอีกครั้ง

Turn ‘PEOPLE’ No. 1 Culture: วัฒนธรรมองค์กรแบบไหนที่เราควรจะเป็น

Culture เกิดจาก Leader…นิสัยการทำงานของผู้นำเป็นยังไง วัฒนธรรมองค์กรก็ออกมาเป็นแบบนั้น

คุณวันเฉลิมเริ่มต้นจากการกล่าวถึง Case study ทั้งหมด 3 ข้อที่แสดงให้เห็น ‘ผลกระทบ’ ที่ Culture มีต่อองค์กร

Case study 1: เล่าถึงเคสเจ้าของธุรกิจที่เก่งมาก รู้รายละเอียดเกี่ยวกับธุรกิจทุกอย่าง ทำให้เผลอมีสไตล์การบริหารงานที่ Micromanage หรือลงรายละเอียดถึงขั้นที่อาจเรียกได้ว่า ‘จุกจิก’ กับลูกน้อง ผลสุดท้ายทำให้ลูกน้องไม่กล้าตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง กระบวนการต่างๆ ในบริษัทจึงวิ่งได้ช้าลง

Case study 2: บริษัทที่เจ้าของเป็นผู้ก่อตั้งมาตั้งแต่ต้น เจ้าของชอบลงมาทำงานเอง  แต่โครงสร้างองค์กรขาด Middle management ปัญหาคือเจ้าของไม่สามารถวางมือจากงานได้แม้ว่าจะอายุมากแล้ว ซึ่งเกิดจากการขาดการทำ ‘Succession plan’ หรือแผนงานส่งต่อไม้ผลัดกับคนรุ่นต่อไป ทีมงานรุ่นต่อไป ขาดการสร้างทีมที่สามารถดูแลบริษัทได้ด้วยตัวเอง

Case study 3: บริษัทต้องการสร้าง Culture ของการทำงานเป็นทีม แต่ระบบการประเมิน KPI รายปีที่พ่วงโบนัสเป็นแบบที่ประเมินผลงานส่วนบุคคล การสร้างวัฒนธรรมในการทำงานแบบ Teamwork  จึงล้มเหลว

เราจะเห็นแล้วว่า Culture เป็นเรื่องที่สำคัญกว่าที่คิด และเกี่ยวเนื่องโยงใยอยู่กับหลายสิ่ง เช่น สไตล์การบริหารงานของผู้นำ, การวัดผลประเมินผล, การสร้างทีม ฯลฯ ซึ่งในแต่ละเคสก็มีวิธีแก้แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้แทบทุกเคสล้วนมีจุดร่วมที่สามารถหาทางออกได้ดังคำแนะนำด้านล่างนี้

คำแนะนำจากคุณ วันเฉลิม สิริพันธุ์:

Culture ที่เราอยากสร้างจำเป็นที่จะต้อง Integrate เข้าไปในวิธีการบริหารองค์กรและระบบ HR เช่น จาก Case study 3 จะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลกว่ามากถ้าเราจะแบ่งการประเมินผลงานให้มีสัดส่วนของการประเมินผลงานแบบรายทีมเพิ่มขึ้น เช่น ประเมินทั้งทีมคิดเป็น 50% และคิดจากรายบุคคล 50%

อ้างอิงจากการที่ทีมงาน HREX.asia ได้เข้าร่วมงานเสวนาหลายเวทีในช่วงปี 2020…Speaker หลายคนต่างพูดไปไปในทิศทางเดียวกันว่าเรื่องของการเปลี่ยนแปลง Culture ในองค์กร จำเป็นอย่างมากที่จะเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงความคิดของของ “ผู้นำ” ให้ได้ก่อน ซึ่งเรื่องนี้สามารถนำมาประยุกต์ในระดับบุคคลได้เช่นกันในเรื่องของการบริหารจัดการทีม หากท่านเป็นผู้จัดการ หัวหน้า หรือเจ้าของธุรกิจส่วนตัว แล้วพบว่าสิ่งที่ท่านต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงยากกว่าที่คิดไว้ อาจเป็นไปได้ว่าวิธีการบริหารงานของท่านเองที่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชะลอการพัฒนานั้น ท่านอาจเริ่มจากการถามต่อตัวเองก่อนว่า “เพื่อที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กรดังกล่าว คิดว่าผู้นำสไตล์ไหน ระบบบริหารงานแบบใดที่จะช่วยผลักดันให้วัฒนกรรมองค์กรในลักษณะที่ต้องการเกิดขึ้นได้”

Turn ‘PEOPLE’ No.2 โครงสร้างองค์กร (Organization): แผนงาน โครงสร้าง ระบบต่างๆ ภายในองค์กรสะท้อนความเป็นจริงของตลาดแรงงานและเนื้องานที่เปลี่ยนแปลงไปจากผลของเทคโนโลยีแล้วหรือไม่

มี 3 ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของการออกแบบโครงสร้างองค์กรและการจ้างงานที่เราต้องกลับไปทบทวน ได้แก่…

– Job model: ด้วยความที่เทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ เราสามารถลดขั้นตอนการทำงานหลายๆอย่างให้ง่ายขึ้น ไวขึ้นได้หรือเปล่า สิ่งที่คุณวันเฉลิมแนะนำให้ทำคือเอาโครงสร้างองค์กรออกมากางแล้วถามว่า Job ไหนจะหายไปหรือไม่จำเป็นที่จะต้องใช้คนทำแล้ว หากเราพบแล้ว นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทางออกจำเป็นจะต้องเป็นการเอาคนออกเพียงอย่างเดียว  แต่เราจะทำอย่างไร ? ให้ดูเรื่อง Employment model ในหัวข้อถัดไป

– Employment model: การจ้างงานอาจจะไม่จำเป็นต้องทำในรูปแบบ Permanent เท่านั้น เราอาจจะทำในรูปแบบของการ Outsource หรือการ Freelance ทดแทนซึ่งมีความยืดหยุ่นมากกว่า

– Skills redesign: นอกจากการจ้างจากภายนอก เรายังสามารถมองย้อนกลับเข้าไปในองค์กรเพื่อวิเคราะห์หาคนที่มีศักยภาพในการ Upskills&Reskill  โดยอาจเริ่มจากการระบุว่าอะไรคือคุณสมบัติหลักๆ ในตัวคนเหล่านั้นที่สื่อถึง ‘ความสามารถในการปรับตัวเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ’ เช่น เราอาจจะต้องการคนที่มี Analytical thinking คิดวิเคราะห์เป็น ไปทำงานในตำแหน่งใหม่ๆ ในองค์กรที่ต้องใช้ความสามารถในการจัดการกับข้อมูล บุคคลนั้นจะต้องมีความสามารถในการมองภาพรวม สามารถที่จะคิดแบบเป็นตรรกะได้

มีผู้บริหารระดับสูงและผู้เชี่ยวชาญในการสรรหาทรัพยากรบุคคลหลายท่านที่พูดไปในทิศทางเดียวกันว่าวิธีการคัดเลือก Talent ยุคใหม่เป็นไปดัง Concept ที่ว่า “Hire from mindset and train for skills” หรือการจ้างที่ให้ความสำคัญกับ Hard skills และ Technical skills ไว้ที่หลัง เนื่องจากเป็นอะไรที่สอนกันได้เรียนรู้กันได้ไม่ยากนัก วิธีคิดใหม่คือการเลือกคนจาก Mindset, Attitude  หรือ Soft skills เป็นหลัก เราจะเลือกคนที่พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มี Passion และเห็นความสำคัญของอาชีพที่ตนเองทำ และมีความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค (Grid) เพราะคนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้เอง ที่ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ย่อมไม่ใช่ปัญหาเพราะเขามีเชื้อไฟที่เป็นแรงผลักดันอันเป็นผลมาจาก Mindset ที่ใช่ มีความเหมาะสมกับตำแหน่งและพันธกิจขององค์กร

Turn ‘PEOPLE’ No.3 คน (Talent): คนของเรามีทักษะที่ใช่หรือเปล่า และสิ่งที่พวกเขากำลังโฟกัสทำอยู่นั้นใช่สิ่งที่สำคัญเป็นอันดับแรกและมีความเหมาะสมกับโจทย์ความท้าทายที่องค์กรกำลังเผชิญอยู่หรือไม่

คุณวันเฉลิมพูดถึง 2   ‘คุณสมบัติ’ ที่ต้องกลับไปดูว่าคนในองค์กรของท่านมีแล้วหรือยัง เนื่องจากนิยามของ ‘Talent’ ในยุคสมัยนี้ได้เปลี่ยนแปลงไป

– T-shape skills: การมีความรู้เพียงแค่แคบๆ เพียงอย่างเดียวไม่พออีกแล้วสำหรับการทำงานในโลกปัจจุบัน ถ้าเปรียบการ ‘รู้ลึก’ เหมือนหางตัว T การ ‘รู้กว้าง’ ก็จะเปรียบกับหัวตัว T ที่แผ่กว้างออกไปทางซ้ายและขวา มีงานเกิดใหม่จำนวนมากที่มีลักษณะเป็น ‘Hybrid Jobs’ ที่ต้องอาศัยความรู้ทั้ง Hard skills และ Soft skills…คำถามคือคนในองค์กรของท่านมีคนที่เป็น T-shape skills มากน้อยแค่ไหน และพนักงานแต่ละคนสามารถที่จะเอาตัว T ของตัวเองมาเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเพื่อ Transform องค์กรให้พร้อมรับมือในทุกสถานการณ์ได้หรือไม่ หากพนักงานในบริษัทของท่านมีทักษะกว้างขวางมากพอ สิ่งนั้นย่อมเป็นไปได้

.- Agile behavior: ตัวนี้ไม่ใช่ความรู้หรือทักษะ แต่เป็นพฤติกรรม นั่นคือความกล้าเสี่ยง กล้าทดลองทำอะไรใหม่ๆ ในยุคสมัยหนึ่งคุณสมบัติเหล่านี้อาจถูกมองว่าไม่เหมาะสมในโลกการทำงานในอดีตที่บริษัทมองพนักงานเป็นเพียงฟันเฟืองชิ้นหนึ่งในสายการผลิต อะไรที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อความเสียหาย ควบคุมได้ยาก และคาดเดาไม่ได้ย่อมไม่ค่อยอยากถูกบรรจุอยู่ในพจนานุกรมของการบริหารยุคนั้นซักเท่าไหร่ แต่สำหรับวันที่ทุกอย่างล้วนผันผวนเป็นเรื่องปกติอย่างทุกวันนี้ ในวันที่สูตรสำเร็จในโลกใบเก่าถูกท้าทาย ในวันที่คำตอบที่ดีอาจต้องอาศัยความกล้าและการลองผิดลองถูก  การมี Agile mindset กลับกลายเป็นข้อได้เปรียบ หากคุณเป็นนายจ้างหรือหัวหน้าอาจจะต้องมานั่งทบทวนใหม่ว่าเราได้สร้างบรรยากาศในการทำงานที่เอื้อให้พนักงานสามารถทดลองทำอะไรใหม่ๆ ได้มากน้อยแค่ไหน หรือถ้าคุณอ่านในฐานะคนทำงานคนหนึ่งนั่นอาจหมายความว่าคุณอาจอาจต้องยอมอนุญาตให้ตัวเองเป็น ‘คนอ่อนหัด’ บ้างก็ได้ในบางสถานการณ์ เราจงใจทำแบบนั้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้ได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ ที่เราเองก็ไม่ถนัด ทว่าหากคุณฝึกพฤติกรรมเหล่านี้ไปซักพัก คุณอาจพบว่าขอบฟ้าทางทักษะอาจขยายไปไกลกว่าที่คิด รู้ตัวอีกทีคุณก็สามารถที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้จากการที่มองปัญหาเดิมด้วยมุมมองที่แตกต่างออกไป

Turn ‘PEOPLE’ No.4 เทคโนโลยี (Technology) การคิดวิเคราะห์ (Analytic) และการใช้ข้อมูล (Data)

คุณวันเฉลิมได้ยกตัวอย่างเคส ห้างสรรพสินค้าขายปลีก ที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างส่วนงานต่างๆ (รวมถึง HR) ที่ถูกผูกโยงเข้าด้วยกันผ่าน เทคโนโลยี การคิดวิเคราห์ และการใช้ข้อมูล

เริ่มจาก…

🔥 ระบบ(Data): เตือนขึ้นมาว่าผ้าอ้อมเด็กจะขายดีที่ supermarket สาขา A

🔥 เทคโนโลยี (Technology): ระบบเลยเตือนไปที่คลังสินค้าว่าสินค้ากำลังจะหมด

🔥 ฝ่ายจัดหาสินค้า (Procurement): ได้รับการแจ้งเตือนจากระบบจึงต้องจัดหาสินค้าเพิ่ม

🔥 การคิดวิเคราะห์ (Analytic): ระบบเตือนไปหาฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ให้ทำการทำ Workforce planning จัดหาคนไปยังสาขาในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการขาดกำลังคน

ในการที่จะบริหารงานบุคคลต่อจากนี้ไป แม้ว่าท่านอาจจะไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเชิงเทคนิคที่เกี่ยวกับดิจิตอล แต่ท่านจำเป็นที่จะต้องเห็นภาพรวมว่าแต่ละภาคส่วนในองค์กรไม่ได้ทำงานแยกส่วนกันอย่างชัดเจนอีกแล้ว ผู้นำองค์กรและฝ่ายทรัพยากรบุคคลควรที่จะต้องเริ่มต้นศึกษาและเลือกอยู่ฝั่งเดียวกับเทคโนโลยีแทนที่จะต่อต้านมัน ทั้งนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องเห่อตามทุกเทคโนโลยีที่มีให้เลือกในตลาด แต่ให้เลือกที่เหมาะกับโจทย์ความท้าทายที่แต่ละองค์กรล้วนมีไม่เหมือนกันเลย

ท่านอาจไม่ต้องถึงขั้นเขียนโปรแกรมเป็น สร้างสมการคณิตศาสตร์เพื่อวิเคราะห์หา Insight จากมหาสมุทรข้อมูลได้ แต่สิ่งที่ท่านจำเป็นต้องที่จะเข้าใจคือ Concept กว้างๆ ว่าทั้ง Technology Analytic) และการใช้และ Data เชื่อมโยงกันอย่างไร ส่งผลต่อกันอย่างไร เพื่อสุดท้ายแล้วเราจะได้หาคนที่เป็นสาย Technical เข้ามาช่วยคิดช่วยทำในรายละเอียดได้ ซึ่งใน Session นี้คุณ วันเฉลิม พูดอยู่หลายครั้งว่าการที่ Leader ไม่เข้าใจหรือไม่เห็นความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ส่งผลลงมายังคนระดับปฎิบัติงานอย่างมาก เพราะต่อให้คนข้างล่างพร้อมจะคิด พร้อมจะทำและมีไอเดียดีขนาดไหน แต่ถ้าผู้นำองค์กรยังไม่ Buy-in กับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ก็ยากที่องค์กรจะสามารถทำ Digital transformation และก้าวล้ำไปยังอนาคตได้สำเร็จ

เนื้อหาในการบรรยายจบลงแล้ว

ท่านอาจพบว่าบทความชิ้นนี้เต็มไปด้วย ‘ชุดคำถาม’ มากกว่า ‘คำตอบสำเร็จรูป’  ในส่วนต้นของ Keynote คุณวันเฉลิมได้พูดถึง Quote จาก Gerd Leonhard ที่กล่าวไว้ว่า “Embrace the technology but don’t become it” “จงโอบกอดและฝันใฝ่ในเทคโนโลยี แต่อย่าเผลอไผลกลายร่างกลายเป็นมัน” นั่นก็เพราะในวันที่โลกการทำงานผันผวน และเต็มไปด้วยเทรนด์เทคโนโลยีหลากหลาย มีคำศัพท์ที่ฟังดูน่าตื่นเต้นให้เราได้วิ่งไขว่คว้าไล่ตาม มันง่ายมากๆ ที่เผลอไล่ตามไปกับศัพท์หรูๆเหล่านั้น เราหวังว่ากรอบความคิดและชุดคำถามเหล่านี้จะสามารถช่วยให้ผู้อ่านได้กลับไปทบทวน (Refocus) กลยุทธ์ขององค์กร กลยุทธ์ส่วนบุคคล เพื่อ Turn พลังของ People ที่หลอมรวมกับความสามารถของ Technology เพื่อก้าวต่อไปในปี 2021 ได้อย่างมั่นใจและมีทิศทางมากยิ่งขึ้น

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง