เป็ด หรือ คนที่มีความสามารถหลายๆ อย่าง (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Polymath) มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่เชี่ยวชาญเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งจริงหรือ ????
เคยรู้สึกกันไหมครับว่าตัวเราเองนี่ทำนู่นก็เป็น ทำนี่ก็เป็น ให้ทำอะไรนี่ทำได้หมดเลยนะ พอย้อนกลับมาดูลักกษณะนิสัยหรือความสนใจส่วนตัวก็พบว่ามีมากมายก่ายกองเลยทีเดียว
ถ้าอ่านแล้วรู้สึกว่านี่พูดถึงตัวเราเองอยู่ชัดๆ เราขอบอกว่าจริงๆ แล้วคุณเป็นส่วนหนึ่งในประชากรที่โชคดีมากๆ สำหรับโลกยุคนี้มากเลยทีเดียว
ทำไมการที่มีความสนใจหลากหลายถึงเป็นแต้มต่อในโลกทุกวันนี้ ทำไมการเป็นเป็ดที่สำนวนฝรั่งเรียกว่า ‘Jack of All Trades Master of None’ หรือถ้าแปลเป็นอารมณ์ไทยๆ จะได้ว่า “ทำได้ไปซะทุกอย่าง แต่ไม่เก่งซักอย่าง”
ถึงกลายเป็น ‘ข้อดี’
หลังจากอ่านโพสนี้จบลงคุณอาจเปลี่ยนความคิดไป…ลองมาดูเหตุผลทั้ง 3 ข้อนี้กัน
1. เป็ดมีโอกาสหลอมรวมทักษะที่ดูอยู่คนละฟากโลกให้เข้ากันกลายเป็นทักษะใหม่ถอดด้ามระดับหาตัวจับได้ยาก
Photo by Phi Hùng Nguyễn on Unsplash
คุณคิดว่าการที่จะทำอะไรซักอย่างให้เก่งระดับ Top 1% ในสายอาชีพของคุณมันยากแค่ไหนกันครับ
ลองนึกภาพนักกีฬาว่ายน้ำเหรียญทองโอลิมปิกอย่าง Michael Phelps เจ้าของเหรียญโอลิมปิกมากที่สุดตลอดกาลจำนวน 28 เหรียญ (มากกว่าเหรียญของนักกีฬาบางประเทศรวมกันทั้งประเทศเสียอีก) คนเหล่านี้ ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักดนตรี นักวิทยาศาสตร์ ที่เก่งด้านใดด้านหนึ่งมากๆ ระดับที่เรียกได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญล้วนใช้เวลาบ่มเพาะทักษะนับเป็นสิบๆ ปี ในบางวงการอย่างนักดนตรีถึงกับบอกว่าถ้ามาเริ่มตอนอายุสิบกว่าขวบก็สายไปเสียแล้ว
ถ้าการเป็นสุดยอดตัวท๊อปที่จะประสบความสำเร็จมากๆ มันใช้เวลาและความพยายามมากขนาดนั้น แล้วคนธรรมดาๆ อย่างเรา อย่างท่านจะมีโอกาสเอื้อมไปถึงได้หรือไม่ ?
ขอเล่าตัวอย่างซักเรื่องหนึ่งที่ผมอยากเล่าให้ฟัง
มีนักวาดการ์ตูนแนวเสียดสีเชิงธุรกิจคนหนึ่งนาม Scott Adams ซึ่งเขาเป็นเจ้าของคอลัมน์การ์ตูนชื่อ ‘Dilbert’ (เป็นชื่อที่ใครๆ ก็รู้จักในโลกตะวันตก)
คุณ Scott เล่าว่าอันที่จริงแล้วตัวเขาเองไม่ได้ว่าวาดการ์ตูนเก่งเลย เพราะเอาเข้าจริงเขาแค่ ‘พอวาดได้ดีกว่าคนส่วนใหญ่เท่านั้น’
พอมาถึงสกิลขำขันเชิงเสียดสี เขาก็บอกว่าอย่าให้ไปเทียบขั้นกับพวกนักเดี่ยวไมโครโฟน เขาก็ไม่ถึงขั้นนั้น แต่เขามั่นใจว่าโดยค่าเฉลี่ย เขาก็ ‘พอมี’ ความฮากว่าคนส่วนใหญ่แน่นอน
พอมาพูดถึงแง่มุมธุรกิจ ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเขาพอจะมีพื้นฐานความรู้ทางธุรกิจอยู่บ้างตอนสมัยยังเรียนอยู่ แต่ถ้าให้ไปเทียบชั้นกับนักธุรกิจตัวจริงก็ถือว่ายังห่างไกล.
สุดท้ายเขาเลยเฉลยความลับในความสำเร็จของเขาไว้อย่างน่าคิดว่าจริงๆ แล้วคนเรามีกลยุทธ์สองแบบในการที่จะประสบความสำเร็จ
1. ทำตัวเองให้เก่งสุดๆ ในบางเรื่อง (แคบๆ)
2. พัฒนาตัวเองให้ “พอทำได้ดี” ในระดับ Top 25% ในสองหรือสามเรื่อง (แล้วเอามาหลอมรวมกัน)
ซึ่งข้อแรกนี่ค่อนข้างยากทีเดียวเพราะต้องอาศัยประสบการณ์ฝึกฝนที่ยาวนาน ต้องอาศัยบริบทรอบข้างที่สนับสนุน เช่น งานที่เข้ากับจุดแข็ง ลักษณะนิสัย
ในขณะที่กลยุทธ์ข้อที่สองเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่ามาก เพราะถ้าเราดูให้ดีจะพบว่าเราไม่จำเป็นต้องเก่งมากๆ ในทางใดทางหนึ่งแต่อาศัยการควบรวมของทักษะที่แตกต่างเพื่อ ‘สร้างสิ่งใหม่’ ขึ้นมา
สำหรับคุณ Scott แล้ว การที่เขาสามารถหลอมรวมทักษะที่ ‘พอทำได้ดี’ ทั้งการวาดรูป การสร้างมุขตลก และเรื่องราวทางโลกธุรกิจ ทำให้ตัวเขาเองกลายเป็น “ส่วนผสม” ที่หาตัวจับได้ยาก และทำให้คนที่ใช้กลยุทธ์แบบนี้มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
2. เทคโนโลยีในโลกยุคปัจจุบันเป็นเหมือน ‘สนามเด็กเล่น’ ของคนที่มีความสนใจหลากหลาย
Photo by Matthieu Comoy on Unsplash
ข้อนี้คงมีความชัดเจนในตัวอยู่แล้ว เพราะว่าความรู้มันอยู่รอบตัวทุกหนแห่ง ทุกวันนี้มีคลาสเรียนออนไลน์ฟรีๆ อยู่มากมาย หรือต่อให้เป็นความรู้ที่มีลักษณะไม่เป็นทางการอย่างการร้องเพลง การฝึกสอนสุนัข เทคนิคการเล่านิทานให้ลูกฟัง เทคนิคการเย็บผ้าแบบแปลกๆ
พูดง่ายๆ ว่านี้มันสวรรค์ของคนที่ใฝ่รู้ชัดๆ ที่สำคัญคือมันฟรี ทำให้ต้นทุนในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ มีเพียงแค่เวลาที่ใช้เรียนประกอบกับวินัยและความสม่ำเสมอ
หนึ่งในคุณสมบัติพิเศษของมนุษย์คือการคิดค้นและส่งต่อความรู้จากรุ่นสู่รุ่น เราไม่จำเป็นต้องค้นพบสิ่งใหม่ถอดด้ามด้วยตัวเอง ที่เราต้องทำคือเรียนรู้และพยายามต่อยอดให้ความรู้ขยายออกไปเพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่ผู้คนให้คุณค่าและสามารถสร้างผลทางบวกกับชีวิตคนรอบข้างได้
ครั้งหนึ่งนิวตันเคยกล่าวไว้ว่า
“If I have seen further it is by standing on the shoulders of giants.”“ที่ผมมองเห็นได้ไกล คิดได้กว้างกว่าคนอื่นๆ ก็เพราะว่าผมยืนยู่บนไหล่ของยักษ์”
ซึ่งยักษ์ที่ว่าก็คือคำเปรียบเปรยของความรู้ที่บรรพบุรุษของพวกเราเผ่าพันธุ์มนุษย์เคยสร้างเอาไว้ และในโลกทุกวันนี้ก็มีไหล่ยักษ์มากมายให้เราเลือกขึ้นไปยืนเพื่อเห็นสิ่งใหม่ๆ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน…จะเป็นไหล่ของยักษ์ตนไหนก็แล้วแต่ความชอบ ความถนัด และความสนใจของแต่ละคนเลย
3. เป็นเป็ด Polymath ไม่ตกงาน เย่ !!!
Photo by Austin Distel on Unsplash
ชาลส์ ดาร์วินเจ้าของทฤษฎีวิวัฒนาการเคยกล่าวไว้ว่า
“It is not the strongest or the most intelligent who will survive but those who can best manage change.”“ไม่ใช่สายพันธุ์ที่แข็งแรงหรือฉลาดที่สุดหรอกที่จะอยู่รอดจากการสูญพันธุ์ได้ แต่เป็นพวกที่สามารถรู้จักปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ตั้งหาก”
ในโลกของการทำงานคงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าการตื่นมาแล้วพบว่าความรู้และทักษะที่ตัวเองมีอยู่กลายเป็นของไร้ค่า กลายเป็นสิ่งไม่มีประโยชน์ต่อองค์กรอีกต่อไป ถ้าลองคิดให้ดีจะพบว่าภาวะแบบนี้เลวร้ายกว่าการตกงานเสียอีกด้วยซ้ำเพราะตกงานก็ยังหางานที่ใหม่ได้ แต่ถ้า “ทักษะตกยุค” คงจะทำอะไรไม่ได้นอกจากยอมรับความจริงว่าเราไม่ยอมพัฒนาตนเองให้ตามทันโลก จนมารู้ตัวอีกทีก็สายเกินไป
YouTuberผู้จัดการนวัตกรรมช่างกล้องโดรนมืออาชีพวิศวกรรถยนต์ไร้คนขับแม่ค้าขายของออนไลน์นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล.
ในอดีตเมื่อซัก 15 ปีที่แล้วไม่มีใครรู้หรอกว่าอาชีพเหล่านี้จะมีอยู่จริง และในบางสาขาที่กล่าวไปก็มีค่าตัวที่สูงสุดๆ ใครที่พัฒนาทักษะเหล่านี้เอาไว้แต่เนิ่นๆ หรือเริ่มทำก่อนคนอื่นๆ ก็จะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้มากกว่า
แต่ใครเล่าจะไปทายอนาคตได้แม่นยำขนาดนั้นว่าทักษะอะไรจะกลายเป็น ‘ทักษะแห่งอนาคต’ ที่จะให้ผลตอบแทนอย่างงาม มีความคุ้มค่าต่อการลงทุนศึกษา คำตอบก็คือ ไม่มีใครตอบได้อย่างแน่นอน อย่างมากผู้เชี่ยวชาญก็ทำได้แค่ทำนายและคาดการณ์ไปตามหลักการและข้อมูลที่มีอยู่ในมือเท่านั้น
ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนที่มีทักษะที่หลากหลาย มีความสนใจกว้างขวางจะมีข้อได้เปรียบตรงนี้ เพราะคนเหล่านี้จะมีความสามารถในการเอา ‘คลัง’ ความรู้และทักษะที่มีในอดีตมา ‘ประกอบร่างใหม่’ ให้เข้ากับบริบทและสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้เป็นอย่างดี
เทียบแล้วก็ไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถปรับตัวเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป จึงมีโอกาศที่จะอยู่รอดจากการสูญพันธุ์ได้มากกว่า
เป็ดครองโลก
ในหนังสือ ’21 Lessons for the 21st Century’ ที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ชื่อดังระดับโลกนาม Yuval Noah Harari (ผู้เขียนเดียวกันกับหนังสือเซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ ฉบับแปลไทยที่หลายๆ คนรู้จักกัน) ได้ทำนายไว้ว่าในอนาคตอันใกล้คนรุ่นเราจะต้องเปลี่ยนอาชีพกันตลอดเวลในเวลาไม่กี่ปี เพราะความรู้และทักษะที่เรามีจะ ‘หมดอายุ’ ได้ไวมากกว่าเดิมอันเป็นผลมาจากการพัฒนาของเทคโนโลยี
และเป็นพวกเราชาว Polymath นี้เองที่มีโอกาสฉกฉวยโอกาสตรงนี้ไว้ได้ถ้าเราเตรียมพร้อมในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ตลอดเวลา
จากนี้ไปลองดูสิครับ ลองแบ่งเวลา หาที่สงบ เพื่อนั่งตกตะกอนทางความคิด ทบทวนความรัก ความชอบ ความสนใจ และจุดแข็งของตัวเองว่าตัวเราเองพอจะมีของอะไรอยู่บ้าง
ลองถามตัวเองว่าท่ามกลางทักษะอันหลากหลายเหล่านั้นมีข้อไหนบ้างที่เราพอมีศักยภาพจะพัฒนามันให้เก่งขึ้น ตอนนี้มันอาจจะยังไม่ได้ดีที่สุด แต่ขอเรามั่นใจว่ามันคือสิ่งที่เราพอจะทำได้ดีกว่าคนส่วนใหญ่ ลองหยิบมันขึ้นมาซักสองสามอัน ลับมันให้แหลมคมมากขึ้นอีกซักนิด ลองหยิบมันมาผสมผสานกันเพื่อหาจุดกลมกล่อมของคุณค่าใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เราเองก็สามารถเป็นเป็ดที่ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
HREX คือมีเดียสำหรับ HR ที่เชื่อในการพัฒนาตัวเองเพื่อพัฒนาโลก เรานำเสนอ Content คุณภาพที่เกี่ยวกับเทรนด์การบริหารงานบุคคล เทคโนโลยีในแวดวง HR และกรณีศึกษาเจ๋งๆ จากองค์กรที่น่าสนใจ และในปี 2020 เรายังเพิ่มในส่วนมุมมองจาก HR People ระดับโลกทั้งในและต่างประเทศ เพื่อช่วยให้ HR มืออาชีพนำไปต่อยอดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาประสบการณ์สำหรับพนักงานในองค์กรก่อกำเนิดเป็นการงานที่มีคุณค่า มีความหมาย และงดงาม