Search
Close this search box.

เงินเดือนเรือนแสนกับถูกหุ่นยนต์แย่งงาน อยู่ห่างกันนิดเดียว !

เงินเดือนเรือนแสนกับถูกหุ่นยนต์แย่งงาน อยู่ห่างกันนิดเดียว !

จะรุ่งหรือจะร่วง เป็นใครก็ต้องอยากรู้อนาคตของตัวเองกันทั้งนั้น !!!

เป็นคำถามที่คนยุคใหม่แทบทุกคนต้องเคยถามตัวเองซักครั้งในชีวิต (หรือถ้าเป็นภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้ก็อาจจะถามวันละหลายๆ ครั้ง) เพราะเราเริ่มเห็นแล้วว่าการที่เรายึดติดอยู่กับความสามารถหรือความถนัดเพียงอย่างเดียวอาจเป็นอะไรที่เสี่ยงมากเกินไป…นี่เป็นเรื่องของตลาดแรงงานที่ผันผวน

แต่ยังมีเรื่องของแรงกดดันจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไวมาก (และยิ่งไวมากขึ้นด้วยอัตราเร่ง) นั่นหมายความว่า ช่วงเวลาสิบปีของเมื่อพ่อแม่เรายังเป็นเด็ก กับสิบปีที่ผ่านไปในโลกปัจจุบัน จะมีการพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ไม่เท่ากัน ยิ่งโลกหมุนเร็วมากขึ้นเท่าไหร่ โลกก็ยิ่งหมุนเร็วมากขึ้นเท่านั้น

ตลาดเแรงงานที่ผันผวน + เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไว = อาชีพที่ไม่มีความมั่นคง

 เพราะหากดูจากประวัติศาสตร์โลกมาทุกยุคสมัยเราจะพบว่าทุกครั้งที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เปลี่ยนโลกเกิดขึ้นมา จะทำให้เกิดการยักย้ายถ่ายเทของกำลังคนข้ามอุตสาหกรรมเสมอ เมื่อเครื่องจักรเข้ามาช่วยทำการเกษตรด้วยประสิทธิภาพและต้นทุนที่ต่ำกว่า คนจึงทิ้งที่นาเข้ามาหาโอกาสชีวิตใหม่ในสังคมเมือง นี่คือสัจธรรมของตลาดแรงงานที่มีการหมุนเวียนเสมอ อาชีพที่เคยดูมั่นคงและทักษะที่เคยล้ำค่าวันหนึ่งมันอาจกลายเป็นเพียงสิ่งที่ ‘ตกยุค’

กลับมาที่คำถามของเรา เราพอจะทำนายได้ไหมว่างานในโลกอนาคต ที่ไม่ได้ใกล้ไกลมาก อยู่ในหลักราวๆ 10 ปีข้างหน้านี้ ภายในปี 2030 งานประเภทไหนที่จะเฉิดฉาย และงานไหนที่จะจมหายไปกับคลื่นการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถม… HREX จะชวนทุกท่านมาดูหนึ่งในโมเดลที่จะช่วยให้เราเข้าใจสิ่งนี้กัน

หากเราแบ่งทักษะของมนุษย์ตามแบบฉบับที่วงการทรัพยากรบุคคลในปัจจุบันนิยมกันอาจได้ออกมาเป็นสองฟากฝั่ง

มิติที่หนึ่ง Technical / Hard skills: ทักษะเชิงปฎิบัติการณ์ ทักษะเฉพาะ ทักษะเชิงเทคนิค เช่น การเขียนโปรแกรมภาษา Python, การยิงแอดโฆษณา Facebook เป็นต้น

มิติที่สอง Soft / People / Behavioral skills: ทักษะด้านการบริหารจัดการ ทักษะด้านผู้คน และคุณสมบัติต่างๆ เช่น ความคิดสร้างสรรค์

สิ่งที่ห้ามสับสนเด็ดขาดในตัวของชื่อและความหมาย เพราะในความจริงแล้วถ้ายึดจากปากคำของ HR Thought Leader ระดับโลกอย่าง Josh Bersin ได้เขียนบทความขึ้นมาอธิบายเราเลยว่าความจริงแล้ว “Hard skills are soft, Soft skills are Hard” แปลว่าแม้ชื่อ Soft skills จะฟังดูซอฟต์ๆ แต่จริงๆ แล้วมันใช้เวลาในการพัฒนาฝึกฝนและอาศัยความพยายามอย่างมาก ในขณะที่ Hard skills ชื่อฟังดูยากๆ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นทักษะที่มีวิถีทางในการเรียนรู้ค่อนข้างชัดเจนและสามารถเรียนกันเป็นหลักสูตรเพื่อพัฒนาขึ้นมาได้อย่างมีแบบแผน

ยกตัวอย่าง เช่น ความสามารถในการบริหารทีมงาน เมื่อพูดถึงทักษะเหล่านี้เราอาจจะต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ครั้งแรกที่เราได้ฝึกร่วมมือกันทำงานเป็นกลุ่มในโปรเจกวิชาโครงงาน อาจต้องย้อนไปถึงตอนเราได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าระดับชั้นสมัยมัธยม ไล่เรียงมาจนถึงกิจกรรมต่างๆ ที่เราทำในรั้วมหาวิทยาลัย รวมถึงตำแหน่งงานต่างๆที่เรามีโอกาสได้ดูแลทีมงาน

นั่นแปลว่ากว่าที่คนคนนึงจะมี Soft skills อย่าง Leadership skills คุณสมบัติเหล่านี้ล้วนถูกบ่มเพาะและงอกเงยขึ้นมาได้ด้วยการฝึกฝนมาตลอดชีวิต ในขณะที่ Hard skills ซึ่งเราไม่ได้ต้องการสื่อว่ามันง่ายหรือยากกว่า Soft skills แต่หนทางในการฝึกฝนจะค่อนข้างมีโครงสร้างและเป็นเส้นตรงกว่ามาก เช่น คุณอาจเข้าศึกษาหลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และจบมาทำงานเป็น Programmer โดยใช้ความรู้จากวิชาต่างๆตลอดสี่ปีที่วางไว้แล้วต่อเนื่องกัน

แล้วทั้งหมดนี้มันเกี่ยวอย่างไรกับคำถามตั้งต้นของเรา ???

เราจะใช้ทักษะมาอธิบายความรุ่งหรือร่วงของอาชีพในอนาคตได้อย่างไร

ใจเย็นๆก่อนครับ เพราะเราต้องเข้าใจเทรนด์ของโลกที่เกริ่นไว้ตอนต้นบทความเอาไว้ซักนิดหนึ่งว่า เมื่อเราเอางานต่างๆ ที่มีอยู่ในตลาดแรงงานเราอาจจะแบ่งงานออกได้เป็น 4 ประเภทคร่าวๆ

  1. งานที่ใช้ทั้ง Hard skills และ Soft skills ในระดับที่สูงทั้งคู่: งานซับซ้อนและใช้ทักษะในการบริหารจัดการ (complex and managerial and technical):
  2. งานที่ใช้ทั้ง Hard skills สูง แต่ใช้ Soft skills ในระดับต่ำ: งานต้องมีความรู้เชิงเทคนิคระดับสูงแต่ไม่ต้องทำงานเป็นทีมหรือบริหารจัดการ (technical but not team-oriented)
  3. งานที่ใช้ Hard skills ต่ำ แต่ใช้ Soft skills ในระดับที่สูง: งานซับซ้อนสูง ต้องบริหารจัดการสิ่งต่างๆ แต่ไม่ต้องใช้ความรู้เชิงเทคนิค (complex and managerial, but not technical)
  4. งานที่ใช้ทั้ง Hard skills และ Soft skills ในระดับที่ต่ำทั้งคู่: งานเรียบง่าย ไม่ซับซ้อนและไม่ต้องใช้ทักษะในการบริหารจัดการ งานเป็นลักษณะรูทีนซ้ำๆ (highly routine)

จุดที่เป็นตัวพลิกเกมคือเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ Machine Learning, Artificial Intelligence ก็ทำให้มีงานบางส่วนเริ่มถูกแบ่งไปให้ระบบอัตโนมัติ (Automation) และหุ่นยนต์ (Machine) ทำมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น Chatbot ที่สามารถตอบคำถามของลูกค้าจากการประมวลผลโครงสร้างทางภาษา ซึ่งนับวันระบบพวกนี้จะเริ่มทำงานได้ดีมากขึ้นเรื่อย ซึ่งแน่นอนว่าลูกจ้างที่ทำงานเป็นคนตอบแชทลูกค้าจากที่เมื่อก่อนอาจจะต้องใช้คนปริมาณมากก็อาจจะลดจำนวนลงอย่างมาก เพราะคำถามพื้นฐานบางอย่างที่มีลักษณะซ้ำๆ ก็จะถูกระบบอัตโนมัติ Chatbot เอาไปทำแทน

Keyword อยู่ที่คำว่า “งานที่มีลักษณะซ้ำๆ” เพราะเมื่อไหร่ที่งานของคุณมีโครงสร้างที่แน่นอนและอาศัยการทำงานซ้ำๆ แปลว่างานนั้นเป็นอาหารชั้นยอดของระบบอัตโนมัติ ในขณะที่ถ้างานนั้นเป็นงานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ หรืออาศัยความเป็นมนุษย์สูงอย่างการรับรู้อารมณ์ ทักษะการเป็นผู้นำ งานที่ต้องใช้การสื่อสารโน้มน้าว สิ่งเหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติยังทำได้ไม่ดี (ในปัจจุบัน)

โดยสรุปคืองานที่อาศัย Soft skills สูงๆ จะเป็นงานที่คาดว่าค่อนข้างปลอดภัยในมุมของเทคโนโลยี ส่วนงานที่มีลักษณะซ้ำๆ จะจัดอยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงมากที่สุด แต่พอพูดถึงเรื่องของงานที่อาศัย Hard skills หนักๆ เรากับไม่สามารถทำนายได้อย่างเต็มปากขนาดนั้น แต่ก็แน่นอนว่าจะต้องมีงานบางส่วนที่ถูกเทคโนโลยีแบ่งไปกัดกินบ้างเช่นกัน แต่ก็จะไม่รุนแรง ไม่รวดเร็วเท่ากับงานที่เป็นรูทีน

จากกรอบความคิดตรงนี้ก็พอจะทำให้เราเห็นแล้วว่าความเสี่ยงและโอกาสอยู่ที่ตรงไหน ทุกคนสามารถเริ่มถามตัวเองได้ในตอนนี้เลยว่าเมื่อมองจากมุมของทักษะ ตัวเราเองตกอยู่ตรงไหนในสี่ช่องนี้

งานบางอย่างอาจเป็นตำแหน่งงานที่สบายในปัจจุบัน รายได้อาจจะไม่ได้มากแต่ก็ไม่ได้เดือดร้อน คุณอาจจะคิดว่าขอเพียงทำงานอยู่ในบริษัทที่มีความมั่นคงก็พอจะมีทางไปได้ไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง…แต่ความมั่นคงยังมีอยู่จริงหรือไม่ในวันที่โลกผันผวนขนาดนี้ก็เป็นสิ่งที่ยังคงเป็นคำถามของใครหลายๆ คน

วันนี้เรายังพอมีเวลาที่จะตกผลึกตัวเองว่าทำอย่างไรที่จะอยู่ให้ห่างจากงานของช่องขวาล่างและเคลื่อนไปยังด้านบนด้วยการเพิ่มทักษะใหม่ๆ หรืออาจจะอยากเลื่อนไปด้านซ้ายด้วยการเพิ่มคุณสมบัติใหม่ๆ และพยายามออกจาก comfort zone ของตัวเอง

บางคนที่คิดและฝันใหญ่ ถ้าหากคุณเป็นคนที่ทำงานในสาย Technical หากคุณเริ่มเพิ่มทักษะด้าน Soft skills วันหนึ่งคุณจะไม่ใช่แค่ Nerd ที่นั่งทำงานอยู่คนเดียว แต่โลกนี้ยังต้องการ Nerd ที่จะก้าวขึ้นมาบริหารจัดการสร้างความเปลี่ยนแปลง ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ

ในขณะที่หากคุณรู้ตัวว่า Soft skills ดีเยี่ยม ทำงานกับคนได้ทุกรูปแบบ จัดการเวลาได้ดี มีความคิดสร้างสรรค์ ยืดหยุ่นต่อความเปลี่ยนแปลง การเริ่มต้นฝึกทักษะจำเพาะและการเข้าใจเทคโนโลยีให้มากขึ้นก็จะสามารถทำให้คุณก้าวไปทำงานในสาขาที่กำลังเป็นสาขาแห่งอนาคตได้

สุดท้ายคุณจะ Reinvent ตัวเองไปในทิศทางไหนก็ขึ้นอยู่กับคุณค่าและเป้าหมายทางอาชีพการงานที่คุณวางเอาไว้ แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกทางไหน และปัจจุบันคุณยืนอยู่ที่ใด ปัจจัยภายนอกที่เป็น External force เหล่านี้ก็จะยังคงอยู่

เทรนด์เหล่านี้จะยังคงดำเนินไป และคนที่รับรู้ ตระหนัก เข้าใจ และเริ่มปรับตัวได้ก่อนก็ย่อมจะเป็นคนรุ่นถัดไปที่จะได้เติบโตเป็นผู้นำและยังคงรักษาคุณค่าของตนในวันที่ตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาด้วยอัตราเร่งอันสูงยิ่ง

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง