HIGHLIGHT
|
เหนื่อยใช่ไหม กับความเหนื่อยแบบเรื้อรังที่กำลังเป็นอยู่ เหนื่อยที่แปลว่าเหนื่อยจริง ๆ ไม่ใช่ขี้เกียจ เหนื่อยที่พักเท่าไหร่ก็ยังไม่หายเหนื่อย ต่อให้นอนมากแค่ไหน ตื่นมาก็ยังล้าอยู่วันยังค่ำ อะไรที่เคยตื่นเต้น เคยชอบทำ ทุกวันนี้ไร้อารมณ์ความรู้สึกกับมันไปหมดแล้ว แม้แต่วันศุกร์ก็ไม่อยากจะพูดว่า TGIF ด้วยซ้ำ ถ้ารู้ตัวว่ากำลังมีอาการแบบนี้ ต้องรีบอ่านบทความนี้อย่างด่วนจี๋ เพราะคุณกำลังมีภาวะ Tired All The Time หรือ TATT แล้วอย่างแน่นอน
ในบทความนี้ HREX จะพาไปรู้จักกับ ภาวะเหนื่อยตลอดเวลา ซึ่งมันเป็น ‘โรค’ โรคหนึ่ง ที่ไม่ใช่แค่นอนพักก็หาย ที่สำคัญยังส่งผลเสียระยะยาวต่อสมองของเราอย่างมากทีเดียว
Contents
โรคเหนื่อยตลอดเวลา (TATT) คืออะไร?
โรคเหนื่อยตลอดเวลา หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Tired All The Time นั้น โดยมากมีสาเหตุมาจาก “ความเครียด” เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย เพราะเมื่อเราต้องเผชิญกับความเครียด ระบบประสาทซิมพาเธติก (Sympathetic Nervous System) จะถูกกระตุ้น ทำให้เกิดฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายเกิดความตื่นตัวและพร้อมรับมือกับความเครียด ความกดดัน และปัญหาที่ต้องเผชิญ แต่ถ้าสมองมีการสะสมความรู้สึกเครียดเป็นระยะเวลานาน การหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อการทำงานของร่างกายและสมองอย่างมากในระยะยาว
โรคเหนื่อยตลอดเวลา (TATT) ได้รับการรับรองแล้วว่าเป็นโรคจริง ๆ พอเครียด เหนื่อย ก็กลายเป็นความอ่อนล้าสะสม ซึ่งจะต้องหาสาเหตุกันต่อไปว่าเกิดจากอะไร
โรคเหนื่อยตลอดเวลา (Tired All the Time – TATT) เกิดจากสาเหตุอะไร?
ถึงแม้สาเหตุหลักของโรคนี้จะเกิดขึ้นมาจากความเครียด แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่อาจทำให้คนเรามีภาวะเหนื่อยตลอดเวลาได้เช่นกัน
นอนไม่พอ
การน้อยนอน น้อยดึกตื่นเช้า ทำให้ร่างกายเราล้าอยู่แล้ว แถมยังหงุดหงิดง่ายด้วย ลองนอนให้มากขึ้นสักวันละ 8 ชั่วโมง นอกจากนี้การพาตัวเองไปอยู่ที่ที่อากาศปลอดโปร่ง โดนแดดบ้าง จะได้มีความตื่นตัวมากขึ้น
ไม่ออกกำลังกาย
นั่ง ๆ นอน ๆ ใช้สมองอย่างเดียวยิ่งทำให้ร่างกายพัง หาเวลาไปออกกำลังหายให้เหงื่อออก ให้ร่างกายกระตุ้นสารเอ็นโดรฟินออกมามากขึ้น จะได้รู้สึกผ่อนคลาย
ปัญหาสุขภาพ
บางคนอาจจะไม่ได้เป็นปัญหาที่จิตใจหรือการใช้ชีวิต แต่อาจเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บได้ เช่น โรคโลหิตจาง เบาหวาน หรือต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ จะดูดพลังงานจากร่างกายเราไปมากทีเดียว ลองสังเกตตัวเองแล้วปรึกษาแพทย์ดีกว่า
เหนื่อยกายหรือ เหนื่อยใจ จะแยกออกได้ยังไง?
เหนื่อยกายนอนพักก็หาย แต่เหนื่อยใจทำยังไงก็ยังเหนื่อยอยู่ดีไม่มีวันหาย ต้องหาต้นตอว่าอาการเหนื่อยของเราเกิดจากอะไรกันแน่ โดยส่วนใหญ่แล้วคนที่รู้สึกเหนื่อยจากการใช้ร่างกายทำกิจกรรมต่าง ๆ กลับมาพักผ่อน นอนหลับ กินให้อิ่ม ก็จะรู้สึกหายเหนื่อยและพร้อมใช้ชีวิตต่อ แต่คนที่เหนื่อยใจ สังเกตได้จากหลาย ๆ อย่าง เช่น
- รู้สึกอยากนอนตลอดเวลา ก่อนมาทำงานก็รู้สึกไม่อยากตื่น นอนเท่าไรก็ไม่พอ ไม่อยากทำอะไรนอกจากนั่งเฉย ๆ
- รู้สึกปวดหัว หน้ามืดแบบไม่มีเหตุผล
- อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ขึ้น ๆ ลง ๆ หงุดหงิดง่าย
- รู้สึกไม่มีแรง อ่อนเพลียตลอดเวลา
จัดการตัวเองอย่างไรหากเป็นโรคเหนื่อยตลอดเวลา (TATT)
เลิกพฤติกรรมทำร้ายสมอง
ไม่ใช้สมองหนักแบบตลอดเวลา หากิจกรรมคลายเครียด รู้จักผ่อนคลาย ไปเที่ยวเปลี่ยนบรรยากาศ สังสรรค์กับเพื่อน หรือหากิจกรรมทำเผื่อให้สมองผ่อนคลายความเครียดลง
นั่งสมาธิ
วิธีผ่อนคลายง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ตลอดคือการนั่งสมาธิเพราะจะทำให้จิตใจเกิดความสงบมากขึ้น ช่วยทำให้สมองเราได้หยุดพัก ทำงานน้อยลง รวมทั้งได้คิดทบทวนสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย
ออกกำลังกาย
การออกกำลังช่วยรักษาทุกโรค ไม่ว่าจะทางกาย ทางใจ หรือทางสมอง เวลาเครียด ๆ ลองไปออกกำลังกายเบา ๆ ให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขออกมาบ้าง ก็จะช่วยให้ภาวะเครียดและเหนื่อยล้าแบบตลอดเวลานั้นดีขึ้นได้
พนักงานเป็นโรคเหนื่อยตลอดเวลา (TATT) HR ทำยังไงดี?
โรคนี้ไม่ใช่ว่าเป็นแล้วจะหายกันได้ง่าย ๆ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อตัวเองแล้วยังส่งผลกระทบการการใช้ชีวิตประจำวัน และที่สำคัญกระทบกับงานด้วย HR มีส่วนช่วยพนักงานที่เป็นโรคนี้ได้ง่าย ๆ โดยอาจจะให้พนักงานทำงานแบบ Hybrid หรือ Work From Home ก็ได้ ให้พนักงานได้ไปเที่ยวพักผ่อน ทำงานจากนอกสถานที่ก็เป็นอีกวิธีที่ดีที่จะช่วยให้เกิดความผ่อนคลายขึ้นมาได้
ดูแลโภชนาการ
เรื่องอาหารการกินนี่แหละสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ กับทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพนักงาน อาจจะมีการคัดเลือกร้านอาหารในโรงอาหาร เป็นอาหารที่ดูแล้วว่าดี มีประโยชน์ สะอาดปลอดภัย ใช้วัตถุดิบที่ดี หรือหนึ่งวันในสัปดาห์อาจจะจัดเลี้ยงอาหารให้พนักงาน โดยเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ บำรุงสมอง นอกจากนี้การแจกช็อคโกแลตให้พนักงานระหว่างวันก็น่าสนใจเหมือนกัน เพราะเมื่อกินช็อกโกแลต สมองจะหลั่งสารเอนโดรฟิน หรือสารแห่งความสุขออกมาทำให้อารมณ์ดีขึ้น นอกจากนี้ช็อกโกแลตยังมีกรดอะมิโนทริปโตฟานที่ช่วยลดความเครียดได้ด้วย
จัดหานักบำบัดหรือนักจิต
หลายคนป่วยทางใจโดยไม่รู้ตัว การที่องค์กรจัดหานักบำบัดหรือนักจิตมาให้ก็เป็นสวัสดิการที่ดีอีกอย่างหนึ่ง เพราะเมื่อได้รักษาอย่างถูกวิธี อาการทางจิตหรือความรู้สึกแย่ที่ทับถมกันมานานอาจค่อย ๆ ผ่อนคลายออกได้บ้าง
เสริมสร้างกิจกรรมในองค์กร
ไม่ว่าจะเป้นการออกกำลังกายหรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่สร้างความสุข ความเพลิดเพลินใจให้กับพนักงานย่อมดีทั้งนั้น จะได้ผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานมาตลอดทั้งสัปดาห์ นอกจากนี้ยังทำให้พนักงานตื่นเต้นและตื่นตัวที่จะมาทำงานมากขึ้นเวลาที่บริษัทมีกิจกรรมดี ๆ
บทสรุป
หากรู้ตัวว่ากำลังมีอาการเหนื่อยตลอดเวลา (TATT) อย่างมองข้าม เพราะอาจส่งผลต่อร่างกายและสมองในระยะยาว ทำให้เกิดปัญหากับสุขภาพได้ ปล่อยวาง ผ่อนคลายบ้าง จะได้ใช้ชีวิตอย่างยืนยาวและมีความสุข
ที่มา |