Search
Close this search box.

คิดเรื่องงานตลอดเวลา ! วิธีห้ามใจตัวเอง หยุดคิดงาน และพักผ่อนบ้าง

HIGHLIGHT

  • การจัดเวลาทำงานให้ดีถือเป็นรากฐานสำคัญที่ HR ต้องวางแผนให้กับพนักงานในองค์กรเพราะการพักผ่อนมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการทำงาน หากพนักงานพักผ่อนไม่เต็มอิ่ม ก็ไม่มีทางที่จะทำงานได้ดี
  • การพักผ่อนไม่เต็มอิ่มส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะคิดถึงงานตลอดเวลา โดยมีสถิติเผยว่าพนักงานออฟฟิศถึง 49% ตอบอีเมลนอกเวลางาน และมองว่าเป็นเรื่องปกติเพราะช่วยให้งานเสร็จไวขึ้น
  • การคิดถึงงานตลอดเวลาเป็นปัญหาทางจิตเวช ที่อาจทำให้พนักงานรับความกดดันไม่ไหวจนลาออกจากงาน หรือร้ายที่สุดอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตจากความวิตกกังวล (Anxiety) และซึมเศร้า (Depression)
  • วิธีแก้ปัญหาที่ได้ผลที่สุดคือการพาตัวเองออกจากสภาพแวดล้อมแบบเดิม และทดลองทำอะไรใหม่ ๆ เพื่อบอกตัวเองว่าโลกใบนี้มีอะไรให้ทำมากกว่างาน หรืออีกมุมหนึ่งเราต้องถามตัวเองให้ได้ว่าอยากเป็นอะไรในอนาคต และให้เวลากับการวางรากฐานชีวิตหลังเกษียณมากพอหรือยัง หากคำตอบคือไม่ เราก็ควรทิ้งเรื่องงานและหันไปสนใจเรื่องเหล่านั้นได้แล้ว
  • องค์กรที่พนักงานมีภาวะคิดถึงเรื่องงานตลอดเวลา ต้องสำรวจให้ชัดเจนว่าเป็นปัญหาส่วนตัวของพนักงานจริง ๆ หรือเป็นผลมาจากความไม่สมบูรณ์ของระบบภายในองค์กรที่ไม่สามารถเกื้อหนุนพนักงานได้มากพอจนต้องเอางานไปทำต่อที่บ้าน หากไม่แก้ไขปัญหานี้ให้เร็ว องค์กรก็จะพัฒนาขึ้นไม่ได้เลย

เคยไหมที่คุณตัดสินใจใช้วันหยุดและวันลาพักร้อน โดยตั้งเป้าว่าจะออกไปใช้เวลากับเพื่อนฝูงหรือคนรักให้สนุกสุดเหวี่ยง ไม่ต้องคิดเรื่องเงินสักนิด แต่เอาเข้าจริงสมองของคุณกลับเอาแต่คิดถึงเรื่องงานตลอดเวลาเสียอย่างนั้น นี่คือปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในกลุ่มคนทำงานทั่วโลก และถูกมองว่าเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดกระแส The Great Resignation เมื่อคนต้องแบกรับความเครียดและความกดดันจนรู้สึกไม่สบายใจหากต้องอยู่เฉย ๆ

การคิดถึงเรื่องงานตลอดเวลามีข้อเสียอย่างไร และเราสามารถแก้ไขเรื่องนี้ให้ได้ผลที่สุดด้วยวิธีไหน หาคำตอบไปพร้อมกับเราได้ที่นี่

ภาพรวมของสภาวะ “คิดเรื่องงานตลอดเวลา” เป็นอย่างไร ?

การ “คิดเรื่องงานตลอดเวลา”​ ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก โดย OneCareerBuilder ได้เผยผลสำรวจว่ามีคนวัยทำงานถึง 45% ที่ทำงานนอกเวลา และ 49% ที่ตอบอีเมลนอกเวลางานจนเป็นเรื่องปกติ 

สถิตินี้แสดงให้เห็นว่าวัยทำงานทั่วโลกกำลังมีปัญหาเรื่องการจัดสมดุลชีวิต (Work Life Balance) ที่จำเป็นต้องทุ่มเวลาส่วนใหญ่ให้กับการทำงานเพื่อการเอาตัวรอด ภายใต้ความเครียดในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อ้างอิงจากผลสำรวจจาก Everest College ที่บอกว่าคนทำงานถึง 83% กำลังเจอกับความเครียดจากการทำงาน ซึ่งมากกว่าทศวรรษที่ผ่านมาถึง 10% แถมมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นอีกหากไม่ถูกจัดการอย่างมีกิจจะลักษณะ

ในที่นี้ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าเราต้องหันมาให้ความสำคัญกับการพักผ่อน และเปิดพื้นที่ให้สมองได้ใช้งานกับเรื่องอื่นดูบ้าง เพราะการดูแลสุขภาพจิตควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะการทำงาน คือแนวทางหลักที่จะช่วยให้จัดสมดุลชีวิตได้ดีขึ้น เราจึงได้เห็นองค์กรระดับโลกหันมาให้สวัสดิการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานโดยตรงมากขึ้น เช่นการจัดห้องทำสมาธิ, การจัด Company Outing ให้บ่อยขึ้น หรือแม้แต่การเปิดคลาสออกกำลังกาย ทั้งฟิตเนสและโยคะในที่ทำงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้พนักงานรู้สึก “ชอบอะไรสักอย่าง” และนำสิ่งนั้นไปเป็นแก่นสำหรับการใช้ชีวิตนอกเวลางานในลำดับต่อไป

ความรู้สึกนี้สามารถอธิบายด้วยคำว่า Zeigarnik Effect ซึ่งนักวิชาการชาวลิทัวเนียชื่อคุณบลูม่า เซย์การ์นิค (Bluma Zeigarnik) กล่าวว่ามนุษย์มีแนวโน้มที่จะคิดและจดจำเรื่องที่ทำค้างไว้มากกว่าสิ่งที่ทำสำเร็จไปแล้ว และวิธีการเดียวที่จะแก้ไขได้ก็คือการกลับไปทำเรื่องนั้นให้เสร็จ เหตุนี้คนที่ต้องทิ้งงานค้างเอาไว้แล้วกลับบ้านจึงรู้สึกวิตกกังวล และไม่กล้าปล่อยให้ตัวเองพักผ่อนอย่างมีความสุข 

ในที่นี้เราสามารถใช้วิธีแบ่งซอยงานเป็นบริบทย่อย ๆ อย่างน้อยก็เพื่อให้สมองเข้าใจว่าเราทำงานในส่วนของวันนั้นเสร็จแล้ว และค่อยเริ่มใหม่อีกครั้งในวันต่อไป

ปัญหาของสภาวะ “คิดเรื่องงานตลอดเวลา” คืออะไร ?

การคิดเรื่องงานตลอดเวลามีแต่จะทำให้ชีวิตยากขึ้น เพราะหากเก็บไว้กับตัวเองมากไป ก็สามารถทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า (Depression) และวิตกกังวล (Anxiety) แต่หากไปพูดคุยกับเพื่อนในสภาวะที่ความเครียดจุกแน่นอยู่เต็มอก ก็อาจทำให้เกิดการสื่อสารที่ผิดพลาด (Failed Communication) กลายเป็นความน่ารำคาญที่อีกฝ่ายเลือกตีตัวออกห่าง เกิดความขุ่นข้องหมองใจในทีม ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการทำงานในภาพรวม

ปัญหาของการเป็นคนคิดเรื่องงานตลอดเวลามีอะไรอีกบ้าง

คนที่คิดเรื่องงานตลอดเวลามีแนวโน้มเสียชีวิตเร็ว

มีผลวิจัยกล่าวว่าคนที่มีความเครียดและคิดเรื่องงานตลอดเวลามีโอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Diseases) ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับต้น ๆ ของคนไทย ที่จะมีคนไทยเสียชีวิตจากโรคนี้โดยเฉลี่ยถึง 54,530 คนต่อปี นับเป็นจำนวนที่มากกว่าการเสียชีวิตจากโรคมาลาเรียด้วยซ้ำ 

คนที่คิดเรื่องงานมากไป จะเสี่ยงต่อการ Burnout และมีโอกาสออกจากงานสูง

Manager Burnout ถ้าผู้นำหมดไฟแล้วใครจะดูแลองค์กร

เราอาจคิดว่าคนที่คิดเรื่องงานตลอดเวลาจะมีโอกาสก้าวหน้ามากกว่าคนอื่น แต่จริง ๆ แล้วคนที่คิดเรื่องงานตลอดเวลากลับมีโอกาสออกจากงานมากกว่า เพราะการคิดเรื่องงานโดยไม่เอาเวลาไปสนใจเรื่องอื่นจะทำให้เราไม่ทันเหตุการณ์ ไม่มีเวลาไปสนใจว่าโลกของเรามีนวัตกรรมใหม่แบบใดเกิดขึ้นบ้าง ที่สามารถนำมาช่วยให้งานประสบความสำเร็จง่ายขึ้น 

การจดจ่อกับงานโดยอาศัยแต่ความมุ่งมั่นกับวิธีการเดิม ๆ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าจนคิดว่างานที่ทำอยู่ไม่เหมาะกับตนอีกต่อไป ดังข้อมูลจาก Gallup ที่เผยว่าคนที่คิดเรื่องงานตลอดเวลามีแนวโน้มหมดไฟ (Burnout) สูงขึ้นมาก แบ่งเป็นคนที่รู้สึกหมดไฟตลอดเวลา 23% และคนที่รู้สึกหมดไฟเป็นบางครั้ง 44% รวมแล้วเป็นจำนวนสูงถึงกว่า 70% เลยทีเดียว

ในช่วงนี้กระแส The Great Resignation ยังคงเข้มข้นแบบนี้ หากปล่อยทิ้งไว้ HR ก็ต้องปวดหัวกับการหาพนักงานใหม่แน่นอน

ประโยชน์ของการหยุดคิดงานตลอดเวลาคืออะไร

เราคงไม่สามารถดูแลตัวเองอย่างเต็มที่ได้ หากไม่มีแม้แต่เวลาให้พักผ่อน ดังนั้นเพื่อให้ทุกคนรู้สึกมีแรงกระตุ้นมากขึ้นว่าทำไมต้องหันมาจัดตารางชีวิตให้ดี เราขอนำเสนอประโยชน์ของการหยุดคิดงานให้เห็นภาพชัดเจนกว่าเดิม ดังนี้

ช่วยลดความเครียด

ความเครียดกับการทำงานเป็นของคู่กันอยู่แล้ว การบริหารจัดการเวลาให้ดีจึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้เราก้าวผ่านแต่ละวันไปได้อย่างดียิ่งขึ้น เพราะตามปกติ เมื่อเราคิดเรื่องงานแล้ว ความคิดส่วนใหญ่มักเป็นในเรื่องเครียด และเป็นพลังลบ การก้าวข้ามเรื่องนี้ได้จึงช่วยให้เราผ่อนคลายกว่าเดิม 

5 องค์ประกอบเสริมสร้าง Emotional Intelligence ในตัวผู้นำ

ช่วยจัดสมดุลชีวิต (Work Life Balance)

ชีวิตของเราไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องงานเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของมิตรสหาย เรื่องของครอบครัว หรือแม้แต่เป้าหมายในอนาคต เหตุนี้การใส่ใจเรื่องงานมากเกินไปจะทำให้เราไม่สามารถใช้เวลากับเรื่องอื่น หรือหาความชอบเพื่อวางรากฐานให้ได้เลย ดังนั้นการเปลี่ยนวันหยุดให้กลายเป็นวันหยุดจริง ๆ หรือ พาตัวเองไปทำในสิ่งที่ทำไม่ได้ในวันทำงาน จะช่วยเปิดโลกทัศน์ของเราให้กว้างขึ้น แถมยังช่วยให้เรามีความพร้อมสำหรับการทำงานในสัปดาห์ต่อไป

ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

การคิดเรื่องงานมากเกินไปจะยิ่งทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง เช่นตอนที่เราทำข้อสอบ เราคงเคยได้ยินคนที่บอกว่าให้เชื่อจิตสำนึกแรกไปเลย ไม่ต้องคิดมากจนไปกาคำตอบที่ผิด การทำงานก็เช่นกัน เราควรปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามครรลองที่เหมาะสม หากเราทำงานอย่างเต็มที่จนถึงวันหยุดแล้ว ก็ควรใช้วันหยุดตามสิทธิ์เพื่อชาร์ตพลังให้กับตนเอง จะได้กลับไปทำงานในสัปดาห์ใหม่อย่างสดชื่น วิธีนี้จะทำให้ สมองมีเวลาฟื้นฟู ทำให้เราเกิดแนวคิดใหม่ ๆ หรือวิธีแก้ปัญหาที่ต่างจากเดิม

ช่วยสร้างสมาธิในการใช้ชีวิต

การคิดเรื่องงานหรือมีเป้าหมายในการประสบความสำเร็จอยู่ตลอดเวลา จะยิ่งทำให้เราสนใจผลลัพธ์โดยไม่คำนึงว่าวิธีการทำงานจะนำไปสู่ข้อเสียอะไรบ้าง ดังนั้นการเลิกเป็นคนคิดเรื่องงานตลอดเวลาจะช่วยให้เราอยู่กับตัวเองได้อย่างมีสมาธิ และหาข้อสรุปอย่างจริงจังว่าสิ่งที่จำเป็นที่สุดของตนคืออะไร การตกผลึกตรงนี้จะช่วยเราวางแผนชีวิตง่ายขึ้น ไม่ฉาบฉวย และมองเห็นความเป็นตัวเองในแง่มุมที่ผ่อนปรนยิ่งขึ้น (Self-Empathy)

วิธีหยุดคิดงานตลอดเวลา ทำได้อย่างไร ?

ศาสตราจารย์อาร์ต มาร์กแมน (Art Markman) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาอธิบายใน Harvard Business Review ว่าการที่เราหยุดคิดเรื่องงานไม่ได้จะทำให้เราเข้าใจความหมายของเวลา (The Value of Time) น้อยลง ซึ่งหากเราไม่แก้ปัญหาเรื่องนี้ให้พนักงานก่อน จะคิดสวัสดิการออกมาดีแค่ไหน ก็ไม่สามารถทำให้พนักงานมีความสุขมากขึ้น หรือใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ได้รับมากเท่าที่ควร โดยเขาได้ให้แนวทางแก้ไขสำหรับคนที่หยุดคิดเรื่องงานตลอดเวลาไม่ได้ดังนี้

ให้คิดว่าเมื่อมีเวลาว่างหรือหยุดพักจากงานแล้ว ต้องทำอะไรต่อ

สาเหตุที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้เวลาว่างหรือหยุดคิดเรื่องงานได้ เป็นเพราะไม่มีกลยุทธ์ทางจิตวิทยาที่ถูกต้อง เขากล่าวว่าหากเรามัวแต่ไปบอกว่า “ห้ามทำ” อะไรหลังเลิกงาน สมองด้านพฤติกรรม (Habit System) จะไม่เชื่อฟังเท่าไหร่ เพราะสมองจะทำหน้าที่ได้ดีกว่าเมื่อเราบอกว่า “ต้องทำ” อะไร 

จากเหตุผลข้างต้น วิธีการที่ง่ายที่สุดคือการกำหนดไปเลยว่าเมื่อเลิกงานแล้วต้องทำอะไร เช่น ไปกินข้าวกับเพื่อน, ไปดูภาพยนตร์, ไปเล่นเกม ฯลฯ อะไรก็ได้ที่ไม่ใช่แค่การพูดกว้าง ๆ ว่า “ฉันต้องหยุดพักได้แล้วนะ” แล้วก็เดินทางกลับบ้านไปนั่งเครียดอยู่คนเดียวเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตามการใช้เวลาว่างในบางครั้ง จำเป็นต้องเตรียมตัวเผื่อมีงานเข้ามาในกรณีฉุกเฉิน หากเป็นแบบนี้ เขาแนะนำให้ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลายแต่สมองยังทำงานอยู่ เช่นการโทรศัพท์พูดคุยกับเพื่อน, การเล่นเกมไขปริศนา หรือการอ่านหนังสือ เป็นต้น 

แต่หากคุณรู้สึกว่าเวลาว่างดังกล่าวเป็นเวลาที่คุณอยากตัดขาดทุกอย่างออกไปเลย วิธีที่ทำได้ง่ายที่สุดก็คือการทำกิจกรรมที่ชอบโดยไม่ต้องกังวลเรื่องอื่น และเอาสมุดพกไว้ใกล้ตัวสักเล่ม จากนั้นให้คิดว่าคนที่มีมารยาทก็จะเคารพวันหยุดของเรา หน้าที่ของเราจึงมีแค่การจดสิ่งที่ต้องทำในวันทำงานครั้งต่อไปลงบนสมุด และเปิดอ่านอีกทีในเวลาที่เหมาะสม วิธีนี้จะช่วยให้เราดึงข้อมูลบางส่วนจากสมองไปใส่ไว้ที่สมุด ไม่ต้องเก็บมาคิดเองคนเดียวจนปวดหัวอีกต่อไป

Company Outings : เสียเวลา เปลืองงบ หรือ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าขององค์กร

ค่อย ๆ ปรับสภาพแวดล้อมรอบตัวให้เอื้อต่อการพักผ่อนยิ่งขึ้น

ไม่มีคนที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่คนไหนที่ยังคงซื้อบุหรี่ติดเอาไว้เต็มบ้าน การหยุดคิดเรื่องงานก็เหมือนกัน ไม่มีใครสามารถทำได้หากยังคงเปิดโทรศัพท์ทิ้ง หรือตั้งแจ้งเตือนอีเมลให้แสดงผลตลอดเวลา เพราะหากเราอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ ก็ไม่มีทางที่เราจะเปลี่ยนความสนใจในแต่ละวันไปได้ ดังนั้นก่อนที่จะคิดเรื่องการเปลี่ยนวิถีปฏิบัติใด ๆ เราต้องปรับสิ่งรอบตัวให้เหมาะสมเสียก่อน

คุณสามารถให้เบอร์พิเศษกับหัวหน้างานหรือเพื่อนบางคน เพื่อเป็นทางเลือกในกรณีฉุกเฉิน ว่าหากโทรศัพท์เครื่องนี้ดังขึ้น ให้แปลว่ามีเรื่องด่วนที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเท่านั้น หรือในกรณีที่ง่ายที่สุดก็คือการถามตัวเองทุกครั้ง ที่กำลังจะไปหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาว่าการเปิดโทรศัพท์ครั้งนี้มีความสำคัญอย่างไร หากตอบไม่ได้ ก็ให้รีบเอากลับไปวางที่เดิม

ขณะเดียวกันเราสามารถใช้วิธีจัดพื้นที่พิเศษในบ้านหรือที่ทำงาน และตั้งกฎว่าห้ามทำงานและใช้เครื่องมือสื่อสารในบริเวณนั้นเด็ดขาด และเมื่อทำอย่างต่อเนื่องจนเกิดความคุ้นชิน หัวสมองของคนก็จะห่างจากเรื่องงานไปทีละนิดเอง

ให้ (พยายาม) คิดเสมอว่าถึงขาดเราไป งานก็ไม่พัง

คนที่ไม่กล้าวางงานหรือเอางานออกจากหัว มักเป็นคนที่รู้สึกว่าการขาดตนไปจะทำให้ทีมเกิดปัญหา ไม่สามารถทำงานให้เสร็จตามที่ได้รับมอบหมาย มองเห็นทุกวินาทีมีค่าและอยากใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด แต่จริง ๆ แล้วการมุ่งมั่นทำงานโดยไม่หยุดพักมีแต่จะทำให้ได้งานที่ถูกลดทอนประสิทธิภาพลงเรื่อย ๆ ตามความเหนื่อยล้าของสภาพร่างกาย ดังนั้นหากเราต้องการได้งานที่ดีจริง ๆ เราควรหันมาใส่ใจสุขภาพกายใจของตนเองมากกว่า

แต่รู้ไหมว่าการบอกตัวเองให้เผชิญหน้ากับปัญหา คือสิ่งที่จะช่วยให้เราลืมเรื่องงานได้ง่ายที่สุด โดยมีผลวิจัยบอกว่าวิธีลดภาวะวิตกกังวล (Anxiety) คือการปล่อยให้ปัญหาเกิดไปเลย และเห็นกับตาตัวเองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหญ่อย่างที่คิด ที่สำคัญผลวิจัยยังกล่าวอีกว่า เมื่อเราปล่อยให้คนอื่นเห็นว่าเราจะไม่ทำงานในวันหยุดนอกเหนือจากกรณีฉุกเฉิน เราก็จะพบว่าคนที่เคยขอความช่วยเหลือเรานั้น จริง ๆ แล้วอาจทำงานดังกล่าวได้ด้วยตัวเอง !

หากต้องการให้ทำงานหนัก HR ก็ต้องจัดวิธีพักให้พนักงานด้วย

Company Outings : เสียเวลา เปลืองงบ หรือ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าขององค์กร

โลกการทำงานเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เคยได้ผลในอดีตอาจไม่ได้ผลอีกแล้วในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์โลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ สภาพสังคม ตลอดจนวิถีชีวิตของมนุษย์ที่เปลี่ยนไปอย่างก้าวกระโดดหลังเกิดเหตุการณ์ โควิด-19 

ดังนั้นเพื่อให้องค์กรสามารถปรับตัวพร้อมรับทุกสถานการณ์ HR จำเป็นต้องมีทักษะแห่งการเรียนรู้ และพร้อมเปิดรับทุกความเป็นไปได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในองค์กร สอดคล้องไปกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมองค์กรที่สร้างคุณค่าได้จริง

การหาสวัสดิการที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งโน้มน้าวใจ และเป็นเครื่องยืนยันถึงความเป็นไปได้ว่าชีวิตยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากนอกเหนือจากการทำงาน จึงไม่แปลกที่องค์กรระดับโลกจะเริ่มนำสวัสดิการใหม่ ๆ เข้ามา โดยเริ่มแนวคิดจากความต้องการของพนักงานเป็นหลัก 

ทั้งการปรับเวลาทำงานให้น้อยลง, การดื่มเหล้าในที่ทำงาน หรือแม้แต่องค์กรบางแห่งที่ไปสุดโต่งด้วยการเปิดห้องช่วยตัวเองให้พนักงานได้ผ่อนคลาย

สิ่งเหล่านี้หากตัดสินใจปฏิเสธโดยปราศจากความรู้ ก็จะทำให้องค์กรพลาดโอกาสยกระดับ สวัสดิการไปโดยปริยาย เพราะมีผลสำรวจแล้วว่าสวัสดิการมากมายที่เคยเชื่อว่าไม่ดีนั้น กลับช่วยให้การทำงานดีขึ้นได้ ดังนั้นการหาความรู้เกี่ยวกับสวัสดิการให้มากที่สุด จึงเป็นเคล็ดลับที่จะช่วยแก้ไขปัญหาน้อยใหญ่ได้อย่างเป็นรูปธรรม

หากคุณไม่รู้ว่าจะศึกษาเรื่องสวัสดิการพนักงานใหม่ ๆ ได้ที่ไหน เราขอแนะนำให้ใช้บริการ HR Products & Services จาก HREX.asia รับรองว่ามีทุกอย่างที่คุณตามหาเลือกดูได้ตั้งใจอ่านง่ายและใช้งานได้จริงแน่นอนคลิกเลย

บทสรุป

สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับตัวพนักงานและ HR คือการเข้าใจว่าธุรกิจทุกชนิดล้วนขับเคลื่อนด้วยคน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีชีวิตจิตใจ และจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม หากเราใช้ทรัพยากรชิ้นนี้อย่างหนักหน่วงเกินไป สิ่งที่ตามมาก็คือการขาดสมดุลชีวิต ส่งผลเสียต่อเนื่องไปถึงประสิทธิภาพในการทำงานด้านอื่น ๆ ซึ่งสรุปโดยง่ายว่าพนักงานทุกคน แม้จะมีสถานะเป็นลูกจ้างขององค์กร แต่ก็มีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตอย่างสบายใจ สามารถดูแลครอบครัว สามารถทำสิ่งที่ชอบ และสามารถวางแผนอนาคตตามที่ต้องการได้เสมอ

องค์กรจึงควรเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีเวลาค้นหาตัวเองด้วย หากพนักงานทำไม่ได้ หรือ HR รู้ตัวว่าตนเป็น องค์กรที่ใช้งานพนักงานหนักเกินไป ยังไม่สายที่จะเริ่มปรับปรุงและหาทางออกร่วมกับพนักงานว่าจะมีแนวทางใดบ้างที่สามารถทำให้ทุกฝ่ายมีสมดุลชีวิตที่ดีขึ้น เพราะการคิดเรื่องงานตลอดเวล า เทียบไม่ได้เลยกับการคิดถึงความสุขตัวเองให้มากกว่า เพราะสิ่งนั้นคือรากฐานแห่งความสุขที่แท้จริง

CTA Employee Benefit

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง