HIGHLIGHT
|
การทำงานทุกประเภท แม้จะก่อให้เกิดความชำนาญตามกาลเวลา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการปรับตัวให้ทันกับกระแสโลกเสมอนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกธุรกิจล้วนมีแง่มุมที่เราเข้าไม่ถึง หรือมีองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่ช่วยให้การทำงานของเราง่ายขึุ้น ดังนั้นการว่าจ้างที่ปรึกษา (Consultant) จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้เราบริหารจัดการองค์กรได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะได้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว ยังเปิดโอกาสให้องค์กรนำข้อมูลที่ได้ไปต่อยอดเป็นนวัตกรรมได้รวดเร็วและตรงโจทย์กว่าที่เคย
การเลือกที่ปรึกษา Consultant มีประโยชน์ต่อองค์กรในแง่มุมใด และเราจะเลือกที่ปรึกษาให้เหมาะกับการทำงานได้อย่างไรบ้าง หาคำตอบไปพร้อม ๆ กันที่นี่
Contents
ที่ปรึกษา (Consultant) คืออะไร มีหน้าที่อย่างไร
ที่ปรึกษา (Consultant) คือบุคคลที่องค์กรว่าจ้างเพื่อช่วยแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว หรือแม้แต่เรื่องเร่งด่วนที่จำเป็นต้องใช้ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญโดยทันที เช่น เมื่อต้องทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับแนวทางเดิมขององค์กร หรือเมื่อต้องขยับขยายองค์กรไปสู่ต่างประเทศที่มีกลุ่มเป้าหมายต่างกัน เป็นต้น ดังนั้นที่ปรึกษาที่ดีจะต้องมีปรนะสบการณ์ในพื้นที่นั้น ๆ พอสมควร แถมยังต้องมีความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมองค์กรของเรา เพื่อที่คำแนะนำเหล่านั้นจะได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ใช่คำแนะนำที่ฟังดูดีแต่นำมาใช้ไม่ได้ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลย
ที่ปรึกษามักถูกใช้เพื่อแนะนำในเรื่องที่เฉพาะเจาะจง (Specific) ไม่ได้เซ็นสัญญาระยะยาว หรือบางครั้งก็ทำงานในหลายองค์กรพร้อมกันตราบใดที่ไม่มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) อนึ่งระยะเวลาทำงานของเหล่าที่ปรึกษาขึ้นอยู่กับขนาดของชิ้นงานซึ่งควรครอบคลุมจนถึงวันที่งานสัมฤทธิ์ผลด้วยดี
นอกเหนือจากประสบการณ์และจรรยาบรรณทางธุรกิจแล้ว ที่ปรึกษาที่ดีจำเป็นต้องมีทัศนคติเชิงบวก สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างเฉียบคม มีจริยธรรม และมองธุรกิจเป็นที่ตั้ง ปกติแล้วคนที่ทำงานสายนี้จะเข้าใจเรื่องความสำคัญของ “รายละเอียด” เป็นพิเศษ เพราะถือว่าเป็นองค์ประกอบที่หลายคนมองข้าม แต่เป็นจุดตัดสินที่ทำให้องค์กรโดดเด่นกว่าคู่แข่งในท้องตลาดได้ โดยเราสามารถสรุปหน้าที่ของที่ปรึกษาออกมาในภาพรวมได้ดังนี้
- วางระบบให้เป้าหมายองค์กรสำเร็จได้อย่างคล่องตัวที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเดือน, การตลาด ตลอดจนการบริหารงานบุคคล
- รวบรวมข้อมูลที่จำเป็น ทั้งด้วยการทำแบบสำรวจพนักงาน, การศึกษาตลาดและวิเคราะห์คู่แข่ง รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องเพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาบูรณาการให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- วิเคราะห์การทำงานให้เห็นถึงรากของปัญหา และมองให้ถึงแก่น (Core) ว่าเราจะ “เค้นความสามารถ” ของพนักงานออกมาอย่างไร
ที่ปรึกษา (Consultant) เหมาะกับงานแบบใดบ้าง
จะงานแบบใดก็ตาม การมี “เพื่อนคู่คิด” คือสิ่งที่ช่วยให้เราตกตะกอนความคิดได้ง่ายขึ้น การดันทุรังเชื่อถือเพียงมุมมองของตัวเองจะทำให้วิสัยทัศน์คับแคบ ก้าวไม่ทันโลก เพราะองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ไม่ได้อยู่ในแง่ของ “บนลงล่าง” ที่ผู้บริหารออกคำสั่งลงมาหาพนักงานอีกแล้ว แต่สามารถเกิดจากใครก็ได้ที่พบเจอโลกแตกต่างจากเรา จะเป็นเด็กฝึกงาน, แม่บ้าน, เพื่อนร่วมงาน ก็ให้คำปรึกษาที่เกิดประโยชน์ได้ทั้งนั้น เหตุนี้การสร้างวัฒนธรรมของการรับฟังและสื่อสาร (Communication Cultures) คือรากฐานที่จะช่วยให้องค์กรได้ประโยชน์จากการว่าจ้างที่ปรึกษามากขึ้น
ที่ปรึกษา (Consultant) ถูกใช้งานในด้านใดบ้าง หาคำตอบได้ที่นี่
ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ (Strategy Consulting)
ที่ปรึกษาลักษณะนี้มักให้คำแนะนำกับกลุ่มผู้บริหารหรือคนที่อยู่ในตำแหน่งระดับสูง เพราะเป็นตำแหน่งที่สามารถออกนโยบายหรือตัดสินใจในประเด็นที่เกี่ยวกับอนาคตขององค์กรได้เลย ทั้งนี้ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ถือเป็นประเภทของที่ปรึกษาที่ได้รับความนิยมสูงสุด มีทั้งคนที่ถนัดให้คำแนะนำแบบกว้าง ๆ ตลอดจนคนที่สามารถวางกลยุทธ์ในสายงานเฉพาะทาง ซึ่งแต่ละคนก็มีความโดดเด่นแตกต่างกันไป เช่นบางคนเชี่ยวชาญเรื่องสิ่งแวดล้อม, บางคนเชี่ยวชาญเรื่องการใช้เทคโนโลยี, บางคนเชี่ยวชาญเรื่องการใช้เครื่องมือแบบเก่า ๆ ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรต้องการนำกลยุทธ์แบบไหนมาใช้ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กรมากที่สุด
ที่ปรึกษาด้านการตลาด (Marketing Consulting)
ที่ปรึกษาด้านการตลาดมีหน้าที่วางแผนกลยุทธ์ใหม่ ๆ ให้องค์กรสามารถต่อกรกับคู่แข่งในท้องตลาดได้มากขึ้น, สื่อสารกับกลุ่มลูกค้า (Target Audiences) ได้มากขึ้น เช่นการรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายที่เหมาะกับสินค้าของบริษัทคือคนอายุ 60 ที่ยังคงดูโทรทัศน์ หรืออ่านนิตยสาร ที่ปรึกษาก็จะแนะนำให้ใช้ช่องทางสื่อสารแบบนั้น ซึ่งอาจขัดแย้งกับความเชื่อของเราที่พยายามก้าวให้ทันยุคสมัยและหันไปใช้เทคโนโลยีเป็นหลักโดยลืมนึกไปว่ากลุ่มเป้าหมายใช้งานช่องทางสื่อสารเหล่านั้นหรือไม่
ที่ปรึกษาด้านการเงิน (Financial Consulting)
ที่ปรึกษาทางด้านนี้มีหน้าที่แนะนำเพื่อหาช่องทางให้องค์กรบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้เงินน้อยที่สุดเพื่อผลกำไรที่เหมาะสม เป็นประเภทที่เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็กที่ให้ความสำคัญกับเงินทุกบาททุกสตางค์ อนึ่งที่ปรึกษาทางการเงินไม่ได้มีหน้าที่ควบคุมเม็ดเงินที่มีอยู่แล้วเท่านั้น แต่ยังสามารถให้คำแนะนำเรื่องการหาผู้สนับสนุน (Sponsor), การระดมทุน (Fundrasing) ตลอดจนการให้ข้อมูลด้านสภาพเศรษฐกิจ (Forecasting) ซึ่งจำเป็นมากต่อการวางแผนงานในระยะยาว
ที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล (HR Consulting)
“คนคือผู้สร้างสถานที่” คำนี้ไม่เกินเลยไปนัก เพราะแม้ผู้บริหารจะสามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้แค่ไหน แต่ถ้าปราศจากกำลังคนที่แช็งแรงมากพอ แนวคิดนั้นก็จะเป็นได้แค่สิ่งที่อยู่ในหัว ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาให้เห็นในชีวิตจริง ที่ปรึกษาตรงนี้จะทำหน้าที่สำรวจและออกไอเดียว่าสัวสดิการที่เหมาะสมต่อพนักงานเป็นอย่างไร, บริษัทอื่น ๆ ในสายงานดูแลพนักงานแบบไหน เพื่อลดโอกาสที่ทำให้พนักงานเปรียบเทียบจนอาจนำไปสู่การลาออกในภายหลัง นอกจากนี้ที่ปรึกษาด้านรัพยากรบุคคลยังสามารถให้คำแนะนำเมื่อเกิดปัญหาระหว่างพนักงาน ไม่ปล่อยให้เราแก้ปัญหาตามอัตภาพซึ่งอาจทำให้เกิดรอยร้าวที่ใหญ่ขึ้นโดยไม่จำเป็น
ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี (IT Consulting)
โลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากหลังเกิดโควิด-19 หนึ่งในนั้นคือเรื่องเทคโนโลยีที่ต่างถูกพัฒนามาให้การทำงานคล่องตัวมากที่สุดขณะที่คนต้องหันไปทำงานจากที่บ้าน (Work From Home Policy) เรามีทางเลือกมากขึ้นแถมยังราคาถูกลง ดังนั้นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีจะเป็นผู้ให้คำแนะนำว่ามีผลิตภัณฑ์หรือบริการแบบใดที่เหมาะกับองค์กร ช่วยลดต้นทุน และเปิดโอกาสให้พนักงานเอาเวลาไปคิดค้นเรื่องอื่น หรือแม้แต่ให้คำตอบว่าปัจจัยใดบ้างที่เราไม่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งช่วยให้เราไม่ต้องเสียเงินเพื่อก้าวให้ทันเทคโนโลยีโดยไม่จำเป็น
ที่ปรึกษาด้านการใช้สื่อออนไลน์ (Social Media Consulting)
ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เรานำลงไปในโลกออนไลน์จะคงอยู่ตรงนั้นไปตลอด เป็น Social Footprint ที่คอยหลอกหลอนหากเราทำอะไรผิดพลาด ดังนั้นที่ปรึกษาจะช่วยให้เราไม่หลุดไปโพสต์สิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์และสร้างความเสียหาย ตลอดจนแนะนำว่ามีกลยุทธ์สื่อสารบนโลกออนไลน์แบบใดบ้างที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายสนใจผลิตภัณฑ์ของเรามากที่สุด ทั้งนี้ยังหมายรวมถึงเคล็ดลับในการแก้ปัญหาบนโลกออนไลน์ที่เปรียบเหมือนการ “แก้ปัญหาในที่แจ้ง” หากเทียบกับช่องทางสื่อสารอื่น ๆ
ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย (Legal Consulting)
องค์กรใหญ่ ๆ อาจว่าจ้างทนายหรือคนที่มาดูแลด้านกฎหมายแบบเต็มเวลา แต่สำหรับบริษัทเล็ก ๆ การใช้ที่ปรึกษาด้านกฎหมายแบบชั่วครั้่งชั่วคราวถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เช่น ตอนทำสัญญา, ตัดสินเกี่ยวกับอนาคตของพนักงาน หรือแม้แต่การป้องกันข้อมูลด้านลิขสิทธิ์ต่าง ๆ
รู้ได้อย่างไรว่าเราควรว่าจ้างที่ปรึกษา (Consultant) ได้แล้ว
ไม่แปลกหากผู้บริหารจะเลือกเชื่อความคิดของตนเป็นหลักโดยเฉพาะในหัวข้อที่ตนถนัด แต่ในหัวข้อที่เราไม่ถนัดและต้องเข้าไปเกี่ยวข้องนั้น การรับฟังความเห็นให้มากแล้ัวค่อยนำมาประยุกต์เข้ากับมุมมองของตนเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการอาศัยเพียง “ความเชื่อ” อย่างเดียว
คุณควรจ้างที่ปรึกษา หากเจอสถานการณ์เหล่านี้
- เมื่อต้องตัดสินใจในประเด็นสำคัญ (Major Decision)
- เมื่อต้องการเห็นธุรกิจในแง่มุมใหม่ ๆ (Fresh Perspective)
- เมื่ีอเจอปัญหาด้านงบประมาณและผลกำไรแล้วไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร
- เมื่อไม่แน่ใจว่าสายงานใหม่ที่กำลังจะเข้าไปมีจุดเด่นหรือจุดที่ต้องกังวลอย่างไร
- เมื่อต้องการยกระดับองค์กรให้ก้าวไปอีกขั้นอย่างเป้นระบบ
- เมื่อการทำงานติดขัดแล้วไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร รวมถึงไม่มีงบมากพอสำหรับการจ้างพนักงานประจำ
- เมื่อวัฒนธรรมองค์กรมาถึงจุดแตกหัก พนักงานขาดพลังใจในการต่อสู้ และไม่รู้ว่าจะช่วยให้องค์กรกลับมาสู่สภาวะปกติได้อย่างไร
การเลือกที่ปรึกษา (Consultant) ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องใด
เช่นเดียวกับสายงานอื่น ๆ การเลือกที่ปรึกษาต้องให้ความสำคัญกับขั้นตอนสรรหาเป็นพิเศษ เพราะคำแนะนำจากคนในตำแหน่งนี้มักเป็นคำตอบที่องค์กรนำไปใช้ หากเราได้คำตอบแบบขอไปที การลงทุนลงแรงของคนในองค์กรก็จะเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ ดังนั้นหากคุษต้องเลือกที่ปรึกษาสักคน ให้เลือกโดยเน้นไปที่องค์ประกอบ 5 ข้อดังต่อไปนี้
เลือกให้ถูกว่าต้องการที่ปรึกษาแบบไหน (Type of Consultant)
องคฺ์กรต้องตีโจทย์แตกก่อนว่าปัญหาขององค์กรคือจุดไหน และคำปรึกษาที่เราต้องการจริง ๆ คือข้อมูลในด้านใด เมื่อได้คำตอบตรงนี้แล้ว ต้องคิดต่อว่าพนักงานของเราเป็นคนแบบใด จะฟังคำแนะนำจากคนแบบไหน และปฏิเสธคำแนะนำจากคนแบบไหน เพราะไม่มีประโยชน์เลยหากเราได้ที่ปรึกษาชั้นยอดที่เต็มไปด้วยประสบการณ์และคำแนะนำที่ดี แต่มีวิธีถ่ายทอดที่ขัดแย้งกับทัศนคติของลูกทีม เพราะเป้าหมายของคำแนะนำทุกประเภทล้วนหมายถึง “สิ่งดี ๆ ที่คนอยากนำไปปฏิบัติใช้จริง”
เลือกจากประสบการณ์และผลงานในอดีต (Experiences & Credentials)
สิ่งสำคัญคือการแน่ใจว่าที่ปรึกษาคนนั้น ๆ มีความรู้ที่เราหาไม่ได้ในองค์กรจริง ๆ เพราะไม่มีประโยชน์เลยหากเราต้องจ่ายเงินเพื่อข้อมูลที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว นอกจากนี้เรายังต้องเลือกคนที่มีประสบการณ์จริง ไม่ใช่แค่ประสบการณ์ด้านการศึกษาหรือการให้คำแนะนำเท่านั้น แต่ต้องเป็นประสบการณ์ทำงานร่วมกับคนหลายรูปแบบ เช่นผู้บริหาร, ชาวต่างชาติ หรือแม้แต่เด็กจบใหม่ไฟแรงที่อาจสร้างความวุ่นวายภายในองค์กร ทั้งนี้เราสามารถสัมภาษณ์ที่ปรึกษาหลาย ๆ คน เพื่อหาคนที่เหมาะกับองค์กรที่สุดได้เช่นกัน
เลือกจากความยืดหยุ่นในการทำงาน (Flexibility)
ที่ปรึกษาที่ดีย่อมมาพร้อมกับคำแนะนำที่ยอดเยี่ยม แต่คำแนะนำเหล่านั้นจะใช้ไม่ได้เลยหากขัดแย้งกับพฤติกรรมของพนักงานในภาพรวม เช่นหากเราได้รับคำแนะนำว่าการตอบโต้อย่างแข็งกร้าวจะช่วยให้ลูกค้ากลัวและรับฟังข้อเสนอ แต่พนักงานของเราที่ต้องทำหน้าที่ดังกล่าวกลับเป็นคนขี้เกรงใจ ไม่กล้าเผชิญหน้า ดังนั้นหากที่ปรึกษาเอาแต่ยืนยันว่าวิธีแก้ปัญหามีเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถยืดหยุ่นให้เข้ากับนิสัยเฉพาะตนของพนักงาน คำแนะนำดังกล่าวก็จะไม่เกิดประโยชน์เช่นกัน
กรณีนี้หมายความว่าคนที่ทำงานด้านการให้คำปรึกษาต้องรู้จักปรับตัวเช่นกัน เพราะองค์ความรู้ที่เคยทำให้เราประสบความสำเร็จไม่ใช่สิ่งที่จะคงอยู่ไปตลอดกาล การปรับตัวให้ทันกระแสโลกคือสิ่งที่พนักงานทั่วไปและที่ปรึกษาต้องให้ความสำคัญควบคู่กันไป
เลือกจากความคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)
สิ่งที่ทำให้ที่ปรึกษาธรรมดา ๆ กับที่ปรึกษาชั้นยอดแตกต่างกันก็คือลักษณะของการวิเคราะห์ปัญหาและกลยุทธ์ที่เลือกใช้ พวกเขาต้องรู้ว่าคำแนะนำที่มีจะนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับเป้าหมายอย่างไร, จะโน้มน้าวให้คนอื่นเชื่ออย่างไร ไม่ใช่แค่เอาหลักการขึ้นมาพูดโดยไม่สนเลยว่ามุมมองจากคนรอบข้างจะเห็นด้วยไหม ทั้งนี้ที่ปรึกษาที่ดีต้องกล้าวิพากษ์ความเห็นของเพื่อนร่วมงานหากเห็นว่าเป็นผลเสียมากกว่าผลดี
เลือกจากจุดมุ่งหมายในการทำงาน (Purposeful)
ตำแหน่งที่ปรึกษาถือเป็นตำแหน่งงานอย่างหนึ่งที่คนย่อมอยากสร้างชื่อเสียงให้ตนเอง แต่ในเมื่อเราร่วมงานกันในฐานะของลูกจ้าง – นายจ้างแล้ว เราต้องเลือกคนที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าเข้ามาเพื่อช่วยเหลือองค์กร เอาผลประโยชน์ของบริษัทเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ดันทุรังเอาความเห็นและวิธีทำงานเพื่อนำความสำเร็จไปสร้างเครดิตให้ตนเองเท่านั้น ความจริงใจตรงนี้จะทำให้คนในทีมเชื่อมั่นว่าสิ่งที่นำเสนอออกไปมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับกันละกันจริง ๆ แม้จะเป็นคำแนะนำที่ทำร้ายความรู้สึกในบางครั้งก็ตาม แต่หากที่ปรึกษาสร้างความเชื่ิอมั่นตรงนี้ไม่ได้ แม้จะเป็นคำแนะนำง่าย ๆ ก็อาจสร้างความบาดหมางระหว่างกันได้อยู่ดี
เคล็ดลับในการใช้งานที่ปรึกษา (Consultant) ให้มีประสิทธิภาพ
ที่ปรึกษาที่ดีไม่ใช่คนที่ราคาแพงที่สุดหรือมีชื่อเสียงที่สุด แต่เป็นคนที่เหมาะกับองค์กรที่สุดต่างหาก ยกตัวอย่างเช่นหากเราเป็นบริษัทขนาดเล็ก มีพนักงานไม่ถึง 10 คน เราก็ไม่จำเป็นต้องเลือกที่ปรึกษาซึ่งทำแต่งานในองค์กรที่มีพนักงานหลักพัน เพราะแม้จะให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แน่ ๆ แต่เราก็ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าเข้าไปด้วย
ดังนั้นก่อนที่จะพิจารณาถึงการว่าจ้างที่ปรึกษาทุกครั้ง เราต้องเข้าใจอย่างแน่ชัดว่าปัญหาที่เรามีคืออะไร, ต้องการคำแนะนำไปให้ใคร, อยากได้ที่ปรึกษาที่ใช้กลยุทธ์แบบไหน ข้อมูลเหล่านี้ยิ่งละเอียด ก็ยิ่งทำให้เราได้คนที่เหมาะกับองค์กร
หากคุณไม่รู้ว่าจะหาที่ปรึกษาที่เหมาะสมได้ที่ไหน เราแนะนำให้ใช้บริการของ HREX แพลตฟอร์มที่รวบรวม HR Consulting จากทั่วประเทศไทยเอาไว้ ตอบโจทย์ทั้งธุรกิจขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ไม่ว่าคุณจะวางกลยุทธ์งานเอาไว้แบบไหน ก็แก้ปัญหาจบได้ในคลิกเดียว
บทสรุป
การยอมรับว่าเราทำไม่ได้คือจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ เพราะจะเปิดโอกาสให้เราได้เข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ ๆ จากผู้ที่เชี่ยวชาญโดยตรง ไม่ใช่ข้อมูลที่เกิดจากความรู้สึกโดยไม่ผ่านประสบการณ์หรือการนำไปใช้จริง เรียกได้ว่าการว่าจ้างที่ปรึกษาคือรากฐานของการ “ขอความช่วยเหลือ” (Asking For Help) ที่เรานำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งด้านการทำงาน ตลอดจนการใช้ชีวิตประจำวันให้สมบูรณ์แบบกว่าเดิม ดังนั้นหากคุณกำลังเจอปัญหาในการทำงานและไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร การลองจ้างที่ปรึกษาดูสักครั้งก็อาจเป็นคำตอบที่คุณตามหามานานก็เป็นได้