HIGHLIGHT
|
ไม่ว่าใครก็เคยถูกปฏิเสธด้วยกันทั้งนั้น จะเป็นนักธุรกิจหน้าใหม่หรือนักธุรกิจระดับโลกก็หนีเรื่องนี้ไปไม่พ้น แต่สิ่งที่จะทำให้คนแตกต่างกันก็คือ “วิธีรับมือกับการถูกปฏิเสธ” บางคนเลือกที่จะเศร้าและผิดหวังไปกับมัน ขณะที่บางคนใช้เรื่องนี้เป็นแรงผลักดันเพื่อกลับไปคิดค้นนวัตกรรมที่ใหม่กว่า, ดีกว่า, ตอบโจทย์กว่า จนตกตะกอนเป็นความสำเร็จที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน ดังนั้นเรื่องเล็กน้อยอย่างการปฏิเสธ หากถูกนำไปใช้อย่างถูกที่ถูกเวลาภายใต้กรอบความคิดที่เหมาะสม ก็สามารถกลายเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะช่วยให้องค์กรของคุณก้าวไปได้ไกลกว่าที่เคย
ศาสตร์ของการปฏิเสธและรับมือกับความผิดหวังเป็นอย่างไร หาคำตอบได้จากบทความนี้
การถูกปฏิเสธ (Rejection) มีประโยชน์กับการทำงานอย่างไร
ในบรรดามิติของการทำงานนั้น “การถูกปฏิเสธ” ถือเป็นแง่มุมที่น่าสนใจมาก เพราะขณะที่มันสร้างความขุ่นข้องหมองใจให้กับผู้คนแล้ว มันก็จะสร้างกลไกเรียนรู้บางอย่างที่ทำให้เกิดพัฒนาการและเกิดประโยชน์กับองค์กรไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้นการฝึกตัวเองให้สามารถรับมือกับการถูกปฏิเสธ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องแผนงาน, การเจรจา หรือแม้แต่ความสัมพันธ์จึงเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้เราเป็นคนที่แข็งแกร่งขึ้นได้จริง
สาเหตุสำคัญอีกอย่างที่เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นเพราะไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงการถูกปฏิเสธได้เลย เราจึงต้องหาประโยชน์จากแง่มุมต่าง ๆ ให้มากที่สุด เพราะการถูกปฏิเสธอาจเป็นการช่วยดึงเรากลับมาสู่โลกความเป็นจริงเพื่อบอกว่าวิธีคิดนั้น ๆ มีข้อผิดพลาดและมีจุดที่ต้องปรับปรุง ประเด็นนี้จึงไม่ได้ตั้งอยู่ในบริบทแง่ลบเสมอไป แต่กลับหมายถึงภาพสะท้อนจากประสบการณ์ของผู้ปฏิเสธที่พยายามแนะนำว่ามีมุมมองอื่น ๆ ที่ควรนำมาใช้มากกว่า
เหตุนี้ทุกครั้งที่คุณถูกปฏิเสธ ให้คิดเสมอว่าคุณกำลังเข้าใกล้ความถูกต้องเพิ่มไปอีกขั้นแล้ว
ความกลัวที่จะถูกปฏิเสธ (Rejection) คืออะไร ส่งผลกับการทำงานอย่างไร
ในเหตุผลทางจิตวิทยานั้นกล่าวว่าเพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม การถูกยอมรับจากคนอื่นจึงเป็นสิ่งที่เรามองหาเสมอ ไล่มาตั้งแต่การได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มก้อนในยุคบรรพบุรุษเรื่อยมาจนถึงการอยู่ในความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือคนรักในปัจจุบัน การถูกขับไล่หรือปฏิเสธจากสังคมถูกมองเป็นความเจ็บปวดที่พร้อมกดทับเราทันทีหากไม่รู้จักวิธีรับมืออย่างถูกต้อง
ความกลัวที่จะถูกปฏิเสธส่งผลกับการทำงานในหลากหลายแง่มุม เช่น การพูดในที่สาธารณะ (Public Speaking) ไม่ว่าจะเพื่อขายงานลูกค้าหรือนำเสนอความคิดเห็นให้คนในองค์กร หากผู้พูดกลัวสายตาต่อต้านและความคิดเห็นจากคนอื่นก็อาจทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจได้เลย
ความกลัวที่จะถูกปฏิเสธยังรวมถึงสภาวะกลัวสังคม (Social Anxiety) ที่ถือเป็นปัญหาทางจิตใจ (Mental Health) ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่อยากพูดอะไรที่น่าอายจนกลายเป็นตัวตลก โดยจุดที่น่ากังวลที่สุดคือการฝืนตัวเองเพื่อทำพฤติกรรมที่ตนเองก็ไม่ชอบเพียงเพราะอยากเอาใจคนรอบตัว ทัศนคติแบบนี้จะทำให้เกิดความแตกแยกทางความคิดทีละเล็กทีละน้อยจนท้ายสุดเราก็จะกลายเป็นคนที่ต้องหนีไปเสียเอง
ความกลัวที่จะถูกปฏิเสธจึงเป็นเรื่องที่ส่งผลทั้งด้านส่วนตัว (Personal) และส่วนรวม (Professional) นำไปสู่การคาดหวังจากในด้านต่าง ๆ โดยไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง จนเกิดเป็นความขุ่นข้องหมองใจ (Angriness), ความอิจฉา (Jealously) ตลอดจนความขัดแย้ง (Conflict) ซึ่งจุดที่อันตรายที่สุดคือการเป็นโรค RSD (Rejection Sensitive Dysphoria) หรืออาการหวั่นไหวเป็นพิเศษต่อการถูกปฏิเสธ ซึ่งเป็นผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวันโดยตรง อนึ่งความกลัวที่จะถูกปฏิเสธประกอบด้วยแง่มุมเบื้องต้นดังต่อไปนี้
ความกลัวที่จะถูกปฏิเสธในด้านการทำงาน (Careers)
การทำงานกับการเรียกร้องบางอย่างเป็นของคู่กัน เช่น การขอขึ้นตำแหน่ง, การขอขึ้นเงินเดือน หรือแม้แต่การแสดงความเห็นทั้งด้านบวกและลบ ดังนั้นหากกลัวว่าคำขอของเราจะถูกปฏิเสธและเลือกที่จะเก็บความรู้สึกทั้งหมดเอาไว้ที่ตัวเพียงคนเดียว เราก็มีสิทธิ์พลาดโอกาสอีกมากมายในชีวิตการทำงาน รวมถึงผลตอบแทนที่ควรจะได้รับตามสมควรอีกด้วย
ความกลัวอีกอย่างที่ส่งผลกระทบกับงานโดยตรงคือความกลัวการสัมภาษณ์งาน (Interview Anxiety) ไม่กล้ายื่นใบสมัครเพราะคิดว่าตนมีศักยภาพไม่มากพอจนอาจทำได้ไม่ดีในการสัมภาษณ์ เชื่อมั่นไปล่วงหน้าว่าตนต้องไม่ผ่านการคัดเลือกแน่นอน เป็นต้น ความกลัวในลักษณะนี้ยังเกิดขึ้นได้กับคนที่ทำงานในองค์กรหนึ่งเป็นเวลานานจนคิดว่าไม่สามารถย้ายไปทำงานที่อื่นได้อีกแล้ว ปัญหานี้เรียกว่าความกลัวงานใหม่ (New Job Anxiety) นั่นเอง
ความกลัวที่จะถูกปฏิเสธในด้านการเข้าสังคม (Social)
คนที่กลัวการถูกปฏิเสธจากสังคมมักเลือกอยู่คนเดียว ไม่อยากรวมกลุ่มและพูดคุยกับคนอื่น ความกลัวนี้อาจเกิดจากสาเหตุใดก็ได้ เช่นไม่มีหัวข้อในการพูด, กลัวพูดแล้วดูไม่ฉลาด, การลืมชื่อผู้ฟัง, หรือเป็นแค่การไม่ชอบวิธีพูดของคนอื่นก็ได้ ความกลัวนี้จะทำให้เราขาดความสามารถในการแลกเปลี่ยนข้อมูลรวมถึงการปรับตัวเพื่อแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าซึ่งเป็นเรื่องที่เรียนรู้ได้จากเหตุการณ์จริงเท่านั้น อนึ่งความกลัวสังคมจะนำไปสู่ความกลัวความสัมพันธ์ (Relationship Anxiety) ทำให้ไม่กล้าแสดงความไม่พอใจออกมาตรง ๆ จนสร้างความอึดอัดให้คนรอบข้าง หากปล่อยไว้นาน ก็จะกลายเป็นคนที่ถูกสังคมปฏิเสธไปจริง ๆ
ความกลัวที่จะถูกปฏิเสธในด้านการสร้างสรรค์ (Creativity)
การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ใหม่กับการทดลองเป็นของคู่กัน ดังนั้นหากเรากลัวการปฏิเสธ เราก็จะเลือกทำแต่สิ่งที่มั่นใจในผลลัพธ์แง่บวก ไม่กล้านำเสนอไอเดียที่อาจทำให้อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย คนที่มีทัศนคติแบบนี้จะไม่สามารถทำงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้เลย ซึ่งท้ายสุดจะนำไปสู่ความกลัวทางธุรกิจ (Business Anxiety) กลัวว่างานของตนจะสู้คู่แข่งไม่ได้ ทั้งที่ความจริงแล้วการถูกปฏิเสธถือเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก
สัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเป็นคนที่กลัวการถูกปฏิเสธ
นิสัยสำคัญของคนที่กลัวการถูกปฏิเสธคือการนึกถึงความสุขของคนอื่นก่อนตนเอง และเชื่อว่าการบอกความรู้สึกของตนออกไปเป็นเรื่องน่ารังเกียจ อาจด้วยความเกรงใจหรือมองว่าตนไม่มีคุณค่ามากพอหากเทียบกับคนอื่น ปัญหานี้อาจเกิดจากความไม่มั่นใจตนเองหรืออยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นปัญหา (Toxic Relationship) มายาวนาน เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราสามารถอธิบายสัญญาณของคนที่กำลังกลัวการถูกปฏิเสธได้ดังนี้
- พยายามทำให้คนอื่นมีความสุขตลอดเวลา
- พยายามแบกความรับผิดชอบมากเกินไป
- พยายามทำทุกอย่างที่ได้รับมอบหมายโดยไม่ปฏิเสธ
- พยายามยิ้มในทุกโอกาสจนคนสังเกตว่ามองโลกในแง่ดีเกินไป
- พยายามทนอยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่ดี
- พยายามทำงานให้ผิดพลาดน้อยที่สุดและเป็นคนสมบูรณ์แบบ (Perfectionism)
- พยายามทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว ไม่กล้าขอความช่วยเหลือหรือแสดงความอ่อนแอออกมา
หากรู้สึกว่าตนหรือคนใกล้ตัวกำลังแสดงสัญญาณเหล่านี้ อย่าปล่อยให้ต้องสู้เพียงคนเดียวเด็ดขาด ให้รีบสอบถามฝ่ายบุคคลหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อเข้ามาช่วยเหลือทันทีเพื่อป้องกันเหตุไม่คาดฝันหรือการเกิดปัญหาอื่น ๆ ในระยะยาว
เราควรรับมือกับการถูกปฏิเสธ (Rejection) อย่างไร ?
วิธีการปฏิเสธคนเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง ดังนั้นการรับมือเมื่อถูกปฏิเสธก็ถือเป็นศาสตร์เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิเสธเรื่องในเล็กหรือใหญ่ก็ตาม ซึ่งความเข้าใจที่ถูกต้องไม่ใช่การฝืนทนหรือบอกตัวเองว่าต้องเป็นมืออาชีพตลอดเวลา แต่เป็นการยอมรับว่าการปฏิเสธนั้น ๆ มีสาเหตุจากอะไร, นำไปต่อยอดอย่างไร โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงทั้งในแง่ของการทำงานและในแง่ของความรู้สึกส่วนบุคคล
การจ่อมจมอยู่กับความเจ็บปวดสักระยะอาจเป็นวิธีรับมือที่ดีกว่าการบอกตัวเองให้รีบเผชิญหน้าและยอมรับมันก็ได้ เพราะการตกตะกอนทางความคิดจำเป็นต้องใช้เวลามากกว่าการเรียนรู้ตามขั้นตอนปกติ แง่มุมเหล่านี้จึงเป็นบริบทที่เราต้องฝึกฝนหากต้องการใช้ประโยชน์จากมันให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
รับมือกับการถูกปฏิเสธด้วยวิธีระบายอารมณ์
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าหากเรารู้สึกแย่จนทนไม่ไหว เราก็ไม่ต้องทน ! เพราะเราเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึก ดังนั้นขั้นตอนแรกของการรับมือก็คือต้องระบายอารมณ์ออกมาให้หมด จะด้วยการตะโกน, กรีดร้อง, ออกกำลังกาย หรือพูดคุยกับเพื่อสนิทก็ได้ แต่ห้ามเก็บความรู้สึกไว้คนเดียวเด็ดขาด
วิธีนี้ตั้งอยู่ภายใต้แนวคิดว่าเราจะเรียนรู้จากปัญหาไม่ได้เลย หากไม่ยอมรับว่าสิ่งที่ทำให้เจ็บปวดเป็นปัญหาจริง ๆ กลไกนี้อธิบายได้ว่ายิ่งเราระบายอารมณ์ออกมากเท่าไหร่ เปลือกที่ครอบคลุมปัญหาอยู่ก็จะค่อย ๆ ถูกกระเทาะออกมาจนเปิดโอกาสให้เรามองปัญหาได้แบบองค์รวม ดังนั้นเราจึงสามารถนำความรู้ที่เหลือไปศึกษา, พัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ต่อไป
รับมือกับการถูกปฏิเสธด้วยการถามว่าทำไม
หลายครั้งที่เรามองการถูกปฏิเสธว่าเป็นความล้มเหลว แต่เคยตั้งคำถามไหมว่าภายใต้การปฎิเสธนั้นมีความรู้หรือความรู้สึกใดแอบซ่อนอยู่ ? อย่าลืมว่ามนุษย์ทุกคนมีประสบการณ์ชีวิตต่างกัน สิ่งที่เราเสนอจึงอาจเคยมีผู้ทดลองมาก่อนและเห็นถึงความล้มเหลวอย่างที่เราไม่เคยพบเจอก็ได้ ดังนั้นเป็นเรื่องดีกว่ามากหากเราจะเริ่มจากการตั้งคำถามและมองว่าเหตุผลที่เราถูกปฏิเสธมีความถูกต้องมากน้อยแค่ไหน
หากพิจารณาแล้วว่าเหตุผลของผู้ปฏิเสธฟังขึ้นจริง ๆ เราก็จะสามารถนำความเห็นดังกล่าวไปพัฒนาความคิดเดิมที่เราวางไว้ให้ออกมาเป็นแผนงานที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในอนาคต กล่าวโดยง่ายว่าทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งของคนที่พร้อมรับมือเมื่อถูกปฏิเสธ คือการพร้อมรับฟังความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์จากคนอื่น
รับมือกับการถูกปฏิเสธด้วยการเปลี่ยนความล้มเหลวเป็นแรงบันดาลใจ
การทำงานทุกชนิดจำเป็นต้องมีแรงบันดาลใจเพื่อกระตุ้นให้เราอยากผลงานออกมาดียิ่งขึ้น และรู้มั้ยว่าการถูกปฏิเสธก็เป็นกลไกอย่างหนึ่งที่จะทำให้เรากลับมาสนใจเนื้องานมากขึ้น เช่นความรู้สึกอยากพิสูจน์ตัวเองให้คนที่เคยตั้งคำถามเปลี่ยนความคิด หรืออยากทำให้เห็นว่าการปฏิเสธเราเป็นเรื่องผิด
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าคนที่ประสบความสำเร็จล้วนเจอกับการถูกปฏิเสธมานับครั้งไม่ถ้วน การเรียนรู้จากจุดนี้จะทำให้เรากลายเป็นคนที่เก่งขึ้นกว่าที่เคย ซึ่งท้ายสุดเราต้องเข้าใจว่าเป้าหมายของการทำงานเป็นเรื่องของธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องของอารมณ์ ดังนั้นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม คนที่ไม่สามารถก้าวข้ามความเจ็บปวดได้ก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังส่วนคนที่พร้อมทำอะไรใหม่ ๆ และรับมือกับการถูกปฏิเสธได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะกลายเป็นคนที่เก้าไปข้างหน้าได้ไกลกว่า ให้คิดเสมอว่าคนที่ไม่เคยถูกต่อว่าคือคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย
เราสามารถปฏิเสธผู้อื่นอย่างสุภาพได้อย่างไร ? (Art of Rejection)
การรับมือกับการถูกปฏิเสธเป็นเรื่องสำคัญและการปฏิเสธผู้อื่นอย่างสุภาพก็คือเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน ทั้งนี้เพราะเราต่างเป็นคนที่มีความรู้สึก การปฏิเสธอย่างตรงไปตรงมาแม้จะมีเหตุผลที่ถูกต้องแต่ก็อาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่จนไม่กล้านำเสนอความเห็นอะไรอีก กลายเป็นพนักงานที่ไร้ประสิทธิภาพอย่างน่าเสียดาย ดังนั้นเราจึงต้องคิดว่าการปฎิเสธเป็นกลไกที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อเปลี่ยนความล้มเหลวให้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนขององค์กร ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเพียงตราประทับที่ทำให้คนต้องมารู้สึกผิดโดยไม่มีประโยชน์อะไร
การปฏิเสธอย่างสุภาพยังช่วยให้ทุกคนกลับมาโฟกัสงานหลักที่ต้องทำได้มากขึ้น ลองนึกดูว่าเรามีเวลาในแต่ละวันเพียง 24 ชั่วโมง หากเราปฏิเสธแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ เราก็อาจต้องมานั่งแก้งานที่รู้อยู่แก่ใจว่าไม่มีทางดีขึ้น หรือหากเราปฏิเสธแบบไม่รักษาน้ำใจ เราก็อาจต้องเอาเวลามาปลอบใจอีกฝ่าย หรือแก้ไขบรรยากาศในที่ทำงานจนหมดวัน เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างโดยไม่รู้ตัว
เหตุนี้ไม่ว่าคุณจะเป็นพนักงานในระดับใด การปฏิเสธอย่างมีชั้นเชิงและสุภาพก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้หากต้องการยกระดับตัวเองให้กลายเป็นที่รักของผู้อื่น ซึ่งสามารถทำได้ด้วย 5 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.ปฏิเสธเมื่อรู้ว่าเหตุผลคืออะไร
การปฏิเสธทุกครั้งต้องตั้งอยู่บนหลักของเหตุผล ไม่ควรปฏิเสธโดยเอาอารมณ์เป็นที่ตั้งเด็ดขาด อาจต้องย้อนไปดูถึงประสบการณ์ของตนเองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่ผลเสียได้อย่างไร และเมื่อตกตะกอนทางความคิดแล้วจึงค่อยเอ่ยคำปฏิเสธออกมา
2.จัดระดมความคิด (Brainstorming) ทันทีเมื่อเกิดการปฏิเสธขึ้น
ขั้นตอนนี้อาจเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับอีกฝ่ายเพื่อหามุมมองให้กว้างขึ้น แต่หากเป็นการปฏิเสธหัวข้อที่ใหญ่กว่า เราควรจัดประชุมเพื่อรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อหาคำตอบว่าองค์กรจะต่อยอดจากความล้มเหลวที่เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง วิธีนี้จะช่วยให้เราได้คำตอบที่เฉียบคมและเป็นที่พอใจของคนหมู่มาก
3.ต้องกล้าปฏิเสธอย่างตรงไปตรงมา
การปฏิเสธสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอน แม้จะเป็นการพูดคุยในระดับใดก็ตาม ยิ่งหากเป็นการพูดคุยเพื่อแก้ปัญหา คำปฏิเสธอย่างตรงไปตรงมาเป็นสิ่งที่ผู้นำต้องนำไปใช้เพื่อให้ลูกทีมสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ไม่อ้อมค้อม และไม่เสียเวลาที่ควรนำไปใช้กับหน้าที่อื่นมากกว่า
4.อธิบายเหตุผลของการปฏิเสธเท่าที่จำเป็น
คนส่วนใหญ่ชอบอธิบายให้ยาวและละเอียดที่สุดเมื่อปฏิเสธผู้อื่นเพราะกลัวว่าจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี แต่จริง ๆ การปฏิเสธที่เยิ่นเย้อมีแต่จะทำให้อีกฝ่ายคิดมาก จากประเด็นที่เรานำไปอ้างอิงระหว่างแสดงความรู้สึกผิด ดังนั้นเราต้องแยกให้ชัดเจนระหว่างเหตุผลของการปฎิเสธและวิธีการเยียวยาความรู้สึกหลังเอ่ยคำปฏิเสธพร้อมเหตุผลอย่างครบถ้วนไปแล้ว
5.หาทางออกอื่น ๆ ให้กับผู้ที่ถูกปฏิเสธ
สิ่งที่ผู้ปฏิเสธต้องสนใจมากที่สุดไม่ใช่อารมณ์ของผู้ที่ถูกปฏิเสธ แต่เป็นการตั้งคำถามว่าเราจะเปลี่ยนสิ่งที่ถูกปฏิเสธให้กลายเป็นเรื่องที่ทุกคนยอมรับได้อย่างไร จุดนี้ต้องอาศัยทักษะและประสบการณ์เป็นพิเศษ เพราะหากเราสามารถให้ทางออกที่ดีกว่า ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นภายในทีมและแสดงให้เห็นว่าเรามีทางเลือกที่ดีกว่า, พร้อมช่วยแก้ปัญหา และไม่ได้เป็นคนที่เอาแต่ปฏิเสธแบบขอไปที
บทสรุป
การปฏิเสธเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนเคยพบเจอไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ และเรื่องเพียงเล็กน้อยแบบนี้อาจยกระดับจนกลายเป็นเรื่องใหญ่และสร้างผลเสียต่อองค์กรอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าแม้โลกธุรกิจจะพัฒนาไปไกลและรวดเร็วแค่ไหน แต่การใส่ใจเพียงแค่นวัตกรรมโดยมองข้ามเรื่องพื้นฐานไม่ใช่วิธีการทำงานที่ถูกต้อง เราต้องหมั่นเรียนรู้และกลับมาสังเกตที่รากฐานให้มากที่สุด ไม่ว่าจะด้วยการอบรม, การพูดคุยภายในทีม หรือการจัดทำสวัสดิการบางอย่างเพื่อกระตุ้นให้เกิดการอยู่ร่วมกันมากกว่าเดิม
The Art of Rejection หรือศิลปะของการปฏิเสธ จะเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ นับจากนี้ จึงถึงเวลาแล้วที่ HR จะต้องทบทวนและกลับไปดูว่าพนักงานในองค์กรของคุณมีความพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสถานการณ์ดังกล่าวแล้วหรือยัง
Sources |