HIGHLIGHT
|
ตอนสมัครงานเขียนใน Job Description อย่างหนึ่ง แต่พอมาทำงานจริงกลับเป็นอีกอย่าง ทำทุกอย่างสารพัดสารเพ จนแทบจะเป็นประธานบริษัท! ใครเคยเจองานหนักแบบนี้ยกมือขึ้น เพราะในบทความนี้ HREX จะมาแถลงไขเรื่อง Over Workload หรือการทำงานหนักเกินไป จนหลาย ๆ คนวู่วามลาออกไปแล้วก็เยอะ ส่วนบางคนไม่ได้วู่วาม แต่ทนไม่ไหวแล้วจริง ๆ เพราะส่งผลกระทบที่แย่ต่อทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ไหวอย่าฝืนเลย มาหาวิธีแก้กันดีกว่า!
Contents
Over Workload คืออะไร ทำไมคนชอบพูดถึง?
cc หรือไม่ก็จ้างพนักงานแค่ไม่กี่คนมาทำงานหลาย ๆ งานเพื่อประหยัดงบ ในกรณีที่เป็นบริษัทเล็ก ๆ หรือ Startup ก็ดี ทำให้ยุคนี้เริ่มมีกระแส Over Workload หนักขึ้นทุกทีจนหลายคนอยากลาออกในบัดเดี๋ยวนี้!
แต่อย่าเพิ่งวู่วามไป เพราะต่อไปนี้เราจะมาบอกวิธีเปลี่ยน Over Workload ให้เป็น Work-Life Balanceกัน
5 สัญญาณเตือน เรากำลังเจอ Over Workload อยู่หรือเปล่า?
หลายคนอยู่ในช่วงยักแย่ยักยัน จะลาออกดีไม่ออกดี แต่ก็ยังไม่ได้วู่วามตัดสินใจ เคยคิดไหมว่าเราอาจจะยังไม่ได้เจอกับ Over Workload จริง ๆ เพราะถ้ายังไม่ตัดสินใจลาออกก็เท่ากับว่าเรายังพอไหวอยู่ ดังนั้นมาดูเช็คลิสต์ทั้ง 5 ข้อที่ HREX หามาให้ดีกว่า หากคุณมีครบ 5 ข้อนี้แล้ว ก็มั่นใจได้เลยว่าตอนนี้งานหนักมาก และควรแก้ได้แล้ว!
ไม่มีเวลาดูแลตัวเอง
การทำงานหนักขึ้นในทุก ๆ วันก็เท่ากับว่าเวลาที่มีให้ตัวเองก็ลดลงด้วยเช่นกัน การที่คุณไม่มีเวลาสำหรับ Self Care เลยคงไม่ดีแน่ นั่นเกิดจากการที่เราต้องใช้เวลาแทบจะทั้งหมดในชีวิตไปโฟกัสกับงานและปั่นงานให้เสร็จ บางทีเราอาจจะลืมไปด้วยซ้ำว่าครั้งสุดท้ายที่เราได้หัวเราะหรือได้ have fun กับเพื่อน ๆ นั้นคือตอนไหน ภาวะนี้อาจเรียกได้ด้วยว่า “Work Stress Syndrome” ถ้าไม่รีบแก้ไขอย่างถูกวิธีก็อาจกระทบอย่างร้ายแรงกับสภาพจิตใจได้
รู้สึกเครียดมาก ๆ
การทำงานหนักเกินไปแน่นอนว่าต้องทำให้เครียดมาก ๆ อยู่แล้ว และอย่างที่รู้กันว่าความเครียดเป็นต้นเหตุของโรคทางกายมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ปวดหัว ปวดท้อง ท้องไส้ปั่นป่วน สมองล้า ฯลฯ ยิ่งไปกว่านั้นสภาพจิตใจจะยิ่งอ่อนล้า หมดแรง จนไม่สามารถจะผ่อนคลายได้เลย และในสมองทั้งยามหลับยามตื่นก็จะคิดถึงแต่เรื่องงานตลอดเวลา
เริ่มทำงานชิ้นใหม่ต่อไปเรื่อย ๆ แบบไม่มีวันจบ
คุณเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเริ่มโปรเจกต์ใหม่เรื่อย ๆ และ handle ทุก ๆ งานในเวลาเดียวกัน แต่กลับทำไม่เสร็จสักอย่าง นี่คือสัญญาณอีกข้อว่าคุณกำลังเผชิญกับ Over Workload เข้าให้แล้ว และยิ่งงานเยอะขึ้นก็ยิ่งทำให้ไม่มีเวลาสนใจโลกภายนอกเลย อนิจจา ช่างน่าเศร้าเหลือเกิน
ป่วยบ่อยมาก
อย่างที่บอกไปว่ายิ่งงานหนักเท่าไหร่ก็ยิ่งส่งผลเสียต่อทั้งร่างกายและจิตใจมากขึ้นเท่านั้น อาจทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ที่น่ากลัวขึ้นได้ด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมองแตก เบาหวาน และอีกมากมาย
กลายเป็นคนขี้เกียจและผัดวันประกันพรุ่ง
Over Workload ทำให้คนเราตกอยู่ใต้ภาวะความกดดันมากมาย แต่ในทางกลับกันนั้น ก็ทำให้เราผัดวันประกันพรุ่งได้เหมือนกัน เพราะเมื่อใจเราไม่อยากเริ่มทำงานก็ทำให้เราโฟกัสไม่ได้และเลื่อนที่จะเริ่มงานออกไปเรื่อย ๆ ยิ่งเพิ่มความเครียดให้ตัวเอง
จะเกิดผลเสียอะไรบ้าง หาก Workload มากเกินไป?
การทำงานหนักเกินไปอาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้าทางอารมณ์และทางร่างกายได้ แล้วก็อาจมีโอกาสนำไปสู่อาการทางร่างกายได้ด้วย เช่น ปวดหัว ปวดหลัง ปัญหาทางเดินอาหาร หรืออาการอ่อนเพลีย หรือหากใครกำลังรู้สึกว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวขี้หงุดหงิด โมโหง่าย หรือจำอะไรระยะสั้น ๆ ไม่ค่อยได้ ก็เป็นอีกหนึ่งผลเสียที่เกิดขึ้นจาก Over Workload เช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำคือต้องรู้อาการเหล่านี้เพื่อจัดการกับงานที่มากเกินไปให้ได้
จัดการอย่างไรให้ Over Workload กลายเป็น Work Life Balance?
หลังจากเกริ่นมาเยอะแล้วเราก็มาถึงส่วนสำคัญของบทความนี้กันแล้วค่ะ นั่นก็คือวิธีแก้ Over Workload หรือการทำงานหนักมากเกินไปนั่นเอง
จัดลำดับความสำคัญของงาน
เมื่องานมีมาก แต่เวลามีจำกัด จะทำยังไงให้ทัน? เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะสามารถทำทุกอย่างให้เสร็จพร้อม ๆ กัน คุณต้องรู้จักจัดลำดับความสำคัญให้ดีว่าอันไหนส่งก่อน ส่งหลัง หรือจำเป็นต้องใช้มากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะได้โฟกัสอย่างตรงจุดและไม่เครียดจนเกินไป
จำกัดเวลาทำงาน
รีบทำงานให้เสร็จตามเวลาที่กำหนดจะดีกว่า ลองประเมินดูว่างานแต่ละงานยาก-ง่ายมากแค่ไหนแล้วกำหนดเวลาขึ้นมา จะได้ไม่มัวแต่ใช้เวลาอยู่กับงานง่าย ๆ งานหนึ่งหลายชั่วโมงหรือหลายวัน ทำให้กินเวลาทำงานอื่นต่อ แล้วเราก็จะเหนื่อยเองด้วย
อย่าเสียเวลาไปกับการทำให้ทุกอย่างเพอร์เฟค
การตั้งใจทำทุกอย่างให้สมบูรณ์นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่การย้ำคิดย้ำทำใส่ใจในรายละเอียด (ที่ไม่จำเป็น) มากเกินไปก็ทำให้เสียเวลาทำอย่างอื่น หากมีงานนี้งานเดียวคงไม่เป็นไร แต่ในเมื่องานก็เยอะอยู่แล้ว แค่ตรวจสอบให้รอบคอบคงจะดีกว่าที่จะต้องเอาเวลาไปทำงานอื่นมาเสียเวลากับการเป็นเพอร์เฟคชั่นนิสม์
อย่าทำหลายงานในเวลาเดียวกัน
เราควรทำงานแค่งานเดียวในช่วงเวลาหนึ่งก็เพียงพอแล้ว บางคนกลัวทำงานไม่ทันเลยงัดสกิล multitasking มาใช้ซะเลย แต่มันไม่ใช่ผลดีเลยเพราะจะยิ่งทำให้งานเดินช้าลงแล้วต้องโฟกัสกับหลายอย่างมากเกินไป เคลียร์ให้เสร็จไปทีละงานจะดีกว่าค่ะ
พักบ้างนะ
คนไม่ใช่เครื่องจักร ไม่มีทางทำอะไรติดต่อกันได้นาน ๆ ยิ่งงานที่ใช้สมองยิ่งแล้วใหญ่ เหนื่อยกว่าใช้ร่างกายด้วยซ้ำไป ควรใจดีกับตัวเองให้กายและใจได้มีเวลาพักบ้าง เป็นการเพิ่มคุณภาพของงานด้วย ยิ่งเราล้ามากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้งานแย่ลงเท่านั้น
แชร์ความในใจกับคนอื่น
คนเราเวลาเป็นทุกข์ สิ่งที่ต้องการก็แค่ต้องการใครสักคนมารับฟัง มาแชร์ปัญหาไปด้วยกัน การที่เราทำงานก็ทำงานเป็นทีม มีทีมไว้ให้ระบายยังไงก็อุ่นใจกว่าอยู่คนเดียว เก็บความทุกข์ไว้คนเดียว ถ้าได้กำลังใจจากคนรอบข้างที่เข้าใจก็คงจะได้ฮีลใจให้ดีขึ้น
กลยุทธ์ HR ที่ช่วยพนักงานจัดการ Over Workload
HR ก็เปรียบเสมือนตัวแทนบริษัทที่จะเข้าใจและเข้าใกล้พนักงานให้มากขึ้น การมาดูแลใจพนักงานและช่วยจัดการ Over Workload ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ HR ควรให้ความสำคัญไม่แพ้เรื่องไหน ๆ เลย ที่สำคัญคือมีงานวิจัยกล่าวไว้ว่า การที่บริษัทมี Workload Management นั้นช่วยเพิ่มความสามารถของพนักงาน ทำให้ performance ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดความเครียดและเพิ่มความพึงพอใจที่พนักงานมีให้บริษัทอีกด้วย
งานนี้ HR ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะนอกจากจะช่วยพนักงานให้มี Work Life Balance มากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ผลประกอบการของบริษัทดีขึ้นด้วยเมื่อพนักงานทำงานได้ดีขึ้น มาดูกันดีกว่าว่า HR จะช่วยพนักงานจัดการ Over Workload ได้ยังไงบ้าง
ปล่อยให้พนักงานได้ค้นหาช่วงเวลาที่ productive ที่สุดของตัวเอง
คนที่ประสบความสำเร็จหลาย ๆ คนมักทำงานในช่วงเวลาที่ตัวเองรู้สึก productive ที่สุด ในฐานะ HR ควรมีการ discuss กันกับหัวหน้าทีมแต่ละทีม รวมถึงคนในทีมด้วยว่าใคร productive ที่สุดช่วงไหน แล้วควรแบ่งงานกันยังไงดี หากตัวเนื้องานไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศก็ได้ HR อาจจะเสนอบริษัทสร้างนโยบายการทำงานแบบ hybrid หรือ work from home กันไป เพื่อให้พนักงานแต่ละคนได้ใช้ช่วงเวลาที่ตัวเองรู้สึกว่า “ได้งาน” ที่สุดจะดีกว่า แถมยังลดแรงกดดันในการทำงานด้วย
กระตุ้นให้พนักงานทำ To-Do List
ข้อนี้ก็เป็นการต่อยอดมาจากส่วนที่แล้ว ที่มีการแนะนำให้จัดลำดับความสำคัญของงาน ตัว HR เองก็อาจจะมีการสนับสนุนให้พนักงานจัดลำดับงานที่ควรทำก่อน-หลังโดยทำ To-Do List ส่วนตัว หรือทำ Kanban Board ในทีมก็ได้ ก็จะทำให้พนักงานจัดลำดับความสำคัญในหัวได้ เมื่อมองภาพรวมออกก็จะทำให้ความเครียดลดลง แล้วในทุกครั้งที่ติ๊กว่างานเสร็จไปทีละข้อ ก็จะทำให้รู้สึกถึงเซ้นส์ของความสำเร็จบางอย่าง ทำให้มีกำลังใจมากขึ้นไปอีก
ช่วยพนักงานจัดการความเครียด
สิ่งที่ HR ทำได้ในการจัดการความเครียดของพนักงานไม่ให้พนักงานวู่วามลาออกไปเสียก่อนนั้น อย่างง่าย ๆ ก็คือการจัด workshop วิธีการจัดการความเครียดในรูปแบบต่าง ๆ หรือเสริมสร้างในพนักงานในองค์กรรู้สึกว่าเรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญ
การทำงานหนักส่งผลให้เกิดทั้ง Burnout ความเครียด วิตกกังวล และความเบื่อหน่ายหมดอาลัยตายอยากในชีวิต ถึงจะไม่มีการจัด workshop ขึ้นมา อย่างน้อยก็ควรจัดหากิจกรรมรับประทานอาหารด้วยกัน ไปร้านกาแฟ ออกไปเดินเล่น หรือออกกำลังกายกันในที่ทำงาน นอกจากจะช่วยลดความเครียดแล้วก็อาจจะช่วยเสริมสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ หรือไอเดียใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ด้วยก็เป็นได้
บทสรุป
ก่อนที่จะพนักงานจะวู่วามลาออกไปเสียก่อนเพราะงานหนัก จนองค์กรอาจต้องเสีย Talent Employee ไป HR และผู้บริหารควรเห็นความสำคัญในเรื่องของสุขภาพจิตของพนักงานเป็นหลักก่อนหากอยากให้องค์กรประสบความสำเร็จ และก็ยังเป็นเรื่องของมนุษยธรรมที่เราควรให้ความสำคัญกับความรู้สึกของคนอื่น เพราะพนักงานก็มีร่างกายและจิตใจเหมือน ๆ กับเรา ถ้าเราเองยังทำงานหนักไม่ไหว คนอื่นก็คงแย่เหมือนกัน ดังนั้นลองนำวิธีที่ HREX แนะนำไปดัดแปลงหรือปรับใช้กับองค์กรกันดูเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป!