Search
Close this search box.

รู้จัก Brain Fog หมอกร้ายปกคลุมสมอง

HIGHLIGHT

  • Fog แปลว่า “หมอก” ดังนั้น Brain Fog ก็คงเป็นอาการที่มีหมอกหนา ๆ ปกคลุมไปทั่วสมองของเราอย่างไม่ผิดเพี้ยน คนที่มีอาการนี้คงรู้สึกเหมือนกับว่าทุกสรรพสิ่งรอบตัวดูหม่น ๆ ไม่สดใส ซึ่งนี่และคืออาการที่สมองของเราเกิดภาวะอ่อนล้า หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า “Brain Fog Syndrome” นั่นเอง 
  • เหตุผลหลักที่เป็นต้นเหตุให้เรามีภาวะสมองล้าขึ้นมาได้ก็คือการทำงานหนักติดต่อกันนาน ๆ คนที่ทำงานโดยใช้สมองมาก ๆ รีบปั่นงานให้ทันเดดไลน์ หรืออ่านหนังสือสอบ ย่อมมีโอกาสเกิด Brain Fog ได้ง่าย
  • นอกจากนี้ การกักตัวอยู่แต่บ้านนี่แหละที่เป็นตัวกระตุ้นภาวะสมองล้า เพราะเมื่อเราอยู่แต่บ้าน เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเหมือน ๆ กันในทุกวัน ก็จะทำให้สมองไม่ค่อยได้ถูกกระตุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทุกอย่างหยุดนิ่งอยู่กับที่เราก็จะยิ่งเฉื่อยชาและอ่อนล้า 
  • HR ปล่อยให้พนักงานต้องเจอกับอาการสมองล้าหรือ Brain Fog Syndrome แบบนี้นาน ๆ คงไม่ดีแน่ เสี่ยงต่อการที่บริษัทจะได้ประสิทธิภาพงานที่แย่แล้ว ก็ยังเสี่ยงพนักงานลาออกอีกด้วย มาดูวิธีแก้กับเรากันดีกว่า!

เชื่อว่าทุกคนต้องเคยมีโมเมนต์ที่สมองเบลอ จะพูดอะไรก็นึกไม่ออก จะทำอะไรก็จำไม่ได้ ทั้งที่เพิ่งผ่านไปเสี้ยววินาทีเท่านั้นเอง หรือไม่ก็รู้สึกมึนหัวบ่อย ๆ สายตาล้า คิดอะไรก็ไม่ออกจนบางทีก็หงุดหงิดตัวเอง ถ้าคุณกำลังมีอาการเหล่านี้ เตรียมตัวรับมือให้ทัน เพราะคุณกำลังมีอาการ Brain Fog หรือภาวะสมองล้าอยู่แน่ ๆ 

แล้วภาวะนี้เกิดจากอะไร? เป็นโรคร้ายแรงหรือเปล่า? จะมีปัญหาระยะยาวไหม? แล้วแก้ยังไงดี? ไปอ่านบทความนี้กันเลย!

Contents

ทำความรู้จัก Brain Fog ในวันที่สมองล้าจนทำงานไม่ไหว

Fog แปลว่า “หมอก” ดังนั้น Brain Fog ก็คงเป็นอาการที่มีหมอกหนา ๆ ปกคลุมไปทั่วสมองของเราอย่างไม่ผิดเพี้ยน คนที่มีอาการนี้คงรู้สึกเหมือนกับว่าทุกสรรพสิ่งรอบตัวดูหม่น ๆ ไม่สดใส ซึ่งนี่และคืออาการที่สมองของเราเกิดภาวะอ่อนล้า หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า “Brain Fog Syndrome” นั่นเอง 

คนที่กำลังมีอาการของภาระสมองล้าอยู่รีบเช็คตัวเองให้ดี เพราะมีผลกระทบต่อความทรงจำ ความสามารถในการโฟกัส ทำให้สมาธิสั้นลง และที่แย่ที่สุดคืออาจทำให้เกิดโรคร้ายแรงทางสมองได้ วันนี้ HR NOTE จะพาไปหาวิธีแก้ไขปัญหาการเกิดภาวะสมองล้ากัน เริ่ม!

Brain Fog หรือภาวะสมองล้า เกิดจากสาเหตุอะไร?

เหตุผลหลักที่เป็นต้นเหตุให้เรามีภาวะสมองล้าขึ้นมาได้ก็คือการทำงานหนักติดต่อกันนาน ๆ ใครว่าใช้สมองไม่เหนื่อย แสดงว่าคนคนนั้นไม่เคยใช้สมองเลย เพราะการใช้สมองหนัก ๆ นี่แหละเหนื่อยกว่าการใช้แรงงานเป็นหลายเท่า ดังนั้นคนที่ทำงานโดยใช้สมองมาก ๆ รีบปั่นงานให้ทันเดดไลน์ หรืออ่านหนังสือสอบ ย่อมมีโอกาสเกิด Brain Fog ได้ง่าย

นอกจากนี้ การพักผ่อนน้อย ไม่ออกกำลังกาย จ้องหน้าจอนานจนเกินไป หรือคนที่เป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการ Brain Fog ได้เหมือนกัน

ใคร ๆ ก็เป็น Brain Fog! หรือ COVID-19 จะเป็นต้นเหตุกันนะ?

มีผลการวิจัยในต่างประเทศพบว่า โควิด-19 นี่แหละเป็นต้นเหตุกระตุ้นภาวะสมองล้า หรือ Brain Fog Syndrome ในผู้คนมากขึ้น แต่มันเกิดขึ้นมาได้ยังไง?

คำตอบคือเกิดมาจากการ “ล็อคดาวน์” หรือ “กักตัว” นานจนเกินไป เพราะการกักตัวอยู่บ้านนาน ๆ นั้นไม่ค่อยดีต่อการฟื้นฟูของสมองสักเท่าไหร่ คุณแคทเธอรีน เลิฟเดย์ (Catherine Loveday) ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยเวสมินสเตอร์ในสหราชอาณาจักร ได้กล่าวไว้ว่า การกักตัวอยู่แต่บ้านนี่แหละที่เป็นตัวกระตุ้นภาวะสมองล้า เพราะเมื่อเราอยู่แต่บ้าน เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเหมือน ๆ กันในทุกวัน ไม่ได้ออกไปไหน เจอใครใหม่ ๆ หรือสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ก็จะทำให้สมองไม่ค่อยได้ถูกกระตุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทุกอย่างหยุดนิ่งอยู่กับที่เราก็จะยิ่งเฉื่อยชาและอ่อนล้า 

7 เช็คลิสต์ คุณกำลังมีภาวะสมองล้าหรือ Brain Fog อยู่หรือเปล่า?

ปวดหัวได้ทุกวี่ทุกวัน

อาการปวดหัวเรื้อรังเป็นอะไรที่ทรมานมาก ยิ่งบางคนปวดวันเว้นวัน หรือปวดทุกวันเลยก็มี เป็นอาการปวดรัด ๆ รอบหัว หนัก ๆ และมีอาการมึน ๆ ร่วมด้วย และให้กินยาไปตลอดคงไม่ดีแน่ รู้ไว้เลยว่านี่แหละคือสัญญาณแรกที่เตือนอาการภาวะสมองล้า

วีน เหวี่ยง หงุดหงิดง่ายเป็นเท่าตัว

รู้ไหมว่าความเครียดนี่แหละคือตัวการที่ทำให้คนเรามีอารมณ์แปรปรวน ไม่สบอารมณ์ได้กับทุกเรื่องที่เจอ ปล่อยไว้จะยิ่งแย่แน่เพราะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์กับคนรอบตัว

นอนไม่หลับแม้เหนื่อยมาก

สาเหตุหลัก ๆ ของการเป็น Insomnia หรือโรคนอนไม่หลับก็เกิดมาจากภาวะวิตกกังวลหรือความเครียดสะสมนั่นแหละ แต่ยิ่งทำงานหนักแล้วนอนน้อยก็ยิ่งส่งผลกระทบกับสมองและร่างกายมากขึ้นเรื่อย ๆ 

ลืมเก่ง

แค่เสี้ยววินาทีที่คิดว่าจะทำอะไรหรือจะพูดอะไร ก็ลืมไปจนสนิทหมดแล้ว ทั้งหมดนี้เกิดจากอาการเครียดสะสมที่เรากำลังเผชิญ หรือการใช้สมองคิดอะไรต่าง ๆ มากจนเกินไป

แก้ปัญหาได้ไม่ดี

การที่สมองกำลังเผชิญกับอาการสมองล้าก็ทำให้การตัดสินใจหลาย ๆ อย่างนั้นแย่ลง จะจัดการเรื่องต่าง ๆ ให้เป็นระบบก็ยิ่งทำได้ยากขึ้น

ความคิดสร้างสรรค์หายไป

การที่เราครีเอทอะไรใหม่ ๆ ไม่ออกนั่นแหละเกิดจากอาการสมองตื้อ ยิ่งคนที่ทำงานสายครีเอทีฟด้วยยิ่งแล้วใหญ่ การที่จะให้คนเราคิดออกแบบสร้างสรรค์ครีเอทสิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลานั้นไม่มีทางเป็นไปได้หรอก สมองเราต้องพักบ้าง ถ้าจะให้เค้นออกมาเรื่อย ๆ ยิ่งเป็นอันตรายต่อสมอง ยิ่งคิดก็ยิ่งล้า แต่ไม่คิดก็ไม่ได้เพราะต้องทำงาน วนไปแบบนี้จนสมองแย่ รีบแก้ด่วน

ลาก่อนหมอกร้าย แก้อาการสมองล้าหรือ Brain Fog ยังไงดี?

มาถึงไฮไลท์ของบทความนี้กัน นั่นคือวิธีแก้อาการ Brain Fog หรือภาวะสมองล้า ให้ดีขึ้นพร้อมกลับมาใช้งานต่อไป

ทำงานทีละอย่าง

อย่าเพิ่งงัดสกิล multitasking ออกมาถ้าสมองเราล้าจนทนไม่ไหว เพราะมันยิ่งทำให้อาการหนักมากขึ้นไปอีก ค่อย ๆ จัดการทำงานทีละอย่าง โฟกัสอย่างเดียวจะดีกว่าการทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน เพราะมันยิ่งเหนื่อยและเป็นการใช้งานสมองหนักเกินไปด้วย

ลองเปลี่ยนบรรยากาศดู

ใครที่อยู่บ้าน work from home นาน ๆ หรือเจอพิษการกักตัวนาน ๆ แล้วล่ะก็ ลองเปลี่ยนสถานที่ทำงานดูบ้างก็ได้ การที่เราเจอบรรยากาศเดิม ๆ นานเกินไปยิ่งทำให้รู้สึกเฉื่อยชา จำเจ เบื่อหน่าย ลองย้ายไปอยู่บ้านญาติที่ต่างจังหวัด นอนคอนโดเพื่อน หรือทำงานที่คาเฟ่สวย ๆ จะดีขึ้นเยอะเลย

ออกไปเจอผู้คน

เข้าใจว่าคงเป็นเรื่องยากและฝืนใจไปสักหน่อยสำหรับ Introvert ถึงจะรู้สึกว่าตัวเองอยู่บ้านนาน ๆ ได้ ไม่ได้ทรมานอะไรอะหรืออยากไปไหน แต่สมองเรามันไม่ได้คิดเหมือนกันน่ะสิ ดังนั้นลองหาอะไรใหม่ ๆ เจอผู้คน นัดเพื่อนสนิท จะได้เพิ่มพลังให้สมองด้วย

ไม่ไหวก็พัก

ข้อนี้สำคัญที่สุด เพราะถึงจะลองทำสักกี่ข้อแต่ถ้าสมองของเรามันยังต้องคิดงานตลอดเวลา ทำข้อไหนให้ตายก็ไม่มีทางหายได้หรอก อาการสมองล้าพวกนี้ต้องพักเท่านั้น ใส่ใจสุขภาพกายและสุขภาพจิตตัวเองก่อนเถอะนะ!

HR ต้องทำยังไงถ้าพนักงานมีอาการสมองล้าหรือ Brain Fog?

HR ปล่อยให้พนักงานต้องเจอกับอาการสมองล้าหรือ Brain Fog Syndrome แบบนี้นาน ๆ คงไม่ดีแน่ เสี่ยงต่อการที่บริษัทจะได้ประสิทธิภาพงานที่แย่แล้ว ก็ยังเสี่ยงพนักงานลาออกอีกด้วย เพราะพนักงานเก่ง ๆ ไม่ได้หากันง่าย ๆ การที่ให้เขาทำงานหนักมากเท่าไหร่ก็เสี่ยงจะเสียเขาไปมากเท่านั้น ดังนั้นมาดูวิธีแก้กันดีกว่า!

กระตุ้นให้พนักงานขยับร่างกายบ้าง

การนั่งทำงานอย่างเดียวเฉย ๆ เป็นเวลานาน ๆ ไม่ใช่เรื่องที่ดี ยิ่งสะสมความเฉื่อยชาเข้าไปอีก HR ลองหากิจกรรมให้พนักงานได้ออกกำลังกายให้เหงื่อออก อะดรีนาลีนหลั่งเมื่อไหร่ก็จะทำให้สดชื่น ลดอาการสมองล้าไปได้เปราะหนึ่ง

จัดออฟฟิศใหม่

ช่วยพนักงานลดความจำเจลงโดยการเปลี่ยนรูปแบบออฟฟิศ ขยับโต๊ะ ตู้ เพิ่มโซฟา เพิ่มอุปกรณ์สันทนาการมากขึ้น จะยิ่งช่วยแก้ปัญหาความเบื่อหน่ายของพนักงานจนเกิดอาการสมองล้าได้ดีขึ้น ตัว HR เองก็จะรู้สึกดีขึ้นด้วยเหมือนกันที่ได้เห็นออฟฟิศใหม่ ๆ

ปล่อยพนักงานไปพัก

ใครที่ดูจะอาการหนักกว่าใครเพื่อนหรือเริ่มแสดงอาการไม่ไหวมาก ๆ ออกมาผ่านผลงาน หรือ performance ที่ตกต่ำลง HR ควรมีการนัดพบปะพูดคุยถึงปัญหาให้ทำงานแบบ hybrid หรือนัดพบจิตแพทย์ให้ เป็นหนึ่งในสวัสดิการบริษัทก็ได้เหมือนกัน

บทสรุป

HR หลายคนก็คงอยากจะบอกเหมือนกันว่าตัวเองก็มีอาการ Brain Fog หรือสมองล้าไม่ต่างจากพนักงาน ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก ๆ ต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายของมนุษย์เรา คนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อทำงานเป็นเครื่องจักร ดังนั้นถ้าร่างกายเริ่มประท้วง ก็ควรจะหาทางแก้ไข ไม่ไช่ฝืนจนร่างกายทนไม่ไหว ไม่ว่าจะเป็นพนักงานในองค์กร ผู้บริหาร หรือ HR ก็ไม่ควรปล่อยให้ตัวเองเจอกับอาการ Brain Fog ไปนาน ๆ

Sources

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง