Search
Close this search box.

Kindness in Workplace ศาสตร์แห่งความเมตตาในที่ทำงาน เราจะเป็นคนใจดีให้มากขึ้นได้อย่างไร?

HIGHLIGHT

  • “ความใจดี” หรือ “ ความเมตตา” ในที่ทำงาน (Kindness in Workplace) เป็นสิ่งที่สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าเมื่อเราได้รับความดีจากคนอื่นรวมทั้งความใจดี และความเมตตา เรามีแนวโน้มที่ส่งต่อสิ่งนั้นไปให้ผู้อื่นต่อไปเรื่อย ๆ ด้วยสาเหตุนี้เองจึงเกิดเป็น the Cycle of Goodness
  • ความใจดีมีประโยชน์ต่อการทำงานมากมาย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และความพึงพอใจกับงาน พนักงานมีสุขภาพดีมากขึ้น ช่วยสร้างงานที่มีคุณภาพสูงขึ้น และทำให้ทุกคนในองค์กรมีความสุขมากขึ้น
  • ในภาพจำของหลายคน HR มักจะดูดุ เข้มงวด น่ากลัวทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว HR ควรเป็นคนที่ดูแลทั้งเรื่องการทำงานในองค์กร รวมถึงสภาพจิตใจของพนักงานเพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างราบรื่นและอยู่กับองค์กรไปนาน ๆ 
  • การสร้างพนักงานที่ใจดีในองค์กรไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินความสามารถของ HR เผย 5 เคล็ดลับที่จะช่วยให้ที่ทำงานให้มีแต่คนใจดี
  • ไม่ใช่ทุกที่ที่จะเจอแค่เพียงเพื่อนร่วมงานดี ๆ ในบางโปรเจกต์อาจจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเพื่อนร่วมงานที่ใจร้าย นี่จึงเป็นหน้าที่ของ HR ที่ต้องเตรียมตัวรับมือ หาวิธีแก้ไขเพื่อช่วยเหลือให้พนักงานทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Kindness in Workplace ศาสตร์แห่งความเมตตาในที่ทำงาน เราจะเป็นคนใจดีให้มากขึ้นได้อย่างไร?

เคยได้ยินไหมว่า “เพื่อนร่วมงานดี มีชัยไปกว่าครึ่ง” ?

หากพูดถึงสาเหตุที่เรายังคงไม่เปลี่ยนงาน ไปทำงานในทุกวัน นอกจากงานที่เรารัก เงินเดือน ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน เพราะนอกจากเวลานอนแล้ว เราใช้เวลาในการทำงานเกิน 50% ของชีวิต เจอเพื่อนร่วมงานมากกว่าครอบครัว เพื่อน หรือแฟนด้วยซ้ำ ดังนั้น หากสังคมในการทำงานเต็มไปด้วยเพื่อนร่วมงานที่ใจดี เข้าใจ และช่วยเหลือกัน แม้งานจะหนัก จะเหนื่อยแค่ไหน แต่ก็ทำให้มีแรงฮึดสู้และมีความสุขกับการทำงานได้ทุกวัน เพราะฉะนั้น ในบทความนี้ HREX จะพา HR และ มนุษย์เงินเดือนทุกคนมาดูวิธีการเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีเพื่อสร้างสังคมการทำงานที่มีความสุขและสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับองค์กร

Contents

จิตวิทยากับการสร้างความรู้สึกดี ๆ และส่งต่อความใจดีให้กันในหมู่เพื่อนร่วมงาน

รู้หรือไม่ว่า “ความใจดี” หรือ “ ความเมตตา” เป็นสิ่งที่สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าเมื่อเราได้รับความดีจากคนอื่นรวมทั้งความใจดี และความเมตตา เรามีแนวโน้มที่ส่งต่อสิ่งนั้นไปให้ผู้อื่นต่อไปเรื่อย ๆ ด้วยสาเหตุนี้เองจึงเกิดเป็น the Cycle of Goodness ขึ้นมานั่นเอง อีกทั้งงานวิจัยจาก The Journal of Social Psychology แสดงให้เห็นว่าคนเรามักจะใช้เงินเพื่อให้คนอื่นมีความสุขมากกว่าใช้เงินเพื่อตัวเอง เมื่อเราส่งต่อความใจดีออกไปให้ผู้อื่นจะทำให้ทั้งเรา และผู้รับมีความสุข ซึ่งคงจะดีไม่น้อยถ้าเรานำแนวคิดนี้มาใช้กับเพื่อนร่วมงานเพื่อสร้างความสุขในการทำงานที่มากขึ้น

ความสำคัญของ ‘การใจดี’ ในที่ทำงาน

  • ความใจดีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และความพึงพอใจกับงาน 

จากผลสำรวจพบว่าพนักงานที่มีน้ำใจ และใจดีกับเพื่อนร่วมงานมีพลังในการทำงานมากขึ้น 26% มีความพอใจในงานที่ตัวเองทำมากขึ้น 36 % และมีความมุ่งมั่นต่อองค์กรมากขึ้น 44%

  • ความใจดีช่วยให้พนักงานมีสุขภาพดีมากขึ้น

เมื่อพนักงานรู้สึกปลอดภัยต่อความสัมพันธ์ในที่ทำงานจะช่วยให้อัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติลดลง ความดันโลหิตลดลง และภูมิคุ้มกันมากขึ้น การลาป่วยในที่ทำงานก็จะน้อยลงตามไปด้วย

  • ความใจดีช่วยสร้างงานที่มีคุณภาพสูงขึ้น

เมื่อพนักงานรู้สึกมีความสุขและพอใจในการทำงาน ทำให้มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น

อีกทั้งความใจดีสามารถลดระดับความเครียดและเพิ่มการมีส่วนร่วมกับองค์กรได้ 

  • ความใจดีทำให้ทุกคนในองค์กรมีความสุขมากขึ้น

เมื่อหัวหน้ามีความสุข พนักงานก็จะมีความสุขมากขึ้น และเมื่อพนักงานมีความสุขก็จะทุ่มเทและช่วยเหลือคนรอบข้างมากขึ้นตาม the Cycle of Goodness นั่นเอง

HR อยากเป็นคนใจดีกับเพื่อนร่วมงาน ทำยังไงดี?

เมื่อพูดถึงคำว่า HR พนักงานหลายคนอาจจะรู้สึกกลัวคำนี้ เพราะในภาพจำของหลายคนอาจจะนึกถึง HR ที่ดูดุ เข้มงวดเหมือนตอนที่เราเข้ามาสัมภาษณ์งาน บางคนถึงขั้นเกลียด HR ไปเลย เนื่องจาก HR เข้าข้างองค์กรมากกว่าพนักงาน อีกทั้งยังเข้มงวดถึงข้อบังคับขององค์กรมากเกินไป ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว HR ควรเป็นคนที่ดูแลทั้งเรื่องการทำงานในองค์กร รวมถึงสภาพจิตใจของพนักงานเพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างราบรื่นและอยู่กับองค์กรไปนาน ๆ และควรเป็นคนที่พนักงานสบายใจที่จะปรึกษาปัญหาในการทำงานเพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่ทุกปัญหามีทางออกเสมอ HR Note ได้นำเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ มาฝาก HR ทุกคน

ทักทายพนักงาน

สร้างนิสัยของการยิ้มและทักทายพนักงานทุกคนในยามเช้าของวันทำงานช่วยละลายความเย็นชาในที่ทำงาน อีกทั้งสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง HR กับพนักงานอีกด้วย

ทำความรู้จักพนักงาน

ควรทำความรู้จักกับพนักงานทุกคนในองค์กรสังเกตจุดเด่นของเขา และถามถึงความชอบ ความสนใจ กิจกรรมยามว่างของเขาเพื่อทำความเข้าใจเขา และเพิ่มความสบายใจในการคุยกัน โดยอาจจะจัด session เล็ก ๆ สำหรับ HR และพนักงานเพื่อถามถึง feedback ในการทำงาน ความรู้สึกของพนักงานที่มีต่อการทำงานเพื่อปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

รับฟังสิ่งที่พนักงานคิด

ลองตั้งคำถามและขอความคิดเห็นจากพนักงาน เพื่อแสดงออกว่า HR ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของพนักงาน อย่าลืมกล่าวขอบคุณอย่างจริงใจให้กับคำแนะนำเพื่อสร้างความประทับใจ

มีคำแนะนำให้กับพนักงาน

ในการทำงานหลายครั้ง พนักงานหลายคนมักจะเจอกับอุปสรรคอยู่เสมอ คงจะดีไม่น้อยถ้ามี HR ใจดีคอยสังเกตเห็นในช่วงเวลาที่พนักงานเจอกับความยากลำบากในการทำงาน แสดงออกว่าต้องการที่จะช่วยเหลือจริง ๆ พร้อมทั้งให้คำแนะนำที่มีประโยชน์เพื่อลดความเครียด และสร้างความสุขในการทำงาน

ตอบ e-mail หรือโทรกลับทันที

เป็นคนที่พนักงานสามารถติดต่อได้ตลอดเวลาในเวลางานโดยการตอบ e-mails และโทรศัพท์กลับทันที่ที่พนักงานมีเรื่องให้ HR ช่วยเหลือเพื่อสื่อว่าเขาความสำคัญ อีกทั้งยังช่วยลดความกังวลในกรณีที่เขาไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นคนเดียวได้ การมีเพื่อนคู่คิดนับเป็นการลดความเครียดอย่างหนึ่งซึ่งส่งผลดีต่อบรรยากาศในการทำงานของ HR กับพนักงาน

HR จะสร้างที่ทำงานให้มีแต่คนใจดีได้อย่างไร?

เป็นตัวอย่างโดยการเป็น HR ที่มีความใจดี

ดูแลพนักงานด้วยความใจดี มีเมตตา อาจจะเพิ่มความยืดหยุ่นให้มากขึ้น  และสนับสนุนเขาเพื่อให้เขาสามารถทำงานได้อย่างไม่สะดุดเพื่อให้เขาสามารถส่งงานที่มีประสิทธิภาพให้กับองค์กรได้อย่างเต็มที่ และส่งต่อความใจดีให้กับพนักงานเพื่อให้องค์กรมีคนใจดีเพิ่มขึ้นตาม the Cycle of Goodness

จัดกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์กับคนในทีม

รวมกลุ่มกันภายในองค์กรเพื่อร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น จัดทริปต่างจังหวัด รับประทานอาหารร่วมกันกับทีมในทุกเดือนเพื่อตอบแทนที่ทำงานหนัก โดยกิจกรรมนี้เองจะช่วยสร้างความร่วมมือร่วมใจ รักใคร่กลมเกลียวกันภายในองค์กร นำไปสู่วัฒนธรรมความใจดี และความเมตตาภายในองค์กรนั่นเอง

เป็นตัวอย่างในการชื่นชมพนักงาน

ชื่นชมพนักงานในเวลาที่เขาประสมความสำเร็จหรือดูแลรับผิดชอบหน้าที่ได้เป็นอย่างดี อาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่สร้างความประทับใจให้กับคุณก็ได้ เช่น วันนี้การนำเสนองานของเธอน่าสนใจมากเพื่อให้กำลังใจเขา เพราะคนเรามักจะตำหนิในสิ่งที่คนอื่นทำผิดพลาดมากกว่าชมเชยในสิ่งที่เขาทำดี การที่พนักงานได้ยินการชมเชยบ่อย ๆ จากทั้งหัวหน้าและ HR จะทำให้เขากล้าที่จะชื่นชมเพื่อนร่วมงานต่อไปเรื่อย ๆ

เผยแผ่กำลังใจที่ดีของคุณ

อาจสร้างโน๊ตในกลุ่ม หรือแลกเปลี่ยนของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อส่งต่อกำลังใจให้กันในทีมสัปดาห์ละครั้ง เช่น การ์ดหรือโน้ตที่เขียนขอบคุณเขาสำหรับความช่วยเหลือ เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีในทีม

ให้เครดิตเสมอ

สร้างวัฒนธรรมที่การให้เครดิตเพื่อนร่วมงานเป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำ โดยอย่าลืมให้เครดิตกับเพื่อนร่วมงานที่เขาควรได้รับเพื่อทำให้ทุกคนรู้ว่ามีใครที่ทำงานได้ดีหรือดีมากกว่าหน้าที่รับผิดชอบในงานนั้น ๆ บ้าง 

HR ควรช่วยเหลือพนักงานอย่างไรเมื่อเจอเพื่อนร่วมงานที่ใจร้าย?

ในการทำงาน ไม่ใช่ทุกที่ที่จะเจอแค่เพียงเพื่อนร่วมงานดี ๆ เพราะ เราไม่สามารถเลือกทำงานเพื่อนร่วมงานได้ ในบางโปรเจกต์อาจจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเพื่อนร่วมงานที่ใจร้าย นี่จึงเป็นหน้าที่ของ HR ที่ต้องเตรียมตัวรับมือ หาวิธีแก้ไขเพื่อช่วยเหลือให้พนักงานทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทำความเข้าใจพนักงาน

เมื่อเกิดปัญหาขึ้น HR ควรทำความเข้าใจพนักงานทั้งฝ่ายที่เข้ามาแจ้งปัญหา และฝ่ายที่โดนร้องเรียนว่าเป็นเพื่อนร่วมงานที่ใจร้ายเพื่อรับรู้ถึงปัญหาจากการบอกเล่าของทั้ง 2 ฝ่ายแทนที่จะเชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อวสามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ให้คำแนะนำพนักงานทั้ง 2 ฝ่าย

เมื่อทราบถึงปัญหาที่แท้จริงแล้ว ควรให้คำแนะนำทั้ง 2 ฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา หากเป็นเพราะอคติส่วนตัว หรือปัญหาที่ไม่ลงรอยกันที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องงานอาจแนะนำให้โฟกัสที่เรื่องงานเป็นหลักแทนที่จะโฟกัสที่ตัวบุคคล หากเป็นเพราะปัญหาทางด้านของจิตใจอาจจำเป็นต้องส่งต่อให้จิตแพทย์เข้ามาทำการรักษา

มีกิจกรรมละลายพฤติกรรม

จัดกิจกรรมละลายพฤติกรรมช่วยสานสัมพันธ์และการสร้างวัฒนธรรมองค์กร โดยพยายามให้ทั้งสองฝ่ายมาตกลง ทำความเข้าใจกัน เพื่อจะได้ร่วมงานกันต่อไปอย่างราบรื่น

แจ้งกฎระเบียบที่ชัดเจน

HR ควรแจ้งกฎระเบียบในการทำงานให้พนักงานทุกคนรับรู้อย่างจัดเจนเพื่อป้องกันการระเมิดกฎในการทำงานร่วมกัน รวมถึงบทลงโทษในกรณีที่ทำผิดกฏ

ลงโทษตามกฎที่ได้แจ้งไป

ข้อนี้อาจฟังดูโหดร้าย แต่หลังจากแจ้งกฎระเบียบในการทำงานแล้ว หากยังมีพนักงานที่ทำผิดกฎนั้นก็ควรจะลงโทษตามที่ได้แจ้งไป แต่อาจถามถึงเหตุผลของเขาเพื่อประกอบการพิจารณาก่อนที่จะลงโทษ

บทสรุป Kindness in Workplace

การส่งต่อความใจดีให้กับเพื่อนร่วมงานเรียกได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทั้ง HR และพนักงานที่สามารถช่วยให้สภาพแวดล้อมในการทำงานดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยสร้างวัฒนธรรมที่ดีให้กับองค์กรเองอีกด้วย

ที่มา

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง