HIGHLIGHT
|
สำหรับตำแหน่ง HR แล้ว หลาย ๆ คนคงเคยเจอกับสถานการณ์ที่ว่า คนภายนอกไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้ว HR ทำอะไรกันแน่ จึงทำให้คนส่วนใหญ่มองว่าตำแหน่ง HR คือการสรรหาคนมาทำงานให้กับบริษัท ดูแลเรื่องเงินเดือนและสวัสดิการ หรือจัดเทรนนิ่งต่าง ๆ ให้กับพนักงาน หรือการสัมภาษณ์พนักงานใหม่เข้ามาทำงานในสาย HR ถ้าถามว่าทำไมถึงอยากทำงานตำแหน่งนี้ ร้อยทั้งร้อยก็คงตอบว่าอยากทำให้เพื่อนพนักงานมีความสุข เป็นคนที่มอบรอยยิ้ม มอบสิ่งดี ๆ ให้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องเพราะส่วนหนึ่งของงาน HR ก็คือการดูแลพนักงาน แต่จริง ๆ แล้วเป็นเพียงแค่ส่วนเดียวเท่านั้น เพราะ HR มีหน้าที่อีกมากที่นอกจากแค่การดูแลคนและสัมภาษณ์งาน
แล้วจริง ๆ หน้าที่ HR ทำอะไรกันแน่? หาคำตอบได้จากบทความนี้
Contents
หน้าที่ HR (HR Roles) ในสายตาคนทั่วไป
นิยามคำว่า HR ที่คนนอกมองเข้ามาส่วนใหญ่มองว่า หน้าที่ของ HR คือการสัมภาษณ์งาน จะรับใครไว้หรือปัดใครตกก็แค่อ่าน Resume ไม่ชอบก็โยนทิ้งไป หรืออาจจะมองว่าแค่ดูแลเรื่องสวัสดิการพนักงาน เงินเดือน วันลา การโปรโมท ฯลฯ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดอย่างมาก พอคนภายนอกไม่รู้ว่างานที่ HR ต้องทำมีอะไรบ้าง เลยนิยามหน้าที่ของ HR ด้วยตัวเองอย่างผิด ๆ และยิ่งทำให้หลายคนเอานิยามนั้น ๆ มาจำกัดความสามารถในการทำงานของ HR อาจจะคิดว่าเป็นงานง่าย ๆ ไม่มีอะไรมากมาย เมื่อความคาดหวังลดลงก็ยิ่งเหมือนเป็นการลดคุณค่าและด้อยค่าความสามารถของตำแหน่ง HR ไป ซึ่งในความเป็นจริงการเป็น HR มีหน้าที่และสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากกว่านั้นมาก
บทบาท HR คือผู้เล่นสำคัญในองค์กร
บ่อยครั้งที่ HR ถูกมองข้ามไป ทั้งที่จริง ๆ แล้ว HR นี่แหละที่ทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่และมีสำคัญมากต่อองค์กรไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะตำแหน่ง Director ตำแหน่ง Manager หรือแม้กระทั่งพนักงานทั่วไปในแผนก HR ก็มีบทบาทที่หลากหลายในองค์กร งาน HR ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหนก็มีความรับผิดชอบมากมาย ไม่ใช่แค่การหาคนหรือดูแลเรื่องสวัสดิการเท่านั้น อย่างที่จั่วหัวข้อเอาไว้ว่า HR คือผู้เล่นสำคัญ หลายคนอาจจะสงสัยว่าสำคัญอย่างไร หน้าที่ของ HR นั้นนอกจากดูแลพนักงานแล้วยังต้องรู้เรื่องธุรกิจด้วย จากบทสัมภาษณ์ คุณจ๋า ณัฐธิดา ศุกร์มาลา ตำแหน่ง HR Director – Unilever Thailand ได้อธิบายถึงหน้าที่ด้านธุรกิจของ HR เอาไว้ว่า
“เราต้องมองก่อนว่า HR คือนักธุรกิจคนหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล HR ต้องเข้าใจธุรกิจ เข้าใจเป้าหมายองค์กร เข้าใจระบบการทำงานภายใน คู่แข่ง ธุรกิจปรับตัวกันยังไง เทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงในอนาคตจะส่งผลกระทบคนและองค์กรอย่างไรบ้าง เรื่องพวกนี้ทำให้เราช่วยสนับสนุนการเติบโตขององค์กรได้ด้วยการวางแผนกลยุทธ์ล่วงหน้า เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงและพนักงานให้กับบริษัท”
ในแง่ของมุมมองของผู้บริหารที่มีต่อ HR คุณจ๋าก็ได้กล่าวไว้ดังนี้
“ผู้บริหารต้องการให้ HR เป็นเพื่อนคู่คิดที่เข้าใจเรื่องธุรกิจ ไม่ใช่แค่เดินมาคุยเรื่องคนอย่างเดียว เขาต้องการให้เราเข้าใจเรื่องธุรกิจ เพราะถ้า HR ไม่เข้าใจธุรกิจ เราไม่คุยกันในฐานะธุรกิจ เขาจะรู้สึกว่า HR มีแค่หน้าที่ของการดูแลระเบียบวินัยของการทำงาน การทำงานจิปาถะเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งจริง ๆ เขาไม่ได้คาดหวังแบบนั้น เขาคาดหวังให้เราเข้าใจธุรกิจ เข้าใจว่าบริบทที่เกิดขึ้นกับธุรกิจคืออะไร เขาถึงต้องการคนเพิ่ม ทำไมเขาถึงต้องลงทุนกับตรงนั้นเพิ่ม ถ้าเราตอบแค่ว่า ได้ค่ะหรือไม่ได้ค่ะ เราจะไม่ต่างอะไรกับระเบียบวินัยหรือหลักการบทกระดาษ ไปหาอ่านเองก็ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องคิดเสียใหม่ว่า HR คือนักธุรกิจ”
ส่วนในแง่ของการเป็น HR ในสายตาของพนักงาน คุณจ๋าก็ได้พูดถึงไว้ว่า
“พนักงานเองก็เขาคาดหวังว่าเราควรจะเป็นเพื่อนคู่คิดให้เขา และรักษาผลประโยชน์ของเขาด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นความยากของการเป็น HR คือ การบาลานซ์ระหว่างสองเรื่องนี่แหละ เราจะโน้มเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่งมากไม่ได้ เพราะมันจะทำลายสมดุลและจรรยาบรรณของการเป็น HR ไป”
ดังนั้นหากจะกล่าวว่าบทบาทของ HR มีความสำคัญมากกับองค์กรก็คงไม่เกินจริงไป เพราะ HR มีหลายเรื่องที่จะต้องตัดสินใจนอกจากแค่การดูแลเรื่องคน ทั้งจะต้องจัดการคนให้สอดคล้องกับนโยบายบริษัทและผลประโยชน์ทางธุรกิจแล้ว ก็ต้องเอาใจใส่ในเรื่องของความรู้สึกนึกคิดและผลประโยชน์ของพนักงานด้วยเช่นกัน หากโจทย์ที่ได้มาคือการเปลี่ยนแปลงองค์กร HR กำลังทำสิ่งที่ถูกต้องทางด้านนโยบายบริษัทและธุรกิจแต่อาจทำให้พนักงานเสียผลประโยชน์หรือรู้สึกไม่ดี คือปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งที่ HR ต้องแก้ให้ได้
การเปลี่ยนแปลงบทบาทของ HR ยุคใหม่
บทบาทของ HR กำลังเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้เข้ากับความต้องการขององค์กรยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน หน้าที่ของ HR แบบเดิม ๆ ในอดีตส่วนใหญ่จะเน้นไปที่งานธุรการ เอกสาร บัญชี ฯลฯ เช่น การจ่ายเงินให้พนักงาน การจัดการผลประโยชน์ และการติดตามการลาป่วยและวันหยุดต่าง ๆ แต่ในยุคนี้องค์กรต้องมีแนวทางที่ครอบคลุมมากขึ้นในการจัดการคน ต้องมีโปรแกรมและกระบวนการที่จ้างพนักงานอย่างเป็นระบบ ดูพนักงาน และดูแลเรื่องศักยภาพของพนักงานซึ่งมีผลไปถึงการพัฒนาองค์กรด้วย นอกจากนี้บทบาทของ HR ก็ยังมีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง หน้าที่ของ HR คือต้องมีการพัฒนาระบบและกระบวนการภายในองค์กรที่ตอบสนองความต้องการเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจด้วย HR จำเป็นต้องทำงานให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของบริษัท ต้องมีความรู้เกี่ยวกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้วย เพราะเป็นส่วนสำคัญทีเดียวที่จะช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของตำแหน่ง HR ในปัจจุบันเลยก็ว่าได้
หาก HR ในองค์กรไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองให้สอดคล้องกับแนวคิดองค์กรยุคใหม่ในปัจจุบัน ผู้บริหารอาจจะต้องมีการตั้งคำถามกับ HR Director ว่าสมควรที่จะยังทำงานให้องค์กรต่อไปหรือไม่ เพราะองค์กรในปัจจุบันต้องการ HR ให้เป็นเพื่อนคู่คิด หาก HR เกิดความล้มเหลว ไม่มีการพัฒนาให้ทันสมัยและไม่ได้ช่วยให้บริษัทได้รับผลกำไรเพิ่มมากขึ้น ก็อาจถึงคราวอวสานของบริษัทนั้น ๆ เลยก็เป็นได้
สภาพแวดล้อมในปัจจุบันนี้ บทบาท HR ส่วนใหญ่กำลังเปลี่ยนแปลงไป และเปลี่ยนมากขึ้นเรื่อย ๆ บทบาทของ HR ต้องสอดคล้องกับความต้องการขององค์กรที่เปลี่ยนแปลงไป องค์กรที่ประสบความสำเร็จต้องมีการปรับตัว ยืดหยุ่น และเปลี่ยนแปลงทิศทางได้รวดเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้รับการสนับสนุนจากฝ่าย HR ด้วยกันทังนั้น
HR ยุคใหม่ ต้องทำอะไรบ้าง
ในยุคปัจจุบัน HR ถือว่าจำเป็นมากต่อการพัฒนาองค์กร เป็นทั้งหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ ผู้สนับสนุนองค์กรผู้สนับสนุนพนักงาน และที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงในแง่มุมต่าง ๆ ขององค์กรด้วย ซึ่งบทบาทเหล่านี้ของ HR มีการพูดถึงอยู่ในหนังสือที่ชื่อว่า ‘Human Resource Champions’ โดย Dr. Dave Ulrich หนึ่งในนักคิดและนักเขียนที่เชี่ยวชาญที่สุดในสาขา HR ยุคปัจจุบัน และเป็นศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยมิชิแกนด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้าน HR ที่เข้าใจบทบาทที่สำคัญเหล่านี้ก็ควบตำแหน่งการเป็นผู้นำองค์กรในด้านต่าง ๆ ด้วย เช่น การพัฒนาองค์กร การใช้กลยุทธ์ของพนักงานเพื่อตอบสนองเป้าหมายทางธุรกิจ และการจัดการและพัฒนาความสามารถของบุคลากร
เป็นพาร์ทเนอร์ด้านการดูแลกลยุทธ์ของบริษัท
สำหรับการทำงานในปัจจุบัน HR ต้องคิดว่าตนเองเป็นหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์กับบริษัท เพราะ HR มีส่วนอย่างมากในการพัฒนาและบรรลุผลสำเร็จตามแผนธุรกิจและวัตถุประสงค์ทั่วไปของทั้งองค์กร การที่ HR จำเป็นต้องรู้เรื่องธุรกิจก็เพื่อซัพพอร์ตแผนธุรกิจเชิงกลยุทธ์และวัตถุประสงค์โดยรวมของบริษัทให้ได้ ตัวแทน HR จึงจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ที่ค่อนข้างลึกซึ้งเกี่ยวกับการดีไซน์ระบบงานแบบใหม่ที่ทำให้บุคลากรมีส่วนรวมและสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วย
การเป็นพาร์ทเนอร์กับองค์กรในด้านการดูแลกลยุทธ์ต่าง ๆ นี้ส่งผลต่อบริการด้านทรัพยากรบุคคลค่อนข้างมาก เช่น การออกแบบตำแหน่งงาน การจ้างงาน การโปรโมท การทำให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่า ดูแลด้านระบบการพัฒนาและประเมินผลงาน การวางแผน Career Path และการพัฒนาศักยภาพของพนักงานด้วย เมื่อ HR เชี่ยวชาญด้านธุรกิจก็จะสามารถจัดระบบเกี่ยวกับคนในองค์กรได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ในการเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ HR ต้องคิดให้เหมือนนักธุรกิจ รู้จักการเงิน การบริหาร และเชี่ยวชาญด้านการลดต้นทุน การวัดผล และกระบวนการในทาง HR ทั้งหมดด้วย ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการซัพพอร์ตบริษัทในด้านกลยุทธ์สู่ความสำเร็จทางธุรกิจ เพราะเรื่องของคนเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่มีบุคลากรมาทำงาน บริษัทก็จะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน
เป็นคนดูแลผลประโยชน์ให้พนักงาน
ในฐานะ HR หน้าที่หลักสำคัญอีกข้อคือการซัพพอร์ตพนักงาน ซึ่งการที่จะซัพพอร์ตพนักงานนี้ HR ต้องมีความเชี่ยวชาญในการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทำให้พนักงานมีแรงจูงใจ มีส่วนร่วม และมีความสุขในการทำงานกับองค์กร การซัพพอร์ตพนักงานมีหลายวิธีมาก เช่น การสื่อสารที่ดี การเพิ่มขีดความสามารถของพนักงาน สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของพนักงานในองค์กร และทำให้พนักงานรู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของบริษัทนี้ร่วมกัน ที่สำคัญคือ HR ควรคำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของพนักงานเป็นหลัก ถ้าพนักงานรู้สึกว่าบริษัทเอาเปรียบหรือดูแลเขาไม่ดี เขาก็ไม่อยากทำงานให้องค์กร และไม่ว่าองค์กรจะมีนโยบายแบบใดก็ตาม สภาพจิตใจของพนักงานเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเมื่อไหร่ที่พนักงานรู้สึกว่าไม่อยากทำงานให้องค์กร ก็เท่ากับเราเห็นความหายนะรออยู่ตรงหน้าใกล้มากขึ้นมากเท่านั้น
เป็นคนพัฒนาองค์กร โดยการพัฒนาบุคลากร
การประเมินประสิทธิผลขององค์กรอย่างต่อเนื่องทำให้ HR ต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งในยุคปัจจุบันแบบนี้ ทั้งความรู้และความสามารถในการดำเนินการตามกลยุทธ์ การเปลี่ยนแปลงที่ประสบความสำเร็จ ทำให้ HR เป็นฝ่ายที่มีความสำคัญสำหรับองค์กรอย่างมาก การรู้วิธีเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงกับความต้องการเชิงกลยุทธ์ขององค์กรจะช่วยลดความไม่พอใจของพนักงานและการลดการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในองค์กรของพนักงานด้วย ซึ่งการพัฒนาองค์กรยุคใหม่นี้ ทำให้หน้าที่ของ HR มีความท้าทายเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะต้องมีหน้าที่ในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ติดตามความพึงพอใจของพนักงาน และการวัดผลพนักงาน จนไปถึงการซัพพอร์ตพนักงานทั้งทางกายและทางใจ
HR ต้องดูแลผลประโยชน์ของใคร? พนักงานหรือองค์กร
HR ถูกจ้างมาโดยองค์กร ทำงานให้องค์กร เพราะฉะนั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หน้าที่ของ HR คือการดูแลรักษาผลประโยชน์ให้กับองค์กรเป็นหลัก แต่การดูแลผลประโยชน์ให้พนักงานก็คือส่วนหนึ่งของการดูแลผลประโยชน์ขององค์กร เพราะสิ่งสำคัญที่จะทำให้บริษัทก้าวต่อไปข้างหน้าและประสบความสำเร็จได้ก็คือพนักงานทั้งหมดที่ทำงานให้กับองค์กร
การเป็น HR จึงไม่ใช่แค่ทำงานธุรการ แต่เป็นการดูแลผลประโยชน์ของทั้งองค์กรและพนักงานควบคู่กันไป
ถ้าพนักงานทำงานอย่างมีความสุข รักองค์กร รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับองค์กร ซึ่งเกิดจากการดูแลของ HR ก็จะทำให้องค์กรพัฒนาไปได้เร็วและไกลมากยิ่งขึ้น
บทสรุป HR Roles
ในยุคสมัยที่หลายสิ่งหลายอย่างในโลกนี้เปลี่ยนแปลงไป เทรนด์ของการทำงานก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากถ้าเทียบจากสมัยก่อน หน้าที่ HR จากที่คนทั่วไปเข้าใจก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ในทุกวัน แต่หน้าที่หลักของ HR นั้นก็คือการดูแลรักษาหายและใจให้กับพนักงาน ควบคู่ไปกับการรักษาผลประโยชน์ขององค์กร ซึ่งไม่ว่าเราจะทำตำแหน่งอะไรก็ตาม ก็ควรจะศึกษาและเข้าใจในตำแหน่งหน้าที่ที่แท้จริงของ HR รวมถึงให้คุณค่าและความสำคัญกับ HR มากขึ้นด้วย เพราะยิ่งการทำงานของ HR พัฒนาขึ้นไปมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นประโยชน์กับพนักงานและองค์กรมากขึ้นเท่านั้น
Sources |