Search
Close this search box.

ส่องความคิด เปิดงานวิจัย ทำไมพนักงาน Gen Z ยิ่งอายุน้อย (Young Employees) ยิ่งอยากลาออกจากงานที่ทำ

HIGHLIGHT

  • พนักงานรุ่นใหม่ เด็กเจนซี Generation Z หรือ Young Employees คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่เกิดระหว่างปี 1996 ถึงปี 2010 ซึ่งคนรุ่นนี้เรียกได้ว่าเป็น ‘ลัทธิปฏิบัตินิยมในยุคแห่งนวัตกรรม’ คือชอบลงมือทำจริงมากกว่าเรียนรู้ทฤษฎี
  • จากงานวิจัย The Changing Face Of The Employees Generation Z And Their Perceptions Of Work และการสำรวจโดยนิตยสาร Forbes เห็นตรงกันว่า สภาพแวดล้อมทางสังคมมีความสำคัญมากกับ Generation Z เพราะคน Gen นี้จะให้ความสำคัญกับความสบายใจในการทำงานเป็นที่ตั้ง
  • ฉะนั้นสิ่งที่คนรุ่นใหม่คำนึงถึงเป็นอันดับแรก ๆ ก็คือ การได้ทำงานที่ชอบ งานที่มี Work Life Balance ที่ดี และงานที่ทำแล้วรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ได้ดึงศักยภาพที่มีอยู่ออกมาใช้จริง ๆ หาไม่ได้สัมผัสสิ่งดังกล่าว ก็อาจลาออกจากงานที่ทำ
  • ความรู้ในห้องเรียนธรรมดาอาจแคบไปแล้วสำคัญเด็กยุคนี้ เพราะเด็ก Gen Z ทั้งเรียนในสถานศึกษาและเรียนพิเศษกันมาจนอ่วม และยังมีเทคโนโลยีอยู่ในมือพร้อมที่จะหาความรู้ได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว สิ่งที่องค์กรควรปรับเปลี่ยนคือให้มองศักยภาพรายบุคคลของแต่ละคนมากขึ้น เพื่อที่จะดึงศักยภาพของเขาออกมาได้เต็มที่และตรงจุดมากขึ้น ก่อนที่พวกเขาจะลาออกจากงาน

ส่องความคิด เปิดงานวิจัย ทำไมพนักงาน Gen Z ยิ่งอายุน้อย (Young Employees) ยิ่งอยากลาออกจากงานที่ทำ

ในสายตาของผู้ใหญ่วัยทำงาน หรือคนที่คร่ำหวอดในวงการการทำงานมาตั้งแต่ยุค 20-30 ปีที่แล้ว ล้วนมองว่าเด็กรุ่นใหม่มีความอดทนต่ำ เปลี่ยนงานบ่อย เอาแต่ใจ และอีกหลายเหตุผลมากมาย เมื่อเห็นว่าคนที่มีช่วงอายุอยู่ในเลข 2 หรือเลข 3 ต้น ๆ มีปัญหากับการทำงานบ่อยครั้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็มีเหตุผลและที่มาในตัวมันเอง ในบทความนี้ HR NOTE จะมาไขข้อข้องใจว่าทำไมเด็กรุ่นใหม่ถึงลาออกจากงานบ่อย และไม่พอใจงานที่ตัวเองทำมากขึ้น

Young Employees – Generation Z กับมุมมองเรื่องการทำงาน

Generation Z หรือเด็กเจนซีคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่เกิดระหว่างปี 1996 จนถึงปี 2010 ซึ่งคนรุ่นนี้เรียกได้ว่าเป็น ‘ลัทธิปฏิบัตินิยมในยุคแห่งนวัตกรรม’ คือชอบลงมือทำจริงมากกว่าเรียนรู้ทฤษฎี เป็นรุ่นที่มีความคิดในสิ่งต่าง ๆ ไม่เหมือนรุ่นก่อน

คน Gen Z คือกลุ่มรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในวงการการทำงานได้ไม่กี่ปี หรือบางคนอาจเพิ่งเรียนจบมาหมาด ๆ ไม่ได้มองว่าการที่เรามีงานทำที่ดี มีความมั่นคง คือความสำเร็จทั้งหมดของชีวิต จึงยอมทนอยู่ในองค์กรที่คิดว่ามั่นคง ไม่ว่าจะต้องแลกกับการทำงานหามรุ่งหามค่ำ ทำงานที่ไม่ชอบ พลีกายถวายหัวให้กับองค์กรอย่างไม่มีจุดหมายเพื่อหวังเพียงแค่จะได้โปรโมท และไม่รู้ว่าต้องทำงานหนักแบบนี้ไปถึงเมื่อไหร่ แบบที่คนรุ่นก่อน ๆ มีค่านิยมกัน

แต่คนรุ่นใหม่กลับมองว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้น พวกเขาเติบโตมากับเทคโนโลยี ได้รับการศึกษาที่ดี มีชีวิตที่สะดวกสบายจากพ่อแม่ที่เป็น Gen X ดังนั้นสิ่งที่คนรุ่นใหม่คำนึงถึงเป็นอันดับแรก ๆ ก็คือ การได้ทำงานที่ชอบ งานที่มี Work Life Balance ที่ดี และงานที่ทำแล้วรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ได้ดึงศักยภาพที่มีอยู่ออกมาใช้จริง ๆ ไม่ใช่ยิ่งทำงานไปก็ยิ่งรู้สึกโง่ลง ไม่เช่นนั้นพวกเขาก็เลือกลาออกจากงานได้

เปิดงานวิจัย เหตุผลอะไรที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่ลาออกจากงานบ่อย

คน Gen Z ประมาณ 60 ล้านคนในโลกได้แซงหน้าคนรุ่นมิลเลนเนียลจนกลายเป็นรุ่นที่ทรงพลังที่สุดในขณะนี้ ทั้งในด้านทฤษฎีและการปฏิบัติจริง ดังนั้น ทักษะและทัศนคติที่ชาว Gen Z ได้เผชิญในช่วงเวลาสั้น ๆ ของชีวิตจะส่งผลต่ออนาคตการทำงานของพวกเขาอย่างมากทีเดียว และนายจ้างที่ฉลาดจะให้ความใส่ใจและตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาว Gen Z ต้องการมากที่สุด

จากงานวิจัยที่ชื่อว่า The Changing Face Of The Employees Generation Z And Their Perceptions Of Work และการสำรวจโดยนิตยสาร Forbes เห็นตรงกันว่า สภาพแวดล้อมทางสังคมมีความสำคัญมากกับ Generation Z เพราะคน Gen นี้จะให้ความสำคัญกับความสบายใจในการทำงานเป็นที่ตั้ง ผลกระทบของสภาพแวดล้อมทางสังคมเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร สร้างจิตวิญญาณขององค์กร

ส่วนหน้าที่ที่นายจ้างควรทำเมื่อมีพนักงาน Gen Z อยู่ในองค์กรคือการตั้งเป้าหมายที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่มีความเป็นกันเอง สนุกสนาน และผ่อนคลาย ดังนั้นเหตุผลที่ทำให้คนรุ่นนี้ตัดสินใจลาออกจากงานบ่อยครั้งก็คือสิ่งที่ตรงข้ามกับที่กล่าวมาข้างต้น

เงินสำคัญ แต่ความสบายใจต้องมาก่อน

หลายคนตัดสินใจออกจากงานเพราะเมื่อทำงานไปแล้วเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ ไม่มี Work Life Balance งานไม่ตรงปกตามที่ Job Description ประกาศไว้ สวัสดิการไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น ทำงานเกินเวลาแต่ไม่ได้โอที และอีกหลาย ๆ เหตุผลที่ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่ได้ไม่คุ้มกับสิ่งที่จะต้องเสียไป จึงตัดสินใจลาออกอย่างไม่ยากเหมือนคนยุคก่อน ๆ เหตุผลอีกหนึ่งประการที่สำคัญก็คือ คน Gen Z ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในสภาวะที่ลำบากมาตั้งแต่ต้น ต่อให้ลาออกจากงานนี้ก็ยังสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ เรื่องเงินจึงไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่ทำให้พวกเขาต้องทนอยู่กับความรู้สึกไม่สบายใจเหล่านั้น และทำให้มุมมองการทำงานของคนยุคนี้เปลี่ยนไป คือมองว่าการทำงานนี้ตอบโจทย์อะไรในชีวิตบ้าง ไม่ใช่แค่ว่า ทำงานนี้ได้เงินเท่าไหร่

ส่องความคิด เปิดงานวิจัย ทำไมพนักงาน Gen Z ยิ่งอายุน้อย (Young Employees) ยิ่งอยากลาออกจากงานที่ทำ

ทำไมต้องทน ทางเลือกมีเยอะแยะ

วุฒิการศึกษาอย่างต่ำ ๆ ของเด็ก Gen Z ส่วนใหญ่ก็คือปริญญาตรี เกือบครึ่งยังเป็นมหาลัยท็อป คณะดังอีกด้วย พวกเขามีทั้งวุฒิการศึกษาที่ดี มีความสามารถจริง มีโอกาสพัฒนาและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย ไม่ว่าจะเรียนต่อต่างประเทศ ลงคอร์สเรียนที่ระยะสั้น หรือคอร์สเรียนออนไลน์ และที่สำคัญบางคนมีศักยภาพสูงมากจนมั่นใจแน่ว่าตัวเองมีความสามารถมากพอ มีทางเลือกมากมายที่รออยู่

ดังนั้นพวกเขาจึงมองว่าตัวเองเลือกได้  ลาออกจากงานได้ และไม่จำเป็นต้องอดทนมากมายขนาดนั้น สำหรับคน Gen Z แล้ว การค้นหางานที่ใช่ไปเรื่อย ๆ น่าจะดีกว่าทนอยู่กับงานที่ไม่ใช่ไปจนวันตาย นอกจากนี้ ด้วยความที่คนรุ่นนี้เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่หมุนเร็วขึ้นทุกวัน ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พวกเขาจึงไม่กลัวกับความเปลี่ยนแปลงและพร้อมรับมือการสิ่งใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา

ส่องความคิด เปิดงานวิจัย ทำไมพนักงานยิ่งอายุน้อย (Young Employee) ยิ่งอยากลาออกจากงานที่ทำ

ยิ่งอยู่ไปยิ่งไม่พัฒนา ไร้ตัวตน

การทำงานที่ซ้ำซากจำเจอยู่ทุกวัน ไม่ได้มีอะไรใหม่ ไม่ได้พัฒนาศักยภาพมากพอ แน่นอนว่าทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองลดลงไปเรื่อย ๆ ในบางองค์กรยังยึดติดกับความคิดในแบบเดิม ว่าคนรุ่นใหม่ยังไม่โตพอ ประสบการณ์ชีวิตและการทำงานน้อยกว่าคนที่อาวุโสกว่า รวมถึงพวกเขาถูกจำกัดการทำงานด้วยขอบเขตและกฎระเบียบที่น่าอึดอัด คน Gen Z มีความเป็นตัวของตัวเองสูง อยากทำงานในแบบที่ตัวเองต้องการ อยากเสนอไอเดีย อยากโต้แย้งในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย แต่เมื่อความเห็นของถูกปล่อยผ่านหรือถูกห้าม พวกเขาจึงไม่ได้พิสูจน์ในสิ่งที่ตัวเองต้องการทำ เมื่อนานไปจึงกลายเป็นความรู้สึกผิดหวังและท้อแท้ จนกระทั่งลาออกได้

องค์กรควรปรับตัวอย่างไร ให้คนเก่งรุ่นใหม่อยู่กับเราไปนาน ๆ ไม่ลาออกจากงานไปเสียก่อน

เน้นที่ outcome ไม่ใช่ process

หากต้องการให้องค์กรมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น สิ่งแรกที่หลาย ๆ องค์กรควรเริ่มเปลี่ยนก่อนเป็นอันดับแรกคือเรื่องของเวลา อย่างที่ได้พูดถึงไปข้างต้นว่าความสบายใจและอิสระเป็นเรื่องสำคัญสำหรับ Gen Z เรื่องเวลาก็รวมอยู่ในนั้นเช่นกัน รวมถึงการ Remote Work คือทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ องค์กรควรเน้นเรื่องผลลัพธ์ของงานให้มากขึ้น ลดความสำคัญของ Timing และ Schedule ให้น้อยลง คนรุ่นใหม่จะรู้สึกว่าเขาเป็นอิสระ ไม่ถูกบังคับ 

ให้อิสระทางความคิด

คน Gen Z ต้องการทำงานที่มีคุณค่าทางจิตใจ ได้ดึงความคิดสร้างสรรค์และแนวคิดในการทำงานใหม่ ๆ ออกมาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งบริษัทอาจไม่ได้คำนึงถึงตรงนี้เท่าที่ควรเพราะมองว่ายังใหม่ ยังอ่อนประสบการณ์ จึงไม่ได้ปล่อยให้แสดงความคิดเห็น ตีกรอบในการทำงานมากจนเกินไปจนทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกเบื่อหน่าย ดังนั้นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงความคิดเห็นหรือรับผิดชอบโปรเจกต์สำคัญบ้างก็จะยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกมีคุณค่าและรักในงานที่ทำมากยิ่งขึ้น

Training ให้ตรงจุด

ความรู้ในห้องเรียนธรรมดาอาจแคบไปแล้วสำคัญเด็กยุคนี้ เพราะเด็ก Gen Z ทั้งเรียนในสถานศึกษาและเรียนพิเศษกันมาจนอ่วม และยังมีเทคโนโลยีอยู่ในมือพร้อมที่จะหาความรู้ได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ดังนั้นหากองค์กรยังจัด Training แบบเดิม ๆ คือให้นั่งฟังอบรมในห้องพร้อมกันหลายสิบคน คงไม่ได้ทำให้เกิดการพัฒนามากขึ้น แถมยังน่าเบื่อหน่ายอีกด้วย สิ่งที่องค์กรควรปรับเปลี่ยนคือให้มองศักยภาพรายบุคคลของแต่ละคนมากขึ้น เพื่อที่จะดึงศักยภาพของเขาออกมาได้เต็มที่และตรงจุดมากขึ้น

บทสรุป Young Employees – Generation Z

ไม่จะคนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นใหม่ต่างก็มีความคิดและทัศนคติในแต่ละเรื่องในแนวของตัวเอง และการลาออกจากงานเป็นเรื่องส่วนบุคคล ซึ่งถึงแม้ว่าในบางแง่มุมจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่หากเรานำความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาเปลี่ยนให้เป็นแนวคิดใหม่ ๆ ปรับเปลี่ยนและพัฒนาไปร่วมกันให้ได้ ก็จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ที่อาจจะพาให้องค์กรก้าวหน้าต่อไปอย่างที่เราไม่คาดคิดมาก่อนก็เป็นได้

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง