HIGHLIGHT
|
ใกล้สิ้นสุดปี 2021 กันแล้ว ปีนี้เป็นอีกหนึ่งปีที่แต่ละองค์กรเผชิญหน้ากับความยากลำบากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าที่ดูเหมือนจะคลี่คลายนั้น กลับกลายพันธุ์ใหม่และแพร่ระบาดรวดเร็วกว่าเดิม ทำให้โลกการทำงานที่กำลังเข้าที่เข้าทางต้องสั่นคลอนอีกครั้ง
ฝ่ายทรัพยากรบุคคลเช่นกัน ช่วงเวลาที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงบทบาทมากมาย มีการเกิดขึ้นของ HR Tech ใหม่ ๆ สารพัด รวมไปถึงการผลักขอบเขตความสามารถของ HR ให้มีทักษะหลากหลายมากกว่าเดิม ซึ่งหาก HR พร้อมในการปรับตัว ก็จะยืนหยัดต่อสายธารการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
วันนี้เราจึงสำรวจ เทรนด์ทรัพยากรบุคคลปี 2022 แบบฉบับ HREX.asia กันว่า ปีใหม่และโลกการทำงานใหม่ที่ทุกคนกำลังเดินหน้าไปอยู่นั้น มีอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงบ้าง
Contents
1. มายเซ็ทต์กระบวนการทำงานต้องต่อเนื่อง
แนวโน้มการทำงาน HR ที่เด่นชัดที่สุด คือการเปลี่ยนแปลงการทำงานของ HR จากที่เน้นเป็นโครงการแล้วจบไป สู่การทำงานต่อเนื่องคล้ายการสร้างผลิตภัณฑ์
กล่าวคือ แต่เดิมรูปแบบการทำงานพื้นฐานของ HR มีกรอบแนวคิดคล้ายการทำโปรเจกต์ใดโปรเจกต์หนึ่ง เช่น การสรรหาพนักงานใหม่ที่จะเกิดขึ้นอย่างมีไทม์ไลน์ชัดเจน มีกำหนดการล่วงหน้า โดยพุ่งเป้าไปที่การสรรหาอย่างมีประสิทธิภาพแล้วจบไป ขณะเดียวกันการดำเนินการสร้างสินค้าผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งจะไม่มีวันสิ้นสุด เพราะต้องเพิ่มคุณค่าและพัฒนาสินค้านั้น ๆ อยู่ตลอดเวลา
เช่นเดียวกัน HR ที่ต้องเปลี่ยนมายเซ็ทต์ว่า จะทำอย่างไรให้กระบวนการทำงานของ HR พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เช่น มีกระบวนการสรรหาแบบใหม่อะไรที่ตอบโจทย์กว่าแบบเก่าหรือไม่ HR จะต้องมีมายเซ็ทต์ปรับปรุงการทำงานไปเรื่อย ๆ เพราะการปรับปรุงการทำไม่เพียงเพิ่มคุณภาพ แต่ยังช่วยเพิ่มผลประกอบการของธุรกิจให้ดียิ่งขึ้นด้วย
2. ออกแบบการทำงานร่วมกันให้ราบรื่น
หลังจากหลายองค์กรมีมาตรการ Work From Home แบบ 100% ทำให้หลายคนเริ่มเห็นบทบาทของออฟฟิศสำนักงานที่เปลี่ยนไป ถึงกับมีสถิติจาก ConnectSolutions บอกว่า การทำงานทางไกลเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากถึง 77% อย่างไรก็ตามก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความสุขกับการทำงานที่บ้านเสมอไป เพราะการนั่งอยู่แต่หน้าคอมนาน ๆ คนเดียวก็ทำให้เกิด Digital Fatigue หรือภาวะเหนื่อยล้าจากดิจิทัลได้
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ HR ต้องออกแบบนโยบายการทำงานในปี 2022 ให้รอบคอบมากขึ้น ที่จะช่วยให้พนักงานทุกคนทำงานร่วมกันได้อย่างสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะเทรนด์รูปแบบของการทำงานที่บ้านผสมผสานกับการทำงานที่ออฟฟิศหรือแบบไฮบริด (Hybrid Workplace) ซึ่งจะท้าทายงานอื่น ๆ ของ HR ต่อไป อาทิ การเช็คอิน การวัดผล การสื่อสารกับพนักงาน ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีในการอำนวยความสะดวกให้พนักงานองค์กรทำงานร่วมกันได้ทุกที่ทุกเวลานั่นเอง
3. การสรรหาและการจ้างงานที่เปลี่ยนไป
ต้องยอมรับว่าช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา หลายองค์กรประสบปัญหาไม่สามารถสรรหาพนักงานใหม่จากภายนอกได้ จึงเกิดเทรนด์ใหม่ที่เริ่มหาคนเก่งจากภายในองค์กรมากขึ้น ผ่านการ Relocate พนักงานเดิมในตำแหน่งใหม่ การทำงานข้ามแผนก การมอบหมายงานชั่วคราว หรือการสรรหาบุคลากรภายในองค์กร (Internal Recruitment) เพราะหลายองค์กรเริ่มค้นพบว่า พนักงานที่เรามีอยู่นั้นอาจมีทักษะบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรแบบที่เราไม่เคยรู้มาก่อน
นอกจากนี้ยังมีเทรนด์การจ้างงานแบบชั่วคราวหรือ Freelance จะเข้มข้นมากขึ้น สอดคล้องกับการเกิดขึ้นของ Gig Economy หรือระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากงานแบบครั้งคราว ซึ่งแต่ก่อนหลายองค์กรมองว่าเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้น แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นเทรนด์หลักในการจ้างงานแล้ว เหมือนที่ Harvard Business School รายงานว่า 60% ของธุรกิจที่สำรวจต้องการจ้างงานพนักงานชั่วคราวตามทักษะมากกว่าจ้างพนักงานประจำ
เอาง่าย ๆ แม้กระทั่ง HR เองยังผันตัวเป็น Freelance HR มากขึ้นเลย แล้วรูปแบบการจ้างงานในตำแหน่งอื่น ๆ จะไม่เปลี่ยนแปลงได้อย่างไร
4. เสริมสร้างพัฒนาทักษะแบบผสมผสาน
ต่อเนื่องจากเทรนด์การจ้างงานภายใน ไม่เพียงการค้นพบทักษะที่ไม่รู้มาก่อน แต่ยังรวมถึงการพัฒนาเสริมสร้างทักษะใหม่ ๆ ให้กับพนักงานเดิมที่มีอยู่ด้วย ไม่แปลกที่เราจะได้ยินคำว่าการ Reskill & Upskill ในปี 2021 อยู่บ่อยครั้ง แต่ยังเพิ่งเบื่อคำคำนี้นะ เพราะเราจะยังคงได้ยินบ่อยขึ้นในปี 2022 ด้วย
สาเหตุก็เพราะโลกการทำงานพัฒนาเข้าสู่การทำงานยุคดิจิทัล ไลฟ์สไตล์ผู้คนเองก็เปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น แน่นอนว่าย่อมเกิดทักษะใหม่ทางดิจิทัลย่อมเป็นที่ต้องการมหาศาลในตลาดแรงงาน รวมไปถึงทักษะเดิมก็จะล้าสมัยไปด้วย ไม่เท่านั้น จำพวก Soft Skills ก็ยังมีความสำคัญไม่แพ้กัน เช่น Empathy Skill ทักษะที่ทำให้เข้าใจความรู้สึกคนอื่นมากขึ้น
HR จึงมีบทบาทหน้าที่พัฒนาคนในองค์กรให้เข้าถึงทักษะใหม่นั้น ๆ เพื่อก้าวสู่โลกการทำงานที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ทุกวินาที
5. มุ่งเน้นประสบการณ์ที่ดีในการทำงานมากขึ้น
เราอาจรู้จักคำว่า Employee Experience หรือการสร้างเสริมประสบการณ์ที่ดีให้พนักงานกันมาสักพักแล้ว ซึ่งเป็นการใส่ใจบุคลากรในระยะยาว ตั้งแต่การเริ่มต้นรับสมัคร สวัสดิการ การพัฒนาศักยภาพ ไปจนกระทั่งระบบศิษย์เก่าขององค์กร แต่เทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่การสร้างประสบการณ์ที่ดีเพื่อหวังให้พนักงานอยู่กับเรานาน ๆ อย่างเดียว แต่เป็นประสบการณ์ที่ดีในการทำอาชีพหรือ Career Experience ทีเดียว
นั่นก็เพราะทุกวันนี้พนักงานโดยเฉพาะพนักงานรุ่นใหม่ไม่นิยมอุทิศตนเพื่อองค์กรใดองค์กรหนึ่งตลอดชีพ โดย Gen Y มีค่าเฉลี่ยทำงาน 2 ปี 9 เดือนแล้วเปลี่ยนงาน ขณะที่ Gen Z มีค่าเฉลี่ยทำงาน 2 ปี 3 เดือนเท่านั้น หรือไม่ก็ออกมาเป็นฟรีแลนซ์รับงานในหลากหลายบริษัท ไม่ได้เป็นพนักงานประจำอีกต่อไป
เพื่อสอดรับกับเทรนด์ดังกล่าว องค์กรและ HR ต้องลงทุนในการเพิ่มพูนประสบการณ์อาชีพของพนักงาน เช่น การขยายขีดความสามารถ เพิ่มคุณค่าทางทักษะ หรือมอบโอกาสการเรียนรู้ใหม่ ๆ ให้พนักงาน เพราะเมื่อพวกเขาเติบโตในอาชีพการงาน ก็จะส่งผลดีมายังธุรกิจของเราด้วยเช่นกัน
6. HR ต้องมีความเป็นเจ้าของธุรกิจเพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กร
เมื่อพูดถึงการทำ Business Transformation หลายองค์กรมักให้ HR เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องช้าเกินไป ส่วนมากมักคุยกันเฉพาะผู้บริหารระดับสูงหรือฝ่ายธุรกิจอย่างเดียว ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายเมื่อ HR มีข้อมูลมหาศาลที่มีประโยชน์ต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าใจวัฒนธรรมองค์กร นโยบายการทำงาน ไปจนถึงการออกแบบรูปแบบในการทำงานร่วมกัน
นี่จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลให้ตำแหน่ง HRBP หรือ HR Business Partner มีความสำคัญมากขึ้น เพราะเป็นฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการบริการคน พร้อมทั้งมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ พูดง่าย ๆ คือเป็นตำแหน่งที่ต้องทำหน้าที่บริหารคนและบริหารธุรกิจควบคู่กันไป โดยจะทำงานใกล้ชิดกับฝ่ายธุรกิจ ในการออกแบบและผลักดันกระบวนการบริหารคนในองค์กรให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจ
HR จึงต้องมีปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือกับแผนกต่าง ๆ ทั่วทั้งองค์กรอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นนั่นเอง
7. มีแผนพร้อมทุกสถานการณ์เสมอ
น่าจะชัดเจนกันแล้วว่า โลกการทำงานไม่มีอะไรแน่นอนเลย เพียงเกิด COVID-19 ก็เร่งปฏิกิริยาให้ทุกองค์กรต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองแทบจะทันที แน่นอนว่า เจ้าความไม่แน่นอนนี้จะยังมีอีกเรื่อย ๆ ฉะนั้นอนาคตไม่ได้มีเพียงอย่างเดียวเสมอไป
องค์กรต้องออกแบบกระบวนการทำงานให้พนักงานยืดหยุ่นและคล่องตัว สามารถทำงานที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไรก็ได้ รวมไปถึงการวัดผลที่ไม่เหมือนเดิม เช่นเดียวกับกระบวนการทำงานของตัว HR เองที่ต้องเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน
หากองค์กรไม่เตรียมพร้อมรับมือสำหรับสถานการณ์ต่าง ๆ และไม่มีคล่องตัวพอที่จะตอบสนองอย่างรวดเร็วพอ องค์กรเหล่านั้นก็จะอยู่ได้ไม่นาน นั่นเป็นเหตุผลที่ HR จำเป็นต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวขององค์กรและโลกภายนอก และเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่หลากหลาย เพราะเราไม่สามารถคาดเดาอนาคตอะไรได้แม่นยำเท่าเดิมอีกแล้ว
8. ยุคแห่งการใช้ HR Tech
ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกนี้ไปมาก การทำงานของ HR ก็เริ่มพัฒนาให้สอดรับกับยุค Digital Age มากขึ้น ทำให้เกิดนวัตกรรมตลอดจนเทคโนโลยีต่าง ๆ มากมายที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อรองรับการทำงานของ HR เพื่อส่งเสริมให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้บุคลากรในองค์กรได้ประโยชน์มากขึ้นในหลากหลายรูปแบบด้วยกัน
HR Tech จะช่วยให้ฝ่ายบุคคลทำงานง่าย สะดวกสบาย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้บริการหลายเจ้าในหลากหลายประเภทมากขึ้น เช่น SourcedOut แพลตฟอร์มดิจิทัลที่เชื่อมบริษัทกับนักสรรหามืออาชีพโดยตรง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการสรรหากว่า 30% – 50% เมื่อเทียบกับบริษัทจัดหางานทั่วไป เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ HR จำเป็นต้องมีทักษะทางดิจิทัล รู้จักและเข้าใจเทคโนโลยี ที่สำคัญคือเลือกใช้ HR Tech ที่เกิดประโยชน์กับองค์กรมากที่สุด เพราะปี 2022 และปีต่อ ๆ ไป ทุกองค์กรจะต้องน้อมรับ HR Tech มากขึ้น
9. สนับสนุนความหลากหลาย DEI&B
เดิมที Diversity and Inclusion (D&I) คือแนวคิดการบริหารที่สนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของพนักงานในองค์กร ต่อมามีการเพิ่มเป็นความเท่าเทียมเป็น Diversity, Equity and Inclusion (DEI) และล่าสุดในยุคการทำงานแบบไฮบริดที่ทุกคนมิได้เจอหน้ากัน จึงต้องเพิ่มความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กร Diversity, Equity, Inclusion and Belonging (DEI&B) ด้วย
ทั้งนี้ คำว่าการยอมรับความหลายหลายมีหลายมิติ ทั้งความหลากหลายทางเจเนอร์เรชัน เพศ เชื้อชาติ ทักษะความสามารถ ไปจนถึงทัศนคติความเชื่อ ซึ่งพอผนวกกับความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กร ก็จะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมการทำงานก็ยังเป็นมิตรกับทุกคน ทุกกลุ่ม และทุกบทบาท ที่สำคัญยังส่งผลต่อประสิทธิภาพองค์กรด้วย ยกตัวอย่าง รายงานของ McKinsey ที่บอกว่า องค์กรที่มีผู้บริหารหลากหลายทางเพศมีแนวโน้มสร้างผลกำไรที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 25%
ถึงเวลาแล้วที่องค์กรต้องให้ความสำคัญอย่างเต็มที่ในความหลากหลาย DEI&B ให้เป็นวัฒนธรรมหลักและหลักการในการดำเนินงานต่อไป
บทสรุป HR Trends 2022
ทั้งหมดนี้คือ 9 เทรนด์ทรัพยากรบุคคลที่จะเปลี่ยนไปในปี 2022 ซึ่งถ้าหากองค์กรใดเตรียมพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงก่อน ก็จะสตรองพอก้าวข้ามความท้าทายในปีหน้าที่รอเราอยู่
อย่าลืมว่า ทุกความท้าทายมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ ใครพร้อมก็สามารถไปต่อ ไม่ต้องรอคนช้าได้เลย
HREX.asia จะยังคงนำเสนอคอนเทนต์ดี ๆ สำหรับ HR ต่อไปในปีหน้า เพราะเราเชื่อว่า “คน” คือหัวใจสำคัญที่สุดขององค์กรเสมอ