HIGHLIGHT
|
หลังจากที่ทุกคนทำงาน Work From Home ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 เชื่อได้ว่าหลายคนต้องตื่นเช้าขึ้นมาใช้ชีวิตประจำวัน ทำงาน ประชุม และหาความบันเทิงผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์และมือถือเป็นเวลานาน จนเกิดอาการ Digital Fatigue หรือภาวะเหนื่อยล้าจากโลกดิจิทัล ขึ้นมาได้
Digital Fatigue จึงเป็นปัญหาสำคัญที่พนักงานหลายคนกำลังประสบ ซึ่งส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพในการทำงานเป็นอย่างมาก ฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือ HR จึงมีความจำเป็นต้องรู้จักและเข้าใจภาวะนี้ เพื่อช่วยเหลือให้พนักงานคนเก่งของเรากลับมาสดใสพร้อมทำงาน
HREX.asia จึงจะมาทำความรู้จัก Digital Fatigue หรือภาวะเหนื่อยล้าจากโลกดิจิทัล ให้มากขึ้น
Contents
Digital Fatigue คืออะไร
Digital Fatigue คือความเหนื่อยล้าทางดิจิทัล เป็นสภาวะความอ่อนล้าหรือเหนื่อยหน่ายทางจิตใจที่เกิดจากการใช้งานเครื่องมือดิจิทัลหลายอย่างมากเกินไป เช่น เปิดแอพพลิเคชั่นหลายตัว เปิดหน้าจอหลายจอ หรือทำงานหลายโปรแกรมพร้อมกัน ซึ่งความอ่อนล้าดังกล่าวทำให้เราหมดพลังงาน เกิดความคิดฟุ้งซ่าน และอาจทำลายสุขภาพร่างกายได้
สภาวะนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นมาเป็นปรากฏการณ์ใหม่ เพียงแต่ว่าช่วงเวลาที่ทุกคนทำงานที่บ้านมากขึ้น ทำให้หลายคนต้องเผชิญหน้ากับ Digital Fatigue มากขึ้น เนื่องจากพนักงานหลายต้องกักตัวทำงานอยู่บ้าน ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตที่บ้าน ไร้ซึ่งช่วงเวลาพักผ่อน
สอดคล้องกับงานวิจัยช่วงเดือนพฤษภาคม 2021 ของสถาบัน O.C. Tanner ที่บอกว่า 52% ของชาวแคนาดารู้สึกเหนื่อยล้าทางร่างกายหรือทางอารมณ์ ซึ่งไม่ใช่จาก COVID-19 แต่เกิดจากการใช้เทคโนโลยี “ปัจจุบันชาวแคนาดา 37% กล่าวว่าการแฮงเอาท์ผ่านวิดีโอคอลทำให้พวกเขารู้สึกเหนื่อย, 29% กล่าวว่าจำนวนแอพมากมายที่พวกเขาใช้งานนั้นขัดขวางประสิทธิภาพการทำงาน และ 38% กล่าวว่ายากมากที่จะตัดการเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีที่ใช้ทำงาน”
ลองคิดเล่น ๆ ว่า ทุกวันนี้ตื่นมาเราก็ต้องใช้ชีวิตออนไลน์ทั้งวัน ทำงาน ประชุมผ่านคอมพิวเตอร์ รวมไปการหาความบันเทิงผ่าน YouTube หรือ Netflix ผ่าน iPad โดยไถฟีดผ่านโทรศัพท์ในมือตลอดเวลา ไหนจะ LINE งานที่เด้งข้อความแทบทั้งวัน ไม่แปลกที่จิตใจและร่างกายของเราจะเกิดความเหนื่อยล้าทางดิจิทัล
- หมดพลังงาน
- เบิร์นเอาท์
- เหนื่อยล้าไม่จบไม่สิ้นจากการประชุมและกิจกรรมเสมือนจริง
- เจ็บตา ตาล้า แสบตา หรือคันตา
- ปวดหัวหรือไมเกรน
- เจ็บกล้ามเนื้อบริเวณคอ ไหล่ หลัง
- ไวต่อแสงมากขึ้น
- มีสมาธิยาก ฟุ้งซ่าน
- ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
- เซื่องซึม
- หงุดหงิดฉุนเฉียว
- รู้สึกสิ้นหวัง
- รู้สึกว่าแต่ละวันเต็มไปด้วยความซ้ำซากจำเจ
สาเหตุของ Digital Fatigue
การมองจอส่งผลกระทบไปยังสมอง
ในทางวิทยาศาสตร์แล้วมนุษย์มีวิวัฒนาการเป็นสัตว์สังคม ทำให้สมองส่วนใหญ่สามารถอ่านสัญญาณที่ไม่ใช่คำพูดผ่านสัญชาตญาณระหว่างการโต้ตอบทางสังคม เช่น ภาษากาย การแสดงออกทางสีหน้า และอื่น ๆ ผ่านการมองเห็น ทว่าการมองสัญญาณเหล่านี้ผ่านจอสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ก็จะทำให้สมองของเราต้องเพ่งสมาธิจดจ่อมากขึ้น เพื่อค้นหาสัญญาณทางร่างกายที่มองไม่เห็นเหล่านั้น กล่าวคือสมองของเราจะถูกกระตุ้นให้ทำงานหนักเป็นพิเศษ นี่จึงเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของสมองที่ทำให้มนุษย์เกิดอาการเหนื่อยล้าได้
แสงสีฟ้าที่ทำร้ายดวงตา
แสงสีฟ้าหรือสีน้ำเงินธรรมชาติเป็นหนึ่งในแสงที่มีอยู่ในแสงแดด ซึ่งถึงแม้ว่าแสงดังกล่าวจะมีประโยชน์ แต่ก็มีอันตรายเช่นกันเมื่อดวงตาเราเปิดรับแสงมากเกินไป โดยเฉพาะเหล่าอุปกรณ์ดิจิทัล เช่น หน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน รวมไปถึงโทรทัศน์ ที่จะปล่อยแสงสีฟ้าออกมา โดยมีคุณสมบัติความยาวคลื่นสั้นและมีพลังงานสูง จึงกระจายได้ง่ายกว่าแสงอื่น ๆ จึงสามารถทำลายเซลล์ผิวกระจกตาและเยื่อบุตา บวกกับการสั่นกระพริบของหน้าจอ ส่งผลให้กล้ามเนื้อลูกตาทำงานหนักมากขึ้นในการปรับโฟกัสภาพ ทำให้ต้องเพ่งมากขึ้น กะพริบตาน้อยลง ส่งผลให้เกิดอาการปวดตาแบบดิจิทัลนั่นเอง
ท่านั่งทำงานที่ไม่เหมาะสม
เพราะร่างกายมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้นั่งทำงานทั้งวัน แต่สภาพความเป็นจริงเรากลับต้องนั่งทำงานวันละ 8 ชั่วโมง นี่ยังไม่นับช่วง Work From Home ที่แทบจะนั่งทั้งวัน ยกเว้นแค่เวลานอน และเมื่อเรามีกิจกรรมทางร่างกายที่น้อยลง ไม่เพียงต่อผลต่อสุขภาพทางกายเรื่องปวดหลัง ข้อเข่าเสื่อม แต่ยังทำให้ร่างกายไม่หลั่งสารเอ็นดอร์ฟินหรือฮอร์โมนประโยชน์อื่น ๆ ที่มาจากการออกกำลังกาย แน่นอนว่าการขาดสารเหล่านี้ส่งผลต่อระดับความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าที่สูงขึ้น ฉะนั้นการนั่งนานเกินไปจึงส่งผลต่อสุขภาพจิตมากกว่าที่คิด
รู้สึกต้องทำงานตลอดเวลา
Always-on mindset กลายเป็นสิ่งที่ทำร้ายสุขภาพจิตของพนักงานมากที่สุด เมื่อเส้นแบ่งเวลาทำงานและชีวิตส่วนตัวไม่ชัดเจน ทำให้พนักงานที่ทำงานทางไกลรู้สึกว่าระยะเวลาทำงานเพิ่มขึ้นกว่าที่อยู่ออฟฟิศ จนเกิดแรงกดดันที่มากขึ้นและรู้สึกเหนื่อยมากขึ้น
การถูกรบกวนทางดิจิทัล
มีสถิติจาก Gartner บอกว่า พนักงานที่ทำงานทางไกลจะประสบปัญหาการรบกวนทางดิจิทัลมากกว่าพนักงานที่ออฟฟิศ 2.54 เท่า โดยเฉพาะการแจ้งเตือนที่จะเด้งตลอดเวลา ทำให้สูญเสียสมาธิจดจ่อในการทำงานนั่นเอง
วิธีจัดการ Digital Fatigue ของตัวเอง
ก่อนที่จะพูดถึงวิธีการป้องกัน Digital Fatigue ให้กับพนักงาน เราเชื่อว่าผู้บริหาร หัวหน้างาน หรือแม้กระทั่ง HR เองก็ต้องเผชิญหน้ากับสภาวะนี้ไม่ต่างกัน ซึ่งหากตัวเราเองยังจัดการไม่ได้แล้ว แล้วเราจะช่วยใครได้ ฉะนั้นมาจัดการภาวะเหนื่อยล้าจากโลกดิจิทัลของตัวเองกันก่อน
- ทำงานประจำวันให้เสร็จทีละอย่าง: ความเหนื่อยล้าทำให้เราไม่มีสมาธิและฟุ้งซ่าน เราจึงต้องทำสิ่งที่ต้องทำและจัดการทีละรายการเพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกเหนื่อยเกินไป
- ลดแสงสีฟ้า: ทุกวันนี้อุปกรณ์ดิจิทัลส่วนใหญ่มีการตั้งค่าเพื่อปรับหรือเปิดตัวกรองแสงสีน้ำเงิน รวมไปถึงแว่นตาที่มีเลนส์ลดแสง ก็จะทำให้เราเครียดน้อยลงได้
- จัดท่านั่งและวางตำแหน่งจอภาพให้เหมาะสม: พยายามหลีกเลี่ยงท่านั่งที่โค้งงอคอและหลัง โดยวางจอภาพอยู่ในระดับสายตา
- พักหน้าจอ: บางครั้งการหยุดพักก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด หรือบางคนก็ทำงานจนหลงลืมเวลา การพักสัก 5-10 นาทีระหว่างชั่วโมงจะช่วยให้เราผ่อนคลายขึ้น
- ออกไปข้างนอก: การสูดอากาศบริสุทธิ์ให้ร่างกายจะทำให้เรากลับมากระปรี้กระเปร่า โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่จะรีเฟรสสมองของเรา
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ: เรื่องพื้นฐานที่ใครหลายคนมองข้ามคือการเติมพลังงานด้วยอาหารที่สมดุล
- ปิดกล้อง: ไม่ใช่ทุกการสื่อสารจะต้องเป็นแฮงเอาท์ผ่านวิดีโอคอล ถ้าเป็นไปได้ให้จัดการประชุมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ปิดกล้อง ยืน กินกาแฟ หรือแม้กระทั่งขณะที่เดินเล่น
- จดบันทึกด้วยการเขียน: เป็นวิถีดั้งเดิมที่มีประโยชน์ เนื่องจากการจดปากกาและกระดาษทำให้เรามีสมาธิจดจ่อมากขึ้น
- หมั่นโทรหาเพื่อนร่วมงาน: การสื่อสารระหว่างกันเป็นสิ่งสำคัญมากในช่วงกักตัว แค่โทรหาเพื่อทักทายหรือพูดคุยเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนช่วยชุบชูใจได้บ้าง
- กำหนดเวลาทำงานให้ชัดเจน: เมื่อเส้นแบ่งระหว่างบ้านกับที่ทำงานไม่ชัดเจน มันง่ายมากที่เราจะทำงานจนเกิดเวลาทำงานจริง ฉะนั้นควรรู้ตัวเสมอว่าเวลาไหนควรปิดคอมพิวเตอร์แล้วทำอย่างอื่น
- ลดการใช้หน้าจอหลังเลิกงาน: ออกไปเดินเล่น ออกกำลังกาย ฟังเพลง อ่านหนังสือ ทำอาหาร ฯลฯ เพราะทุกครั้งที่อยู่ห่างจากหน้าจอจะเป็นช่วงเวลาที่ดีเสมอ
5 วิธีช่วยพนักงานไม่ให้เกิดภาวะ Digital Fatigue
1. เริ่มดำเนินการกลับเข้าออฟฟิศบ้าง
ช่วงเวลาการทำงานทางไกลที่ผ่านมาอาจเหมาะสมกับพนักงานบางกลุ่ม และอาจเป็นช่วงเวลาอันเลวร้ายสำหรับพนักงานบางกลุ่ม นี่จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ HR จะต้องเข้าใจกระบวนการทำงานและความรู้สึกนึกคิดของพนักงานในองค์กร HR จะต้องจัดลำดับความสำคัญให้ได้ว่าพนักงานกลุ่มไหนหรืองานแบบไหนที่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ และกลุ่มไหนที่สามารถเปลี่ยนเป็นการทำงานแบบไฮบริดได้ เพราะการเข้ามาออฟฟิศบ้างจะช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ การมีส่วนร่วม และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีมต่อไป
2. ลงทุนในเครื่องมือและเทคโนโลยีสำหรับการทำงานทางไกล
ไม่ใช่ทุกองค์กรจะพร้อมสำหรับการทำงานทางไกล บางครั้งอุปกรณ์เทคโนโลยีที่พนักงานมีอยู่ก็อาจไม่ตอบโจทย์การทำงานไกล HR จึงต้องอุดรอยรั่วตรงนี้ผ่านการปรับหรือสนับสนุนให้ใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการทำงานทางไกล นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสในการตรวจสอบให้แน่ใจว่า อุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ ตั้งค่าความปลอดภัยเรียบร้อย ที่สำคัญอย่าลืมสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างบุคคลทั้งในและนอกสถานที่ด้วย
3. สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพและมีช่วงเวลาชัดเจน
องค์กรจำเป็นต้องให้พนักงานพูดคุยกันไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ออฟฟิศ ทำงานแบบไฮบริด หรือทำงานทางไกล ซึ่งจะต้องมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ทั้งนี้หลายองค์กรกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาอย่างหนึ่ง เมื่อช่วงแรกทำติดต่อสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์เป็นไปด้วยดี แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปการส่งข้อความบ่อย ๆ การประชุมนาน ๆ ก็จะทำให้เกิดความเหนื่อยล้าได้ พนักงานจึงคงรสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพ มีความสำคัญ และมีช่วงเวลาเฉพาะสำหรับการคุย
4. สร้างพฤติกรรมการทำงานออนไลน์ให้ดี
กรณีนี้หมายถึงการสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน และการหยุดพักเป็นประจำ ยกตัวอย่าง การประชุมออนไลน์ที่ไม่ได้จำเป็นต้องให้ทุกคนในแผนกเข้าร่วมทุกครั้ง ระบุผลลัพธ์ที่ต้องการและเลือกเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้น ๆ มากที่สุด เช็คให้แน่ใจว่าทุกคนทราบบทบาทของตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้การประชุมออนไลน์มีประสิทธิภาพมากขึ้น
5. พัฒนาประสบการณ์ของพนักงาน
ถึงทุกวันนี้พนักงานเริ่มคุ้นชินกับประสบการณ์ดิจิทัลที่ไร้รอยต่อผ่านชีวิตส่วนตัวกันแล้ว จนสามารถนำประสบการณ์เหล่านั้นมาใช้ในการทำงานได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่องค์กรต้องพัฒนาประสบการณ์พนักงาน (Employee Experience) ให้ตรงตามความคาดหวัง เช่น ความยืดหยุ่นในการทำงาน การควบคุมตรวจสอบการทำงาน ฯลฯ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี ฉะนั้น HR จำเป็นต้องตระหนักว่าพนักงานมีความรู้สึกอย่างไร ต้องการอะไร และองค์กรสามารถช่วยให้พวกเขามีส่วนร่วมได้อย่างไรนั่นเอง
บทสรุป
“พักหน้าจอ กินอาหารที่ดี สูดอากาศบริสุทธิ์ ผ่อนคลาย ออกกำลังกาย และสนับสนุนซึ่งกันและกัน” นี่เป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนทำได้กับตัวเองรวมไปถึงแนะนำคนอื่น เพื่อเอาชนะกับ Digital Fatigue หรือภาวะเหนื่อยล้าจากโลกดิจิทัลให้ได้
แน่นอนว่าโลกยังต้องเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของ COVID-19 อีกนาน และดูเหมือนโลกการทำงานจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป ซึ่งถึงแม้การทำงานแบบไฮบริดจะได้การอนุมัติมากขึ้นในหลายบริษัท แต่นั่นก็มาพร้อมความเสี่ยงที่พนักงานจะเหนื่อยล้าจากโลกดิจิทัลมากขึ้น ฉะนั้นทุกคนต้องรับมือกับสภาวนี้ให้ได้ เพื่อที่ว่าทุกคนจะยังคงรักษาประสิทธิภาพในการทำงานเหมือนเดิม
ที่มา |