HIGHLIGHT
|
ชีวิตก็เหมือนการเดินทางที่มี Career Path เป็นตัวกำหนดเส้นทางอาชีพ ซึ่งทุก ๆ สายงานล้วนมีเป้าหมายหรือตำแหน่งสูงสุดเป็นของตัวเอง เพื่อให้ทุกคนพัฒนาตัวเองและเติบต่อไปในสายงานนั้น ๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง
ฝ่ายทรัพยากรบุคคลก็เช่นกัน ที่มี Career Path ของ HR อันหลากหลาย แถมยังแตกย่อยออกกิ่งก้านสาขาสารพัด ซึ่งล้วนมีบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันไป
วันนี้ HREX.asia จึงมาขยายภาพ Career Path ของ HR ให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์กับ HR รุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตในสายงานนี้ หรือเพื่อนพนักงานที่สนใจย้ายสายมาฝ่ายทรัพยากรบุคคล ก็สามารถอ่านได้จากบทความข้างล่างนี้ได้เลย
4 เหตุผลที่งาน HR มี Career Path ที่ดี
Career Path คือ เส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ เปรียบเสมือนถนนการทำงานที่พนักงานคนหนึ่งจะสั่งสะสมประสบการณ์เพื่อไปถึงเป้าหมายในอาชีพนั้น ๆ โดย Career Path ของ HR มีมากมายหลายบทบาท แต่ก่อนที่จะแตกรายละเอียดนั้น เราต้องเข้าใจบริบทโดยรวมก่อนว่า ทำไม Career Path ของ HR ถึงโดดเด่นกว่าสายอาชีพอื่น
1. ได้ทำงานหลากหลาย (Variety)
การทำงานของ HR ต่างจากสายอาชีพอื่นตรงที่แผนกทรัพยากรบุคคลมีหน้าที่รับผิดชอบสนับสนุนพนักงานในหลากหลายแง่มุม เช่น การคำนวณค่าตอบแทน การฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน การสรรหา หรือการจ้างงาน แถมยังต้องเข้าใจระบบข้อมูล เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมไปถึงการเข้าใจแผนธุรกิจในการพัฒนาองค์กรด้วย ทำให้ Career Path ของ HR ต้องการความรู้ความเชี่ยวชาญที่หลากหลายเช่นกัน
2. มีความยืดหยุ่น (Flexibility)
U.S. News & World Report รายงานว่า งานด้านทรัพยากรบุคคลมักจะมีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น ใช้การสื่อสารทางไกล และทำงานร่วมมือกับทีมที่อยู่ภายนอกสำนักงานเสมอ ฉะนั้นเมื่อ HR สามารถทำงานจากระยะไกลเป็นหลักได้ ก็จะสามารถทำการต้อนรับพนักงาน การฝึกอบรม และการพัฒนาพนักงานผ่านเทคโนโลยีทางไกลโดยไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ ความยืดหยุ่นนี้ ทำให้การทำงานของ HR มีความคล่องตัวสูง ไร้ความเครียด และเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีผลสำรวจพึงพอใจในงานของตัวเองสูงสุด
3. มีโอกาสเติบโต (Growth Potential)
แน่นอนว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พนักงานพึงพอใจคือการเติบโตในสายงาน เช่น โอกาสในการได้งาน การเลื่อนตำแหน่ง หรือการเพิ่มเงินเดือน ซึ่งสำนักสถิติแรงงาน (BLS) ได้คาดการณ์ว่า การเติบโตของการจ้างงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลระหว่างปี 2018 ถึง 2028 จะมากขึ้น 5% โดยคาดว่าจะเปิดรับ 67,700 ตำแหน่งต่อปีจนถึงปี 2028 ทีเดียว หรือกระทั่งเงินเดือนเฉลี่ยของ HR ทั่วไปจะอยู่ในหลักหมื่น แต่ถ้าพัฒนาเป็นระดับผู้จัดการอาจแตะได้ถึงหลักแสนทีเดียว
4. เป็นงานที่มีความหมาย (Meaningful Work)
เพราะคนคือหัวใจขององค์กร และ HR ก็เป็นแผนกที่ทำงานกับคนเป็นหลัก ทำให้งานของ HR ส่งผลกระทบต่อความสำเร็จขององค์กรได้ ซึ่งจะสร้างความหมายและความภาคภูมิใจในการทำงาน รวมไปถึงยังสามารถสร้างวัฒนธรรมของทีมได้เหมือนกัน ฉะนั้นเมื่อเติบโตใน Career Path ของ HR ก็จะยิ่งสร้างผลกระทบ และสร้างความหมายที่ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
จะเริ่ม Career Path ของ HR ได้อย่างไร
มีคำถามหนึ่งที่หลายสงสัยก็คือ เรียนจบอะไรมา ถึงจะเป็น HR ได้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว เรียนจบอะไรมาก็สามารถเป็น HR ได้เหมือนกัน แต่ถ้าอยากให้ระบุเฉพาะเจาะจงไปเลย ก็จะเป็นจำพวกคณะหรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ขณะเดียวกันกลุ่มที่ข้ามสายมายัง HR ก็จะมี เช่น สายธุรกิจ สังคมวิทยา และจิตวิทยา เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่โลกการทำงานของ HR เส้นทางอาชีพสามารถเลือกเดินได้ทั้งการเป็นพนักงาน HR ประจำ หรือ Freelance HR ก็ได้ ขึ้นอยู่ตามประสบการณ์ ทักษะความรู้ และการออกแบบชีวิตการทำงานของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่สามารถเลือกได้ 2 ทางกว้าง ๆ คือ
- Generalist: HR ทั่วไปที่มักทำงานหลากหลาย เช่น การสรรหา การจ้างงาน การฝึกอบรบและพัฒนา การคำนวณค่าตอบแทน ฯลฯ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าองค์กรทำตามกฎหมายแรงงานของรัฐบาล
- Specialist: HR ผู้เชี่ยวชาญที่มักทำงานในองค์กรใหญ่ มีเทคนิคและความรู้เฉพาะทางมากขึ้น เช่น การบริหารความเสี่ยง การคิดแผนธุรกิจ หรืออาจเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไปเลย เช่น เชี่ยวชาญเรื่องการสรรหา เชี่ยวชาญเรื่องการคำนวณค่าตอบแทน เป็นต้น
Career Path ของ HR มีตำแหน่งอะไรบ้าง
HR assistant / HR officer
เป็นตำแหน่งเจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลในระดับเริ่มต้น ส่วนใหญ่มักต้องการแค่วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี และไม่จำเป็นต้องจบคณะ HR โดยตรง โดยงานส่วนใหญ่จะเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกของกระบวนการทำงานต่าง ๆ ของ HR เช่น งานเอกสารหรือการแก้ปัญหาทั่วไป ทั้งการทำแผนสวัสดิการ การขาดงาน ค่าจ้าง ทำงานล่วงเวลา หรือเลิกจ้าง ฯลฯ
HR Coordinator
เป็นฝ่ายผู้ประสานงาน HR หรือที่มักรู้จักในฐานะนักสรรหาพนักงาน (recruiter) ทำงานเกี่ยวข้องกับการจัดหาพนักงาน การประมวลผลเงินเดือน บันทึกพนักงาน และให้การสนับสนุนด้านการบริหารต่าง ๆ โดยกลุ่มนี้จะต้องมีทักษะในการคัดเลือกพนักงาน สัมภาษณ์พนักงาน ตรวจสอบข้อมูล เก็บบันทึกข้อมูลหาถูกต้องตามหลัก PDPA ซึ่งในองค์กรขนาดเล็กมักควบรวม HR assistant และ HR Coordinator ไว้ด้วยกันเลย
HR Business Partner
อาจไม่ใช่ตำแหน่งโดยตรง แต่เป็นบทบาทหนึ่งที่สำคัญของ HR ทว่าบางบริษัทก็เปิดรับในตำแหน่งนี้โดยเฉพาะ ซึ่ง HRBP จะเป็นฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการบริการคน พร้อมทั้งมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ โดยตำแหน่งนี้จะทำงานเคียงคู่ใกล้ชิดกับผู้บริหารโดยตรง ซึ่งบางองค์กรอาจให้นั่งเป็นคณะกรรมการบริหารหรือทำงานร่วมกับผู้บริหาร C-Level ทีเดียว
HR Manager
เป็นตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้นในด้านการทำงาน นโยบาย และข้อกำหนดปฏิบัติการต่าง ๆ และเป็นผู้ที่ต้องทำให้กระบวนการต่าง ๆ ในองค์กรเป็นไปตามกฎหมายของท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย ทำให้จำเป็นต้องมีทักษะแก้ปัญหาและความเป็นผู้นำ สามารถวางแผนธุรกิจและบริหารงบประมาณได้ โดยบุคปัจจุบันจำเป็นต้องมีความคุ้นเคยกับระบบสารสนเทศต่าง ๆ ของ HR ด้วยเช่นกัน ส่วนมากจะมีประสบการณ์การทำงานไม่ต่ำกว่า 5 ปีขึ้นไป
HR Director
ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะมีบทบาทหลากหลาย สามารถควบตำแหน่งหัวหน้าแผนกต่าง ๆ ได้ หรือจัดการแค่แผนกทรัพยากรบุคคลอย่างเดียว เพราะตำแหน่งนี้จะได้รับการคาดหวังให้ช่วยคิดกลยุทธ์ในการบริหารบุคคลทั้งบริษัท ต้องแก้ปัญหาข้อร้องเรียนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานของ HR ทำให้ต้องเข้าใจเรื่องกฎหมายหรือข้อบังคับต่าง ๆ เป็นอย่างดี โดยปกติแล้ว ตำแหน่งนี้ต้องศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป และมีประสบการณ์การทำงานมากกว่า 10 ปี
Vice President of HR
ตำแหน่งรองประธานฝ่ายทรัพยากรบุคคลมักจะอยู่ในบริษัทที่พนักงานเป็นผู้บริหารโดยเฉพาะ เพราะองค์กรส่วนใหญ่ตำแหน่งที่เหนือจาก HR Director มักจะเป็นตำแหน่ง CHRO ไปเลย ซึ่ง VPHR จะรับผิดชอบในส่วนบริหารหรือการตัดสินใจที่สำคัญ เช่น ขั้นตอนสุดท้ายของโครงการหรือการสร้างกระบวนการใหม่
Chief HR Officer (CHRO)
เป็นตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคล ถือเป็นตำแหน่งสูงสุดในองค์กรต่าง ๆ แล้ว มีบทบาทสำคัญในการบริหารทุกอย่างโดยทำงานเคียงคู่ CEO และผู้บริหารคนอื่น มีหน้าที่ควบคุมดูแลการทำงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคลทั้งหมด สามารถเปลี่ยนแปลงนโยบาย เป้าหมาย หรือข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อรักษาและพัฒนาพนักงานทั้งหมด ตำแหน่งนี้มักมีประสบการณ์ทำงาน 15 ปีขึ้นไป และจบสายงานพัฒนามนุษย์โดยเฉพาะ
HR Community Expert Partner พูดถึงเรื่องนี้ว่า…
ปราการ วงษ์จำรัส Assistant Chief Executive Officer Human Resources
“การเติบโตในทุก ๆ สายงาน สามารถเติบโตได้ทั้งในแนวตั้ง และ แนวนอน สำหรับงานในสาย HR ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน ถ้าแบ่งตามฟังก์ชั่นการทำงานจะมีหลักๆ อยู่ ดังนี้
- Recruitment
- HR Business Partnership
- Compensation and benefit
- Training
- HR Share service
- HR Compliance
- HRIS
ทีนี้การเติบโตในสายงาน HR สามารถเติบโตได้แนวตั้ง คือ การได้รับการ Promotion ประจำปี หรือบางทีมี Sub-band ต้องมีการขยับปรับ Sub-band ย่อยก่อน อธิบายง่าย ๆ คือ การเติบโตแนวตั้ง เราจะได้รับการปรับตำแหน่งจาก Junior เป็น Senior จาก Senior เป็น Manager ในฟังก์ชั่นงานของเรา
ส่วนการเติบโตในแนวนอน เนื่องจากเรามองแล้วว่าหนทางการได้รับการปรับตำแหน่งมีเงื่อนไขที่ยากลำบาก ประกอบกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น อาจไม่ชอบงานที่ทำในฟังก์ชั่นงานนี้เลย อยากขอย้ายไปทำฟังก์ชั่นงานอื่น เช่น ทำงานด้าน Recruitment มาสักระยะเริ่มเบื่อแล้ว อยากขอไปทำงานฟังก์ชั่น HR Business Partnership ก็สามารถทำได้ถ้าผ่านการสัมภาษณ์โอนย้ายภายใน วิธีการนี้เป็นการเติบโตในแนวนอน เพื่อให้เราได้หลายฟังก์ชั่น รองรับการเติบโตเป็น Manager ในอนาคตได้ เพราะเงื่อนไขในการเป็น Manager อาจต้องรู้มากกว่า 1 ฟังก์ชั่นงานของ HR เช่น ต้องรู้ Recruit HRBP Training เพื่อเป็นพื้นความรู้และประสบการณ์ในงาน แต่ละฟังก์ชั่นอาจแข็งแรงไม่เท่ากัน ก็เป็นได้ การเติบโตแนวนอน เหมือนเป็นการได้เรียนรู้ และเติบโตในอนาคต”
เทคนิคการเติบโตใน Career Path ของ HR
ถ้าทุกคนสนใจการทำงานสายทรัพยากรบุคคล หรือทำงานในสายนี้อยู่แล้ว เรามีเทคนิคการเติบโตใน Career Path ของ HR มาฝากกัน
- เป็นตัวเอง – ถ้าเราสนับสนุนให้พนักงานเป็นตัวของตัวเอง มีงานอดิเรก มีเป้าหมาย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจสู่การทำงานเสมอ HR ก็ควรเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ไม่ใช่พนักงานที่เข้ามาทำงานไปวัน ๆ
- เป็นผู้นำทางความคิด – ช่วงแรก ๆ การแบ่งปันความคิดและประสบการณ์กับคนอื่นอาจรู้สึกฝืนสักหน่อย แต่อย่างไรก็ตาม การพูดคุยกับคนอื่นจะทำให้เรามีคอนเน็คชั่นมากขึ้น เรียนรู้จากประสบการณ์คนอื่น เพื่อสร้างตัวตนของเราในแวดวงนี้
- เป็นผู้รู้ – ในที่นี้หมายถึงการมีความรู้ทางบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งควรเข้าใจอย่างถ่องแท้และทราบถึงความรับผิดชอบในทุกบทบาท เพื่อที่ว่าในอนาคตหากมีการเปลี่ยนแปลงหรือเลื่อนขึ้น เราก็จะพร้อมในการรับตำแหน่งนั้น ๆ ที่สำคัญคือต้องเข้าใจการดำเนินงานในองค์กรแบบ 360 องศาด้วย
- เป็นมนุษย์ – เมื่อ HR ทำงานร่วมกับมนุษย์ เราก็ควรมีความเป็นมนุษย์กับคนอื่น หาใช่ผู้คุมกฎที่ทำหน้าที่จ้องจับผิดพนักงานคนอื่นอยู่เสมอ สิ่งนี้เกิดขึ้นง่าย ๆ เพียงแค่เดินเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานอื่นบ้าง ว่าเขาทำอะไร มีโปรเจกต์อะไร ติดขัดตรงไหนไหม นอกเหนือจากการรู้จักกันผ่านเอกสารหรือฐานข้อมูลบริษัทอย่างเดียว
บทสรุป
เพราะทุกคนล้วนต้องการความก้าวหน้าทางอาชีพ การรู้จักเส้นทางที่ตัวเองกำลังเดินย่อมดีกว่าการทำงานไปวัน ๆ และจะดียิ่งขึ้นหากเรารู้ว่า วิธีการเติบโตในเส้นทางอาชีพนั้นต้องเตรียมตัวอย่างไร
HR ก็เช่นกัน ในเมื่อเรามีหน้าที่วาง Career Path ให้พนักงานคนอื่น ทำไมเราถึงไม่ออกแบบ Career Path ของตัวเองบ้าง แล้วเราก็จะมีเป้าหมายการทำงานในเส้นทางทรัพยากรบุคคลอย่างแท้จริง
ที่มา |