HIGHLIGHT
|
ขณะที่ทั่วโลกกำลังเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการงานและการประกอบอาชีพที่เรียกกันว่า Career Disruption นั้น องค์กรต่างๆ ต่างก็ต้องเรียนรู้และปรับตัวกันขนานใหญ่เพื่อปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัลที่มีการปฎิวัติแบบ Digital Disruption มากมายไม่แพ้กัน ในขณะเดียวกันองค์กรและสังคมการทำงานก็ต้องเรียนรู้และปรับตัวกับกลุ่มแรงงานรุ่นใหม่ล่าสุดอย่าง Generation Z ด้วย เรียกว่าเป็นยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบรอบทิศจนทำเอาปวดหันกันได้เลยทีเดียว แต่ถึงอย่างไรการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ครั้งนี้ก็มีอะไรดีๆ เกิดขึ้นมากมาย แล้วตลาดแรงงานใหม่อย่าง Generation Z นั้น ถึงแม้จะมีปัญหาหลากหลายตามมาด้วย แต่ข้อได้เปรียบในการเป็นเด็กที่โตมากับยุคเทคโนโลยีนั้นก็เป็นจุดแข็งในเรื่องแรงงานของเด็กยุคนี้เช่นกัน แต่สิ่งที่พูดไปทั้งหมดนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นสภาวะปัจจุบันแต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรแล้ว และทุกคนยังคงต้องรับมือและปรับตัวกันต่อไป แต่สิ่งที่กำลังถูกสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือเรื่องของการเตรียมตัวรับมือกับเจนเนอร์เรชั่นล่าสุดอย่าง Generation Alpha หรือ Gen Alpha นั่นเอง
Gen Alpha คืออะไร?
ยุคหนึ่งเคยมีคำถามที่เกิดขึ้นและถกเถียงกันว่าต่อจาก Generation Z แล้วมันจะคือเจนเนอร์เรชั่นอะไร (เพราะเมื่อก่อนเรียงตามลำดับตัวอักษร) ทุกวันนี้ทุกคนคงรู้คำตอบกันดีแล้วว่าต่อจาก Gen Z ก็คือ Gen Alpha นั่นเอง ทั้ง Gen Z และ Gen Alpha ถือเป็นเจนเนอร์เรชั่นที่อายุน้อยที่สุดในสังคมขณะนี้
ตารางเกณฑ์ของเจนเนอร์เรชั่นต่างๆ
ค.ศ. (เกิด) | พ.ศ. (เกิด) | Generation |
1946-1964 | 2489-2507 | Baby Boomers |
1965-1976 | 2508-2519 | Generation X |
1977-1994 | 2520-2537 | Generation Y (Millenial) |
1995-2009 | 2538-2552 | Generation Z |
2010-2024 | 2553-2567 | Generation Alpha |
ขณะที่ Gen Z กำลังเริ่มเรียนจบและเข้าสู่วัยทำงานตอนต้นกันแล้ว Gen Alpha รุ่นที่โตที่สุดนั้นก็ยังคงอยู่ในวัยเด็กอยู่ (อ้างอิงเวลาปัจจุบัน ณ ปี ค.ศ.2019) แต่ถึงอย่างนั้นทุกฝ่ายต่างก็เริ่มทำความเข้าใจกับอนาคตของ Gen Alpha และเตรียมรับมือกันแล้ว เพราะนอกจากเด็กเหล่านี้ก็คือผู้ใหญ่ในอนาคตแล้วนั้น พวกเขาเหล่านี้ก็คือตลาดแรงงานในอนาคตด้วยเช่นกัน
ทันทีที่ถึงยุคของ Gen Z ต่างก็มีคำถามเกิดตามมาทันทีว่าเจนเนอร์เรชั่นต่อไปจะถือเจนเนอร์เรชั่นใด ซึ่งผู้ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นคนให้เกิดเนิด Generation Alpha นั้นก็คือ Mark McCrindle นักประชากรศาสตร์ตลอดจนนักวิจัยทางสังคมชาวออสเตรเลียผู้มีชื่อเสียงนั่นเอง โดยเขาได้พูดถึงเรื่องนี้ในหนังสือ The ABC of XYZ; Understanding the Global Generations ที่เขาเขียน ตลอดจนขึ้นพูดบนเวที TEDx ที่ทำให้ทั่วโลกจับตาถึงเจนเนอร์เรชั่นนี้นั่นเอง
จากข้อมูลศึกษาวิจัยนั้นว่ากันว่าเด็ก Gen Alpha ถือเป็นเจนเนอร์เรชั่นที่ฉลาดที่สุดในเผ่าพันธุ์มนุษย์โดยนับจากช่วงวัยที่เกิดขึ้นมาเลยก็ว่าได้ ด้วยความพร้อมทางเทคโนโลยีหลากๆ อย่างบนโลก ตลอดจนวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ทันสมัย ทำให้ประชากรโลกมีคุณภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน จากผลการวิจัยพบว่า Gen Alpha มีการเรียนรู้เทคโนโลยีตั้งแต่วัยเด็ก และพวกเขาก็เติบโตมาพร้อมเซนต์แห่งการใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ซึ่งเด็ก Gen Alpha นี้จะมีอัตราเฉลี่ยในการใช้อินเตอร์เน็ตสูงถึง 47.4% ต่อวันเลยทีเดียว และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนั่งส่งเสริมให้เด็กวัยนี้เป็นวัยที่มีศักยภาพอย่างยิ่ง และเป็นวัยที่ใช้เทคโนโลยีได้อย่างชาญฉลาดที่สุด
ความเหมือนและแตกต่างระหว่าง Gen Z และ Gen Alpha
ตั้งแต่ Gen X เป็นต้นมา คนเหล่านี้เป็นเจเนอร์เรชั่นที่เริ่มรู้จักและเติบโตมากับเทคโนโลยีที่เห็นพัฒนาการมาเรื่อยๆ คุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด แต่สำหรับ Gen Z และ Gen Alpha นั้นถือว่าเป็นเจนเนอร์เรชั่นที่โตมากับเทคโนโลยีที่พัฒนาเต็มที่และสมบูรณ์แบบแล้ว เกิดมาในโลกยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง เกิดมาบนความสะดวกสบายและคุ้นเคยกับเทคโนโลยีเป็นอย่างดี แต่ถึงอย่างไรทั้งสองเจนเนอร์เรชั่นรุ่นใหม่นี้ต่างก็มีความแตกต่างตามช่วงเวลาที่ตนเองเติบโตเช่นกัน เราลองมาดูความเหมือนและความแตกต่างระหว่างสองเจนเนอร์เรชั่นนี้กัน
ความเหมือน
- เป็นเด็กรุ่นที่เติบโตและคุ้นเคยกับเทคโนโลยี ดังนั้นจึงเป็นเจเนอร์เรชั่นที่ใช้เทคโนโลยีได้คล่องแคล่ว เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีได้ไว
- ยอมรับและเข้าใจความแตกต่างได้ง่าย เพราะเขาโตมากับโลกไร้พรมแดน การรู้จักและคุ้นเคยกับทุกวัฒนธรรม รวมถึงการเป็นเจเนอร์เรชั่นที่เริ่มมีวัฒนธรรมเดียวกันเหมือนๆ กันทั่วโลกด้วย
- ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ดี เพราะเกิดมาในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงไปไวมากๆ
ความแตกต่าง
- เด็กรุ่น Gen Alpha จะใช้เทคโนโลยีในการทำงานได้ดีกว่า คล่องแคล่วกว่า เพราะเด็กรุ่น Gen Z กำลังเติบโตในยุคที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุค Digital Age แต่ Gen Alpha จะเข้ามาทำงานในยุคที่ดิจิทัลสมบูรณ์แบบขึ้น
- เด็กรุ่น Gen Alpha จะมีสมาธิต่ำในเรื่องที่เขาไม่สนใจ เรื่องอื่นๆ ในสังคม แต่จะมีสมาธิสูงในเรื่องเทคโนโลยี
- เด็กรุ่น Gen Alpha จะมีทักษะในการหาข้อมูลที่ดีและหลากหลาย สามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ได้สูง
- เด็กรุ่น Gen Alpha จะสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ได้ดีกว่าเจนเนอร์เรชั่นที่ผ่านมา เพราะเกิดมาในยุคที่การสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และเป็นเทรนด์ที่ได้รับการสนับสนุนและยอมรับจากสังคม
คุณลักษณะของคนยุค Gen Alpha ในตลาดแรงงานที่คาดการณ์ไว้
ต้องบอกว่า Gen Alpha เป็นเด็กรุ่นที่เกิดมาพร้อมเทคโนโลยีที่สมบูรณ์แบบ และความสะดวกสบายที่ครบครัน มักไม่เจอกับปัญหาเหมือนเด็กยุคก่อน เด็กในเจเนอร์เรชั่นนี้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่และเข้าสู่วัยแรงงานแล้วจะมีคุณลักษณะของวัยที่เป็นอย่างไร เรามาลองเรียนรู้จุดเด่นและจุดด้อยของวัยนี้กันดู เพื่อเตรียมรับมือกับแรงงานยุคใหม่ที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้
จุดเด่น
- มีทักษะทางเทคโนโลยีและดิจิทัลสูง : เด็กยุคนี้เติบโตมาพร้อมกับการที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตประจำวันและการทำงานในทุกภาคส่วนเป็นอย่างมาก เขาสามารถที่จะเรียนรู้ได้ไว ใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ ได้คล่อง สามารถสร้างประสิทธิภาพในการทำงานได้ดี เรียนรู้เทคโนโลยีในเชิงลึกได้ง่าย และสามารถนำมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์กับการทำงานต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
- ยอมรับและเรียนรู้ความแตกต่างได้ดี : เด็กยุคนี้เติบโตมากับโลกไร้พรมแดน เรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมของคนทั่วโลกได้ง่าย อีกอย่างเป็นยุคที่ทั่วโลกต่างก็มีวัฒนธรรมหลายอย่างร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว จึงเกิดความเข้าใจในองค์รวมในทิศทางเดียวกัน สื่อสารกันได้ง่ายขึ้น ทำงานร่วมกันโดยไม่มีการแบ่งแยก
- ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ดี : เด็กยุคนี้เติบโตมาในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงว่องไว รวดเร็ว ยอมรับและปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ดี รับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- มีองค์ความรู้ที่หลากหลาย : เด็กยุคนี้เกิดมาในโลกที่เต็มไปด้วยองค์ความรู้และข้อมูลมากมายแบบไร้ขอบเขต และเติบโตมาในยุคที่ส่งเสริมให้มีองค์ความรู้หลากหลายรูปแบบ เขาจะเป็นคนที่ผสมผสานองค์ความรู้ต่างๆ ได้ดี หรือมีทักษะที่ชำนาญมากกว่าหนึ่งอย่าง
- มีทักษะการแก้ปัญหาที่หลากหลาย : เด็กยุคนี้จะโตมากับทักษะการแก้ปัญหาที่หลากหลายรูปแบบ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วย เมื่อเกิดปัญหาที่เทคโนโลยีสามารถแก้ไขได้ จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถหาทางแก้ไขปัญหาได้หลากหลายวิธี
- เป็นนักสร้างนวัตกรรม : เด็กยุคนี้จะชอบสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ นวัตกรรมที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาหรืออำนวยความสะดวกได้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ เขาจะชอบการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นอยู่บนโลกสม่ำเสมอ
- ท้าทายในการได้ทำงานอะไรใหม่ๆ : เด็กยุคนี้จะเบื่อที่ทำอะไรซ้ำซากจำเจแบบเดิมๆ แต่จะกระตือรือร้นในการที่ได้ทำอะไรท้าทายใหม่ๆ อยู่เสมอ การสร้างสรรค์ใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งโปรเจกต์ใหม่ๆ
- รักอิสระ : ตั้งแต่ Gen Y เป็นต้นมา เริ่มเป็นเจนเนอร์เรชั่นที่รักอิสระ อยากทำอะไรที่มีความสุขต่อชีวิต ทำงานที่ชอบ แต่ Gen Alpha จะยิ่งรักอิสระที่สุด ไม่ชอบการผูกมัด มีอิสระที่จะทำงานและใช้ชีวิต เลือกในสิ่งที่ตนเองชอบทำและสบายใจที่จะทำ รวมถึงอิสระในสถานที่ทำงานที่สามารถทำได้ที่ไหนก็ได้ในโลก
- มีความยืดหยุ่นสูง : เด็ก Gen Alpha จะโตมากับช่วงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการทำงานขนานใหญ่ในทุกอุตสาหกรรม เด็กยุคนี้จะมีความยืดหยุ่นในการทำงานสูง ทำงานได้ทุกรูปแบบ ทุกข้อกำหนด
จุดด้อย
- ขาดความอดทน : เด็ก Gen Alpha และ Gen Z เป็นต้นมามักจะขาดความอดทน เพราะเขาเจออะไรที่ว่องไว เปลี่ยนแนปลงตลอดเวลา เวลาเจออะไรช้าๆ หรือต้องตั้งใจจดจ่อทำอะไรนานๆ มักจะขาดความอดทน ดังนั้นจะทำงานที่ต้องใช้เวลาได้ไม่ค่อยดี หรืองานที่ต้องรอผลสำเร็จนานๆ จะทำได้ไม่ดี หรือไม่มีความอดทนเลย
- ขาดสามาธิในการทำงาน : เด็ก Gen Alpha จะค่อนข้างสมาธิสั้น เพราะมีสิ่งน่าสนใจหลากหลายอย่าง อยู่กับสิ่งๆ เดียวนานๆ ไม่ได้ ไม่มีความตั้งใจในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างจริงจัง
- ขาดความตั้งใจในการทำงาน : ในเมื่อความสนใจหลากหลาย ความตั้งใจต่อแต่ละสิ่งย่อมลดลง เด็กยุคนี้มักขาดความตั้งใจในการทำงานที่จริงจัง เต็มที่ มักทำแบบขอไปที พอให้เสร็จๆ ไป เพราะไม่ได้เกิดผลกระทบอะไรกับชีวิตมากมาย ไม่เข้าใจหรือเห็นคุณค่าของงานที่ทำ ก็เลยไม่ใส่ใจทำงานอย่างเต็มที่
- เบื่อหน่ายง่าย : เด็กยุคนี้จะเบื่อง่าย ทำอะไรที่ไม่น่าสนใจก็จะเริ่มเบื่อ และหันไปหาสิ่งที่น่าสนใจกว่าซึ่งมีอยู่มากมาย ไม่จดจ่อกับสิ่งๆ เดียว อาจทำให้การทำงานมีปัญหา ถ้าได้ทำงานอะไรซ้ำๆ ไม่เกิดผลอะไร
- ไม่ชอบฝึกฝนทักษะพื้นฐาน อยากแต่จะทำงานในทักษะชำนาญการที่เห็นผลเลย : เด็กยุคนี้มักละเลยการเรียนรู้หรือฝึกฝนพื้นฐานให้ชำนาญ แต่อยากจะไปไวๆ แบบก้าวกระโดด ซึ่งทำให้พอทำงานแล้วไม่มีความชำนาญจะเกิดปัญหาได้ง่าย และรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้
- ไม่มีทักษะในการแก้ปัญหา : เมื่อปัญหาเกิดขึ้นเด็ก Gen Alpha จะขาดทักษะในการแก้ไขปัญหา เพราะไม่รู้วิธีการหรือทักษะพื้นฐาน
- มี Human Sense น้อยลง : ด้วยความที่อยู่กับเทคโนโลยีมากไป ขาดปฎิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันต่อมนุษย์คนอื่นเท่าที่ควร ทำให้เข้าใจระหว่างกันน้อยลง เกิดความเกรงใจกันน้อยลง ไม่เคารพซึ่งกันและกัน ไมมีกาลเทศะต่อกัน
- ขาดมนุษยสัมพันธ์ : เด็ก Gen Alpha มักจะอยากขลุกอยู่กับเทคโนโลยี ขลุกอยู่กับตัวเอง ขาดการปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทำให้ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ยาก ขาดมนุษยสัมพันธ์ในองค์กรและสังคม มักจะอยู่กับตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การทำงานร่วมกันกับผู้อื่นอาจเกิดปัญหาขึ้นได้
- ไม่รู้จักงานฝีมือและการใช้แรงงาน : เด็กรุ่นใหม่เติบโตมากับเทคโนโลยีและการใช้เทคโนโลยีช่วยทำงาน ดังนั้นจะขาดการลงมือปฎิบัติ หรือเรียนรู้ทักษะพื้นฐานที่ไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง หากเกิดปัญหาต่างๆ เขาอาจไม่เข้าใจการปฎิบัติงานแบบ Non-Automatic สักเท่าไร รวมถึงในเรื่องของงานฝีมือ หรืองานที่ต้องใช้มือทำ เด็กรุ่นนี้จะไม่มีความสนใจ หรือไม่ก็มีสมาธิสั้น ปฎิเสธงานที่ต้องออกแรงและใช้เวลา
- ขาดความเกรงใจ : การพูดตรงเป็นสิ่งที่ดี แต่การพูดตรงแบบขาดความเกรงใจ หรือพูดในสิ่งที่ไม่ควรพูด ไม่มีกาลเทศะ ถือว่าเป็นสิ่งที่แย่ เด็กยุค Gen Alpha จะขาดความเข้าใจกาลเทศะ พูดในสิ่งที่ไม่ควรพูดอยู่บ่อยๆ และขาดความเกรงใจคนอื่น ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาระหว่างบุคคลขึ้นได้ง่าย
- ขาดความรับผิดชอบ : เด็กยุคใหม่นี้จะขาดความรับผิดชอบสูง ทำงานเรื่อยๆ เปื่อยๆ เมื่อเกิดปัญหา หรือทำไม่ได้ ก็พร้อมที่จะทิ้งงานโดยไม่รู้สึกผิด หนีงานโดยมีข้ออ้างส่วนตัวเสมอ ทิ้งงานโดยไม่สนใจอะไรทั้งสิ้นได้
อย่างไรก็ดีคงต้องบอกว่านี่คือการคาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้าที่อาจเกิดขึ้น และอาจเป็นคุณลักษณะนี้อาจเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องมีคุณลักษณะเดียวกันนี้ไปเสียหมด ในขณะเดียวกันคุณลักษณะในอนาคตอาจจะต่างไปจากที่คาดคิดนี้ก็ได้ หรือบางทีเมื่อเรารู้ข้อมูลตรงนี้พร้อมการคาดการณ์แล้วก็อาจจะเริ่มต้นแก้ไขสิ่งที่บกพร่องได้ทัน อย่างไรก็ดีองค์กรทุกองค์กรต่างก็รอคอยการมาของเจนเนอร์เรชั่นใหม่ทุกยุคทุกสมัย พร้อมการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้งของโลกใบนี้ด้วยเช่นกัน
องค์กรควรเตรียมตัวอย่างไรในการทำงานร่วมกับ Gen Alpha
ทุกยุคสมัยประชากรโลกก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามการพัฒนาของโลกใบนี้ เราไม่มีทางปฎิเสธประชากรวัยไหนได้เลย เพราะแต่ละรุ่นต่างก็เป็นอนาคตต่อไปของโลกใบนี้เช่นกัน สิ่งที่ควรทำก็คือการเตรียมรับมือกับประชากรในยุคอนาคต รวมถึงเปลี่ยนแปลงตนเองให้ก้าวตามยุคสมัยให้ทัน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่องค์กรจะได้รับความคุ้มค่าและผลประโยชน์มากที่สุด
- นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในแต่ละสายงาน : องค์กรต้องปรับเปลี่ยนให้ทันโลก นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงานแต่ละสายงาน เพื่อรองรับแรงงานในอนาคตที่เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยียิ่งขึ้นได้ด้วย
- ปรับระบบการทำงานหลากหลายรูปแบบ : องค์กรควรมีระบบการทำงานที่หลากหลายรูปแบบไว้รองรับ เพราะระบบการทำงานในยุคนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ระบบการจ้างงานประจำเริ่มเป็นภาระหนักอึ้งขององค์กร และเริ่มเป็นความน่าเบื่อสำหรับพนักงานแล้ว คนรุ่นใหม่จะเริ่มอยากทำงานแบบฟรีแลนซ์มากขึ้น หรือ Remote Working ทำงานที่ไหนก็ได้บนโลก ขอแค่มีงานส่งทันตามเวลาที่กำหนด
- ทำงานระบบบริษัทกับบริษัท : เด็กยุคใหม่มีความอยากเป็นเจ้าของกิจการตนเองมากขึ้น แนวทางการเติบโตของธุรกิจในโลกอนาคตอาจไม่ใช่การสร้างบริษัทใหญ่โต แต่เป็นการสร้างบริษัทเล็กๆ ขึ้นมามากมาย ทุกคนเป็นเจ้าของกิจการ ระบบการทำงานจะเป็นระบบบริษัทดีลกับบริษัทมากขึ้น อย่างงานนี้หากบริษัทต้องการก็ไปติดต่อให้อีกบริษัททำ ไม่จำเป็นต้องจ้างพนักงานของตน ก็จะเป็นการดีลกับบริษัทของคนรุ่นใหม่แทน
- ทำงานแบบเป็น Project Base : หนึ่งในวิธีการทำงานที่กำลังเริ่มได้รับความนิยม และเหมาะสมสำหรับคนยุคใหม่มากขึ้นก็คือการทำงานแบบ Project Base แทนที่จะเป็นการทำงานแบบตามหน้าที่หลักหรือภาระกิจหลักอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเดียวเหมือนสมัยก่อน การทำงานแบบ Project Base นี้ก็คือการที่ให้งานแต่ละงานเป็นโปรเจกต์แทน โดยโปรเจกต์นี้จะมีใครเข้ามาร่วมทำบ้าง สลับสับเปลี่ยนกันไป หรือร่วมทำกันหลายคน มีระยะเวลาสิ้นสุดโปรเจกต์ที่ชัดเจน มีระบบระเบียบในการทำงาน มีกระบวนการที่ชัดเจน
- พัฒนาบุคลากรตลอดเวลา : เด็กยุคใหม่ต้องการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เสมอ ดังนั้นองค์กรควรมีการพัฒนาบุคลากร ทักษะ ความรู้ พัฒนาการทำงาน พัฒนาเทคโนโลยีที่นำเข้ามาช่วยในการทำงาน เพื่อใช้ศักยภาพของคน Gen Alpha ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- สร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรในองค์กร : ในยุคหน้าเรื่องมนุษยสัมพันธ์อาจจะเป็นปัญหามากขึ้นสำหรับเด็กยุคใหม่ องค์กรอาจช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ดีขึ้นด้วยการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรในองค์กรให้ดี ผ่านกิจกรรมตลอดจนวิธีการต่างๆ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กัน ตลอดจนส่งเสริมการทำงานเป็นทีม
บทสรุป
โลกของการทำงานกำลังจะปรับเปลี่ยนไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่โลกก็กำลังผลิตประชากร Gen Alpha ที่เติบโตตามการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างคืออนาคตของโลกใบนี้ เราไม่มีวันที่จะปฎิเสธเทคโนโลยีหรือความก้าวหน้าได้ เพียงแต่ต้องเรียนรู้และพัฒนาที่จะก้าวตามเทคโนโลยีและโลกใบนี้ให้ทัน ซึ่งอันที่จริงแล้วมันล้วนแล้วแต่เป็นแง่ดีในการอำนวยความสะดวกทั้งในชีวิตประจำวันและการทำงานที่ดียิ่งขึ้น และทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
Gen Alpha ถือเป็นเยาวชนที่จะกลายเป็นอนาคตของชาติและอนาคตของโลกใบนี้ต่อไป จุดแข็งที่เขามีศักยภาพด้านเทคโนโลยีตลอดจนองค์ความรู้ดิจิทัลที่เขาเติบโตมานั้น ควรจะสนับสนุนให้นำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านต่างๆ เพราะท้ายที่สุดแล้วทุกคนรวมถึงทุกองค์กรต่างก็ได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ทั้งสิ้น แล้วโลกในอนาคตก็คือโลกของพวกเขาด้วยเช่นกัน การเรียนรู้ที่จะรับมือและส่งเสริม Gen Alpha ให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไรจึงควรเป็นสิ่งที่สังคมและองค์กรควรเตรียมตัวตรงจุดนี้ เพื่อที่จะนำมาช่วยกันพัฒนาโลกของเราให้ก้าวหน้าต่อไป