HIGHLIGHT
|
ประมาณสามสิบปีที่แล้ว ถ้าพูดถึงการจ้างพนักงานในองค์กร เราคงนึกถึงการจ้างงานแบบประจำ ที่ทำเต็มเวลาไปจนถึงอายุเกษียณ
แต่ในปัจจุบัน ในหนึ่งองค์กรอาจมีการจ้างงานที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้น เช่น การจ้างแบบพนักงานประจำ, การจ้างงานแบบ Contract, การจ้างแบบชั่วคราว, หรือการจ้างแบบพาร์ทไทม์ เป็นต้น
ซึ่งการจ้างงานที่หลากหลายรูปแบบนี้อาจเกิดจากความต้องการ Work-life balance ของพนักงานที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้น ในบทความนี้ เราจะมาพูดถึงการจ้างงานแต่ละแบบทั้ง การจ้างงานแบบประจำ และไม่ประจำ รวมไปถึง การจ้างงานแบบอื่นๆ มีเพิ่มมาจากยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง พร้อมแนะนำรายละเอียดของการจ้างงานแต่ละแบบกันครับ
การจ้างงานแบบประจำและไม่ประจำ (Recruitment Methods)
“การจ้างงานแบบประจำ” กับ “การจ้างงานแบบไม่ประจำ” นั้นไม่ได้มีการกำหนดไว้ในทางกฏหมายอย่างชัดเจน แต่เราจะเข้าใจโดยข้อแตกต่างที่ชัดเจนข้อหนึ่งคือ การจ้างงานแบบประจำคือการจ้างโดยตรงจากบริษัท หรือใช้บริการบริษัทจัดหางานก็ได้ และไม่มีการระบุระยะเวลาสิ้นสุดการจ้างงาน เช่น “พนักงานประจำ”
อีกแบบหนึ่งคือ การจ้างงานแบบไม่ประจำ เราจะนึกถึง พนักงานที่ทำงานภายใต้สัญญาจ้างชั่วคราว หรือ ตามตกลงกับทางบริษัท เช่น งานพาร์ทไทม์ เป็นต้น ซึ่งการจ้างงานในลัษณะนี้จะมีการระบุระยะเวลาสิ้นสุดการจ้างงานไว้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ข้อแตกต่างอีกอย่างคือ ด้านประกันสังคม ถ้าเป็นการจ้างงานแบบประจำ จะต้องมีการกำหนดสิทธิประโยชน์ไว้อย่างแน่นอนว่ามีสิทธิใดบ้างตามที่กฏหมายกำหนด แต่การจ้างงานแบบไม่ประจำ หากเงื่อนไขไม่ครบตามที่กำหนดสิทธิบางสิทธิอาจไม่ได้ถูกระบุไว้ นอกเสียจากผู้ที่ไม่ได้ทำงานประจำ จะเลือกจ่ายเงินสมทบเองเพื่อให้ได้ สิทธิ์ประกันสังคม
นอกจากข้อแตกต่างสองข้อใหญ่ๆ ที่เรายกมาแล้ว ก็ยังมีข้อแตกต่างอื่นๆ อีก ดังนี้
【ลักษณะเฉพาะของการจ้างงานแบบประจำ】
- เมื่อไม่มีการระบุระยะเวลาสิ้นสุดการจ้างงานที่แน่นอน ตราบใดที่ไม่ถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากบริษัท ก็สามารถทำไปได้จนเกษียณอายุ
- ทำงานแบบ Full-time ไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และได้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน
- จะมีการขึ้นเงินเดือนเป็นประจำตามข้อกำหนดของแต่ละบริษัท และการทำงานติดต่อกันเป็นเวลาหลายๆ ปี
【ลักษณะเฉพาะของการจ้างงานแบบไม่ประจำ】
- ส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานในระยะสั้น เช่น สามเดือน หนึ่งปี เป็นต้น เมื่อถึงเวลาสิ้นสุดการจ้างงานหากนายจ้างไม่ต้องการจ้างต่อ หรือลูกจ้างไม่อยากทำต่อ ก็สามารถสิ้นสุดสัญญาจ้างได้ตามกำหนด
- ไม่ระบุเวลาทำงานตายตัว สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันรวมไปถึง การจ่ายค่าตอบแทนด้วย
- โดยปกติไม่มีการขึ้นเงินเดือน
การจ้างงานแบบต่างๆ (Recruitment Methods)
เราได้อธิบายถึงความแตกต่างของการจ้างงานแบบประจำและไม่ประจำกันไปแล้ว ในยุคปัจจุบันที่มีวิธีการทำงานที่หลากหลาย การจ้างงานก็มีความหลากหลายมากขึ้นเช่นกัน
เราจะอธิบายข้อแตกต่าง และคุณสมบัติของการจ้างงานแต่ละแบบกันครับ
การจ้างงานแบบสัญญาจ้างชั่วคราว
การจ้างงานแบบสัญญาจ้างชั่วคราวนั้นจะมีระยะเวลาที่จ้างแน่นอน โดยอาจมีระยะเวลาตั้งแต่ 6 เดือน 1 ปี หรือ 3 ปี โดยปกติแล้วการจ้างงานแบบนี้ลูกจ้างจะได้สิทธิต่างๆ เหมือนกับลูกจ้างประจำหรือพนักงานประจำ การจ่ายค่าตอบแทนก็เป็นในลักษณะการให้เงินเดือน ส่วนสวัสดิการต่างๆ นั้นจะขึ้นอยู่กับระเบียบข้อกำหนด เงื่อนไขของแต่ละบริษัท
เมื่อระยะเวลาของสัญญาหมดลงลูกจ้างจะต้องออกจากงานโดยทันที เว้นเสียแต่ว่าลูกจ้างและบริษัทได้มีความเห็นพ้องกันทั้งสองฝ่ายว่าจะมีการต่ออายุสัญญา ลูกจ้างคนนั้นก็จะยังคงทำงานในบริษัทต่อไป
ในส่วนของการเลิกจ้างหากยังไม่ครบกำหนดตามสัญญาที่ได้มีการระบุไว้ บริษัทต้องมีการจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างตามที่กฏหมายแรงงานระบุไว้
การจ้างงานแบบ Part-time
งาน Part-time จะไม่ค่อยมีความแตกต่างกับงานแบบสัญญาจ้างชั่วคราว แต่งาน Part-time นั้น จะเน้นทำเป็นกะ เป็นรายชั่วโมง หรือทำในระยะเวลาที่น้อยกว่า โดยปกติแล้วจะทำได้น้อยสุด 4 ชั่วโมง มากสุด 8 ชั่วโมงต่อวัน
โดยส่วนใหญ่มักเป็นการจ้างมาเพื่อช่วยพนักงานประจำ หรือมาแทนพนักงานคนเก่าชั่วคราว ดังนั้นการจ่ายค่าตอบแทนจึงเป็นแบบจ่ายตามชั่วโมงที่ได้ทำงานไปในหนึ่งวัน เช่น ชั่วโมงละ 55 บาท เป็นต้น ส่วนมากมักจะทำประมาณสัปดาห์ละสามวัน โดยลูกจ้าง Part-time สามารถตกลงกับทางนายจ้างได้ว่าจะทำวันไหน วันละกี่ชั่วโมง
สวัสดิการสำหรับลูกจ้าง Part-time จะไม่ได้กำหนดไว้แบบของลูกจ้างประจำ ขึ้นอยู่กับที่มีการตกลงไว้กับทางนายจ้าง และเนื่องจากระยะเวลาในการทำงานต่อสัปดาห์น้อย จึงทำให้ค่อนข้างมีความยืดหยุ่นด้านเวลาพอควร ดังนั้นงานแบบนี้จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการใช้เวลว่างให้เป็นประโยชน์ อย่างนักเรียน นักศึกษา หรือผู้ที่ไม่ต้องการทำงานประจำ เป็นต้น
การจ้างงานแบบการส่งไปประจำอีกบริษัท
พนักงานชั่วคราวที่บริษัท Outsource ส่งไปประจำอีกบริษัทหนึ่งจะมีความคล้ายคลึงกับลูกจ้างชั่วคราว เมื่อระยะเวลาจ้างงานสิ้นสุดลง บริษัทจะจ้างลูกจ้างคนนั้นต่อหรือจะเลิกจ้างนั้น ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างลูกจ้าง บริษัท Outsource และบริษัทที่ลูกจ้างทำอยู่
การจ้างงานแบบนี้ ให้ถือว่าลูกจ้างที่ถูกส่งไปยังบริษัทนายจ้างนั้น มีสิทธิและสถานะเหมือนกับพนักงานประจำ ส่วนสวัสดิการต่างๆ ให้เป็นไปตามระเบียบและเงื่อนไขของทางบริษัทนายจ้างกำหนด
การจ้างงานแบบรายวันหรือรายชั่วโมง
การจ้างงานแบบรายวันหรือบางที่เป็นการจ้างแบบรายชั่วโมงนั้น ถือเป็นการจ้างงานแบบชั่วคราวที่ มีความยืดหยุ่นเรื่องของเวลาทำงานตามความสะดวกของลูกจ้างและความต้องการของนายจ้าง
ส่วนสิทธิและสวัสดิการที่จะได้นั้นอาจมีความแตกต่างจากการจ้างแบบชั่วคราวทั่วไปเช่น สิทธิในการลาต่างๆ ส่วนค่าตอบแทนนั้นจะเป็นไปตามที่นายจ้างกำหนด แตกต่างกันไปแต่ละบริษัท โดยส่วนใหญ่จะเป็นงานพนักงานขาย หรือบริการลูกค้า ตามสาขาในห้างสรรพสินค้าหรืองานอีเวนท์ต่างๆ เป็นต้น
ในปัจจุบันนี้งานแนวนี้เริ่มมีการจ้างผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เกษียณอายุมากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างคุณค่าให้ผู้สูงวัยและเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
การจ้างงานแบบรับเหมา
การจ้างงานแบบรับเหมา จะมีความแตกต่างกับการจ้างงานแบบสัญญาจ้างชั่วคราว เพราะเป็นการแบบรับจ้างทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งตั้งแต่เริ่มต้นจนจบงาน โดยค่าตอบแทนจะเป็นไปตามที่ผู้จ้างตกลงกับผู้รับเหมา ส่วนการจ่ายค่าตอบแทนก็จะอิงจากผลงาน ปริมาณของงานที่สำเร็จ หรือจ่ายตามสัดส่วนยอดขายและสัญญาที่ทำไว้
ถึงแม้การจ้างงานแบบนี้ อาจไม่ใช่หนึ่งในรูปแบบของการจ้างงานโดยตรง แต่ผู้ที่ทำงานในลักษณะแบบนี้ก็ควรได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรม เหมือนกับการจ้างงานแบบสัญญาจ้างชั่วคราว
การจ้างงานแบบพนักงานกึ่งประจำ
เป็นการจ้างงานที่อยู่ระหว่างการจ้างงานแบบประจำและการจ้างงานแบบไม่ประจำ ไม่ได้มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนแต่ส่วนใหญ่หมายถึง ลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งประเทศที่มีการจ้างงานแบบนี้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
ซึ่งระยะเวลาของสัญญา การจ่ายค่าตอบแทน หน้าที่ของงาน จะแตกต่างกันไปตามแต่ละบริษัท ถึงแม้จะเรียกว่าการจ้างงานกึ่งประจำ แต่โดยส่วนใหญ่ก็เป็นการจ้างที่มีส่วนคล้ายกับการจ้างแบบสัญญาชั่วคราว
นอกจากนั้นแล้ว ที่ประเทศญี่ปุ่นยังมีการจ้างงานอีกรูปแบบที่จะจ้างเราในสถานะลูกจ้างประจำ ไม่มีการระบุระยะเวลาสิ้นสุดการจ้างงานที่แน่นอน โดยระยะเวลาของการทำงานในหนึ่งสัปดาห์จะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับลูกจ้างแบบประจำประมาณ 12 ถึง 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สิทธิประโยชน์และ สวัสดิการจะเหมือนกับลูกจ้างประจำ เพียงแต่บริษัทที่นำระบบการจ้างงานแบบนี้เข้าไปใช้นั้นยังถือได้ว่าน้อยอยู่ เพราะระบบนี้ไม่เข้ากับโครงสร้างของบริษัทนั่นเอง
สรุป
ในปัจจุบันเราสามารถแบ่งการจ้างงานออกไปเป็นสองแบบใหญ่ๆ คือ การจ้างงานแบบประจำและไม่ประจำ เชื่อว่าการจ้างงานแบบต่างๆ ในยุคต่อไปจะมีความหลากหลายมากขึ้นไปอีก ตามวิธีการทำงานที่เพิ่มมากขึ้น
ดังนั้นการจ้างงานให้เหมาะสมกับบริษัทหรือความต้องการที่หลากหลายของผู้ที่กำลังหางานน่าจะมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้นครับ