Search
Close this search box.

ทิศทางตลาดแรงงานผู้สูงวัย และแนวทางการเตรียมตัวพัฒนาตนเองสำหรับผู้สูงอายุ (Aging Society)

HIGHLIGHT
  • สังคมโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ Aging Society
  • โลกทุกวันนี้มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวันตลอดจนการทำงานมากมาย ผู้สูงอายุควรพัฒนาและปรับตัวให้ก้าวทันเทคโนโลยีเสมอด้วยเช่นกัน เพื่อโอกาสในตลาดงานที่รองรับด้วย
  • องค์กรทั่วโลกและฝ่าย HR กำลังปรับตัวเพื่อรองรับสังคมสูงวัยด้วยเช่นกัน โดยเริ่มขยายตลาดแรงงานรองรับคนกลุ่มนี้มากขึ้น โดยเฉพาะงานด้านบริการ การขาย และทักษะงานฝีมือ
  • ผู้สูงอายุควรหาโอกาสพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่สนใจอยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์กับตนเอง เพื่อโอกาสหาแหล่งงานใหม่ๆ ตลอดจนโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ของตนได้ด้วย

ทิศทางตลาดแรงงานผู้สูงวัย และแนวทางการเตรียมตัวพัฒนาตนเองสำหรับผู้สูงอายุ

ปัจจุบันโลกเราต่างก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) มากขึ้นทุกวัน ทั่วโลกต่างกำลังตื่นตัวในการรับมือกับสถานการณ์นี้

สำหรับประเทศไทยภาครัฐต่างก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ตั้งแต่ระดับนโยบายประเทศ ไปจนถึงการจัดตั้งองค์กรเพื่อมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะอย่าง กรมกิจการผู้สูงอายุ (Department of Older Persons) สังกัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (Ministry of Social Development and Human Security) โดยเฉพาะการจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติเพื่อวางแผนและกำหนดทิศทางของประเทศในลักษณะเดียวกันกับแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันถือเป็นฉบับที่ 2 ที่เป็นแผนพัฒนา 20 ปี กำหนดใช้ในช่วงปี พ.ศ.2545-2564 นั่นเอง

ตลอดจนแผนปฎิบัติการด้านแรงงานผู้สูงอายุ ที่จัดทำและดูแลโดยกระทรวงแรงงาน ตามแต่ละปีงบประมาณอีกด้วย ซึ่งนั่นเป็นตัวอย่างของการตั้งรับที่เกิดขึ้น และส่งผลต่อตลาดแรงงานผู้สูงอายุที่ขยายตัวขึ้นด้วยเช่นกัน

สถานะของสังคมไทยในตอนนี้คือการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มตัวแล้ว ด้วยอัตราประชากรผู้สูงอายุที่เตะระดับ 16.06% ของประชากรทั้งประเทศ และกำลังมีแนวโน้มที่จะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Age Society) ในอนาคตอันใกล้นี้

ขณะเดียวกันหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็เตรียมตัวรับมือในเรื่องนี้กันเป็นอย่างดี ทีนี้ก็ถึงคราวที่บรรดาแรงงานผู้สูงอายุจะเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปนี้บ้าง วันนี้เราเลยอยากแนะนำการพัฒนาตนเองของผู้สูงอายุให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งการทำงานในยุคนี้ด้วยเช่นกัน

หมายเหตุ : ข้อมูลจากสถิติการจดทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561

อ้างอิงข้อมูลจาก : ข้อมูลสถิติจำนวนผู้สูงอายุประเทศไทย ปี 2561 ด้วยระบบ POWER BI จัดทำโดย กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) (Department of Older Persons) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) (Ministry of Social Development and Human Security) http://www.dop.go.th/th/know/1/153

HR กำลังมองหาทักษะและศักยภาพอะไรของผู้สูงอายุ

ตลาดแรงงานกำลังจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบขนานใหญ่ ทั้งตลาดแรงงานสำหรับคนรุ่นใหม่ ไปจนถึงตลาดแรงงานสำหรับรองรับผู้สูงอายุ และสภาวะการปฎิวัติทางอาชีพ (Career Disruption) ที่จะทำให้เกิดการปรับตัวอย่างมหาศาล ในด้านของผู้สูงอายุเอง หลายองค์กรต่างก็ช่วยกันเตรียมรับมือในเรื่องนี้ทั่วโลก

และนี่คือทักษะที่กำลังเป็นเทรนด์น่าจับตาซึ่งองค์กรตลอดจนฝ่ายทรัพยากรบุคคลมองหาศักยภาพในตลาดแรงงานผู้สูงอายุเหล่านี้ และมีโอกาสที่จะได้รับการจ้างงานสูงอีกด้วย

ศักยภาพด้านเทคโนโลยี

โลกทุกวันนี้กำลังเข้าสู่ยุค Internet of Things ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน รวมถึงการทำงานในทุกอุตสาหกรรม ในอนาคตงานที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีนั้นจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และหลายองค์กรก็เริ่มเตรียมตัวรับมือกับการจ้างงานผู้สูงอายุไว้แล้ว แน่นอนว่าการจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีของผู้สูงอายุนั้นย่อมแตกต่างจากวัยทำงาน งานเทคโนโลยีที่จะจ้างผู้สูงอายุนี้มักจะเกี่ยวเนื่องกับการคอยดูแลระบบมากกว่าที่จะคิดค้นประดิษฐ์

อีกอย่างงานลักษณะนี้สามารถจ้างผู้สูงอายุได้ในอัตราที่ถูกกว่าวัยแรงงานอีกด้วย แต่ก็ถือว่าเป็นงานและเงินที่คุ้มค่าสำหรับผู้สูงอายุทีเดียว ซึ่งองค์กรต่างชาติบางแห่งเริ่มวางแผนในเรื่องนี้ไว้แล้ว

ศักยภาพด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นและงานฝีมือ

หนึ่งในเทรนด์ผลิตภัณฑ์ของโลกยุคใหม่ก็คือการหันมาสนใจในงานฝีมือและภูมิปัญญายุคเก่านั่นเอง งานอย่างเย็บปักถักร้อย งานแฮดเมดด์ ไปจนถึงงานภูมิปัญญาท้องถิ่นกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในระดับผลิตเองชายเอง ไปจนถึงระดับแบรนด์ใหญ่ๆ ของโลกลงมาให้ความสำคัญ ผู้สูงอายุที่มีองค์ความรู้ในเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนมีทักษะในด้านงานฝีมือ มีโอกาสจะได้งานและได้แสดงศักยภาพสูงทีเดียว

ศักยภาพการเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้

ประสบการณ์ถือเป็นสิ่งล้ำค่าที่หาซื้อไม่ได้แต่มันจะเพิ่มพูนขึ้นตามวัยของคน อีกทักษะที่กำลังได้รับความสนใจสำหรับผู้สูงอายุก็คือองค์ความรู้ที่มีอยู่ในตัว เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะอย่าง และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้อื่น บางองค์กรอาจจ้างไปเป็นวิทยากร หรือบางทีผู้สูงอายุอาจจะสร้างคอร์สถ่ายทอดความรู้ได้ด้วยตนเอง ตลอดจนสร้างรายได้จากการเปิดคลาสออนไลน์ได้อีกด้วย

ศักยภาพด้านงานงานขาย

งานขายนั้นไม่เกี่ยงเรื่องอายุ นั่นจึงทำให้องค์กรหลายหน่วยงานเปิดรับผู้สูงอายุเพื่อมาทำงานด้านนี้ ทั้งพนักงานขายตามเคาน์เตอร์ พนักงานขายในห้างสรรพสินค้า รวมไปถึงพนักงานขายอิสระ ในอีกด้านธุรกิจที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็คือสินค้าสำหรับผู้สูงอายุต่างๆ ซึ่งพนักงานขายผู้สูงอายุย่อมเข้าใจและสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายเดียวกันได้ดีกว่า และเป็นแนวทางอาชีพที่กำลังได้รับความนิยมมากที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับผู้สูงอายุเลยทีเดียว

ศักยภาพด้านงานบริการลูกค้า

การบริการลูกค้ากำลังเป็นเทรนด์ที่มาแรงในการจ้างแรงงานผู้สูงอายุ เพราะนี่คือสิ่งที่ทำได้ง่ายในทุกองค์กร และไม่มีข้อจำกัดเรื่องวัย หลายองค์กรโดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าตลอดจนไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarkets) ต่างๆ ต่างก็จ้างผู้สูงอายุมาคอยช่วยดูแลตรงจุดนี้ เพราะผู้สูงอายุมีความใจเย็น มีประสบการณ์หลายด้าน มีทักษะในการสื่อสารที่ดี ตลอดจนมีจิตใจเอื้ออารีย์อยากช่วยผู้อื่นด้วย

อีกทั้งหลายองค์กรยังใช้ข้อดีตรงจุดนี้สร้างเสน่ห์ให้กับบริการของตน สร้างภาพลักษณ์ที่ดี ตลอดจนสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ให้กับองค์กรได้อีกด้วย

ศักยภาพด้านงานการบัญชีและการเงิน

บ่อยครั้งที่เราจะเห็นผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชีและการเงินที่ยิ่งมีอายุสูงขึ้นยิ่งมีศักยภาพและความสามารถเพิ่มมากขึ้น ประสบการณ์จะสั่งสมให้ทำงานอย่างละเอียด รอบคอบ รอบด้าน และชัดเจน ทำให้เหมาะแก่การทำงานด้านการบัญชีและการเงิน ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งทักษะที่ผู้สูงอายุอาจจะเหนือกว่าผู้ที่มีอายุน้อย

ในแวดวงธุรกิจปัจจุบันเองก็มีพนักงานเกษียณที่ทำงานทางด้านนี้ออกมารับฟรีแลนซ์ด้านการเงินและบัญชีมากกมาย เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับวัยสูงอายุที่มีทักษะและความสามารถทางด้านบัญชีและการเงินที่ดีเลยทีเดียว

ศักยภาพด้านการลงทุน

การลงทุนไม่ว่าจะอะไรก็ตามข้อมูลและการวิเคราะห์ล้วนเป็นสิ่งสำคัญ ประสบการณ์หลากหลายด้านของผู้สูงอายุจะเป็นประโยชน์ได้ดีสำหรับการวิเคราะห์ตลอดจนเสาะหาข้อมูลที่มีประโยชน์ได้ ดังนั้นตลาดของการลงทุน โดยเฉพาะทางด้านหุ้นไปจนถึงอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องการคนมีความรู้ มีศักยภาพ มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ที่ดี ซึ่งคนสูงอายุจะได้เปรียบในด้านนี้ แล้วปัจจุบันแหล่งหาข้อมูลความรู้นั้นมีอยู่มากมาย ผู้สูงอายุที่ใฝ่เรียนรู้อยู่เสมอก็จะได้เปรียบในด้านนี้เช่นกัน รวมถึงมีโอกาสได้รับความน่าเชื่อถือสูงด้วย

ศักยภาพด้านการเป็นแหล่งข้อมูลวิจัย

ทุกวันนี้มีการวิจัยที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุจำนวนมาก เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว หนึ่งในขั้นตอนวิจัยที่สำคัญก็คือกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ทำการวิจัยนั่นเอง และเมื่อทำการวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุแน่นอนว่านี่คือกลุ่มตัวอย่างสำคัญในการทำการวิจัย ซึ่งมีตั้งแต่การวิจัยทางการตลาด, การวิจัยทางสังคม, ไปจนถึงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โลกเปลี่ยนไป…อาชีพเปลี่ยนแปลง

ผลงานวิจัย The Open Economy ของ McKinsey ระบุว่าในปี ค.ศ.2020 นี้งานด้านบริหารทรัพยากรบุคคลต้องเตรียมพร้อมเพื่อตั้งรับบทบาทใหม่ เพราะคนทำงานกว่า 40% เลือกประกอบอาชีพอิสระ (freelancer) มากขึ้น แรงงานจะเป็นบุคคลที่ยืดหยุ่นกับการจ้างงานสูง (Ultra-flexible workers) รับงานได้หลากหลายที่พร้อมกัน และไม่นิยมประจำอยู่กับที่ใดที่หนึ่ง หรือทำสัญญาจ้างประจำแต่มีอิสระในการทำงานตามสถานที่ต่าง ๆ บริษัทจะเริ่มลดการจ้างพนักงานประจำลง และจะมีพนักงานบางส่วนที่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศเท่านั้น และตลาดแรงงานอิสระนั้นจะมีเป็นจำนวนมากทั้งจากลักษณะการทำงานของคนรุ่นใหม่ไปจนถึงสังคมสูงวัยที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นและเข้าสู่ตลาดแรงงานอิสระเพิ่มขึ้นด้วย

อ้างอิงข้อมูลจาก : HR Magazine

ผู้สูงอายุควรเตรียมตัวพัฒนาตนเองอย่างไรบ้าง

ในส่วนของภาครัฐแทบทุกประเทศเริ่มใส่ใจเรื่องสังคมผู้สูงอายุระดับนโยบายกันแล้ว แล้วส่วนภาคเอกชนก็เริ่มหันมาช่วยเหลือกันรับมือในเรื่องนี้มากขึ้นแล้วเหมือนกัน ขณะเดียวกันผู้สูงอายุเองก็เริ่มเตรียมตัวรับมือกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนเริ่มพัฒนาศักยภาพตนเองในหลากหลายด้านเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ตลาดแรงงานผู้สูงอายุ ตลอดจนปรับตัวให้เข้ากับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

  • 1.พัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี : ผู้สูงอายุควรเริ่มทำความรู้จักและคุ้นเคยกับเทคโนโลยีให้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราปฎิเสธไม่ได้ว่าโลกทุกวันนี้มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีประจำวันและการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างน้อยก็เริ่มทำความรู้จัก Smart Phone ฝึกใช้คอมพิวเตอร์ หรือใครที่ทำงานสายเทคโนโลยีมาอยู่แล้ว ก็เรียนรู้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการเรียนรู้เทคโนโลยีก็ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องอายุเช่นกัน
  • 2.หมั่นออกกำลังกายและดูแลสุขภาพให้แข็งแรง : การมีสุขภาพที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับแรงงานไม่ว่าจะวัยใดก็ตาม จริงอยู่ที่ว่าวัยผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะมีปัญหาสุขภาพสูง แต่ผู้สูงอายุเองก็ควรหมั่นออกกำลังกาย ตลอดจนดูแลร่างกายให้ดี เราจะเห็นผู้สูงอายุในยุคนี้หลายคนมีร่างกายแข็งแรงไม่ต่างจากหนุ่มสาว บุคลิกลักษณะภายนอกดูอ่อนกว่าวัยจริงมาก ซึ่งนั่นจะยิ่งทำให้ผู้สูงอายุพร้อมเป็นแรงงานในตลาดแรงงานเสมอ รวมถึงใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบาย การมีสุขภาพที่ดียังทำให้โอกาสได้งานสูงกว่าผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอีกด้วย เพราะองค์กรอยากจะจ้างบุคลากรที่สามารถมีศักยภาพทำงานให้องค์กรได้มากกว่า
  • 3.อัพเดทข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ : ข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งสำคัญในโลกยุคปัจจุบัน ผู้สูงอายุควรอัพเดทข้อมูลข่าวสารเสมอ เพราะบางครั้งข่าวเรื่องการรับสมัครงานสำหรับผู้สูงอายุก็ถูกประกาศในโลกออนไลน์ ตลอดจนข้อมูลข่าวสารอื่นๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน หรืองานด้านการวิเคราะห์ต่างๆ เป็นต้น การหาข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอยังข่วยบริหารสมองให้กับผู้สูงอายุอีกด้วย สมองมีการทำงานทำให้โอกาสในการเป็นโรคความจำเสื่อมต่ำ และส่งผลให้สุขภาพดีขึ้นได้เช่นกัน
  • 4.หางานอดิเรกทำ : ผู้สูงอายุควรหางานอดิเรกทำเพื่อป้องกันความเบื่อหน่าย ตลอดจนลดความเครียด หาเวลาว่างให้เป็นประโยชน์ การหางานอดิเรกทำยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพใจและส่งผลให้สุขภาพกายดีตามไปด้วย ที่สำคัญในยุคนี้งานอดิเรกก็สามารถนำมาสร้างรายได้ได้เช่นกัน มีผู้สูงอายุหลายคนหารายได้จากงานอดิเรกเหล่านี้ และประสบความสำเร็จทีเดียว หรือบางครั้งงานอดเรกอาจกลายเป็นที่ต้องการของบางองค์กรพอดี ก็อาจเป็นโอกาสที่ช่วยให้ผู้สูงอายุมีโอกาสได้งานอีกด้วย
  • 5.พัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ที่ตนเองสนใจ : ผู้สูงอายุที่รักการเรียนรู้หรืออยากจะพัฒนาศักยภาพตลอดจนทักษะในด้านอื่นๆ เพิ่มเติมจะช่วยให้เรามีความสามารถหลากหลายด้านมากขึ้น มีโอกาสในตลาดแรงงานที่หลากหลายมากขึ้น ปัจจุบันมีคอร์สการอบรมตลอดจนทักษะต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่แบบเรียนเป็นจริงเป็นจัง และแบบเรียนรู้ทางระบบออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งทักษะที่พัฒนานั้นอาจจะเพื่อหางานทำ หรือพัฒนาทักษะไว้รองรับโอกาสในอนาคต ตลอดจนสร้างงานด้วยตนเองได้ เป็นต้น
  • 6.เข้าร่วมสังคม เครือข่าย หรือชมรมผู้สูงอายุต่างๆ : ปัจจุบันนี้มีสังคม เครือข่าย ตลอดจนชมรมผู้สูงอายุต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย รวมไปถึงองค์การและมูลนิธิที่ทำงานในด้านนี้ การเข้าไปร่วมเครือข่ายอาจทำให้เราได้รับความรู้ตลอดจนการช่วยเหลือหลายอย่าง อาจได้รับโอกาสในการพัฒนาฝีมือและศักยภาพของตัวเอง อาจได้รับข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ตลอดจนได้ทราบถึงแหล่งงานที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ รวมถึงการจัดหางานให้ผู้สูงอายุด้วย

บทสรุป Aging Society

จากข้อมูลที่ว่าศตวรรษที่ 21 นี้ถือเป็นศตวรรษของผู้สูงอายุที่นับวันประชากรสูงวัยจะมีอัตราเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากมองเป็นปัญหาคงไม่ใช่เรื่องดีนัก ควรมองให้มันเป็นโอกาสเสียมากกว่า เหมือนกับที่นักเขียนดังชาวอเมริกันเคยกล่าวไว้ว่า

“Every industry is going to be affected (by the aging population). This creates tremendous opportunities and tremendous challenges.”

ทุกอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากภาวะสังคมผู้สูงอายุกันหมด แต่วิกฤตนี้ก็สร้างโอกาสตลอดจนความท้าทายขึ้นมามากมายด้วยเช่นกัน

— Pat Conroy

ประเทศต่างๆ หน่วยงานรัฐ ตลอดจนภาคเอกชนต่างก็เตรียมตัวรับมือกันอย่างดี แน่นอนว่ามันก็ทำให้เกิดโอกาสต่างๆ ขึ้นมากมาย ตั้งแต่ธุรกิจเพื่อผู้สูงอายุ การพัฒนาการแพทย์ที่จะทำให้เราอายุยืนยาวขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มตลาดแรงงานในส่วนผู้สูงอายุที่หลากหลายและขยายตัวด้วยเช่นกัน ทางด้านผู้สูงอายุเองก็ควรเตรียมตัวเองให้พร้อมกับสังคมที่เปลี่ยนแปลง ตลาดงานที่เปิดกว้าง หาโอกาสใหม่ๆ เข้าสู่ตนเอง รวมถึงมีความสุขกับวิถีชีวิตปัจจุบันให้มากที่สุด นั่นอาจทำให้ปัญหาที่เราคิดว่าหนักอกนี้กลายเป็นเรื่องดีที่ไม่มีปัญหาเลยก็ได้เช่นกัน

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง