Search
Close this search box.

แค่เปลี่ยนคำพูด บรรยากาศในที่ทำงานก็จะเปลี่ยน คำพูดของหัวหน้าคำไหนที่ทำให้คนฟังรู้สึกหงุดหงิดได้

แค่เปลี่ยนคำพูด บรรยากาศในที่ทำงานก็จะเปลี่ยน คำพูดของหัวหน้าคำไหนที่ทำให้คนฟังรู้สึกหงุดหงิดได้

ถ้าถูกถามว่า คำพูดติดปากของคุณคือคำไหน? คุณจะตอบว่าอะไร และมีกี่คำอยู่ในใจของคุณ

บางทีเราก็ไม่ได้รู้ตัวว่าคำพูดที่เราพูดออกไปนั้นอาจทำให้คนฟังเกิดความรู้สึกขุ่นเคืองใจโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจได้ และไม่สามารถรู้ได้ว่าคำพูดไหนของเราที่ทำให้คนอื่นต้องรู้สึกไม่ดี เช่นเดียวกันกับในที่ทำงาน ถ้าหากโดนหัวหน้าพูดไม่ดีใส่ โดยที่คุณไม่ได้ทำอะไรผิด คงต้องรู้สึกแย่เป็นธรรมดา

ดังนั้น HREX จึงได้รวบรวมคำพูดของหัวหน้าที่อาจทำให้คนฟังรู้สึกหงุดหงิด มานำเสนอทุกคน

หมายเหตุ ความหงุดหงิดจากการฟังขึ้นอยู่กับแต่ละคน ตัวอย่างยกมาจากการสนทนาของหัวหน้าและพนักงานชาวญี่ปุ่น

คำพูดของหัวหน้าที่ทำให้คนฟังไม่พอใจ 5 ประเภท

เราสามารถแบ่งคำพูดของหัวหน้าที่ทำให้คนฟังรู้สึกหงุดหงิดใจได้ 5 ประเภท ดังนี้

shutterstock_734314045

หัวหน้าที่ชอบใช้คำพูดเหน็บแนม เสียดสี

shutterstock_311046254

“ปกติต้องทำอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ?”

ลูกน้อง : เอกสารชุดนี้ให้ก๊อปปี้ไว้ไหมครับ
หัวหน้า : อืม ปกติต้องทำอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ?

ภายในใจของลูกน้อง : แล้วคำว่า ปกติของหัวหน้า นี่คือยังไงล่ะครับ!!!

ถึงแม้ว่าคนพูดอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่สำหรับคนฟังแล้ว คงรู้สึกเหมือนถูกเหน็บแนมอยู่นิดๆ ล่ะครับ

ลูกน้อง : ถ่ายเอกสารชุดนี้เพิ่มไว้อีกชุดไหมครับ
หัวหน้า : อืม ฝากด้วยนะ

ถ้าลองเปลี่ยนคำพูดเป็น ฝากด้วยนะ หรือ วานหน่อยนะ จะทำให้ดูซอฟท์ลงมากกว่าและไม่รู้สึกว่ากำลังถูกเหน็บอยู่ได้ครับ

“รู้ดีหนิ”

ลูกน้อง : คำนี้ ใช้บ่อยใน Marketing สินะครับ
หัวหน้า : อืม รู้ดีหนิ

คำพูดลักษณะนี้ คนฟังจะรู้สึกเหมือนโดนดูถูกได้ แม้จะไม่มีน้ำเสียงเข้ามาเกี่ยว ลองเปลี่ยนคำพูดเป็น “ใช่เลย” หรือคำอื่นๆ ที่ไม่แฝงความรู้สึกดู ถูกเหน็บแนมไว้จะดีกว่าครับ

“อุ๊ย!”

ลูกน้อง : วันนี้มีประชุมตอน 10:00 น. นะครับ
หัวหน้า : อุ๊ย~ จริงด้วย
ลูกน้อง : เอกสารที่ขอให้หัวหน้าเซ็นเมื่อวาน ได้รึยังครับ
หัวหน้า : อุ๊ย~ รอแปบนึงน้า

คำพูดนี้คุณอาจใช้เป็นคำแก้ตัวเมื่อลืมทำอะไรไปบางอย่าง แต่บางครั้งก็ทำให้คนฟังรู้สึกหงุดหงิดใจได้ไม่น้อย เพราะฉะนั้นหัวหน้าควรใช้เลือกคำพูดที่ฟังแล้วไม่คลุมเครือ ตอบให้ชัดเจนจะดีกว่าครับ

“ก็ทำได้หนิ”

ลูกน้อง : งานที่หัวหน้าสั่งมาผมทำเสร็จแล้วครับ
หัวหน้า : อืม ก็ทำได้หนิ

ในสถานการณ์แบบนี้ แทนที่จะพูดคำที่ให้ความรู้สึกไปในทางลบ คำพูดเหน็บแนม ควรพูดขอบคุณหรือขอบใจมากกว่าครับ สำหรับคนฟังเองพอได้ยินคำขอบคุณ ก็ทำให้มีแรงใจในการทำงานมากขึ้นด้วย

“คนส่วนใหญ่เขาก็ทำกันนะ”

ลูกน้อง : ทำอย่างนี้ก็ได้ใช่ไหมครับ
หัวหน้า : คนส่วนใหญ่เขาก็ทำแบบนี้กันนะ

คนที่ได้ฟังคำพูดแบบนี้ ต้องมีคิดกันบ้างล่ะว่า คนส่วนใหญ่ที่พูดถึงนี่คือใคร มาจากไหน เกี่ยวอะไรกับการสนทนาครั้งนี้

นอกจากนี้เป็นธรรมดาที่คนเราจะรู้สึกไม่ชอบใจ เมื่อโดนเอาไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ดังนั้นการเลี่ยงคำพูดในเชิงเปรียบเทียบจึงเป็นอีกเรื่องที่สามารถรักษาน้ำใจของคนฟังได้ครับ

“อย่างนั้นหรอครับ”

หัวหน้า : อ๋อ~ อย่างนั้นเองหรอครับ

จริงอยู่ ที่การพูดสุภาพเป็นเรื่องที่ควรพึงกระทำกัน แต่ในอีกแง่หนึ่ง การที่คนเป็นหัวหน้าใช้การพูดสุภาพกับลูกน้องโดยที่ไม่ใช่นิสัยของหัวหน้าคนนั้นอยู่แล้ว คนฟังอาจตีความหมายคำพูดนั้นไปในเชิงเหน็บแนมได้

ถ้าคุณไม่ใช่คนที่พูดสุภาพเป็นนิสัยอยู่แล้ว ให้พูดตามสไตล์ปกติของคุณเองจะดีที่สุดครับ

“ว่างไหม?”

ลูกน้อง : (กำลังพิมพ์งานอยู่)
หัวหน้า : ยามาดะคุง ว่างไหม?
ลูกน้อง : …ครับ ว่างครับ

เมื่อโดนหัวหน้าถามว่า ว่างไหม จะมีพนักงานสักกี่คนที่กล้าตอบว่า ไม่ว่าง หลายๆ คนก็คงมีแอบคิดบ่นในใจด้วยซ้ำไป แต่ในเมื่อเราอยู่ในตำแหน่งผู้ใต้บังคับบัญชา ถึงแม้ในใจจะค้านหัวชนฝาแค่ไหน เราก็ต้องตอบว่าว่างไว้ก่อน

หัวหน้าที่ชอบใช้คำพูดเชิงบังคับ

shutterstock_17220628

“เข้าใจไหม?”

หัวหน้า : ตรงนี้มันไม่ได้ทำแบบนี้นะ เข้าใจไหม?

คำพูดแบบนี้จะทำให้คนฟังรู้สึกเหมือนโดนบังคับให้ตอบว่า เข้าใจ เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถตอบปฏิเสธว่าไม่รู้ หรือไม่เข้าใจได้

ซึ่งหากคนฟังไม่เข้าใจจริงๆ ก็ไม่กล้าที่จะถามต่อไป เพราะกลัวว่าถ้าตอบว่า ไม่เข้าใจ จะทำให้หัวหน้าไม่ไว้ใจให้เขาทำงานต่อได้

“จะหยุดเหรอ?”

ลูกน้อง : อาทิตย์หน้าขอหยุดวันจันทร์นะครับ
หัวหน้า : เอ๊ะ จะหยุดหรอ?
ลูกน้อง : ใช่ครับ…

“จะหยุดหรอ” “จะกลับบ้านแล้วหรอ” ใครเคยโดนหัวหน้าพูดแบบนี้ใส่บ้างครับ?

หัวหน้าที่พูดออกไปอาจจะพูดด้วยอารมณ์ขัน ไม่ได้จริงจังอะไร แต่สามารถสร้างความรำคาญให้คนฟังได้ไม่น้อยครับ

“ก็บอกไปแล้วไม่ใช่หรอ?”

ลูกน้อง : นี่คืองานที่ต้องทำวันนี้ใช่ไหมครับ?
หัวหน้า : ก็บอกไปแล้วไม่ใช่หรอ?

ลองสมมติ เหตุการณ์ต่อจากนี้นะครับ

หัวหน้า : ก็บอกไปแล้วไม่ใช่หรอ?

ลูกน้อง : ผมลืมไปแล้วครับ

พนักงานคนนั้น คงได้โดนหัวหน้าเขม่นแน่นอน ยิ่งกับคนญี่ปุ่นที่เคร่งครัดในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าและลูกน้องแล้วด้วย อาจไม่จบแค่โดนเขม่นเฉยๆ ครับ

“ก็เคยบอกแล้วไง”

ลูกน้อง : สินค้าตัวนี้สั่งมา 100 ใช่ไหมครับ?
หัวหน้า : ก็เคยบอกแล้วไง ว่าให้สั่งมา 100 เสมอ

คำพูดนี้จะทำให้คนฟังรู้สึกเหมือนตัวเองได้พูดอะไรผิด หรือทำอะไรผิดไป สำหรับลูกน้องอาจแค่ต้องการยืนยันข้อมูลให้แน่นอน เพื่อให้งานถูกต้องไม่มีความผิดพลาด

ในการทำงานของคนญี่ปุ่น หัวหน้าที่พูดแบบนี้จะทำให้การทำงานแบบ HOURENSO เป็นไปด้วยความยากลำบาก

“ทำอะไรอยู่เหรอ?”

ลูกน้อง : งานที่สั่งไว้ยังไม่เสร็จครับ
หัวหน้า : เอ๊ะ แล้วมัวแต่ทำอะไรอยู่เหรอ?

หากคุณต้องการเป็นหัวหน้าที่ดีให้กับลูกน้องแล้วละก็ นี่อาจเป็นหนึ่งในคำพูดที่ไม่มีความจำเป็นต้องพูดเลยอย่างยิ่ง เพราะคำพูดนี้อาจทำให้คนฟังรู้สึกแย่ และสูญเสียแรงจูงใจในการทำงานไปได้ครับ

ก่อนที่จะต่อว่าหรือใช้อารมณ์ ควรเข้าใจสภาพการณ์ของพนักงาน ลูกน้องของคุณก่อน แล้วค่อยถามหาเหตุผลว่า เพราะอะไรงานของเขาถึงยังไม่เสร็จ เจอปัญหาตรงไหน แล้วดูว่าเราสามารถให้คำแนะนำอะไรได้รึเปล่า

หัวหน้าที่มีคำพูดติดปาก

shutterstock_465505850

“แปลกนะ”

หัวหน้า : แปลกนะ ผมเป็นคนเข้ากับคนแปลกหน้าได้ยากมากเลย
หัวหน้า : แปลกนะ ทำไมมันถึงไม่ราบรื่นเลยล่ะ

อาจเป็นคำพูดที่ไม่ได้แฝงความรู้สึกเหน็บแนม หรือบังคับอะไร แต่ก็สร้างความหงุดหงิดใจให้กับคนฟังได้ไม่น้อย หากพูดนำหน้าทุกๆ ประโยคในการสนทนา

“ขอโทษนะ”

หัวหน้า : ขอโทษนะ ช่วยทำงานนี้ให้เรียบร้อยด้วยล่ะ
หัวหน้า : ขอโทษนะ ทำงานชิ้นนั้นด้วยได้ไหม?

ในการทำงานของคนญี่ปุ่น เวลาจะสั่งงานหรือไหว้วานอะไร คนที่เป็นหัวหน้ามักจะชอบพูด ขอโทษ (ที่รบกวน) กันจนเป็นคำติดปาก ซึ่งฟังดูเหมือนคนพูดจะเป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตน

แต่ในความเห็นของคนญี่ปุ่นหลายๆ คนก็รู้สึกว่า การพูดขอโทษบ่อยๆ ไม่ได้ทำให้รู้สึกถึงความอ่อนน้อมขนาดนั้น กลับกันยังทำให้คนฟังรู้สึกรำคาญ ได้แต่ตั้งคำถามว่า ถ้าจะขอโทษขนาดนี้ ทำไมไม่ทำงานชิ้นนั้นด้วยตัวเองนะ

“สรุปแล้ว”

หัวหน้า : สรุปแล้วก็คือความตั้งใจยังไม่มากพอไง
หัวหน้า : สรุปแล้วก็จะลาออกใช่ไหมล่ะ

คงมีหัวหน้าหลายๆ คนที่ชอบฟังข้อสรุปจากลูกน้องจนคำๆ นี้กลายเป็นคำพูดติดปาก แต่บางครั้งคำนี้ก็สามารถสร้างความรำคาญและ ความรู้สึกถูกเหน็บแนม ให้กับคนฟังได้

หัวหน้าที่ชอบถามกลับ

shutterstock_333225284

“เอ๊ะ…หรอ?”

ลูกน้อง : ยืนยันเอกสารนี้ให้หน่อยครับ
หัวหน้า : เอ๊ะ ผมต้องเป็นคนยืนยันให้หรอ?
ลูกน้อง : ผมเอาเอกสารไปให้ท่านประธานแล้วครับ
หัวหน้า : เอ๊ะ เอกสารนั้นต้องส่งให้ท่านประธานด้วยหรอ?

เมื่อเจอคำพูดแบบนี้ของหัวหน้าบ่อยๆ เข้า ลูกน้องจะรู้สึกกังวลใจ ว่าตัวเองได้ทำงานอะไรผิดพลาดไปรึเปล่า และอาจกลายเป็นคนสูญเสียความมั่นใจไปได้เลย

“แล้ว?”

ลูกน้อง : เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวโตเกียวดิสนีย์แลนด์มากขึ้น เราเลยคิดจะนำมิกกี้ เมาส์ที่พูดด้วยภาษาอังกฤษเข้ามาครับ เรื่องรายละเอียดยังไม่ได้กำหนดไว้แน่ชัด และคำนวนค่าใช้จ่ายไว้ที่ 10 ล้านเยน ต่อเดือนครับ
หัวหน้า : แล้ว?

ในขณะที่ลูกน้องรายงานผลของการทำงานอย่างขะมักเขม้น หัวหน้ากลับตอบกลับมาแค่คำสั้นๆ คำเดียวแบบนี้ ต่อให้คนพูดไม่ได้มีเจตนาไม่ดี แต่คนฟังก็คงรู้สึกติดลบไปแล้ว

“แล้วยังไงต่อ?”

ลูกน้อง : เอกสารขอเบิกค่า business trip ของคุณยามาดะ มีจุดที่ผิดปกติอยู่ครับ
หัวหน้า : แล้วยังไงต่อ?

ที่พูดแบบนี้ออกมา คงเพราะหัวหน้าอยากฟังข้อสรุปของเรื่องทั้งหมด แต่การตอบกลับด้วยคำพูดอย่าง แล้วยังไงต่อ หรอ แล้วไงล่ะ ฯลฯ อาจทำให้คนฟังรู้สึกว่าคุณไม่ได้ใส่ใจในสิ่งที่เขาพูดสักเท่าไร

หัวหน้าที่ชอบใช้คำพูดแสดงถึงความไร้น้ำใจ เย็นชา

shutterstock_352726643

“คิดเองสิ”

ลูกน้อง : คุณทานากะครับ สถานที่สำหรับการประชุมในวันพรุ่งนี้จัดที่ไหนดีครับ
หัวหน้า : อืม…นายคิดด้วยตัวเองได้ไหม

หัวหน้าหลายๆ คนก็ใช้วิธีการให้พนักงานเรียนรู้งานด้วยตัวเอง เพื่อให้พนักงานได้พัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ แต่หัวหน้าบางคนรู้สึกว่าการสอนงานเป็นอะไรที่ยุ่งยาก เพื่อตัดความรำคาญ จึงเลือกที่จะใช้คำพูดแบบนี้ออกไป ทำร้ายจิตใจคนฟังโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้การทำงานด้วยกันต่อจากนี้ไม่ราบรื่น

“ตอนนี้กำลังยุ่งอยู่”

ลูกน้อง : หัวหน้าครับ ขอเวลาสักครู่ได้ไหม
หัวหน้า : โทษที ตอนนี้กำลังยุ่งอยู่

พอลูกน้องถามอะไร ก็เอาแต่ตอบไม่ว่าง คนที่เป็นหัวหน้าในลักษณะนี้จะทำให้ลูกน้องไม่อยากที่จะถามอะไรอีก เพราะรู้ว่ายังไงหัวหน้าก็ตอบว่ายุ่งกลับมา และท้ายที่สุดการพูดคุยกันระหว่างหัวหน้าและลูกน้องก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ

ซึ่งบริษัทไหนที่การสื่อสารระหว่างหัวหน้าและลูกน้องน้อยเกินไป ไม่ใช่บริษัทที่ดี เพราะการพูดคุยกันสำหรับพนักงานถือเป็นการเรียนรู้วิธีการทำงานอีกแบบหนึ่ง

“อือ/เออ”

ลูกน้อง : นัดบริษัท A ได้แล้วครับ
หัวหน้า : อืม
การตอบรับแค่ อืม คำเดียวอาจไม่เป็นอะไร แต่ให้ความรู้สึกเย็นชา แก่คนฟังได้ไม่น้อยเลย ลองแทนที่ด้วย เก่งมาก หรือ ทำได้ดีมาก จะดีกว่าครับ
ลูกน้อง : ไปทานข้าวนะครับ
หัวหน้า : อือ
ลูกน้อง : เอกสารที่ขอไว้เสร็จแล้วครับ
หัวหน้า : อืม
ลูกน้อง : ช่วยตรวจสอบเอกสารชุดนี้ด้วยครับ
หัวหน้า : เออ

จริงแล้วหัวหน้าอาจไม่ได้มีเจตนาให้คนฟังรู้สึกว่าคำตอบที่เขาให้ไปฟังดูห้วนๆ หรือเย็นชา แต่อาจเพราะเลือกใช่คำผิด จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คนฟังจะรู้สึกเช่นนั้น หากลองเปลี่ยนเป็นคำพูดแบบนี้

ลูกน้อง : ไปทานข้าวนะครับ
หัวหน้า : อือ ไปทานเลย
ลูกน้อง : เอกสารที่ขอไว้เสร็จแล้วครับ
หัวหน้า : อืม ขอบใจมาก
ลูกน้อง : ช่วยตรวจสอบเอกสารชุดนี้ด้วยครับ
หัวหน้า : โอเค ได้

นอกจากจะไม่เย็นชาเกินไปแล้ว ยังเป็นการสร้างความประทับใจให้คนฟังได้อีกด้วยครับ

“คุณ, เธอ”

หัวหน้า : คุณคิดว่ายังไง?
หัวหน้า : แล้วเธอล่ะ?

การใช้ คุณ เธอ เรียกอีกฝ่ายนั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่แย่เสมอไปครับ เพียงแต่อาจทำให้เกิดความรู้สึกห่างเหินหรือ แฝงความรู้สึกในทางลบเอาไว้ได้ เช่น ทำให้คนฟังรู้สึกเหมือนโดนดูถูกอยู่ เป็นต้น

สรุป

เป็นยังไงกันบ้างครับ กับเนื้อหาที่เราได้นำมาเสนอในครั้งนี้

ในโลกมีคนอยู่มากมาย หลากหลายบุคลิก แน่นอนว่าเราไม่สามารถไปบังคับให้เขาทำตามในสิ่งที่เราต้องการได้ทั้งหมด การพูดก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าใครก็คงไม่อยากฟังคำพูดไม่ดี บั่นทอนจิตใจ ใช่ไหมครับ

และแม้ว่าบางครั้งเราจะระมัดระมัดระวังคำพูดมากแค่ไหน ก็อาจจะพลั้งปาก พูดทำร้ายจิตใจคนอื่นไปได้ ดังนั้นการคิดถึงใจเขาใจเรา คิดก่อนพูด ไม่ใช้อารมณ์มาตัดสินใจ จึงเป็นอีกสิ่งที่ทุกคนควรมีไว้ เพื่อให้การทำงานเป็นไปได้ด้วยดี และทุกฝ่ายสบายใจครับ

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง