‘การทำงานของ HR ไทยต่อจากนี้’ ผ่านความเห็นของคุณ บวรนันท์ ทองกัลยา นายกสมาคม PMAT

‘การทำงานของ HR ไทยต่อจากนี้’ ผ่านความเห็นของคุณ บวรนันท์ ทองกัลยา นายกสมาคม PMAT

ดร. บวรนันท์ ทองกัลยา นายกสมาคมแห่งสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทยหรือ PMAT (Personnel Management Association of Thailand)

PMAT เป็นองค์กรที่อยู่กับเมืองไทยมานานกว่า 53 ปี มีสมาชิกมากกว่า 2000 องค์กร และเป็นผู้จัดงาน HR Conference ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอย่าง HR Forum และอีเวนท์ใหญ่อย่าง HR DAY

ซึ่งการพูดคุยกับดร. บวรนันท์ในครั้งนี้ ทำให้เราได้รู้ถึงสถานการณ์ของ HR และธุรกิจไทยในปัจจุบัน รวมไปถึงมุมมองของต่างชาติต่อ HR ในไทยเป็นอย่างไร นอกจากนี้ HR ของไทยกำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด และบุคลากรแบบไหนกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดบ้าง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ให้กับผู้ที่กำลังสนใจในงาน HR ได้ไม่มากก็น้อย

ดร. บวรนันท์ ทองกัลยา | นายกสมาคมแห่งสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย หรือ

PMAT (Personnel Management Association of Thailand)

‘การเติบโตของ HR คือ การเติบโตขององค์กร’ PMAT สมาคมที่ช่วยพัฒนาและผลักดันวิชาชีพ HR ในประเทศไทย

สั่งสมประสบการณ์ทำงาน HR มา 30 ปี และขึ้นเป็นนายกของ PMAT

ผมทำงานอยู่ในสายงาน HR มานานกว่า 30 ปีแล้วครับ

ทำอยู่ใน SCG Group (บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด) เกือบ 20 ปี และมาเป็น HR consult ประมาณ 5 ปี สำหรับ PMAT ผมเป็นกรรมการมา 6 ปี และขึ้นมาเป็นนายกของสมาคมครับ

แรงจูงใจในการทำ PMAT ก็คือ ผมมีความเชื่อว่างาน HR เป็นงานที่สำคัญในองค์กร เชื่อว่า คน สามารถเปลี่ยนผลการปฏิบัติงานขององค์กรได้ การมาทำ PMAT ก็เหมือนกับว่า เราจะทำยังไงให้งาน HR เป็นงานที่มีความสำคัญต่อองค์กร ช่วยให้องค์กรมีขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น

ผมมีความเชื่อลึกๆว่า การทำงานกับคน คือการทำความดี จะมีอาชีพอะไรบ้างที่เป้าหมายในการทำงานคือทำให้คนมีความสุข ทำให้คนรักองค์กร ทำให้คนเก่งขึ้น

HR เป็นงานของความดีงาม เหมือนกับเราได้มีโอกาสทำประโยชน์ให้ผู้อื่น คล้ายกับคำสอนของพระพุทธศาสนานิกายเซนที่มีเป้าหมายหลัก คือ การทำเพื่อผู้อื่น

PMAT องค์กรที่อยู่มานาน 50 กว่าปี องค์กรที่มีสมาชิกผู้ให้ความสำคัญกับบุคคล

PMAT เป็นองค์กรที่เก่าแก่ของเมืองไทย ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2507 ปีนี้ก็เข้าปีที่ 53 แล้ว สามารถพูดได้ว่าเป็นองค์กรที่เก่าแก่องค์กรหนึ่งของเมืองไทยเลย

ภารกิจสำคัญของ PMAT คือเราจะเป็นศูนย์กลาง ในเรื่องของการพัฒนาความรู้ด้าน Human Resource ของประเทศไทย ยกระดับการบริหารสมาคมให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้เรายังเป็นหน่วยงานที่ทำวิจัยและพัฒนาเรื่องขององค์ความรู้ในหน่วยงาน HR ที่ช่วยยกระดับขีดความสามารถของธุรกิจในประเทศไทยให้มีความสามารถแข่งขันในระดับโลก และเรายังเป็นตัวแทนของภาคธุรกิจด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในการประสานงานติดต่อกับหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิก หรือผู้ที่อยู่ในวิชาชีพ HR อีกด้วย

ในแต่ละปี PMAT ยังทำโปรเจคตั้งแต่งานบริการวิชาการ พัฒนาฝึกอบรมด้านพัฒนาองค์กรและบริหารทรัพยากรมนุษย์ รวมไปถึงจัดงาน Conference อย่าง HR Forum ที่จัดช่วงกลางปี และ HR DAY ที่จัดปลายปี ซึ่งในแต่ละปีจะมีคนเข้าร่วมงานหลายพันคนสำหรับงาน HR Forum และถึงหมื่นคน สำหรับงาน HR DAY ครับ

เราเองเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Nonprofit Organization หรือ NPO) เป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ตั้งมาเพื่อสนับสนุนสมาชิก เพราะฉะนั้นคนที่มาทำงานตรงนี้ จึงเสียสละเวลาส่วนตัวมาทำ เป็นงานที่อุทิศตัวเพื่อสังคมก็ว่าได้ครับ

แรงจูงใจในการทำงานของสมาชิกคือ พวกเราให้ความสำคัญกับบุคลากรในองค์กร ทุกคนมีความเชื่อว่าองค์กรไม่มีชีวิต สิ่งที่ทำให้องค์กรมีชีวิตคือมนุษย์ ถ้ามนุษย์มีความสามารถสูง องค์กรก็มีความสามารถสูงด้วย

‘กระบวนทัศน์แบบใหม่’ เส้นแบ่งระหว่างยุคเก่าและยุคใหม่

การทำงานของ HR เปลี่ยนไปมากในเวลาไม่กี่ปี

สามสิบปีที่ทำงานอยู่ในสาย HR รู้สึกได้เลยว่าการทำงานในช่วง 2 – 3 ปีหลัง เปลี่ยนไปอย่างมาก เพราะว่าเราอยู่ในบริบทใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของ Digital Technology งานของ HR กรอบความคิด กระบวนทัศน์ ( Paradigm) แบบเดิมๆ ถูกท้าทายด้วยกรอบความคิด กระบวนทัศน์แบบใหม่

กระบวนทัศน์ (Paradigm) คือ กรอบความคิด แนวทางทั่วไปที่ใช้ในการมองโลก, ระบบคิด วิธีคิด แบบของการคิดที่ใช้เป็นแนว ในการศึกษาวิจัยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

เปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ เพื่อทำให้งานคล่องตัวมากขึ้น เมื่อเปลี่ยนได้ ก็สามารถลดหรือตัดกระบวนการที่ไม่จำเป็นออกไปได้ งานของ HR ก็จะเร็วขึ้น

และ Digital Technology หรือ Application ต่างๆ อย่าง AI, Chatbot หรือ Block Chain จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่น ในการจัดการทรัพยากรมนุษย์ (HRM) จะใช้ Digital Technology เข้ามาช่วยตั้งแต่การจ้างงานมีการใช้ AI มาช่วยในการลดอคติ

เอกสารในการจ้างงานต่างๆจะถูกแปลงเป็น Digital File และใช้ Block Chain เข้ามาช่วยตรวจสอบข้อมูล

นอกจากนี้ คนจะเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ๆ ไม่ใช้แค่ E-Learning อย่างเดียว อาจจะใช้ Virtual Reality มาทำให้เห็นของจริงกันด้วย

ผมเชื่อว่าต่อไปในอนาคต Digital Technology จะเข้ามามีบทบาทในงาน HR มากขึ้นเรื่อยๆครับ

เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง องค์กรก็ต้องเปลี่ยนตาม

ผลจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ทำให้ธุรกิจเปลี่ยน งานของ HR ก็ต้องเปลี่ยน การทำงานของคนในองค์กรต้องมีสปีดที่เร็วตามไปด้วย แล้วสปีดของการทำงานที่ดี ไม่ใช่สปีดของคนๆเดียว แต่เป็นสปีดของทีม เลยเป็นที่มาของ เรื่องการจัดโครงสร้างการทำงานแบบ Agile Team ในองค์กร

Agile คือ แนวคิดในการทำงานที่เน้น การทำงานเป็นทีม ผิดพลาดแล้วสามารถแก้ไขได้รวดเร็ว พัฒนาไปทีละนิด แเละลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น

สิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจของไทยในตอนนี้คือ การเพิ่มขีดความสามารถขององค์กร ทำให้องค์กรคล่องตัวขึ้นด้วยการทำให้บุคลากรกลายเป็น Agile People

นอกจากนั้น องค์กรต้องเปลี่ยนโครงสร้าง เปลี่ยนกรอบ Mindset จากที่เป็น ระบบบริหารแบบมีพิธีรีตรอง มี Silo(กรอบความคิดที่ว่าหน่วยงานต่าง ๆ ในองค์กรเดียวกัน ไม่ยอมแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือองค์ความรู้ระหว่างกัน) หรือ มีฟังก์ชันที่ชัดเจน มาเป็น Fact เป็น Agile Mindset หรือ Cross Functional Team อีกที

อีกอย่างหนึ่งคือ การประยุกต์แนวคิดของธุุรกิจ Startup มาใช้ในการบริหารบุคคล ตัวอย่างเช่น การเอาแนวคิดเรื่องของ Sprint (รอบการดำเนินงานในระยะเวลาสั้นๆ) เอาแนวคิดเรื่องของการทำ Objective & Key result หรือ OKR (คือวิธีการตั้งเป้าหมายให้แต่ละคน โดยเป้าหมายของทุกๆคนสอดคล้องกันทั้งองค์กร) มาช่วยบริหารผลงาน หรือ การทำงานเป็นทีมในองค์กร เป็นต้น

ในยุคที่ต้องการ Productivity เพิ่มขึ้น แต่ขาดแคลนกำลังคน

ประเทศไทยเริ่มเหมือนประเทศญี่ปุ่นตรงที่ แรงงานลดน้อยลง เรากำลังอยู่ในช่วงของการขาดแคลนแรงงาน ผมว่าปัญหานี้น่าจะเหมือนๆ กันทุกประเทศนะ เพราะอัตราการเกิดลดน้อยลงเรื่อยๆ

ดังนั้นทุกองค์กร จึงเริ่มหาแนวทางในการเปลี่ยนแปลงองค์กร พัฒนาองค์กร โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้มากขึ้น

ตัวอย่างเช่น การจ้างงาน จากเดิมเรามองว่าต้องมีพนักงานประจำ แต่ในปัจจุบัน คนทำงานที่เป็นพนักงานประจำน้อยลง ถ้าอย่างนั้น ต่อไปเราจ้างเป็น Talent Outsource จากข้างนอกได้ไหม จ้างฟรีแลนซ์ได้หรือเปล่า

สำหรับการบริหารคนเก่งจากเดิมมองในภาพรวม ต่อไปเป็นเรื่องการบริหารคนเก่งที่ดูเป็นรายคน การประเมินผลงานจากการประเมินแบบ Forced Ranking เปลี่ยนมาเป็นการประเมินตามผลงานของพนักงานแต่ละคนที่มีอยู่ในองค์กรแทน

ในเรื่องการสร้างความผูกพันธ์กับพนักงาน บริษัทเปลี่ยนมามองที่พนักงานเป็นหลัก มุ่งเน้น Employee Experience ประสบการณ์ของพนักงาน หรือ Employee-Centric สร้างประสบการณ์ที่ดีให้พนักงานมากขึ้น

สิ่งสำคัญที่จะทำให้ไทยสามารถแข่งขันกันนานาชาติได้

ผลิตภาพของไทยยังเป็นรองนานาประเทศอยู่

ต้องยอมรับว่าถ้าเปรียบเทียบผลิตภาพของบุคคลในอาเซียน ไทยยังช้ากว่าในหลายๆ ประเทศอยู่

สาเหตุก็มีมาจากหลายๆปัจจัย บางทีก็เป็นเรื่องของสภาพแวดล้อม ของสังคม หรือองค์กร

ซึ่งทางผู้ใหญ่หรือหลายๆฝ่าย ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พวกเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และกำลังหาแนวทางในการเพิ่มผลิตภาพบุคลากรของเราอยู่

โดยที่เรามีสิงคโปร์เป็นต้นแบบ มีมาเลเซีย เวียดนาม ที่เราคอยแลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความสามารถของบุคลากร สิ่งนี้เป็นความท้าทายของไทย ในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ เพื่อยกระดับของบุคลากรให้สูงขึ้นเทียบเท่ากับ Benchmarking Country

และในการจะยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรของไทยให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้นั้น เราจะต้องออกมากจาก Comfort Zone คนในองค์กรต้อง Create Sense of Urgency รู้สึกเร่งด่วนและสปีดตัวเอง ผมว่านี่คืองานสำคัญของ HR ครับ

องค์กรขนาดใหญ่ อย่ายึดติดกับแนวทางเดิมๆจนเกินไป

ยุคนี้ไม่ใช่ยุคของปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็นปลาเร็วกินปลาช้า เพราะมันเป็นเรื่องของ Competitive Advantage (ความสามารถในการแข่งขัน) ธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปเร็ว องค์กร บริษัทต่างๆจึงต้องปรับตัวตามให้ทัน

สำหรับองค์กรใหญ่ๆ อาจจะยากที่จะใช้วิธีใหม่ๆ หรือปรับโครงสร้างขององค์กร แต่ถ้าหากทำได้ จะทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันต่อไปได้

แต่สิ่งที่น่ากังวลสำหรับองค์กรใหญ่ๆ ก็คือ ความหยิ่งยโสและลำพองใจที่เขามีอยู่ เพราะถ้าเขายังมีความดื้อ ความหยิ่ง ไม่อยากจะเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ยังใช้วิธีเดิมๆอยู่ ก็ยากที่จะพัฒนาองค์กรให้ไปตามยุคสมัย ให้ธุรกิจไปรอดได้

สิ่งจำเป็นสำหรับคนไทยในการแข่งขันกับสากล

วิธีในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานคือ การสร้าง Learning Mindset สร้างวินัย ความรับผิดชอบในการเรียนรู้

โดยส่วนตัวเชื่อในแนวคิดวินัย 5 ประการ (Fifth Discipline) ในการเรียนรู้ของ Peter Senge ได้แก่

1. Personal Mastery ความเชี่ยวชาญส่วนบุคคล พัฒนาตัวเองให้เป็นผู้เชี่ยวชาญให้ได้
2. Mental Models เปลี่ยนกรอบความคิด เชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองเปลี่ยนกรอบความคิด
3. Shared Vision มีเป้าหมายที่ชัดเจน
4. Team Learning เรียนรู้เป็นทีม ไม่ใช่เรียนรู้คนเดียว
5. Systematic Thinking วิธีคิดอย่างมีระบบ

ผมเชื่อว่า วินัย 5 ตัวนี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเรียนรู้ของคนได้

จะทำให้พวกเขากล้าคิดริเริ่มอะไรใหม่ๆ มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง Growth Mindset รู้จักเปิดกว้าง เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ในปัจจุบันและในอนาคตได้

เมื่อสองปีที่แล้ว PMAT ได้เชิญคุณ Peter Senge มาเมืองไทย เพื่อมาถ่ายทอดแนวคิดเรื่องนี้ ให้กับคนที่ทำงานสาย HR ด้วยครับ

ถึงเวลาที่จะออกจาก Comfort Zone 

ในอนาคต องค์กรในประเทศไทยต้องการคนที่คิดริเริ่มสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ได้ มีความรับผิดชอบและสามารถทำงานหน้างาน ลงมือปฏิบัติงานได้จริง

แต่ต้องยอมรับว่าในสถานการณ์ปัจจุบันคนส่วนมากยังไม่กล้าที่จะคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ การศึกษาของไทยที่เป็นการศึกษาแบบท่องจำ ทำให้คนไทยไม่กล้าคิดที่จะทำสิ่งใหม่ๆ มากนัก

และเราก็ตระหนักถึงปัญหาตรงนี้เลยพยายามจะยกระดับ ปฏิรูประบบการศึกษา ทำยังไงให้เยาวชนหรือคนไทยเปลี่ยนจากการศึกษาแบบท่องจำ เป็น การศึกษาแบบเน้นการคิดสร้างสรรค์มากขึ้น

รวมไปถึงปลูกฝังเรื่องความรับผิดชอบและการทำงานเป็นทีม จริงๆแล้ว คนไทยเป็นคนที่มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่องานที่ได้รับมอบหมายมากนะครับ แต่ว่าความรับผิดชอบต่อทีม หรือความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญต่อไป

สิ่งที่ทำให้องค์กรมีชีวิตคือคน

ในอนาคตสิ่งที่คนทำงาน HR ควรคำนึงถึงคือ HR ต้องพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ในการพัฒนาทักษะในงาน HR ของตัวเอง รวมถึงพัฒนาทักษะของพนักงานในองค์กร ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

การมองพนักงานเป็นศูนย์กลาง การให้ความสำคัญกับพนักงานจะส่งผลให้กับองค์กรมีขีดความสามารถสูงขึ้น การพัฒนาคนก็คือการพัฒนาองค์กร

ทำให้คนสามารถทำงาน สนองต่อเป้าหมายขององค์กร ทำให้คนทุ่มศักยภาพในการทำงานอย่างเต็มที่เพื่อความสำเร็จขององค์กร

ต่อให้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงขนาดไหนก็ตาม แต่สุดท้ายวิธีคิดของคนก็คือ เรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรในขณะนี้

เพราะว่าองค์กรไม่มีชีวิต สิ่งที่ทำให้องค์กรมีชีวิตคือคนครับ

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง