ถ้าพนักงานทำงานอย่างมีความสุข ย่อมมีโอกาสที่องค์กรจะพัฒนาไปได้ไกลถึงเป้าหมาย อย่างไรก็ตามหากองค์กรไม่เปิดโอกาสให้พนักงานได้ฉายแสงความเก่งออกมา เป็นไปได้สูงว่าความคิดสร้างสรรค์ หรือนวัตกรรมต่าง ๆ จะไม่สามารถเกิดขึ้นเพื่อยกระดับองค์กรได้เลย
แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล เพราะการผลักดันของคุณ สุภาพร บัญชาจารุรัตน์ ผู้อำนวยการสายทรัพยากรบุคคล ผ่านวิธีการต่าง ๆ ทำให้มั่นใจได้ว่าโรงพยาบาลแห่งนี้คือองค์กรที่ทุกคนอยากร่วมงานด้วย และอยากเก่งขึ้นไปพร้อมกัน
เมื่อปีที่แล้ว HREX เคยสัมภาษณ์คุณสุภาพรมาแล้วหลังจากโรงพยาบาลได้รับรางวัลเดียวกัน และปรากฏว่าเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ยังคงได้รับรางวัล Best Companies To Work For in Asia อีกครั้งในปี 2023
HREX จึงขอถือโอกาสนี้กลับมาพูดคุยกับคุณสุภาพรอีกครั้ง เพื่อแบ่งปันเคล็ดลับความสำเร็จ และส่งต่อองค์ความรู้ดี ๆ ที่เกิดจากการปฏิบัติจริงไปถึง HR ในองค์กรอื่น ๆ ด้วย
เราสามารถเรียนรู้เคล็ดลับความสำเร็จของเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ในเรื่องการบริหารจัดการคนได้อย่างไรอีกบ้าง สามารถอ่านได้จากในบทความนี้เลย
เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ได้รับรางวัล Best Companies To Work For in Asia อีกครั้งบ่งบอกอะไรบ้าง รางวัลนี้มีความหมายอย่างไร
สุภาพร: โรงพยาบาลได้รางวัลนี้จากการมีส่วนร่วมของทุกคนในองค์กร ที่ร่วมมือ แบ่งปัน และช่วยเหลือกัน HR แค่เป็นคนที่คอยสนับสนุนเท่านั้นค่ะ รางวัลนี้ยังเป็นการประเมินตัวเราเองด้วยว่ามีอะไรที่เราทำดีอยู่แล้ว และควรต่อยอดบ้าง และยังมีอะไรที่ขาดไป แล้วต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นบ้าง
รางวัลนี้ยังบอกเราอีกด้วยว่า ‘คนภายนอกมองเราอย่างไร’ เราจะพูดเสมอว่า ‘เรามองว่าตัวเราเองทำดี แต่เวลาคนข้างนอกมองเข้ามา เขาจะเห็นว่ายังมีอีกหลายอย่างที่ทำได้อีกนะ’ ซึ่งเราก็ต้องทำต่อไปค่ะ
มีเรื่องอะไรที่คุณคิดว่ายังสามารถปรับปรุงเพิ่มเติมได้ เพื่อให้ดียิ่งขึ้นในปีต่อ ๆ ไปอีกบ้าง
สุภาพร: ปีที่แล้วเราคิดโครงการใหม่หลายโครงการ เพราะมาเริ่มคิดว่าเราต้อง Sharing ในปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากการบริหารคน ก็เลยเกิดโปรแกรม People Point Sharing ที่มีวัตถุประสงค์ให้เราได้แบ่งปันความคิดเห็นในสิ่งต่าง ๆ ร่วมกัน
โปรแกรมนี้ เราจะเข้าไปทำในโรงพยาบาลทั้ง 11 แห่งในเครือ ทุกไตรมาสเราจะไปพูดคุยว่าเกิดประเด็นอะไรบ้าง ทั้งเรื่องการ Recruit, HRD, HRM, การเจ็บป่วย สุขภาพพนักงาน ทุกโรงพยาบาลจะเห็นหมดเลยว่าเจนเนอเรชั่นในโรงพยาบาลเป็นอย่างไร มีสัดส่วนพนักงานชาย-หญิงเป็นอย่างไร วัยไหนเสี่ยงเรื่องโรคอะไรมากสุด แล้วเราในฐานะ HR จะเข้าไปดูแลสุขภาพอย่างไรได้บ้าง
เราจัดโปรแกรมนี้เมื่อปีก่อน โดยเริ่มทำจากในฝ่าย HR กันเองก่อน เราบอกกันว่าอย่ากลัวการโดนว่า โดนบ่นจากพนักงานคนอื่น เราต้องเปิดใจ เพราะเมื่อไหร่ที่เราไม่โดนบ่น เราก็จะทำแต่สิ่งที่อยากทำ จนเราอาจหลงลืมสิ่งที่เราควรทำก็เป็นได้ จากนั้นก็ฝึก HR ให้เดินสายพูดคุยกับพนักงาน และบอกผู้บริหารทุกคนว่าคอมเมนต์เราได้เต็มที่ เราต้องการคำแนะนำมาปรับปรุงให้เหมาะสม แล้วเราก็ได้เสียงรับการตอบรับที่ดีมากค่ะ
ข้อสำคัญของ HR ก็คือ “อย่าทำให้คนเก่งแฝงตัว ต้องทำให้คนเก่งปรากฏตัวขึ้น” เพราะการที่คนเก่งกล้าเปิดตัว จะช่วยให้องค์กรก้าวหน้า ดังนั้นเราต้องกลับมาสำรวจว่า เราเปิดโอกาสให้เขาได้เปิดตัวแล้วหรือยัง
โครงการดังกล่าวยังนำมาสู่การก่อตั้งหน่วยงานชื่อ Center of Interactive Learning Academy (CILA) ทำโครงการประกวดนวัตกรรม ให้พนักงานทำนวัตกรรมภายในที่เกิดจากการเรียนรู้ และการทำงานร่วมกัน ทำให้เราได้ค้นพบอะไรหลายอย่างเลย ทำให้ได้พบว่าเด็กที่เงียบ ๆ พอมาอยู่หน้าเวทีเขากลับเปล่งประกายเป็นคนละคนเลย เรายังเดินหน้าแคมเปญ People Branding เพื่อฝึกคนของเราว่า อย่าคิดว่าทำดีที่สุดแล้วจึงหยุด แต่เราต้องทำต่อไปเพื่อให้มันดีขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ
มีการพูดว่า HR จะต้องมีความรู้ทางธุรกิจมากขึ้น เพื่อช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ (ฺBusiness Driver) คุณเห็นด้วยกับประเด็นนี้หรือไม่อย่างไร แล้วต้องเตรียมความพร้อมพนักงานอย่างไรบ้าง
สุภาพร: ต้องทำให้เขาลงมือทําเยอะ ๆ ค่ะ เราจะบอกเสมอว่า อย่ามองปัญหาเป็นอุปสรรค แต่ให้มองปัญหาเป็นความท้าทาย มันจะทําให้เราได้เรียนรู้ตลอดเวลา เราจะบอกทุกคนตลอดว่า พนักงานสําคัญกับเรามากนะ เราต้องขอบคุณเขา เพราะถ้าไม่มีเขา วิชาชีพเราจะไม่มีความหมายเลย
พนักงานมีทั้งคนเก่ง คนดี คนดื้อ มีทุกรูปแบบค่ะ เราอย่ามองความดื้อเป็นความน่าเบื่อ ความดื้อจะทำให้เราได้เรียนรู้วิธีแก้ปัญหา เวลาที่เจอคนดื้อ เจออุปสรรคยาก ๆ ไปด้วยกัน มันทําให้เรารักกันมากนะในท้ายที่สุด อยู่ที่ว่าเราจะอดทนกับมันมากพอรึเปล่า
ดังนั้น เราก็จะบอกน้อง HR ตลอดว่า ให้มีเมตตาก่อน ไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหนก็ตาม จงเมตตาแล้วคุยกับเขาดี ๆ รับฟังเขา เมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา เช่น ปัญหาหัวหน้าลูกน้อง เราอยู่ตรงกลาง เราต้องให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ถูกผิดว่าไปตามถูกผิด มันจะทําให้พนักงานเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจเราว่า เราไม่ใช่คนเอนเอียง แต่เราเป็นคนที่เมื่อก้าวเข้ามาให้ความเป็นธรรมจริง ๆ
ยากไหมกับการที่ HR ต้องบาลานซ์ ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายให้ได้
สุภาพร: มันอาจจะยากสําหรับบางคนนะ มันอาจยากเพราะเรารู้สึกว่า งาน HR เป็นแค่หน้าที่ แต่ถ้าถามเรานะ เราไม่ได้รู้สึกว่า HR เป็นแค่หน้าที่เลย แต่รู้สึกว่าเราได้ดูแลเพื่อนมนุษย์เสมอค่ะ
ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีความรัก ความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ เราจะไม่รู้สึกว่ามันเป็นงาน เราจะไม่รอให้ใครเข้าหา เมื่อถึงจุดนั้นไม่ว่าพนักงานจะมีเรื่องทุกข์หรือสุข เขาจะเล่าให้เราฟังเอง บางคนอยากบอกว่ามีความสุข เราก็ฟังเขา บางคนมีความทุกข์ เราก็สามารถรับฟังได้เช่นกัน แต่ฟังแล้วต้องช่วยเขาแก้ปัญหาด้วย
ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ HR รู้สึกว่าปัญหานี้แก้ยาก งานนี้ทำยาก เราอาจต้องย้อนกลับมาสำรวจตัวเองว่า อาชีพนี้เหมาะกับเราจริง ๆ ไหม เราอยู่กับมันแล้วเครียด เราไม่สามารถดูแลตัวเองได้หรือไม่ ถ้าถึงตอนนั้นเราอย่าทําร้ายตัวเองด้วยการทําสิ่งที่ไม่ชอบเลย
ที่ผ่านมาเจอ HR ในองค์กรที่รู้สึกว่า ‘งานนี้ไม่ใช่ตัวเขาเลย’ บ่อยแค่ไหน
สุภาพร: ไม่บ่อยค่ะ เวลาคัดเลือกพนักงาน เราจะบอกเขาเสมอว่า เราอยู่ด้วยกันแบบไหน อาจมีบ้างที่ลองแล้วแต่เขารู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเขา ก็จะบอกว่าอย่าฝืน ให้หาสิ่งที่ชอบแล้วทําดีกว่า หรือบางทีเขาอยากทํางานด้านอื่นมากกว่าเพราะเรียนจบมาโดยตรง ถ้าในองค์กรมีตำแหน่งว่าง เราก็จะส่งเขาไปสัมภาษณ์ค่ะ
และเราจะบอก Manager กับ Director ทุกคนเสมอว่า ถ้ามีน้องจะลาออก อย่าขัดขวาง แต่ให้ถามว่า ทําไม ถ้าเหตุผลของเขาคืองานไม่เหมาะกับตัวเขา ทำแล้วเครียดก็ต้องปล่อยไป แต่ถ้าเพราะระบบของเราไม่ดี เราก็ต้องปรับปรุง ถ้าวันหนึ่งเขาไปทำงานใหม่แล้วไม่ชอบ อยากกลับมา คุณก็ให้โอกาสเขากลับมา
พูดถึงเรื่องสุขภาพจิต เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ของพนักงานเพียงใด
สุภาพร: เราให้ความสำคัญมากค่ะ ที่ผ่านมาเรามีโครงการเยอะมากค่ะ ทั้งเรื่องงดบุหรี่ ทั้งโครงการ Healthy Hero เป็นต้น เรายังดีไซน์โปรแกรมที่ถูกขายออกไปให้บริษัทข้างนอกใช้ด้วยแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ปตท., ธนาคารแห่งประเทศไทย, ตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ ก็ใช้โปรแกรมของเรา
ที่ผ่านมาเราก็ตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่อง Mental Health ในองค์กรโดยตรง ทีม HR จะวิ่งไปทั้ง 11 โรงพยาบาลเพื่อดูแลพนักงาน ในทีมไม่ได้มีแค่ HR แต่ยังมีพยาบาล นักกิจกรรมบําบัด นักพยาบาลบําบัด นักวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่จะออกไปทํากิจกรรมกับพนักงาน
เราได้ลิขสิทธิ์ของโครงการนี้มาจากโรงพยาบาลโอเรกอน ในสหรัฐอเมริกา และเราเป็นผู้ได้ลิขสิทธิ์เพียงรายเดียวในประเทศไทย ซึ่งช่วยให้เราสามารถประเมินสุขภาพของพนักงานได้ครบถ้วนรอบด้าน ตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน รูปแบบการนอน ความจํา ความพึงพอใจในชีวิต ฯลฯ
เมื่อให้พนักงานประเมินเสร็จแล้ว ในทุกไตรมาสจะสรุปข้อมูลว่า บุคลากรเป็นโรคอะไรเยอะที่สุด เราจะเอาโมดูลที่ได้มาตรวจเช็คกับผลตรวจสุขภาพประจําปี แล้วส่งไปที่โอเรกอน เพื่อประมวลออกมาเป็นรูปเล่มรีพอร์ตสําหรับองค์กร ให้ข้อมูลว่า พนักงานเป็นโรคอะไร อยู่ในช่วงอายุเท่าไหร่ Productivity ตกแค่ไหน ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการแก้ปัญหาจะเป็นอย่างไร เป็นต้นค่ะ
ระหว่างเรื่องสุขภาพกายกับสุขภาพใจ สิ่งไหนที่เราควรให้ความสําคัญมากกว่ากัน
สุภาพร: จริง ๆ ต้องให้ความสําคัญทั้งคู่นะ เพราะถ้าใจไม่พร้อม ร่างกายก็ไปต่อไม่ได้ ที่นี่จึงมีโครงการที่ดูแลและให้คำปรึกษาพนักงานที่รู้สึกเบิร์นเอาท์ หรือมีความเครียดจากการทํางาน
แต่บางครั้ง หากพนักงานมีความเครียดสูง เราก็ต้องมองให้รอบด้าน เช่น พนักงานทํางานผิดพลาดบ่อย เป็นเพราะพนักงานเครียด เป็นเพราะหัวหน้างาน หรือเป็นเพราะสาเหตุอื่นใด เพื่อที่จะได้แก้ได้ถูก การแก้ปัญหาความเครียด เราต้องแก้ทั้งระบบ ไม่ใช่แก้แค่ฝั่งของพนักงาน ถ้าเขาเครียดเพราะหัวหน้า เราก็ต้องคุยกับหัวหน้าว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทําไมคุณสร้างความเครียดให้กับเด็กได้อย่างงี้ แล้วใช้ระบบโค้ชชิ่งเพื่อแก้ปัญหา ส่วนคนที่เบิร์นเอาท์ เราจะใช้วิธีปรับมายด์เซตเรื่องการดูแลตัวเองให้กับเขา
เราต้องเป็นเพื่อนกับเขาให้ได้ ต้องทำให้เขารู้สึกไว้ใจที่ได้คุยกับเรา เราต้องรักษาความลับ ซึ่งสำคัญมากสําหรับ HR
ถ้าสมมติว่ามีพนักงานเดินดุ่มเข้ามาหาคุณ แล้วบอกว่าไม่ไหวแล้ว ผมเบิร์นเอาท์มากเลย จะมีคําแนะนําบอกพนักงานแบบนี้อย่างไร
สุภาพร: ปกติจะไม่มีใครเดินดุ่มเข้ามานะ (หัวเราะ) ส่วนใหญ่จะนัดหมายกันมาแล้วมากกว่าว่าอยากคุย อยากปรึกษาด้วย เพราะบางคนไม่อยากคุยหน้างาน
เรายังฝึก HR ในแต่ละโรงพยาบาลให้สามารถรับเรื่องต่าง ๆ ได้เองในทุกที่ เพราะบางที่อยู่ไกล เราจะไม่ได้คุยกับเขาก่อน เราจะรู้หลังจาก HR ในโรงพยาบาลคุยแล้วว่า เด็กคนนี้อาการไม่ดี พอมาถึงเราก็จะคุยกับเขา จนเขาเกิดความเชื่อใจในตัวเรา ซึ่งสําคัญมากนะ ใจที่เราให้เขา เด็กรับรู้ได้
จริง ๆ เรามีช่องทางติดต่อผ่านทางอีเมลอยู่แล้ว และอีเมลนั้นจะส่งตรงมาถึงเราคนเดียว พนักงานทุกคนสามารถส่งข้อความมาหาได้เลยถ้ารู้สึกว่าทนหัวหน้าไม่ไหวแล้ว แต่ต้องบอกให้หมดทั้งชื่อ นามสกุล แผนก ถ้าไม่บอกก็ไม่ตอบกลับ เพราะหมายความว่าเราไม่ไว้ใจกัน แล้วก็จะให้ HR ในโรงพยาบาลช่วยตรวจสอบดูตามข้อมูลที่ส่งมาว่า แผนกนี้หัวหน้าเป็นอย่างนี้จริงหรือไม่ พฤติกรรมในการทํางานแต่ละวันเป็นอย่างไร
แล้วก็เรียกเข้ามาคุยกันแล้วก็โค้ชเขาว่า เราต้องดูแลลูกน้องให้ดีนะ พ่อแม่เขาฝากเรามา เขาอยู่กับเรามากกว่าพ่อแม่อีกนะ เราไม่ได้สอนแค่ให้เด็กเคารพผู้ใหญ่ แต่บางทีผู้ใหญ่ก็ต้องเคารพสิทธิ์ของเด็กด้วยเหมือนกัน
โรงพยาบาลทำโครงการด้านคนเยอะมาก และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อย่างนี้สื่อสารกับคนในองค์กรอย่างไรให้เข้าใจว่า ทําไมถึงต้องเปลี่ยนอีกแล้ว
สุภาพร: ใช้คําว่าปรับดีกว่า เราต้องปรับเพื่อให้มันดีขึ้น เรามีช่องทางการสื่อสารหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็น Line Chat หรือผ่านโปรแกรมที่เราตั้งชื่อว่า น้องพร้อม (Prompt) ที่แปลว่าทันที เราเรียกเขาว่าน้องพร้อมก่อนน้องจะเกิดอีกนะ เราดีไซน์ตัวการ์ตูนตัวนี้ขึ้นมา เพื่อที่เวลาเราต้องการสื่อสารไปถึงคนทั้งองค์กร น้องพร้อมจะสามารถวิ่งไปหาพนักงานหมื่นคนได้เลยในเวลาเดียวกัน
สิ่งที่สําคัญกว่าการสื่อสารคือเรื่องทิศทาง (Direction) เราต้องบอกให้เขารู้ว่า จุดมุ่งหมายของเราเป็นอย่างไร จะเดินทางไหน เราจะปรับเปลี่ยนแต่ละเรื่องเพราะอะไร ซึ่งต้องมีเหตุผลที่ชัดเจนในการอธิบาย และเราเชื่อว่าองค์กรจะอยู่นิ่งไม่ได้ แต่จะต้องพัฒนาและปรับตัวตลอดเวลา
ไม่ว่าในอนาคตภายหน้าจะเป็นอย่างไรก็ตาม จะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง แต่ระหว่างทางเราต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เราไม่เคยคิดว่า ChatGPT จะใช้ง่ายขนาดนี้ มันก็ง่าย เราก็สอนพนักงานด้วยว่า ใช้ ChatGPT ช่วยได้นะ แล้วคุณจะเขียนโครงการได้ง่ายขึ้น ไวขึ้น
ถ้าเรามีเหตุผลชัดเจนว่า สิ่งที่เราปรับมันดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง เขาก็จะเชื่อมั่นในตัวเราทุกครั้งที่ปรับ และเผลอ ๆ เขาอาจจะปรับเปลี่ยนก่อนเราด้วยซ้ำ แล้วมาบอกเราว่า องค์กรควรจะปรับเปลี่ยนไปเป็นแบบไหน
HR เป็นฝ่ายที่ปรับเปลี่ยนรวดเร็วมาก แล้วผู้บริหารระดับสูงของโรงพยาบาล ปรับเปลี่ยนได้เร็วหรือช้ากว่ามากน้อยเพียงใด
สุภาพร: ผู้บริหารที่นี่ โดยเฉพาะ CEO ปรับเปลี่ยนเร็วมากค่ะ ทุกครั้งที่ประชุมกัน เราจะคิดไว ทำไว คิดปุ๊บ ลงมือปั๊บเลย จริง ๆ แล้วเราไม่ได้กลัวเรื่องความช้า แต่จะกลัวว่ามันจะไวเกินไปจนคนตามไม่ทันมากกว่า
แต่เราจะพูดกับพนักงานเสมอว่า ในบางเรื่อง ความเร็วดีกว่าความรอบคอบ ถ้ามัวแต่รอบคอบ เราก็จะช้า แล้วการเรียนรู้จะไม่เกิดขึ้นเลย เมื่อไหร่ก็ตามที่เราลงมือทํา เราจะได้เรียนรู้ว่ามีความผิดพลาดให้เราได้แก้เพื่อที่จะดีขึ้น ถ้ามัวแต่รอบคอบเราก็จะไม่ได้ลงทําเสียที เราจะไม่รู้ว่าผิดพลาดแล้วจะเกิดอะไร ดังนั้นไม่ต้องรอบคอบ แต่ทำให้เร็ว ไม่ต้องรอจนพร้อม 100% แล้วค่อยลงมือ
แต่ถ้าเป็นเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย กรณีนี้ทุกคนต้องรอบคอบเสมอนะ
คุณมีสิ่งที่ยังไม่เคยบอก แต่อยากจะบอก CEO บ้างไหม
สุภาพร: ปกติเราคุยกันตลอดอยู่แล้วค่ะ ถ้ามีอะไรที่ไม่เห็นด้วย เราก็จะบอกเลยว่าไม่เห็นด้วยนะ ทําแบบนี้ไม่ได้เพราะอะไร เราจะมีเหตุผลในมุมของ HR และคุณอัฐ ทองแตง CEO ก็เคารพความคิดเห็นของเราเสมอ ถ้าเมื่อไหร่ท่านมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องการบริหารคน ท่านก็จะถามความเห็นเสมอค่ะ
อย่างเวลาประชุมด้านการตลาด คุณอัฐจะเชิญ HR เข้าประชุมด้วย เวลาจะทำโครงการใหม่ ๆ ท่านจะขอมุมมองเรื่องการบริหารคน เช่น จะเปิดคลินิกใหม่ ก็จะขอความเห็นว่าค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ควรเป็นเช่นไร ต้องหาคนจากไหน งานแบบนี้ควรต้องใช้พนักงาน Full Time หรือ Part Time ฯลฯ CEO จะบอกทุกคนเสมอว่า ‘เห็นไหม เชิญ HR เข้ามาแล้วได้มุมมองที่ไม่คิดว่ามันจะมีมุมนี้ด้วยซ้ำ’
ถ้า HR ไม่รู้เรื่องธุรกิจ เราก็จะทำงานและปรับตัวเข้าหากันยากค่ะ
HR ยุคใหม่ สามารถสนับสนุนการเติบโตขององค์กรได้อย่างไรบ้าง
สุภาพร: การที่ HR จะสนับสนุนการเติบโตขององค์กรได้ อยู่ที่ว่าตอนเขามาอยู่กับเรา เราให้ความรู้เขาแค่ไหน เราเป็นคนไม่ค่อยเน้นทฤษฎีนะ เพราะรู้ทฤษฎีไม่เท่ากับการลงมือทํา ถ้าเราทำตามทฤษฎีแล้วผิด เราก็จะโทษโมเดล แต่ถ้าวันนี้เราดีไซน์โมเดลขึ้นมาใช้งานเอง ถ้าผิดเราก็ต้องดีไซน์ใหม่ มันจะทําให้เราตื่นตัวในการที่จะต้องออกแบบไปเรื่อย ๆ ทั้งเราและเด็กรุ่นใหม่ต้องลงมือทําแล้วเขาจะเกิด Learning Growth เกิดการเรียนรู้ตลอดเวลาซึ่งสําคัญมาก
เรายังต้องปรับเรื่อง Growth Mindset ด้วย ให้ทุกคนรู้สึกว่าอยากพัฒนาตัวเอง รู้สึกว่าการเรียนรู้เป็นสิ่งสําคัญ องค์กรจะเติบโตไม่ได้เลยถ้าทุกคนรู้สึกว่าทําแค่นี้ก็พอแล้ว แต่จริง ๆ เราต้องทํางานให้ดีขึ้น ๆ ทุกวันค่ะ