หลายคนอาจรู้จักแบรนด์ TOSTEM, INAX, Shin Nikkei, Sunwave, TOEX, GROHE และ American Standard แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าทั้งหมดนี้ผลิตและจัดจำหน่ายโดย LIXIL บริษัทยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และโซลูชันสำหรับที่อยู่อาศัย ซึ่งขยายการดำเนินงานไปทั่วโลกด้วยการมีพนักงานรวม 55,000 คน ใน 150 ประเทศ
ในประเทศไทย ดร.ธภัทร อาจศรี Board Director และ Leader HR Thailand, LIXIL APAC ของ LIXIL (Thailand) เป็นอีกหนึ่งผู้บริหารที่นำพาบริษัทให้เติบโตท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ท้าทาย ด้วยประสบการณ์ในการทำงานในหลายแวดวงธุรกิจ ทำให้เขาได้นำเสนอแนวทางและวิสัยทัศน์ใหม่ ๆ ในการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ สะท้อนได้ผ่านรางวัล Employee Experience Awards ประจำปี 2024
วันนี้เรามีโอกาสพูดคุยกับ ดร.ธภัทร เพื่อค้นหาเทคนิคการบริหารทรัพยากรมนุษย์และเส้นทางชีวิตที่น่าสนใจของเขา รวมถึงแนวทางที่ทำให้ LIXIL ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้
Contents
เล่าให้ฟังหน่อยว่าคุณก้าวเข้ามาในวงการ HR ได้อย่างไร
ดร.ธภัทร: จริง ๆ แล้วผมเริ่มทำงานในอุตสาหกรรมการบริการและโรงแรมประมาณ 5-6 ปีหลังจบใหม่ครับ ดูแลฝ่ายงานต้อนรับส่วนหน้า ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต้องพบปะผู้คนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องบริหารจัดการส่วนที่มีการติดต่อโดยตรงกับลูกค้าเป็นหลัก
ถือว่าเป็นงานที่ท้าทายมาก เพราะความต้องการของลูกค้าแต่ละคนที่ต่างกันไป การสร้างประสบการณ์เชิงบวกที่ดีกับลูกค้าจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ประสบการณ์เหล่านี้ช่วยเตรียมความพร้อมให้กับผมในการเข้าสู่สายอาชีพ HR ได้เป็นอย่างดี
ผมพบว่าการทำงานในการบริหารจัดการกับการส่งมอบบริการที่เหนือระดับเกินความคาดหวังความต้องการของลูกค้านั้น ท้าทายและน่าสนใจจึงทำให้ผมรู้สึกสนุกและมีความสุขกับการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับพวกเขา นั่นคือจุดเปลี่ยน (Trigger Point) ที่ทำให้ผมตัดสินใจว่า งานที่เหมาะสมกับตัวเรา คืองานที่เกี่ยวข้องกับผู้คน ซึ่งก็คืองาน HR นั่นเอง
หลังจากนั้นผมได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอกทางด้าน HR โดยตรง และเริ่มต้นอาชีพ HR ที่บริษัทผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงของต่างประเทศ พอยิ่งทำงานในสายนี้ ผมยิ่งรู้สึกว่าการทำงานกับคนนั้นทำให้ผมมีความสุข มันคือสิ่งที่ผมหลงใหลและต้องการทำงาน HR ถ้ามองอีกมุมมองหนึ่ง ก็เหมือนกับการที่มีโอกาสได้มีส่วนผลักดันพนักงานให้ประสบความสำเร็จครับ
อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณตัดสินใจมุ่งหน้าสู่ HR อย่างจริงจัง
ดร.ธภัทร: แรงบันดาลใจหลักมาจากความชอบ และรักในการผลักดันและสนับสนุนให้พนักงานเติบโตไปพร้อมกับบริษัทครับ ซึ่งคนที่ทำงานนี้ได้ต้องเกิดมาเพื่อจะเป็น หรือ Born to be นะครับ เพราะงาน HR ไม่ใช่แค่เพียงแต่เกี่ยวกับการสรรหาหรือการจัดการเงินเดือนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของพนักงานในองค์กร เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจ ผมจึงเชื่อว่า HR เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจและดึงศักยภาพของพนักงานให้สามารถเติบโตในสายอาชีพของตัวเองได้
ซึ่งผมเริ่มจากการทำงานทั่วไปด้าน HR และเติบโตในสายอาชีพอย่างต่อเนื่อง เพราะผมมีเป้าหมายการเติบโตในสายอาชีพที่ชัดเจน 5 ปี 10 ปี 20 ปี จนถึง 30 ปี ว่าเป้าหมายแต่ละอย่างคืออะไรและจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายนั้นได้ การมีเป้าหมายชัดเจนทำให้ผมมีแรงผลักดันที่จะเรียนรู้และเติบโตอย่างต่อเนื่องในสายอาชีพนี้
และนี่คือสิ่งที่ทำให้ผมไม่เคยรู้สึกเบื่อหน่ายกับการทำงานเลยครับ เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น ความท้าทายใหม่ ๆ ที่รอให้ผมมาไขปริศนา และค้นหาวิธีการที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือหรือพัฒนาคนในองค์กรต่อไป
ที่คุณกล่าวว่า ไม่ใช่ทุกคนที่เกิดมาเพื่อเป็น HR (Born to be an HR Person) แล้วคุณคิดว่าคนที่เหมาะสมกับการเป็น HR นั้นมีลักษณะอย่างไร
ดร.ธภัทร: ตามความเห็นของผมนะครับ คนที่เหมาะสมกับการเป็น HR โดยพื้นฐานควรจะเป็นผู้รับฟังที่ดี สามารถเข้าถึงได้ง่าย และเข้าใจผู้อื่น คุณต้องมีความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ดี
นี่คือพื้นฐานสำคัญ คุณต้องเข้าใจความหลากหลาย และยอมรับในความแตกต่าง (Diversity & Inclusion) ของพนักงาน กลยุทธ์ในการสื่อสารที่สามารถเข้าไปนั่งในใจผู้ฟังเปรียบเสมือนการเป็น Partner ที่ดี และมี ความสามารถในการจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ดี Emotional Intelligence (EQ) นอกจากนี้คุณต้อง Open Minded พร้อมเปิดรับและพร้อมที่จะพัฒนาต่อยอดในด้านต่างๆ โดยเฉพาะ Strategic และ Hard Skills ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
เพราะสำหรับ HR ที่ต้องทำงานกับคน เป็นงานที่ละเอียดอ่อน ถ้าคุณไม่ชอบทำงานกับผู้คน ไม่สามารถสื่อสารหรือเข้าใจความแตกต่างของผู้คน การแก้ปัญหานั้นจะไม่ตรงกับความต้องการ ซึ่งคุณจะเห็นได้ว่างานนี้ท้าทายเกินไป
ช่วงที่คุณย้ายงานมาสาย HR ตอนนั้นมีความท้าทายอะไรบ้าง
ดร.ธภัทร: มีครับ การเข้าสู่งาน HR มีความท้าทายเสมอ เพราะมันเกี่ยวข้องกับการบริการและการเข้าใจความแตกต่างของผู้คน กล่าวคืองาน HR เหมือนมีวงกลมที่ทับซ้อนกันอยู่ในเชิงการบริการและการเข้าใจคน
ตอนนั้นองค์กรได้ให้โอกาสผมเริ่มต้นในสายนี้ อาจจะเพราะผมมีพื้นฐานการทำงานในสายงานบริการ และความสามารถในการสื่อสารที่ทำให้สามารถนั่งในใจผู้ฟัง และเป็น Partner ที่ดีของเขา องค์กรมองว่าผมเหมาะสมกับงานที่เกี่ยวข้องกับผู้คน แต่ผมไม่มีพื้นฐานเรื่อง HR ผมก็ต้องทำการบ้านมากกว่าคนอื่น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับงาน HR ที่มีความท้าทายในการทำงาน
ผมตั้งเป้าหมายว่าการเป็น HR Director ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาว ในตอนนั้น ทำให้ผม จำเป็นที่จะต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในทุกด้านของ HR ตั้งแต่การวางกลยุทธ์ การวางแผน การบริหารจัดการเรื่องของคน การสร้างความแข็งแกร่งให้กับทีม HR ในการพัฒนา และต่อยอดกับการจัดการความสัมพันธ์กับพนักงาน เราต้องตั้งใจเรียนรู้และเตรียมพร้อมสำหรับทุกสิ่ง
เพราะเป้าหมายนี้ชัดเจนและต้องใช้ความพยายามอย่างสูง คนที่มองไม่เห็นความท้าทายอาจจะยอมแพ้ไปก่อนได้ แต่ผลลัพธ์ที่ได้จะคุ้มค่ากับความพยายามที่เสียไปครับ
อะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้คุณเห็นตัวเองชัดเจนในระดับนั้น
ดร.ธภัทร: ผมคิดว่าตัวเองโชคดีมากที่รู้ตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่เนิ่น ๆ เรียกว่าเป็นคนที่มี Passion to win และอยากประสบความสำเร็จในชีวิตให้เร็วที่สุด
ตั้งแต่เรียนจบผมก็วางเป้าหมายไว้แล้วว่าในอีก 5, 10, 15 ปีข้างหน้า ผมจะทำอะไรบ้าง เช่น จะมีงาน มีบ้าน รถ ก้าวเป็นผู้จัดการ ผู้อำนวยการ และอยู่ในบอร์ดผู้บริหาร ในช่วงจังหวะของชีวิต ผมทำ Goal Setting มาตลอดครับ ซึ่งมันช่วยให้ผมเห็นภาพอนาคตของตัวเองได้ชัดเจน โดยเริ่มต้นจากการค้นหาว่าผมชอบอะไร เพราะการทำงานที่เราชอบ รัก เราจะมี passion กับสิ่งนั้น มันจะกลายเป็นทักษะและความถนัดของเรา
ฉะนั้นแรงจูงใจหลักของผมคือการทำงานกับคน ไม่ว่างานนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม ผมยินดีที่จะทำ ซึ่ง HR เป็นงานที่ตอบโจทย์ผมมากที่สุด เป็นงานที่ได้ทำงานกับคน ได้เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจร่วมกัน เพราะเรื่องการบริหารจัดการคน เป็นสิ่งที่สำคัญ และเกี่ยวข้องกับทุกฟังก์ชัน ไม่ว่าจะเป็น IT วิศวกรรม การผลิต หรือการค้า ซึ่งทุกองค์กรต้องการคนทำงาน และต้องการการบริหารจัดการคนอย่างมืออาชีพ และมีประสิทธิภาพ
นั่นทำให้ผมเห็นว่าการเป็น HR เป็นงานที่สามารถทำได้ทุกที่ และหากเป็น HR ที่เก่ง รอบรู้ทุกด้านของงาน โดยเฉพาะการจัดการค่าจ้างตอบแทนและสวัสดิการ (Compensation and Benefits – C&B)
จากประสบการณ์นะครับ ผมว่าไม่บ่อยนักที่จะเห็น HR Director มาจากสาย Compensation & Benefits โดยตรง ที่ต้องใช้ตัวเลขและตรรกะในการออกแบบระบบค่าจ้าง ค่าตอบแทน และสวัสดิการ วิธีจัดการให้มันตอบโจทย์ในทุก ๆ ความต้องการ นั่นคือความท้าทาย เพราะตัวเลขต้องถูกวิเคราะห์มาแสดงข้อดีและข้อเสียได้อย่างชัดเจน และส่งผลเชิงบวกต่อเป้าหมายของธุรกิจอย่างไรได้ ฉะนั้นในอดีตที่เรามักเห็น HR ทำงานในแนวทางทั่วไป หรือ Generalist มากกว่า อย่างการฝึกอบรม พัฒนา รับสมัครงาน และอื่น ๆ ครับ
แต่ปัจจุบันถ้าคุณอยากจะโตสายอาชีพนี้ คุณต้องรู้ทุกอย่าง รู้ทุกฟังก์ชัน โดยเฉพาะ C&B และที่สำคัญ กลยุทธ์ทางธุรกิจ ถ้าคุณเข้าใจ และเชื่อมโยงกลยุทธ์ของ HR กับกลยุทธ์ขององค์กรได้ ผมมั่นใจว่าคุณจะเป็น HR ที่เป็นที่ต้องการของตลาด ไม่มีตกงานครับ
ความท้าทายในการเข้ามารับตำแหน่ง Board Director และ Leader HR ใน LIXIL Thailand คืออะไร
ดร.ธภัทร: การปรับตัวเข้ากับองค์กรใหม่มีทั้งยากและง่ายครับ ทั้งนี้เพราะแต่ละองค์กรมีบริบทที่แตกต่างกัน LIXIL เป็นองค์กรระดับโลกที่มีโครงสร้างซับซ้อนและเป็น Matrix Organization กล่าวคือเราต้องทำงานข้ามฟังก์ชันและข้ามภูมิภาค
ความท้าทายคือการทำให้เข้าใจโครงสร้าง Matrix นี้ และจัดการให้นโยบายต่าง ๆ เป็นมาตรฐานเดียวกัน เรามีโรงงานทั้งในรังสิต ระยอง และมีสำนักงานต่างๆ ความยากคือการทำให้ฐานเหล่านี้มีการทำงานที่สอดคล้องกัน
งานที่นี่ท้าทายในการจัดระเบียบให้ทุกอย่างเป็นระบบ แม้ว่าผู้คนที่นี่จะน่ารักมีความมุ่งมั่นในการประสบความสำเร็จ แต่ความท้าทายที่สำคัญคือเราจะจัดหาและสนับสนุน Career Path ที่ชัดเจนกับพนักงานอย่างไร เพื่อให้ทุกคนเดินตามทิศทางและเป้าหมายของธุรกิจไปด้วยกันครับ
ล่าสุด LIXIL Thailand ได้รับรางวัล Employee Experience Awards 2024 และ Country Leadership Awards คุณได้รับรางวัลนี้จากโปรเจกต์อะไร
ดร.ธภัทร: ได้จาก Strategic Talent Development Program ที่เราเพิ่งเริ่มต้นในปีนี้ครับ ซึ่งในแวดวง HR ทุกองค์กรมักมีโปรแกรมพัฒนาความสามารถของบุคลากรอยู่แล้ว แต่มันไม่เคยชัดเจนว่าผลลัพธ์ที่ได้จะช่วยเหลือธุรกิจในระยะยาวได้ยังไง และมักจะจบลงที่การฝึกอบรมเท่านั้น ความท้าทายของโปรแกรมนี้คือการวางแผนการสืบทอดตำแหน่ง (Succession Planning) ให้สอดคล้องกับเส้นทางอาชีพที่ชัดเจนของพนักงานเลยครับ
เราเริ่มต้นด้วยการระบุและคัดเลือกบุคลากรที่มีศักยภาพ (Talent) โดยเน้นที่บุคคลที่เป็นแบบอย่างที่ดีในองค์กร ใช้กระบวนการที่เข้มงวดในการคัดเลือกเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนที่เข้าร่วมโปรแกรมนี้เป็นตัวแทนที่ดีที่สุดขององค์กร ไม่ใช่แค่ทำงานเก่ง แต่พฤติกรรมก็ต้องได้ ต้องมี Passion และมี Potential ที่จะไปต่อกับองค์กรได้
การคัดเลือกเราจะเข้มข้นมาก ๆ ตั้งแต่การระดมความเห็น และเห็นชอบร่วมกันจากผู้บริหาร และการใช้เครื่องมือทางจิตวิทยาเพื่อความแม่นยำในการคัดเลือก
ขณะที่พัฒนาเราทำเหมือนเป็น LIXIL Model เป็นกลไกสำคัญในการนิยามว่าคนที่จะเป็น Future Leader นั้นจะต้องมีทักษะอะไรบ้าง โดยเราแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือทักษะพื้นฐานหรือ Foundation เช่น คนที่จะมาเป็นผู้นำในอนาคตจะต้องมีคุณสมบัติ Leadership ทักษะการสื่อสาร Growth Mindset และบุคลิกภาพที่ดี
หลังจากที่พวกเขามี Foundation ที่แข็งแกร่ง การพัฒนาในปีที่สองเราจะเน้นไปที่กลยุทธ์ทางธุรกิจ เพราะเราคาดหวังว่าผู้นำในองค์กรจะต้องเข้าใจเรื่องธุรกิจ สามารถนำทางและคิดเชิงกลยุทธ์ได้
ด้วยเหตุนี้เราจึงเชื่อว่า Talent Development Program สองปีที่ประกอบด้วยพื้นฐานและกลยุทธ์ทางธุรกิจ จะช่วยเตรียมคนกลุ่มนี้ให้พร้อมสำหรับบทบาทผู้นำต่อไป
ผลลัพธ์ของโปรเจกต์นี้ต่อองค์กรเป็นอย่างไรบ้าง
ดร.ธภัทร: ผลกระทบระยะสั้นที่เห็นได้ชัด ๆ คือ Talent ของเราไม่มีการลาออกเลยครับ ก่อนหน้านี้อัตราการลาออก (Turn Over) เคยสูงถึง 20% แต่หลังจากที่เรานำโปรเจกต์นี้ไปใช้ อัตราการลาออกนั้นเป็นศูนย์เลยครับ และคะแนนการมีส่วนร่วม (Engagement) ของพนักงานในบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงผลลัพท์ทางธุรกิจก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
โปรเจกต์นี้จึงช่วยให้ผู้บริหารเห็นได้ชัดว่าคนคือปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจครับ
ปัจจุบันภาพรวม HR มีบทบาทอย่างไรในการนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมาย
ดร.ธภัทร: อันดับแรก ถ้าคุณเป็นหัวหน้า HR คุณต้องสามารถเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายทางธุรกิจกับการพัฒนาศักยภาพของคนให้ได้ก่อน ถ้าทำไม่ได้ HR จะไม่มีคุณค่า และจะเป็นเพียงแค่หน่วยงานสนับสนุนเท่านั้น
หลายองค์กรไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรเพราะเน้นไปที่การเพิ่มยอดขายหรือการตลาด แต่หัวหน้า HR ที่ดีต้องเชื่อมโยงให้เห็นว่า การสร้างส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) สร้างผลกำไร และการเป็น Employer of Choice เชื่อมโยงกับคนอย่างไร คุณต้องแสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่มีคนที่มีศักยภาพ คุณจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้เลย
เพราะคนเป็นฟันเฟืองสำคัญของธุรกิจครับ และเราเชื่อว่ามนุษย์มีความสามารถมหัศจรรย์ ถ้าใจพวกเขาพร้อม เราก็มีหน้าที่ ส่งเสริมศักยภาพของเขา จัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือทรัพยากรให้พวกเขาเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องนั่นเอง
อยากบอกอะไรกับ Young Talent หรือ Future Leader ที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอนาคตไหม
ดร.ธภัทร: อันดับแรกคือคุณต้องเข้าใจเทคโนโลยีให้ลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่การใช้งานทั่วไปนะครับ แต่ต้องสามารถนำเทคโนโลยีมาต่อยอดงานของคุณได้ เชื่อมโยงกับกลยุทธ์ของธุรกิจได้ เช่น การใช้ ChatGPT หรือเครื่องมือต่าง ๆ
ต่อมาคือการสร้างเครือข่ายที่ดีในสายอาชีพ การมี Professional Networking จะช่วยให้คุณแลกเปลี่ยนประสบการณ์และไอเดียใหม่ได้ ซึ่งจะทำให้คุณเติบโตและก้าวหน้าได้เร็วขึ้น
สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณต้องสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพและมี EQ ที่ดี คุณต้องเข้าใจว่ากำลังพูดกับใครและเขาต้องการอะไร รวมทั้งจัดการความคาดหวังได้ดี
สุดท้ายคือคุณต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา ในโลกที่ข้อมูลเปลี่ยนแปลงไว ความรู้ที่คุณมีวันนี้อาจจะล้าสมัยในไม่กี่เดือนข้างหน้า เพราะฉะนั้นคุณต้องติดตามและอัปเดตความรู้อยู่เสมอ เพื่อให้ตัวคุณไม่ตกเทรนด์และสามารถนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ครับ