การสรรหาบุคลากรเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกองค์กรใส่ใจ เพราะเป็นหน้าด่านสำคัญในการคัดเลือกพนักงานใหม่ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าและหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จในอนาคต ทว่าการแข่งขันสรรหาคนเก่งในโลกการทำงานนั้นทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ฉะนั้นการได้มาซึ่งบุคลากรที่มีศักยภาพและตรงกับความต้องการขององค์กรจึงเป็นความท้าทายเสมอ
เช่นเดียวกันฝั่งพนักงานที่การสร้าง Career Profile ไม่ใช่เพียงเพื่อการหางานใหม่อย่างเดียวอีกต่อไป แต่เป็นกระบวนการที่สะท้อนถึงประสบการณ์ ทักษะความสามารถ และการปรับตัวพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กรที่เปลี่ยนแปลงไป
วันนี้ HREX มีโอกาสพูดคุยกับคุณ ชาลี วิทยาชำนาญกุล (Charlie Withayachamnankul) CEO & Co-Founder จาก Resubae และ StartupBreed สองบริษัทสตาร์ทอัพที่ปรึกษาการทำเรซูเม่และบริการด้านการสรรหาบุคลากร เพื่อเจาะลึกเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสของตลาดการสรรหา และดำดิ่งสู่ปรัชญาการทำงานที่ขับเคลื่อนทั้งสองธุรกิจนี้
Contents
- เส้นทางอาชีพของคุณกับ Resubae และ StartupBreed เป็นอย่างไร
- ที่ว่า Career Profile ไม่เทียบเท่ามาตรฐานของที่อื่น ๆ หมายถึงอะไรบ้าง
- ทำไมการทำเรซูเม่แต่ละครั้ง เราต้องมองไกลกว่าแค่การสมัครงาน
- จาก Resubae ขยับมาเป็น StartupBreed ได้อย่างไร
- HREX ได้คุยกับ Recruiting Industry หลาย ๆ องค์กร ซึ่งมักบอกว่ากำลังประสบความยากลำบากอยู่ ในฐานะที่คุณเพิ่งเข้ามาในตลาดนี้ คุณมีความคิดเห็นอย่างไร
- ส่วนใหญ่ลูกค้าของ StartupBreed คือใคร
- การทำงาน StartupBreed และ Resubae ทำให้คุณได้พบกับผู้สมัครงานมากมาย อยากรู้ว่าตอนนี้เทรนด์ของคนหางานเป็นอย่างไร
- คุณมีเทคนิคอะไรที่สามารถทำให้เข้าใจคนคนหนึ่งได้ถึงระดับนั้น
- ทราบมาว่าชาลีเติบโตในต่างประเทศก่อนกลับมาไทย ทำให้เจอวัฒนธรรมที่หลากหลาย เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เกาหลี จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ การได้เจอวัฒนธรรมที่หลากหลายเหล่านั้น สอนคุณอย่างไรบ้าง
- แล้วเวลาเจอคนที่เป็น Red Flag คุณรับมืออย่างไร
เส้นทางอาชีพของคุณกับ Resubae และ StartupBreed เป็นอย่างไร
ชาลี: Resubae เป็นบริษัทแรกที่เราก่อตั้งครับ โดยเริ่มจากการเป็นงานรายได้เสริม (Side Hustle) เพราะงานแรกที่ทำหลังจากเรียนจบคือ Recruitment Consultant แต่เราทำไม่ถึงปีก็ลาออก เพราะตอนนั้นเราเป็นเด็กจบใหม่ ไฟแรง อยากทำอะไรหลาย ๆ อย่าง แต่ลูกค้าที่ทำงานด้วยก็ติดตามเรามาถึงทุกวันนี้ บอกปากต่อปากกันมาเรื่อย ๆ ทำให่ช่วงแรกเราทำเป็น Freelance Recruiter ก่อน
จากตอนนั้นเดินทางมาถึง 2-3 ปี เราก็เปิด StartupBreed Recruitment ขึ้นมา เพราะระหว่างที่ทำ Resubae เราต้องดูโปรไฟล์ของผู้สมัครงานเรื่อย ๆ และได้อัพเดทตลาดตลอดเวลา ทำให้เรารู้ว่าโปรไฟล์แบบไหนที่ตลาดต้องการ ที่สำคัญคือทำให้เราเห็นปัญหา Career Profile ของคนในประเทศไทยว่าไม่เทียบเท่ามาตราฐานของคนที่จบต่างประเทศ รวมทั้งระบบการศึกษาก็ไม่ได้ตระเตรียมสิ่งเหล่านี้ เราก็เลยเห็นเป็นโอกาสในการเปิดบริษัทครับ
ที่ว่า Career Profile ไม่เทียบเท่ามาตรฐานของที่อื่น ๆ หมายถึงอะไรบ้าง
ชาลี: ต้องบอกว่าทักษะสำคัญ ๆ ของคนไทยมีอยู่ครับ แต่จากประสบการณ์พบว่า เราขาดการนำเสนอตัวเองในหน้ากระดาษและ LinkedIn
เรารู้สึกว่าหลาย ๆ คนไม่ได้จริงจังกับการสร้าง Career Profile เพื่อสร้างโอกาสให้ตัวเอง เนื่องจากหนึ่งตําแหน่งงานจะมีคนสมัครประมาณเป็นร้อย ๆ คน แต่อาจมีแค่ 2-3 คนที่ทำเรซูเม่มาดีมาก ๆ ซึ่งความหมายของคำว่า ‘ดี’ มีหลากหลายนะ แต่เอาง่าย ๆ คือบางคนทำเรซูเม่มา 10 หน้า หรือใช้สียูนิคอร์นมาสมัครงาน ซึ่งมันไม่ใช่ไง (หัวเราะ) เพราะเรซูเม่ที่ดีจะทำให้ HR รู้ว่าคนคนนี้มีของ และเป็น First Impression ที่ดีจากแค่เรซูเม่เท่านั้น
ปัญหาหลักจึงเป็นเรื่องการนำเสนอเลยครับ แต่ทำไปทำมาเราจะพบปัญหาที่ลึกกว่านั้น นั่นคือคนส่วนใหญ่หลงทางกับวิธีการทำให้ตัวเองไปให้ถึงเป้าหมายด้านอาชีพ
หลายครั้งที่ถามเรา ‘Career Plan ของคุณคืออะไร ?’ เขามักตอบ ‘ไม่ได้’, ‘ไม่รู้’ หรือ ‘แค่ทำงานไปเรื่อย ๆ ก่อน’ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับคนที่เป็นระดับ Top Management เขาจะมีแผนที่ชัดเจนไว้ประมาณหนึ่ง ฉะนั้นการทำเรซูเม่แต่ละครั้ง เราต้องรู้ว่าจะนำเรซูเม่ไปใช้ทำอะไร เช่น หางานใหม่ หรือเปลี่ยนสายงาน เป็นต้น
ทำไมการทำเรซูเม่แต่ละครั้ง เราต้องมองไกลกว่าแค่การสมัครงาน
ชาลี: สมัยเรียนหนังสือเรามีแค่การสอบให้ผ่านเพื่อเลื่อนขั้นจากปี 1 เป็นปี 2 ทุกอย่างผ่านระบบการสอบหมด แต่เมื่อเรียนจบออกมา เราไม่มีการสอบเลื่อนขั้นแล้ว ทุกอย่างตัดสินใจด้วยตัวเองทั้งสิ้น
ที่สำคัญหลายคนไม่ได้เห็นว่า งานสะท้อนคุณภาพชีวิต (Quality of Life) ด้วย ถ้างานดี เราก็แฮปปี้ ครอบครัวก็แฮปปี้ เพื่อนก็แฮปปี้ เราก็มีความสุข สามารถทำงานเสริมได้ แต่หลายคนมองไม่เห็นตรงนั้น มองว่าการทำงานก็แค่ทำงาน ทำไปเรื่อย ๆ บริษัทไหนให้เงินดีก็ไป ไม่ได้พิจารณาบท (Chapter) อื่น ๆ ของชีวิต
เพราะฉะนั้นการทำเรซูเม่, LinkedIn หรือการสัมภาษณ์งาน เป็นเพียงการเตรียมตัวทางอาชีพเท่านั้น แต่หลังนั้นเป็นอย่างไรต่อ ? เช่น เราได้งานแล้ว ผ่านไป 2 ปี เราเบื่อ เราจะทำอะไรต่อ ? สิ่งเหล่านี้เราไม่เคยคิดหรือวางแผนมาก่อน Resubae จึงพยายามเชื่อมตั้งแต่การเตรียมตัวไปจนถึงแผนใหญ่ของชีวิตคุณ
Resubae จึงเป็นมากกว่าการทำโปรไฟล์ของผู้สมัครงานครับ ตอนทำเรซูเม่เราจะเจาะลึกไปถึงประวัติของเขาเลย คุยลึกเหมือนเป็นการให้คำปรึกษา (Counseling Session) เราจะถามถึง Pain Point ทุกอย่าง อาจเป็นเรื่องส่วนตัวบ้าง แต่เราก็ต้องเจาะ เพราะเรซูเม่เปรียบเสมือน Dating Profile ที่แต่ละคนจะมีไม่เหมือนกัน เราจะแปลความเป็นปัจเจกนิยม (Individualism) ของแต่ละคนออกมาเป็นกระดาษแผ่นเดียวหรือใน Linkedin
แน่นอนทุกคนสามารถทำเรซูเม่แบบ Copy and Paste ได้ แต่ Resubae จะมีอีกเลเยอร์หนึ่งที่ช่วยให้ผู้สมัครเข้าใจตัวเองมากขึ้น สามารถนำไปตัดสินใจในการวางแผนชีวิตได้ ไม่ใช่แค่ได้เรซูเม่สมัครงานอย่างเดียว เช่น เด็ก ๆ บางคนที่มหาวิทยาลัยถามผมว่า “อยากได้เงินเดือนหนึ่งแสนก่อนอายุ 28 เป็นไปได้ไหม” คำตอบคือ “ได้ ! มาวางแผนกัน”
จาก Resubae ขยับมาเป็น StartupBreed ได้อย่างไร
ชาลี: วิสัยทัศน์ของเราไม่อยากทำอะไรเล็ก ๆ อยู่แล้วครับ ต้องทำใหญ่เสมอ ซึ่งตอนทำ Resubae เราสร้างโปรไฟล์ให้ผู้สมัครมากมาย ซึ่งบางคนมีโปรไฟล์ที่ดี เราก็สามารถนำเสนอบริษัทให้ช่วยรับสมัครต่อได้ ก็เป็น Ecosystem ที่เกิดขึ้นมาได้
การทำงานของ StartupBreed จะแตกต่างจากเอเจนซี่อื่นที่ทำงานตามขั้นตอน แต่เราจะทำงานคล้ายสตาร์ทอัพครับ การทำงานสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เช่น ลูกค้าบางเจ้ายังหาผู้สมัครไม่เจอ ลงโซเชียลมีเดียแล้วก็ยังหาไม่ได้ ลูกค้าเสนอมาว่า “อยากเปิดบูธข้างล่างออฟฟิศที่สาธรจัง” เราก็ทำ ฉะนั้นวิธีการทำงานของเราคือ Everything Possible ถ้าลูกค้าเชื่อใจเรา เราก็ช่วยเขาเต็มที่ วิธีการสรรหาของเราจึงยืดหยุ่นเสมอ
HREX ได้คุยกับ Recruiting Industry หลาย ๆ องค์กร ซึ่งมักบอกว่ากำลังประสบความยากลำบากอยู่ ในฐานะที่คุณเพิ่งเข้ามาในตลาดนี้ คุณมีความคิดเห็นอย่างไร
ชาลี: ภาพรวม StartupBreed ไม่ลำบากนัก เราขยายเร็ว แต่ขยายโดยระมัดระวัง
เพราะเราเป็นเอเจนซี่ที่ไม่มียอดขายเป็นเป้าหมายครับ แต่เรามองความพยายามของพนักงานเป็น KPI ฉะนั้น StartupBreed ไม่มีหน่วยวัดเหมือน Recruiting Agency อื่น ๆ ที่ทำให้เครียดเรื่องยอดขายจนกลายเป็น Sales Organization แต่เราเป็น Quality Driven Organization จริง ๆ
ย้อนกลับไปตอนที่เราเริ่มทำ StartupBreed เราต้องเลือกระหว่างการเป็น Tech-centric หรือจะไปเป็น Human-centric ซึ่งผมบอกเลยว่าเราต้องเป็น Human-centric เพราะเราเป็นสตาร์ทอัพที่ทำงานกับคนครับ
ที่สำคัญคือ “We bring the Consulting into Recruitment Consulting” เรานำการเป็นที่ปรึกษามาสู่กระบวนการสรรหา สิ่งเหล่านี้มันหายไปกับองค์กรที่หลงกับการปิดยอดขาย จนลืมไปว่า Recruiting Agency เป็นตัวกลางในการหางานนะ ฉะนั้น You need to be everyone’s Friend เราต้องมองภาพใหญ่ ไม่ใช่แค่ปิดดีลแล้วจบ เช่น ถ้าเราหาคนเก่งเข้าไปในองค์กรหนึ่ง แต่เขาอาจไม่ฟิตกับวัฒนธรรมองค์กรนั้น สุดท้ายแคนดิเดตที่เราหาไปก็อาจจะลาออกภายใน 2 เดือน เสียเวลาหาคนมาแทนใหม่อีก เป็นต้น
ส่วนใหญ่ลูกค้าของ StartupBreed คือใคร
ชาลี: 60% เป็นบริษัทสตาร์ทอัพเหมือนกัน แต่ตอนนี้ลดลงมาบ้างครับ ก็จะมีทั้งบริษัทเทคโนโลยี แบรนด์เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์ธัญพืช ฯลฯ และก็มี SMEs ที่เปลี่ยนผ่านมาเป็นคนรุ่นใหม่ขึ้นมาบริหารบ้าง
ช่วงแรก ๆ เราจะมี Talent Pools เป็นสายเทคโนโลยี แต่ช่วงหลัง ๆ ก็มีทุกอย่างเลย ทั้ง Marketing และ Accounting ในระดับ Mid-level ไปจนถึง Manager แต่ระดับ C-level เราไม่ค่อยแตะเท่าไหร่
เรารู้ว่าเราถนัดอะไร เพราะทำสตาร์ทอัพมา 3 ตัว อยู่กับ Business Owner มาหลายคน เพื่อนรอบข้างก็เป็น Entrepreneur ทำให้เรามีโอกาสได้เข้าใจมุมมองเจ้าของธุรกิจครับ
การทำงาน StartupBreed และ Resubae ทำให้คุณได้พบกับผู้สมัครงานมากมาย อยากรู้ว่าตอนนี้เทรนด์ของคนหางานเป็นอย่างไร
ชาลี: เทรนด์ ‘หิว’ (หัวเราะ) หิวในที่นี้หมายถึงความอยากได้มากกว่าที่เขาสามารถทำได้ เช่น หลัง ๆ เริ่มมีคนอยากไปทำงานต่างประเทศ อยากได้งานในบริษัทใหญ่ ๆ โต ๆ แต่เราก็ถามกลับว่าภาษาอังกฤษคุณได้ไหม ? ตรวจดู Visa Requirement แล้วหรือยัง ? เพราะคนส่วนใหญ่แค่อยาก แต่ไม่ใส่ Energy ไม่ทำการบ้านก่อน นี่คือเทรนด์แรกที่เรามองเห็น
อีกกลุ่มหนึ่งคือลูกค้า 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ของ Resubae เป็น Top Archiever เก่ง ๆ ทั้งนั้น ประเด็นคือคนที่ Over Achiever จะรู้ว่าเส้นทางชีวิตของตัวเองเป็นอย่างไร ขณะที่คนบางกลุ่มกลับไม่เคยวางแผนเส้นทางชีวิตของตัวเองเลย เพิ่งมาตระหนักรู้ตอนอายุ 30-40 ว่ายังได้เงินเดือนหลักหมื่นอยู่เลย เขาก็มาปรึกษาว่าอยากซื้อบ้าน อยากเที่ยวรอบโลก อยากเปิดคาเฟ่เป็นของตัวเอง ถึงแม้พวกเขายังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่ก็พยายามผลักดันตัวเองให้ไปถึงตรงนั้นอยู่
ถ้ามาปรึกษากับ Resubae เราจะถามง่าย ๆ ว่า “คุณต้องการจริงหรือเปล่า ?” เพราะเราเลือกลูกค้านะ เราไม่ใช่บริษัทออกแบบเรซูเม่ จ่าย 500 แล้วเปลี่ยนสี แต่เราเป็นบริษัทที่ปรึกษาเชิงลึก ต้องรู้จักประวัติลูกค้ากระทั่งสามารถแปลงเป็นแผ่นกระดาษและวางแผนชีวิตให้คุณได้
คุณมีเทคนิคอะไรที่สามารถทำให้เข้าใจคนคนหนึ่งได้ถึงระดับนั้น
ชาลี: มีครับ สิ่งหนึ่งคือการปฏิบัติต่อคนอื่น เราคุยกับคนโดยไม่ตัดสิน ทำให้เขารู้สึกสบายใจ เพราะสิ่งที่เราคุยกันคืออนาคตของเขา เขาจะแชร์ทุกอย่างกับเราในพื้นที่ปลอดภัย (Safe Space)
เทคนิคง่าย ๆ เลยครับ แค่ Listen without Judgement, Listen without trying to Reply
ทราบมาว่าชาลีเติบโตในต่างประเทศก่อนกลับมาไทย ทำให้เจอวัฒนธรรมที่หลากหลาย เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เกาหลี จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ การได้เจอวัฒนธรรมที่หลากหลายเหล่านั้น สอนคุณอย่างไรบ้าง
ชาลี: การมีความเห็นอกเห็นใจ (Compassion) และความเข้าใจคนอื่นครับ
การได้เห็นวัฒนธรรมที่หลากหลายทำให้เรานิ่งและมีความอดทนสูงมากกับความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นคน Toxic, คนอารมณ์ร้าย หรือคนไทยที่ไม่กล้าพูดแต่เอาไปนินทาลับหลัง ฯลฯ เราเห็นโลกมาเยอะพอสมควรนะ และรู้วิธีการรับมือปัญหาต่าง ๆ
อาจเพราะตั้งแต่เกิด เราเปลี่ยนโรงเรียนทุกปีครึ่ง ย้ายบ้าน 4-5 รอบ เปลี่ยนประเทศมา 3-4 ประเทศ ทุกอย่างในชีวิตของเราคือการเปลี่ยนแปลง แล้วสิ่งที่เปลี่ยนมากที่สุดก็คือคนที่เราเจอ
ทุกสถานที่ที่ไป เราต้องปรับตัวให้ได้กับวัฒนธรรมนั้น ๆ ซึ่งการปรับตัวก็ต้องดูว่าคนที่นี่เข้ามีพฤติกรรมอย่างไร ถ้าเราไม่อยากโดนรังแก (Bully) เราก็ต้องทำตัวเงียบ ๆ หรือไม่ก็เป็นคนที่รังแกคนอื่นเสียเอง มันไม่ใช่การ Fake ด้วยนะ แต่คือการปรับตัวให้ได้ (Adaptable) ในทุก ๆ สถานการณ์ที่รับมือกับคน
แล้วเวลาเจอคนที่เป็น Red Flag คุณรับมืออย่างไร
ชาลี: การคุยกับคนต้องใช้พลังครับ ถ้าพลังในการคุยไม่คุ้มค่ากับเวลา เราก็ไม่เอา ถอยออกมา ไม่ยุ่งกับเขา แต่ถ้าเป็นคนใกล้ชิดหน่อยก็ต้องลงทุนพลัง ลงทุนอารมณ์ ตรง ๆ เลย
เราเคยได้ยินมาว่า ทุกคนที่ Toxic กับองค์กร ที่จริงแล้วเขาไม่ได้อยาก Toxic หรอก เขาแค่ไม่เข้าใจกับสิ่งที่กําลังเกิดขึ้นและเอาตรงนั้นไปคิดเอง เช่น เขาอาจจะเคยโดนดูถูก อาจเคยแบบโดนน้องๆ แซงโดยที่เขาไม่เคยได้รับการโปรโมท ทำให้เขามีปมในใจที่เราไม่รู้ ถ้าเราเข้าใจก็จะให้โอกาสเขาเองครับ แต่ถ้าให้โอกาส 2-3 รอบแล้วยังไม่เปลี่ยนแปลง ก็ปล่อยไปเถอะครับ ชีวิตของเรามีคนอีกมากมายที่สร้างความสัมพันธ์ใหม่ได้
ผมว่าอยู่ที่จังหวะชีวิตของแต่ละคนนะ บางคนเข้ามา Inspire เรา แต่บางคนก็เข้ามาให้ Lesson กับเรา เราก็ควรขอบคุณเขานะ (ยิ้ม)