เรียนรู้นวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต : คุยเรื่องคนกับสยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น

HIGHLIGHT

– สยามคูโบต้าคือบริษัทที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 45 ปี ขึ้นชื่อเรื่องการดำเนินธุรกิจโดยเอาความสุขของเกษตรกรเป็นที่ตั้ง  และเป็นนวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต

– ธุรกิจด้านเกษตรกรรมไม่ได้รับผลกระทบมากนักในช่วงโควิด-19 หากเทียบกับธุรกิจอื่น ๆ ทีม HR ของสยามคูโบต้าจึงต้องแน่ใจว่าพนักงานทุกคนมีสุขภาพที่แข็งแรง และมีความสุข รวมทั้งสามารถทำงานเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่องตามความต้องการของตลาดที่กำลังเติบโต

– สยามคูโบต้าใช้วิธีทำ Bubble & Seal เพื่อจัดพนักงานฝ่ายผลิตออกไปอยู่ในที่ปลอดภัย​ และจัดให้สวัสดิการเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังนำแพล็ตฟอร์มออนไลน์มาใช้เป็นเครื่องมือทำงานหลักในปัจจุบัน

– สยามคูโบต้า ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง เพราะเป็นบริษัทร่วมทุนกับประเทศญี่ปุ่น และมีการขยายสาขาไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน การรู้จักวัฒนธรรมซึ่งกันและกันจะช่วยให้การทำงานคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

– แม้สถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้นแล้ว สยามคูโบต้าก็ยังคงไม่กลับไปใช้วิธีทำงานแบบเดิมทันที แต่เปิดโอกาสให้พนักงานแสดงความเห็นเพื่อหาแนวทางการร่วมงานที่ดีต่อทุกฝ่ายมากที่สุดแทน นี่คือแนวคิดแบบ “ใจเขา ใจเรา” ที่ช่วยให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

เมื่อพูดถึงองค์กรที่อยู่คู่คนไทยมานานและขึ้นชื่อว่าเป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยยึดถือเอาเกษตรกรเป็นที่ตั้ง ชื่อของ ‘สยามคูโบต้า’ ย่อมเป็นแบรนด์แรกที่คนไทยนึกถึงแน่นอน เพราะสยามคูโบต้ามุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและโซลูชันต่างๆ ตามแนวคิด ‘นวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต’

เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดอยู่ตลอดเวลา โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรด้วยเครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน สร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

ในโอกาสนี้ HREX.asia ขอพาผู้อ่านไปพูดคุยกับคุณอำนวย อภิชัยนันท์ ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและบริหาร พร้อมด้วย คุณภูวนัฐ เบญจางค์วิศณุนุ ผู้จัดการส่วนอาวุโส – ทรัพยากรบุคคลและบริหารกลาง บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อหาคำตอบว่าทำไมพวกเขาจึงคู่ควรกับรางวัล HR Asia Best Companies To Work For In Asia ประจำปี 2022

ในช่วงที่เกิดโควิด-19 สถานการณ์ของสยามคูโบต้าเป็นอย่างไรบ้างครับ ?

คุณอำนวย : เราให้ความสำคัญกับเรื่องหลัก ๆ อยู่สองประเด็นกง คือเรื่องของการป้องกันและการดูแลรักษา เพราะในช่วงแรกที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น มาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐยังไม่ชัดเจน เราก็พยายามตั้งทีมงานเข้ามาศึกษาข้อมูลเพื่อหาแนวทางให้กับเรื่องนี้อยู่ตลอดครับ ส่วนในแง่ธุรกิจก็จะมีการทำ BCM (Businesss Continuity Management) และมีการทำแผนเผชิญเหตุ เพื่อช่วยให้การรับมือป้องกันมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทีมงานเหล่านี้จะคอยกำหนดกลยุทธ์และทิศทางให้กับเรา  

อย่างในส่วนของพนักงานที่ทำหน้าที่อยู่ในโรงงานก็ต้องดูแลอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้ส่งผลกับความต่อเนื่องในการผลิต ขณะที่พนักงานฝ่ายสนับสนุนที่ทำงานในออฟฟิศก็จะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมควบคู่กันไป เช่นการจัดหาสถานที่และจัดเตรียมทีมงานมาคอยดูแลเมื่อมีพนักงานติดเชื้อ ซึ่งทีม HR จะเป็นผู้คอยประสานงานให้ครับ

ในที่นี้ทุกคนจะสื่อสารกันตลอด หากมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก็จะสามารถรายงานให้อีกฝ่ายรับรู้ได้ทันที

เราปล่อยให้การผลิตหยุดชะงักไม่ได้เลย เพราะแม้สถานการณ์โควิดจะเป็นอย่างไร แต่แผนการขายในภาคธุรกิจก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องอยู่ดี

แปลว่าความต้องการในสินค้าของสยามคูโบต้า ในช่วงโควิด-19 ยังคงมีอยู่ตลอดใช่ไหมครับ ?

คุณอำนวย : ใช่ครับ ต้องบอกว่าธุรกิจในเรื่องของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย ภาคการเกษตรยังคงดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ยังคงขายได้ตามแผนครับ จะไปส่งผลกระทบหนักกับพวกธุรกิจท่องเที่ยวและการเดินทางต่าง ๆ มากกว่า

คุณภูวนัฐ : ต้องอธิบายก่อนว่า ในมุมของคนทำงานออฟฟิศอย่างพวกเราก็ได้รับผลกระทบกันทั้งหมดล่ะครับ แต่เราก็ต้องปรับเปลี่ยนแนวทาง  ปรับเปลี่ยนวิธีคิด ปรับเปลี่ยนวิธีทำงานตามมาตรการที่ภาครัฐนำมาใช้ อย่างการ Work From Home หรือทำงานอยู่กับบ้าน เราก็นำมาใช้เช่นกัน แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเราไม่เจอผลกระทบ จะเรียกว่าพลิกวิกฤตเป็นโอกาสก็ได้ครับ ถือเป็นผลดีซะด้วยซ้ำ 

คือเราจะสังเกตว่าในช่วงนั้นธุรกิจหลายอย่างต้องปิดตัวหรือหยุดพักการทำงานลง มันเลยทำให้กลุ่มคนที่อยู่ในภาคแรงงานเดิมกลับไปสู่ภาคการเกษตรแทน ก็เลยกลายเป็นว่าธุรกิจของเรามีโอกาสขายดีขึ้น เพราะคนอยากได้นวัตกรรมไปช่วยผ่อนแรงในการทำการเกษตรมากขึ้นครับ เรียกว่าภาพมันกลับกัน กลายเป็นมุมที่ดีสำหรับธุรกิจของเรา

ย้อนกลับไปเรื่องของการดูแล กับการสร้างพนักงานที่สามารถทำหน้าที่ทดแทนกันได้สักนิดหนึ่งครับ สยามคูโบต้ามีการบริหารจัดการให้พนักงานช่วยเหลือกันอย่างไร้รอยต่อได้อย่างไร ? 

คุณภูวนัฐ : ผมขอยกตัวอย่างจากภาคของการผลิตก็แล้วกัน เรามีโครงการป้องกันชื่อ Bubble & Seal ซึ่งเป็นความรู้ใหม่แต่เราก็ต้องทำ เพราะการดูแลพนักงานฝ่ายผลิตเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เราจะขาดคนกลุ่มนี้ไม่ได้ถ้าอยากให้ธุรกิจมีความต่อเนื่อง เราก็เลยทำการ Bubble โดยการหาที่พัก ที่อยู่อาศัย และสร้างแรงจูงใจด้วยการให้เงินเพิ่มเป็นพิเศษ ในระหว่างที่เขาต้องมาทำงานที่บริษัทและห่างจากครอบครัวจากนั้นเราก็กำหนดขอบเขตให้ชัดเจน มีการจัดอาหาร ของใช้จำเป็น และมีรถรับส่งอย่างครบถ้วน นี่คือส่วนที่เราโฟกัสเป็นกลุ่มแรก เรียกว่าเป็นกลุ่ม ‘ไข่แดง’ ขององค์กร

ส่วนเรื่องทักษะของพนักงาน เราดูแลเรื่องนี้มาตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 อยู่แล้วนะ โดยเราเน้นพัฒนาเพื่อให้พนักงานมีทักษะที่จำเป็นในการหมุนเวียนกันได้เป็นหลัก   ก็เลยไม่ค่อยมีผลกระทบในส่วนนี้เท่าไร

อีกอันหนึ่งก็คือมาตรการเชิงป้องกันสำหรับพนักงานทั่วไปที่เราไม่ได้เอามาไว้ใน Bubble ของเรา เราก็จะมีการดูแลอย่างดีที่สุด เช่นในช่วงแรกที่เราไม่สามารถหาหน้ากากอนามัยหรือแอลกอฮอล์ได้ เราก็ต้องใช้ทุกวิถีทางเพื่อที่จะจัดหามาให้ได้ เพื่อมาใช้ป้องกันการติดเชื้อส่วนในองค์กรเอง เราก็พยายามป้องกันไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ทำให้เรามีอัตราการติดเชื้อของพนักงานอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ทุกคนสามารถทำงานได้อย่างสบายใจ

ในอีกด้านหนึ่งของการทำงานในช่วงโควิด-19 เนี่ย เป็นช่วงที่บีบให้เราต้องทำ Digital Transformation ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการทำงานวิถีใหม่ อย่างการใช้รูปแบบการประชุมออนไลน์ หรือ Google Meet ที่ไม่ใช่ทักษะจำเป็นนักในช่วงก่อนหน้านี้  แต่ก็เป็นวิธีทำงานที่ขาดไม่ได้ในยุคนี้ไปแล้ว

ที่สยามคูโบต้าจะมีการประยุกต์ใช้ดิจิทัลกับการทำงานเพิ่มขึ้นมาก เราก็เลยต้องมีการอบรมเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลแก่พนักงานให้เติบโตไปพร้อม ๆ กัน

ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของเราก็เช่นระบบบัญชีในการเบิกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และแจ้งจัดทำระบบข้อมูลเอกสารออนไลน์ (Memo Online) สิ่งเหล่านี้จะอยู่บนโลกออนไลน์ทั้งหมด งานของเราจะเป็นแบบไร้กระดาษ (Paperless) มากขึ้น ซึ่งทำให้การต่อยอดและติดตามจึงทำได้อย่างคล่องตัวมากขึ้นด้วยครับ

ผมเห็นว่าทางสยามคูโบต้ามีการทำโครงการเพื่อสังคมอย่างเช่นเรื่องของ ‘น้องส่งใจ’ ซึ่งเป็นหุ่นยนต์รับส่งยาและอาหาร เรื่องนี้มีที่มาอย่างไรครับ ?

คุณภูวนัฐ : คือในช่วงนั้นสยามคูโบต้าเราได้ย้อนมาดูว่าจะสามารถทำอะไรเพื่อช่วยเหลือสังคมได้บ้างครับ จากความรู้ที่เรามี ด้านการสร้างระบบการทำงานอัตโนมัติ (Automation) ซึ่งน้องส่งใจถือเป็น AGV อย่างหนึ่ง (หุ่นยนต์ขนส่งอัจฉริยะ – Automated Guided Vehicles) เป็นรถที่ขับเคลื่อนแบบวิ่งตามเส้น  น้องส่งใจจึงเป็นหุ่นยนต์ช่วยส่งยาและอาหารให้แก่ผู้ป่ายโควิด เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อของบุคคลากรทางการแพทย์

นอกจากนี้เรายังทำอีกหลายอย่างนะ เช่นในช่วงแรกที่มีคนป่วยเยอะมาก สถานพยาบาลต่าง ๆ ก็มีอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเครื่องช่วยหายใจไม่เพียงพอ หรือมีความชำรุดทรุดโทรมมาก เราก็ร่วมมือกับ SCG และสยามโตโยต้าเพื่อตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงเปิดศูนย์บริการรับซ่อมเครื่องช่วยหายใจขึ้นมา เพื่อนำบุคลากรของเรามาช่วยซ่อมอุปกรณ์เหล่านี้ ซึ่งถูกส่งมาจากสถานพยาบาลทั่วประเทศ พอเราซ่อมจนกลับมาใช้งานได้ ก็จะส่งคืนกลับไปใช้ดูแลผู้ป่วยต่อทันที

อีกส่วนที่สำคัญก็คือเรื่องของการสร้างตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet)  ให้แก่โรงพยาบาลของรัฐสำหรับใช้แยกผู้ป่วยโควิด-19

คุณอำนวย :  ในส่วนกิจกรรม CSR ของ เราคำนึงถึงสังคม และStakeholder ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้า คู่ค้า ตลอดจนพนักงานและครอบครัวของพนักงาน บริษัทของเรามีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมอยู่แล้ว อย่างที่กล่าวในข้างต้นว่าเราพร้อมดูแลพนักงานอย่างเต็มที่ในทุกวิถีทาง และเรายังให้ความสำคัญครอบคลุมไปถึงซัพพลายเออร์ที่ส่งชิ้นส่วนการผลิตมาให้เราด้วย

เรามีการตรวจสอบและทำรายงานทุกสัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่าซัพพลายเออร์เหล่านี้สามารถทำงานควบคู่ไปกับเราอย่างต่อเนื่องได้เช่นกัน

เรามองว่าต่อให้เราพร้อมผลิต แต่หากไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้เข้ามาสนับสนุน เราก็ไม่สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ออกมาได้เช่นกัน

เรียกว่าสยามคูโบต้าต้องเข้าไปดูแลทุกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของเรา 

นอกจากนี้เรายังมีเหล่าจิตอาสาที่พร้อมร่วมมือในการช่วยเหลือสังคมด้วยครับ

ในเมื่อการดำเนินงานในช่วงโควิด-19 ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แถมมีแนวโน้มทางธุรกิจไปในทางที่ดีขึ้นด้วย เราอยากรู้ว่ารูปแบบการประเมินผลของสยามคูโบต้าเป็นอย่างไร เหมือนหรือต่างกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 หรือไม่ ?

คุณอำนวย : สำหรับเรื่องของการประเมินผลนั้น ต่อให้เราจะปรับการทำงานไปเป็นแบบ Work From Home แล้ว แต่เราก็ยังมีการตรวจสอบ ประชุม และรายงานผลกันแบบออนไลน์ครับ

สยามคูโบต้าปรับมาใช้รูปแบบออนไลน์อย่างจริงจัง น้อง ๆ ในทีมเลยได้ฝึกทักษะดิจิทัลกันเต็มที่เลย ซึ่งเราก็ได้รับความเห็นกลับมาเหมือนกันว่าพอทำงานในรูปแบบนี้ เวลาพักผ่อนก็แทบไม่มีเลย อันนี้เรารับฟังอย่างเข้าใจ และช่วยแก้ไขปัญหา แต่พอมาถึงจุดหนึ่งพนักงานได้ปรับตัวให้มี Work Life Balance ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ดีครับ

ย้อนกลับมาเรื่องของการวัดผลกันบ้าง อันนี้เราก็ยังดำเนินงานตาม Action Plan เดิม เพียงแต่ปรับให้อยู่ในแบบออนไลน์ ซึ่งรวมถึงการวัดผลและประเมินผลด้วย ในภาพรวมจึงถือว่าไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลง แล้วก็ไม่ได้มีอุปสรรคอะไรครับ

เรามาพูดถึงเรื่องของความแตกต่าง (Diversity) กันบ้างครับ อย่างที่ทราบดีว่าสยามคูโบต้าทำงานกับกลุ่มคนที่หลากหลาย ทั้งเรื่องของเชื้อชาติ, เพศสภาพ, วุฒิภาวะ และช่วงวัย ทางจัดการความแตกต่างเหล่านี้อย่างไรครับ

คุณอำนวย : ตอนนี้เรากำลังทำแผนในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม (Culture Transformation) อยู่เหมือนกัน แต่ถ้าพูดถึงวัฒนธรรมองค์กรดั้งเดิมของพวกเรา สยามคูโบต้าเป็นองค์กรที่ตั้งมาแล้ว 45 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาวัฒนธรรมของเรามีการปรับปรุงพัฒนาให้สอดคล้องกับยุคสมัยอยู่เสมอ โดยเราเรียกวัฒนธรรมองค์กรในช่วงที่ผ่านมาว่า SKC People ซึ่งเป็นแนวคิดที่ใช้มา 11 ปีแล้ว แต่ตอนนี้เรากำลังจะปรับวัฒนธรรมองค์กรอีกครั้งเพื่อไปสู่จุดที่เรียกว่านวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต ซึ่งการจะก้าวไปสู่จุดนั้นได้ การยอมรับเรื่องความแตกต่างถือเป็นสิ่งจำเป็นมาก วัฒนธรรมใหม่ที่เราใช้อยู่ในตอนนี้ชื่อ SKC Life ครับ

เนื้อหาใน SKC Life จะพูดถึงเรื่องความแตกต่างมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าองค์กรในเชิงนวัตกรรมนั้นเต็มไปด้วยความหลากหลาย อย่างตอนนี้ชาว Baby Boomers ก็เริ่มน้อยลง Gen X ยังพอมีอยู่ Gen Y ถือเป็นคนส่วนใหญ่ขององค์กร และ Gen Z ก็เริ่มเพิ่มเข้ามา เราจึงต้องยอมรับความหลากหลายให้ได้ ที่สำคัญเราเป็นบริษัทร่วมทุนกับประเทศญี่ปุ่น เราจึงต้องเข้าใจวัฒนธรรมการทำงานแบบญี่ปุ่นด้วย

จะเรียกว่าสยามคูโบต้าเป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมองค์กรแบบข้ามชาติมาใช้ก็ได้ครับ

นอกจากญี่ปุ่นแล้วเราก็มีการขยายกิจการไปที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา, ลาว, พม่า ซึ่งทำให้เราต้องทำงานกับสังคมต่างชาติมากขึ้น องค์กรจึงต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ เพื่อให้ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขที่สุด

คุณภูวนัฐ : ด้วยความที่เราอยู่ในเมืองไทยมานานและทำงานกับคนหลายกลุ่มที่แตกต่างกัน สิ่งที่ต้องทำนอกเหนือจากการรับวัฒนธรรมของเขาแล้ว ก็คือการทำให้คนท้องถิ่นในประเทศนั้น ๆ ปรับตัวเข้าหาวัฒนธรรมของเราได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็น่าจะเพราะประเทศที่เราขยายไปอยู่ในอาเซียนเหมือนกัน เราจึงไม่มีปัญหาในเรื่องของการปรับตัวเข้าหากันเลยครับ

แต่ในแง่ของการเตรียมตัวก็คงนิ่งนอนใจไม่ได้ เราจะสอนให้พนักงานเข้าใจเรื่องความแตกต่างได้อย่างไร ? เพราะคงไม่ดีแน่หากการทำงานต้องติดขัดเพราะเรื่องนี้

คุณอำนวย : คำถามนี้น่าสนใจมากครับ เพราะวัฒนธรรมที่แตกต่างอาจทำให้อีกฝ่ายเข้าใจเจตนาผิดโดยไม่ตั้งใจก็ได้ เราจึงต้องอธิบายให้พนักงานเข้าใจว่าในฐานะที่เราเป็นองค์กรสากล มีบุคลากรแบบนานาชาติ ความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมของคนแต่ละแบบมีความสำคัญมาก

วิธีการที่เรานำมาอธิบายก็คือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และจัดอบรมในหัวข้อ Inter Cultural Management เพราะปัจจุบันคูโบต้าประเทศญี่ปุ่นมีการส่งพนักงานมาทำงานที่ไทยเยอะขึ้น เราจึงต้องสอนให้แต่ละฝ่ายเข้าใจวัฒนธรรมของกันและกัน จะได้ร่วมมือกันได้อย่างดีที่สุด

โครงการที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือเวลาเราจะส่งพนักงานชาวไทยออกไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน เราก็จะมีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ อย่างชัดเจนว่าอะไรที่ควรทำ อะไรที่ควรหลีกเลี่ยง โดยเอาพี่ ๆ ที่เคยผ่านจุดนั้นมาแชร์ประสบการณ์อย่างตรงไปตรงมา  กลยุทธ์นี้ก็ช่วยให้การทำงานของเราราบรื่นขึ้นมากครับ

สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นมาแล้ว สยามคูโบต้ามองทิศทางในอนาคตหลังจากนี้อย่างไรบ้างครับ ?

คุณอำนวย : เรามีการทำ Engagement Survey เพื่อรับฟังความคิดเห็นของน้อง ๆ ในทีมอยู่ตลอดเวลา เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวางนโยบายให้ตอบสนองความต้องการของทุกคนได้มากที่สุด 

หลังจากช่วงที่สยามคูโบต้าปรับเปลี่ยนมาใช้วิธีการทำงาน Work From Home ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เป็นต้นมา พนักงานของเราสามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดี เราจึงกำหนดให้ทำงานอยู่บ้านได้ประมาณสัปดาห์ละวัน หรือประมาณ 20% ของเวลาทำงาน โดยสมาชิกในทีมสามารถผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน เลือกวันหยุดกันได้เลยตามความเหมาะสม

อย่างไรก็ตามเราจึงต้องคอยสังเกตเรื่องประสิทธิผล (Productivity) จากวิธีทำงานแบบนี้เช่นกัน นอกจากนี้เราปรับรูปแบบของออฟฟิศให้มีลักษณะของ Co-Working Space ที่ดีไซน์ให้มีบรรยากาศสวยงาม อบอุ่น ส่งเสริมให้เกิดการทำงานที่สร้างสรรค์โดยพนักงานไม่จำเป็นต้องทำงานที่โต๊ะของตัวเองอีกต่อไป แต่มีพื้นที่ส่วนกลางให้รู้สึกผ่อนคลาย แบบที่ถือกระเป๋ามาออฟฟิศ แล้วจะนั่งทำงานตรงไหนก็ได้เลย

นี่คือแนวคิดที่เราทำเพื่อรองรับการทำงานในรูปแบบใหม่  โดยจัดแบ่งเป็นโซนเอาไว้ เช่นโซนเงียบสำหรับคนที่อยากใช้สมาธิ

โซนใช้เสียงสำหรับคนที่ต้องการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดอย่างจริงจัง และพื้นที่มุมกาแฟที่ใช้บริการระหว่างวันได้ฟรี เป็นต้น 

รูปแบบการทำงานของสยามคูโบต้าหลังจากนี้จึงเป็นแบบ Co-Working Space ผสมกับ Work From Home และคิดว่าเราคงใช้ลักษณะนี้ต่อไปหากไม่ได้มีผลเสียกับงานครับ รวมถึงเราเองก็สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้พนักงานทำงานอย่างเต็มศักยภาพ ให้สอดรับการทำงานในยุค Next Normal เพื่อสร้างแรงจูงใจและความพึงพอใจให้กับพนักงานมากที่สุดครับ

ขอแสดงความยินดีกับ 67 บริษัทเจ้าของรางวัล The Best Companies to Work For in Asia 2022

มาถึงคำถามสุดท้ายครับ เราอยากให้สยามคูโบต้าอธิบายว่า HR สามารถสนับสนุนการเติบโตขององค์กรได้อย่างไร ?

คุณอำนวย : HR ถือเป็นเพื่อนคู่คิด เป็น Business Partner ของธุรกิจ โดยเรามีหน้าที่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อคอยให้คำแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน

อย่างที่เรายกตัวอย่างว่าสยามคูโบต้ามีการทำ Culture Transformation ก็มาจากการที่ HR เห็นว่าโลกธุรกิจกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมาก การพัฒนาเรื่องนี้จึงถือเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาสมรรถนะ (Competency) ของพนักงานให้พร้อมต่อการเติบโตของธุรกิจ

ที่สยามคูโบต้าตอนนี้ ก็มีการสนับสนุนให้น้อง ๆ Upskill และ Reskill คือ การเปลี่ยนหรือเพิ่มทักษะใหม่ เพื่อยกระดับบุคลากรในองค์กรให้สามารถทำงานกับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะดิจิทัล (Digital Skills) และระบบทำงานอัตโนมัติ (Automation) มากขึ้น เพราะเรามองว่าเป็นทักษะที่จะช่วยให้ทุกคนเอาตัวรอดในโลกยุคปัจจุบันได้มากที่สุดครับ

Relation Tags