Search
Close this search box.

เรียนรู้นวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต : คุยเรื่องคนกับ HR สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น (Siam Kubota)

HIGHLIGHT

  • สยามคูโบต้า (Siam Kubota) คือบริษัทที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 45 ปี ขึ้นชื่อเรื่องการดำเนินธุรกิจโดยเอาความสุขของเกษตรกรเป็นที่ตั้ง  และเป็นนวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต
  • ธุรกิจด้านเกษตรกรรมไม่ได้รับผลกระทบมากนักในช่วงโควิด-19 หากเทียบกับธุรกิจอื่น ๆ ทีม HR ของสยามคูโบต้าจึงต้องแน่ใจว่าพนักงานทุกคนมีสุขภาพที่แข็งแรง และมีความสุข รวมทั้งสามารถทำงานเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่องตามความต้องการของตลาดที่กำลังเติบโต
  • สยามคูโบต้าใช้วิธีทำ Bubble & Seal เพื่อจัดพนักงานฝ่ายผลิตออกไปอยู่ในที่ปลอดภัย​ และจัดให้สวัสดิการเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังนำแพล็ตฟอร์มออนไลน์มาใช้เป็นเครื่องมือทำงานหลักในปัจจุบัน
  • สยามคูโบต้า (Siam Kubota) ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง เพราะเป็นบริษัทร่วมทุนกับประเทศญี่ปุ่น และมีการขยายสาขาไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน การรู้จักวัฒนธรรมซึ่งกันและกันจะช่วยให้การทำงานคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
  • แม้สถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้นแล้ว สยามคูโบต้าก็ยังคงไม่กลับไปใช้วิธีทำงานแบบเดิมทันที แต่เปิดโอกาสให้พนักงานแสดงความเห็นเพื่อหาแนวทางการร่วมงานที่ดีต่อทุกฝ่ายมากที่สุดแทน นี่คือแนวคิดแบบ “ใจเขา ใจเรา” ที่ช่วยให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

เรียนรู้นวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต : คุยเรื่องคนกับ HR สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น (Siam Kubota)

เมื่อพูดถึงองค์กรที่อยู่คู่คนไทยมานานและขึ้นชื่อว่าเป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยยึดถือเอาเกษตรกรเป็นที่ตั้ง ชื่อของ สยามคูโบต้า (Siam Kubota) ย่อมเป็นแบรนด์แรกที่คนไทยนึกถึงแน่นอน เพราะสยามคูโบต้ามุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและโซลูชันต่างๆ ตามแนวคิด ‘นวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต’

เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดอยู่ตลอดเวลา โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรด้วยเครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน สร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

ในโอกาสนี้ HREX.asia ขอพาผู้อ่านไปพูดคุยกับคุณ อำนวย อภิชัยนันท์ ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและบริหาร พร้อมด้วยคุณ ภูวนัฐ เบญจางค์วิศณุ ผู้จัดการส่วนอาวุโส – ทรัพยากรบุคคลและบริหารกลาง บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด (SIAM KUBOTA CORPORATION CO.,LTD.) เพื่อหาคำตอบว่าทำไมพวกเขาจึงคู่ควรกับรางวัล  Best Companies To Work For In Asia ประจำปี 2022

ในช่วงที่เกิดโควิด-19 สถานการณ์ของสยามคูโบต้า (Siam Kubota) เป็นอย่างไรบ้างครับ ?

เรียนรู้นวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต : คุยเรื่องคนกับ HR สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น (Siam Kubota)

คุณอำนวย : เราให้ความสำคัญกับเรื่องหลัก ๆ อยู่สองประเด็นกง คือเรื่องของการป้องกันและการดูแลรักษา เพราะในช่วงแรกที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น มาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐยังไม่ชัดเจน เราก็พยายามตั้งทีมงานเข้ามาศึกษาข้อมูลเพื่อหาแนวทางให้กับเรื่องนี้อยู่ตลอดครับ ส่วนในแง่ธุรกิจก็จะมีการทำ BCM (Business Continuity Management) และมีการทำแผนเผชิญเหตุ เพื่อช่วยให้การรับมือป้องกันมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทีมงานเหล่านี้จะคอยกำหนดกลยุทธ์และทิศทางให้กับเรา  

อย่างในส่วนของพนักงานที่ทำหน้าที่อยู่ในโรงงานก็ต้องดูแลอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้ส่งผลกับความต่อเนื่องในการผลิต ขณะที่พนักงานฝ่ายสนับสนุนที่ทำงานในออฟฟิศก็จะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมควบคู่กันไป เช่นการจัดหาสถานที่และจัดเตรียมทีมงานมาคอยดูแลเมื่อมีพนักงานติดเชื้อ ซึ่งทีม HR จะเป็นผู้คอยประสานงานให้ครับ

ในที่นี้ทุกคนจะสื่อสารกันตลอด หากมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก็จะสามารถรายงานให้อีกฝ่ายรับรู้ได้ทันที

เราปล่อยให้การผลิตหยุดชะงักไม่ได้เลย เพราะแม้สถานการณ์โควิดจะเป็นอย่างไร แต่แผนการขายในภาคธุรกิจก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องอยู่ดี

แปลว่าความต้องการในสินค้าของสยามคูโบต้า (Kubota) ในช่วงโควิด-19 ยังคงมีอยู่ตลอดใช่ไหมครับ ?

คุณอำนวย : ใช่ครับ ต้องบอกว่าธุรกิจในเรื่องของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย ภาคการเกษตรยังคงดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ยังคงขายได้ตามแผนครับ จะไปส่งผลกระทบหนักกับพวกธุรกิจท่องเที่ยวและการเดินทางต่าง ๆ มากกว่า

คุณภูวนัฐ : ต้องอธิบายก่อนว่า ในมุมของคนทำงานออฟฟิศอย่างพวกเราก็ได้รับผลกระทบกันทั้งหมดล่ะครับ แต่เราก็ต้องปรับเปลี่ยนแนวทาง  ปรับเปลี่ยนวิธีคิด ปรับเปลี่ยนวิธีทำงานตามมาตรการที่ภาครัฐนำมาใช้ อย่างการ Work From Home หรือทำงานอยู่กับบ้าน เราก็นำมาใช้เช่นกัน แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเราไม่เจอผลกระทบ จะเรียกว่าพลิกวิกฤตเป็นโอกาสก็ได้ครับ ถือเป็นผลดีซะด้วยซ้ำ 

คือเราจะสังเกตว่าในช่วงนั้นธุรกิจหลายอย่างต้องปิดตัวหรือหยุดพักการทำงานลง มันเลยทำให้กลุ่มคนที่อยู่ในภาคแรงงานเดิมกลับไปสู่ภาคการเกษตรแทน ก็เลยกลายเป็นว่าธุรกิจของเรามีโอกาสขายดีขึ้น เพราะคนอยากได้นวัตกรรมไปช่วยผ่อนแรงในการทำการเกษตรมากขึ้นครับ เรียกว่าภาพมันกลับกัน กลายเป็นมุมที่ดีสำหรับธุรกิจของเรา

ย้อนกลับไปเรื่องของการดูแล กับการสร้างพนักงานที่สามารถทำหน้าที่ทดแทนกันได้สักนิดหนึ่งครับ สยามคูโบต้า (Siam Kubota) มีการบริหารจัดการให้พนักงานช่วยเหลือกันอย่างไร้รอยต่อได้อย่างไร ? 

เรียนรู้นวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต : คุยเรื่องคนกับ HR สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น (Siam Kubota)

คุณภูวนัฐ : ผมขอยกตัวอย่างจากภาคของการผลิตก็แล้วกัน เรามีโครงการป้องกันชื่อ Bubble & Seal ซึ่งเป็นความรู้ใหม่แต่เราก็ต้องทำ เพราะการดูแลพนักงานฝ่ายผลิตเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เราจะขาดคนกลุ่มนี้ไม่ได้ถ้าอยากให้ธุรกิจมีความต่อเนื่อง เราก็เลยทำการ Bubble โดยการหาที่พัก ที่อยู่อาศัย และสร้างแรงจูงใจด้วยการให้เงินเพิ่มเป็นพิเศษ ในระหว่างที่เขาต้องมาทำงานที่บริษัทและห่างจากครอบครัวจากนั้นเราก็กำหนดขอบเขตให้ชัดเจน มีการจัดอาหาร ของใช้จำเป็น และมีรถรับส่งอย่างครบถ้วน นี่คือส่วนที่เราโฟกัสเป็นกลุ่มแรก เรียกว่าเป็นกลุ่ม ‘ไข่แดง’ ขององค์กร

ส่วนเรื่องทักษะของพนักงาน เราดูแลเรื่องนี้มาตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 อยู่แล้วนะ โดยเราเน้นพัฒนาเพื่อให้พนักงานมีทักษะที่จำเป็นในการหมุนเวียนกันได้เป็นหลัก   ก็เลยไม่ค่อยมีผลกระทบในส่วนนี้เท่าไร

อีกอันหนึ่งก็คือมาตรการเชิงป้องกันสำหรับพนักงานทั่วไปที่เราไม่ได้เอามาไว้ใน Bubble ของเรา เราก็จะมีการดูแลอย่างดีที่สุด เช่นในช่วงแรกที่เราไม่สามารถหาหน้ากากอนามัยหรือแอลกอฮอล์ได้ เราก็ต้องใช้ทุกวิถีทางเพื่อที่จะจัดหามาให้ได้ เพื่อมาใช้ป้องกันการติดเชื้อส่วนในองค์กรเอง เราก็พยายามป้องกันไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ทำให้เรามีอัตราการติดเชื้อของพนักงานอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ทุกคนสามารถทำงานได้อย่างสบายใจ

ในอีกด้านหนึ่งของการทำงานในช่วงโควิด-19 เนี่ย เป็นช่วงที่บีบให้เราต้องทำ Digital Transformation ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการทำงานวิถีใหม่ อย่างการใช้รูปแบบการประชุมออนไลน์ หรือ Google Meet ที่ไม่ใช่ทักษะจำเป็นนักในช่วงก่อนหน้านี้  แต่ก็เป็นวิธีทำงานที่ขาดไม่ได้ในยุคนี้ไปแล้ว

ที่สยามคูโบต้าจะมีการประยุกต์ใช้ดิจิทัลกับการทำงานเพิ่มขึ้นมาก เราก็เลยต้องมีการอบรมเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลแก่พนักงานให้เติบโตไปพร้อม ๆ กัน

ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของเราก็เช่นระบบบัญชีในการเบิกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และแจ้งจัดทำระบบข้อมูลเอกสารออนไลน์ (Memo Online) สิ่งเหล่านี้จะอยู่บนโลกออนไลน์ทั้งหมด งานของเราจะเป็นแบบไร้กระดาษ (Paperless) มากขึ้น ซึ่งทำให้การต่อยอดและติดตามจึงทำได้อย่างคล่องตัวมากขึ้นด้วยครับ

สยามคูโบต้า (Siam Kubota) ทำโครงการเพื่อสังคม เช่น ‘น้องส่งใจ’ ซึ่งเป็นหุ่นยนต์รับส่งยาและอาหาร เรื่องนี้มีที่มาอย่างไรครับ ?

เรียนรู้นวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต : คุยเรื่องคนกับ HR สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น (Siam Kubota)

คุณภูวนัฐ : คือในช่วงนั้นสยามคูโบต้าเราได้ย้อนมาดูว่าจะสามารถทำอะไรเพื่อช่วยเหลือสังคมได้บ้างครับ จากความรู้ที่เรามี ด้านการสร้างระบบการทำงานอัตโนมัติ (Automation) ซึ่งน้องส่งใจถือเป็น AGV อย่างหนึ่ง (หุ่นยนต์ขนส่งอัจฉริยะ – Automated Guided Vehicles) เป็นรถที่ขับเคลื่อนแบบวิ่งตามเส้น  น้องส่งใจจึงเป็นหุ่นยนต์ช่วยส่งยาและอาหารให้แก่ผู้ป่ายโควิด เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อของบุคคลากรทางการแพทย์

นอกจากนี้เรายังทำอีกหลายอย่างนะ เช่นในช่วงแรกที่มีคนป่วยเยอะมาก สถานพยาบาลต่าง ๆ ก็มีอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเครื่องช่วยหายใจไม่เพียงพอ หรือมีความชำรุดทรุดโทรมมาก เราก็ร่วมมือกับ SCG และสยามโตโยต้าเพื่อตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงเปิดศูนย์บริการรับซ่อมเครื่องช่วยหายใจขึ้นมา เพื่อนำบุคลากรของเรามาช่วยซ่อมอุปกรณ์เหล่านี้ ซึ่งถูกส่งมาจากสถานพยาบาลทั่วประเทศ พอเราซ่อมจนกลับมาใช้งานได้ ก็จะส่งคืนกลับไปใช้ดูแลผู้ป่วยต่อทันที

อีกส่วนที่สำคัญก็คือเรื่องของการสร้างตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet)  ให้แก่โรงพยาบาลของรัฐสำหรับใช้แยกผู้ป่วยโควิด-19

คุณอำนวย :  ในส่วนกิจกรรม CSR ของ เราคำนึงถึงสังคม และStakeholder ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้า คู่ค้า ตลอดจนพนักงานและครอบครัวของพนักงาน บริษัทของเรามีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมอยู่แล้ว อย่างที่กล่าวในข้างต้นว่าเราพร้อมดูแลพนักงานอย่างเต็มที่ในทุกวิถีทาง และเรายังให้ความสำคัญครอบคลุมไปถึงซัพพลายเออร์ที่ส่งชิ้นส่วนการผลิตมาให้เราด้วย

เรามีการตรวจสอบและทำรายงานทุกสัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่าซัพพลายเออร์เหล่านี้สามารถทำงานควบคู่ไปกับเราอย่างต่อเนื่องได้เช่นกัน

เรามองว่าต่อให้เราพร้อมผลิต แต่หากไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้เข้ามาสนับสนุน เราก็ไม่สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ออกมาได้เช่นกัน

เรียกว่าสยามคูโบต้าต้องเข้าไปดูแลทุกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของเรา 

นอกจากนี้เรายังมีเหล่าจิตอาสาที่พร้อมร่วมมือในการช่วยเหลือสังคมด้วยครับ

ในเมื่อการดำเนินงานในช่วงโควิด-19 ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แถมมีแนวโน้มทางธุรกิจไปในทางที่ดีขึ้นด้วย เราอยากรู้ว่ารูปแบบการประเมินผลของสยามคูโบต้า (Siam Kubota) เป็นอย่างไร เหมือนหรือต่างกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 หรือไม่ ?

เรียนรู้นวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต : คุยเรื่องคนกับ HR สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น (Siam Kubota)

คุณอำนวย : สำหรับเรื่องของการประเมินผลนั้น ต่อให้เราจะปรับการทำงานไปเป็นแบบ Work From Home แล้ว แต่เราก็ยังมีการตรวจสอบ ประชุม และรายงานผลกันแบบออนไลน์ครับ

สยามคูโบต้าปรับมาใช้รูปแบบออนไลน์อย่างจริงจัง น้อง ๆ ในทีมเลยได้ฝึกทักษะดิจิทัลกันเต็มที่เลย ซึ่งเราก็ได้รับความเห็นกลับมาเหมือนกันว่าพอทำงานในรูปแบบนี้ เวลาพักผ่อนก็แทบไม่มีเลย อันนี้เรารับฟังอย่างเข้าใจ และช่วยแก้ไขปัญหา แต่พอมาถึงจุดหนึ่งพนักงานได้ปรับตัวให้มี Work Life Balance ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ดีครับ

ย้อนกลับมาเรื่องของการวัดผลกันบ้าง อันนี้เราก็ยังดำเนินงานตาม Action Plan เดิม เพียงแต่ปรับให้อยู่ในแบบออนไลน์ ซึ่งรวมถึงการวัดผลและประเมินผลด้วย ในภาพรวมจึงถือว่าไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลง แล้วก็ไม่ได้มีอุปสรรคอะไรครับ

เรามาพูดถึงเรื่องของความแตกต่าง (Diversity) กันบ้างครับ อย่างที่ทราบดีว่าสยามคูโบต้า (Siam Kubota) ทำงานกับกลุ่มคนที่หลากหลาย ทั้งเรื่องของเชื้อชาติ, เพศสภาพ, วุฒิภาวะ และช่วงวัย ทางจัดการความแตกต่างเหล่านี้อย่างไรครับ

เรียนรู้นวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต : คุยเรื่องคนกับ HR สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น (Siam Kubota)

คุณอำนวย : ตอนนี้เรากำลังทำแผนในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม (Culture Transformation) อยู่เหมือนกัน แต่ถ้าพูดถึงวัฒนธรรมองค์กรดั้งเดิมของพวกเรา สยามคูโบต้าเป็นองค์กรที่ตั้งมาแล้ว 45 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาวัฒนธรรมของเรามีการปรับปรุงพัฒนาให้สอดคล้องกับยุคสมัยอยู่เสมอ

โดยเราเรียกวัฒนธรรมองค์กรในช่วงที่ผ่านมาว่า SKC People ซึ่งเป็นแนวคิดที่ใช้มา 11 ปีแล้ว แต่ตอนนี้เรากำลังจะปรับวัฒนธรรมองค์กรอีกครั้งเพื่อไปสู่จุดที่เรียกว่านวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต ซึ่งการจะก้าวไปสู่จุดนั้นได้ การยอมรับเรื่องความแตกต่างถือเป็นสิ่งจำเป็นมาก วัฒนธรรมใหม่ที่เราใช้อยู่ในตอนนี้ชื่อ SKC Life ครับ

เนื้อหาใน SKC Life จะพูดถึงเรื่องความแตกต่างมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าองค์กรในเชิงนวัตกรรมนั้นเต็มไปด้วยความหลากหลาย อย่างตอนนี้ชาว Baby Boomers ก็เริ่มน้อยลง Gen X ยังพอมีอยู่ Gen Y ถือเป็นคนส่วนใหญ่ขององค์กร และ Gen Z ก็เริ่มเพิ่มเข้ามา เราจึงต้องยอมรับความหลากหลายให้ได้ ที่สำคัญเราเป็นบริษัทร่วมทุนกับประเทศญี่ปุ่น เราจึงต้องเข้าใจวัฒนธรรมการทำงานแบบญี่ปุ่นด้วย

จะเรียกว่าสยามคูโบต้าเป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมองค์กรแบบข้ามชาติมาใช้ก็ได้ครับ

นอกจากญี่ปุ่นแล้วเราก็มีการขยายกิจการไปที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา, ลาว, พม่า ซึ่งทำให้เราต้องทำงานกับสังคมต่างชาติมากขึ้น องค์กรจึงต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ เพื่อให้ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขที่สุด

คุณภูวนัฐ : ด้วยความที่เราอยู่ในเมืองไทยมานานและทำงานกับคนหลายกลุ่มที่แตกต่างกัน สิ่งที่ต้องทำนอกเหนือจากการรับวัฒนธรรมของเขาแล้ว ก็คือการทำให้คนท้องถิ่นในประเทศนั้น ๆ ปรับตัวเข้าหาวัฒนธรรมของเราได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็น่าจะเพราะประเทศที่เราขยายไปอยู่ในอาเซียนเหมือนกัน เราจึงไม่มีปัญหาในเรื่องของการปรับตัวเข้าหากันเลยครับ

แต่ในแง่ของการเตรียมตัวก็คงนิ่งนอนใจไม่ได้ เราจะสอนให้พนักงานเข้าใจเรื่องความแตกต่างได้อย่างไร ? เพราะคงไม่ดีแน่หากการทำงานต้องติดขัดเพราะเรื่องนี้

เรียนรู้นวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต : คุยเรื่องคนกับ HR สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น (Siam Kubota)

คุณอำนวย : คำถามนี้น่าสนใจมากครับ เพราะวัฒนธรรมที่แตกต่างอาจทำให้อีกฝ่ายเข้าใจเจตนาผิดโดยไม่ตั้งใจก็ได้ เราจึงต้องอธิบายให้พนักงานเข้าใจว่าในฐานะที่เราเป็นองค์กรสากล มีบุคลากรแบบนานาชาติ ความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมของคนแต่ละแบบมีความสำคัญมาก

วิธีการที่เรานำมาอธิบายก็คือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และจัดอบรมในหัวข้อ Inter Cultural Management เพราะปัจจุบันคูโบต้าประเทศญี่ปุ่นมีการส่งพนักงานมาทำงานที่ไทยเยอะขึ้น เราจึงต้องสอนให้แต่ละฝ่ายเข้าใจวัฒนธรรมของกันและกัน จะได้ร่วมมือกันได้อย่างดีที่สุด

โครงการที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือเวลาเราจะส่งพนักงานชาวไทยออกไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน เราก็จะมีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ อย่างชัดเจนว่าอะไรที่ควรทำ อะไรที่ควรหลีกเลี่ยง โดยเอาพี่ ๆ ที่เคยผ่านจุดนั้นมาแชร์ประสบการณ์อย่างตรงไปตรงมา  กลยุทธ์นี้ก็ช่วยให้การทำงานของเราราบรื่นขึ้นมากครับ

สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นมาแล้ว สยามคูโบต้า (Siam Kubota) มองทิศทางในอนาคตหลังจากนี้อย่างไรบ้างครับ ?

bเรามีการทำ Engagement Survey เพื่อรับฟังความคิดเห็นของน้อง ๆ ในทีมอยู่ตลอดเวลา เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวางนโยบายให้ตอบสนองความต้องการของทุกคนได้มากที่สุด 

หลังจากช่วงที่สยามคูโบต้าปรับเปลี่ยนมาใช้วิธีการทำงาน Work From Home ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เป็นต้นมา พนักงานของเราสามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดี เราจึงกำหนดให้ทำงานอยู่บ้านได้ประมาณสัปดาห์ละวัน หรือประมาณ 20% ของเวลาทำงาน โดยสมาชิกในทีมสามารถผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน เลือกวันหยุดกันได้เลยตามความเหมาะสม

อย่างไรก็ตามเราจึงต้องคอยสังเกตเรื่องประสิทธิผล (Productivity) จากวิธีทำงานแบบนี้เช่นกัน นอกจากนี้เราปรับรูปแบบของออฟฟิศให้มีลักษณะของ Co-Working Space ที่ดีไซน์ให้มีบรรยากาศสวยงาม อบอุ่น ส่งเสริมให้เกิดการทำงานที่สร้างสรรค์โดยพนักงานไม่จำเป็นต้องทำงานที่โต๊ะของตัวเองอีกต่อไป แต่มีพื้นที่ส่วนกลางให้รู้สึกผ่อนคลาย แบบที่ถือกระเป๋ามาออฟฟิศ แล้วจะนั่งทำงานตรงไหนก็ได้เลย

นี่คือแนวคิดที่เราทำเพื่อรองรับการทำงานในรูปแบบใหม่  โดยจัดแบ่งเป็นโซนเอาไว้ เช่นโซนเงียบสำหรับคนที่อยากใช้สมาธิ

โซนใช้เสียงสำหรับคนที่ต้องการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดอย่างจริงจัง และพื้นที่มุมกาแฟที่ใช้บริการระหว่างวันได้ฟรี เป็นต้น 

รูปแบบการทำงานของสยามคูโบต้าหลังจากนี้จึงเป็นแบบ Co-Working Space ผสมกับ Work From Home และคิดว่าเราคงใช้ลักษณะนี้ต่อไปหากไม่ได้มีผลเสียกับงานครับ รวมถึงเราเองก็สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้พนักงานทำงานอย่างเต็มศักยภาพ ให้สอดรับการทำงานในยุค Next Normal เพื่อสร้างแรงจูงใจและความพึงพอใจให้กับพนักงานมากที่สุดครับ

ขอแสดงความยินดีกับ 67 บริษัทเจ้าของรางวัล The Best Companies to Work For in Asia 2022

มาถึงคำถามสุดท้ายครับ เราอยากให้สยามคูโบต้าอธิบายว่า HR สามารถสนับสนุนการเติบโตขององค์กรได้อย่างไร ?

คุณอำนวย : HR ถือเป็นเพื่อนคู่คิด เป็น Business Partner ของธุรกิจ โดยเรามีหน้าที่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อคอยให้คำแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน

อย่างที่เรายกตัวอย่างว่าสยามคูโบต้ามีการทำ Culture Transformation ก็มาจากการที่ HR เห็นว่าโลกธุรกิจกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมาก การพัฒนาเรื่องนี้จึงถือเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาสมรรถนะ (Competency) ของพนักงานให้พร้อมต่อการเติบโตของธุรกิจ

ที่สยามคูโบต้าตอนนี้ ก็มีการสนับสนุนให้น้อง ๆ Upskill และ Reskill คือ การเปลี่ยนหรือเพิ่มทักษะใหม่ เพื่อยกระดับบุคลากรในองค์กรให้สามารถทำงานกับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะดิจิทัล (Digital Skills) และระบบทำงานอัตโนมัติ (Automation) มากขึ้น เพราะเรามองว่าเป็นทักษะที่จะช่วยให้ทุกคนเอาตัวรอดในโลกยุคปัจจุบันได้มากที่สุดครับ

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง