“มี HR ดี ก็เหมือนมีเพื่อนคู่คิด” คุยกับ People Partner จาก Marsh PB

HIGHLIGHT

  • Marsh PB มองว่าสถานการณ์โควิด-19 เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร องค์กรก็ต้องหาทางช่วยเหลือพนักงานเท่าที่ทำได้ โดยหัวข้อที่พวกเขาให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษก็คือเรื่องปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งต่อยอดมาจากโปรแกรมช่วยเหลือพน้กงาน (EAP) ที่ถูกใช้มาก่อนแล้ว
  • Marsh PB มองว่าโลกกำลังเปลี่ยนไปหลังเกิดโควิด-19 ดังนั้นการเพิ่มทักษะให้พนักงานแบบรอบด้านจึงเป็นสิ่งสำคัญ องค์กรแห่งนี้จึงมีทั้งสื่อการเรียนรู้แบบวิชาการ และกิจกรรมสนุก ๆ ให้พนักงานเลือกเข้าร่วมได้ตามต้องการ
  • Marsh PB ให้ความสำคัญกับเรื่อง Generation Gap มาก โดยสนับสนุนเรื่องการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างคนต่างวัยเพื่อช่วยกระชับความสัมพันธ์และช่วยให้ทั้งสองฝ่ายมีมุมมองที่ใกล้เคียงกันกว่าเดิม
  • Marsh PB สนับสนุนเรื่องความหลากหลายทุกประเภท จึงมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ ตลอดจนจัดเสวนา Panel Discussion ให้ทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้อย่างสบายใจ เพื่อร่วมกันหาทางออกที่ดีที่สุด
  • คุณ Chin Chin Yang มองว่า HR มีส่วนร่วมกับการเติบโตขององค์กรมาก เพราะเป็นดั่งเพื่อนคู่คิดที่คอยร่วมตัดสินใจในประเด็นสำคัญ และเป็นดั่งตัวกลางที่คอยกระชับทุกฝ่ายให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขที่สุด

เป็นธรรมดาที่เราจะตื่นตระหนกเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ที่ไม่เคยรู้จัก และการเกิดขึ้นของโควิด-19 ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เพราะตั้งแต่โรคระบาดนี้เกิดขึ้น ธุรกิจทั่วโลกก็ต้องปรับตัวกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้องค์กรต้องกลับมาใส่ใจแง่มุมทุกอย่างอีกครั้ง ทั้งด้านกระบวนการทำงาน, กลยุทธ์, ระบบที่ใช้ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีหรือกลไกต่าง ๆ มาประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการตอบสนองค่านิยม (Value) และทัศนคติ (Mindset) อีกมากมายที่เกิดขึ้นตามกาลเวลา การอยู่รอดให้ได้ในปัจจุบันจึงต้องอาศัยการเตรียมตัวและทักษะที่ถูกต้องกว่าที่เคย

ในโอกาสนี้ HREX.asia ขอพาทุกคนไปพูดคุยกับคุณ Chin Chin Yang ซึ่งเป็น People Partner จาก Marsh PB Co., LTD ผู้เชี่ยวชาญด้านประกันชีวิตและประกันวินาศภัยระดับสากล เพื่อหาคำตอบร่วมกันว่าโควิด-19 ส่งผลต่อการทำงานอย่างไร และทำไมพวกเขาถึงเหมาะสมกับตำแหน่ง  HR Asia Best Companies To Work For In Asia ประจำปี 2022  ประจำปีที่ผ่านมา

สถานการณ์โควิด-19 ได้สร้างความยากลำบากไปทั่วโลก อยากรู้ว่าที่ Marsh PB เกิดอะไรขึ้นบ้าง ?

Chin Chin Yang : ขอบคุณสำหรับคำถามนะคะ ต้องยอมรับว่าโควิด-19 เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดเดาได้จริง ๆ และด้วยความที่มันเป็นโรคที่ไม่มีใครรู้จัก ในช่วงแรกเราก็เลยไม่รู้ว่าจะต้องรับมือกับมันอย่างไร สิ่งที่เราทำได้ก็คือการดูแลพนักงานให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเราถือว่าบุคลากรทุกคนเป็นสิ่งที่มีค่า เป็นคนที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรของเรา อะไรที่ทำได้เราก็ยินดีทำแน่นอนค่ะ

และหากจำกันได้ เหตุการณ์สำคัญในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักก็คือเรื่องของการล็อคดาวน์ ที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้คนอาศัยอยู่แต่ในบ้านเป็นหลักเนอะ ช่วงนั้นเราก็ต้องเพิ่มระดับการดูแลพนักงานขึ้นไปอีกเหมือนกัน เพราะเหมือนจู่ ๆ ชีวิตของเราก็พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือแบบไม่ทันตั้งตัว จะไปเดินเล่นนอกบ้านก็ไม่ได้ จะไปกินข้าวนอกบ้านก็ไม่ได้ ตรงจุดเรานี้เชื่อว่าทุกคนต้องใช้เวลาปรับตัวอย่างหนักไม่แพ้กันค่ะ แต่ในฐานะขององค์กร ไม่ว่าจะเจออะไรก็ต้องหาแนวทางมาสนับสนุนพนักงานให้ได้ เพราะเอาเข้าจริงโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่กับพนักงาน แต่ยังกระจายไปถึงครอบครัวได้ด้วยค่ะ ซึ่งหากสมาชิกในครอบครัวติดโควิด ทางเราก็ไม่มีปัญหาหากพนักงานจะขอลาหยุดเพื่อไปดูแลคนที่เขารัก

ดังนั้นเราจึงมีนโยบายในการสื่อสารกับพนักงานเสมอ เพื่อเช็คว่าทุกคนยังแข็งแรงดีไหม มีอาหารกินหรือเปล่า ยิ่งพนักงานที่มีครอบครัวก็อาจเจอความเครียดเมื่อต้องแบ่งเวลาระหว่างงานและการดูแลลูก ๆ เราจึงให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพจิต (Mental Wellness) มาก พนักงานทุกคนสามารถเข้าถึงนักจิตวิทยาที่องค์กรจัดเตรียมไว้ให้ได้เลย เรียกได้ว่า Marsh PB ตั้งใจดูแลพนักงานทั้งด้านร่างกายและจิตใจค่ะ

ประเด็นเรื่องสุขภาพจิตดูน่าสนใจมากครับ Marsh PB ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มานานแล้ว หรือเพิ่งมาให้ความสำคัญในช่วงที่เกิดโควิด-19 ?

Chin Chin Yang : ก่อนหน้านี้เรามีโปรแกรมช่วยเหลือพนักงาน (Employee Assistance Program – EAP) อยู่แล้วค่ะ พนักงานสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือที่จำเป็นได้ตลอด 24 ชั่วโมงเลย ดังนั้นก็ถือว่าเป็นสวัสดิการที่เรามีอยู่ก่อนแล้ว คือต้องอธิบายว่าเรื่องของโควิดเนี่ยถือเป็นเรื่องใหม่ สวัสดิการที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดก็ต้องต่างจากช่วงก่อนเกิดโรคระบาดขึ้นอยู่แล้ว บางอย่างที่เคยทำได้ก็ทำไม่ได้เมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยนไป อะไรแบบนี้ การช่วยเหลือพนักงานจึงเกิดจากแนวคิดในภาพรวมว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น องค์กรจะพอช่วยเหลือพนักงานได้ในแง่มุมไหนบ้าง

สิ่งที่เรามีเพิ่มเติมคือโครงการที่เรียกว่า FINA (Friend In Need Aider) ซึ่งเป็นโครงการที่เราคอยดูแลและเข้าหาพนักงานเพื่อสอบถามชีวิตความเป็นอยู่เป็นระยะ ซึ่งข้อแตกต่างจาก EAP คือโปรแกรมช่วยเหลือพนักงานแบบเดิม พนักจะต้องเป็นฝ่ายที่เริ่มเข้าหาหน่วยงานก่อน แต่รูปแบบใหม่ที่เราสร้างขึ้นนั้น หากผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าพนักงานมีจุดที่น่ากังวล ก็จะเป็นฝ่ายเข้าหาพนักงานก่อนทันที วิธีนี้จะช่วยให้ดูแลกันได้อย่างสมบูรณ์กว่าเดิมค่ะ

ดูเหมือนว่า Marsh PB จริงจังกับการ ดูแลพนักงานมาก ในที่นี้มีการนำระบบ Hybrid Workplace มาใช้ด้วยหรือเปล่า

Chin Chin Yang : แน่นอนค่ะ เรามีโครงการที่ชื่อว่า Flex @Marsh ที่จัดขึ้นตั้งแต่ปี 2021 ซึ่งเปิดโอกาสให้พนักงานได้ออกแบบวิธีการทำงานของตนเองตามความเหมาะสม เพื่อให้ทำงานอย่างมีความสุข และแน่ใจว่าสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

พนักงานสามารถตัดสินใจได้เลยว่าอยากทำงานที่บ้าน ที่ออฟฟิศ คาเฟ่ หรือร้านอาหารก็ได้ทั้งนั้น เอาจริงเราไม่ได้กำหนดวันเข้างานและเวลาทำงานด้วยซ้ำค่ะ สามารถวางแผนกับหัวหน้าทีมได้เลย เป็นความตกลงร่วมกัน (Mutual Agreement) เราแค่มองผลลัพธ์เป็นหลักเพราะ Marsh PB เชื่อว่าความยืดหยุ่น (Flexibility) คือรากฐานสำคัญของความเป็นไปได้อีกมากมาย สิ่งเดียวที่เราขอก็คือการอัพเดทข้อมูลเป็นระยะ ทุกคนจะได้รู้ว่าขั้นตอนต่าง ๆ อยู่ที่จุดไหนแล้ว

ที่สำคัญแม้สถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้นมาก แต่เราก็เพิ่งยืนยันกับพนักงานไปว่าโครงการ Flex @Marsh จะยังอยู่ต่อไป แต่แน่นอนว่าเราก็อยากให้พนักงานมีส่วนร่วม (Engagement) ระหว่างการมากขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่ดีและไม่ได้ทำยากเหมือนตอนที่เกิดโรคระบาด เราเลยกำหนดให้แต่ละทีมเลือกวันเข้าออฟฟิศตามใจสัปดาห์ละครั้ง ให้ทุกคนได้เข้ามาประชุมหรือเจอหน้ากันแบบตัวต่อตัว เราเน้นเรื่องนี้เพราะคิดว่าช่วงโควิด-19 ผู้คนสื่อสารกันน้อยมาก  เราต้องช่วยกระตุ้นให้ทุกฝ่ายคุยกันได้อย่างสบายใจอีกครั้ง

อีกสาเหตุหนึ่งก็คือแม้สถานการณ์โควิด-19 จะรุนแรงแค่ไหน แต่ Marsh PB ก็ยังไม่หยุดหาพนักงานใหม่ (หัวเราะ) แต่เชื่อไหมว่าบางคนยังไม่เคยเจอหน้าทีมแบบตัวเป็น ๆ หรือเห็นออฟฟิศของบริษัทเลยสักครั้ง มันเลยสำคัญมากที่จะทำให้พวกเขารู้สึกถึงความเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร (Sense of Belonging) การเจอกันยังช่วยให้ปรับตัวเข้าหาวัฒนธรรมของเราได้ง่ายขึ้น เรียกว่า Marsh PB ได้พยายามเอาความต้องการของทุกฝ่ายมาบูรณาการให้กลายเป็นระบบใหม่ที่เหมาะสมกับทุกคนค่ะ

แล้วในช่วงที่ โควิด-19 ระบาด Marsh PB มีวิธีพัฒนาทักษะของพนักงานอย่างไรอีกบ้าง ?

Chin Chin Yang : เรามีแพลตฟอร์มการเรียนรู้ของเราอยู่แล้วค่ะ และเราก็ไม่ได้บังคับว่าต้องเรียนเรื่องอะไรเป็นพิเศษนะ ทุกคนสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่สนใจได้เลย (Personalized) นอกเหนือจากว่าเป็นหลักสูตรที่เรากำหนดไว้จริง ๆ เช่นเรื่องของการพัฒนาทางอาชีพ (Career Progression) เพราะปรัชญาที่สำคัญอย่างหนึ่งของเราคือการเลื่อนขั้นจากคนใน (Promote from Within) หากเป็นกรณีนี้ เราก็จะเข้ามาช่วยเหลือเพื่อวางแผนการเรียนรู้ให้พนักงานคนดังกล่าวเติบโตอย่างถูกต้อง สามารถก้าวไปสู่จุดที่ตั้งเป้าเอาไว้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

คำถามนี้จะไม่ถามก็ไม่ได้ครับ เพราะ Marsh PB ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับประกันภัยโดยตรง เราอยากรู้ว่าสถานการณ์ของบริษัทในช่วงโควิด-19 เป็นอย่างไรบ้าง ?

Chin Chin Yang : เอาเข้าจริงเราก็เจอปัญหาไม่ต่างจากทุกคนนะ เพราะระบบนิเวศ (Ecosystem) ทางธุรกิจมีการชะลอตัวไปทั่วโลกเลย องค์กรต่าง ๆ ก็เลยระมัดระวังในการใช้จ่ายมากเป็นพิเศษ เรียกว่าสถานการณ์ของเราก็สอดคล้องไปกับสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้นค่ะ

คิดว่าองค์กรของคุณในช่วงก่อนและหลังโควิดมีความแตกต่างกันอย่างไร ?

Chin Chin Yang : ฉันคิดว่ามุมมองและทัศนคติของคนเปลี่ยนไปนะ ในแง่บริษัท ไม่ว่าสถานการณ์โลกจะเกิดอะไรขึ้น เราก็ยังต้องทำงานต่อไปเหมือนเดิม แต่ในช่วงนั้น Marsh PB ก็ย้ำกับพนักงานเสมอว่าทุกคนควรหาอะไรทำเพิ่มเติมด้วยนะ จะได้มีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น

เราได้จัดกิจกรรมเพิ่มทักษะทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นคลาสเรียนทั่วไป หรือแม้แต่คลาสสอนศิลปะการต่อสู้อย่างคิกบ๊อกซิ่ง (Kickboxing) เยอะแยะไปหมด วิธีนี้นอกจากจะช่วยแก้เบื่อให้พนักงานที่โดนกักตัวอยู่บ้านแล้ว ยังช่วยลดความเครียดในแต่ละวันได้ด้วยค่ะ

ทีนี้พอพนักงานได้ลองทำกิจกรรมใหม่ ๆ บางคนก็กลายเป็นแฟนกีฬาชนิดนั้น หรือกลายเป็นผู้ชำนาญ ในหัวข้อที่เขาเลือกเรียนโดยไม่รู้ตัว ทำให้พอสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น เราก็ได้พนักงานที่มีพลังสร้างสรรค์มากกว่าเดิม

อีกด้านหนึ่งคือเมื่อพนักงานต้องอยู่ที่บ้านเป็นเวลานาน เราก็ได้พนักงานที่อยากกลับมาทำงานในออฟฟิศมากขึ้น ได้พนักงานที่มีส่วนร่วมกับองค์กรมากกว่าเดิม พูดง่าย ๆ ว่ามีทั้งเรื่องดีและร้ายจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งหากองค์กรมีรากฐานที่แข็งแรง เราก็จะเปลี่ยนสถานการณ์ที่เลวร้ายให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้เช่นกัน

เราเปลี่ยนไปพูดถึงเรื่องของความแตกต่าง (Diversity) ซึ่งเป็นหัวข้อหลักของงาน HR Asia กันบ้างดีกว่าครับ Marsh DB เป็นองค์กรสากล จึงต้องรับมือกับวัฒนธรรมที่หลากหลาย อย่างคุณเองก็อยู่ที่ประเทศมาเลเซียซึ่งมีความเชื่อทางศาสนาที่ชัดเจนมาก ดังนั้นเราจะออกนโยบายที่เหมาะกับพนักงานโดยไม่ขัดแย้งกับค่านิยมในสังคมและศาสนาได้อย่างไร ?

Chin Chin Yang : เป็นคำถามที่ดีนะ อย่างเรื่องของ LGBTQ+ ที่เกิดข้อถกเถียงระหว่างคนที่ยึดถือแนวทางของศาสนากับคนที่ยึดถือในสิทธิส่วนบุคคล เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ดังนั้นการให้ความรู้จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด 

ในมาเลเซียเอง ตั้งแต่ประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา ก็มีการรณรงค์ให้องค์กรทั่วประเทศสนับสนุนเรื่องความแตกต่างและความเท่าเทียม (Equity) มากขึ้น สิ่งที่เรารู้จากสถานการณ์นี้ก็คือนโยบายแบบ One Size Fit All ไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป อย่างสิ่งที่เราควรใช้ในประเทศไทยกับมาเลเซียก็ย่อมแตกต่างกันใช่ไหมคะ

ที่ Marsh PB เนี่ย เรามีการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ มีการจัดเสวนาแบบ Panel Discussion เลยด้วย ซึ่งองค์กรก็เปิดโอกาสให้พนักงานสามารถแสดงความเห็นได้เลย ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายด้านความเท่าเทียมในองค์กรก็ตาม เราต้องเอาเหตุผลมาคุยกัน จะได้เจอทางออกที่เหมาะกับทุกคนที่สุดค่ะ

ในเบื้องต้น สิ่งที่เราทำได้อีกก็คือการสร้างสภาพแวดล้อมในองค์กรให้ปลอดภัย (Safety Environment) ทุกคนสามารถแสดงออกตามความเชื่อของตนได้เลย โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดอันตรายหรือถูกตัดสินอย่างไม่เป็นธรรม

แต่จะทำอย่างไรถ้าพนักงานแต่ละคนมีมุมมองต่างกันอย่างสิ้นเชิง ?

Chin Chin Yang : อย่างที่บอกไปค่ะว่าการให้ความรู้เป็นเรื่องสำคัญมาก นอกจากนั้นก็คือเรื่องวิธีการสื่อสาร เราต้องทำให้พวกเขาเข้าใจว่าองค์กรไม่ได้มีเจตนาที่จะเปลี่ยนความคิดหรือก้าวก่ายความเชื่อของใคร กลับกัน Marsh PB เพียงแค่นำเสนอข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดการถกเถียง และทำให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้เท่านั้น

HR เองก็ต้องเปิดใจฟังนะ คือถ้าพนักงานรู้สึกสบายใจที่จะเข้าหาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับฝ่ายบุคคลมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งออกแบบนโยบายที่ตรงความต้องการของพนักงานได้มากขึ้นเท่านั้น

ในที่นี้พนักงานก็ต้องเข้าใจอีกว่าเราไม่ได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาแบบมืออาชีพในด้านนี้โดยตรงน่ะค่ะ  เอาเป็นว่าจะช่วยให้เต็มที่เพื่อหาทางออกที่ดีขึ้นให้ก็แล้วกัน

นอกเหนือจากเรื่องเพศสภาพแล้ว ความแตกต่างในองค์กรสามารถเกิดได้จากอายุ (Generation Gap) เช่นกัน Marsh PB แก้ไขปัญหานี้อย่างไร ?

Chin Chin Yang : องค์กรของเรามีพนักงานหลายช่วงวัยมากนะ และเราก็ไม่ทิ้งใครเลย HR จะคอยตรวจเช็คอยู่เสมอว่าความต้องการของคนแต่ละแบบเป็นอย่างไร มีความสุขในการทำงานดีหรือไม่ กลับไปเรื่องเดิมคือนโยบายเดียวไม่สามารถใช้ดูแลทุกคนได้อีกแล้ว แนวคิดสำคัญคือเราต้องไม่ปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่งรู้สึกว่าเขาเป็นคนกลุ่มน้อยในองค์กรหรือถูกละเลยโดยเด็ดขาด

เรารู้ว่ากลุ่ม Gen Z เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในองค์กรจริง ๆ ค่ะ ทาง Marsh PB เลยมีมาตรการมาดูแลเรื่องนี้โดยตรง เรียกว่า Marsh Early Career & Graduate Program ซึ่งจะช่วยให้คนรุ่นใหม่เข้าใจภาพรวมของงานและรู้จักวัฒนธรรมองค์กรมากยิ่งขึ้นภายใต้การดูแลของผู้บริหารและหัวหน้าทีมโดยตรง ซึ่งคนที่ดูแลเรื่องนี้ก็ต้องเข้าใจว่าเด็กที่จบใหม่ยังขาดประสบการณ์ จะเอาความคาดหวังที่เป็นไปไม่ได้ไปโยนใส่ก็ไม่ถูกต้อง เรียกว่าการดูแลแบบใจเขาใจเราจะช่วยให้ทุกคนเติบโตอย่างแข็งแรงขึ้นค่ะ

อีกด้านหนึ่งเรามีนโยบายเรียกว่า Reverse Coaching ด้วย คือเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่สามารถสอนพนักงานรุ่นเก่าในองค์กรได้เลย แล้วเชื่อไหมว่าเรื่องง่าย ๆ อย่างการสอนให้ผู้ใหญ่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์ก็เป็นประโยชน์ต่อองค์กรได้นะ คือเราอยากให้มันดูเป็นเรื่องง่าย ๆ น่ะค่ะ แต่ละฝ่ายจะได้เรียนรู้จากกันอย่างสบายใจ เรียกง่าย ๆ ว่ามันคือการ Mentoring ที่นำไปสู่ Knowledge Sharing ค่ะ 

มาถึงคำถามสุดท้ายแล้วครับ อยากให้ช่วยสรุปว่า “HR สามารถสนับสนุนการเติบโตขององค์กรได้อย่างไร” ?

Chin Chin Yang : HR มีส่วนมาก ๆ ในเรื่องการเติบโตขององค์กรค่ะ เราคือเพื่อนคู่คิดทางธุรกิจ (Business Partner) ที่รู้ว่าองค์กรขาดอะไร และต้องเพิ่มเติมในส่วนใด นอกจากนี้ก็จะช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและองค์กร  ช่วยกระตุ้นโน้มน้าวให้พวกเขาทำตามนโยบายที่วางเอาไว้ คอยดูแลให้ทุกคนรู้สึกอบอุ่นและมีพลังในฐานะคนสำคัญขององค์กร หาก HR ดี องค์กรก็จะเติบโตอย่างดีได้แน่นอนค่ะ

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง