Brother การปฎิวัติของยุคดิจิตอล กับการปรับวัฒนธรรมองค์กรสู่โลกยุคใหม่

ในกระแส Digital Disruption ยุคนี้ องค์กรที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดอาจเป็นองค์กรขนาดใหญ่เก่าแก่ที่ดำเนินธุรกิจมายาวนาน องค์กรในลักษณะนี้บ้างก็มีคนเปรียบว่าเหมือนเต่าคลาน ที่เชื่องข้า และปรับตัวไม่ทัน สุดท้ายก็อาจล้มตายไปในยุคใหม่นี้ในที่สุด แต่ในทางตรงกันข้ามก็มีคนบอกว่าองค์กรแบบนี้แหละคือสิงโต เคลื่อนที่อย่างรอบคอบ ชาญฉลาด มีวิสัยทัศน์ และมีเม็ดเงินมากพอที่จะผลักดันให้องค์กรเปลี่ยนแปลงสู่โลกยุคใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

วันนี้เราขอพูดถึงองค์กรในอย่างหลังที่เป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของการปรับตัว องค์กรที่ว่านี้เป็นบริษัทข้ามชาติสัญชาติญี่ปุ่นที่เก่าแก่มีอายุมากกว่า 100 ปีเลยทีเดียว เรากำลังพูดถึง Brother Industries, Ltd. ที่นอกจากจะมีผลิตภัณฑ์มากมายในมือแล้วก็ยังขยายตลาดทำธุรกิจไปทั่วโลกด้วย แล้วนี่ก็คือเป็นยักษ์ใหญ่แดนอาทิตย์อุทัยที่ขยับตัวได้ไวและเปลี่ยนแปลงได้ทันเวลาอีกตนหนึ่งเช่นกัน ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้องค์กรก็ได้มีการทำ Organization Transformation พร้อมกับปรับเปลี่ยนนโยบายองค์กรตลอดจนการทำงานใหม่ให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงการปรับวัฒนธรรมองค์กรที่ถอดคราบความเป็นญี่ปุ่นดั้งเดิมสู่ความเป็นญี่ปุ่นแบบสากลได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว

หนึ่งในนโยบายสำคัญที่โดดเด่นเป็นอย่างมากก็คือการเริ่มสนับสนุนให้คนท้องถิ่นที่มีศักยภาพขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรในภูมิภาคต่างๆ แทนการส่งคนญี่ปุ่นมานั่งกุมบังเหียนเหมือนแต่ก่อน ซึ่งคนท้องถิ่นเหล่านี้จะรู้จักตลาดและผู้บริโภคได้ดีกว่าคนญี่ปุ่นที่ถูกส่งมาอยู่แล้ว สำหรับ Brother Commercial (Thailand) Ltd. ของไทยนั้น ทางญี่ปุ่นก็ไว้วางใจให้คนไทยมากศักยภาพอย่าง คุณวู้ดดี้-ธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ ขึ้นมารับตำแหน่ง Managing Director ผู้บริหารสูงสุดในเมืองไทย ณ ขณะนี้ ซึ่งนี่คือการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญหลังจากที่ก่อนหน้ามีเฉพาะชาวญี่ปุ่นเท่านั้นที่ถูกส่งมานั่งตำแหน่งบริหารสูงสุดนี้ แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ค่อนข้างจะฉีกธรรมเนียมเดิมๆ ขององค์กรญี่ปุ่นไปโดยสิ้นเชิง แต่ก็กลับสร้างความน่าสนใจในการติดตามขึ้นมาเช่นกันว่าการขยับตัวปรับเปลี่ยนครั้งนี้จะประสบความสำเร็จเพียงใด

Q : ธุรกิจขององค์กรกับสถาการณ์ในยุคปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง

A : ก่อนที่จะพูดถึงสถานการณ์ธุรกิจในปัจจุบัน ผมขออนุญาตเล่าปูพื้นถึงธุรกิจของเราตั้งแต่เริ่มแรกกันก่อนแล้วกันนะครับ สำหรับ Brother เป็นบริษัทที่ก่อตั้งในประเทศญี่ปุ่นโดยเริ่มทำธุรกิจมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1908 ซึ่งปัจจุบันนี้บริษัทของเราก็มีอายุมากกว่า 100 ปี และมีการขยายกิจการออกไปทั่วโลกซึ่งก็รวมถึงในเมืองไทยด้วยครับ สำหรับในเมืองไทยเอง Brother เริ่มเข้ามาเมื่อช่วงปี ค.ศ.1997 นับถึงวันนี้ก็มากกว่า 20 ปี แล้วที่เรานำเอาสินค้าคุณภาพมาบริการให้กับคนไทย

หลายคนเห็นชื่อบริษัทของเราก็อาจจะคุ้นเคยกันดีว่าเป็นแบรนด์ของเครื่อง Printer ซึ่งนั่นก็คือผลิตภัณฑ์หลักของเราที่มีอัตราส่วนเกือบ 90% ของบริษัท นอกจากนี้เราก็ยังมีโปรดักส์อื่นๆ อีกด้วยครับ ที่คนไทยรู้จักรองลงมาหน่อยก็จะเป็นจักรเย็บผ้าซึ่งนี่ถือว่าเป็นสิ้นค้าดั้งเดิมแรกสุดของแบรนด์เลยก็ว่าได้ที่เริ่มวางจำหน่ายมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นใน ค.ศ.1908 แล้วก็พัฒนาเทคโนโลยีเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนสินค้าอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมในลำดับต่อๆ มาก็จะเป็นพวก Scanner แล้วก็เครื่องพิมพ์ฉลากครับ แต่สำหรับสินค้าใหม่ล่าสุดที่เรานำเข้ามาทำตลาดและได้รับความสนใจไม่น้อยทีเดียวก็คือเครื่องเล่นคาราโอเกะครับผม ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะเป็นผลิตภัณฑ์และธุรกิจของเราในเมืองไทยครับ

Q : รู้สึกอย่างไรบ้างที่ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทญี่ปุ่นให้เป็นคนไทยคนแรกที่ขึ้นมาบริหาร นั่งตำแหน่งสูงสุดขององค์กรในเมืองไทย

A : จริงๆ จะเรียกว่าเป็นคนไทยคนแรกที่ขึ้นมานั่งในตำแหน่งบริหารก็ไม่ถูกเสียทีเดียวครับ เพราะก่อนหน้าก็เคยมีคนไทยที่ช่วยบริหารธุรกิจในช่วงก่อตั้งบริษัทในเมืองไทยยุคแรกๆ มาก่อนเหมือนกัน แต่เท่าที่ผมทำงานกับที่นี่มานานก็จะเป็นคนญี่ปุ่นที่นั่งในตำแหน่งบริหารสูงสุดมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนผู้บริหารใหม่มาแล้วหลายครั้งก็ยังคงเป็นคนญี่ปุ่นอยู่เช่นเดิม จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ก็มีการปรับนโยบายองค์กรของ Brother ใหม่ตามการเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเป้าหมายใหม่นั้นทาง Brother อยากสนับสนุนคนใหม่ๆ สนับสนุนคนท้องถิ่นให้เข้ามาบริหารงาน เพราะคนท้องถิ่นจะเข้าใจตลาดของตัวเองได้ดีกว่าคนญี่ปุ่นแน่นอน นั่นก็เลยเป็นหนึ่งในที่มาที่ทาง Brother ให้โอกาสผมขึ้นมานั่งในตำแหน่ง Managing Director ของ Brother ประเทศไทยครับ เพราะเห็นเราทำงานกับองค์กรมานาน และความสามารถเราก็น่าจะช่วยพัฒนาธุรกิจได้ไกลด้วย ก็ต้องขอขอบคุณทางญี่ปุ่นที่ไว้ใจให้ผมทำงานนี้ด้วยครับ

Q : คิดว่าอะไรเป็นเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้เราเอาชนะใจคนญี่ปุ่นได้ และขึ้นมายืนอยู่ตรงจุดนี้อย่างภาคภูมิ

A : จริงๆ ผมไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ขึ้นมาเป็น MD เลยด้วยซ้ำครับ เพราะว่าปกติแล้วแต่ละประเทศที่ Brother เข้าไปทำธุรกิจนั้นก็จะมี MD เป็นคนญี่ปุ่นเสียส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในโซนอาเซียนนี้ธุรกิจเราค่อนข้างใหญ่มาก สัดส่วนยอดขายของประเทศไทยจะอยู่ที่ประมาณ 42% เลยทีเดียว เราก็ยิ่งไม่คิดว่าเขาจะยอมให้คนไทยขึ้นมาบริหารนะ เพราะตลาดมันใหญ่

แต่แล้วเขาก็ให้โอกาสคนไทยขึ้นมาบริหาร ผมก็เคยลองนั่งคิดดูว่าน่าจะเป็นเพราะอะไร ซึ่งผมก็มองได้ว่าน่าจะเป็นเรื่องการปรับนโยบายระดับโลกใหม่ เพราะเมื่อช่วง 3-4 ปีที่แล้วทาง Brother มีการประกาศนโยบาย Transformation For the Future ครับ เพื่อปรับองค์กรให้สู่การทำธุรกิจในยุคใหม่นี้ ซึ่งรายละเอียดของนโยบายนี้ก็จะแตกออกเป็น 3 เรื่องด้วยกัน คือ Business Transformation, Operation Transformation แล้วก็ Talent Transformation ซึ่ง Talent Transformation นี้คือการผลักดันให้ผู้ที่มีความสามารถได้มีโอกาสในการบริหารงานในตำแหน่งที่สูงขึ้น

CR : Facebook > Brother (Thailand) 

ผมอยู่ที่นี่มา 11 ปีแล้วครับ เค้าก็คงเห็น Performance ของเรามาโดยตลอด ผมเริ่มต้นเข้ามาทำงานที่ Brother ประเทศไทยตอนปี ค.ศ.2008 ตอนนั้นเข้ามารับตำแหน่งเป็น GM ในส่วนของ Service Marketing ครับ ทำงานตรงนี้ได้ 5 ปี ก็ได้รับการโปรโมตขึ้นมาเป็น Director ซึ่งตรงนี้ในองค์กรญี่ปุ่นเทียบเท่าได้กับการเป็นกรรมการบริษัท จากนั้นอีก 5 ปี ซึ่งก็คือปี ค.ศ.2019 ทางบริษัทก็โปรโมทให้ผมขึ้นมาเป็น Managing Director ที่เป็นผู้บริหาร Brother ประเทศไทย ผมว่าสิ่งที่เราพยายามทำงานอย่างตั้งใจมาตลอดสิบกว่าปีนั้นทำให้เขาเห็นศักยภาพเราแล้วว่าสามารถที่จะนำพาบริษัทและธุรกิจในเมืองไทยให้ไปได้ดี เพราะที่ผ่านมาผลประกอบการของประเทศไทยก็บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ตลอด ซึ่งนั่นก็ทำให้ผู้บริหารเชื่อมือ เชื่อใจผม และผลักดันให้ผมขึ้นมาบริหารตรงจุดนี้ครับ

Q : การทำงานในบริษัทญี่ปุ่นที่มีวัฒนธรรมองค์กร (Organization Culture) ค่อนข้างเฉพาะตัวนั้นมีความยากง่ายอย่างไรบ้าง มีการปรับตัวอย่างไรให้อยู่ได้ในระยะยาว และแตกต่างจากองค์กรอื่นที่เคยทำมาหรือไม่ อย่างไร

A : ผมค่อนข้างที่จะโชคดีที่เคยทำงานหลากหลายองค์กรหลากหลายวัฒนธรรม ตั้งแต่บริษัทคนไทย บริษัทอเมริกัน แล้วก็บริษัทญี่ปุ่น ก็เลยเห็นความแตกต่างในหลายๆ มิติของการทำงานทั้ง 3 รูปแบบ 3 วัฒนธรรม อย่างของบริษัทคนไทยสิ่งที่ค่อนข้างจะเด่นเลยก็คือเรื่องของความยืดหยุ่น ยิ่งองค์กรที่ทำธุรกิจครอบครัวด้วยแล้วยิ่งมีความยืดหยุดสูง บางอย่างอะลุ่มอล่วยกันได้ พูดคุยกันได้ ปรับกันได้ แต่ก็กลายเป็นข้อเสียในบางครั้งนะครับ เพราะความอะลุ่มอล่วยมากเกินไปก็ทำให้เราไม่มีวินัย ไม่มีบรรทัดฐานที่ชัดเจน ระบบงานก็เสียได้เช่นกัน

ส่วนบริษัทอเมริกันก็จะมีความเป็นระบบแบบตะวันตกสูง สิ่งที่ชัดเจนเลยก็คือเรื่องของการมุ่งเน้นผลลัพท์ของการทำงานเป็นสำคัญ (Result Oriented) คุณจะทำอย่างไรก็ได้ หาวิธีทำทางไหนก็ได้ บริษัทจะสนว่าผลลัพธ์ของเราที่ออกมาเป็นอย่างไร ได้ตามที่ต้องการไหม ในความอิสระมากก็มีความกดดันมากเช่นกัน เพราะหากผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ หรือผลลัพธ์ออกมาไม่ดีเท่าไร บริษัทที่เคี่ยวมากๆ ก็อาจจะเชิญคุณออกจากบริษัทเลยถ้าทำในสิ่งที่เขาต้องการไม่ได้ ก็ถือว่าไม่มีศักยภาพ แต่ถ้าคุณทำให้เขาได้ ผลลัพธ์ออกมาตามที่หวังหรือเกินคาด เขาก็จะดูแลคุณดีมาก ค่อนข้างแฟร์ในเรื่องการจ้างงานกับเรา และให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าเลยทีเดียว

CR : Facebook > Brother (Thailand) 

ในส่วนของบริษัทญี่ปุ่นนี่ก็จะเป็นไปในอีกทิศทางเลย คือองค์กรญี่ปุ่นค่อนข้างที่จะเน้นกระบวนการ (Process Oriented) ต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้อง ชัดเจน เป็นลำดับขั้นตอนตามกระบวนการที่วางไว้ ส่วนเรื่องของผลลัพธ์ (Result) จะเป็นเรื่องรองลงมา ถ้าคุณทำทุกอย่างตามกระบวนการได้อย่างถูกต้องแล้ว ถึงแม้จะไม่บรรลุเป้าหมายที่บริษัทวางไว้ ก็จะรับฟังเหตุผล แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่คุณทำผิดเพี้ยนไปจากกระบวนการที่บริษัทวางไว้ หรือมีการซิกแซก ตรงนี้เขาจะรับไม่ได้ ต่อให้คุณภาพผลงานออกมาดีแค่ไหนก็ตาม ถ้าผิดเขารับไม่ได้ทันที ข้อดีของบริษัทญี่ปุ่นก็คือมีความจงรักภักดีกับองค์กรสูง ทุ่มเทเพื่อองค์กรเต็มที่ มีระบบการทำงานเป็นทีมที่ดี ในขณะเดียวกันองค์กรก็จะดูแลคุณไปในระยะยาวอีกด้วย

ในส่วนของ Brother เองถึงแม้จะเป็นบริษัทญี่ปุ่นเก่าแก่ แต่ผมมองว่าเป็นองค์กรที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบดั้งเดิมเท่าไรนัก พร้อมปรับเปลี่ยนให้ทันโลกตลอดเวลา แต่ก็ยังคงรักษาข้อดีของการบริหารงานแบบญี่ปุ่นอยู่ อย่างที่บอกไปว่าหลังจากที่เรามีการปรับองค์กรและตั้งนโยบายองค์กรใหม่ Transformation For the Future ทำให้มีการปรับเปลี่ยนอะไรหลายอย่างให้ดีขึ้น ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือการให้โอกาสคนท้องถิ่นขึ้นมานั่งเป็นผู้บริหาร รวมถึงการทำ Talent Transformation กับพนักงานที่มีศักยภาพขององค์กรที่องค์กรก็พร้องจะส่งเสริมคนใหม่ๆ ให้ก้าวหน้าโดยวัดจากศักยภาพและขีดความสามารถของแต่ละคน ไม่ใช่วัดจากอายุงานหรือความอาวุโสเป็นหลักเหมือนในยุคที่ผ่านๆ มา เป็นต้น ซึ่งการที่ผมผ่านงานมาในวัฒนธรรมต่างรูปแบบกันมันทำให้ผมได้เห็นการบริหารองค์กรหลากหลายรูปแบบ ตรงนี้ผมก็นำข้อดีในหลายๆ ส่วนมาผสมกันใช้กับการบริหารงานของผมด้วยครับ ซึ่งมันก็เป็นประโยชน์มากทีเดียว

Q : การเกิด Business Disruption ในยุคดิจิตอลนี้ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ขององค์กรอย่างไรบ้าง และมีการปรับตัวอย่างไร

A : ในส่วนของธุรกิจผมมองว่าอาจจะยังกระทบไม่ชัดเจนนัก เพราะผลิตภัณฑ์ของเราก็ยังคงอิงกับเทคโนโลยีอยู่ และยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคยังใช้กันอยู่ แต่แน่นอนว่าการบริโภคก็ลดลงจากเมื่อก่อนมาก เทรนด์ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องของ Printer ที่ในโลกของดิจิตอลและโลกที่คนใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมรวมถึงความยั่งยืนนี้ก็จะมีการพิมพ์ที่น้อยลงเรื่อยๆ ฉะนั้นเราก็จะต้องมานั่งคิดว่าเราควรจะทำอย่างไรที่จะทำให้ธุรกิจเราอยู่รอดต่อไปได้

จริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้รับผลกระทบเรื่องนี้คนเดียว เพราะบริษัทคู่แข่งที่อยู่ในตลาดเดียวกันกับเราก็โดนเหมือนกันหมด ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะปรับตัวได้เร็ว เปลี่ยนแปลงได้ว่องไว ก็ต้องแข่งกันเปลี่ยนเพื่อให้อยู่รอดให้ได้ ใครที่ไปไม่รอดก็ต้องล้มหายตายจากกันไป นอกจากผลิตภัณฑ์แล้ว ระบบการทำงาน (Operation Process) หลังบ้านก็สำคัญเหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่อง Digital Disruption ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมาก ไม่ว่าองค์กรไหนๆ ธุรกิจไหนๆ ก็ต้องรับมือและปรับเปลี่ยนทั้งนั้น ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องปรับเปลี่ยนเอา Digital มาใช้ประโยชน์กับองค์กรให้ได้มากขึ้น เอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจ ปรับการทำงานในองค์กรให้มีประสิทธิภาพขึ้น ซึ่งนอกจาก Digital จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรแล้ว มองไปอีกขั้นมันสามารถช่วยลดงบประมาณต่างๆ ให้กับองค์กรได้ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็สำคัญไม่แพ้กันในการบริหารองค์กรยุคดิจิตอลนี้

Q : นโยบายขององค์กรที่ปรับเปลี่ยนสู่ยุคใหม่มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง

A : พนักงานของ Brother ทั่วโลกจะมี Bible ที่เป็นแนวทางในการทำงานแบบเดียวกัน เรียกได้ว่าเป็น Global Charter ซึ่งจะเป็นหลักการทำงานที่ทุกคนควรยึดถือร่วมกัน ไปจนถึงผู้บริหารควรทำงานแบบไหน อะไรอย่างไร ตลอดจน Direction ของบริษัทที่เราจะเดินไปทางไหน และทำเพื่ออะไร ในแง่ของ Code of Conduct เราก็มี 3 เรื่องหลักๆ นั่นก็คือ 1.Trust & Respect 2.Ethic & Morality แล้วก็ 3.Challenging Spirit & Speed ซึ่งเป็นแนวทางในการทำงานที่ทาง Brother จัดทำขึ้นมาเพื่อใช้ร่วมกันทั่วโลก

อีกอย่างที่ทาง Brother ปลูกฝังให้กับพนักงานทุกคนก็คือการใส่ใจในส่วนอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเรื่องของธุรกิจด้วย เวลาที่ทาง Brother เข้าไปทำธุรกิจในประเทศไหนๆ ก็แล้วแต่องค์กรจะใส่ใจใน 6 ส่วนประกอบนี้เป็นอย่างมาก ตั้งแต่ ผู้ถือหุ้น (Stakeholder), พนักงานบริษัท, ลูกค้า, คู่ค้าทางธุรกิจต่างๆ (Business Partners), สิ่งแวดล้อม, แล้วก็ชุมชน ซึ่งทุกอย่างล้วนแล้วแต่เอื้อประโยชน์กันและกัน ไปจนถึงทำให้สังคมที่อยู่ดีขึ้นได้ นั่นเป็นหลักการที่ดีที่เราตั้งใจปลูกฝังให้กับพนักงานและผู้บริหารทุกคนด้วย

Q : แล้วมีนโยบายในการดูแลพนักงานให้อยู่กับองค์กรในระยะยาว รวมถึงแผนการพัฒนาศักยภาพของพนักงานอย่างไร

A : อันดับแรกเลยก็คือเรื่องเงินเดือนกับสวัสดิการ ฝ่าย HR ของเราจะมีการประเมินเทียบกับบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันด้วย เพื่อให้เกิดอัตราที่เหมาะสม คุ้มค่า และไม่เอารัดเอาเปรียบ ตรงนี้เราพยายามสร้างบรรทัดฐานที่ยุติธรรมให้กับพนักงานเราด้วยครับ ในส่วนใดที่ดีกว่ามาตรฐาน ก็จะมีการพิจารณาเป็นกรณีไป เพื่อเป็นการตอบแทนให้เหมาะสมด้วยเช่นกัน อีกปัจจัยที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ค่อนข้างมากก็คือการประเมินผล ซึ่งเราจะวัด KPI เพื่อนำมาประเมินผลงานในหลายๆ ด้าน รวมถึงการปรับขึ้นเงินเดือนด้วย ซึ่งก็ตามศักยภาพของแต่ละคนเลยครับ

CR : Facebook > Brother (Thailand)

Q : การก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรในครั้งนี้ มีหลักการในการบริหารคนอย่างไรบ้าง

A : ในส่วนของการบริหารองค์กร ผมจะมีหลัก 5 ข้อที่อยากให้ทุกคนยึดถือร่วมกัน แล้วก็ทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข หลักการนี้ก็คือ FORCE ซึ่งเป็นการนำตัวย่อจากคำภาษาอังกฤษต่างๆ มารวมกัน โดยแยกย่อยเป็นรายละเอียดดังนี้ครับ

F.O.R.C.E

F – Fast Action : ทำงานรวดเร็ว ตอบสนองทันท่วงที

O – Open Discussion : คุยกันให้เข้าใจ สื่อสารกันให้เคลียร์ สนทนาได้ทุกเรื่อง

R – Responsibility : มีความรับผิดชอบ

C – Creasitive Thinking : Creasitive มาจากคำว่า Creative + Positive นอกจากจะมีความคิดเชิงบวกแล้ว ก็ควรเป็นความคิดเชิงสร้างสรรค์ด้วย

E – Enjoy Working : มีความสุขในการทำงาน

ผมจะเป็นคนทำงานค่อนข้างเร็ว แล้วยิ่งในยุคนี้อะไรทุกอย่างมันเร็วไปหมด ถ้าเราช้าก็อาจเสียโอกาสได้ ฉะนั้น F – Fast Action จึงสำคัญ แต่ก็ต้องเร็วบนพื้นฐานที่รอบคอบ ไม่ทำลวกๆ เร็วแต่ไม่มีคุณภาพก็ไม่ได้เหมือนกัน แล้วถ้าช้าคุณก็ไม่ทันกิน ไม่ทันคนอื่นเหมือนกัน ต้องฝึก Action ให้มันเร็วขึ้น ส่วน O – Open Discussion นั้นผมรู้สึกว่าคนเราถ้าได้มานั่งคุยกันแล้วมันจะช่วยแบ่งเบาอะไรได้เยอะ ผมเชื่อว่าทุกปัญหามันจะสามารถแก้ไขได้ การมานั่งคุยกัน แชร์กัน หาทางออกร่วมกัน มันดีต่อทุกฝ่าย ตัวผมเองเป็นผู้บริหารแบบเปิด ไม่ใช่นั่งสั่งการ ผมจะคุยกับลูกน้องเสมอ ทุกคนสามารถปรึกษาผมได้ แม้กระทั่งประตูห้องทำงานผมก็จะเปิดให้พนักงานทุกคนสามารถเข้ามาคุยได้ตลอดเวลา ไม่ว่าคุณจะมีเรื่องอะไรก็ตาม บางครั้งคุณอาจคุยกับหัวหน้าไม่รู้เรื่อง คุยกับคนอื่นก็ไม่เข้าใจคุณ รู้สึกอยากระบายหรือหาคนฟังที่เข้าใจก็สามารถมาหาได้เช่นกัน เราวางตัวเป็นที่พึ่งให้ลูกน้องได้ พอเขาวางใจการทำงานมันก็จะดีตามไปด้วยครับ

ส่วน R – Responsibility แน่นอนว่าทุกคนในองค์กรต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเอง ทุกคนก็ต้องทำงานตามที่บริษัทมอบหมายให้ดีที่สุด มุ่งไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ให้ดีที่สุด รับผิดชอบให้เต็มที่ที่สุด ต่อมาก็ C – Creasitive Thinking ซึ่ง Creasitive มาจากคำว่า Creative + Positive ตรงนี้ผมมองว่าต้องสร้างสรรค์บนพื้นฐานความคิดเชิงบวกด้วย โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันนี้การแข่งขันของธุรกิจต่างๆ มันสูงมาก การครีเอทีฟอย่างเดียวมันไม่ได้แล้ว เราต้องสร้างสรรค์ให้เกิดประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ต่อองค์กรและสังคมด้วย มันไม่ใช่เรื่องแค่การขายของแล้ว แต่เป็นการทำอย่างไรที่จะมอบสินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดให้กับลูกค้า เราก็ต้องใช้ความสร้างสรรค์สร้างความแตกต่างจากคนอื่นให้ได้ มันก็จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ดี

ตัวสุดท้าย E – Enjoy Working เป็นอะไรที่ง่ายๆ แต่ผมคิดว่าสำคัญมาก แล้วมันจะเป็นตัวที่ทำให้เราทำงานกับองค์กรอยู่ไปได้นาน นั่นก็คือทุกคนต้องมีความสุขในการทำงาน รวมถึงมีความสุขกับสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ด้วย ไม่ใช่ว่าบังคับตัวเองให้มีความสุขนะครับ แต่ควรเลือกทำงานที่เรารัก เราชอบ ทำแล้วมีความสุข อยู่แล้วไม่อึดอัด นอกจากมันจะทำให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้นแล้ว สุขภาพจิตก็ดีด้วย มันทำให้คุณภาพชีวิตของเราดี ที่สำคัญต้องรู้จัก Work-Life Balance สร้างสมดุลให้ได้ ผมไม่เห็นด้วยนะว่าคนที่ทำงานดึกๆ ดื่นๆ หอบงานกลับไปทำที่บ้านจะเป็นคนขยัน น่าชื่นชม ผมมองว่าพนักงานคนนั้นอาจจะบริหารเวลาไม่ดีพอ เอาเวลางานไปกินเวลาครอบครัวหรือเวลาส่วนตัว ซึ่งการบ้างานเกินไปแล้วชีวิตเสียนี่มันก็ไม่ใช่สิ่งที่บริษัทต้องการ ฉะนั้นต้องทำทุกอย่างให้มันเหมาะสม ลงตัว บริหารมันให้ได้ มันจะทำให้เรามีความสุขในการทำงานและการใช้ชีวิตไปพร้อมกันครับ

Q : ทิศทางต่อไปในการทำธุรกิจของ Brother สำหรับยุคใหม่นี้วางไว้อย่างไร

A : ยุคนี้อะไรเปลี่ยนไปเยอะและไวมาก เราต้องไม่หยุดอยู่นิ่ง และต้องทำอะไรให้ไวขึ้นกว่าเมื่อก่อนครับ สำหรับ Brother ในส่วนของเมืองไทยที่ผมบริหารอยู่ก็มีการวางไว้ว่าอย่างแรกเลยเราต้องพยายามขยายแชร์ (Market Share) ให้มันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งยุคนี้ตลาดมันอาจจะแคบลง เราต้องโฟกัสและขยายส่วนแบ่งทางการตลาดให้เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ใช่หยุดการหาตลาดใหม่ๆ ไปเลย เพราะอีกแผนต่อมาที่เรามองไว้ก็คือการขยายตลาดไปสู่ประเทศลาวครับ ผมถือว่าตลาดนี้ยังใหม่สำหรับเรา และยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก

CR : Facebook > Brother (Thailand)

อีกแผนธุรกิจที่ต้องทำควบคู่ไปกับสินค้าหรือตลาดเดิมที่เราทำอยู่แล้ว ก็คือการพยายามหาสินค้าใหม่ๆ เข้ามาเสริม สำหรับ Brother บริษัทแม่เองก็มีสินค้าหลากหลายที่น่าสนใจมากมายในยุคนี้ หลายตัวก็ยังไม่เคยเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย บางทีเราก็ต้องมีวิสัยทัศน์มองอนาคตให้ขาด วิเคราะห์ให้ได้ ตลอดจนรู้จักการสร้างโอกาสให้กับตัวเอง อย่างสองผลิตภัณฑ์ที่เราเพิ่งเอาเข้ามาก็คือเครื่องเล่นคาราโอเกะ และเครื่องพิมพ์ผ้า ซึ่งผลิตภัณฑ์น่าสนใจและมีแนวโน้มในการสร้างยอดขายได้ดี แล้วพอลองเอาเข้ามาจริงๆ ผลตอบรับมันก็ไม่เลวเลยทีเดียวครับ

Q : มีหลักการอะไรในการพัฒนาตนเองอย่างไรบ้าง

A : จริงๆ แล้วผมเป็นคนชอบเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ครับ อย่างทุกวันนี้ผมก็ยังลงเรียนอะไรที่น่ารู้อยู่เลย ล่าสุดก็เรื่อง Digital Transformation ซึ่งส่วนตัวแล้วผมสนใจเรื่องนี้ แล้วมันก็เป็นประโยชน์กับการทำงานด้วย ผมมักจะไม่ปิดกั้นการเรียนรู้ของตัวเอง เพราะมนุษย์เราเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต สิ่งนี้ผมก็พยายามกระตุ้นให้พนักงานทุกคนโดยเฉพาะระดับ Manager ให้รู้จักพัฒนาตนเอง เรียนรู้อยู่เสมอ แล้วก็พยายามส่งเสริมการเรียนรู้ให้คนอื่นด้วย

Q : แล้วมีหลักการในการพัฒนาลูกน้องอย่างไร

A : สำหรับการพัฒนาลูกน้องนั้นอย่างที่บอกไปว่าผมมักจะโฟกัสไปที่ระดับ Manager ก่อน เพื่อให้เขาเกิดการพัฒนาและรู้จักพัฒนาคนอื่น แล้วเขาก็จะนำมันไปพัฒนาลูกน้องต่อๆ ไปได้ ผมมีหลักการอยู่ 3 อย่างในเรื่องนี้ คือ อย่างแรกต้องรับผิดชอบงานที่มอบหมายให้สำเร็จ และเสร็จตรงตามเวลาให้ได้ ซึ่งการมีวินัยในการทำงานนอกจากจะทำให้ทำงานมีประสิทธิภาพแล้ว ก็ยังเป็นตัวอย่างที่ดีกับลูกน้อง รวมถึงสร้างระบบระเบียบที่ดีในการทำงานไปในตัว อย่างที่สองคือพยายามทำงานในระบบทีมเวิร์คให้ได้ กลมเกลียวสามัคคีกัน ร่วมแรงร่วมใจ เพราะการทำงานเป็นทีมมันมีพลังผลักดันให้งานสำเร็จได้ด้วยดี สร้างความช่วยเหลือเกื้อกูล

อย่างที่สามคือการพัฒนาศักยภาพทั้งตนเองและคนในทีม รู้ว่าใครมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ควรส่งเสริมตรงไหนกับใคร พยายามช่วยแก้ไขจุดอ่อน ตลอดจนหา Training หรือ Coaching ใหม่ๆ มาพัฒนากันและกัน แล้วถ้าเป็นระดับหัวหน้าก็ต้องสามารถเป็นที่ปรึกษาที่ดีให้กับลูกน้องได้ด้วย ซึ่งหลักการทั้งหมดมันจะทำให้ทุกคนเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ

Q : คิดว่ามีทักษะอะไรบ้างที่จำเป็นสำหรับแรงงานในยุคดิจิตอลนี้

A : ตรงนี้ผมจะไม่ขอพูดถึงทักษะทางวิชาชีพแล้วกันนะครับ เพราะแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป ทุกคนก็ควรจะพัฒนาทักษะของตัวเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของแต่ละธุรกิจ แต่ผมจะขอพูดถึงทักษะโดยรวมที่สามารถใช้ได้กับทุกองค์กรแล้วก็ทุกธุรกิจแล้วกันนะครับ อย่างแรกเลยต้องเป็นคนที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและตลอดเวลา โลกยุคนี้มันเปลี่ยนไปไวมาก ถ้าคุณไม่ยอมรับตรงนี้นี่คุณอาจจะไม่สามารถอยู่รอดได้ แล้วการที่จะเปลี่ยนแปลงได้มันต้องยอมรับให้ได้เสียก่อน ถ้าคุณไม่ยอมรับตั้งแต่ต้น มันก็ปรับเปลี่ยนได้ยาก แต่ถ้ายอมรับได้ ปรับตัวได้ทัน ทีนี้มันจะเป็นการมองใหม่แล้วว่าควรเปลี่ยนแปลงไปทางไหนอย่าไรดี เราก็สามารถปรับตามได้ทัน

ส่วนอีกทักษะที่ดูเหมือนจะธรรมดาแต่ผมว่าสำคัญทีเดียวก็คือทักษะของการสื่อสาร (Communication Skill) ครับ ตรงนี้มันใช้ได้กับทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับองค์กรที่ต้องมีการสื่อสารทางธุรกิจต่างๆ หรือระดับผู้บริหารที่ต้องมีการสื่อสารกับลูกน้องหรือคู่ค้าอื่นๆ ไปจนถึงระดับพนักงานกันเองที่ก็ต้องสื่อสารระหว่างกัน ถ้าเราขาดทักษะในการสื่อสารกันให้เข้าใจ ถึงแม้แผนธุรกิจจะดีขนาดไหน เรื่องที่คิดไว้จะยอดเยี่ยมแค่ไหนก็ตาม หากสื่อสารกันไม่ได้ หรือพนักงานไม่เข้าใจ เขาก็อาจไม่ทำตาม ทุกอย่างก็จบได้เหมือนกัน ตรงนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญไม่ว่าจะกับใครก็ตาม

Q : คิดว่าเรื่องวัฒนธรรมองค์กรยังมีความจำเป็นและสำคัญอยู่สำหรับยุคดิจิตอลนี้หรือไม่ โดยเฉพาะวัฒนธรรมองค์กรแบบญี่ปุ่นที่มีความเฉพาะตัวสูง

A : จริงๆ เวลาพูดถึงวัฒนธรรมองค์กรมันก็คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในองค์กรทำหรือประพฤติปฎิบัติร่วมกันนั่นเอง ถึงแม้ไม่มีการบัญญัติคำนี้ขึ้นมามันก็ยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอยู่ดี ผมมองว่าวัฒนธรรมองค์กรในแต่ละยุคสมัยอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างให้เหมาะสมกับยุคนั้นๆ มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่แล้ว เพราะวัฒนธรรมมันเปลี่ยนตามคนและสภาพแวดล้อมของสังคม

อย่างเมื่อก่อนที่วัฒนธรรมองค์กรมันมีความชัดเจนสูงมากก็เพราะสังคมมันเปลี่ยนแปลงช้ามาก พอสิ่งที่องค์กรทำกันเป็นปกตินานวันขึ้นก็เลยถูกเรียกว่าวัฒนธรรมองค์กรไป แต่พอมาถึงวันนี้ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก คนเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน สภาพแวดล้อมเปลี่ยน ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด วัฒนธรรมองค์กรก็ต้องเปลี่ยนตาม เมื่อก่อนเราอาจจะมีวัฒนธรรมในการเคารพและเชื่อฟังผู้อาวุโสเพราะเขามีประสบการณ์มากกว่า ผ่านงานมาก่อน งานมันยังคงเป็นลักษณะเดิมๆ แต่ในยุคนี้งานมันเปลี่ยนไป เปลี่ยนไวมาก หลายๆ งานก็เป็นงานใหม่ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้น ไม่มีใครมีประสบการณ์มาก่อน ระบบอาวุโสก็เลยจะเริ่มหายไป บางทีคนรุ่นใหม่ก็มีวิธีการคิดที่เหมาะกับยุคสมัยปัจจุบันนี้ คนยุคก่อนก็ควรต้องรับฟังบ้าง แล้วถ้านำมาปรับใช้กับธุรกิจได้ดี มันก็ประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน การยึดติดกับอะไรเดิมๆ แบบแผนเดิมๆ ในยุคก่อนมันอาจจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ในยุคนี้ถ้าปรับเปลี่ยนไม่ทันก็อาจทำให้ธุรกิจตายได้

ผมว่าเราต้องรู้จักออกจาก Comfort Zone ของตัวเองบ้าง ต้องสนับสนุนเลือดใหม่ให้เข้ามาทำงาน เพราะพวกเขาคืออนาคตของโลก เราจะยึดโลกเป็นมุมมองของเราคนเดียวไม่ได้ การรับฟังไอเดียของคนรุ่นใหม่ก็จะได้มุมมองใหม่ๆ ที่ตามยุคตามสมัย เอามาปรับใช้ให้เป็น เทรนด์ในอนาคตนี่มันจะยิ่งเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อยๆ และไวขึ้นเรื่อยๆ เราก็ต้องปรับให้ทัน อย่างช่วงนี้ที่องค์กรทั่วโลกต่างก็ลุกขึ้นมาสนใจเรื่อง Organization Transformation กันยกใหญ่ ก็เพราะโลกมันก้าวไปข้างหน้าแล้วไงครับ ถ้าไม่ลุกขึ้นมาปรับตัวธุรกิจก็อาจล้มหายตายจากไปได้ นี่น่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ผมว่าวัฒนธรรมองค์กรไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่มันก็มีข้อดีและข้อเสียในตัวมันเอง รู้จักนำข้อดีต่างๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสม น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

Q : นิยามของความสำเร็จในมุมมองของคุณคืออะไร

A : ความสำเร็จในมุมมองของผมก็คือความสุขครับ บรรลุเป้าหมายแล้วต้องสร้างความสุขด้วย ทั้งความสุขต่อตัวเราเอง แล้วก็สร้างความสุขให้คนอื่น อย่างบริษัทวางเป้าหมายไว้แล้วเราสามารถบรรลุได้ ถ้าทุกคนแฮปปี้กับตรงนี้ผมถือว่าเป็นความสำเร็จครับ คำว่าทุกคนของผมนั้นก็รวมตั้งแต่พนักงานทุกคน, ผู้บริหาร, หุ้นส่วนทางธุรกิจ, ผู้ถือหุ้น, ไปจนถึงสังคม ถ้าทำให้ทุกคนมีความสุขได้ผมว่านี่มันคือความสำเร็จที่แท้จริง

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง