Theatre Transformation : หยิบศาสตร์ละครเวที มาพัฒนาศักยภาพให้องค์กร

ในยุค Digital Disruption นี้มีการเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้นมากมายบนโลกใบนี้ ทุกธุรกิจมีการปรับตัว ทุกองค์กรมีการเปลี่ยนแปลง จนทำให้เกิดการ Transformation หลายอย่างที่มีการปรับโน่น ประยุกต์นี่ บูรณาการนั่นเพื่อขับเคลื่อนตัวเองให้ทันกับโลกที่วิ่งไปอย่างรวดเร็ว หนึ่งในการ Transformation ที่น่าสนใจที่เราหยิบมาแนะนำให้คุณรู้จักในวันนี้ ก็คือการหยิบเอาศาสตร์ของละครเวทีมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้กับองค์กรนั่นเอง

ใครที่เป็นแฟนละครเวทีสาย West End แห่งกรุงลอนดอน ก็น่าจะพอเริ่มที่จะรู้จักชื่อเสียงของ Selladoor Worldwide เลือดใหม่แห่งวงการละครเวทีโลกที่ได้รับการจับตามากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อปี ค.ศ.2017-2018 ที่ผ่านมาองค์กรสร้างสรรค์นี้ก็เริ่มแตกหน่อเมล็ดพันธุ์ใหม่สู่การรุกตลาดสุดหินเบอร์หนึ่งของโลกอย่าง Broadway ด้วยการเปิดตัว Selladoor North America ที่นิวยอร์ก พร้อมตามมาติดๆ กับการบุกเบิกตลาดใหม่ในเอเชียกับการเปิดตัว Selladoor Asia Pacific ที่มีฐานทัพหลักเป็นกรุงเทพฯ ของเรานี่เอง

นอกจาก Selladoor Asia Pacific จะประสบความสำเร็จในการเปิดแสดงละครเวทีโปรดักชั่นแรกอย่าง The Little Shop of Horrors – The Musical / Thai Production ไปแล้ว ทาง Selladoor Asia Pacific เองก็ไม่ได้มุ่งทำธุรกิจด้านนี้เพียงอย่างเดียว แต่แตกแขนงนำเอาศาสตร์การแสดงมาสร้างประโยชน์และทำธุรกิจด้านอื่นๆ เพิ่มเติมอีกมากมายตามคอนเซ็ปต์ธุรกิจขององค์กร International Theatre Production and Entertainment Services แล้วหนึ่งในนั้นก็คือการเปิดตัว Showtime หน่วยธุรกิจใหม่ที่ตั้งใจนำเอาศาสตร์ของการแสดงและละครเวทีมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาองค์กรทั่วไปผ่าน Training & Workshop บุคลากรในอีกรูปแบบที่สร้างสรรค์ สนุกสนาน ได้ประโยชน์ และกำลังได้รับความสนใจจากองค์กรต่างๆ ที่กำลังมองหารูปแบบการเรียนรู้และพัฒนาบุคลากรในมิติใหม่ๆ มากทีเดียว

สำหรับผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้ก็คือหัวเรือใหญ่ฝั่งไทยอย่าง คุณเติร์ด-ปีย์วรา กิจจำนงค์พันธุ์ คนรุ่นใหม่ไฟแรงที่นอกจากจะเป็นทั้ง Director ผู้กำกับการแสดงละครเวทีฝีมือเยี่ยมแล้ว เขายังรับหน้าที่เป็น Managing Director ที่คอยบริหาร Selladoor Asia Pacific Co., Ltd. อีกด้วย รวมถึงเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่บุกเบิกนำเอาธุรกิจบันเทิงมาปรับใช้ในการทำธุรกิจด้านอื่นๆ รวมถึงการสร้าง Showtime : Theatre Workshop for Corporate  เพื่อต่อยอดธุรกิจบันเทิงสู่การทำธุรกิจในสายงานบุคคลรวมถึงบริหารจัดการองค์กรด้วยเช่นกัน วันนี้เราอยากชวนคุณมาทำความรู้จักกับการประยุกต์ธุรกิจที่น่าสนใจในครั้งนี้ไปพร้อมกับผู้กุมบังเหียนคนสำคัญของภาคพื้นเอเชียท่านนี้กัน

Q : ทำไมทาง Selladoor Worldwide จึงตัดสินใจมาเปิดธุรกิจที่ภาคพื้นเอเชียเป็น Selladoor Asia Pacific และเพราะอะไรเขาถึงเลือกปักหลักที่กรุงเทพฯ

A : ก่อนอื่นต้องขอปูพื้นย้อนเล่ากันก่อนนิดนึงครับว่าผมเรียนและคลุกคลีด้านวงการละครเวทีมาพอสมควร ตอนปริญญาตรีผมจบด้านการแสดง (Acting) จาก Birmingham School of Acting ที่อังกฤษ นอกจากจะมีโอกาสได้คลุกคลีกับละครเวทีทางฝั่ง West End แล้วผมก็ได้มีโอกาสกลับมาช่วยวงการละครเวทีในเมืองไทยอยู่บ่อยๆ ด้วยครับ จริงๆ เราก็อยากจะเติบโตทางสายการแสดง แต่ด้วยหน้าตาของเราและความเป็นคนเอเชีย รวมถึงสัดส่วนร่างกายที่เราเป็นคนตัวเล็กอีก โอกาสการเติบโตในสายการแสดงมันค่อนข้างยากมาก โดยเฉพาะในเวทีโลกนี่บทบาทที่จะเหมาะกับตัวเรามันก็ยิ่งมีน้อยไปใหญ่ เราก็มาถามตัวเองครับว่าเรายังรักด้านนี้อยู่มั้ย คือผมก็ตอบกับตัวเองว่ารักแน่นอน เราผูกพันกับมันมานาน แล้วเราก็คุ้นเคยกับละครเวทีมากแล้ว พอคิดถึงอนาคตว่าแล้วเราจะทำอย่างไรให้อยู่กับสิ่งที่เราชอบนี้ให้ได้แล้วก็ทำมาหากินสร้างรายเลี้ยงชีพได้ในระยะยาวด้วย ก็เลยคิดว่าขยับมาทำเบื้องหลังน่าจะเวิร์คกว่า มาเป็นคนทำธุรกิจด้านนี้น่าจะอยู่ได้นานกว่า ก็เลยตัดสินใจกลับไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน Creative Producing ที่เกี่ยวกับการบริหารด้านละครเวทีที่ Mountview Academy of Theatre Arts ที่ลอนดอนอีกครั้ง

ในช่วงที่ทำธีสิสจบมีเพื่อนคนหนึ่งแนะนำให้รู้จักกับผู้บริหารของ Selladoor ครับ (ในตอนนั้นยังไม่ได้เปลี่ยนเป็น Selladoor Worldwide) ผมก็ชอบและประทับใจบริษัทนี้มาก ก็เลยขอไปฝึกงานแล้วก็ทำธีสิสไปด้วย มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้รู้จักกัน ในตอนเรียนจบก็มีโอกาสคุยกันครับซึ่งทางผู้บริหารเขาถามผมว่าจบแล้ววางแผนไว้อย่างไร ผมก็บอกว่าอาจจะกลับมาทำงานที่เมืองไทย จริงๆ ตอนนั้นก็ยังไม่ได้วางแผนอะไรมากนัก แต่ผมก็มีไอเดียอยู่ในหัวว่าอยากทำอะไรบ้าง ก็เล่าให้เขาฟัง เขาก็เลยบอกว่าน่าสนใจมาก ก็เลยเกิดความร่วมมือกันเปิดเป็น Selladoor Asia Pacific ขึ้นมาครับ

ถ้าถามว่าทำไมเขาถึงเลือกเปิดฐานตลาดที่กรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่บ้านเราธุรกิจด้านนี้ก็ยังไม่แข็งแกร่งนัก เม็ดเงินก็ไม่ได้มากมายสักเท่าไร คนไทยก็ยังไม่ค่อยเสพศิลปะด้านนี้กันมากด้วย เหตุผลแรกก็คงเป็นการที่เขาอยากสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้ทำธุรกิจในด้านนี้เหมือนกัน เหมือนกับตัวพวกเขาที่ลุยกันมาตั้งแต่ยังไม่มีอะไรจนเป็น Selladoor Worldwide ในทุกวันนี้ แล้วอีกเหตุผลที่ทางผู้บริหารเขาบอกมาก็คือตลาดเมืองไทยกำลังโต แล้วถ้าเราเข้ามาเป็นเบอร์แรกๆ ของตลาด ในอนาคตถ้าตลาดเติบโต เขาก็จะกลายเป็นผู้บุกเบิกและผู้นำตลาดได้ คือการรุกตลาดใหม่ๆ มันเป็นการทำเพื่อธุรกิจในอนาคต มันไม่ได้หวังผลตอบแทนหรือกำไรในตอนนี้ แต่มันหวังผลระยะยาว แล้วเขาก็ต้องการสร้างวัฒนธรรมนี้ให้เกิดในเอเชียให้มากขึ้นด้วย จริงๆ แล้วมันเป็นผลดีต่อธุรกิจละครเวทีระดับโลกในอนาคตด้วย ในทางตรงกันข้ามถ้าเราไปรุกในตลาดที่ใหญ่แล้ว มีการแข่งขันสูง การเป็นรายใหม่นี่มันยากกว่า ต้องใช้เงินเยอะ และต่อสู้กับคนอีกมากมาย อาจจะเจ็บตัวกว่าด้วยซ้ำ การลองตลาดใหม่ๆ เปิดโอกาสใหม่ๆ ก็อาจมีความน่าสนใจกว่าในการสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาครับ

Q : ธุรกิจในส่วนของ Showtime เกิดขึ้นได้อย่างไร

A : พอดีผมได้มีโอกาสไปเข้าร่วม Management Training กับที่หนึ่งมาครับ แล้วเขาก็เห็นว่าเราโดดเด่นในสกิลเรื่องการสื่อสารมาก มันเป็นการพูด การสื่อสาร ที่มีพลัง มีประสิทธิผล เค้าก็ถามกันว่าเราฝึกมาอย่างไร ผมก็บอกว่ามันเกิดจากการได้ไปเรียนไปเทรนมาหลายๆ อย่าง แต่นั่นมันเป็นการเรียนปกติของเรา เรียนด้านการแสดงมันได้ฝึกหมด ฝึกการใช้เสียง ฝึกจินตนาการ ฝึกการสื่อสารกับคนดู มันก็เลยกลายมาเป็นประโยชน์แบบเราไม่รู้ตัว ในตอนที่ทำเวิร์คชอปใน Management Training เราคุยกันว่าปัญหาที่เจอกันในยุคนี้ก็คือ Digital Transformation ไปจนถึงการทำงานในแบบ Working in a small team ทำงานในทีมเล็กๆ ให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร คือมันเป็นเทรนด์การทำงานยุคใหม่ที่กำลังปรับเปลี่ยน

แต่ไม่ว่าโลกของธุรกิจและเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปอย่างไร ปัญหาที่จะตามไปเสมอก็คือปัญหาเรื่องคนครับ ซึ่งมันมีหลายมิติมากๆ แล้วหัวใจสำคัญของการทำงานระหว่างคนกับคนก็คือการสื่อสารกัน พื้นฐานของการเรียนการแสดงเนี้ยะเราต้องเรียนเกี่ยวกับ Human Psychology จิตวิทยาที่เกี่ยวกับมนุษย์ เรียนเกี่ยวกับ Storytelling วิธีการเล่าเรื่องในแบบต่างๆ เรียนเกี่ยวกับ Creative and Progress กระบวนการสร้างสรรค์ อะไรพวกนี้ ซึ่งพอมานั่งคุยกันแล้วทุกคนบอกว่ามันเป็นประโยชน์ต่อสายงานปกติมาก ถ้าองค์กรต่างๆ สามารถนำเอาสกิลเหล่านี้ไปฝึกให้กับพนักงานได้ เชื่อว่ามันจะช่วยพัฒนาศักยภาพในการทำงาน การสื่อสาร ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น สร้างสภาพแวดล้อมเชิงความสัมพันธ์ในการทำงาน (Working Environment Relationship) ที่ดี และจะมีส่วนช่วยทำให้งานประสบความสำเร็จได้มากขึ้นเช่นกัน

ตอนนั้นผมก็เลยได้มีโอกาสคุยกับองค์กรด้านการเงินใหญ่ๆ อยู่ 2 ที่ที่เขาอยากให้เราไปช่วยพัฒนาศักยภาพบุคลากรในด้านนี้ ซึ่งมักจะเจอปัญหาเรื่องการสื่อสารในการทำงานกันอยู่บ่อยๆ ซึ่งผมก็ได้มีโอกาสไปทำเวิร์คชอปให้กับทาง SCB Academy ของธนาคารไทยพาณิชย์ครับ แล้วก็ในส่วนของ Kasikorn Technology Academy ของ KASIKORN Business-Technology Group​​ (KBTG) ที่เป็นบริษัทในสังกัดของธนาคารกสิกรไทย ก็เลยเกิดการสร้างสรรค์เวิร์คชอปเฉพาะในเรื่องนี้ขึ้นมา

จริงๆ แล้วผมเคยวางแผนไว้ว่าอยากจะนำความรู้ด้านการแสดงที่เรียนมามาปรับใช้ในการทำเวิร์คชอปให้กับวงการอื่นๆ อยู่เหมือนกันนะครับ แต่มันเป็นแผนการในอนาคตที่คิดไว้ เพียงแต่ว่าคราวนี้โอกาสมันดันเข้ามาก่อน ก็เลยถือว่าเป็นโชคดีของเราไปที่ได้เริ่มต้นไอเดียที่เราคิดไว้ได้เร็วขึ้น เราก็เลยลองมาจัดคอร์สการสอน ทำกระบวนการเวิร์คชอป จนเกิดเป็นธุรกิจในส่วนของ Showtime นี้ขึ้นมา กลายเป็นแขนงธุรกิจใหม่ของทาง Selladoor Asia Pacific ที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของการแสดงหรือโปรดักชั่นด้านบันเทิงโดยตรง แต่เป็นการนำเอาศาสตร์การแสดงมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านอื่นๆ

Q : ทำไมจึงเลือกเริ่มต้นทำ Training & Workshop กับธุรกิจสายการเงินเป็นอันดับแรก

A : อย่างที่บอกครับมันเป็นโอกาสที่เข้ามา เราก็เลยอยากลองดูว่าที่เราเคยคิดไว้หากนำมาทำจริงๆ แล้วจะเวิร์คหรือเปล่า อีกอย่างธุรกิจธนาคารมันมี Digital Transformation เข้ามาในองค์กรค่อนข้างมาก พอเข้ามาปุ๊บคนก็ต้องถูกเทคโนโลยีทดแทนงานของตัวเองไป องค์กรก็ต้องปรับตัวในการหางานที่เหมาะสมให้กับบุคลากรใหม่ด้วย ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็จะเริ่มกลายเป็นการทำงานระบบทีมเล็กๆ มากขึ้น แล้วโครงสร้างแบบ Hierarchy ลำดับชั้นก็กำลังจะหายไปด้วย ทีนี้การสื่อสารระหว่างกันก็จะต้องมีมากขึ้น คุยกันบ่อยขึ้น การปะทะกันหรือมีความเห็นไม่ตรงกันก็ย่อมมีมากขึ้นตาม คนที่เคยทำทีมใหญ่มาก่อนพอมาเจอทีมเล็กๆ ก็ไม่ค่อยคุ้นเท่าไร ปัญหาก็จะเกิดขึ้นได้ครับ ซึ่งตรงนี้ผมก็คิดว่าเวิร์คชอปของเราช่วยได้ มีประโยชน์

ผมก็จะปรับเวิร์คชอปให้เข้ากับลักษณะองค์กรครับ ไม่ใช่เวิร์คชอปเพื่อการแสดงบนเวที แต่การทำเวิร์คชอปมันจะคล้ายๆ กัน เพียงแต่ว่ามีวัตถุประสงค์ต่างกัน สำหรับการทำเวร์คชอปให้กับบริษัทนั้นผมจะเน้นการโฟกัสเรื่อง Confident ความมั่นใจ แล้วก็เรื่องการใช้เสียง ซึ่งเหมือนจะดูไม่สำคัญกับงานแต่มันสร้างผลที่ดีให้กับการทำงานได้ดีทีเดียวครับ

เรื่องการใช้เสียงนี่ปรากฎว่าองค์กรต่างๆ มีความต้องการให้เราเทรนเรื่องนี้อย่างไม่น่าเชื่อเลย ถ้าดูกันในความเป็นจริง คนไทยมักไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก ไม่ถูกปลูกฝังความมั่นใจ ฉะนั้นเสียงที่ออกมาก็จะไม่แข็งแรง ไม่มีน้ำหนัก ไม่ฉะฉาน ซึ่งมันก็อาจทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสาร แล้วก็สะท้อนถึงความไม่มั่นใจของผู้พูดอีกทีด้วย ทุกที่ก็จะต้องการให้เราทำเรื่องนี้ให้กับพนักงานของเขาเหมือนกันหมด อยากให้ทุกคนใช้เสียงให้แข็งแรงขึ้น ซึ่งมันจะสร้าง Dynamic ในการสื่อสารได้ดีขึ้นด้วย สื่อสารเป็นจังหวะ พูดได้เข้าใจ ฟังแล้วรื่นหู ซึ่งมันยังมีประโยชน์มากๆ กับการพรีเซนต์งานต่างๆ ไปในตัว

นอกจากนั้นเราก็จะมีกิจกรรมในลักษณะ Team Building Experience ที่อาจดูว่าเหมือนกับเวิร์คชอปทั่วไป แต่เราจะนำเอารายละเอียดของเวิร์คชอปการแสดงมาปรับใช้ ซึ่งมันไม่เหมือนที่อื่นแน่นอน อีกเรื่องที่สำคัญมากๆ และมักเป็นความต้องการขององค์กรเสมอก็คือฝึกการเป็นผู้นำ (Leadership) ของเราจะทำให้มันมีความเฉพาะตัวเข้าไปอีกด้วยการนำเอา Theatre Process มาปรับกับการทำเวิร์คชอปนี้ ฝึกให้เขาได้ลองเป็นผู้นำโดยไม่รู้ตัว แถมยังสนุกกับกิจกรรมแปลกๆ ใหม่ๆ ด้วยครับ

Q : การปรับเวิร์คชอปหรือรายละเอียดของกระบวนการเทรนให้เข้ากับบริบทของแต่ละองค์กรมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

A : ขั้นตอนแรกคือเราต้องไปนั่งคุยกับแต่ละองค์กรครับ โดยสิ่งแรกที่เราต้องถามก่อนเลยก็คือองค์กรมีเวลาให้เรานานเท่าไร เพราะเรื่องเวลานี้ค่อนข้างสำคัญกับการวางแผนในการทำกิจกรรมต่างๆ ค่อนข้างมาก ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าเวลาเฉลี่ยอย่างน้อยที่กำลังเหมาะสำหรับการทำเวิร์คชอปจะอยู่ที่ประมาณ 4 ชั่วโมง แต่ถ้าอยากให้มีประสิทธิภาพมากๆ จะเป็นเวิร์คชอประยะยาวหรือจัดหลายวันก็ได้นะครับ ก็จะมีรายละเอียดที่แยกย่อยไปอีก

เรื่องต่อมาที่เราต้องรู้ก็คือใครคือผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม เป็นพนักงานกลุ่มไหน ลักษณะอย่างไร มี Background อย่างไรกันบ้าง อยู่ในตำแหน่งไหนขององค์กร อยู่ในระดับบริหาร หัวหน้างาน พนักงานทั่วไป หรือว่าผสมผสานกัน เพราะมันเป็นข้อมูลสำคัญในการออกแบบกิจกรรมของเราด้วยครับ อย่างที่เคยทำมาบางองค์กรเลือกระดับหัวกะทิมาเลย รายละเอียดของกิจกรรมก็ต้องมีการใช้ความคิดมากหน่อย มีคำถามที่ชาเลนจ์กว่า มีกิจกรรมที่ท้าทายกว่า มีวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมที่เข้มข้นกว่าการจัดให้กับกลุ่มทั่วๆ ไป บางองค์กรก็บอกเลยว่าขอเวิร์คชอปแบบไม่ซีเรียสนะ ไม่ต้องมีความกดดันในการจัดกิจกรรม ต้องการสร้างพลังบวก ต้องการสร้างความเป็นผู้นำ ต้องการสร้างความสามัคคี แต่ต้องเป็นกิจกรรมที่สนุกนานด้วย เราก็จะมาปรับให้เหมาะสมกับแต่ละองค์กรต้องการด้วยครับ

บางองค์กรต้องการสร้างกิจกรรมให้กับพนักงานรุ่นใหม่ซึ่งเป็นเด็กๆ ที่เพิ่งเข้ามาทำงานในองค์กร ต้องการกิจกรรมที่ Creative and Fun สนุกและสร้างสรรค์รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน ซึ่งอันนี้ก็แล้วแต่ทิศทางที่องค์กรต้องการ ถ้าถามว่าจำนวนคนที่เหมาะกับการทำเวิร์คชอปประมาณนี้อยู่ที่จำนวนเท่าไร ผมว่าถ้าเป็นกลุ่มใหญ่ประมาณ 50 คน กำลังเหมาะ และมีการแชร์กันจากหลายๆ ความคิดมากขึ้น แต่เราก็เคยทำกับกลุ่มใหญ่มากประมาณ 100 คน นะครับ ก็ทำได้เหมือนกัน แต่ก็จะต้องวางกิจกรรมให้เหมาะสม ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม ซึ่งแต่ละโจทย์ก็จะไม่เหมือนกันครับ ซึ่งเมื่อคุยรายละเอียดทุกอย่างแล้วเราถึงจะมาวางแผนกิจกรรมอีกทีเพื่อกลับไปนำเสนอให้แต่ละองค์กรอีกครั้ง

Q : ศาสตร์ของการแสดงละครเวทีที่นำมาใช้ในการเวิร์คชอปมันมีจุดเด่นหรือประโยชน์อย่างไรบ้าง ช่วยในด้านไหนได้บ้าง

A : การทำละครเวทีขึ้นมาสักเรื่องนั้นมันเป็นการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ และมีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งผมว่าก็เหมือนกับทุกองค์กรที่ต่างก็มีเป้าหมายของตัวเอง และพนักงานทุกคนก็ต้องร่วมแรงร่วมใจกันไปให้ถึงเป้าหมายนั้นให้ได้ แล้วสิ่งที่เหมือนกันก็คือจะแสดง Performance อย่างไรให้มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ให้มากที่สุด

การทำงานละครเวทีแต่ละเรื่องอาจต้องใช้เวลาอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกันในระยะเวลานานกว่าจะไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ แต่สำหรับเวิร์คชอปเรามีเวลากันแค่ 3 ชั่วโมงเท่านั้นที่จะต้องเอาชนะเป้าหมายให้ได้ ดังนั้นเราต้องฝึกให้เขาเรียนรู้การทำงานร่วมกับ เรียนรู้การร่วมมือในการเอาชนะเป้าหมาย ตรงนี้เราจะเอาเทคนิคของละครเวทีที่เรียกว่า Devised Theatre หรือการสร้างโชว์โดยที่ไม่มีสคริปมาใช้ ฉะนั้นสิ่งที่ทุกคนจะได้เรียนรู้อีกอย่างคือเรื่องของ Creative Process กระบวนการสร้างสรรค์ที่จะออกมากันแบบสดๆ จากนั้นทุกคนก็จะต้องทำการแสดงขึ้นมา 1 เรื่อง โดยใช้สถานการณ์สมมติที่ใกล้ตัวเขา ใกล้เคียงกับชีวิตการทำงานจริงๆ มันก็จะเป็นการปรับโลกของศาสตร์การแสดงกับโลกของการทำงานจริงให้มาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ครับ

ตัวอย่างเช่นพอเราไปทำเวิร์คชอปกับองค์กรด้านการเงินการธนาคารนี้ ผมก็จะพยายามสมมติสถานการณ์ให้เกี่ยวกับงานด้านนี้เพื่อให้ทุกคนทำภาระกิจร่วมกัน ให้เขาได้รู้จักใช้ความคิดสร้างสรรค์และความสามัคคีในการทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ เราไม่ได้ต้องการให้พวกเขาแสดงละครได้อย่างเพอร์เฟ็ค แต่เราต้องการเห็นการทำงานร่วมกัน การระดมความคิดร่วมกัน การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ร่วมกัน และการฝึกฝนเรื่องเสียง การสื่อสาร ตลอดจนสร้างความมั่นใจในการพูดหรือพรีเซนต์ต่อหน้าสาธารณะ เราก็จะคอยบอกและแนะนำตามสถานการณ์ด้วยครับ สุดท้ายแล้วเขาจะนำไปปรับใช้กับการทำงานจริงได้ มีความกล้าพูด กล้าคิด กล้าทำ กล้าสื่อสาร และสร้างทีมเวิร์คที่ดีได้

Q : หลังจากที่ได้ทดลองทำเวิร์คชอปไปแล้วเป็นอย่างไรบ้าง มีผลตอบรับอย่างไรบ้าง

A : ดีมากเลยครับ ปรากฎว่าทุกคนสนุกกับการทำกิจกรรมกันมาก มากกว่าที่เราคาดไว้เสียอีก เขาได้ลองทำอะไรใหม่ๆ แบบที่ไม่ค่อยได้ทำมาก่อน ได้สนุกกับกระบวนการที่แปลกและแตกต่างจากรูปแบบเดิมๆ ได้เจอกับมุมมองอะไรใหม่ๆ ทั้งกับตัวเองแล้วก็กับองค์กรด้วย

ตัวอย่างก็เช่นผมจะแค่บอกโจทย์องค์รวมไป อย่างเวิร์คชอปกลุ่มโจทย์มีอยู่แค่ว่าเราจะทำ Picture Book ที่ขอแค่ 3 เฟรมเท่านั้นนะ โดยโจทย์คือโจรปล้นแบงค์ ไปหาวิธีเล่ายังไงก็ได้ให้อยู่ภายใน 3 เฟรมเท่านั้น ตรงนี้เราได้สอนเทคนิคต่างๆ ให้เค้าไปแล้ว ทีนี้ก็จะถึงขั้นของการนำเอาไปใช้ เราก็จะได้เห็น Perspective หรือวิธีการมองในเรื่องนั้นๆ ของแต่ละคน บางคนอาจมองเป็นเรื่องตลก บางคนมองเป็นเรื่องซีเรียส บางคนมองเป็นเรื่องของความปลอดภัย บางคนมองเป็นเรื่องของวิธีการปล้นก็มี มันจะฝึกการสร้างสรรค์ตลอดจนกระบวนการคิด แล้วองค์กรก็สามารถเห็นทัศนคติตลอดจนแนวความคิดของคนในองค์กรได้ด้วย

แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการนี้อีกอย่างคือเราจะสังเกตเห็นลักษณะความเป็นผู้นำของคนในองค์กรได้ เราจะเห็นเลยว่าใครที่ทำหน้าที่เป็น Director หรือผู้กำกับในสถานการณ์จำลองนี้ ใครที่แค่โชว์ความเป็นผู้นำเฉยๆ แต่ถึงเวลากลับจัดการแล้วมีปัญหา หรือใครที่มีศักยภาพในการจัดการเรื่องต่างๆ ได้อย่างดีเยี่ยม หรือว่าบางกลุ่มก็อาจไม่มี Director ที่เด่นขึ้นมาแต่กลับมี Process บางอย่างในการดำเนินงานที่ออกมาแล้วน่าสนใจได้ มันเป็นเวิร์คชอปที่เราจะได้รู้จักคนในองค์กรของเราในอีกมิติหนึ่ง ได้รู้ว่าใครมีศักยภาพอะไร หรือว่าควรอุดรอยรั่วของคนในองค์กรตรงไหนบ้าง เราสามารถได้ประโยชน์จากการทำเวิร์คชอปนี้แล้วนำไปปรับปรุงแก้ไขรวมถึงปรับใช้กับการทำงานในองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ด้วยครับ

Q : ศาสตร์การแสดงแบบสากลเวลานำมาปรับใช้กับการเวิร์คชอปบุคลากรคนไทยที่ไม่ได้มาสายการแสดงเลยนั้น มันมีปัญหาอะไรบ้างหรือเปล่า แล้วมีกระบวนการทำอย่างไรให้สำเร็จ  

A : สิ่งที่คนไทยค่อนข้างต่างจากต่างชาติเลยก็คือความกล้าแสดงออก กล้าพูด กล้าคิด ครับ คนไทยไม่ค่อยชอบยกมือตอบ ไม่ค่อยเสนอไอเดีย ไม่ค่อยอยากจะใช้เสียง เวลามีโอกาสพูดก็ไม่มั่นใจ พูดตะกุกตะกัก เกร็ง แล้วก็พูดเบาไม่หนักแน่น มันเหมือนเป็นดีเอ็นเอระดับชาติ แต่ก็ไม่ได้เป็นกันทุกคนนะครับ แต่คนส่วนใหญ่เป็นแบบนั้น ฉะนั้นเวลาทำเวิร์คชอปนี่จะต่างจากทำกับคนชาติตะวันตกหน่อย โดยเราค่อนข้างที่จะเน้นกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์  ประมาณว่าทำอย่างไรให้เขาเข้าใจ และปฎิบัติตามเทรนนิ่งที่เราจัดมาให้ ไม่ได้หวังว่าเขาจะต้องแสดงได้ดีเลิศ แต่แค่เขาออกมาแล้วกล้าเสนอไอเดียแค่นี้ก็ชนะแล้ว

ในการเน้นกระบวนการนี้บางทีมันไม่ได้วัดผลเป็นตัวเลขที่ชัดเจนได้ มันอาจไม่เหมือนการวัดผลพวก KPI หรือ OKR ที่ประเมินผลกันในองค์กร แต่อาจจะไม่ได้เกิดผลลัพธ์ที่ดีในตอนนี้ แต่เราเชื่อว่ามันจะทำให้บุคลากรของคุณเปลี่ยนไป สภาพแวดล้อมในการทำงานเปลี่ยนไป วิธีการทำงานเปลี่ยนไป การสื่อสารเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ทัศนคติในการทำงานดีขึ้น เมื่อทุกอย่างเปลี่ยนไปในทางที่ดีแน่นอนว่าองค์กรจะพัฒนาขึ้น ทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น แล้วก็ทำให้องค์กรมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นด้วยครับ ที่สำคัญเวิร์คชอปเรายังสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันของทุกคนได้ด้วย มันไม่ใช่ประโยชน์ต่อการทำงานอย่างเดียว แต่มันดีต่อวิถีชีวิตเขาได้ด้วย อันนี้ก็เป็นประโยชน์ที่คุ้มค่ามากครับ

สิ่งที่ดีอีกอย่างที่องค์กรจะได้ก็คือการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีขึ้น มันจะมีการทำงานร่วมกันที่ดีขึ้น กล้าพูด กล้าแสดงออก กล้าแชร์ไอเดีย กล้าที่จะสื่อสารกัน ผมว่าสำหรับคนไทยถ้าก้าวข้ามบางอย่างได้แค่นี้ก็ถือว่ายอดเยี่ยมแล้วนะครับ แล้วมันก็จะทำให้การทำงานโดยรวมขององค์กรดีขึ้นต่อๆ ไป

Q : แล้วปัญหาของคนไทยในเรื่องความไม่กล้าแสดงออก เรามีส่วนช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างไร

A : ปกติแล้วศาสตร์ด้านการแสดงเนี้ยะจะมีการเทรนให้รู้จักตัวเองก่อน ก่อนที่จะรู้จักคาแรกเตอร์ที่จะแสดง แต่ในโลกของการทำงานจริงๆ มันไม่ต้องมีการทรานฟอร์มตัวเองเหมือนในโลกการแสดงครับ แต่เราก็จำเป็นจะต้องสอนให้ทุกคนรู้จักตัวเองก่อน เมื่อเรารู้จักตัวเองเราจะรู้จักการสื่อสารกับคนอื่นด้วย ตรงนี้เราก็จะเริ่มจากการใช้การออกกำลังกาย ขยับร่างกาย ทำกิจกรรมละลายพฤติกรรม แล้วก็จะแทรกแบบฝึกหัดให้เรากล้าแสดงออกครับ อีกเคล็ดลับสำคัญก็คือการหัวเราะร่วมกัน มันเป็นอะไรที่ง่ายๆ แต่มันทำให้เราผ่อนคลายได้มาก ไม่เกร็ง เป็นกิจกรรมที่ทำเลย ไม่ต้องคิดมาก แต่มันได้ผลสุดๆ เหล่านี้เป็นต้นครับ การที่ทำให้คนกล้าแสดงออกไม่ใช่การบังคับให้เขาต้องแสดงออก อย่างนั้นยิ่งได้ผลลัพธ์ที่แย่ใหญ่ แต่ต้องฝึกให้เค้ารู้จักตัวเอง รู้ศักยภาพของตัวเอง มั่นใจในตัวเอง และแสดงความคิดเห็นที่ตัวเองเชื่อให้ได้ ซึ่งศาสตร์ของการละครมันเป็นการสอนการฝึกให้เราเชื่อในคาแรกเตอร์ ก็นำมาปรับใช้กับการเทรนตรงนี้ที่สอนให้ทุกคนเชื่อในตัวเองครับ

Q : คิดว่าอะไรคือประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับมากที่สุดจากการนำเอากรรมวิธี Theatre Production มาปรับใช้กับ Human Resource Development  

A : หัวใจสำคัญของศาสตร์ด้านการแสดงและละครเวทีเลยก็คือการสื่อสารกับคนดู ให้คนดูสามารถรับสารที่เราต้องการสื่อได้ ซึ่งเราจะมีการฝึกฝนหลายๆ อย่างเพื่อที่จะทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากที่สุด และนี่น่าจะเป็นหัวใจสำคัญที่องค์กรจะได้รับเช่นกันครับ คือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพขึ้น เพราะเราฝึกกันตั้งแต่กระบวนการคิดสร้างสรรค์ไปจนถึงฝึกเรื่องเสียงพอนำมาใช้รวมกันมันจะก่อให้เกิดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพขึ้นได้ครับ อย่างที่เคยทำมาหลายองค์กรอยากให้เราทำเทรนนิ่งเรื่องเสียงให้ ซึ่งปกติแล้วเวิร์คชอบต่างๆ เค้าไม่ได้โฟกัสเรื่องนี้ แต่ด้วยความที่ผมมาสายละครเวที ฝึกเรื่องนี้เป็นประจำ มันเลยทำให้เรากลายเป็นคนใช้เสียงในการสื่อสารในชีวิตประจำวันปกติดีไปเลย ซึ่งเค้าต้องการจุดนี้กันมาก เพราะมันทำให้ใช้เสียงได้ดีขึ้น สื่อสารแล้วน่าฟัง พรีเซนต์เนื้อหาได้ชัดเจนขึ้น แล้วพอนำมาทำเวิร์คชอปนี่ทุกคนชอบกันมากๆ เลยครับ มันเป็นเวิร์คชอปที่สนุก ไม่เครียด แล้วก็ได้ประโยชน์ด้วย จากการประเมินทุกครั้งแทบทุกคนจะชอบเวิร์คชอปการใช้เสียงนี้เป็นอันดับหนึ่งเลย

Q : จากที่ได้ลองทำเวิร์คชอปมาคนไทยชอบกับกิจกรรมไหนหรือกระบวนการไหนมากที่สุด  

A : สิ่งที่ผมประหลาดใจมากคือแทบทุกคนชอบกระบวนการฝึกการใช้เสียง (Voice Training) ครับ ผมว่าองค์กรส่วนใหญ่ไม่เคยสนใจในเรื่องนี้มาก่อน เพราะน่าจะเห็นเป็นเรื่องไกลตัวด้วย คนคิดว่าการฝึกการใช้เสียงมันทำเพื่อการแสดงหรือการร้องเพลงเท่านั้น มันเป็นการฝึกสำหรับคนมีพรสวรรค์หรือเปล่า แต่ความจริงแล้วการฝึกการใช้เสียงมันนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างเลยครับ แล้วทุกคนก็ฝึกได้ มันเป็นการฝึกเบสิกในเรื่องของเสียง ฝึกควบคุมลมหายใจ มันไม่ใช่การฝึกการร้องเพลง แต่มันเป็นพื้นฐานเดียวกัน

อีกอย่างคนมักคิดว่าฝึกเสียงนี่มันจะต้องเกี่ยวกับเสียง มันไม่ใช่ซะทีเดียว มันเกี่ยวกับร่างกายทั้งหมด มันเกี่ยวกับเรื่องการหายใจ มันเป็นการเตรียมสภาพให้คุคณสามารถเปล่งเสียงออกมาได้ให้ถูกต้อง อย่างปกติแล้วถ้าเราใช้เสียงบ่อยๆ ใช้แบบไม่เป็นนี่เราก็จะรู้สึกเจ็บคอบ้าง เสียงไม่ใส ไม่เคลียร์บ้าง เสียงตะโกนบ้าง เสียงเบาไปบ้าง คือมันทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารหรือเกิดปัญหากับสุขภาพตัวเองได้ ถ้าเราฝึกการออกเสียงขั้นพื้นฐานให้ถูกต้อง มันจะช่วยเรื่องนี้ได้เยอะ จริงๆ แล้วการฝึกเสียงนี่มันต้องทำกันเป็นปีๆ ทำกันเป็นประจำทุกวัน แต่สำหรับคอร์สนี้ผมก็จะย่อให้เหลือแค่ 3 ชั่วโมงเพื่อฝึกพื้นฐานให้ทุกคนเข้าใจและเอาไปปฏิบัติกันเบื้องต้นได้ เรื่องง่ายๆ นี้เชื่อหรือเปล่าครับว่ามันเป็นประโยชน์ต่อองค์กรมาก แล้วทุกคนก็มักจะบอกว่าเป็นอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเขามาก ได้นำเอาไปใช้จริงๆ แล้วมันก็พัฒนาขึ้นได้อย่างเห็นผลเร็วที่สุด ทั้งยังช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเองได้ดีอีกด้วย ทำให้สื่อสารได้ดีขึ้น แล้วมันก็เป็นกิจกรรมที่สนุกกันทุกคน

Q : วิสัยทัศน์ของ Showtime ตลอดจนการวางแผนในอนาคตเป็นอย่างไรบ้าง

A : สำหรับในส่วนของ Showtime เองตอนนี้เราก็ยังคงรับจัดกิจกรรมตลอดจนจัด Training & Development Workshop สำหรับองค์กรอยู่เรื่อยๆ ครับ มีทั้งแบบเวิร์คชอปที่เราออกแบบไว้แล้ว และเวิร์คชอปที่เป็นลักษณะ Tailor-made Workshop ที่ออกแบบตามความต้องการของแต่ละองค์กร เพราะว่าบางครั้งแต่ละองค์กรก็ต้องการได้อะไรที่ต่างกันไป แต่ในอนาคตเราก็จะพยายามทำเวิร์คชอปให้มีความหลากหลายขึ้น พยายามหาเครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาใช้ให้เยอะขึ้น สร้างเนื้อหาในการเวิร์คชอปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราพยายามจะพัฒนาอยู่ตลอดเวลาครับ

อีกอย่างที่ฝันไว้คืออยากทำในสเกลที่ใหญ่ขึ้นครับ แต่ก็อาจยากหน่อย คือนอกจากเวิร์คชอปแล้วเราก็อยากทำในสเกลแบบ Production Spirit เลยครับ คือไม่ใช่การทำกิจกรรมระยะสั้น แต่เป็นการทำกิจกรรมระยะยาวโดยเอาศาสตร์ของการละครมาเป็นเครื่องมือในการฝึกฝนและพัฒนาทักษะของพนักงานในองค์กรเลย อาจจะมอบโจทย์และเป้าหมายเป็นการร่วมกันสร้างละครเวทีขึ้นมาหนึ่งเรื่องในองค์กร แล้วก็ให้ทุกฝ่ายได้ทดลองทำงานในส่วนที่ตนอยากลองทำดู ละครเวทีมันไม่ได้มีแค่เรื่องของการแสดงอย่างเดียว แต่มันมีอะไรอีกมากมายที่จะทำให้มันเกิดขึ้นมาได้ครับ แล้วมันก็เป็นเวทีที่ฝึกการทำงานระบบทีมได้ดีเยี่ยมอย่างหนึ่งเลยทีเดียวครับ

นอกจากนี้ก็ยังมีอีกด้านหนึ่งที่เราให้บริการกับองค์กรนั่นก็คือรับสร้างสร้างโปรดักชั่นการแสดงให้กับแต่ละองค์กรครับ กรณีนี้ไม่ใช่แค่การรับทำละครเวทีขึ้นมาแสดงให้องค์กร แต่เราจะใช้ละครเวทีเป็นเครื่องมือในการสื่อสารสิ่งที่องค์กรต้องการ ให้เป็นประโยชน์กับงานหรือธุรกิจขององค์กรครับ อย่างเช่นที่เราเคยทำมาก็คือละครเวทีที่เกี่ยวกับเรื่องการเงินและการลงทุนที่ทำให้กับสถาบันการเงินหนึ่ง นอกจากจะดูเพลินแล้วเราก็สามารถสดแทรกความรู้ต่างๆ ไปพร้อมกันได้ด้วย เป็นการสื่อสารในรูปแบบความบันเทิงที่ต่อยอดธุรกิจให้กับองค์กรได้ประโยชน์โดยตรงด้วยครับ ตรงส่วนนี้เราก็จะคุยกับแต่ละองค์กรว่าต้องการให้เราสื่อสารเรื่องอะไร และสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรได้อย่างไร มันเป็นการประยุกต์เอาศาสตร์ของละครเวทีมาใช้กับธุรกิจให้เกิดประโยชน์มากกว่าแค่เรื่องของความบันเทิงครับ

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง