KAAN เมื่อวรรณคดีไทยกลายเป็นโชว์สร้างสรรค์สุดล้ำ : ความภูมิใจของไทย ที่ก้าวไกลระดับโลก

ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นการสร้างสรรค์โปรดักส์ชั่นของโชว์ไทยที่ยิ่งใหญ่ในสเกลระดับโลก ตั้งแต่การคิดการแสดงขึ้นใหม่ด้วยตัวเอง การออกแบบสร้างสรรค์ที่เก็บรายละเอียดทุกเม็ด ไปจนกระทั่งการลงทุนสร้างโรงละครอันเป็นเอกลักษณ์ขึ้นเพื่อรองรับการแสดงถาวรนี้ แถมยังมาพร้อมกับความมุ่งมั่นในการเป็นโชว์ที่ดีที่สุดของเมืองไทยที่คนไทยต้องภาคภูมิใจและคนทั่วโลกต่างต้องมาดูให้ได้สักครั้งในชีวิตอีกด้วย แล้วโขว์ที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ก็คือ KAAN presented by SINGHA CORPORATION ความอลังการไทยระดับโลกที่ได้รับเสียงปรบมือและการชื่นชมจากทั่วโลกมากมายนั่นเอง

KAAN Show นั้นเปิดการแสดงขึ้นในเมืองแห่งธุรกิจการโชว์ที่ยิ่งใหญ่ของไทยอย่างเมืองพัทยา จ.ชลบุรี แล้วอย่างที่หลายๆ คนทราบดีแล้วว่า KAAN Show เป็นการแสดงไทยยุคใหม่ที่มาในคอนเซ็ปต์ A SPECTACULAR CINEMATIC LIVE EXPERIENCE โดยนำเอาเทคโนโลยีล้ำสมัยมากมายเข้ามาใช้ร่วมกับการแสดงหลากหลายรูปแบบตั้งแต่การเต้นไปจนถึงกายกรรมเลยทีเดียว เรื่องราวนั้นสร้างขึ้นใหม่จากแรงบันดาลใจในการหยิบเอาวรรณคดีไทยหลายเรื่องมาร้อยเรียงกันให้เกิดเป็นตำนานเฉพาะตัวนี้ แน่นอนว่าโชว์อันอลังการของไทยนี้มีผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ คุณเฟี๊ยต-มณัญชยภัคญ์ ผู้มีศีลชิณธกร ผู้หญิงเก่งยุคใหม่ที่คลุกคลีกับโชว์นี้มาตั้งแต่ช่วงเริ่มตน จนปัจจุบันเธอขยับขึ้นมาดูแลโชว์นี้ในตำแหน่งของ Marketing Manager & Partnership Management ให้กับ บริษัท ปัญจลักษณ์พาสุข จำกัด (Panjaluck Pasuk Co., Ltd.) ที่เป็นเจ้าของธุรกิจ KAAN Show นี้ เราลองมานั่งคุยถึงเบื้องหลังความสำเร็จพร้อมกับทำความรู้จักโชว์นี้ไปพร้อมๆ กับตัวเธอกันดีกว่า

Q : การทำการตลาดในสายงานโชว์หรือความบันเทิงแตกต่างจากการทำการตลาดทั่วไปหรือไม่อย่างไร

A : จะว่าเหมือนก็ไม่ใช่ จะว่าแตกต่างก็ไม่เชิงค่ะ แน่นอนว่าการทำ Marketing ก็คือการส่งเสริมการขายให้กับ Product ในส่วนของ KAAN Show เองก็เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งเช่นกันที่เราต้องทำการตลาด เพียงแต่ว่ารายละเอียดหรือวิธีการมันก็จะมีเรื่องที่ต่างกันค่ะ อย่างแรกเลยเราต้องโฟกัสไปที่ธุรกิจท่องเที่ยว เมื่อก่อนเราเคยแต่เป็นคนเที่ยวแต่เดี๋ยวนี้เราต้องเข้ามาทำในธุรกิจนี้ ก็ได้รู้อะไรเยอะมาก คือการทำการตลาดโชว์มันไม่ได้มีแค่ว่าจะต้องทำโชว์ให้ดีอย่างเดียว โชว์ดีก็ใช่ว่าจะขายได้เสมอไป เรื่องของอาร์ตมันเป็นมุมมองของคน บางคนชอบมาก แต่บางคนอาจจะไม่ชอบเลยก็ได้ มันมีหลายปัจจัยมากๆ ค่ะ

แล้วยิ่งมาทำการตลาดในธุรกิจท่องเที่ยวจริงๆ เรื่อง Price War นี่ดุเดือดมากเลยค่ะ ราคามันก็สูงมากไม่ได้ พอสูงมากก็ไม่มีคนดู โดยเฉพาะตลาดของเอเจนท์ทัวร์ (Tour Agency) เป็นลูกค้ากลุ่มที่ใหญ่มาก กว่า 80% เลย กลุ่มนี้ก็จะมีอิทธิพลต่อการทำการตลาดของเราค่อนข้างสูง เพราะโวลุ่ม (Volume) เขาเยอะด้วย ถ้าหายไปนี่ธุรกิจเจ๊งได้เลย เราก็ต้องรักษากลุ่มนี้ให้ดีๆ คือในการทำการตลาดของเอเจนท์ฯ มันไม่ใช่แค่ว่าจะโชว์ดีอย่างเดียวเขาถึงเลือกให้ลูกทัวร์มาดู มันเกี่ยวกับเรื่องของราคาเต็มๆ เพราะฝั่งเขาก็ต้องบริหารต้นทุนเหมือนกัน อีกอย่างมีโชว์อื่นๆ ที่เป็นตัวเลือกอีกเยอะ ถ้าเขาไม่เลือกเราก็เลือกไปที่อื่นแทนได้เหมือนกัน เรื่องเวลาของโชว์อีก ถ้าเขาจัดโปรแกรมทัวร์ไม่ลงตัวกับเวลาการแสดงเขาก็ต้องเลือกอันที่เอื้อกับเวลาเขามากกว่า เรื่อง facility ต่างๆ ก็มีผล อย่างถ้าโรงละครมีที่ให้เดินเล่น ช้อปปิ้ง มีร้านอาหารให้พวกเขาทาน ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เอเจนท์ฯ ตัดสินใจมาได้ดีขึ้น เพราะลูกทัวร์มีอะไรทำเยอะ ไม่น่าเบื่อ ไม่เสียเวลาเดินทางไปหาร้านกินข้าว ทำให้เขาบริหารเวลาได้ง่ายขึ้น นี่เป็นแค่ตัวอย่างนะคะ รายละเอียดในการทำการตลาดโชว์มันก็เลยมีความเฉพาะตัวของมัน ถ้าทุกอย่างลงตัว ถ้าเอเจนท์ฯ เลือกบรรจุอยู่ในโปรแกรมทัวร์ของเขา เราก็จะได้ลูกค้าแล้ว แต่ถ้าทำให้เขาเอาโชว์ของเราใส่ลงไปในโปรแกรมไม่ได้ เราก็ขายกลุ่มใหญ่ไม่ได้ รายได้เราก็จะหายไปเยอะค่ะ

อีกอย่างที่แตกต่างก็คือธุรกิจท่องเที่ยวมันมีฤดูกาลของมัน เราต้องรู้ว่าช่วงไหน High Season ช่วงไหน Low Season เพื่อที่จะรู้ว่าแต่ละช่วงต้องทำการตลาดกระตุ้นยังไง ควรมีโปรโมชั่นอะไรดีในช่วงนี้ แล้วสิ่งที่สำคัญมากๆ ของการทำการตลาดอีกอย่างก็คือการเรียนรู้ผู้บริโภคค่ะ เราต้องเรียนรู้และเข้าใจพฤติกรรมของนักเที่ยวในแต่ละประเทศด้วยว่าเขาเป็นอย่างไรกัน คนไทยเป็นยังไง ต่างชาติเป็นยังไง นักท่องเที่ยวจีนเป็นแบบไหน นักท่องเที่ยวสิงคโปร์เป็นอย่างไร นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นชอบแบบไหน นักท่องเที่ยวเวียดนามมีลักษณะเป็นอย่างไร นักท่องเที่ยวยุโรปเค้าโอเคกับแบบไหน นักท่องเที่ยวฝั่งอเมริกาจะชอบไม่ชอบอะไร อย่างนี้เราต้องเข้าใจให้หมด ถ้าไม่เข้าใจผู้บริโภคก็จะขายของไม่ได้ แต่มันก็เป็นเรื่องที่เราได้เรียนรู้เยอะมาก สนุกมากเหมือนกัน ซึ่งเมื่อก่อนเราทำงานในสายอีเวนท์มา เราไม่เคยได้รู้เรื่องพวกนี้เลย

Q : แล้วทำไมจึงตัดสินใจเปลี่ยนสายงานมาทำในด้านนี้

A : จริงๆ ต้องย้อนกลับไปเล่าตั้งแต่จุดเริ่มต้นก่อนเลย ตอนนั้นทำงานสายอีเวนท์ค่ะ เราก็ไม่ได้ตั้งใจจะเปลี่ยนสายงานหรอกแต่เผอิญตอนนั้นออกจากงานที่เก่าแล้วก็ทำฟรีแลนซ์อยู่ ได้เจอกับรุ่นพี่ที่รู้จักแล้วพอเขาเล่าโปรเจกต์นี้ให้ฟังเราก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจมาก มันน่าตื่นเต้นมาก พอดีเค้ากำลังหาผู้ช่วย Marketing Communication Director ซึ่งก็เป็นรุ่นพี่คณะเราอีกคน เราก็เลยสนใจเข้าไปทำค่ะ เราได้อยู่กับโปรเจกต์นี้มาตั้งแต่มันยังเริ่มใหม่ๆ เลย โรงละครยังไม่ตอกเสาเข็มเลยด้วยซ้ำ ได้เห็นตั้งแต่การเตรียมงาน คัดเลือกนักแสดง เห็นน้องๆ ซ้อมการแสดง จนกระทั่งโชว์เปิดขึ้นมาจริงๆ มันก็เลยผูกพันมาก

KAAN presented by SINGHA CORPORATION

VDO Link : https://www.youtube.com/watch?v=935soKu5Eik

ตอนเป็นผู้ช่วยก็ได้ทำอะไรหลายอย่างในฝ่าย Mar Comm (สื่อสารการตลาด) จนต่อมาก็ได้ขยับมาทำ Media Partnership Manager ดูแลวางแผนสื่อของ KAAN Show พอโรงละครเปิดได้สักพักก็ได้มาเป็น Marketing Manager เพราะเรารู้รายละเอียดโชว์ค่อนข้างมาก และอยู่กับโปรเจกต์มาตั้งแต่เริ่มต้น

จนองค์กรมีการปรับองค์กรครั้งใหญ่เราก็เลยได้พ่วงงานที่ต้องดูแล Partnership ที่มาเป็นสปอนเซอร์ให้โชว์อีกรอบ ตำแหน่งปัจจุบันก็เลยกลายเป็น Marketing Manager & Partnership Management ค่ะ คือเราอยู่กับโชว์นี้มาตลอด เราก็สนุกกับมันเรื่อยๆ มันมีสิ่งอะไรใหม่ๆ ให้เรียนรู้ตลอด อีกอย่างผู้ใหญ่ก็ให้โอกาสเราได้ลองอะไรที่เราอยากลองด้วย เราก็อยากท้าทายตัวเองด้วย มันก็เลยกลายเป็นเส้นทางการทำงานมาจนถึงทุกวันนี้

Q : เราทราบมาว่าไม่ได้เรียนจบมาทางด้านนี้โดยตรงด้วย แล้วมันเป็นอุปสรรค์กับการทำงานบ้างหรือเปล่า

A : ตอนเรียนเราจบปริญญาตรีมาจาก คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ค่ะ แต่จบสาขาวิทยุโทรทัศน์ จริงๆ เป็นสาขาที่ชอบมากๆ เราเป็นคนร่าเริง ชอบพูดคุย ก็เคยเป็นดีเจด้วย มีไปทำละครเวที ทำแสงสีเสียง ตอนนั้นต้องบอกว่าไม่มีการวางแผนอะไรให้กับชีวิตไว้เลย คิดแต่ว่าจะมีความสุขในปัจจุบันให้มากที่สุด การคิดแบบนั้นมันมีทั้งข้อดีและข้อเสียนะ แล้วมันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราไม่ทะเยอทะยานเลย มันเลยไม่มีเป้าหมายอะไรที่เป็นจริงเป็นจัง แต่ในขณะเดียวกันคนรอบข้างเราเขามีเป้าหมายในชีวิตกันหมด เค้ามีความฝัน เค้ารู้ว่าเขาจะโตไปเป็นอะไรในอนาคต ในใจเราก็คิดว่าจะต้องขนาดนั้นเลยเหรอ คือมันไม่ได้กดดันนะ แล้วก็ไม่ได้ว่าคนอื่นด้วย แต่มันเป็นอารมณ์ของความไม่เข้าใจ จนพอโตขึ้นเรื่อยๆ จนมาทำงานที่ KAAN Show นี้เราก็เริ่มคิดแบบเพื่อนๆ ในตอนนั้นบ้างแล้ว คิดว่าจะเอายังไงกับชีวิตต่อไปดี เป้าหมายของเราจะเป็นยังไงดี ไม่ได้รู้สึกว่ามันสายไปนะ แต่เราเพิ่งมีความรู้สึกแบบนั้นในตอนนี้

ถ้าถามว่าการไม่ได้จบมาโดยตรงมีปัญหากับการทำงานด้านนี้หรือเปล่า ก็ไม่เชิงนะคะ ส่วนหนึ่งคือเราโชคดีที่ได้ทำงานกับคนเก่งๆ เยอะ ตั้งแต่ตอนทำอีเวนท์ มาจนถึงตอนทำที่ KAAN Show มันก็เลยทำให้เราได้เรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาเรื่อยๆ เพราะสิ่งต่างๆ มันก็เกี่ยวข้องกับการตลาดเหมือนกัน ในทางตรงกันข้ามเราก็อาจมีสิ่งที่ Marketing ทั่วไปไม่มีเหมือนกัน อย่างการทำอีเวนท์ที่ทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นคนซัพพอร์ทเรื่องนี้ที่ KAAN Show อยู่ด้วย หรือการรู้เรื่อง Mar Comm ไปจนถึงการวางแผน Media มันทำให้เราเข้าใจงาน Marketing ที่ลึกซึ้งทั้งระบบด้วยซ้ำ ก็เอาทุกสิ่งทุกอย่างมาผสมกันให้มันเกิดประโยชน์ ในหลักการ Marketing เราอาจจะไม่ได้เรียนรู้มาจริงๆ แต่เราได้เรียนรู้การทำ Marketing จากโลกของการทำงานจริงๆ

Q : แล้วอะไรคือเสน่ห์ของงาน Marketing ที่เราหลงรัก

A : มันสนุกนะ มันได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา อีกอย่างเราอาจจะโชคดีที่ได้อยู่ในองค์กรที่ดี เปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้อะไรต่างๆ และให้เราได้ทดลองทำอะไรมากมาย ได้ทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ที่ตั้งใจ ได้ทำงานกับคนเก่งๆ ในระดับประเทศมากมายหลายวงการ เราอาจจะไม่ได้เก่งเชิงกลยุทธ์ (Strategic) แต่เราชำนาญเชิงปฎิบัติการ มันได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ เยอะมากค่ะ เรายังรู้สึกสนุกกับตรงนี้ สนุกกับการเรียนรู้ สนุกกับการทำงานกับคน สนุกกับการคิด สนุกกับการเจออะไรใหม่ตลอดเวลา

Q : เสน่ห์ของ KAAN Show คืออะไร

A : เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่คนไทยยังไม่เคยทำมาก่อนจริงๆ มันเป็นโชว์ที่เกิดจากความตั้งใจของคนไทยที่จะสร้างสรรค์โชว์ของตัวเองให้สำเร็จเหมือนโชว์ดังๆ ระดับโลก มันผ่านการคิดทุกเม็ด ผ่านการใส่ใจรายละเอียดทุกขั้นตอน เราเป็นคนที่ชอบดูโชว์มาก เราไปดูโชว์ตลอด เรารู้ตั้งแต่เบื้องหน้ายันเบื้องหลัง เวลาที่เราดูโชว์แล้วมันไม่ได้คิดในทุกจุดนี่เราจะรู้เลยว่ามันดูไม่ว้าว ดูไม่สนุก แต่พอเราไปดูโชว์ที่ใส่ใจทุกเม็ด เราจะรับรู้ได้เลยว่าโชว์มันดี

สำหรับ KAAN Show เอง ยิ่งเราคลุกคลีมันมาตั้งแต่ต้น เรารู้ที่ไปที่มาของรายละเอียดทุกอย่าง เราก็เลยยิ่งเห็นคุณค่าของมัน อยากจะบอกว่ามันถูกสร้างมาจากความตั้งใจจริงๆ ของคนทำเลยนะ แล้วนักแสดงทุกคนก็เต็มที่กับมันด้วย ทีมงานทุกฝ่ายก็ทุ่มเทด้วยกันหมด พอทุกอย่างมันเกิดจากความตั้งใจมันเลยออกมาดี มันเป็นโชว์ที่ไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อนเลยจริงๆ แล้วดูปั๊บรู้เลยว่าเป็นโชว์ของเมืองไทย มันเต็มไปด้วยการสร้างสรรค์มากมาย แล้วก็เป็นความภูมิใจของคนไทยที่อวดชาวโลกได้ คนที่มาดูทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติก็ชื่นชมกัน เราอยู่กับความภูมิใจตรงนี้มาตั้งแต่ต้น เราก็เลยมีความสุขที่ได้ทำให้คนอยากมาดูโชว์ของเราค่ะ

Q : แล้ว KAAN Show มีวิสัยทัศน์อย่างไรบ้าง

A : เราตั้งใจที่จะทำให้ KAAN Show เป็นโชว์ของคนไทยที่ดังระดับโลก ใครๆ ก็ต้องบินมาดู มาเมืองไทยก็ต้องมาดู KAAN Show ตอนเริ่มแรก KAAN Show มี Vision ระยะยาวที่ยิ่งใหญ่มาก แต่พอมาเจอกับสถานการณ์จริงๆ เจอปัจจัยหลายอย่างที่เราควบคุมไม่ได้ มันก็เลยเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แผนก็ปรับเปลี่ยนใหม่ตลอด แล้วเดี๋ยวนี้ตลาดการท่องเที่ยวมันเปลี่ยนแปลงไวมาก เราก็ต้องตามให้ทัน ปรับแผนตลอดเวลา ทำให้มันเวิร์คที่สุด แต่ Vision ก็ยังเป็นแบบเดิมอยู่ คืออยากทำให้โชว์ไทยดังระดับโลกให้ได้ ถ้าถามว่าตอนนี้เราไปถึงจุดนั้นหรือยัง ก็ไม่เชิงค่ะ เราเริ่มเป็นที่รู้จักในตลาดโลกแล้ว แต่ก็ยังไม่ใช่โชว์ที่คนจะต้องบินมาดูให้ได้ ตอนนี้เราก็ทำตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีไปออกอีเวนท์ที่ต่างประเทศบ้าง คนก็เริ่มรู้จักเราเพิ่มขึ้น แต่ถ้าถามในส่วนของโลคอลเอง ตอนนี้เราก็ยังคงเป็นโชว์ที่ติดอับดับ 1 ใน TripAdvisor ของแหล่งท่องเที่ยวที่ดีและยอดนิยมที่สุดในพัทยาอยู่เสมอค่ะ  

Q : การทำ Marketing กับตลาดต่างชาติมีความยากง่าย หรือแตกต่างจากตลาดไทยอย่างไรบ้าง

A : พฤติกรรมนักท่องเที่ยวแต่ละที่ต่างกันอยู่แล้วค่ะ ฉะนั้นการทำการตลาดกับแต่ละกลุ่มก็จะแตกต่างกันด้วย ตรงนี้เราได้เรียนรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์จาก ททท. (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) เยอะมาก เขาจะบอกเลยว่าแต่ละประเทศมีคาแรกเตอร์ยังไง นักท่องเที่ยวมีพฤติกรรมการบริโภคแบบไหน ควรจะต้องทำการตลาดอย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น นักท่องเที่ยวที่มาจากสิงคโปร์ก็มักจะเป็นนักธุรกิจเป็นหลัก คนกลุ่มนี้เขาจะทำงานตลอดเวลา ชีวิตค่อนข้างยุ่ง จะไม่ค่อยมีการวางแผนพักผ่อนระยะยาว แต่จะถ้าอยากจะพักเขาจะตัดสินใจแบบด่วนๆ เลย ซื้อทัวร์มาเที่ยวเลย หรือจองโรงแรมเอง มาเที่ยวเอง ถ้าเจออะไรน่าสนใจเขาก็จะไปเลย ถ้าจะทำโปรโมชั่นกับคนกลุ่มนี้ก็ไม่ต้องทำแบบยาวๆ ทำโปรโมชั่นระยะสั้น แต่ดึงดูดไปเลย ในขณะที่ถ้าเราจับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นจะเป็นนักอ่าน ชอบอะไรที่มีคุณภาพ เขาก็จะศึกษาก่อนว่าสิ่งที่เขาจะดูจะทำมันเป็นอย่างไร เขาก็จะเข้าไปอ่านในเว็บไซต์โน่นนี่ เพื่อประกอบการตัดสินใจ แต่ถ้าอะไรที่เขาตัดสินใจมาดูแล้วเขาก็จะชอบมันมาก เวลาที่คนญี่ปุ่นชอบอะไรแล้วมันก็จะทำให้คนอื่นๆ เชื่อถือตามไปด้วย ก็เป็นชาติที่เราต้องให้ข้อมูลอย่างดีเป็นพิเศษ

ส่วนคนจีนนี่ตลาดใหญ่มากๆ คนจีนมีหลากหลายเมือง หลากหลายประเภทมาก มีตั้งแต่คนรวย คนที่มากับทัวร์ คนที่มาเที่ยวเอง คนที่มาทำธุรกิจ เยอะไปหมด ถ้าเป็นกลุ่มทัวร์หรือนักท่องเที่ยวทั่วไปเขาจะสนใจเรื่องราคา ถ้าราคาโดนใจยังไงคนจีนก็ชอบ อีกอย่างก็คือเรื่องของรางวัล อะไรได้รางวัลการันตีคนจีนก็อยากมาดู เขาพร้อมใช้เงิน อะไรดีเขาก็เลือกหมด ยิ่งถ้าได้รางวัลที่เป็นเวทีคนจีนจัดด้วย คนจีนก็ยิ่งเชื่อถือ เคล็ดลับสำคัญของตลาดจีนก็คือเรื่องของสื่อค่ะ อย่างที่เรารู้กันว่าคนจีนก็จะมี Social Media หรือเว็บไซต์เป็นของตัวเอง ซึ่งมันจะมีคนใช้งานเยอะมากๆ ถ้าเราจะทำ Marketing กับคนจีนก็ต้องเจาะตลาดผ่านสื่อออนไลน์ของจีนเหล่านี้ อย่างเช่น Weibo, Baidu, Wechat หรือ youku เป็นต้น ถ้ามันสำเร็จมันก็จะทำให้มีลูกค้ามหาศาลได้เลย

Q : สงครามราคา (Price War) กับตลาดโชว์ในเมืองไทยเป็นอย่างไรบ้าง

A : สำคัญมากค่ะ ธุรกิจท่องเที่ยวนี่มันสู้กันด้วยราคาจริงๆ เขาไม่ได้ดูว่าโชว์เราขายราคาเท่าไร หรือมีคุณภาพแค่ไหน แต่ทุกวันนี้เขาจะดูว่ามีโปรโมชั่นอะไรน่าสนใจมั้ย ได้สิทธิประโยชน์อะไรเพิ่มหรือเปล่า หรือหากเป็นกลุ่มเอเจนท์ฯ นี่ราคาเป็นผลมากเลยมันไม่ได้ว่าเราจะลดให้เขาได้เท่าไรนะ แต่เขาจะดูว่าเราให้ราคาที่เขาต้องการได้มั้ย เพราะเขาก็เอาของเราไปทำธุรกิจต่อกับธุรกิจของเขาเหมือนกัน ตลาดในประเทศที่เป็นคนไทยเองก็เหมือนกัน คนไทยชอบเที่ยว แล้วก็ชอบอะไรที่เป็นโปรโมชั่น ลดราคาเยอะๆ หรือเป็น Package พิเศษที่ได้อะไรร่วมด้วย หรือซื้อร่วมกับอย่างอื่นแล้วได้ราคาถูกอะไรทำนองนี้ เราก็ต้องปรับเปลี่ยนโปรโมชั่นใหม่ๆ อยู่เสมอ

โชว์ของเรามันเป็น Product ที่ต้องทำระยะยาว เรามีโชว์ทุกวัน เราไม่ใช่อีเวนท์ที่เปิดการแสดงช่วงนี้ถึงช่วงนี้ ฉะนั้นเราจะทำการตลาดแบบ Show Biz ก็ไม่ค่อยได้ พอเป็นธุรกิจระยะยาวเราก็ต้องพึ่งพวกเอเจนท์ฯ ทัวร์เป็นหลักเลย ฉะนั้นเราก็จะต้องทำการตลาดกับกลุ่มนี้เป็นพิเศษ ซึ่ง Price War มีผลกับธุรกิจโชว์สุดๆ เขาไม่ได้สนใจมากว่าโชว์ของเราจะเป็นอย่างไร จะดีเลิศแค่ไหน แต่เขาสนใจว่าเราให้เขาได้เท่าไร เขาจะทำกำไรให้ธุรกิจเขาได้หรือเปล่า ถ้าราคาโอเค บรรจุลงไปในโปรแกรมแล้วเขาก็ไม่เข้าเนื้อ ยังได้กำไรอยู่ เขาก็จะเลือก แต่ถ้าราคาสูสีกับคู่แข่งอื่นๆ หรือคู่แข่งถูกกว่า เขาก็ตัดสินใจไปได้ทันที เขาไม่ได้มานั่งดูคุณภาพอะไรมากนัก มันเป็นเรื่องของธุรกิจล้วนๆ เลยค่ะ แต่ในส่วนของทางเราเองก็มีต้นทุนเหมือนกัน เราก็ลงทุนสูง เราก็ต้องดูให้เหมาะสมว่าเราให้ได้ที่เท่าไรที่เราก็จะไม่เจ็บตัวเหมือนกัน เพราะเราก็ยังต้องดำเนินธุรกิจของเราต่อไปด้วย

Q : อะไรคือเคล็ดลับสำคัญของการทำ Marketing ในตลาด Show & Entertainment

A : ก่อนที่โชว์จะเปิดการแสดงเราก็รู้สึกว่า Product ที่มีคุณภาพยังไงก็ขายได้แน่ๆ แต่พอเปิดการแสดงแล้วในความเป็นจริงมันมีปัจจัยเยอะมาก ตั้งแต่การต้องเข้าใจตลาดของธุรกิจท่องเที่ยว การเข้าใจผู้บริโภคในแต่ละประเทศ การทำโปรโมชั่นที่แตกต่างจากการตลาดอื่นๆ การผูกพันธมิตร หรือแม้แต่การใช้สื่อ อ้อ! แล้วก็เรื่องราคาอีก มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยที่จะทำให้โชว์ประสบความสำเร็จและทำกำไร

จริงๆ เรายอมรับมาตลอดเวลาเราไม่เก่งเรื่องนี้เลย เรารู้สึกว่าเราเป็นเหมือนเป็ด รู้ทุกอย่างแต่ไม่รู้ลึกสักอย่าง เราลุยมันด้วยประสบการณ์จริงๆ เลย เรียนรู้เรื่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อย เรารู้สึกว่าเรายังไม่เก่งในวงการนี้ แต่ข้อดีของตัวเราก็คือเราเปิดใจรับฟังทุกคน ชอบเรียนรู้จากคนเก่งๆ ในวงาการนี้ ชอบฟังข้อมูลที่ทุกคนแชร์ โดยเฉพาะจากฝ่าย Sales ที่ก็ต้องทำงานเกี่ยวข้องกันตลอด ฝ่าย Sales เขาเป็นคนที่อยู่กับธุรกิจตรงนี้มานาน เข้าใจธุรกิจตรงนี้ดีที่สุด เมื่อก่อนเรามองมาจากข้างนอกเราก็หงุดหงิดว่าทำไม Sales ต้องทำแบบโน้นแบบนี้ ทำไมไม่ทำแบบนั้นแบบนี้ มันไม่เวิร์คเลยนะ แต่พอเรามาทำ Marketing และทำงานกับ Sales เรารู้เลยว่าเบื้องหลังจริงๆ ที่มันเป็นเหตุผลมีอีกมากมาย บางอย่างอยากทำแต่ก็ทำไม่ได้ บางอย่างต้องยอมทั้งที่ไม่อยากยอม บางอย่างมันเป็นคัลเจอร์ของวงการนี้ ถ้าเราไปเปลี่ยนเราก็เข้ากับธุริกิจไม่ได้ ก็ขายของไม่ได้กันพอดี เราก็ต้องเข้าใจเขาด้วย เรียนรู้ซึ่งกันและกัน อะไรปรับให้มันดีขึ้นได้ก็ช่วยกัน  

ในขณะเดียวกันการเป็นเป็ดของเราก็ช่วยออฟฟิศหรือช่วยงานฝ่ายอื่นๆ ได้หลายอย่างเหมือนกัน เราทำอีเวนท์ได้ เราก็ช่วยซัพพอร์ทตรงนี้ เราทำ Mar Comm กับ Media มาก่อน เราก็จะเข้าใจและช่วยเหลือได้ เรารู้ข้อมูลโชว์ลึกกว่าคนอื่น เราก็จะเป็นฝ่ายให้ข้อมูลกับส่วนต่างๆ ด้วย หรืออย่างการทำ Show & Entertainment Business เนี้ยะ จริงๆ แล้วเราก็บอกตัวเองว่าเราเป็นเหมือน Sales & Marketing นะ เราอยากพัฒนาตัวเองให้เป็นแบบนี้ เพราะเราต้องวางแผนและปิดการขายด้วยตัวเองได้ด้วย ซึ่งเราชอบอยู่แล้ว เราไม่ได้อยากเป็น Marketing ที่เป็นเชิง Strategic แบบคอยนั่งคิดกลยุทธ์อย่างเดียว ซึ่งบางทีแผนที่คิดมาดีแค่ไหน สร้างสรรค์แค่ไหน แต่คนไม่ซื้อมันคือจบ บริษัทไม่ได้ตังค์มันคือล้มเหลวนะ ฉะนั้นการทำ Marketing ของเราก็คิดเรื่อง Sales ไปตลอดด้วยเหมือนกัน แล้วโลกทุกวันนี้มันเปลี่ยนแปลงไปไวมาก เทคโนโลยีก้าวไกลมาก การขายของ การโฆษณา มันไม่ได้อยู่ที่ วิทยุ หรือ ทีวีแล้ว มันอยู่บนอินเตอร์เน็ต อยู่บนมือถือ อยู่ได้ทุกที่ เราก็ต้องทำการตลาดให้ทันกับลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

Q : มีวิธีรับมือกับปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ อย่างไร

A : ปัญหาที่เจอจริงๆ มันก็เป็นปัญหาแบบเดียวกับที่ทุกคนมักเจอค่ะ แล้วปัญหาหลักของแทบทุกองค์กรก็คือเรื่องคน บริษัททุกบริษัทมันมีคนแตกต่างมาทำงานร่วมกันมากมายอยู่แล้ว ไม่มีใครเหมือนกันแน่นอน แล้วก็มีความเห็นไม่ตรงกันแน่ๆ เมื่อก่อนเวลาเครียดเรื่องคนบางทีก็โทรไปคุยกับเพื่อนบ้าง เก็บมาคิดมากบ้าง แต่เดี๋ยวนี้พอโตขึ้นก็เริ่มรู้สึกว่าเครียดไปก็ไม่มีประโยชน์ ช่างมันเถอะ ปล่อยมันไป อะไรแก้ได้ก็แก้ อะไรแก้ไม่ได้ก็ต้องปล่อยมันบ้าง เพราะถ้าเราเก็บมาเครียดคนเดียว เราเองที่แย่

แล้วยิ่งเราต้องทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ๆ ด้วย ซึ่งวิธีการทำงานหรือแม้แต่วิถีชีวิตมันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เด็กรุ่นนี้ก็เปลี่ยนไปจากสมัยที่เราอายุเท่าเขามาก มันมีทั้งข้อดีและข้อเสียแหละ แต่เราก็ต้องปรับตัวกันให้ได้ เรื่องเทคโนโลยีต่างๆ เขาอาจจะมีมุมมองที่ดีกว่าเรา มีความรู้มากกว่าเรา มีความเชี่ยวชาญในการใช้งานมากกว่าเรา แต่ประสบการณ์ก็จะน้อยกว่าเรา ความจริงจังหรือโฟกัสในการทำงานก็จะไม่มากเท่า หรือการตัดสินใจก็จะไม่เด็ดขาด ไม่มีการวางแผนสำรอง ทุกอย่างมันเป็นเรื่องของประสบการณ์ เราก็ต้องแชร์กัน และปรับตัวให้ทำงานร่วมกันให้ได้

Q : แล้วมีหลักการในการบริหารคนอย่างไร โดยเฉพาะการทำงานกับเด็กรุ่นใหม่

A : สไตล์การทำงานเราจะเป็นเหมือนทีม เป็นเหมือนเพื่อนมากกว่า แต่บางเวลาเราก็ต้องแสดงความอาวุโสบ้างให้เหมาะสม เราเป็นคนเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกคนค่ะ ฟังความหลายๆ ด้าน พยายามถามและทำความเข้าใจเขาในทุกๆ ด้าน ไม่ด่วนตัดสินใครไปก่อน เพราะทุกเรื่องมันมีเหตุผลของมัน คนส่วนใหญ่ยุคนี้บางทีใจร้อน ด่วนตัดสินใจ ฟังความข้างเดียวก็ฟันธงแล้ว เราต้องรู้จักที่จะฟังความด้านอื่นๆ ของเขาบ้าง แล้วก็รู้วิธีสื่อสารกับเขา ให้คุยกันให้เข้าใจ

เรารู้สึกว่าการทำงานมันต้องสนิทกัน ไว้ใจกัน ทำงานช่วยเหลือกัน มันจะไปรอดทุกคน ไม่ใช่ว่าโยนงานให้คนโน้นคนนี้ นั่งบริหารชี้นิ้วเฉยๆ อย่างนี้ก็ไม่มีใครอยากทำงานด้วยหรอก มันต้องมีความสัมพันธ์ที่มากกว่าเพื่อนร่วมงานได้ ให้เกิดความรักกันขึ้น รักแบบเพื่อน รักแบบพี่น้อง รักในความเป็นกลุ่มก้อน ไม่ใช่แค่รู้จักกันในที่ทำงานแล้วพอนอกงานคือจบ ฉั้นไม่รู้จักเธอ อย่างนี้มันไม่ดีในระยะยาว ฉะนั้นเวลาทำงานในทีม เรารู้สึกว่ามันต้องมากกว่าเรื่องของการฟังกันและกันเฉยๆ แต่ต้องฟังกันให้มากขึ้น มันต้องคุยกันได้ รับฟังกันได้ทุกด้าน ไม่ใช่ด่วนตัดสินโดยไม่ฟังความใคร อีกอย่างเรื่องเดียวกันมันก็ไม่ได้มีแค่มิติเดียว บางคนอาจเจอปัญหาเหมือนคนนี้ แต่เบื้องหลังมันต่างกันเลย เราก็ต้องเข้าใจในแต่ละประเด็นที่ต่างกันด้วย แต่การสนิทกันมากเกินไปบางทีก็เป็นดาบสองคมเหมือนกัน ก็ต้องวางตัวให้ถูก บริหารให้เป็น

Q : นิยามของคำว่า “สำเร็จ” คืออะไร

A : ต้องมีความสุขนะ ถ้าสำเร็จแล้วไม่มีความสุขกับมัน ต้องถามตัวเองแล้วว่ามันใช่หรือเปล่า เมื่อก่อนเราเป็นคนที่ชอบความสมบูรณ์แบบมาก ผิดนิดผิดหน่อยไม่ได้ อะไรที่เราทำแล้วมันมีข้อผิดพลาดเราก็จะมานั่งเซ็งตัวเอง รู้สึกว่าทำไมเวลาทำงานแล้วเราไม่มีความสุขสักที แต่พอโตขึ้นเริ่มไม่อยากเก็บความเครียดใส่ตัวแล้ว มันไม่มีผลดีอะไรกับเราเลย ก็จะช่างมันให้ได้ ปล่อยมันให้ได้ ปลายทางความสำเร็จเราต้องมีความสุขกับมันให้ได้ ระหว่างทางเราอาจมีผิดบ้าง ไม่เป็นไร มันไม่ต้องสมบูรณ์แบบไปทั้งหมดก็ได้ แต่ปลายทางมันสำเร็จคือโอเคแล้ว

ที่สำคัญคือถ้าเราแฮปปี้กับความสำเร็จ มันจะไม่เป็นโรคประสาท ไม่เครียด อันนี้จริงๆ นะ แล้วมันก็จะสามารถทำให้เราทำงานอื่นต่อๆ ไปได้เรื่อยๆ ตัดความสมบูรณ์แบบออกหน่อย ยอมผิดบ้าง ให้อภัยตัวเอง มันเป็นคีย์สำคัญที่จะทำให้เราสำเร็จได้อย่างยอดเยี่ยมทีเดียว แล้วพอสำเร็จแล้วก็จงมีความสุขกับความสำเร็จที่ตัวเองได้ทำด้วย ไม่งั้นเราก็จะหาความสำเร็จของเราไม่เจอสักที

Q : ศักยภาพโชว์ไทยในเวทีบันเทิงโลก

A : ในเมืองไทยตอนนี้มันก็มีโชว์เกิดขึ้นเรื่อยๆ นะ ซึ่งจริงมันดีมากค่ะ มันทำให้ภาพรวมของตลาดโชว์ในบ้านเราดี มีความหลากหลาย มีการแข่งขันสูง มันทำให้มีกระแสน่าสนใจ อีกอย่างธุรกิจท่องเที่ยวบ้านเรามันใหญ่อันดับต้นๆ ของโลกด้วย การมีโชว์ที่เป็นทางเลือกให้นักท่องเที่ยวเยอะๆ มันก็สะท้อนว่าธุรกิจนี้ในเมืองไทยประสบความสำเร็จ และกลายเป็นตลาดที่น่าสนใจ ใครอยากมาเมืองไทยก็ต้องมาดูโชว์ด้วย มันทำให้ภาพธุรกิจโชว์ในบ้านเราชัดเจนขึ้น แข็งแกร่งขึ้น

แต่มีแง่ดีก็มีแง่เสียด้วยเหมือนกัน โชว์บ้านเราเยอะก็จริง แต่ส่วนใหญ่ทำกันแบบไม่ค่อยใส่ใจคุณภาพ ทำขึ้นมาเพื่อหากำไรอย่างเดียว มันเลยทำให้ตลาดโชว์บ้านเรายังไม่ประสบความสำเร็จในเวทีโลก มันกลายเป็นแค่สีสันของแหล่งท่องเที่ยวเฉยๆ แต่มันไม่ได้กลายเป็น Entertainment Destination ที่แท้จริง

จริงอยู่ที่เราเห็นคนไทยพยายามจะสร้างสิ่งใหม่ให้มากขึ้น แต่เราก็เห็นคนที่ตั้งใจและใส่ใจน้อยอยู่ ยังไม่เห็นใครที่กล้าลุงทุนและพัฒนาอย่างจริงจัง หรือมีก็สายป่านไม่ยาว ไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดี ก็ต้องปิดตัวกันไปเร็ว เรายังไม่มีใครที่แข็งแกร่งเรื่องนี้อย่างจริงจัง แล้วก็ยังไม่มีการสนับสนุนกันอย่างจริงจังด้วย ส่วนตัวแล้วมองว่าเราต้องร่วมกันพัฒนาโชว์ให้มีคุณภาพระดับสากล ต้องช่วยกันยกระดับโชว์ของประเทศร่วมกัน ให้คนไทยรู้สึกภูมิใจในโชว์ของประเทศตัวเอง และให้คนภายนอกชื่นชมในโชว์ที่มีศักยภาพของเราให้ได้ ซึ่งมันจะช่วยทำให้มีเม็ดเงินในธุรกิจนี้ พอมีคนมาลงทุนเยอะก็มีการพัฒนาแข่งกันเยอะขึ้น เมืองไทยก็จะมีโชว์ดีๆ เพิ่มขึ้น ถ้าเป็นแบบนั้นได้ก็จะทำให้ภาพรวมของ Show & Entertainment Business ในเมืองไทยดีขึ้นแน่นอนค่ะ

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง