NPP Box กล่องใบเก่า ในรูปโฉมใหม่ : พลิกฟื้นธุรกิจของคนรุ่นเก่า สู่การสร้างสรรค์ของเจเนอเรชั่นใหม่

ธุรกิจ SMEs และ Online Marketing นั้นเติบโตเป็นอยากมากในยุคปัจจุบัน หนึ่งในอุปกรณ์สำคัญสำหรับการประกอบธุรกิจของกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้ก็คือ Packaging หรือ กล่องกระดาษ นั่นเอง แต่คราวนี้เราไม่ได้โฟกัสไปที่การพูดถึงเรื่องของบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์แต่อย่างใด เพราะสิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือการกล่องลูกฟูกที่ใช้สำหรับส่งพัสดุ ซึ่งทุกวันนี้ตัวกล่องไม่ได้แค่ทำหน้าที่ในการส่งของเฉยๆ เพียงเท่านั้น แต่กล่องลูกฟูกในปัจจุบันคือการผสมผสานความเป็น Branding และ Packaging Design เข้าไว้ร่วมกันในกล่องนี้กล่องเดียวอีกด้วย และมันก็กำลังเป็นตลาดที่ได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ไม่น้อยเลยทีเดียว

หนึ่งในเจ้าตลาดที่เป็นผู้บุกเบิกคนแรกๆ สำหรับการเปลี่ยนโฉมกล่องพัสดุให้มีดีไซน์สวยเก๋ไม่แพ้กล่องบรรจุภัณฑ์ของแบรนด์ต่างๆ นี้ก็คือ NPP Box ที่โด่งดังในโลกออนไลน์และเป็นขวัญใจของคนรุ่นใหม่อย่างมาก ซึ่งเคล็ดลับของความสำเร็จในคราวนี้ก็คือการดีไซน์กล่องที่โดนใจและการทำ Online Marketing ที่เต็มรูปแบบนั่นเอง แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า NPP Box ที่กำลังเป็นขวัญใจคนรุ่นใหม่นี้แท้ที่จริงแล้วคือการหยิบเอากิจการเก่าแก่ในครอบครัวมารื้อฟื้นใหม่ ปัดฝุ่น เปลี่ยนโฉม และเดินเกมธุรกิจใหม่จนประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังการพลิกฟื้นธุรกิจของครอบครัวให้กลับขึ้นมาใหม่ได้อย่างงดงามในคราวนี้ก็คือ คุณอูน-พรรณกร จันทรุกขา ที่รับหน้าที่ Managing Director แห่ง NPP Box องค์กรเก่าแก่แต่กลับมาในรูปโฉมใหม่ แถมยังขับเคลื่อนด้วยคนเจเนอร์เรชั่นใหม่ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

Q : ที่ไปที่มาของธุรกิจนี้เป็นอย่างไร

A : เดิมทีธุรกิจนี้เป็นของที่บ้านค่ะ เราเป็นโรงงานเล็กๆ ที่ทำกล่องลูกฟูกส่งตามลูกค้าอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ปริมาณมากก็จริง แต่มาร์จิน (Margin) ค่อนข้างต่ำ ได้กำไรน้อย แถมเครดิตยาวอีก แล้วยุคนี้คู่แข่งเยอะขึ้น โรงงานที่ทันสมัยและใหญ่กว่าเราก็เกิดขึ้นอีกเพียบ เราสู้โรงงานใหญ่ๆ ไม่ได้หลายอย่าง เพราะฉะนั้นก็เลยต้องสู้ด้วยราคา มันเป็นสงครามราคา ซึ่งเราเจ็บตัวมากค่ะ นานๆ ไปก็ไม่ไหว คุณแม่ก็เลยตัดสินใจขายทอดตลาดให้กับทางธนาคารไป แต่พอเรามารู้เรื่องราวต่างๆ ของโรงงาน รู้ว่าแรงงานหลายคนเป็นแรงงานเก่าแก่ที่เขาอยู่มานาน เขาช่วยเรามาตลอด เขาผูกพันกับที่นี่ เราก็สงสารเขา ไม่อยากทิ้งเขาไป ตอนนั้นยังไม่ได้คิดอะไรเรื่องธุรกิจเลย รู้แต่ว่าเราอยากซื้อกิจการคืนมาก่อน คุยกับคุณแม่เขาก็อนุญาต เขาก็ไม่คิดว่าลูกจะต้องมาสืบทอดกิจการต่อ อีกอย่างเราก็เรียนมาทางสายอื่นด้วย แต่พอเอาเข้าจริงแล้วเราอยากช่วยคน พี่ๆ แรงงานทุกคนเขาดีกับเรา อยู่กันมาจนรู้สึกเป็นเหมือนญาติแล้ว เราก็เป็นห่วงพวกเขา ถ้าเรายุบกิจการไปจริงๆ ชีวิตของคนหลายคนก็จะเดือดร้อน

Q : แล้วเรียนทางด้านไหนมา คิดว่าเป็นอุปสรรค์ในการกลับมาทำกิจการที่บ้านหรือเปล่า

A : จริงๆ แล้วเราจบทางด้านรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรมาค่ะ แต่ด้วยความที่เราค่อนข้างจะเป็นคนยุคใหม่ เราเลยสนใจหลายอย่าง ทำได้หลายอย่าง อีกอย่างก็ชอบงาน Marketing ด้วย โดยเฉพาะ Online Marketing ซึ่งเราคิดว่าเด็กยุคนี้ไม่ว่าจะเรียนสายไหนๆ มาก็คุ้นเคยกับ Online Marketing ได้ง่ายๆ อยู่แล้ว มันทำได้ไม่ยาก อย่างหลายคนก็ขายของทำธุรกิจออนไลน์ของตัวเองตั้งแต่ยังเรียน โดยที่เขาก็ไม่ได้เรียน Marketing มา เราก็เหมือนกันค่ะ แต่เราก็ได้เรื่องหลักการบริหารจากการเรียนรัฐศาสตร์ ก็เอามาประยุกต์ใช้กับการบริหารคนได้ แล้วก็เสริมเรื่อง Online Marketing ที่เราถนัดเข้าไป มันก็เลยไม่เป็นอุปสรรค์ในการทำงานเท่าไร ก็ลุยไปข้างหน้าก่อน ไม่ได้คิดถึงปัญหาก่อน เจอปัญหาก็ค่อยแก้ไขเอาค่ะ

Q : มีวิธีพลิกฟื้นกิจการของครอบครัวที่ย่ำแย่ให้ดีขึ้นได้อย่างไร

A : อย่างแรกเลยเรากลับมาดูก่อนว่าเดิมทีปัญหาของธุรกิจเรามันเกิดจากอะไรบ้างค่ะ ควรแก้อย่างไรกันดี อย่างแรกเลยคือเราเจ็บตัวเพราะไปต่อสู้กับสงครามราคากับเจ้าอื่น ลดราคาแข่งเพื่อให้ได้งาน มันไม่คุ้ม เราก็เลยคิดว่าถ้าเราทำเราจะต้องไม่เอาตัวลงไปแข่งกับสงครามราคาแน่ๆ อีกอย่างเราไม่ใช่โรงงานใหญ่ อุปกรณ์อะไรก็ทันสมัยสู้เขาไม่ได้ ยังไงเราก็มีโอกาสเจ็บตัวสูง เราก็เลยตัดสินใจต้องรุกตลาดรูปแบบใหม่ หากลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมแล้ว แล้วก็ทำการตลาดแบบใหม่ๆ เลย

เรามานั่งคิดว่ากล่องเนี้ยะจริงๆ แล้วมันเป็นเหมือนตัวแทนของแบรนด์เลยนะ มันคือ Packaging ที่สร้างภาพลักษณ์ให้แบรนด์ได้ แต่ถ้าเราจะไปหาลูกค้าแบรนด์ใหญ่ๆ ธุรกิจเราก็จะกลับมาเป็นแบบเดิม ดังนั้นเราเลยเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายไปเป็นกลุ่ม SMEs แล้วก็พวกขายของออนไลน์แทนค่ะ เรามองว่ากล่องเป็นตัวแทนในการส่งสินค้าและความรู้สึกดีๆ ให้กับลูกค้าได้ เราก็เลยมาโฟกัสตรงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากตัวกล่องนี่แหละ แล้วก็ไม่ทำการตลาดแบบเดิมๆ แต่เปลี่ยนมาทำ Online Marketing แบบเต็มตัวแทน เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ของเราก็ใช้ Social Media และ Online ต่างๆ กันอยู่แล้ว กลุ่มลูกค้าเราอยู่ตรงนี้ เราก็ต้องทำการตลาดกับตรงนี้ ก็ฉีกมาจากรูปแบบธุรกิจเดิมๆ ที่ครอบครัวเคยทำมาเลยค่ะ แต่มันเป็นธุรกิจในรูปแบบคนยุคเรามากๆ เราก็เลยลุยตรงนี้ได้ดี นั่นเลยทำให้เป็นจุดที่เรากลับมารีแบรนด์ NPP Box ใหม่ว่าเราจะเป็นโรงงานผลิตกล่องลูกฟูกที่ให้ความสำคัญกับการสร้าง First Impression ค่ะ

Q : จุดไหนที่ทำให้เกิด Turning Point ให้คนรู้จักโปรดักส์ของเราในวงกว้างและสร้างความสำเร็จได้ยอดเยี่ยม

A : ก็คงเป็นการการทำการตลาดแบบ Online Marketing ที่จริงจังจนทำให้เราเป็นที่รู้จักค่ะ เรารุกในโซเชี่ยลมีเดียค่อนข้างหนักมาก และจริงจัง ปกติแล้วธรรมชาติของโรงงานกล่องลูกฟูกก็จะเป็นลูกค้าอุตสาหกรรม ไม่ก็พวกอาแปะ อาเฮีย อาซ้อ แต่พอเราเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจใหม่เป็นรุกออนไลน์ปั๊บ ลูกค้าเราเปลี่ยนเลย เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นเด็กนักเรียน เป็นแม่ค้าออนไลน์ เป็นกลุ่ม SMEs เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ การทำการตลาดก็เปลี่ยนเลย เราก็ต้องทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงเราให้ได้ สร้างให้กล่องลูกฟูกมีความจำเป็นในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับการใช้และการทำการค้า ลงทุนกับการโฆษณาในเฟสบุ๊คเยอะมาก จนคนเริ่มรู้จัก จำได้ ลองใช้ และบอกปากต่อปาก อีกอย่างเราก็ทำ Online Marketing แบบคนยุคใหม่ด้วย คือหลังบ้านเป็นยังไงไม่รู้ แต่หน้าบ้านบน Social Media ต้องถ่ายรูปออกมาสวย น่าซื้อ น่าใช้ สื่อสารกับลูกค้าให้เป็นพวกเดียวกัน หน้าร้านเราไม่ได้อยู่ที่สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง หน้าร้านเราอยู่บนออนไลน์ เราไม่จำเป็นต้องแต่งร้าน แต่เราจำเป็นต้องทำภาพของสินค้าให้ดี น่าใช้ และที่สำคัญน่าแชร์ มันก็จะทำให้เราทำ Online Marketing ได้ประสบความสำเร็จ

Q : หัวใจสำคัญหรือเคล็ดลับในการทำ Online Marketing ให้ประสบความสำเร็จคืออะไร

A : การที่จะรุกธุรกิจแบบ Online Marketing สิ่งสำคัญอันดับแรกคือเราต้องเข้าใจธรรมชาติของโลกออนไลน์ก่อน แล้วก็ต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมายของ Online Marketing ด้วย อีกอย่างก็คือต้องทำการตลาดให้เป็น และจริงจัง อย่างการทำการตลาดแบบ Online Marketing นั้นคือมันต้องอาศัยความซ้ำบ่อยๆ ความถี่เยอะๆ ให้คนเห็น ให้คนจำได้ เพราะโลกของ Social Media หรือ Online นั้นมันไปไวมาก มันเปลี่ยนแปลงเร็ว ถ้าเขาเห็นแค่ครั้งเดียวเดี๋ยวแป้บเดียวก็ลืมแล้ว เพราะมันมีหลายแบรนด์มาก เราต้องย้ำให้เขาเห็นบ่อยๆ จนเขาจำได้ อีกอย่างก็คือการสร้าง “ภาพ” ที่สวยงาม สื่อสารได้น่าซื้อ จำเป็นมาก ถ่ายรูปให้ดี ให้ดึงดูดความสนใจให้ได้ ให้รู้ว่าของเราโดดเด่นน่าสนใจอย่างไร คนก็จะเข้ามาตามหาเอง แล้วการตลาดบนโลกออนไลน์มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไปไวมาก เราก็ต้องหมั่นเล่น หมั่นโพสท์ หมั่นอยู่กับมันตลอดเวลาด้วย เกาะกระแสให้ได้ ตามกระแสให้ทัน นำกระแสให้เป็น และวางแผนการตลาดแบบออนไลน์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด

Q : ไอเดียของการออกแบบกล่องมาเป็นคอลเล็กชันต่างๆ มีที่ไปที่มาอย่างไร

A : ตอนแรกๆ เราก็ทำกล่องแบบธรรมดานี่แหละค่ะ แต่ว่าการทำ Marketing Online มันต้องมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา มันไม่ควรอยู่นิ่ง แล้วอีกอย่างเราเลือกสร้างแบรนด์ทาง Marketing Online ฉะนั้นการสร้างภาพลักษณ์บนออนไลน์จึงเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องทำให้สินค้าดูดี น่าใช้ น่าซื้อ เราก็เลยเกิดไอเดียสนุกๆ อยากทำอะไรกับกล่องให้ดูน่าสนใจบ้าง แล้วมันก็ถ่ายรูปมาสวยด้วย ซึ่งสิ่งนี้ตอบโจทย์ Marketing Online มาก เพราะคนออนไลน์ชอบอะไรเก๋ๆ สวยๆ พอเราทำมาแล้วปรากฎว่ามันเวิร์ค คนชอบ ขายดี โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ชอบอะไรเก๋ๆ แล้วลูกค้าเราก็เป็นคนกลุ่มนี้เสียเป็นส่วนใหญ่ด้วยค่ะ มันก็เลยทำให้เรากลายเป็นที่สนใจ

ของ NPP Box นี้จะมีการผลิตกล่องอยู่สองส่วนคือส่วนที่เป็นกล่องสำเร็จรูปขนาดต่างๆ ขายตามปกติ ซื้อปลีกทั่วไป กับส่วนที่สั่งผลิตได้ ก็จะดีลแบบ B2B กันเลย คุยกับลูกค้าว่าแบรนด์เค้าเป็นอย่างไร อยากให้ Packaging ไปในทิศทางไหน เราก็จะทำตามทิศทางที่แบรนด์ของลูกค้าต้องการ ในส่วนของกล่องไปรษณีย์สำเร็จรูปที่ประสบความสำเร็จนั้น ลูกค้าบางคนเค้าก็ขายของออนไลน์แบบที่ไม่ได้มีบริษัทอะไรจริงจัง หรือไม่ได้มีงบมากมาย ไม่มีงบผลิต Packaging ของตัวเองคราวละเยอะๆ แต่เขาก็อยากได้กล่องสวยๆ ส่งให้ลูกค้าด้วย ไม่อยากได้กล่องไปรษณีย์ลายเชยๆ แบบเดิมๆ

เจ้าของสินค้าส่วนใหญ่ก็อยากสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าอยู่แล้ว เขาก็เลยจะเลือกกล่องสำเร็จรูปจากเราไปส่งให้ลูกค้า พอคนนิยมมากขึ้น มันมีการแชร์กัน NPP Box ก็เลยเติบโต เป็นที่รู้จัก กล่องเราก็เริ่มนิยมขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ แล้วเราก็เลยพยายามผลิตลายใหม่ๆ ออกมาขายเรื่อยๆ ด้วย เพราะลูกค้าก็ไม่ชอบความจำเจเหมือนกัน อยากหาอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา ตรงนี้เราก็ช่วยพวกประกอบการธุรกิจขนาดเล็กได้ด้วย ไม่ต้องไปสั่งผลิตคราวละมากๆ ไม่ต้องเอาเงินมาจม แต่ก็ได้ใช้ของที่ช่วยส่งเสริมธุรกิจเขาให้ดีขึ้น มันได้ผลประโยชน์กันทั้งคู่ แล้วมันก็ทำให้ธุรกิจเราอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ได้ด้วยค่ะ จากที่ยังมองไม่เห็นอนาคตในตอนแรกๆ ที่เริ่มต้น ปัจจุบันมันสำเร็จและเห็นผลดีพอสมควรเลย

Q : การเป็นองค์กรขนาดเล็กมีรูปแบบหรือเทคนิคในการบริหารคนอย่างไร

A : ต้องบอกว่าธุรกิจโรงงานแบบ Family Business นั้นค่อนข้างจะแตกต่างจากบริษัททั่วไปอยู่แล้วค่ะ เราบริหารงานกันแบบครอบครัวมานาน ไม่ได้มีหลักการอะไรมาก แต่พอเราเข้ามาฟื้นฟูธุรกิจใหม่ รีโนเวทแบรนด์ใหม่ เราก็อยากปรับการทำงานให้มันดีขึ้นด้วย พยายามเอาระบบแบบบริษัทสมัยใหม่เข้ามาผสมผสานกับการทำงานรูปแบบเดิม ด้วยความที่เรามีพนักงานเป็นสองส่วนหลักๆ ที่แตกต่างกัน เราก็ต้องบริหารและปรับให้เหมาะสมค่ะ ส่วนแรกที่เป็น Back Office เราก็เอาห้องทำงานเก่าของโรงงานมารีโนเวทตกแต่งใหม่ ให้สวยเหมือนกับออฟฟิศของคนรุ่นใหม่ทั่วไปเลย น่านั่งทำงาน ทันสมัย แล้วก็มีอุปกรณ์ทำงานที่เป็นมาตรฐานเหมือนออฟฟิศทั่วไป คนในส่วนนี้เราก็จะบริหารคล้ายๆ ออฟฟิศทั่วไปเลยค่ะ

ส่วนพนักงานอีกส่วนก็จะเป็นฝ่ายผลิต เป็นส่วนโรงงานผลิตกล่องลูกฟูกต่างๆ แต่ก็อยู่ที่เดียวกันนี่แหละค่ะ แรงงานส่วนใหญ่อยู่กันมานานแล้ว ก็จะคุ้นเคยเรื่องงานกันดี ส่วนนี้เราบริหารแบบออฟฟิศไม่ได้ เพราะเขาทำงานคนละลักษณะกัน แต่ตรงนี้เราก็จะไม่ได้ไปยุ่งอะไรมาก ให้เขาทำงานตามความคุ้นเคยเดิมๆ ซึ่งมันดีอยู่แล้ว เราก็จะดูแลในเรื่องสาระทุกข์สุขดิบกันมากขึ้น ไม่เอาเปรียบแรงงาน สร้างให้เป็น Happy Workplace ค่ะ

เราอยากให้ทุกคนทำงานด้วยความสุข ไม่เครียดกับงาน และให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย โหมงานแต่คุณภาพชีวิตแย่นี่ก็ไม่เอา มันแย่ทั้งลูกน้องแล้วก็ตัวเราด้วยค่ะ ที่นี่ก็เลยจะไม่ให้พนักงานทำ OT ให้ทำงานตามเวลา ถึงเวลาเลิกงานแล้วทุกคนก็สามารถไปพักผ่อน ไปมีชีวิตของตัวเองได้ ให้ทำงานแล้วมีความสุข แล้วก็ใช้ชีวิตปกติให้มีความสุขด้วย อยากให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

Q : แล้วการที่เป็นองค์กรที่มีความสุข (Happy Office) มีหลักในการสร้างองค์กรลักษณะนี้อย่างไร

A : เรานำหลักธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้ามาช่วยในการบริหารตรงนี้ด้วยค่ะ ในเรื่องหน้าที่ที่นายจ้างต้องมีต่อบริวาร ทำงานให้เหมาะสมกับเวลา แล้วก็สามารถแบ่งของกินที่ดีให้ลูกจ้างมีความสุขได้ เราเอาตรงนี้มาดีไซน์การบริหารองค์กรของเรา อย่างเรื่องเวลาทำงานเราแบ่งให้เหมาะสม ทำตามเวลาออฟฟิศที่ตกลงกัน ไม่นิยมโอที ทำงานให้สมาร์ท ใช้ชีวิตให้สมาร์ท อย่างเรื่องอาหารถึงแม้คำสอนจะเป็นเรื่องโบราณแต่ยุคปัจจุบันมันกำลังกลายเป็นเทรนด์ที่นิยมมากๆ ที่องค์กรจะหันมาดูแลเรื่องอาหารให้กับพนักงาน อย่างของเราในทุกๆ เดือนก็จะมีการทำอาหารมาแชร์กันกิน หรือลูกน้องอยากกินอะไรก็ขอมาได้เลย เดี๋ยวทางเราจัดให้ เรือบางทีเราก็หาของอร่อยๆ ดีๆ มาเลี้ยงพนักงานเองเลย เราอยากให้ทุกคนมีความสุข สุขทางกาย แล้วก็สุขทางใจด้วย

กิจกรรมอีกอย่างที่น่าสนใจก็คือการนั่งสมาธิ เราอยากให้ทุกคนได้ลองปฎิบัติสมาธิกันค่ะ มันมีประโยชน์ต่อชีวิต และการทำงานมาก ก่อนที่จะเริ่มงานในตอนบ่าย เราจะให้พนักงานทุกคนเข้ามานั่งพร้อมกันในห้องกลางของบริษัท เปิดแอร์ให้เต็มที่ ให้สบาย แล้วก็ให้เขาลองนั่งสมาธิสัก 5 นาทีก่อนไปทำงาน ไม่ได้บังคับว่าจะต้องนั่งให้นิ่ง ให้เปะ จะต้องนั่งให้ดี เราแค่อยากให้ทุกคนมาทำใจสงบนิ่ง อยู่กับตัวเอง เตรียมพร้อมที่จะทำงานค่ะ มันจะทำให้เรามีสติขึ้นได้ ทำงานได้ดี อันนี้เราก็นำมาดีไซน์ใช้กับหลักการบริหารในแบบของเรา ซึ่งมันก็เวิร์คทีเดียว

Q : มีหลักการในการคัดเลือกคนเข้ามาทำงานกับบริษัทอย่างไรบ้าง

A : เราค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องคนมากคะ อย่างตอนรับคนเข้าทำงานทุกครั้งที่เราประกาศรับสมัครเราจะบอกเสมอว่าไม่ใช่แค่เราเท่านั้นที่เลือกคุณนะ แต่คุณก็มีสิทธิที่จะเลือกเราด้วย ในส่วนตัวเราเราก็ต้องทำตัวเองให้โอเคด้วย ก็จะบอกหมดว่าบริษัทเราเป็นแบบไหน วัฒนธรรมองค์กรเราเป็นอย่างไร มีสวัสดิการอะไรให้บ้าง เราจะไม่โกหก แล้วถ้าแฮปปี้กับข้อตกลงร่วมกัน แฮปปี้กับงาน แฮปปี้กับบริษัท เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรได้ ทีนี้มันก็จะอยู่กันได้ยาวเลยค่ะ

การประกาศรับสมัครงานเราจะเน้นผ่าน Facebook ของบริษัทอย่างเดียวเลย ไม่ไปประกาศที่อื่น เพราะด้วยความที่เราเป็นองค์กรเล็กถ้าคนไม่รู้จักเรา ไม่รู้ว่าเราทำอะไร เขาก็จะไม่สนใจอยู่แล้ว แต่ถ้าคนที่ติดตาม Facebook เราเรื่อยๆ เขาจะรู้อยู่แล้วว่าแบรนด์เรามีคาแรกเตอร์เป็นอย่างไร ทำงานในลักษณะไหน สินค้าเราเป็นอย่างไร เราสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างไร ซึ่งคนที่ติดตามส่วนใหญ่มันคือคนที่ชอบแบรนด์เรา รู้จักแบรนด์เราเป็นอย่างดี หรือบางครั้งก็เป็นลูกค้าเราเองนี่แหละ เพราะฉะนั้นเบื้องต้นคนที่มาสมัครเขาจะรู้อยู่แล้ว เขาจะอินในระดับหนึ่ง และอยากมาสมัครเพราะอยากทำงานกับแบรนด์นี้ องค์กรนี้ มันก็จะไม่ยาก มันเป็นการคัดกรองคนที่อยากทำกับเราจริงๆ มาชั้นหนึ่ง ทีเหลือก็มานั่งคุยรายละเอียดงานกัน คุยเรื่องเงินเดือน คุยเรื่องผลประโยชน์อื่นๆ ถ้าโอเคซึ่งกันและกันก็ถึงจะรับเข้าทำงานค่ะ

Q : วัฒนธรรมองค์กรที่นี่เป็นอย่างไร

A : อย่างแรกเลยคือต้องทำงานเป็นทีมได้ อย่างที่สองคือต้องเป็นคนใฝ่รู้ เพราะยุคนี้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก โดยเฉพาะธุรกิจเราที่เปลี่ยนมาโฟกัสทาง Online Marketing ทุกอย่างมันต้องไว ต้องตามเทรนด์ให้ทัน ต้องทันเทคโนโลยี ต้องทันลูกค้า ไม่งั้นเราก็อาจจะขายของไม่ได้ แล้วแบรนด์เราก็จะอยู่บนตลาดโลกออนไลน์ในระยะยาวไม่ได้ โลกออนไลน์ทุกวันนี้มันมาเร็วไปเร็ว แบรนด์ที่อยู่ได้นานต้องรู้จักปรับตัวตลอดเวลาค่ะ

อีกหลักการหนึ่งที่เราพยายามทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรให้ได้ก็คือการรู้จักเผชิญกับปัญหา ต้องรู้จักทางแก้ไขให้ได้ มุ่งมั่นที่จะหาทางออก มากกว่าที่จะมานั่งกลัว หลักการหนึ่งที่อยู่ในใจเราตลอดก็คือ คนแพ้จะมองแต่ปัญหา คนชนะจะมองหาแต่ทางออก ฉะนั้นเราอยากให้น้องๆ ทีมงานของเราซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นเด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้การเผชิญหน้ากับปัญหา ไม่ต้องกลัวไปก่อน สู้กับมันก่อน สู้ได้ไม่ได้ค่อยว่ากันอีกที แต่ขอให้พยายามก่อน เราเชื่อว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอค่ะ ขึ้นอยู่กับจะหาวิธีแก้ปัญหาในทางไหน

อย่างบางครั้งเวลาที่บริษัทเกิดปัญหา จริงๆ แล้วเรามองออกแล้วล่ะว่ามันจะเกิดปัญหา แต่เราก็จะนิ่งๆ ไว้ก่อน คอยดูว่าเมื่อปัญหามาลูกน้องเราจะมีวิธีจัดการและรับมืออย่างไร จะแก้ไขยังไง ถ้าแก้ไม่ได้จริงๆ เราค่อยลงไปช่วย ตรงนี้บางทีเราก็ได้เห็นวิธีคิด วิธีตัดสินใจ วิธีแก้ปัญหาของคน ลูกน้องบางคนก็มีทักษะที่ดีมาก เขาแสดงศักยภาพออกมาจนเราเห็นว่าคนนี้มีแววนะ เราก็จะพยายามดันเขา พัฒนาให้เขาเก่งขึ้น ให้ลองทำงานใหม่ๆ ที่ท้าทายดู ซึ่งมันก็ได้ผลทีเดียว เราสามารถสร้างคนได้จากปัญหาด้วยค่ะ หรือบางทีเราก็จะลองโยนโจทย์ไปให้เขาลองทำกันดู ดูว่าจะมีวิธีจัดการกันอย่างไร มีความรับผิดชอบขนาดไหน นอกจากจะเป็นการฝึกเขาแล้ว ก็ยังได้ค้นหาศักยภาพของพนักงานไปในตัวด้วยค่ะ

Q : แล้วเวลาเจอปัญหามีวิธีการหรือหลักการเผชิญกับมันอย่างไร

A : อย่างที่บอกไปค่ะว่า คนแพ้จะมองแต่ปัญหา คนชนะจะมองหาทางออก ฉะนั้นทุกปัญหาเราจะต้องพยายามมองหาทางออกก่อน อย่าจมแต่การคิดอยู่กับว่ามันมีปัญหา อย่างเดือนแรกที่เราเริ่มธุรกิจนี่เราขายได้แค่ 5,000 บาท เอง ถ้าเรามองว่าแย่ มองว่าเป็นปัญหา เราก็จะยิ่งทุกข์ ยอมแพ้ แต่เราไม่คิดแบบนั้น เราคิดว่าจะทำยังไงให้ได้มากขึ้นกว่านี้ อะไรเป็นปัญหา แล้วจะแก้ยังไงดี ลุยต่อ ถ้าเราเน้น Online Marketing ก็ต้องเรียนรู้และพัฒนาการใช้สื่อออนไลน์ให้ดีขึ้นกว่านี้ ให้มีประสิทธิภาพกว่านี้ เริ่มวางแผนที่จะซื้อมีเดียโฆษณาอย่างจริงจัง ภาพเราก็เริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดบริษัทก็เริ่มทำกำไรได้ หลักการอีกอย่างที่สำคัญคือเมื่อเจอปัญหาให้รีบแก้ไขเลย อย่างรอเวลา อย่างหมักหมมปัญหา อย่าซ่อนปัญหาไว้ เดี๋ยวมันจะกลายเป็นเหมือนระเบิด ระเบิดทีเดียวแล้วแย่เลย มันไม่ดี เราต้องรีบแก้ไขให้เร็วที่สุด

Q : มีแผนในการดูแลพนักงานในระยะยาวอย่างไรบ้าง

A : เราจะไม่ได้วางแผนระยะยาวในแบบนั้น แต่เราจะวางแผนการพัฒนาบุคคลากรมากกว่า ให้เขารู้สึกว่าทำงานที่นี่แล้วได้อะไร ได้พัฒนาตัวเอง ได้พัฒนาศักยภาพ ถึงแม้จะเป็นบริษัทเล็กๆ แบบ Family Business ก็ตามที แต่เราก็อยากให้สวัสดิการดีๆ แบบบริษัทใหญ่ๆ เหมือนกัน สิ่งไหนทำได้เราก็จะทำ เราอยากให้ทุกคนทำงานที่นี่แล้วมีความสุข อย่างพวกการพัฒนาศักยภาพนี่พนักงานทุกคนเราจะมีงบให้คนละ 5,000 บาท/ปี ให้เขาเลือกไปเรียนอะไรก็ได้ตามที่เขาต้องการ จะเป็นเรียนภาษา, เรียนคอร์สต่างๆ, เรียนผ่านออนไลน์, เรียนต้น, หรือแม้แต่จะเอาไปเรียนเวิร์คช็อปทำงานอดิเรก ได้หมด เราสนับสนุนหมด หรือบางทีบริษัทก็จะจัดคอร์สฝึกอบรมให้ทุกคนได้มาเรียนร่วมกันก็มี หรือรวมตัวออกไปเรียนข้างนอกพร้อมกันก็มี อย่างคอร์ส Content Creator เราก็รวมตัวทั้งบริษัทไปเรียนด้วยกันเลย เขาก็จะได้ประโยชน์ ได้พัฒนาตัวเอง ทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้น แล้วก็ยังเอาไปใช้ในชีวิตส่วนตัวได้ด้วย อีกอย่างมันเป็นความรู้ติดตัวเขาไปได้ด้วย มันดีต่อทุกฝ่าย

Q : บริษัทมีการช่วยเหลือหรือคืนสู่สังคมอย่างไรบ้างหรือเปล่า

A : ถ้าติดตามในหน้าเพจของเราช่วงนี้เราก็จะมีโปรเจกต์ 3R กันค่ะ คือ Reuse-Reduce-Recycle เราพยายามจะส่งเสริมให้คนในองค์กรเราเริ่มทำก่อน แล้วก็แชร์ให้คนอื่นร่วมทำด้วย มันเป็นประโยชน์ต่อเราทุกคน แล้วก็ต่อโลกของเรา เราก็มานั่งคุยกันกับน้องๆ ว่าถ้าเราอยากรักษ์โลกกันเราจะทำอะไรกันดี ก็เริ่มจากง่ายๆ เลย 3R อย่าง Reuse ก็คือการใช้ซ้ำ เราก็จะเอาพวกกล่องที่หลุด QC (Quality Control) ต่างๆ มาประดิษฐ์ของใช้ใหม่ ประกอบโน่นประกอบนี่ เป็นกล่องเอาไว้ใช้งานในออฟฟิศได้ ไม่ต้องกลายเป็นขยะ ส่วน Reduce ก็คือการลด เราก็เริ่มร่วมมือกันงดใช้ถุงพลาสติก หันมาใช้ถุงผ้าแทน ทำให้เคยชิน ส่วน Recycle นี่ก็จะเป็นเรื่องใหญ่ที่เป็นจริงเป็นจังหน่อย เพราะโรงงานของเราก็จะมีเศษกระดาษที่เหลือทิ้งจากการผลิตค่อนข้างมาก เราก็จะรวบรวมไว้แล้วจะมีโรงงาน Recycle มารับซื้อต่อไปอีกที เอาไปต้มทำเยื่อใหม่ ก็ไม่ทิ้งให้เป็นขยะ เอาขยะไปใช้ประโยชน์ต่อ เป็นต้น ตรงนี้เริ่มที่ตัวเราก่อน แล้วพอเราแชร์สิ่งที่เราทำก็มีคนชื่นชมเรามากๆ ทุกคนก็ร่วมกันทำตามด้วย มันเป็นผลต่อเนื่องที่ดีมากๆ เลยค่ะ

ในเรื่องของธุรกิจ เราก็มีโครงการเพื่อสังคมเหมือนกัน ที่เราวางแผนกันไว้ก็คือเราจะทำแคมเปญที่เมื่อคุณซื้อกล่องของเรา ทุกการซื้อกล่อง 1 ใบ เราจะบริจาค 1 สต. เพื่อนำเงินไปสนับสนุนด้านการศึกษาด้วย เพราะเราเชื่อว่าการศึกษามันจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทุกสิ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ เราอยากช่วยตรงส่วนของการศึกษานี้ แล้วอีกโปรเจกต์ที่น่าสนใจก็คือในอนาคตเราก็มีแผนที่จะร่วมรักษ์โลกจริงจังมากขึ้น จะเริ่มเป็นเรื่องของธุรกิจแล้ว อย่างตอนนี้เราก็กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์กล่องลูกฟูกที่ผลิตมาจากเยื่อกระดาษ Recycle 100% แล้วก็จะออกวางขายเร็วๆ นี้ สร้าง Category ให้สินค้าเพิ่มอีกกลุ่ม เป็นตัวเลือกสำหรับคนที่อยากร่วมกันรักษ์โลกได้ด้วย เราอยากมีส่วนช่วยทำให้โลกดีขึ้นค่ะ

Q : มีการวางแผนธุรกิจในระยะยาวไว้อย่างไรบ้าง

A : ในตอนนี้เราทำการตลาดแบบ Online Marketing 100% แล้วอันที่จริงแล้วทุกช่องทางก็สำคัญไม่แพ้กัน มีประโยชน์กันคนละแบบ ต่อไปเราก็เริ่มมองว่าจะหันมาเริ่มทำตลาดแบบ Offline เพิ่มขึ้นด้วย แต่เรามองว่ามันต้องผสานร่วมกัน แบบ Mixed Channel ใช้สื่อทุกรูปแบบให้เป็นประโยชน์ อย่างแผนธุรกิจที่เรากำลังจะทำต่อไปก็คือเราจะทำ NPP Lab ขึ้นมา เพื่อเปิดให้คนสามารถเข้ามาพบเรา ปรึกษา สอบถาม ตลอดจนมี Service ต่างๆ ในแบบที่มาเจอกันได้ ไม่เฉพาะการคุยผ่าน Social Media หรือ Online เท่านั้น เป็นเหมือน Lab ที่เราสามารถทดลองผลิตภัณฑ์ไปด้วยกันได้

ใครที่อยากสร้างสรรค์ Packaging แบบไหน อยากออกแบบอย่างไร เรายินดีให้ความช่วยเหลือหมด เป็นการเสริมการตลาดซึ่งกันและกันระหว่าง Online แล้วก็ Offline ด้วยค่ะ นอกจากนี้เราก็มองแผนธุรกิจว่าอาจจะมีการแตกไลน์สินค้าออกไปเพิ่ม อย่างเช่นพวกสติกเกอร์กระดาษ, หรือกล่องในรูปแบบอื่นๆ แต่ที่สำคัญที่เราจะไม่ลืมเลยก็คือทุกอย่างจะต้องสร้าง First Impression ที่ดีให้กับลูกค้าให้ได้ค่ะ

HR Note

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง