HIGHLIGHT
|
เพราะธุรกิจขาดคนไม่ได้ กลยุทธ์การจ้างงาน (Recruitment) ที่มีประสิทธิภาพจึงยังเป็นสิ่งสำคัญในการเติมพนักงานให้องค์กรเสมอ
ทว่าการแข่งขันเพื่อแสวงหาบุคลากรที่มีความสามารถสูง (Talent) นั้น กลับทวีความรุนแรงมากขึ้น ทุกบริษัทจึงต้องปรับตัวและใช้กลยุทธ์การจ้างงานใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านบุคลากรให้รวดเร็ว
และถึงแม้การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในกระบวนการสรรหาได้สร้างความสะดวกสบายให้เหล่าทรัพยากรบุคคลบ้าง แต่ท้ายที่สุดในกระบวนการสรรหาก็ยังต้องใช้ความเป็นมนุษย์ในการตัดสินใจเลือกใครสักคนอยู่ดี
วันนี้ HREX จะมาตอกย้ำกลยุทธ์การจ้างงานที่เป็นพื้นฐานสำคัญ อย่างกลยุทธ์ 4B : Build, Buy, Borrow และ Bridge ซึ่งไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนไปเท่าไหร่ เราก็ยังสามารถประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับทุกสถานการณ์อยู่ดี
Contents
Buy Build Borrow + Bridge คืออะไร
Buy, Build, Borrow, และ Bridge เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ในการจัดการทรัพยากรบุคคลทั้งภายในและนอกองค์กร โดยโมเดลนี้ช่วยให้องค์กรสามารถเติมพนักงานที่มีความสามารถเข้ามาในระบบได้อย่างทันท่วงที และแก้ไขปัญหา Talent Shortage หรือการขาดแคลนบุคลากรนั่นเอง
ทั้งนี้ Talent Shortage เป็นปัญหาที่องค์กรทั่วโลกต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ปัญหานี้เกิดขึ้นเมื่อองค์กรไม่สามารถหาบุคลากรที่มีทักษะและความสามารถตรงตามความต้องการของตำแหน่งงานได้เพียงพอ โดยมีสาเหตุมากมาย เช่น ความต้องการทักษะที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี และการขาดแคลนบุคลากรในสายงานบางประเภทที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
ฉะนั้นการแก้ไขปัญหา Talent Shortage นั้นจำเป็นต้องใช้แนวทางที่หลากหลายและยืดหยุ่น และด้วยโมเดล Buy, Build, Borrow, และ Bridge ทำให้องค์กรสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
ManPowerGroup รายงาน Soft skills ที่หาได้ยากจนเกิด Talent Shortage 5 อันดับแรก ดังนี้
|
Build (สร้าง) – ลงทุนในการพัฒนา
Build เป็นโมเดลที่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาการหา Talents เฉพาะทางจากภายนอกที่ยากมาก โดยองค์กรจะสร้างและพัฒนาพนักงานที่มีอยู่ภายในให้กลายเป็น Talent เสียเอง โดยจะให้โอกาสในการเสริมทักษะใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการขององค์กร และสนับสนุนให้ทุกคนพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การ Build สามารถทำได้ผ่านโครงการหลากหลาย เช่น โปรแกรมพัฒนาความสามารถให้นักศึกษาผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ, การหลักสูตรฝึกทักษะเฉพาะทางเพื่อสร้างคนเข้ามาในระบบ กระทั่งการจ้างเทรนนิ่งเข้ามาพัฒนาพนักงานในบริษัทนั่นเอง
แนวทางการพัฒนานี้จะสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่พนักงาน ส่งเสริมให้พวกเขาอยู่กับองค์กรนานขึ้น เนื่องจากพวกเขาสามารถเรียนรู้และมองเห็นความก้าวหน้าในอาชีพการงานของตัวเอง
Build เหมาะสมกับองค์กรประเภทใด
การ Build เหมาะกับบริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่มานาน มีทรัพยากรทั้งเรื่องเงิน คน และเวลา สามารถลงทุนพัฒนาบุคคลากรได้ระยะยาว เนื่องจากการพัฒนาต้องใช้ทรัพยากรสูงและนานกว่าจะเห็นผลลัพธ์
ตัวอย่างการ Build
- โปรแกรมพี่เลี้ยงและลูกศิษย์ (Mentor / Mentee program)
- การฝึกงาน (Internships)
- การมอบหมายงานที่ท้าทาย (Stretch Assignments)
- การประเมินทางจิตวิทยา (Psychometric Assessments) เช่น DISC, MBTI เป็นต้น
- แผนการพัฒนาบุคคล (Individual Development Plans)
- การศึกษาเพิ่มเติม, วุฒิบัตร, ใบรับรอง (Advanced Education, Designations, Certificates, etc.)
- การโค้ชผู้บริหาร (Executive Coaching)
Buy (ซื้อ) – ซื้อตัวมาในทันที
Buy แปลตามตัวเลยคือการซื้อบุคลากรใหม่จากภายนอกเข้ามาในองค์กรแบบทันที โดยจะเลือกบุคลากรที่มีคุณสมบัติ ทั้งประสบการณ์ การศึกษา หรือทักษะความสามารถตรงตามที่บริษัทต้องการ
อย่างไรก็ตาม การซื้อบุคลากรเหล่านี้จะต้องมีต้นทุน โดยองค์กรอาจไม่ได้มุ่งเน้นที่การสร้างทักษะใหม่ แต่เน้นไปที่ปรับตัวให้ Talent คนนั้นเข้ากับวัฒธรรมองค์กรของเราแทน
ทั้งนี้ การแข่งขันในการดึงดูงพนักงานเก่ง ๆ มีความรุนแรงมาก องค์กรจึงต้องวางแผนเรื่องของผลตอบแทนรวม (Total Rewards) ไม่ว่าจะเป็น Compensation and Benefit หรือกระทั่งข้อเสนอคุณค่าสำหรับพนักงาน (Employee Value Proposition) และวิสัยทัศน์ขององค์กร ในการดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพเหล่านั้นด้วย
Buy เหมาะสมกับองค์กรประเภทใด
กลยุทธ์การซื้อเหมาะสำหรับองค์กรในระยะเริ่มต้นหรือบริษัทที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีทรัพยากรเรื่องเงิน แต่ต้องการพนักงานใหม่มาเติมเต็มอย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างการ Buy
- การสรรหาและการรับสมัครงาน (Sourcing and Recruitment)
- โปรแกรมการแนะนำบุคลากร (Referral Program)
- การฝึกงาน (Internships)
- การเป็นพันธมิตรกับบริษัทจัดหางาน (Recruitment Agency partnerships)
Borrow (ยืม) – เรียกใช้งานแบบชั่วคราว
Borrow คือการสร้างเครือข่ายบุคลากรที่มีทักษะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างพนักงานพาร์ทไทม์ ผู้รับงานอิสระ พนักงานชั่วคราว หรือกระทั่งการหมุนเวียนพนักงานภายในตัวกันเอง เพื่อเสริมสร้างบางทักษะที่ทีมขาด ส่วนมากมักใช้กับโปรเจกต์หรือโครงการระยะสั้น การทำงานระยะไกล หรืองานที่มีความยืดหยุ่น
Borrow เหมาะสมกับองค์กรประเภทใด
เหมาะกับบริษัทที่ริเริ่มทดลองโครงการบางอย่าง หรือการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งมักจะเป็นบริษัทที่ไม่ได้วางแผนการจ้างงานประจำสำหรับหน้าที่นั้น ๆ ส่วนมากจะเป็นการทดลองใช้โมเดลนี้มากที่สุด
ตัวอย่างการ Borrow
- การจัดหาพนักงานชั่วคราว (Temporary staffing solutions)
- การจ้างงานจากภายนอก (Outsource)
- การร่วมจัดหาบุคลากร (Co-Sourcing)
- ผู้รับเหมาภายนอก (Independent Contractors)
Bridge (สะพาน) – เชื่อมสู่บทบาทใหม่
กลยุทธ์ Bridge มีความใกล้เคียงกับการ Build ทว่าจะแตกต่างกันตรงที่เป็นการขยายขอบเขตความสามารถของพนักงานไปสู่บทบาทใหม่ในลักษะแนวข้าง ไม่ใช่แนวตรงขึ้นไปตามลำดับขั้น ซึ่งสามารถขยายได้ทั้งภายในหรือภายนอกองค์กร เป็นการเชื่อมสะพานที่ช่วยให้พนักงานพัฒนาทักษะที่หลากหลายมากขึ้นนั่นเอง
นอกจากนี้ บางองค์กรยังใช้ Bridge เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการช่วยเหลือพนักงานในตำแหน่งงานที่กำลังจะเลิกจ้าง เป็นการปูเส้นทางใหม่ให้กับบุคลากรที่มีทักษะไม่สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจแล้ว สู่ทักษะใหม่ในอนาคตเช่นกัน
Borrow เหมาะสมกับองค์กรประเภทใด
องค์กรที่มีเสถียรภาพแต่กำลังปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ต้องการพัฒนาใหม่กับพนักงานผ่านการลงทุน และยังต้องการรักษาความผูกพันของพนักงานอีกด้วย
ตัวอย่างการสะพาน (Bridge Examples)
- โปรแกรมพี่เลี้ยงและลูกศิษย์ (Mentor / Mentee program)
- การมอบหมายงานที่ท้าทาย (Stretch Assignments)
- การมอบหมายงานใหม่ (Reassignments)
บทสรุป
ท้ายที่สุดกลยุทธ์ 4B : Build, Buy, Borrow และ Bridge เป็นวิธีพื้นฐานที่ครอบคลุมและยืดหยุ่นในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถในองค์กร
การนำกลยุทธ์ 4B มาใช้ ไม่เพียงแต่ช่วยให้องค์กรสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังช่วยสร้างความผูกพันและความพึงพอใจในงานของพนักงานอีกด้วย
สำหรับองค์กรไหนที่ไม่รู้จะสรรหาและพัฒนาพนักงานอย่างไร สามารถค้นหาผู้ให้บริการในหลากหลายรูปแบบได้ที่ HR Products & Services เรามีทั้ง Training & Coaching ที่เข้าไปช่วย Build หรือ Recruitment Solution ที่ช่วยได้ทั้ง Buy, Borrow และ Bridge
เพราะทั้งหมดนี้คือโอกาสที่จะช่วยให้องค์กรสามารถเติบโตและแข่งขันในตลาดได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มา |