HIGHLIGHT
|
HR ย่อมรู้ดี การเปิดรับสมัครงานแต่ละครั้งตามมาด้วยกองเรซูเม่ (Resume) หรือ CV มหาศาล ที่ผู้สมัครทั่วสารทิศส่งเข้ามาให้พิจารณาทุกวัน แน่นอนว่าเราย่อมไม่ได้อ่านทุกแผ่นแบบละเอียดยิบ เพียงแต่สแกนหาใบที่มีโดดเด่นท่ามกลางแผ่นกระดาษที่ไม่มีอะไรน่าจดจำ
เมื่อการคัดเลือกเรซูเม่ (Resume) เป็นขั้นตอนแรกของ HR ในการคัดเลือกผู้สมัครให้เหมาะสมกับตำแหน่งงาน แผ่นกระดาษใบเดียวนี้จึงเปรียบเสมือน First Impression ของผู้สมัครที่ HR จะได้รับรู้ ผ่านการออกแบบให้สวยงาม นำเสนอตัวเองน่าจดจำหรือการมีประวัติที่น่าสนใจ
วันนี้เราจึงมาแชร์เทคนิคการสแกนหาเรซูเม่ (Resume) ที่เป็นดาวเด่นภายใน 7 วินาที รวมไปถึงประเภทเรซูเม่ (Resume) ที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลส่วนใหญ่ปัดตกภายในไม่กี่วินาที
ค่าเฉลี่ย HR อ่าน เรซูเม่ (Resume) แค่ 7 วินาที
รู้ไหมว่าค่าเฉลี่ย HR ส่วนใหญ่อ่าน Resume กี่วินาที?
คำถามนี้ได้รับคำตอบโดยเว็บ Ladders ที่ทำการศึกษา Eye-Tracking Study ประจำปี 2018 โดยให้ผู้รับสมัครงานมอง Resume ของผู้สมัครงานทั้งหมด เพื่อหาสิ่งที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องการ
ผลลัพธ์ก็คือ HR จะใช้เทคนิค skim หรือการกวาดสายตาอ่านไม่ละเอียด เพื่อมองหาสิ่งที่ตัวเองต้องการ เช่น การจัดหน้า ตำแหน่งที่สมัคร ความสามารถ ประวัติโดยย่อ จำนวนข้อความ รวมไปถึงคียเวิร์ดต่าง ๆ
ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยที่การศึกษาค้นพบก็คือ HR ส่วนใหญ่จะใช้เวลาอ่านเพียง 7.4 วินาทีต่อ Resume ซึ่งนานกว่าเดิมในปี 2012 ที่ใช้เวลาอ่านเพียง 6 วินาทีเท่านั้น
นี่จึงเป็นเครื่องการันตีได้ว่า การคัดเลือกพนักงานผ่าน Resume จึงเป็นอีกหนึ่งสนามที่แข่งขันกันดุเดือดเป็นอย่างยิ่ง
7 วินาที HR ควรดูอะไรบ้าง
ก่อนอื่นต้องบอกว่า การอ่าน Resume ไม่มีถูก-ไม่มีผิด เพียงแต่ในที่นี้เป็นคำแนะนำที่เราได้รวบรวมและสรุปเหลือ 7 หัวข้อที่น่าสนใจ ซึ่งทางเว็บไซต์ Simplyhired ได้ระบุสิ่งที่ HR เลือกดู Resume ภายใน 7 วินาทีว่ามีดังนี้
วินาทีที่ 1 – Confidence
ความมั่นใจในตัวผู้สมัคร เห็นได้จากความเรียบง่ายของ Resume ตั้งแต่ภาพสมัครงานไปจนถึงการจัดวางหน้ากระดาษ โดยเฉพาะการใส่ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และสรุปทักษะตัวเองที่เป็นจุดแข็งอย่างชัดเจน พูดง่าย ๆ ก็คือ ความมั่นใจเกิดจากการพรีเซ็นต์ตัวเองอย่างสมบูรณ์แบบนั่นเอง
วินาทีที่ 2 – Social Media Links
ในยุคโซเชียลมีเดีย หลายคนมักแทรก External Link เข้ามาใน Resume ซึ่งมักจะผูกติดไปยังบัญชีส่วนตัวของผู้สมัคร น่าเสียดายที่หลายครั้งลิ้งค์เหล่านั้นกลับถูกล็อกเป็นลิ้งค์ส่วนตัว หรือกลายเป็นลิ้งค์เสียเมื่อหมดอายุ ทำให้ HR ไม่สามารถเข้าถึงลิ้งค์เหล่านั้นได้ การปล่อยลิ้งค์เสียมาถึง HR นั่นแปลว่าผู้สมัครไม่มีความรอบคอบในการเช็ค Resume ของตัวเอง ซึ่งนั่นอาจส่งผลถึงการทำงานที่สะเพร่าด้วยเช่นกัน
วินาทีที่ 3 – White Space
พื้นที่ว่างเปล่าของกระดาษจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกสบายใจที่จะอ่าน เหมือนมีช่องว่างให้หายใจต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ฉะนั้นการจัดหน้า Resume ให้อ่านง่ายจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยปัจจุบันมีตัวช่วยในการออกแบบมากมายให้ใช้ฟรี ๆ ในอินเทอร์เน็ต อย่าลืมว่า Frist Impression คือการมองเห็นโดยภาพรวม ซึ่งยังไม่ได้ลงอ่านรายละเอียดไปถึงข้อความเลย
วินาทีที่ 4 – Too Much Text
เช่นเดียวกับกรณีพื้นที่ว่า การยัดข้อความจำนวนมากใน Resume ก็ไม่ใช่ข้อดีเท่าไหร่ ทางที่ดีควรเขียนให้สั้น กระชับ ได้ใจความ และไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย HR จึงมักกวาดสายตาหาคำคีย์เวิร์ดที่น่าสนใจต่อตำแหน่งงานนั้น เช่น หากเป็นตำแหน่งกราฟิกก็จะมองหาทักษะหรือผลงานที่เกี่ยวข้อง
วินาทีที่ 5 – Numbers
ตัวเลขในที่นี้หมายถึงการเขียนข้อความแสดงประสิทธิภาพที่วัดผลได้ เช่น เคยทำงานโปรเจกต์หนึ่งที่เพิ่มยอดขายบริษัทได้ 50%, เคยทำงานเป็นระยะเวลา 3 ปี, มีผลงานที่ได้รับรางวัล 10 ชิ้น เป็นต้น ตัวเลขที่ชัดเจนจะเรียกสายตา HR ให้อ่านก่อนใคร
วินาทีที่ 6 – Achievement
ผลงานความสำเร็จที่ผ่านมาเป็นแรงจูงใจทางจิตวิทยาที่ทำให้ HR สนใจใบสมัครก่อน ไม่ว่าจะเป็นรางวัลแบบรายเดือน หรือรางวัลรายปี รวมไปถึงการอ้างอิงถึงจากผู้เชี่ยวชาญในสายงานนั้น ๆ ซึ่งจะช่วยให้เรามั่นใจว่าผู้สมัครมีประสบการณ์และความสามารถเพียบพร้อม
วินาทีที่ 7 – Leadership
ความเป็นผู้นำจะสังเกตได้จากผลงานที่ทำงานเป็นทีมหรือผลงานเดี่ยวมากกว่ากัน รวมไปถึงการใส่ผลงานที่ทำร่วมกับผู้อื่นว่ามีมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ยังสามารถดูได้จากการกล่าวถึงอุปสรรค ความท้าทาย และการก้าวข้ามสิ่งเหล่านั้นผู้สมัครผ่านมาได้อย่างไร
หาก Resume ผ่าน 7 วินาทีเหล่านี้ได้แล้วละก็ จะไปสู่ขั้นตอนการคัดเลือกที่เข้มข้นขึ้นต่อไป
S-T-A-R Method
S-T-A-R Method เป็นเทคนิคที่ใช้หาดาวเด่นในกอง Resume ซึ่งสามารถใช้ได้ในส่วนประวัติส่วนตัว หรือบางครั้งจะอยู่ใน Cover Letter หรือจดหมายแนะนำตัว โดยมีองค์ประกอบที่ HR ควรสังเกตดังนี้ S – Situation: ผู้สมัครเขียนถึงประสบการณ์การทำงานตัวเองไหม T – Task: ผู้สมัครให้ความสำคัญกับงานอะไรที่ประสบความสำเร็จ A – Action: ผู้สมัครได้อธิบายถึงกระบวนการทำงานหรือไม่ R – Result: ผู้สมัครได้อธิบายผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมหรือเปล่า |
เรซูเม่ (Resume) 7 แบบ ที่ HR ไม่ต้องการ
หลังจากผ่าน 7 วินาทีแรกไปได้ ก็จะยังคงมี Resume ที่หลุดรอดออกมาให้คัดสรรอีกจำนวนมากมาย โดย HR อาจต้องใช้เวลาในการอ่านมากขึ้น กรณีนี้เราได้รวบรวม Resume 7 แบบ ที่คนทำงานสายทรัพยากรบุคคลหรือฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าเจอ Resume แบบนี้ มองข้ามไปได้เลย
1. ไร้ระเบียบ
ประวัติการทำงานมักเป็นสิ่งแรกที่ HR อย่างพวกเราอ่านกัน ซึ่งบางครั้งเราก็จะเจอการเรียงลำดับประสบการณ์ทำงานที่ชวนสับสน หรือไม่ได้ระบุตำแหน่งหรือความผิดชอบอย่างชัดเจน รวมไปถึงลำดับการใช้หัวข้อ การจัดหน้า หรือขนาดฟอนต์ ฯลฯ หากไร้ซึ่งระเบียบก็อาจบ่งบอกความละเอียดและความเนียบในการทำงานของผู้สมัครได้
2. ธรรมดาเกินไป
เพราะความแตกต่างสร้างความโดดเด่น การทำ Resume เหมือนคนอื่นมากเกินไป บ่งบอกได้ถึงความคิดสร้างสรรค์ที่หายไป และมีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็น Resume ที่ทำทิ้งไว้เพื่อสมัครแบบหว่านแห สังเกตได้จากการไม่ระบุตำแหน่งที่สมัคร หรือไม่ได้ปรับแต่งเพื่อตำแหน่งที่เราต้องการ ถ้าเจอ Resume แบบนี้จึงมีความเสี่ยงว่าเขาอาจไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมได้ เป็นเพียงการสมัครทิ้งไว้เฉย ๆ เท่านั้น
3. เขียนผิด
นี่อาจเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ๆ แต่ HR ทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันว่า การได้รับ Resume ที่เขียนผิดทำให้พวกเขาปัดตกอย่างไม่ลังเล เพราะนั่นแสดงถึงความไม่รอบคอบและความผิดพลาดพื้นฐานที่ผู้สมัครมองข้าม แม้อาจจะฟังดูสุดโต่งเกินไป แต่มันเป็นแบบนั้นจริง ๆ
4. มั่นใจแบบไร้หลักฐาน
แน่นอนว่าผู้สมัครย่อมรู้สึกมั่นใจเวลาสมัครงานเข้ามา แต่ความมั่นใจเหล่านั้นก็อาจมีมากเกินไปจนมองข้ามความเป็นจริง เช่น คำพูดที่ว่า “เคยเพิ่มกำไรให้บริษัท” เป็นเพียงคำพูดลอย ๆ ที่ไม่มีหลักฐานเท่าไหร่ อย่างที่กล่าวไว้ในวินาทีที่ 5 Numbers ถ้ามีหลักฐานเป็นตัวเลขก็จะเพิ่มความน่าเชื่อถือ ฉะนั้น HR ที่ดีจะต้องมองหาคุณค่าของผู้สมัครผ่าน Resume มากกว่าแค่เชื่อสิ่งที่เขาเขียนอย่างเดียว
5. มีช่วงเวลาว่างงานมากเกินไป
ไม่ผิดที่ผู้สมัครจะลาออกจากงานมาเป็นฟรีแลนซ์หรือลาออกมาหาประสบการณ์ Gap Year แต่ถ้าหากมีช่วงเวลาเหล่านั้นมากเกินไป อาจบ่งบอกได้ถึงความไม่แน่นอนที่เขาจะอยู่กับคุณ เหมือนที่ HR ระดับผู้บริหาร Cynthia Shapiro เคยกล่าวว่า ถ้าคุณว่างงานมากกว่า 6 เดือน คุณก็จะถูกพิจารณาว่าเป็นคนตกงาน และเป็นไปได้ว่าคุณถูกบริษัทอื่น ๆ มองข้ามมาแล้ว นั่นคือความเสี่ยงที่บริษัทของเราจะต้องรับ
6. เปลี่ยนงานบ่อยครั้ง
การเปลี่ยนงานบ่อย ๆ หรือที่เรียกว่า Job Hopping ไม่ใช่ประวัติการทำงานที่ดีแน่ ๆ นับเป็น Resume ที่มีความเสี่ยงว่ารับสมัครเข้ามาแล้ว เขาก็จะโบกมือลาจากเราไปเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้สมัคร ถ้าเขามีคุณสมบัติเพียบพร้อม ก็ควรเรียกมาสัมภาษณ์และสอบถามความจริงว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะบางครั้งสาเหตุการเปลี่ยนงานบ่อย ๆ ก็ไม่ได้เกิดจากผู้สมัครเพียงอย่างเดียว
7. ทำงานหลากหลาย ไม่ตรงสาย
กรณีนี้อาจไม่ถึงกับต้องคัดออก แต่ก็คงเป็นตัวเลือกหลัง ๆ ที่ HR จะเลือกอยู่ดี เพราะแน่นอนว่าทุกคนต้องการ Put the right man on the right job อยู่แล้ว อย่างไรก็ดี งานบางงานก็ต้องการคนที่มีทักษะหรือคุณสมบัติใกล้เคียงกัน จึงอาจสามารถทดแทนกันได้ ฉะนั้น HR จะต้องระมัดระวังให้ดี เพราะบางทีเขาอาจมีของดีอยู่ในตัวก็ได้ ถึงกล้ามาสมัครข้ามสายกับเรา
บทสรุป
การคัดเลือกพนักงานผ่าน Resume ไมได้มีสูตรสำเร็จตายตัว ทั้งนี้เป็นเพียงคำแนะนำที่เรารวบรวมมา เพื่อให้ HR สามารถหยิบไปประยุกต์ใช้เพื่อเฟ้นหาผู้สมัครที่เหมาะสมกับตำแหน่งที่สุด และเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น
เพราะ Resume เป็นเพียงขั้นแรกเท่านั้น กระบวนการต่อไปก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน แต่ถ้าเราเริ่มต้นที่ก้าวแรกดีแล้ว ก้าวต่อไปก็จะมั่นคงมากขึ้นแน่นอน
ที่มา |