Campus Recruitment เข้าหาคนเก่ง ด้วยการล่าจากมหาวิทยาลัย

HIGHLIGHT

  • Campus Recruitment คือการสรรหาพนักงานจากมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษา สามารถเป็นทั้งการฝึกงาน การทำงานแบบพาร์ทไทม์ หรือการทำงานแบบเต็มเวลาก็ได้ โดยสถิติระบุว่าองค์กรในอเมริกาถึง 70% เลือกใช้วิธีนี้
  • Campus Recruitment ช่วยให้องค์กร เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น โดยผลวิจัยระบุว่าในปี ค.ศ. 2030 จะมีคน Gen Z อยู่ในองค์กรถึง 30%
  • Campus Recruitment จะช่วยให้เรา ปรับตัวเข้าหาความเปลี่ยนแปลงของสังคมง่ายขึ้น ผ่านการสังเกตคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาสู่องค์กร
  • จุดอ่อนของ Campus Recruitment คือนักศึกษายังไม่มีประสบการณ์ทำงานจริง และผลการเรียนที่ดีไม่ได้การันตีว่าจะเป็นพนักงานบริษัทที่เก่งตามไปด้วย HR ต้องพิจารณาโดยอาศัยองค์ประกอบให้ถี่ถ้วน รอบคอบที่สุด
  • Campus Recruitment ยังทำให้องค์กรได้พนักงานที่สามารถทำหลายอย่างได้พร้อมกัน (Multi Tasking) เพราะคนที่เพิ่งทำงานเป็นครั้งแรกมักมีไฟแรง อยากพิสูจน์ตัวเองตลอดเวลา อย่างไรก็ตามองค์กรต้องมอบหมายงานอย่างเหมาะสม ไม่ฉวยโอกาสเอาเปรียบเด็ดขาด
  • Pepsi และ Disneyland คือสองหน่วยงานระดับโลกที่เลือกใช้วิธี Campus Recruitment และประสบความสำเร็จเรื่อยมาจนปัจจุบัน

Campus Recruitment คือแนวทางสรรหาที่ได้รับความนิยมมากขึ้น และถูกมองว่าเป็นกลยุทธ์แห่งอนาคต เพราะสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคของคนรุ่นใหม่อย่างเป็นรูปธรรม วิธีการนี้มีขั้นตอน และจุดที่ต้องให้ความสำคัญอย่างไรบ้าง หาคำตอบได้ที่ HREX.asia

Campus Recruitment หรือการเลือกคนจากมหาวิทยาลัยคืออะไร ?

Campus Recruitment เรียกอีกอย่างว่า Campus Hiring หมายถึงการที่องค์กรเลือกสรรหาพนักงานใหม่จากมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาที่อยู่ในเครือ ซึ่งไม่ได้หมายถึงพนักงานแบบเต็มเวลาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเป็นเด็กฝึกงานหรือทำงานแบบพาร์ทไทม์อีกด้วย

โดยรูปแบบการสรรหาลักษณะนี้ เป็นที่นิยมในบริษัทขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องใช้กำลังคน (Manpower) จำนวนมาก และต้องการแน่ใจว่าคนที่ถูกเลือกเข้ามาในองค์กรนั้นมีความเข้าใจในวัฒนธรรมองค์กรอย่างดีเยี่ยม สามารถทำงานได้จริง

การสร้างความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมองค์กรจะง่ายขึ้นมากหากเราได้พนักงานที่มีฝีมือเข้ามาตั้งแต่เป็นนักศึกษาหรือเพิ่งเรียนจบ และค่อย ๆ ปลูกฝั่งค่านิยมขององค์กรเข้าไปทีละน้อย วิธีนี้จะมีข้อดีมากกว่าการไปจ้างพนักงานที่มีฝีมือแต่ปราศจากความเข้าใจในรูปแบบการทำงานอย่างสิ้นเชิง จึงไม่แปลกที่องค์กรชั้นนำจะเลือกเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยชั้นนำ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีหรือมีกิจกรรมโดดเด่น

เช่น การจัด Job Fair หรือการใช้ HR Tech เพื่อให้ HR มีโอกาสเข้าถึงคนที่มีฝีมือแต่ถูกมองข้ามได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เรียกว่าขั้นตอนนี้แม้จะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นบ้าง แต่ก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในระยะยาว

HR Shelf ได้เผยผลวิจัยที่ระบุว่าการจ้างงานถึง 85% เกิดขึ้นเพราะการมีเครือข่าย (Connection / Networking) ซึ่งโดยปกติแล้วเหล่านักศึกษาจะไม่ได้มีโอกาสเข้าถึงเครือข่ายมากมาย หากเทียบกับคนที่มีประสบการณ์ทำงานด้านหลายปี การที่องค์กรหันมาทำ Campus Recruitment จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เหล่านักศึกษาได้สร้างเครือข่ายตั้งแต่อายุยังน้อย ช่วยต่อยอดให้พวกเขาได้ทำงานกับบริษัทในฝัน และเครือข่ายดังกล่าวจะช่วยให้ตลาดแรงงาน (Talent Pool) ในสายงานนั้น ๆ แข็งแรงขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจในภาพรวมอย่างมีนัยสำคัญ

Apritude Research Partner กล่าวว่า กระแสการว่าจ้างนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเติบโตขึ้นมากในปัจจุบัน โดยมีองค์กรถึง 70% ที่เลือกใช้กลยุทธ์นี้ ขณะที่สำนักสถิติแรงงาน ของสหรัฐอเมริกากล่าวว่าองค์กรต้องให้ความสำคัญกับการจ้างคนรุ่นใหม่ได้แล้ว ไม่สามารถจ้างพนักงานที่มีฝีมือแต่อายุมากเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้องค์กรก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด

โดยสถิติระบุว่าภายในปี ค.ศ.2030 องค์กรทุกแห่งจะมีคน Gen Z อยู่ราว 30% และในช่วงเดียวกัน ปัญหาขาดแคลนแรงงาน (Talent Shortage) จะทวีความรุนแรงขึ้นจากค่านิยมของสังคมที่เปลี่ยนไป เหตุผลเหล่านี้ทำให้การหาพนักงานตั้งแต่ต้นน้ำกลายเป็นแนวทางที่ช่วยเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) อย่างแท้จริง

การสรรหาพนักงานจากมหาวิทยาลัย ไม่จำเป็นต้องเป็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรและมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวเท่านั้น กลับกันองค์กรสามารถสร้างความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยจำนวนมากได้เลยเพื่อเพิ่มโอกาสในการสรรหา ยิ่งเมื่อรวมกับกระบวนการคัดเลือกที่เข้มข้น ก็กล่าวได้ว่า Campus Recruitment คือแนวทางสรรหาอันดับต้น ๆ ที่เราแนะนำ และไม่อยากให้คุณมองข้ามโดยเด็ดขาด

Campus Recruitment หรือการเลือกคนจากมหาวิทยาลัยมีประโยชน์อย่างไร ?

สังคมทำงานในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Fast-Pace Growing) มีงานหลายอย่างที่จะหายไปในอนาคต ขณะเดียวกันก็มีงานอีกหลายอย่างที่กำลังเกิดขึ้นและไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ ดังนั้นการเข้ามาของคนรุ่นใหม่คือรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรของคุณสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างทันท่วงที

Campus Recruitment ทำให้องค์กรเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้โดยตรง จึงมีโอกาสรู้ค่านิยม (Value) และทัศนคติ (Mindset) ของพวกเขาง่ายขึ้น กลยุทธ์นี้มีประโยชน์ใดอีกบ้าง หาคำตอบได้ที่นี่

Campus Recruitment ช่วยประหยัดเวลา

ปกติแล้วการหาพนักงานใหม่จะต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะ องค์กรต้องเป็นฝ่ายค้นหานักศึกษาเอง ต้องเสียเวลาประชาสัมพันธ์หรือใช้บริการตัวช่วยอีกมากมาย แต่หากเรามีความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาอยู่แล้ว เราก็สามารถรู้ได้เลยว่ามีนักศึกษาคนไหนที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการบ้าง หรือแม้แต่การหาข้อมูลเบื้องต้นว่าสิ่งที่นักศึกษารุ่นใหม่ให้ความสนใจคืออะไร เพื่อนำมาปรับสวัสดิการภายในองค์กรให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

การสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้ตั้งแต่ต้น ยังช่วยให้เกิดความเชื่อมั่น ทำให้พวกเขาอยากเข้ามาร่วมงานกับเราทันทีหลังเรียนจบ ถือเป็นการลดความยากในการโน้มน้าวคนเก่งด้วยเช่นกัน

Campus Recruitment ช่วยลดอัตราการลาออก (Retention Rate)

Employee Retention การรักษาพนักงาน

ไม่ว่าใครก็อยากเป็นคนที่มีคุณค่าภายในองค์กร เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจของพนักงานว่าควรอยู่หรือควรไป เพราะวัยทำงานต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ที่ออฟฟิศ การรู้สึกว่าตนไม่มีความหมาย จะทำให้แต่ละวันผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ทันที

ถ้าหากเราทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองสำคัญ ให้โอกาสเติบโตในตำแหน่งงานที่ใหญ่ขึ้น หรือทำให้รู้สึกว่าตนสามารถพัฒนาเป็นคนที่ดีกว่าเดิมเมื่ออยู่กับองค์กร พนักงานก็จะไม่เห็นความจำเป็นในการลาออก ยิ่งถ้าเราดูแลพนักงานอย่างดีตั้งแต่วันที่เข้ามาทำงานครั้งแรก (First Jobber) เรื่อยมาจนถึงวันที่เขาประสบความสำเร็จ ก็จะนำไปสู่ความจงรักภักดี (Loyalty) พร้อมเติบโตไปกับองค์กรในระยะยาว

Campus Recruitment ช่วยให้องค์กรมีความรู้เกี่ยวกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น

คำว่าคนรุ่นใหม่หมายถึงกลุ่มคนที่จะเข้ามาเป็นอนาคตขององค์กร เต็มไปด้วยทักษะที่คนรุ่นเก่าไม่รู้ และมีทัศนคติแห่งอนาคตที่องค์กรควรศึกษาและปรับตัวเข้าหาตามความเหมาะสม นอกจากนี้พนักงานที่เพิ่งเรียนจบอาจมีวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ ที่องค์กรนำไปปรับใช้ได้เลย

อย่าลืมว่าในโลกการทำงานนั้น เราไม่ได้ต้องการคำแนะนำจากคนที่มีประสบการณ์เพียงอย่างเดียว แต่พลังจากความหลากหลาย (Diversity) เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกัน องค์กรที่มีแต่คนรุ่นเก่าจะไม่รู้เลยว่าคนรุ่นใหม่ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายในอนาคตมีความต้องการอะไร ต่างจากองค์กรที่มีคนรุ่นใหม่เยอะและสามารถเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงได้แค่จากการสังเกตพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน องค์กรที่ไม่มีคนรุ่นใหม่หรือมีไม่เพียงพอจึงมีโอกาส “ตกยุค” มากกว่า

Campus Recruitment จะทำให้ได้พนักงานที่ทำได้หลายอย่างพร้อมกัน (Multitasking Employee)

Multi Skills ทำไมพนักงานต้องมี นายจ้างต้องการ ?

นักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบมาใหม่จะยังไม่มีรูปแบบการทำงานของตัวเองที่ตายตัว พวกเขาคือกลุ่มคนที่พร้อมเรียนรู้และพยายามหาคำตอบว่าตนมีความถนัดแบบไหน ดังนั้นพวกเขาจะเข้าใจดีว่าตนไม่สามารถทำงานด้วยวิธีการเดียวได้

แต่ต้องศึกษาวิธีการทำงานหลายแบบ ต้องลองคว้าโอกาสใหม่ ๆ ดูบ้าง ทัศนคตินี้เมื่อรวมกับพลังงานที่ล้นเหลือตามวัย ก็จะยิ่งผลักดันให้พวกเขาทำงานหลากหลายมากขึ้น กล้าทดลองอะไรใหม่ ๆ มากขึ้น ทั้งเพื่อยกระดับตัวเอง และเพื่อสร้างความประทับใจให้กับหัวหน้างาน

อย่างไรก็ตามแม้ จะเห็นว่าพนักงานไฟแรงและต้องการพิสูจน์ตัวเองแค่ไหน แต่เราก็ต้องมอบหมายงานตามความเหมาะสม ห้ามฉวยโอกาสเอาเปรียบเด็ดขาด

Campus Recruitment ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับองค์กรและทำให้มีตัวเลือกในการจ้างงานมากขึ้น

เมื่อเราทราบแล้วว่าการสรรหาพนักงานใหม่จากสถานศึกษามีประโยชน์ เราก็ต้อง รักษาความสัมพันธ์นี้ไว้ด้วยกระบวนการสนับสนุนซึ่งกันและกัน สถานศึกษาอาจให้พื้นที่องค์กรในการเข้าถึงนักศึกษาในสังกัดง่ายขึ้น ขณะที่องค์กรเองก็ต้องให้ความรู้หรือจัดอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษา หรือหาแนวทางใดก็ได้เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงานเมื่อนักศึกษาเรียนจบ

เมื่อรวมกับข้อมูลที่กล่าวในข้างต้นว่าการจ้างงานในปัจจุบันเกิดจากคำแนะนำระหว่างกันมากขึ้น ระบบ Campus Recruitment ที่เคยสร้างความสำเร็จให้กับรุ่นพี่ ก็จะถูกเล่าต่อไปถึงรุ่นน้อง ส่งต่อเป็นข้อมูลไปเรื่อย ๆ เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ (Branding) ให้กับองค์กรอีกช่องทางหนึ่ง

Campus Recruitment หรือการเลือกคนจากมหาวิทยาลัย มีข้อควรระวังอย่างไร ?

การสรรหาพนักงานจากสถานที่ศึกษาไม่ได้มีแต่ข้อดีเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีจุดที่ HR ของแต่ละองค์กรต้องใส่ใจและระมัดระวัง โดยเราสามารถแบ่งออกเป็นหัวข้อดังต่อไปนี้

Campus Recruitment อาจทำให้ HR มีตัวเลือกเยอะเกินไป

ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่นักหากเราเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มี HR Recruiter จำนวนมาก หรือมีระบบ AI ช่วยคัดกรองในเบื้องต้น แต่กับองค์กรทั่วไปนั้น การสรรหาพนักงานจากนักศึกษาที่ยังไม่แน่ใจในอนาคตตัวเองมากนัก จะทำให้ HR ต้องเป็นฝ่ายเข้าหา (Approaching) ต่างจากการสรรหาตามขั้นตอนปกติที่จะมีคนส่งใบสมัครเข้ามา

ดังนั้น HR หนึ่งท่านอาจต้องพิจารณานักศึกษามากกว่า 500 รายภายใน 2-3 วัน โดยต้องแน่ใจว่าจะไม่เผลอมองข้ามคนเก่งไปเด็ดขาด ซึ่งนับเป็นเรื่องยากมากหากไม่เตรียมพร้อมให้ดี

Campus Recruitment อาจทำให้เรามีข้อมูลผู้สมัครแค่จากเรซูเม่เท่านั้น

การคัดเลือกพนักงานที่ดีคือการรู้ข้อมูลของอีกฝ่ายให้มากที่สุด แต่เมื่อเราคัดเลือกจากนักศึกษาที่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงาน หรืออย่างมากก็เคยผ่านแค่การฝึกงานและกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย ก็อาจทำให้ HR เลือกคนผิดพลาดได้ เพราะคนที่ผลการเรียนดี ไม่ได้แปลว่าจะทำงานได้ดีตามไปด้วย คนที่ทำหน้าที่นี้จึงต้องมีสายตาที่เฉียบคม ต้องหาเพชรที่ซ่อนอยู่ในสถานศึกษาให้เจอ

วิธีแก้ปัญหาก็คือองค์กรต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างความสัมพันธ์กับผู้สมัคร (Candidate Engagement) ให้มากขึ้น จากเดิมที่เคยส่ง HR ไปเพียงไม่กี่คน ก็อาจเพิ่มไปในจำนวนที่เหมาะสมขึ้น

Culture and Hiring

องค์กรที่ทำ Campus Recruitment ต้องมีภาพลักษณ์ที่เข้ากับคนรุ่นใหม่

Collegefeed กล่าวว่ามีองค์กรถึง 92% ที่มองว่าปัญหาที่ทำให้องค์กรไม่สามารถดึงดูดนักศึกษามาทำงานได้ เป็นเพราะมีภาพลักษณ์ (Branding) ที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมของคนรุ่นใหม่ ดังนั้นหน้าที่ขององค์กรคือการให้ข้อมูลสู่สาธารณะ โดยเน้นทำความเข้าใจเรื่องแก่น (Core Value), วัฒนธรรม (Culture) ตลอดจนสวัสดิการ (Benefits) ขององค์กร เพื่อแสดงให้เห้นว่าการทำงานที่องค์กรแห่งนี้จะช่วยให้พนักงานมีอนาคตดีขึ้นได้อย่างไร จำเป็นต้องเปลี่ยนช่องทางสื่อสาร (Communication Tools) จากออฟไลน์ไปเป็นออนไลน์หรือไม่ ? องค์กรที่ไม่ใส่ใจเรื่องนี้ ก็จะถูกมองข้ามไปโดยปริยาย

Campus Recruitment หรือการเลือกคนจากมหาวิทยาลัย มีวิธีการอย่างไร ?

การเรียนมหาวิทยาลัยโดยทั่วไปจะมีการปิดเทอม แต่การหาคนแบบ Campus Recruitment ไม่มีวันหยุด องค์กรที่อยากใช้วิธีนี้ให้ได้ผลต้องรู้จักปรับตัวให้ทันเพื่อให้คนสนใจองค์กรของเรามากขึ้น เปิดโอกาสให้เราเข้าถึงคนที่มีฝีมือได้ง่ายกว่าเดิม

เราสามารถสรุปเรื่อง Campus Recruitment ได้ดังนี้

องค์กรต้องจัดนักศึกษาให้เป็นกลุ่มก้อน (Community)

Social Media Recruiting การสรรหาพนักงานผ่าน Social Media HR NOTE

หากองค์กรต้องการหลีกเลี่ยงใบสมัครที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือจำกัดตัวเลือกให้เหลือน้อยลง คุณสามารถใช้วิธีการติดต่อกับมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างชมรมหรือกลุ่มก้อนขึ้นมาสักกลุ่ม เพื่อเข้าไปอธิบายในสถานศึกษาว่า รูปแบบการทำงานขององค์กรเป็นอย่างไร เพื่อให้นักศึกษาที่สนใจในแนวทางดังกล่าวมารวมตัวกัน และสื่อสารกับองค์กรตั้งแต่ตอนที่ยังเรียนไม่จบ วิธีนี้จะทำให้นักศึกษามีความผูกพันและรู้สึกว่าตนได้เข้าสู่โลกการทำงานผ่านโครงการขององค์กร

HR สามารถนำเสนอรูปแบบการรับเด็กฝึกงาน หรืออธิบายทักษะที่จำเป็นของพนักงานระดับเริ่มต้น (Entry Level) ได้เลย แถมยังสามารถให้ศิษย์เก่า (Alumni) ที่ทำงานกับเรามาเชิญชวนให้นักศึกษารุ่นใหม่เข้ามาอยู่ในกลุ่มก้อนเดียวกัน ถือเป็นวิธีบอกต่อ (Referral) ที่ได้ผลจริง

องค์กรต้องสื่อสารกับนักศึกษาให้ชัดเจน

แม้การสื่อสารในปัจจุบันจะทำได้ง่ายขึ้นผ่านโลกออนไลน์และการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ แต่องค์กรต้องศึกษาให้แน่ใจว่านักศึกษาในพื้นที่แต่ละแห่งนิยมใช้วิธีการแบบใด เราต้องพร้อมให้ข้อมูลด้วยการใช้เครื่องมือที่หลากหลาย เพื่อให้นักศึกษามารวมตัวในงาน Job Fair มากขึ้น เพราะการจัดงานแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายสูง องค์กรไม่ควรปล่อยให้โอกาสผ่านไปโดยสูญเปล่า

องค์กรต้องประเมินผลเสมอ

ไม่มีวิธีสรรหาแบบใดที่ประสบความสำเร็จแบบตายตัว ดังนั้นทุกครั้งที่มีการทดลองกลยุทธ์ใหม่ ๆ กับกลุ่มเป้าหมายแต่ละแห่ง องค์กรต้องนำมาวิเคราะห์หาจุดแข็งและจุดอ่อนอยู่เสมอเพื่อพัฒนากระบวนการสรรหาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยอาจทำแบบสอบถามระหว่างภาคเรียน เพื่อตรวจสอบว่าค่านิยม ทัศนคติ และความเชื่อของนักศึกษาเปลี่ยนไปจากเดิมมากแค่ไหน จำเป็นต้องเปลี่ยนนโยบายการสรรหาหรือยัง

ตัวอย่าง Campus Recruitment จากบริษัทที่ประสบความสำเร็จ

เป๊ปซี่ (Pepsi)

เป๊ปซี่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาเพื่อคัดเลือกพนักงานใหม่จากบรรดานักศึกษาที่มีฝีมือ โดยมีสถิติเรียกสัมภาษณ์ราว 7,000 คนต่อปี นอกจากนี้ยังให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้ที่จำเป็นสำหรับการทำงาน เช่น เรื่องการเป็นผู้นำ (Leadership) และการเข้าใจความแตกต่างของมนุษย์ (Diversity)

โดยการสรรหาพนักงานด้วยวิธีนี้มีอัตราเข้ารับทำงานถึง 71% จากจำนวนผู้เข้าสัมภาษณ์ทั้งหมด ทั้งนี้พวกเขาไม่ได้สรรหาแค่จากมหาวิทยาลัยชั้นนำเท่านั้น แต่ยังเน้นให้โอกาสกับกลุ่มคนให้มากที่สุดด้วยความเชื่อว่าทุกพื้นที่มีคนเก่งซ่อนตัวอยู่เสมอ

ดิสนีย์ (Disney)

Disneyland สวนสนุกระดับโลกมีวิธีสรรหาและบริหารคนอย่างไร

นิตยสารชื่อดังอย่าง Cosmopolitan กล่าวว่าดิสนีย์คือขาประจำของอีเวนท์หางาน (Job Fair) เพื่อรับสมัครเด็กฝึกงาน ตลอดจนพนักงานพาร์ทไทม์เพื่อวางรากฐานให้กับองค์กรในระยะยาว วิธีนี้นอกเหนือจากจะเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ในชุมชนใกล้เคียงดิสนีย์แลนด์มีโอกาสทำงานแล้ว ความใส่ใจตรงนี้ยังช่วยให้ดิสนีย์เข้าถึงนักศึกษาระดับหัวกะทิได้ไวกว่าองค์กรอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยโดยตรง

ดิสนีย์เชื่อมั่นว่าคนรุ่นเก่าต้องฟังจากเด็กรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเด็กที่เพิ่งเรียนจบซึ่งเป็นช่วงวัยที่เต็มไปด้วยมุมมองและไอเดียที่น่าสนใจ ความรู้เหล่านี้อาจนำไปสู่กลยุทธ์ที่พลิกแพลงผลประกอบการในโลกธุรกิจได้เลย

หาคนที่โดนใจในทุกระดับ ด้วย Recruitment Solution

ในยุคที่การทำงานมีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมายและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การหาพนักงานที่เข้าใจวัฒนธรรมและรูปแบบการทำงานเป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรต้องทำให้เกิดขึ้นโดยเร็วหากไม่ต้องการถูกทิ้งจากบริษัทคู่แข่ง ซึ่งการนำ HR Tech เข้ามาก็เป็นอีกทางเลือกที่ได้ผลเช่นกัน HR Recruiter รุ่นใหม่จึงต้องมีความรู้ ไม่ใช่เลือกแต่เทคโนโลยีที่ใหม่กว่า โดยไม่สนเลยว่าลักษณะนิสัยของกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างไร

ดังนั้นไม่ว่าคุณจะหาพนักงานแบบเริ่มต้น (Entry Level) หรือผู้บริหารระดับสูง (Executive Level) เราขอแนะนำให้ใช้บริการ Recruitment Solution เพื่อให้แน่ใจว่าเราเข้าหาผู้สมัครด้วยองค์ความรู้ที่ถูกต้องที่สุด ซึ่งเราแนะนำให้ใช้บริการ HR Products & Services จาก HREX.asia รับรองว่าจะช่วยให้ชีวิตของคุณง่ายขึ้นแน่นอน

การตลาดเพื่อคัดการสรรบุคลากร (Recruitment Marketing) กลยุทธ์คัดหัวกะทิร่วมงานกับองค์กร

บทสรุป

จะเห็นว่าการสรรหาพนักงานแบบ Campus Recruitment นั้นเป็นดาบสองคม หากเรามีความพร้อม เราก็จะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ แต่หากเราเตรียมตัวไม่ดีพอ ชื่อเสียงของเราก็จะเสียหายตามไปด้วย

ความสำเร็จของ Campus Recruitment ในองค์กรหนึ่ง ไม่สามารถการันตีความสำเร็จในอีกองค์กรได้ จึงต้องเลือกใช้ตามสมควร โดยคำนึงถึงประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายเป็นที่ตั้ง เพราะแม้บางครั้งเราจะไม่ได้พนักงานที่ตรงใจ แต่เราก็ยังได้มอบคนที่มีคุณภาพมากขึ้นเข้าสู่ตลาดแรงงาน ที่จะช่วยยกระดับธุรกิจของประเทศในภาพรวม

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง