บริษัทตัวต่อเลโก้ (Lego) สรรหาและบริหารคนอย่างไร

HIGHLIGHTS

  • Lego คือแบรนด์ของเล่นชื่อดัง ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1932 ผลิตสินค้ามาแล้วรวมกันกว่าหมื่นล้านชิ้น และประสบความสำเร็จจนคว้ารางวัลองค์กรที่ทรงอิทธิพลที่สุดจาก Forbes
  • แก่นของ Lego ตั้งแต่วันแรกคือการให้ความสำคัญกับความสนุกและความเป็นเด็ก โดยองค์กรจะมีกิจกรรมที่คอยกระตุ้นค่านิยมนี้ตลอดเวลา
  • ในฐานะขององค์กรที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ Lego จะพยายามหลีกเลี่ยงการบังคับหรือปิดกั้นทางความคิดให้มากที่สุด เพราะหากพนักงานรู้สึกกดดัน ก็ไม่มีทางที่จะสร้างผลงานเพื่อมอบความสุขให้ผู้อื่นได้เลย
  • Lego ต้องการให้พนักงานรู้สึกสนุกตั้งแต่วันแรก จึงใช้วิธีสรรหาพนักงานที่เรียกว่า Brick Factor ซึ่งเป็นการจับผู้สมัครมาแข่งต่อเลโก้เป็นเวลา 2 วัน เพื่อหาผู้ชนะและได้รับการเซ็นสัญญา
  • พนักงาน Lego บางตำแหน่งไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรี ขอแค่มีความรู้ในสายงานที่สมัครเข้ามาอย่างเต็มที่ก็พอ

Lego คือของเล่นที่เราเชื่อว่าผู้อ่านทุกคนต้องรู้จักและเคยเล่นกันแน่นอน เพราะมันคือของเล่นเสริมพัฒนาการยอดฮิตที่ทำให้เราได้เรียนรู้ทุกความเป็นไปได้ คล้ายกับการดูภาพยนตร์หรือเล่นวีดีโอเกม แถมยังสามารถเป็นของสะสม เพราะเลโก้ได้ร่วมงานกับดีไซเนอร์และสื่อบันเทิงยอดนิยมอยู่เป็นระยะ เหตุนี้การเรียนรู้กลยุทธ์ขององค์กรที่คุ้นเคย จึงเป็นการเริ่มต้นที่ดีหากเรากำลังมองหาตัวอย่าง (Case Study) เพื่อนำมาประยุกต์เป็นนโยบายของตนเอง

Lego โดดเด่นทั้งในเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรและการสร้างประสบการณ์พนักงานภายใต้แนวคิดของ “ความเป็นเด็ก” แถมยังมีระบบสรรหาบุคลากรที่ทันสมัยแบบ Gamification ที่เร้าใจที่สุดแห่งหนึ่งของโลก บทความนี้จะแสดงให้เห็นว่าการเดินนอกกรอบอย่างมีระบบสามารถทำให้เกิดความเป็นไปได้อีกมากมาย ซึ่งจะช่วยให้องค์กรโดดเด่นกว่าใคร ส่วนจะมีวิธีอย่างไรบ้างหาคำตอบไปพร้อมกันได้เลย

Lego คืออะไร มีจุดเด่นอย่างไร

ตัวต่อเลโก้มีจุดกำเนิดในปี ค.ศ.1932 หลังจากที่ช่างไม้ชื่อ โอเล เคิร์ก คริสเตียนเซน (Ole Kirk Christiansen) ประสบปัญหาขายสินค้าไม่ออก จึงต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาทดแทน ตอนนั้นเองที่เขาได้เห็นลูกชายกำลังสนุกอยู่กับของเล่นจากไม้ที่เขาทำให้ จึงเกิดเป็นไอเดียในการสร้างสินค้าแบบเดียวกันเพื่อวางขายตามท้องตลาดภายใต้ชื่อ Lego ซึ่งมาจากคำว่า Leg godt แปลว่า “เล่นอย่างมีคุณภาพ” ซึ่งเป็นแก่น (Core) ในการสร้างสินค้านี้ขึ้นมา

ปัจจุบันเลโก้ประสบความสำเร็จอย่างสูง ผลิตชิ้นส่วนตัวต่อรวมกันมากกว่าหมื่นล้านชิ้น ซึ่งทั้งหมดมาจากการทดลองเดินนอกกรอบ จากเดิมที่ตลาดของเล่นเต็มไปด้วยตุ๊กตา, หุ่นยนต์ หรือรถแข่ง คุณคริสเตียนเซนกลับมองว่าเขาอยากผลิตของเล่นที่เปลี่ยนไปได้เรื่อย ๆ ซื้อครั้งเดียว เล่นได้นาน ขึ้นอยู่กับว่าผู้เล่นจะมีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์มากแค่ไหน

ปัจจุบันเราสามารถเห็นเลโก้ได้ในโรงเรียน, โรงพยาบาล, ศูนย์การเรียนรู้ ฯลฯ เป็นได้ทั้งของที่ระลึกที่สวยงามตลอดจนถูกนำไปเป็นตัวช่วยในการอบรมพนักงานตามองค์กรต่าง ๆ อยู่เป็นระยะ จึงไม่ผิดนักหากเราจะพูดว่ามันคือของเล่นของคนทุกเพศทุกวัย

Lego สร้างวัฒนธรรมองค์กรอย่างไร

การมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดีคือแก่น (Core) ที่ทำให้รู้ว่าองค์กรควรพัฒนาไปในทิศทางไหน และควรบริหารจัดการบุคลากรด้วยกลยุทธ์แบบใด องค์กรที่มีวัฒนธรรมไม่ชัดเจนจะทำทุกอย่างแบบไร้ระบบจนทำให้เสียทรัพยากรโดยใช่เหตุ ดังนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าวัฒนธรรมของเลโก้เจ้าของรางวัล “แบรนด์ที่ทรงอิทธิพลที่สุด” (The Most Powerful Brand) จาก Forbes เป็นอย่างไร

โธมัส มอร์เรอ เจ็ปเพอร์เซ่น (Thomas Møller Jeppesen) HR Director ของ Lego กล่าวว่าเลโก้ต้องการสร้าง Employee Experiences ที่ดีด้วยการให้คนสนุกตั้งแต่วันแรกตามนโยบาย “Play from the First Day” ที่สำคัญ เลโก้ให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นกลยุทธ์ที่ Lego นำมาใช้ก็คือการโฟกัสไปที่ผลลัพธ์มากกว่าวิธีการ หมายความว่าทีมบริหารจะให้โจทย์กับพนักงาน และพนักงานมีหน้าที่วางแผนกันเองว่าจะทำด้วยกลยุทธ์แบบไหน เพราะการเข้าไปควบคุมให้ทุกคนมีรูปแบบการทำงานแบบเดียวกันนั้น นอกจากจะสร้างความกดดันแล้ว ยังไม่สามารถทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นได้เลย

จอร์เกน วิก นัดสติร์ (Jørgen Vig Knudstorp) CEO ของเลโก้กล่าวว่าพวกเขาต้องการสร้างสภาพแวดล้มที่ทุกคนคิดได้อย่างอิสระ (Free-Thinking Environment) HR จะเน้นย้ำเสมอว่าเมื่อเราทำผลิตภัณฑ์ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็ก เราก็ต้องมีแนวคิดของเด็กตามไปด้วย ดังนั้นเลโก้จะจัดให้มีกลุ่มเด็ก ๆ แวะเวียนเข้ามาที่ออฟฟิศเสมอ ซึ่งบางครั้งเด็กเหล่านี้จะได้โอกาสเล่นสินค้าตัวทดลองก่อนเพื่อออกความเห็นว่าสินค้าดังกล่าวดีพอสำหรับการวางขายในท้องตลาดแล้วหรือไม่ โดยความเห็นจากเด็กเหล่านี้ อาจกลายเป็นสุดยอดไอเดียที่ทำเงินมหาศาลให้กับ Lego ในภายหลัง

เขากล่าวทิ้งท้ายว่าการให้ความสำคัญกับเด็กคือการสร้างฐานลูกค้ายุคใหม่ (Builder of Tomorrow) แถมยังตอกย้ำค่านิยมขององค์กรว่าวิธีรับมือกับปัญหาต่าง ๆ นั้นไม่ได้มีเพียงแค่รูปแบบเดียว และการเล่นสนุก (Power of Play) คือรากฐานสำคัญของการสร้างประสบการณ์ทำงานที่ดี

Lego People Promise 4 องค์ประกอบของการบริหารคน

เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ ผู้อ่านคงตั้งคำถามว่าแล้วเลโก้ทำอย่างไรถึงกระตุ้นให้พนักงานทำตามค่านิยมขององค์กรได้อย่างไร้ที่ติจนถูกยกย่องให้เป็นแบรนด์ที่มีอิทธิพลเหนือบริษัทรถยนต์ระดับโลกอย่าง Ferrari ด้วยซ้ำ คำตอบก็คือเลโก้มีการวางแผนงานสำหรับอนาคตอยู่ตลอดเวลา โดยอาศัยเสาหลัก 4 ประการ (4 Pillars of Lego) ภายใต้ชื่อ Lego People Promise ซึ่งประกอบด้วย

  • Purpose Driven : ทำให้พนักงานเห็นว่าสิ่งที่ตนทำอยู่ทุกวันนั้นมีคุณค่าทั้งกับตัวเอง, กับองค์กร และกับสังคม พนักงานจะรู้สึกภูมิใจและอยากกระทำเพื่อเป้าหมายมากขึ้น
  • Systematic Creativity : สร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ ไม่ได้ตั้งอยู่บนความเพ้อฝัน แต่เป็นการสร้างสรรค์ที่อ้างอิงจากประสบการณ์ว่าสิ่งใดสามารถทำได้และเกิดประโยชน์ที่สุด
  • Clutch Power : การใช้ชุมชนและเพื่อนร่วมงานให้เป็นประโยชน์ เพื่อทำให้งานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  • Action Ability : กระตุ้นให้มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย สามารถลงมือทำทันทีในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัท

Lego มีวิธีสรรหาบุคลากรอย่างไร

ในฐานะขององค์กรที่ต้องอาศัยพลังสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา การหาคนด้วยแนวทางที่ตื่นตาตื่นใจก็ดูไม่ใช่เรื่องแปลกนัก  เพราะวิธีนี้นอกจากจะทำให้องค์กรมีชื่อในด้านของการสร้างแบรนด์แล้ว ยังทำให้ได้พนักงานที่มีวัฒนธรรมองค์กรตรงกันอีกด้วย เราอยากให้ผู้อ่านลองศึกษากลยุทธ์เหล่านี้ เพื่อโอกาสในการปรับใช้และยกระดับขั้นตอนสรรหาในบริษัทของคุณให้โดดเด่น มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เคย

Lego มองหาอะไรจากผู้สมัครงาน

เจนนิเฟอร์ แลนโกน (Jennifer Langone) หัวหน้า HR ฝ่ายสรรหาของบริษัท Lego กล่าวกับ Cosmopolitan ว่าสิ่งที่ Lego มองหาเป็นอย่างแรกก็คือคนที่มีความเป็นผู้นำและเข้ากับสังคมการทำงานในองค์กรได้ คนที่ปราศจากทักษะเหล่านี้จะไม่ถูกเลือก เพราะหากไม่มีใครตอบคำถามได้ว่าบุคคลดังกล่าวจะประสบความสำเร็จในองค์ได้อย่างไร การทำงานที่นี่ก็คงไม่สามารถตอบโจทย์ของพนักงานในระยะยาวได้เช่นกัน

ปกติแล้วเลโก้จะโพสต์รับสมัครงานบนเว็บไซต์ของตนเองและใช้บริการบริษัทจัดหางานจากภายนอก ในที่นี้ไม่จำกัดเลยว่าพนักงานจะต้องเป็นคนที่อาศัยอยู่ในประเทศเท่านั้น เลโก้เปิดรับพนักงานจากทั่วโลกตราบใดที่พิสูจน์ได้ว่าสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์กับองค์กรได้จริง ทั้งนี้หาก HR ตัดสินใจเลือกพนักงานจากต่างประเทศหรือคนที่อยู่ไกลจากที่ทำงานมาก ๆ พวกเขาก็มีโครงการช่วยเหลือเรื่องการปรับตัว (Relocation Assistance) เรียกว่าเลโก้ต้องการให้คนที่มาร่วมงานโฟกัสกับหน้าที่อย่างสบายใจตั้งแต่วินาทีแรกที่เข้ามาเลยทีเดียว

ในส่วนของจำนวนพนักงานใหมนั้น Lego แบ่งรูปแบบการสรรหาเป็นสองส่วน อย่างแรกคือการหาพนักงานจากข้างนอกมาเสริมในหน่วยงานที่องค์กรสร้างขึ้นใหม่ เช่นการเปิดร้านค้าหรือธีมปาร์คในต่างประเทศ กับอีกส่วนคือการวิเคราะห์ว่าพนักงานที่มีอยู่นั้นเพียงพอกับการรับมือสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วหรือยัง โดยก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการสรรหานั้น เลโก้จะสนับสนุนการอบรมและหลักสูตรเพิ่มเติมสำหรับพนักงานอย่างเต็มที่ เพื่อดูความเป็นไปได้ในการใช้บุคลากรเดิมก่อน ไม่ว่าจะด้วยการย้ายตำแหน่ง (Internal Move) หรือเพิ่มความร่วมมือระหว่างแผนก (Cross Function) เพราะเมื่อเวลาผ่านไป เราอาจพบว่าพนักงานบางคนเหมาะกับตำแหน่งอื่นมากกว่าก็ได้ แนวทางนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้เกี่ยวข้องมากกว่าการปล่อยให้เรียนรู้กันเองแล้วค่อยเข้าไปดูแลทีหลัง

Lego ถามอะไรขณะสัมภาษณ์งาน

เมื่อถึงขั้นตอนสัมภาษณ์ สิ่งที่ Lego ต้องการที่สุดคือคนที่ทำการบ้านมาก่อน เลโก้ไม่ต้องการคนที่มาสมัครงานโดยไม่รู้พื้นฐานอะไรเกี่ยวกับตัวต่อของพวกเขาเลย ซึ่งไม่จำเป็นต้องรู้ข้อมูลที่ลึกซึ้งขนาดแฟนพันธ์แท้ แต่ก็ต้องเข้าใจเบื้องต้นว่าสิ่งที่เลโก้เคยทำ และกำลังจะทำมีคุณค่าอย่างไร, มีความหมายอย่างไร และมีคำตอบในหัวเบื้องต้นว่าหากตนเข้ามาทำงานที่นี่ จะช่วยต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้นได้อย่างไร

คำถามที่เลโก้ใช้สัมภาษณ์ผู้สมัครมากที่สุดคือการถามว่า “ทำไมถึงมาสมัครงานกับบริษัทของเรา”​ อาจเป็นคำถามที่ดูธรรมดาและเรียบง่าย แต่คำถามแบบนี้คือตัวชี้วัดว่าผู้สมัครมีทัศนคติอย่างไร และจริงจังแค่ไหนกับการสมัครงาน

หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่คำถามว่า “ปกติแล้วคุณชอบทำอะไรให้รู้สึกสนุก” ซึ่งเป็นคำถามที่เราไม่ค่อยได้ยินนักเวลาสัมภาษณ์งาน แต่เลโก้เลือกถามแบบนี้เพราะมองว่าหากผู้สมัครไม่มีความสนุกก็จะไม่สามารถสร้างสรรค์งานที่ตรงกับสไตล์ขององค์กรได้เลย

เรื่องต่อมาคือการถามว่า “คุณมีทักษะด้านไหนที่อยากพัฒนาให้ดีขึ้นหรือไม่” ซึ่งสิ่งที่เลโก้คาดหวังก็คือคำตอบที่ตรงกับความเป็นจริง เพราะไม่มีใครหรอกที่สามารถทำได้ทุกเรื่อง ดังนั้นการยอมรับความเป็นจริงนอกจากจะทำให้ผู้สัมภาษณ์เห็นถึงความซื่อสัตย์แล้ว ยังทำให้รู้ว่าองค์กรควรจ้ดอบรมแบบใดเพื่อช่วยเพิ่มทักษะในด้านนั้น 

ผู้สมัครจึงควรตอบโดยโฟกัสว่ามีประสบการณ์อะไรมาบ้าง มากกว่าบอกว่ามีทักษะอะไรดีเป็นพิเศษ เรียกง่าย ๆ ว่าไม่ควรตอบอะไรที่ดูเหมือนเป็นคนน้ำเต็มแก้ว ปิดโอกาสในการเรียนรู้เด็ดขาด อนึ่งแม้องค์กรจะขึ้นชื่อในเรื่องความสนุกสนาน ไร้กฎเกณฑ์ แต่สำหรับกระบวนการสัมภาษณ์นั้น HR แนะนำให้ใส่ชุดสุภาพแบบทางการดีกว่า

อย่างสุดท้ายและถือว่าสำคัญที่สุดคือ HR จะให้ผู้สมัครต่อเลโก้เป็นอะไรก็ได้ที่แสดงถึงความเป็นตัวเอง ขั้นตอนนี้จะทำให้เราเห็นว่าผู้สมัครมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ขององค์กรมากแค่ไหน โดยจุดที่น่ารักก็คือหากผู้สมัครดังกล่าวได้รับเลือก ตัวต่อที่สร้างไว้ขณะสัมภาษณ์ก็จะถูกนำไปตั้งรออยู่ที่โต๊ะ เป็นของที่ระลึกในวันแรกที่เข้างาน

Lego กับโครงการ Brick Factor กลยุทธ์สรรหาคนด้วย Gamification 

ความสำเร็จของเลโก้ทำให้พวกเขาขยายกิจการไปทั่วโลก โดยหนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือ สวนสนุก LEGOLAND ที่มีการว่าจ้างพนักงานใหม่อยู่เป็นระยะ อย่างไรก็ตามสิ่งที่โดดเด่นของเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ความสนุกของการเล่นตัวต่อเท่านั้น แต่เป็นวิธีการสรรหาบุคลากรที่เรียกว่า Brick Factor ซึ่งเป็นการค้นหา Master Model Builder หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อเลโก้ นี่คืองานในฝันของคนที่อยาก “เล่นไปทำงานไป” อย่างแท้จริง

เควิน ฮินซ์ (Kevin Hintz) อดีตผู้ชนะโครงการ Brick Factor และเป็น Master Model Builder อยู่ที่ LEGOLAND สาขาซาน อันโตนิโอ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่าคนที่สมัครงานในตำแหน่งนี้ไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรี แต่ต้องจบชั้นต่ำที่ระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า และถ้าคุณตั้งใจตั้งแต่อายุยังน้อยว่าอยากทำงานสายนี้จริง ๆ ก็ให้หาความรู้เกี่ยวกับงานศิลปะเอาไว้ให้มากที่สุด เพราะจะช่วยให้เราสร้างสรรค์งานตามโจทย์ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้คนที่มีทักษะด้านคำนวนหรือฟิสิกข์จะได้เปรียบเป็นพิเศษ เพราะจะช่วยให้ประเมินได้ว่าความคิดสร้างสรรค์ของตนสามารถไปได้ไกลถึงจุดไหน ไม่เสียเวลาคิดงานที่น่าสนใจแต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง ดังนั้นหากคิดว่าตนมีทักษะที่จำเป็นมากพอ Brick Factor คือจุดเริ่มต้นของคุณ ! 

Brick Factor เป็นการแข่งขันแบบรอบในระบบแพ้คัดออก กินเวลาทั้งหมด 2 วัน มีผู้เข้าร่วมจากทั่วประเทศ โดยการแข่งขันในรอบแรกและรอบก่อนรองชนะเลิศจะจัดขึ้นในวันที่ 1 แบ่งเป็นการสร้างสรรค์ตัวต่อเลโก้ตามธีมที่กำหนดภายใน 20 และ 30 นาทีตามลำดับ ก่อนที่จะคัดผู้สมัครเหลือ 10 คนเพื่อไปสัมภาษณ์และแข่งรอบสุดท้ายในวันที่ 2 ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทุกคนปล่อยพลังเพื่ออวดสรรพคุณออกมาให้มากเท่าที่จะทำได้ จากนั้นกรรมการจะร่วมกันตัดสินว่าใครคือคนที่ตอบโจทย์องค์กรที่สุด และมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่จะได้เป็นเทพแห่งเลโก้ และถูกว่าจ้างเข้ามาเป็นพนักงาน

Lego มีวิธีดูแลบุคลากรอย่างไร

การทำงานที่เลโก้นั้น นอกเหนือจากความสนุก ความบันเทิงแล้ว พนักงานต้องได้ความตื่นเต้น, แรงบันดาลใจ ตลอดจนการเปิดกว้างทางจินตนาการในทุก ๆ วัน โดยการพัฒนาบุคลกรของ Lego จะตั้งอยู่ในแนวคิดว่า “ทุกคนต้องเป็นเด็กอยู่เสมอ” เพราะเด็กจะเป็นคนมองโลกในแง่ดี, ช่างสงสัย, รู้จักตั้งคำถาม, กล้าคิดกล้าทำ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นรากฐานของการสร้างองค์กรที่ดี Lego เชื่อว่าแนวทางนี้จะทำให้พนักงานของเลโก้เติบโตอย่างแข็งแรง มีความพร้อมต่อการขึ้นเป็นผู้นำในองค์กร หรือแม้แต่ตอนย้ายไปอยู่ที่อื่นก็ตาม

การตอบแทนพนักงานของเลโก้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสม อธิบายตามหัวข้อได้ดังนี้

  • ด้านครอบครัว : Lego เข้าใจดีว่าครอบครัวมีความสำคัญมากแค่ไหน จึงมีสวัสดิการรองรับทั้งด้านการสร้างครอบครัวหรือแม้แต่เพื่อไปดูแลสุขภาพของคนที่รัก พนักงานสามารถลาโดยได้รับค่าจ้างตามปกติ
  • ส่วนลดพนักงาน : ด้วยวิธีการสรรหาที่เข้มข้นทำให้ Lego ได้พนักงานที่คลั่งไคล้ผลิตภัณฑ์ของตนมากเป็นพิเศษ ดังนั้นทุกคนจึงได้สิทธิ์รับส่วนลดพิเศษเพื่อให้เข้าถึงสินค้าที่ชื่นชอบง่ายที่สุด
  • ด้านการพัฒนาชุมชน : ในแต่ละปีพนักงานของ Lego จะได้สิทธิ์เสนอตัวเป็นอาสาสมัครเพื่อทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ ภายในชุมชนที่สนใจ เพื่อช่วยพัฒนาทักษะและมอบความสุขให้กับผู้อื่น
  • ด้านสุขภาพ : นอกเหนือจากประกันสุขภาพตามปกติแล้ว Lego ยังมีสวัสดิการสนับสนุนด้านการฟื้นฟูสภาพจิตใจ หรือการทำโรงยิมเพื่อพัฒนาร่างกายของพนักงานด้วย ทั้งนี้สวัสดิการของออฟฟิศแต่ละแห่งจะแตกต่างกัน
  • ด้านรายได้ : Lego ตั้งเป้าว่าจะต้องให้รายได้อย่างเป็นธรรม พร้อมสู้กับบริษัทคู่แข่ง และมีโบนัสที่เหมาะสมโดยอ้างอิงจากผลประกอบการของสาขาทั่วโลก
  • ด้านพัฒนาการ : Lego มีระบบที่เรียกว่า Brick Mate เปรียบเหมือนเป็นบัดดี้ที่ช่วยให้การเริ่มทำงาน (Onboarding) ง่ายขึ้นตั้งแต่วันแรก คู่หูของเราจะแนะนำได้ว่าควรทำตัวอย่างไรเมื่อเกิดปัญหา หรือมีแง่มุมใดอีกบ้างที่เราสามารถพัฒนาตัวเองให้ดีกว่าเดิม

Play Day ! เปลี่ยนวันเครียด ๆ ให้กลายเป็นวันเล่น ๆ

“ทำงานหนักได้ ก็ต้องพักให้ได้” Lego เข้าใจเรื่องนี้ดีจึงจัดทำระบบวันหยุดแบบใหม่ ที่บังคับให้พนักงานทั้งในสำนักงานใหญ่และสาขาทั่วโลก หยุดทำงานทุกอย่างและมาร่วมเล่นสนุกกับกิจกรรมที่องค์กรเตรียมไว้ให้ มีวัตถุประสงค์เพื่อดึงพนักงานออกมาจากความเครียดในแต่ละวัน และย้ำเตือนว่าแม้ชีวิจจะต้องเจอกับความยากลำบากแค่ไหน แต่อย่าลืมหยุดพักและหาความสนุกให้ตัวเองเด็ดขาด

นอกจากในส่วนของพนักงานแล้ว โครงการ Play Day ยังยกระดับไปถึงลูกหลานของพนักงานตลอดจนเด็ก ๆ ในชุมชนใกล้เคียง ทั้งนี้ Play Day มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนา 5 องค์ประกอบสำคัญของการทำงาน ได้แก่สภาพร่างกาย (Physical), การเข้าสังคม (Social), ความสร้างสรรค์ (Creative), สติปัญญา (Cognitive) และอารมณ์ (Emotional)

Lego ช่วยพัฒนาองค์กรได้อย่างไร

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คนที่ไม่ได้เล่นเลโก้มาเป็นเวลานานอาจตั้งคำถามว่าของเล่นชิ้นเล็ก ๆ แบบนี้มีข้อดีอย่างไร เพราะแม้จะมีกลยุทธ์เบื้องหลังที่ดีเยี่ยม แต่หากผลิตภัณฑ์ไม่มีประสิทธิภาพ ก็ไม่มีทางเลยที่จะประสบความสำเร็จได้อย่างในปัจจุบัน ดังนั้นเราขอนำประโยชน์หลัก ๆ ของ Lego มาฝากผู้อ่านจำนวน 3 ข้อ ดังนี้

  • Lego ช่วยลดความเครียดและวิตกกังวล : ปฎิเสธไม่ได้ว่าความเครียดกับการทำงานเป็นของคู่กัน  โดยเฉพาะกับสายงานที่ต้องจดจ่อมากเป็นพิเศษ  การพักเบรคและหยิบ Lego มาเล่นจะช่วยให้เราได้ทำกิจกรรมที่ไม่รู้สึกว่าเป็นการละเล่นจนเกินไปเพราะสมองยังได้คิดในเชิงวิชาการอยู่ ความไม่กดดันนี่เองที่ทำให้เราสามารถผ่อนคลาย และสนุกกับมันได้อย่างเต็มที่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการกลับไปทำงานที่ได้รับมอบหมายในลำดับต่อไป ทั้งนี้ผลวิจัยเผยว่าเลโก้ช่วยลดความเครียดและวิตกกังวลได้ราว 15%
  • Lego ช่วยสร้างความเป็นทีม : การสัมมนาแบบเก่า คือการนั่งในห้องเรียนและทำกิจกรรมแบบกลุ่มตามที่ผู้สอนมอบหมาย แต่จะดีกว่าไหมหากกิจกรรมกลุ่มที่ว่ากลายเป็นการเล่นตัวต่อเลโก้ที่มีสีสันสดใสและเสริมจินตนาการได้มากกว่า ในที่นี้เลโก้ได้ออกผลิตภัณฑ์ LEGO’s Serious Play ตัวช่วยอบรมที่ช่วยสอนในเรื่องการแก้ปัญหาและการตัดสินใจแบบทีมโดยตรง
  • Lego ข่วยจัดการเรื่องเวลา : ถ้าพนักงานของคุณมักทำงานเสร็จไม่ทันกำหนด เราแนะนำให้ใช้ตัวต่อเลโก้เพื่อฝึกพนักงานด้วยวิธีตั้งเวลาแล้วให้พนักงานต่อตามหัวข้อที่กำหนด จากนั้นก็เพิ่มความเข้มข้นไปเรื่อย ๆ วิธีนี้จะทำให้พนักงานรู้วิธีบริหารเวลา รู้สึกท้าทาย และมีความสุขเมื่อทำงานเสร็จทัน 

การใช้ Lego เพื่ออบรมพนักงานยังมีรายละเอียดอีกมากที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ ดังนั้นถ้าคุณสนใจกลยุทธ์แบบนี้ สามารถสอบถามและค้นหาผู้ให้บริการได้ที HREX แพลตฟอร์มยอดนิยมที่รวบรวมบริการและผลิตภัณฑ์ HR มากที่สุดในเมืองไทย

บทสรุป

ความสำเร็จของ Lego ทำให้เราเห็นว่าความเชื่อมั่นในแนวทางของตนตลอดเวลากว่า 90 ปีที่ผ่านมานั้นคือสิ่งสำคัญมาก หากเราเอาแต่ปรับตัวตามกระแสโดยลืมแก่นของตัวเอง แม้จะประสบความสำเร็จได้บ้าง แต่ก็จะต้องพบกับความยากลำบากในระยะยาว เพราะเมื่อถึงจุดนั้น เราจะไม่มีข้อแตกต่างใด ๆ ที่สามารถเอาชนะคู่แข่งได้เลย

เราควรคิดเสมอว่าไม่มีความสำเร็จใดที่ได้มาง่าย ๆ แม้แต่แบรนด์สุดโปรดหรือสินค้าบางชนิดที่ผ่านมือเราอยู่ทุกวัน  ดังนั้นหากเราลองตั้งคำถามและค้นคว้าดูว่าเบื้องหลังขององค์กรเหล่านั้นมีกลยุทธ์แบบใดซ่อนอยู่ เราก็มีไอเดียอีกมากมายให้นำมาปรับใช้และช่วยให้องค์กรดีขึ้นได้แน่นอน รู้แบบนี้แล้ว ลองย้อนกลับไปหาบทความเก่า ๆ ของเราสิ มีบทวิเคราะห์แบรนด์ชื่อดังอยู่เพียบ รับรองไม่ผิดหวัง !

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง