ช่องทางการสรรหาบุคคลากร (Recruitment Channel) ที่หลากหลายในยุคปัจจุบัน

HIGHLIGHT
  • ดูตำแหน่งและระดับงาน ก่อนเลือกช่องทางและสื่อที่เหมาะสม
  • พิจารณาความเร่งด่วนก่อน ก่อนที่จะเลือกช่องทางเพื่อบริหารเวลาให้ดีที่สุด
  • ประเมินคุณภาพของคนที่ต้องการ แล้วเลือกใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพคุ้มค่าที่สุด
  • ดูงบประมาณที่มีก่อน ก่อนที่จะเลือกวิธีสรรหาบุคคลากร

Recruitment Channel ช่องทางสรรหาบุคลากรในปัจจุบัน HR NOTE

วิธีสรรหาบุคลากรในยุคปัจจุบันนี้มีความหลากหลายมาก ตั้งแต่ ช่องทางการประกาศรับสมัคงานไปจนถึงการสร้างสรรค์ประกาศรับสมัครงานที่ไม่จำกัดรูปแบบ สื่อสำหรับประกาศรับสมัครงานนั้นก็มีตั้งแต่สื่อสาธารณะทั่วไป, สื่อประกาศรับสมัครงานโดยเฉพาะ, สื่อขององค์กรเอง, หรือแม้แต่สื่อเฉพาะกลุ่มที่เจาะจงตามวัตถุประสงค์ลงไป ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ยุคนี้จึงควรพิจารณาให้ดีว่าจะเลือกวิธีการไหนหรือเลือกช่องทางแบบไหนจึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการสรรหางานแต่ละตำแหน่ง สำหรับช่องทางต่างๆ ของการประกาศรับสมัครงาน (โดยเฉพาะการรับสมัครแบบนอกองค์กร) ในยุคนี้มีอะไรกันบ้าง ลองมาดูกัน

1. แหล่งประกาศงานออนไลน์ (Online Job Boards)

ยุคดิจิตอลนี้แหล่งประกาศงานออนไลน์กลายมาเป็นแหล่งประกาศงานหลักขององค์กรต่างๆ ซึ่งถือเป็นช่องทางยอดนิยมและประสบความสำเร็จที่สุดเลยก็ว่าได้ แหล่งประกาศงานออนไลน์นี้คล้ายกับการประกาศงานในสื่อสิ่งพิมพ์ (Jobs Classifieds) ยุคก่อน เพียงแต่มีประสิทธิภาพมากกว่าและกระจายสื่อได้มากกว่าด้วย แหล่งหางานออนไลน์ที่ดังจะเป็นชุมชนที่นายจ้าง, ฝ่ายบุคคล และผู้สนใจหางานเข้าไปเป็นจำนวนมาก และยังเป็นแหล่งข้อมูลการสรรหา (Database Recruitment) ที่บริษัทต่างๆ สามารถเข้าไปเลือกสรรผู้ที่สนใจได้ด้วยตนเองอีกด้วย หรือบางแหล่งก็มีการผสมผสานหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ เว็บไซต์, โซเชี่ยลมีเดีย, ไปจนถึง Job Fair แหล่งประกาศงานออนไลน์ลักษณะนี้มีหลายระดับ และเหมาะกับการคัดเลือกบุคคลที่ต่างรูปแบบกัน ดังนั้นฝ่าย HR ควรดูความเหมาะสมของแต่ละแหล่งให้ดีด้วย

 ข้อได้เปรียบ 

  • ได้คนสนใจอยากจะได้งานจริงๆ
  • แหล่งที่มีชื่อเสียงจะมีคนที่สนใจหลากหลายและเป็นจำนวนมาก
  • เข้าถึงผู้สมัครได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และผู้สมัครสามารถคัดกรองงานได้ตามความสนใจด้วย

 ข้อเสียเปรียบ 

  • ไม่สามารถควบคุมข้อมูล หรือบริหารสื่อได้ด้วยตัวเอง
  • มีค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควร
ช่องทางที่โดดเด่นและน่าสนใจ
  • jobsDB (www.jobsdb.com) : เว็บไซต์นี้ถือเป็นแหล่งหางานที่น่าเชื่อถือและมีชื่อเสียงที่สุดของเมืองไทยเลยก็ว่าได้ แถมมีเครือข่ายสรรหางานอยู่ทั่วโลกด้วย มีการปรับปรุงเทคโนโลยีในด้านหางานอยู่เสมอ และเป็นแหล่งความรู้เรื่องงานตลอดจนด้านทรัพยากรบุคคลไปในตัว jobsDB มีระบบ Recruitment Management System (RMS) ที่ดี เต็มไปด้วยประวัติส่วนตัว (resume) ของผู้สมัครมีคุณภาพดี ผู้สมัครส่วนใหญ่มีโปรไฟล์ที่ดี เหมาะสำหรับการสรรหาบุคลากรในตำแหน่งงานระดับกลางถึงสูง ไปจนถึงสายงานบริหาร การประกาศงานดูน่าเชื่อถือ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัทที่มาประกาศงานที่นี่อีกด้วย
  • Jobthai(www.jobthai.com), JOB BKK (www.jobbkk.com) และ Job Top Gun(www.jobtopgun.com) : ต้องบอกว่าสามเว็บไซต์นี้ถือเป็น Online Job Board สัญชาติไทยที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน รวมถึงคุณภาพของการสรรหาอยู่ในระดับใกล้เคียงกันด้วย เว็บไซต์หางานกลุ่มนี้ค่อนข้างดังและเป็นที่นิยมพอสมควร ทั้งจากผู้สนใจหางานและนายจ้างจากองค์กรต่างๆ ระบบประวัติส่วนตัว (resume) ของผู้สมัครมีคุณภาพใช้ได้ เหมาะสำหรับการสรรหาบุคลากรในตำแหน่งงานทั่วไป, ระดับงานไม่สูง, ลูกจ้างรายวัน, หรือตำแหน่งที่มีงบประมาณในการจ้างงานที่ไม่มากนัก ไม่เหมาะกับการสรรหาบุคลากรคุณภาพสูงเท่าไร
  • Work Venture(www.workventure.com) และ Get Links (https://getlinks.co) สองแหล่งหางานที่โด่งดังนี้เริ่มต้นจากการเป็น Startup ไทยเล็กๆ และก้าวสู่การเป็นแหล่งหางานที่มีศักยภาพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก และเป็นแหล่งหางานที่คนรุ่นใหม่สนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเจนเนอร์เรชั่นดิจิตอลทั้งหลาย สำหรับ Get Links นั้นเป็นทั้ง Online Job Boards และ Head Hunter ไปในตัว และสร้างความเฉพาะเจาะจงให้ตนเองเป็นแหล่งหางานด้าน Technology & Digital เฉพาะ และเป็นแหล่งชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่ชอบลักษณะบริษัท Startup เป็นอย่างดีทีเดียว ส่วน Work Venture นั้นพัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นแหล่งหางานคุณภาพที่เทียบเท่า Jobs DB เลยก็ว่าได้ และข้อดีของการเริ่มต้นแบบ Startup ก็คือการสร้างมีเดียให้มีความแตกต่าง และไม่มีกรอบจำกัด และไม่กลัวการทดลองตลาด ทำให้ Work Venture เลยมีเซ็กชั่น “รีวิวบริษัท” ที่เป็นการรีวิวจากพนักงานจริงในการพูดถึงแต่ละบริษัท ให้ผู้สมัครงานได้รู้ข้อมูลอีกรูปแบบ เพื่อประกอบการตัดสินใจเหมือนกับการรีวิวร้านอาหารหรือรีวิวสินค้านั่นเอง ถึงขั้นมีการจัดอันดับจริงจัง Top 100 Companies With Reviews เลยทีเดียว และนี่ทำให้ Work Venture แตกต่างไม่เหมือนใครด้วย

2. เครือข่ายสังคมออนไลน์ด้านธุรกิจ (Business Social Networks)

ปัจจุบัน Social Media ไม่ใช่แค่สื่อส่วนบุคคลเท่านั้น แต่องค์กรต่างๆ ตลอดจนธุรกิจมากมายก็หันมาใช้ Social Media เป็นเครื่องมือที่สำคัญตั้งแต่ในการทำการตลาดไปจนถึงสร้างภาพลักษณ์ และระยะหลังการใช้ Social Media เพื่อประกาศรับสมัครงานนั้นก็เป็นที่นิยมขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเห็นจะเป็น Social Network เฉพาะทางด้านธุรกิจและการหางาน ที่สร้างเครือข่ายทั่วโลกได้อย่างน่ามหัศจรรย์

 ข้อได้เปรียบ 

  • เข้าถึงคนมีศักยภาพได้ดี โดยเฉพาะคนที่มีระดับการศึกษาดี
  • สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรได้สูง
  • เชื่อมโยงเครือข่ายได้ทั่วโลก มีหลากหลายสายงาน
  • สามารถดูโปรไฟล์และติดต่อผู้สมัครได้โดยตรง ทั้งผู้ที่ต้องการหางาน หรือผู้ที่ยังทำงานอยู่แต่มีโปรไฟล์น่าสนใจ

 ข้อเสียเปรียบ 

  • หากต้องการประสิทธิภาพที่ดีขึ้น อาจต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น
  • ไม่เหมาะ และไม่คุ้มค่ากับตำแหน่งงานพื้นฐาน หรือตำแหน่งงานที่ไม่ได้ต้องการผู้มีทักษะหรือความสามารถสูง
  • เมื่อมีตัวเลือกมากจนเกินไป อาจใช้เวลานานในการคัดเลือก
ช่องทางที่โดดเด่นและน่าสนใจ
  • LinkedIn(www.linkedin.com) ต้องบอกว่า Social Network นี้กลายเป็นเครือข่ายองค์กรที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกอย่างรวดเร็ว และเต็มไปด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพทั้งนั้น แถมยังมีหลากหลายสายงานด้วย ตั้งแต่วิทยาศาสตร์, สังคมศาสตร์, ไปจนถึงศิลปศาสตร์ ปัจจุบันองค์กรระดับคุณภาพนิยมใช้ช่องทางนี้ในการประกาศรับสมัครงานหรือแม้แต่ติดต่อไปยังผู้ที่น่าสนใจโดยตรง และถือว่าเป็นแหล่งงานที่มีคุณภาพสูงทีเดียว นอกจากนี้องค์กรต่างๆ ยังใช้พื้นที่นี้ให้การสร้างภาพลักษ์ที่ดีให้กับองค์กรด้วย ตลอดจนสื่อสารเรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจ ปัจจุบันเริ่มมี Social Media ที่มุ่งเน้นในเรื่องสร้างเครือข่ายองค์กรเกิดขึ้นเพิ่มเติมเช่นกัน แต่ก็ยังไม่มีเจ้าไหนที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่นิยมเท่า LinkedIn เลย

3. การประกาศงานผ่านสื่อดั้งเดิม (สิ่งพิมพ์) ตลอดจนกระดานประกาศในสื่อสิ่งพิมพ์ (Traditional Media and Jobs Classifieds)

ยุคก่อนการประกาศงานที่นิยมที่สุด ทั้งยังมีภาพลักษณ์ดีที่สุดก็คือการประกาศงานผ่านสื่อสิ่งพิมพ์นั่นเอง สื่อยอดนิยมที่สุดคงหนีไม่พ้นหนังสือพิมพ์ที่มักมีเซ็คชั่นพิเศษ Jobs Classifieds แล้วก็ยังมีนิตยสารสำหรับประกาศรับสมัครงานโดยเฉพาะอีกด้วย ในเมืองไทยนั้นถึงแม้ว่าสื่ออย่างหลังจะลดความนิยมลงอย่างมากแล้ว แต่สำหรับต่างประเทศก็ยังคงนิยมใช้กันอยู่โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น แต่ถึงอย่างนั้น Jobs Classifieds ในหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ในเมืองไทยก็ยังคงมีอยู่บ้าง และบางเจ้าก็พัฒนาไปเป็น Online Job Boards ที่มีประสิทธิภาพดีทีเดียว

 ข้อได้เปรียบ 

  • สร้างความน่าเชื่อถือได้ดี สร้างแรงจูงใจได้ดีจากการออกแบบประกาศที่น่าสนใจ
  • เหมาะสำหรับหาคนที่มีประสบการณ์การทำงานมานาน อยู่ในระดับอาวุโส หรือระดับบริหาร
  • ได้สื่อผสมผสานในคราวเดียวกัน ทั้งสิ่งพิมพ์ และแหล่งงานออนไลน์ของสื่อนั้นๆ

 ข้อเสียเปรียบ 

  • สื่อกระจายได้น้อย และไม่แพร่หลาย
  • สื่อมีอายุจำกัด มีข้อจำกัดเรื่องเวลาเผยแพร่
  • กระบวนการช้า ใช้เวลานาน
  • เสียค่าใช้จ่ายสูง
ช่องทางที่โดดเด่นและน่าสนใจ
  • Bangkok Post (www.bangkokpost.com) หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพเล่มนี้ใส่ใจเซ็กชั่น Classifieds เสมอมา และสร้างความน่าเชื่อถือได้ดี รวมถึงสร้างภาพลักษณ์องค์กรได้ดีอีกด้วย โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ ถึงแม้ว่าปัจจุบันความนิยมประกาศรับสมัครงานในหนังสือพิมพ์จะลดลงไปมาก แต่ก็ยังคงมีการลงประกาศอยู่บ้าง โดยเฉพาะตำแหน่งใหญ่ในระดับผู้บริหารที่ต้องการคนมีประสบการณ์สูง การประกาศผ่านหนังสือพิมพ์จะดูน่าเชื่อถือ และบุคคลเหล่านั้นมักจะสนใจอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ด้วยเช่นกัน และปัจจุบัน Bangkok Post ก็พัฒนา Jobs Classifieds ไปสู่ Online Job Boards เพิ่มเติมด้วย และยังคงมีศักยภาพ ตลอดจนความน่าเชื่อถือในระดับเดิม
  • BK Magazine เป็นสื่อไลฟ์สไตล์ (นิตยสารแจกฟรี) ภาษาอังกฤษที่มี Strip Ad ไซส์ต่างๆ แทรกตัวอยู่ตามคอลัมน์ พื้นที่ตรงนี้บางทีก็เป็นแหล่งประกาศงานชั้นดีที่หลายองค์กรมักใช้ประกาศงานด้วย โดยเฉพาะสายงานด้าน Restaurant Business, Hotel & Hospitality, หรือแม้แต่งานบริการอื่นๆ, รวมไปถึงงานของบริษัทในเครือ BK Magazine เอง ที่มาหลากหลายรูปแบบ และลงประกาศสม่ำเสมอ เป็นสื่อที่คนเมืองรุ่นใหม่สนใจอีกด้วย

4. การประกาศงานผ่านสื่อเฉพาะทาง (Specialist Media)

ปัจจุบันมีสื่อเฉพาะทางเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่มีสื่อนำเสนอเรื่องราวเฉพาะสายงานเป็นจำนวนมาก สื่อในสายงานที่โด่งดังและเป็นที่นิยมที่สุดรวมถึงมีคนอ่านเป็นจำนวนมากก็คือสื่อด้านธุรกิจและการตลาด (Business & Marketing Media) นั่นเอง หลายสื่อยักษ์ใหญ่ใช้ประโยชน์ตรงนี้เปิดพื้นที่ประกาศรับสมัครงานด้วย โดยเฉพาะสายงานที่เกี่ยวกับการตลาด, การขาย, งานสายดิจิตอลต่างๆ, หรือแม้แต่งานสายบริหารธุรกิจ ก็มักจะมาลงประกาศผ่านสื่อลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน เพราะตรงกลุ่มเป้าหมายมากกว่าด้วย

 ข้อได้เปรียบ 

  • สร้างความน่าเชื่อถือได้ดี สร้างแรงจูงใจได้ดีจากการออกแบบประกาศที่น่าสนใจ
  • เหมาะสำหรับหาคนที่มีประสบการณ์การทำงานมานาน อยู่ในระดับอาวุโส หรือระดับบริหาร
  • ได้สื่อผสมผสานในคราวเดียวกัน ทั้งสิ่งพิมพ์ และแหล่งงานออนไลน์ของสื่อนั้นๆ

 ข้อเสียเปรียบ 

  • สื่อกระจายได้น้อย และไม่แพร่หลาย
  • สื่อมีอายุจำกัด มีข้อจำกัดเรื่องเวลาเผยแพร่
  • กระบวนการช้า ใช้เวลานาน
  • เสียค่าใช้จ่ายสูง
ช่องทางที่โดดเด่นและน่าสนใจ
  • Marketing Oops! (www.marketingoops.com) ถือเป็นสื่อด้านธุรกิจและการตลาดแบบออนไลน์ที่ทรงอิทธิพลอันดับหนึ่งของไทยเลยก็ว่าได้ และเป็นสื่อการตลาดที่คนรุ่นใหม่รู้จักและเข้ามาอ่านจำนวนมาก ความแข็งแกร่งของสื่อนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการเป็นสื่อในเครือข่ายของสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย (Advertising Association of Thailand : AAT) ด้วยนั่นเอง และที่สื่อนี้ก็มีการเปิดเซ็กชั่น Marketing Oops! JOBS เกี่ยวกับการประกาศรับสมัครงานอย่างเป็นจริงเป็นจังด้วย และงานที่โดดเด่นก็เป็นงานสายการตลาด, การขาย, การโฆษณา, การบริหารธุรกิจ อีกด้วย
  • PORTFOLIOS.NET (www.portfolios.net) ถือกำเนิดจากการเป็น Online Community ทางสายงานครีเอทีฟและการออกแบบ (Thailand’s Creative Art & Design Community) ที่มีชื่อเสียงของไทย น่าเชื่อถือ และมีภาพลักษณ์ดี รวมถึงมีผู้สนใจในสายอาชีพนี้เข้ามาเป็นจำนวนมาก นอกจากจะเปิดให้ทุกคนสามารถฝากผลงานการออกแบบสร้างสรรค์ของตัวเองเพื่อให้ผู้ที่สนใจติดต่อจ้างงานแล้ว ในเว็บไซต์นี้ก็ยังมีเซกชั่น JOBS ที่เปิดให้บริษัทต่างๆ มาประกาศหางานด้านครีเอทีฟและการออกแบบด้วย และเว็บไซต์นี้ก็เป็นที่สนใจของนักออกแบบสร้างสรรค์มาก ทั้งในระดับมือสมัครเล่นและมืออาชีพ จึงเป็น Community เฉพาะทางที่ดีทีเดียว

5. บริษัทจัดหางาน (Recruitment Agency)

ธุรกิจบริษัทจัดหางานนั้นมีมานานและดูเหมือนว่ายุคนี้ธุรกิจนี้จะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง และพัฒนาวิธีการสรรหาหลากหลายรูปแบบขึ้น ถึงแม้วิธีการสรรหานี้จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่ก็สามารถคัดเลือกคนที่มีคุณภาพมาร่วมงานได้ดีเช่นกัน บริษัทจัดหางานใหญ่ๆ โดยเฉพาะที่มาจากต่างประเทศมักจะสร้างเครือข่าย Online Job Boards เป็นของตัวเองด้วย ทั้งนี้เพื่อสร้างฐานข้อมูลของตัวเองไปในตัว และในยุคนี้เครื่องมือของบริษัทจัดหางานที่ได้รับความนิยมสูงมากก็คือ Head Hunter หรือ Job Hunter ที่เป็นเทรนด์นิยมและชื่นชอบสำหรับคนที่มีประสบการณ์การทำงานมาพอสมควรทีเดียว สำหรับ Head Hunter นั้นจะต่างจาก Database Recruiter ก็ตรงที่จะบุกหาข้อมูลทุกวิถีทางและติดต่อเจรจาสร้างแรงจูงใจกับผู้สมัครโดยตรงซึ่งบางทีผู้สมัครนั้นอาจจะกำลังทำงานอยู่และยังไม่สนใจหางานหรือลงประวัติไว้ที่ไหนด้วยซ้ำ ซึ่ง Database Recruiter จะเป็นการสรรหาจากแหล่งข้อมูลที่มีการรวบรวมไว้อยู่แล้ว โดยมากเป็นประวัติของผู้ที่ต้องการสมัครงาน และมักจะเป็นการซื้อข้อมูลจาก Online Job Boards ที่มีฐานข้อมูลที่ดี แล้วสิ่งที่ Recruitment Agency ต่างจากบริษัทที่ทำ Online Job Boards นั้นก็คือการสรรหาเชิงรุกที่ Recruitment Agency จะทำงานเสมือนฝ่ายบุคคลเลยด้วยซ้ำ เพื่อสรรหาคนที่เหมาะสมที่สุดให้องค์กร

 ข้อได้เปรียบ 

  • มีตัวกลางในการช่วยสรรหา ตั้งแต่ประกาศรับสมัคร ไปจนถึงคัดเลือกคนที่น่าสนใจ
  • ได้คนที่มีประสิทธิภาพ ผ่านการคัดกรองมาดีเยี่ยม มีตัวเลือกที่ดี
  • ความลับไม่รั่วไหล (กรณีต้องการให้การหางานเป็นความลับ)
  • มีผู้เชี่ยวชาญด้านการสรรหาเป็นที่ปรึกษาที่ดี

 ข้อเสียเปรียบ 

  • ไม่สามารถควบคุมข้อมูล หรือบริหารสื่อได้ด้วยตัวเอง
  • มีค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควร
  • บางครั้งสรรหาคนยาก เพราะคนมีศักยภาพที่ต้องการส่วนใหญ่มักยังทำงานอยู่ที่บริษัทเดิม หรือไม่ได้ต้องการงานใหม่
  • ต้องจ่ายอัตราจ้างที่แพงขึ้น อาจมาจากการทุ่มเงินซื้อตัว หรือจ่ายเปอร์เซนต์ให้กับบริษัทจัดหางาน
ช่องทางที่โดดเด่นและน่าสนใจ
  • Adecco (https://adecco.co.th/)  หากพูดถึงบริษัทจัดหางานเชิงรุกที่ขึ้นชื่อของเมืองไทยหลายๆ คนต้องนึกถึงแบรนด์นี้มาเป็นอันดับต้นๆ เลยทีเดียว นอกจากการสรรหาเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพแล้ว ทาง Adecco ยังเป็นที่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้สำหรับผู้สมัครงานทั่วไปอีกด้วย และการันตีคุณภาพของผู้สมัครงานได้เป็นอย่างดี แถม Adecco เองก็ยังมีการสร้างแบรนด์ของตัวเองที่ดีด้วยเช่นกัน
  • REERACOEN (www.reeracoen.co.th)   หากนึกถึงบริษัทจัดหางาน แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในเมืองไทยอย่างสูงต้องยกให้ REERACOEN  บริษัทจัดหางานนี้อยู่ในเครือของ neocareer group ซึ่งเป็นบริษัทจัดหางานขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น

6. สื่อของตนเอง (Own Media)

สื่อประกาศรับสมัครงานที่กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งก็คือช่องทางการรับสมัครงานผ่านสื่อของตนเอง ทั้งเว็บไซต์ และ Social Media อย่าง Facebook ซึ่งการประกาศงานผ่านสื่อนี้เป็นที่นิยมทั้งในระดับองค์กรเล็กและองค์กรใหญ่ แล้วฝ่ายทรัพยากรบุคคลเองก็เริ่มหันมาใส่ใจในรายละเอียดสื่อของตนมากยิ่งขึ้นด้วย สำหรับบริษัทเล็กหรือแม้แต่ Start Up ทั้งหลายที่อาจจะยังไม่พร้อมที่จะมีพนักงานฝ่ายบุคคลนัก ก็จะนิยมใช้ช่องทางนี้เปิดรับสมัครผู้สนใจร่วมงานโดยตรง และคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ทั้งหลายที่รู้ความต้องการของตัวเอง หรืออยากร่วมงานกับองค์กรแบบไหน ก็มักจะเสิร์ชหาองค์กรนั้นเพื่อค้นหาประกาศรับสมัครงานและติดต่อสมัครโดย ส่วนองค์กรที่มีขนาดใหญ่มาก โดยเฉพาะองค์กรที่เครือข่ายอยู่หลายสาขาในประเทศต่างๆ ก็มักจะสร้าง Job Network ของตัวเองไว้ในสื่อของตนด้วยเช่นกัน

 ข้อได้เปรียบ 

  • บริหารจัดการได้ด้วยตนเอง สร้างสรรค์สื่อได้ไม่จำกัด รวดเร็ว
  • คัดกรองผู้สมัครที่อยากร่วมงานกับองค์กรได้ดี มักเป็นผู้ที่มีความสนใจและรู้จักองค์กรเป็นอย่างดี
  • มีฐานข้อมูลเป็นของตนเอง
  • ประหยัดงบประมาณองค์กร

 ข้อเสียเปรียบ 

  • ไม่มีการกระจายสื่อในวงกว้าง หรือกลุ่มคนอื่นๆ
  • ไม่มีโอกาสได้บุคคลที่มีความสามารถ แต่อาจไม่ได้เข้ามาที่สื่อของบริษัท
ช่องทางที่โดดเด่นและน่าสนใจ
  • BOSCH Thailand(www.bosch.co.th) : เป็นองค์กรด้านเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์จากเยอรมันที่มีชื่อเสียงทั่วโลก สำหรับเมืองไทยเอง BOSCH สร้าง Career Community ที่ดีและเป็นระบบ ในเว็บไซต์เองฝ่าย HR สร้างเซ็กชั่นรับสมัครงานไว้อย่างมีคุณภาพ รวมถึงภาพลักษณ์ที่ดี เปิดโอกาสต้อนรับคนทุกรูปแบบ และสร้างสัมพันธ์กับผู้ที่สนใจร่วมงานกับองค์กรได้ดี แล้วนวัตกรรมล่าสุดที่น่าสนใจของ BOSCH Thailand ก็คือการเปิด Career Fair Online ครั้งแรกในไทยที่เปิดรับสมัครงานและให้ผู้สมัครสามารถ Live Chat กับทางองค์กรได้ทันที ดึงดูดคนรุ่นใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์ได้ดี
  • MINOR International : บริษัทไทยขนาดใหญ่ที่ขยายตัวหลากหลายธุรกิจแบ่งเป็น 3 หมวดใหญ่ๆ คือ 1.Minor Hotel ที่ดูแลโรงแรมในเครือทั่วโลกมากมาย อาทิ Anatara, AVANI, Four Seasons เป็นต้น 2.Minor Food (www.minorfood.com) ที่ดูแล Sizzler, Burger King, Swensen’s, The Pizza Company เป็นต้น 3.Minor Lifestyle ที่ดูแล ESPRIT, anello, Bodum เป็นต้น ทำให้ยักษ์ใหญ่นี้ต้องการแรงงานที่หลากหลายมากและตลอดเวลา แทบทุกสาขาอาชีพ ทุกระดับ ในเว็บไซต์ขององค์กรเองก็มีการจัดหางานแยกระดับงานเช่นกัน มีการประกาศงานและให้ข้อมูลอยู่เสมอ โดยเฉพาะในกลุ่มของ Minor Food
  • Marriott (http://www.careers.marriott.com/th-TH/) : เครือโรงแรมใหญ่ระดับโลกนี้มีโรงแรมที่ดูแลมากมายตั้งแต่ Marriott, The Ritz-Carlton ไปจนถึงโรงแรมชิคอย่าง W Hotels เป็นต้น มีการบริหารจัดการบุคคลที่ดีมากและเป็นระบบเดียวกันทั่วโลก ในไทยเองก็มีเซ็กชั่น Marriott Careers ที่สร้างภาพลักษณ์องค์กรได้ดีมาก เปิดรับคนทุกระดับ มีโอกาสงานมากมายทั้งในไทยและทั่วโลกเอง สามารถเข้าไปสมัครงานที่องค์กรได้โดยตรง

7. มหกรรมจัดหางาน (Job Fair)

มหกรรมจัดงานงานเป็นอีกช่องทางการหางานที่มีประสิทธิภาพทีเดียว เป็นการประกาศรับสมัครงานที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่หางานกับผู้ที่จ้างงานได้มาเจอกันโดยตรง มหกรรมหางานที่มีขนาดใหญ่ ดูน่าเชื่อถือ ก็จะสามารถชักชวนคุณมีคุณภาพมาร่วมงานในเป็นจำนวนมาก และมีโอกาสได้งานที่สูง ส่วนมหกรรมหางานเฉพาะกลุ่มก็อาจตรงกลุ่มเป้าหมายมากกว่า และได้ผู้ที่มีความสามารถเฉพาะทางที่ดี บริษัทที่เป็นระบบ Online Job Board ขนาดใหญ่มักจะใช้เครื่องมือนี้ในการหาข้อมูลและสร้างความสำพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีการจัดกิจกรรมย่อยที่นิยมและประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยเฉพาะกับเด็กที่จบใหม่คือการจัด Job Fair ในมหาวิทยาลัยต่างๆ, ไปจนถึงการจัดกิจกรรม Walk-In Interview ที่บริษัทมักเปิดรับสมัครงานโดยตรง หรือแม้แต่ Open House Job Fair ที่บริษัทใหญ่ๆ มักจะเป็นเจ้าภาพในการจัดมหกรรมสรรหางานด้วยตนเอง

 ข้อได้เปรียบ 

  • องค์กรสามารถพบปะกับผู้สมัครได้โดยตรง ไม่เสียเวลาในขั้นตอนต่างๆ มาก
  • มักได้ผู้สมัครที่สนใจอยากได้งานทำจริงๆ
  • ข้อดีสำหรับองค์กรที่ต้องการได้นักศึกษาจบใหม่ ไฟแรง เพราะคนกลุ่มวัยเริ่มต้นทำงานนี้จะชอบและอยากไปเดิน Job Fair มากกว่าคนที่มีประสบการณ์การทำงานมานานแล้ว
  • สามารถเห็นบุคลิกภาพของผู้สมัครได้โดยตรง
  • สามารถสื่อสารได้สองทาง สอบถามและถามตอบข้อมูลได้ทันท่วงที
  • สร้างภาพลักษณ์ให้องค์กร และสร้างความประทับใจให้ผู้สมัครงานได้ดี
  • สามารถมอบองค์ความรู้อื่นได้ด้วย อาทิ เสวนา, เวิร์คช็อป เป็นต้น

 ข้อเสียเปรียบ 

  • มีค่าใช้จ่ายหลายส่วน
  • เสียเวลา และ เสียกำลังคน ในการไปร่วมงาน
  • ไม่มีสิทธิ์คัดกรองผู้สมัครมากนัก
ช่องทางที่โดดเด่นและน่าสนใจ
  • Japan Job Fair : มหกรรมจัดหางานที่มีความเฉพาะตัวและโดดเด่นที่สุดงานหนึ่ง โดยรวบรวมบริษัทญี่ปุ่นในไทยมาออกบูทรับสมัครงานโดยตรง มีคนร่วมงานเป็นจำนวนมาก เป็นมหกรรมจัดหางานที่น่าเชื่อถือเพราะเจ้าภาพก็คือ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ที่จับมือร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงแรงงาน, JTRO (Japan External Trade Organization) และ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
  • Startup Thailand Job Fest : ทั่วโลกมีนโยบายสนับสนุนธุรกิจ Startup จริงจังมากขึ้น รวมถึงเมืองไทยด้วย ซึ่งองค์กรหลักที่เป็นสื่อกลางในเรื่องนี้ก็คือ Startup Thailand (www.startupthailand.org) ที่ดูแลโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) แล้วหน่วยงานนี้ก็เป็นเจ้าภาพในการจัด Startup Thailand Job Fest ที่เป็นแหล่งงานสำหรับคนที่สนใจธุรกิจรูปแบบ Startup โดยเฉพาะ ทั้งยังเน้นไปที่ Tech Startup และ Innovative Corporate ด้วย มีตั้งแต่องค์กรใหญ่ ไปจนถึงองค์กรเล็ก และรวมรวบบริษัทลักษณะนี้ไว้จำนวนมาก ทั้งยังสร้างเครือข่ายเฉพาะตัวได้ดีทีเดียว
  • Central Group : องค์กรใหญ่ที่มีการจัดการด้านฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพมาก ทั้งยังมีการจ้างงานในหลายระดับ และแต่ละระดับก็จะมีกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน กิจกรรมที่ Central Group ทำอย่างสม่ำเสมอก็คือ Walk-In Interview ทั้งงานระดับบริหารและงานระดับบริการทั่วไป องค์กรมีคุณภาพ น่าเชื่อถือ งานน่าทำ และมีคนสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมากเช่นกัน

ข้อสรุป Recruitment Channel

ช่องทางในการสรรหาทรัพยากรบุคคลยุคปัจจุบันมีหลากหลายมาก ดังนั้นฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ควรเลือกช่องทางในการประกาศรับสมัครงานให้ดีและเหมาะสม บางตำแหน่งงานอาจเหมาะประกาศในบางช่องทาง บางตำแหน่งงานอาจจะเหมาะสมทุกช่องทาง หรือบางตำแหน่งงานควรเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ฝ่าย HR ควรพิจารณาให้ดีและเหมาะสม แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไปว่าการประกาศรับสมัครงานนั้นจะต้องเลือกช่องทางใดช่องทางหนึ่ง อาจใช้หลากหลายช่องทาง หรือผสมผสานหลากหลายรูปแบบก็ได้ ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ระยะเวลา รวมถึงงบประมาณในการสรรหาทรัพยากรบุคคลขององค์กรด้วยเช่นกัน

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง