- เลือกใช้ประโยคที่จูงใจ ข้อมูลที่ครบถ้วน ชัดเจน ถูกต้อง
- ทำอาร์ตเวิร์คให้ดึงดูด สร้างจุดเด่นที่น่าสนใจ ไม่ทำให้ภาพลักษณ์องค์กรดูแย่
- เลือกใช้สื่อให้เหมาะสม สื่อสารตรงกลุมเป้าหมาย
ยุคที่โลกหมุนไว บริษัทใหม่เกิดขึ้นมากมายทุกวัน ทุกองค์กรต่างก็ลุกขึ้นมาแข่งขันกันอย่างดุเดือด และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหันมาสร้างความแตกต่างเพื่อให้ธุรกิจของตัวเองโดดเด่นเป็นที่สนใจมากที่สุด ยุคนี้ก็เลยไม่ใช่ยุคที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) จะวางตัวเป็นฝ่ายตั้งรับ อยู่นิ่งเฉยๆ เพราะแต่ละองค์กรต่างก็ต้องแข่งกันดึงคนที่มีความสามารถมาทำงานกับตัวเองให้ได้มากที่สุดด้วย หนึ่งในสิ่งที่ฝ่าย HR เชิงรุกในยุคนี้หันมาสนใจและใส่ใจเป็นพิเศษก็คือ ประกาศรับสมัครงาน ขององค์กรที่ไม่ใช่บรรจุเพียงข้อมูลพื้นฐานอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันต้องสร้างแรงจูงใจ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรไปพร้อมกันด้วย ท้ายที่สุดแล้วประกาศรับสมัครงานจะประสบความสำเร็จมากที่สุดนั้นก็คือการได้คนที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับที่บริษัทต้องการ เข้ามาร่วมงานนั่นเอง และนั่นมักจะเกิดคำถามจากฝ่าย HR ตามมาเสมอว่า … ต้องควรทำอย่างไรดี?
1.ใช้คำที่ดึงดูดใจให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
ไม่ว่าจะเป็นประกาศรับสมัครงานใดๆ ก็ตาม ผู้สมัครงานทุกคนจะต้องอ่านรายละเอียดต่างๆ ก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจส่งใบสมัครไปสมัครงานหรือไม่ ข้อมูลที่ปรากฎบนประกาศโฆษณานั้นจึงจะต้องดึงดูดใจให้ผู้สมัครงานอย่างร่วมงานด้วย และการใช้คำตลอดจนเขียนประโยคต่างๆ ก็ควรสร้างความน่าสนใจ ที่สำคัญควรใช้ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย (Target) ที่ต้องการสื่อสาร บางครั้งอาจต้องเป็นทางการ บางครั้งอาจจะใช้คำไม่เป็นทางการแล้วสื่อสารได้ดีกว่า แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ควรใช้คำหรือประโยคที่เล่นจนเกินไป อาจทำให้องค์กรไม่น่าเชื่อถือ
- ระดับบริหาร : อาจต้องใช้คำที่เป็นทางการ จริงจัง ดูน่าเชื่อถือ
- คนรุ่นใหม่ : อาจต้องใช้คำสมัยนิยม สื่อสารโดนใจ หรือใช้คำสร้างแรงบันดาลใจ สร้างโอกาส
- พนักบริการ / พนักงานรายวัน : อาจไม่ต้องใช้คำสวยหรู เข้าใจยาก แต่ต้องใช้คำที่สื่อสารง่าย ตรงไปตรงมา ชัดเจน ไม่ต้องใช้คำเชิงเชิญชวนนัก แต่ให้เขียนบรรยายหน้าที่รวมถึงสวัสดิการณ์ให้ดี
2.ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน ครบถ้วน
ไม่ใช่เพียงแค่การใช้ประโยคสละสลวยจะสามารถจูงใจได้เท่านั้น แต่การเขียนข้อมูลให้ถูกต้อง ชัดเจน ครบถ้วน ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องใส่ใจเช่นกัน ตั้งแต่คุณสมบัติ, Job Description, ไปจนถึงการแนะนำองค์กร ตลอดจนที่อยู่และรายละเอียดติดต่อกลับ ฝ่าย HR ควรตรวจสอบความถูกต้องรอบสุดท้ายก่อนประกาศด้วย
เช่น เบอร์โทรศัพท์, อีเมล, หรือที่ตั้งบริษัท หากข้อมูลไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดการผิดพลาดได้ กรณีข้อมูลไม่ครบถ้วน เช่นอาจตกเรื่องสวัสดิการบางอย่างไป อาจทำให้ผู้สมัครพลาดข้อมูล และสนใจในการร่วมงานกับอีกบริษัทที่ให้สวัสดิการที่ดีกว่าก็ได้
- ข้อมูลผิด : การเขียนข้อมูลที่ผิดนอกจากจะลบความน่าเชื่อถือองค์กรแล้ว ก็อาจทำให้การสื่อสารล้มเหลวได้ อย่างเช่น เบอร์โทรศัพท์, อีเมล, หรือที่ตั้งบริษัท หากเขียนข้อมูลผิดเพียงนิดเดียว ก็เกิดผลเสียใหญ่หลวงได้ทีเดียว
- ข้อมูลพลาด : ข้อมูลตกหล่น ไม่ครบถ้วน ก็อาจทำให้ประกาศงานมีปัญหาได้ อย่างเช่นการตกข้อมูลเรื่องสวัสดิการบางอย่างไป อาจทำให้ผู้สมัครเลือกร่วมงานกับอีกบริษัทที่ให้สวัสดิการที่ดีกว่าก็ได้
3.จัดอาร์ตเวิร์คให้น่าสนใจ สะดุดตา และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร
ปกติแล้วภาพนั้นดึงดูดความสนใจมนุษย์ได้ดีกว่าตัวอักษร ฝ่าย HR ยุคนี้จึงหันมาใส่ใจการจัดวางอาร์ตเวิร์คของประกาศรับสมัครงานให้โดดเด่นและดึงดูดไม่ใช่แค่การใส่ใจเรื่องคำหรือข้อมูลเท่านั้น อาร์ตเวิร์คที่ดีก็เปรียบเสมือนร้านค้าที่จัดร้านได้น่าเข้า และอาร์ตเวิร์คที่ดีก็ยังสร้างความน่าเชื่อถือให้กับงาน และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรไปในตัว
ยุคนี้มีการสร้างสรรค์ประกาศรับสมัครงานออกมามากมาย บางที่ถึงกับทำสวยเก๋มีไอเดียสะดุดตาไม่แพ้งานโฆษณาเลยทีเดียว แต่ใช่ว่าประกาศรับสมัครงานที่สร้างสรรค์นั้นจะประสบความสำเร็จเสมอไป ประกาศรับสมัคงานที่ทางการ แต่จัดอาร์ตเวิร์คเรียบเท่ ดูน่าเชื่อถือ ก็ดึงดูดใจได้ดีเช่นกัน
- รูปแบบทางการ : เหมาะกับการประกาศรับสมัครงานทั่วไป องค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีดูน่าเชื่อถือ หน้าที่ที่ต้องการความรับผิดชอบสูง หน้าที่ด้านการจัดการต่างๆ ถึงแม้ว่าจะเป็นประกาศที่ดูเป็นทางการ แต่องค์กรก็สามารถจัดอาร์ตเวิร์คให้สวยงามได้เช่นกัน ซึ่งจะยิ่งส่งเสริมภาพลักษณ์และความน่าสนใจได้มากขึ้นด้วย แต่ก็ไม่ควรทิ้งความเป็นทางการไป
- รูปแบบสร้างสรรค์ : เหมาะกับการประกาศรับสมัคงานสายครีเอทีฟ, ดีไซน์, Startup, Digital & Tech, หรือตำแหน่งที่ต้องการคนรุ่นใหม่ บางหน่วยงานที่ต้องการคนสร้างสรรค์มาก ยิ่งทำประกาศสร้างสรรค์ได้เท่าไร ก็จะยิ่งดึงดูดคนที่มีความสามารถในด้านนี้ให้สนใจได้มากเท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าสร้างสรรค์จนทำให้คนไม่เข้าใจเลย
อย่างไรก็ดีไม่จำเป็นว่าองค์กรจะต้องเลือกทิศทางอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจจะใช้ทั้งสองรูปแบบเลยก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง จุดประสงค์ หรือแม้แต่กลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการ
4.บอกเป้าหมายขององค์กรให้เห็นภาพชัด และชักชวนให้ปฎิบัติภาระกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน
ประกาศรับสมัครงานในยุคนี้มักเริ่มต้นด้วยการแสดงวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายขององค์กรก่อน ว่าทำธุรกิจอะไร มุ่งมั่นแบบไหน มีวิสัยทัศน์อย่างไร และมีเป้าหมายอย่างไร ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นหนึ่งในแรงจูงใจสำคัญเช่นกัน บางคนอาจเลือกสมัครงานเพราะเห็นวิสัยทัศน์และภาระกิจของบริษัทน่าสนใจ โดยที่ไม่สนใจเลยด้วยซ้ำว่าตนจะต้องทำอะไรบ้าง พร้อมทำทุกอย่าง ทุกวิถีทาง ขอแค่ให้ได้ร่วมงานกับองค์กรนี้ ปฎิบัติภาระกิจให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันก็พอ การประกาศงานลักษณะนี้มักนิยมในองค์กรใหญ่ๆ ที่สั่งสมชื่อเสียงมานาน และคนเชื่อถือในองค์กร มากกว่าจะเห็นจากบริษัทเล็กๆ แต่ก็จะเริ่มเห็นบริษัทของคนรุ่นใหม่อย่างเช่น Startup หรืองานในกลุ่ม Digital Career ที่ใช้การดึงดูดด้วยการสร้างภาพลักษณ์ สร้างเอกลักษณ์ความเป็นทีม และสร้างความมุ่งมั่นร่วมกัน
5.ระบุ Job Description ให้ชัดเจนที่สุด
ถ้าบอกว่าข้อมูลไหนของประกาศรับสมัครงานสำคัญที่สุดและควรใส่ใจที่สุดคงต้องบอกว่าคือส่วนของ Job Description นั่นเอง ส่วนของคำบรรยายลักษณะงานนี้จะต้องบ่งบอกได้ว่าตำแหน่งนั้นควรรับผิดชอบหรือมีเป้าหมายอะไรบ้าง เพราะผู้สมัครจะต้องอ่านเพื่อใช้พิจารณาตัวเองว่าเหมาะสมในการสมัครหรือไม่ ทำได้มากน้อยแค่ไหน หรือมีสิ่งที่บริษัทต้องการมากน้อยเพียงไร จุดนี้ฝ่าย HR ยังสามารถใช้เป็นตัวเช็คผู้สมัครได้ด้วยว่ามีความใส่ใจเพียงไร อ่านข้อความหรือไม่ หากถามในสิ่งที่ประกาศไว้แล้วหรือส่งใบสมัครมาทั้งๆ ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติ ก็สามารถช่วยคัดกรองได้เบื้องต้นเช่นกัน
6.ประกาศให้ตรงช่องทาง
ข้อหนึ่งที่เป็นกลยุทธ์ให้การประกาศรับสมัครงานประสบความสำเร็จได้ดียิ่งขึ้นก็คือการเลือกใช้สื่อให้ถูกต้องเหมาะสม เพราะถึงแม้เราจะทำประกาศรับสมัครงานมาดีเพียงไร หานำไปใช้ในช่องทางที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายก็ทำให้การสื่อสารครั้งนั้นล้มเหลวได้ อย่างประกาศรับสมัครงานที่ต้องการแรงงานรายวัน หรือต้องการแรงงานทั่วไป กระจ่ายสื่อให้มากที่สุด อาจเลือกใช้ Facebook จะเหมาะสมกว่า หรือถ้าเป็นตำแหน่งงานผู้บริหาร ภาพลักษณ์ดี ต้องการคนมีความสามารถ อาจเลือกใช้ LinkedIn ก็จะเหมาะและได้คนตามที่ต้องการมากกว่า หรือถ้าต้องการพนักงานบริการ ขายของประจำร้าน อาจเลือกติดประกาศที่หน้าร้านจะดีที่สุด หรือบางที HR อาจจะเลือกใช้ทุกสื่อทุกช่องทาง กรณีอยากให้กระจายให้มากที่สุด
7.อ้างอิงรางวัลเพื่อจูงใจ
รางวัลการันตีต่างๆ หรือแม้การถูกจัดอันดับในสื่อที่มีอิทธิพลทั้งหลาย เป็นสิ่งหนึ่งที่นำมาใช้ประกอบการรับสมัครงานได้เป็นอย่างดี นอกจากจะเป็นสิ่งแสดงศักยภาพของบริษัทแล้ว ยังจูงใจให้คนอยากร่วมงานได้เป็นอย่างดีอีกด้วย โดยเฉพาะบริษัทยุคใหม่ของคนรุ่นใหม่ทั้งหลาย ที่นอกจากจะสร้างสภาพแวดล้อมให้น่าทำงานแล้ว ก็มักจะสร้างโปรไฟล์ของบริษัทให้น่าสนใจเพื่อใช้ดึงดูดให้คนอยากร่วมงานด้วย โดยเฉพาะสาย Startup และ Digital Career ทั้งหลายที่ปัจจุบันมีการมอบรางวัลมากมายและมีผลต่อการตัดสินใจอย่างยิ่ง อย่างรางวัล Digital Agency of the Year ที่ทำให้ใครๆ ก็อยากมาลองทำงานกับองค์กรที่ประสบความสำเร็จด้วย หรือแม้แต่การจัดอันดับโดยสื่อทรงอิทธิพลอย่าง “ออฟฟิศที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานมากที่สุด” ก็สามารถเป็นแรงจูงใจชั้นดี และเป็นคำที่ถูกเสิร์ชหาบ่อยๆ อยู่เสมอ เป็นส่วนช่วยในการตัดสินใจอยากสมัครงานในองค์กรนั้นๆ ที่สำคัญเช่นกัน
8.สังเกตคู่แข่ง สร้างความแตกต่าง
ไม่ว่าธุรกิจอะไรย่อมมีคู่แข่งด้วยกันทั้งนั้น ฝ่าย HR เองก็ต้องแข่งขันกับฝ่าย HR องค์กรอื่น ในการสรรหาคนเก่งและมีความสามารถให้มาร่วมงานกับองค์กรให้ได้ การพยายามสังเกตเสมอว่าองค์กรคู่แข่งหรือแม้แต่องค์กรอื่นๆ ทำอะไรกันบ้าง ประกาศอย่างไรกันบ้าง จะทำให้เรารู้กระแสเสมอ อาจนำข้อดีของเขามาปรับใช้กับของเรา หรือเลือกทำทิศทางที่แตกต่าง สร้างจุดสนใจใหม่ ใช้วิธีการสื่อสารที่โดนใจกว่า เพื่อดึงดูดผู้สมัครงานให้อยากร่วมงานกับองค์กร
9.ข้อเสนอที่น่าสนใจ
ข้อเสนอที่ดีนั้นย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจแน่นอน การใส่ข้อเสนอลงไปในประกาศรับสมัครงานบางครั้งก็เป็นสิ่งที่จูงใจผู้สมัครงานได้ดีที่สุด โดยเฉพาะอัตราเงินเดือนที่จะช่วยทำให้การตัดสินใจชัดเจนและรวดเร็วขึ้น หรือบางทีข้อเสนอก็ไม่ใช่เรื่องเงินเสมอไป อาจเป็นการสร้างข้อเสนอใหม่ๆ เพื่อดึงดูดใจ อย่างเช่น การไปดูงานต่างประเทศ, คอร์สอบรมพิเศษ, มีรถประจำตำแหน่ง, หรือแม้แต่สัญญาพิเศษ 1 ปี สำหรับตำแหน่งเฉพาะกิจที่ไม่ได้มีบ่อยๆ ขององค์กรใหญ่ระดับโลก เป็นต้น
10.สรรหานวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้กับระบบสรรหาเสมอ
คนยุคใหม่เติบโตมากับยุคดิจิตอลและเทคโนโลยี และมักจะสนใจนวัตกรรมหรืออะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ สิ่งหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจได้ดีก็คือการพยายามสร้างนวัตกรรมในการสรรหาทรัพยากรบุคคล เพื่อจูงใจคนรุ่นใหม่ที่สนใจ อย่างเช่นยักษ์ใหญ่จากเยอรมัน BOSCH ที่กำลังต้องการคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมงานกับองค์กรก็ประกาศใน Facebook ของตัวเอง ว่าเปิด Career Fair Online ครั้งแรกในเมืองไทย ที่ไม่ใช่แค่ส่งเรซูเม่เฉยๆ แต่ฝ่าย HR ยังเตรียม Live Chat เพื่อสื่อสารตอบโต้กันด้วย เรียกร้องความน่าสนใจจากผู้สมัครงานรุ่นใหม่หรือคนที่คลุกคลีกับโลกดิจิตอลได้เป็นอย่างดีทีเดียว เป็นต้น
บทสรุป
ประกาศรับสมัครงานที่ดีย่อมมีประสิทธิภาพในการชักจูงผู้สมัครอยากเข้ามาร่วมงานกับบริษัท ในขณะเดียวกันมันก็สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรได้ในคราวเดียวกัน ดังนั้นฝ่าย HR ควรใส่ใจให้ดี ตั้งแต่หน้าตาไปจนถึงข้อมูล ที่สำคัญควรสื่อสารอย่างจริงใจ ไม่โกหก หรือเอาเปรียบ บางครั้งการทำประกาศที่อยากเรียกคนมาสนใจนั้นอาจเกิดจากความนึกสนุก ความไม่เหมาะสมอาจทำให้ภาพลักษณ์องค์กรแย่ลงได้เหมือนกัน หรือประกาศบางครั้งที่ใช้คำจูงใจ แต่โกหก หรือบอกไม่เคลียร์ เพื่อสร้างความเข้าใจผิด เมื่อผู้สนใจเข้ามาสมัครแล้วไม่เป็นไปตามข้อมูลที่ได้รับ ก็อาจทำให้เกิดการเสียความรู้สึกได้เช่นกัน หรือบางทีอาจทำให้บริษัทไร้ความน่าเชื่อถือไปเลยก็เป็นได้
คุณกำลังมองหาพนักงานที่ใช่อยู่หรือเปล่า?
SourcedOut แพลตฟอร์มดิจิทัลที่เชื่อมบริษัทกับนักสรรหามืออาชีพโดยตรง
ช่วยลดต้นทุนในการสรรหากว่า 30% – 50% เมื่อเทียบกับบริษัทจัดหางานทั่วไป
ไม่มีการจ้างงานเพิ่ม ไม่มีค่าธรรมเนียม และไม่มีความเสี่ยง!
คุณมีปัญหาหรือคำถามที่ต้องการหาคำตอบใช่หรือเปล่า?
หากคุณรู้สึกว่าได้รับเทคนิคดี ๆ จากบทความนี้และอยากได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก
สามารถตั้งคำถามได้ในชุมชนของเรา ! แล้วคุณจะได้รับคำตอบมืออาชีพจากผู้เชี่ยวชาญ