HIGHLIGHT
|
ยุคที่โลกหมุนไว บริษัทใหม่เกิดขึ้นมากมายทุกวัน ทุกองค์กรต่างก็ลุกขึ้นมาแข่งขันกันอย่างดุเดือด และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหันมาสร้างความแตกต่างเพื่อให้ธุรกิจของตัวเองโดดเด่นเป็นที่สนใจมากที่สุด ยุคนี้ก็เลยไม่ใช่ยุคที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) จะวางตัวเป็นฝ่ายตั้งรับ อยู่นิ่งเฉยๆ เพราะแต่ละองค์กรต่างก็ต้องแข่งกันดึงคนที่มีความสามารถมาทำงานกับตัวเองให้ได้มากที่สุดด้วย
หนึ่งในสิ่งที่ฝ่าย HR เชิงรุกในยุคนี้หันมาสนใจและใส่ใจเป็นพิเศษก็คือ ประกาศรับสมัครงาน ขององค์กรที่ไม่ใช่บรรจุเพียงข้อมูลพื้นฐานอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันต้องสร้างแรงจูงใจ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรไปพร้อมกันด้วย ท้ายที่สุดแล้วประกาศรับสมัครงานจะประสบความสำเร็จมากที่สุดนั้นก็คือการได้คนที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับที่บริษัทต้องการ เข้ามาร่วมงานนั่นเอง
และนั่นมักจะเกิดคำถามจากฝ่าย HR ตามมาเสมอว่า … ต้องควรทำอย่างไรดี?
1. ใช้คำในประกาศรับสมัครงานที่ดึงดูดใจให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
ไม่ว่าจะเป็นประกาศรับสมัครงานใดๆ ก็ตาม ผู้สมัครงานทุกคนจะต้องอ่านรายละเอียดต่างๆ ก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจส่งใบสมัครไปสมัครงานหรือไม่ ข้อมูลที่ปรากฎบนประกาศโฆษณานั้นจึงจะต้องดึงดูดใจให้ผู้สมัครงานอย่างร่วมงานด้วย และการใช้คำตลอดจนเขียนประโยคต่างๆ ก็ควรสร้างความน่าสนใจ ที่สำคัญควรใช้ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย (Target) ที่ต้องการสื่อสาร บางครั้งอาจต้องเป็นทางการ บางครั้งอาจจะใช้คำไม่เป็นทางการแล้วสื่อสารได้ดีกว่า แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ควรใช้คำหรือประโยคที่เล่นจนเกินไป อาจทำให้องค์กรไม่น่าเชื่อถือ
- ระดับบริหาร : อาจต้องใช้คำที่เป็นทางการ จริงจัง ดูน่าเชื่อถือ
- คนรุ่นใหม่ : อาจต้องใช้คำสมัยนิยม สื่อสารโดนใจ หรือใช้คำสร้างแรงบันดาลใจ สร้างโอกาส
- พนักบริการ / พนักงานรายวัน : อาจไม่ต้องใช้คำสวยหรู เข้าใจยาก แต่ต้องใช้คำที่สื่อสารง่าย ตรงไปตรงมา ชัดเจน ไม่ต้องใช้คำเชิงเชิญชวนนัก แต่ให้เขียนบรรยายหน้าที่รวมถึงสวัสดิการณ์ให้ดี
2. ให้ข้อมูลในประกาศรับสมัครงานที่ถูกต้อง ชัดเจน ครบถ้วน
ไม่ใช่เพียงแค่การใช้ประโยคสละสลวยจะสามารถจูงใจได้เท่านั้น แต่การเขียนข้อมูลให้ถูกต้อง ชัดเจน ครบถ้วน ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องใส่ใจเช่นกัน ตั้งแต่คุณสมบัติ, Job Description, ไปจนถึงการแนะนำองค์กร ตลอดจนที่อยู่และรายละเอียดติดต่อกลับ ฝ่าย HR ควรตรวจสอบความถูกต้องรอบสุดท้ายก่อนประกาศด้วย
เช่น เบอร์โทรศัพท์, อีเมล, หรือที่ตั้งบริษัท หากข้อมูลไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดการผิดพลาดได้ กรณีข้อมูลไม่ครบถ้วน เช่นอาจตกเรื่องสวัสดิการบางอย่างไป อาจทำให้ผู้สมัครพลาดข้อมูล และสนใจในการร่วมงานกับอีกบริษัทที่ให้สวัสดิการที่ดีกว่าก็ได้
ข้อมูลผิด…พลาดโอกาส
|
3. จัดอาร์ตเวิร์คให้น่าสนใจ สะดุดตา และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร
ปกติแล้วภาพนั้นดึงดูดความสนใจมนุษย์ได้ดีกว่าตัวอักษร ฝ่าย HR ยุคนี้จึงหันมาใส่ใจการจัดวางอาร์ตเวิร์คของประกาศรับสมัครงานให้โดดเด่นและดึงดูดไม่ใช่แค่การใส่ใจเรื่องคำหรือข้อมูลเท่านั้น อาร์ตเวิร์คที่ดีก็เปรียบเสมือนร้านค้าที่จัดร้านได้น่าเข้า และอาร์ตเวิร์คที่ดีก็ยังสร้างความน่าเชื่อถือให้กับงาน และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรไปในตัว
ยุคนี้มีการสร้างสรรค์ประกาศรับสมัครงานออกมามากมาย บางที่ถึงกับทำสวยเก๋มีไอเดียสะดุดตาไม่แพ้งานโฆษณาเลยทีเดียว แต่ใช่ว่าประกาศรับสมัครงานที่สร้างสรรค์นั้นจะประสบความสำเร็จเสมอไป ประกาศรับสมัคงานที่ทางการ แต่จัดอาร์ตเวิร์คเรียบเท่ ดูน่าเชื่อถือ ก็ดึงดูดใจได้ดีเช่นกัน
- รูปแบบทางการ : เหมาะกับการประกาศรับสมัครงานทั่วไป องค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีดูน่าเชื่อถือ หน้าที่ที่ต้องการความรับผิดชอบสูง หน้าที่ด้านการจัดการต่างๆ ถึงแม้ว่าจะเป็นประกาศที่ดูเป็นทางการ แต่องค์กรก็สามารถจัดอาร์ตเวิร์คให้สวยงามได้เช่นกัน ซึ่งจะยิ่งส่งเสริมภาพลักษณ์และความน่าสนใจได้มากขึ้นด้วย แต่ก็ไม่ควรทิ้งความเป็นทางการไป
- รูปแบบสร้างสรรค์ : เหมาะกับการประกาศรับสมัคงานสายครีเอทีฟ, ดีไซน์, Startup, Digital & Tech, หรือตำแหน่งที่ต้องการคนรุ่นใหม่ บางหน่วยงานที่ต้องการคนสร้างสรรค์มาก ยิ่งทำประกาศสร้างสรรค์ได้เท่าไร ก็จะยิ่งดึงดูดคนที่มีความสามารถในด้านนี้ให้สนใจได้มากเท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าสร้างสรรค์จนทำให้คนไม่เข้าใจเลย
อย่างไรก็ดีไม่จำเป็นว่าองค์กรจะต้องเลือกทิศทางอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจจะใช้ทั้งสองรูปแบบเลยก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง จุดประสงค์ หรือแม้แต่กลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการ
4. บอกเป้าหมายขององค์กรให้เห็นภาพชัด และชักชวนให้ปฎิบัติภาระกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน
ประกาศรับสมัครงานในยุคนี้มักเริ่มต้นด้วยการแสดงวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายขององค์กรก่อน ว่าทำธุรกิจอะไร มุ่งมั่นแบบไหน มีวิสัยทัศน์อย่างไร และมีเป้าหมายอย่างไร ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นหนึ่งในแรงจูงใจสำคัญเช่นกัน บางคนอาจเลือกสมัครงานเพราะเห็นวิสัยทัศน์และภาระกิจของบริษัทน่าสนใจ โดยที่ไม่สนใจเลยด้วยซ้ำว่าตนจะต้องทำอะไรบ้าง พร้อมทำทุกอย่าง ทุกวิถีทาง ขอแค่ให้ได้ร่วมงานกับองค์กรนี้ ปฎิบัติภาระกิจให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันก็พอ การประกาศงานลักษณะนี้มักนิยมในองค์กรใหญ่ๆ ที่สั่งสมชื่อเสียงมานาน และคนเชื่อถือในองค์กร มากกว่าจะเห็นจากบริษัทเล็กๆ แต่ก็จะเริ่มเห็นบริษัทของคนรุ่นใหม่อย่างเช่น Startup หรืองานในกลุ่ม Digital Career ที่ใช้การดึงดูดด้วยการสร้างภาพลักษณ์ สร้างเอกลักษณ์ความเป็นทีม และสร้างความมุ่งมั่นร่วมกัน
5. ระบุ Job Description ในประกาศรับสมัครงานให้ชัดเจนที่สุด
ถ้าบอกว่าข้อมูลไหนของประกาศรับสมัครงานสำคัญที่สุดและควรใส่ใจที่สุดคงต้องบอกว่าคือส่วนของ Job Description นั่นเอง ส่วนของคำบรรยายลักษณะงานนี้จะต้องบ่งบอกได้ว่าตำแหน่งนั้นควรรับผิดชอบหรือมีเป้าหมายอะไรบ้าง เพราะผู้สมัครจะต้องอ่านเพื่อใช้พิจารณาตัวเองว่าเหมาะสมในการสมัครหรือไม่ ทำได้มากน้อยแค่ไหน หรือมีสิ่งที่บริษัทต้องการมากน้อยเพียงไร จุดนี้ฝ่าย HR ยังสามารถใช้เป็นตัวเช็คผู้สมัครได้ด้วยว่ามีความใส่ใจเพียงไร อ่านข้อความหรือไม่ หากถามในสิ่งที่ประกาศไว้แล้วหรือส่งใบสมัครมาทั้งๆ ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติ ก็สามารถช่วยคัดกรองได้เบื้องต้นเช่นกัน
อย่าเขียนเกินสิ่งที่จำเป็น บางครั้งฝ่าย HR อาจเห็นประกาศรับสมัครงานของบริษัทอื่น ที่ระบุข้อมูลตลอดจนคุณลักษณะในประกาศอย่างละเอียดยิบ สวยหรู ใช้คำที่มีระดับ และก็ดึงมาใช้กับประกาศรับสมัครงานของตนบ้างโดยที่ไม่ได้ย้อนกลับมาดูว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งเดียวกับที่บริษัทต้องการ หรือเกินความจำเป็นหรือไม่ การประกาศรับสมัครงานที่ละเอียดยิบ ใช้คำดูมีระดับ บางทีก็เป็นเสมือนดาบสองคมได้เหมือนกัน อาจทำให้ผู้ที่สนใจสมัครอ่านแล้วไม่กล้าที่จะสมัครมาก็ได้ ทั้งๆ ที่บางอย่างเขียนไว้เพื่อให้ประกาศรับสมัครงานดูดีเพียงเท่านั้น ประกาศรับสมัครงานที่มีประสิทธิภาพอาจต้องการการสื่อสารที่ง่าย กระชับ ชัดเจน ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออก และต้องสื่อสารให้ครบถ้วน อาจสร้างแรงจูงใจในการสมัครงานได้ดีกว่าประกาศรับสมัครงานที่ใส่รายละเอียดโน่นนั่นนี่เยอะเต็มไปหมดจนอึดอัดหรือกังวงใจ |
6. ประกาศรับสมัครงานให้ตรงช่องทาง
ข้อหนึ่งที่เป็นกลยุทธ์ให้การประกาศรับสมัครงานประสบความสำเร็จได้ดียิ่งขึ้นก็คือการเลือกใช้สื่อให้ถูกต้องเหมาะสม เพราะถึงแม้เราจะทำประกาศรับสมัครงานมาดีเพียงไร หานำไปใช้ในช่องทางที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายก็ทำให้การสื่อสารครั้งนั้นล้มเหลวได้ อย่างประกาศรับสมัครงานที่ต้องการแรงงานรายวัน หรือต้องการแรงงานทั่วไป กระจ่ายสื่อให้มากที่สุด อาจเลือกใช้ Facebook จะเหมาะสมกว่า หรือถ้าเป็นตำแหน่งงานผู้บริหาร ภาพลักษณ์ดี ต้องการคนมีความสามารถ อาจเลือกใช้ LinkedIn ก็จะเหมาะและได้คนตามที่ต้องการมากกว่า หรือถ้าต้องการพนักงานบริการ ขายของประจำร้าน อาจเลือกติดประกาศที่หน้าร้านจะดีที่สุด หรือบางที HR อาจจะเลือกใช้ทุกสื่อทุกช่องทาง กรณีอยากให้กระจายให้มากที่สุด
ร่วมด้วยช่วยแชร์ คนไทยเป็นคนชอบช่วยเหลือมาน้ำใจ ดังนั้นเราจึงมักเห็นคนไทยชอบแชร์ข้อมูลใน Social Media กันเป็นอย่างมาก ฝ่าย HR จึงมักเลือกใช้สื่อ Social Media ต่างๆ โดยเฉพาะ Facebook ในการประกาศหางาน ผลพลอยได้ที่สำคัญก็คือหากเราทำประกาศน่าสนใจ คนในโลกโซเชี่ยลก็อยากจะช่วยแชร์และบอกต่อ ทำให้เราได้ประชาสัมพันธ์ในวงกว้างมากขึ้นแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย ในทางกลับกัน หากประกาศรับสมัครงานไม่น่าสนใจ คนก็ไม่อยากแชร์ เพราะสิ่งนี้จะปรากฎอยู่ที่หน้าหลักของ User ซึ่งก็เหมือนหน้าบ้านของเขา คงไม่มีใครอยากให้หน้าบ้านของตัวเองไม่น่ามอง |
7. อ้างอิงรางวัลเพื่อจูงใจ
รางวัลการันตีต่างๆ หรือแม้การถูกจัดอันดับในสื่อที่มีอิทธิพลทั้งหลาย เป็นสิ่งหนึ่งที่นำมาใช้ประกอบการรับสมัครงานได้เป็นอย่างดี นอกจากจะเป็นสิ่งแสดงศักยภาพของบริษัทแล้ว ยังจูงใจให้คนอยากร่วมงานได้เป็นอย่างดีอีกด้วย โดยเฉพาะบริษัทยุคใหม่ของคนรุ่นใหม่ทั้งหลาย ที่นอกจากจะสร้างสภาพแวดล้อมให้น่าทำงานแล้ว ก็มักจะสร้างโปรไฟล์ของบริษัทให้น่าสนใจเพื่อใช้ดึงดูดให้คนอยากร่วมงานด้วย โดยเฉพาะสาย Startup และ Digital Career ทั้งหลายที่ปัจจุบันมีการมอบรางวัลมากมายและมีผลต่อการตัดสินใจอย่างยิ่ง อย่างรางวัล Digital Agency of the Year ที่ทำให้ใครๆ ก็อยากมาลองทำงานกับองค์กรที่ประสบความสำเร็จด้วย หรือแม้แต่การจัดอันดับโดยสื่อทรงอิทธิพลอย่าง “ออฟฟิศที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานมากที่สุด” ก็สามารถเป็นแรงจูงใจชั้นดี และเป็นคำที่ถูกเสิร์ชหาบ่อยๆ อยู่เสมอ เป็นส่วนช่วยในการตัดสินใจอยากสมัครงานในองค์กรนั้นๆ ที่สำคัญเช่นกัน
8. สังเกตคู่แข่ง สร้างความแตกต่าง
ไม่ว่าธุรกิจอะไรย่อมมีคู่แข่งด้วยกันทั้งนั้น ฝ่าย HR เองก็ต้องแข่งขันกับฝ่าย HR องค์กรอื่น ในการสรรหาคนเก่งและมีความสามารถให้มาร่วมงานกับองค์กรให้ได้ การพยายามสังเกตเสมอว่าองค์กรคู่แข่งหรือแม้แต่องค์กรอื่นๆ ทำอะไรกันบ้าง ประกาศอย่างไรกันบ้าง จะทำให้เรารู้กระแสเสมอ อาจนำข้อดีของเขามาปรับใช้กับของเรา หรือเลือกทำทิศทางที่แตกต่าง สร้างจุดสนใจใหม่ ใช้วิธีการสื่อสารที่โดนใจกว่า เพื่อดึงดูดผู้สมัครงานให้อยากร่วมงานกับองค์กร
9. ข้อเสนอที่น่าสนใจ
ข้อเสนอที่ดีนั้นย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจแน่นอน การใส่ข้อเสนอลงไปในประกาศรับสมัครงานบางครั้งก็เป็นสิ่งที่จูงใจผู้สมัครงานได้ดีที่สุด โดยเฉพาะอัตราเงินเดือนที่จะช่วยทำให้การตัดสินใจชัดเจนและรวดเร็วขึ้น หรือบางทีข้อเสนอก็ไม่ใช่เรื่องเงินเสมอไป อาจเป็นการสร้างข้อเสนอใหม่ๆ เพื่อดึงดูดใจ อย่างเช่น การไปดูงานต่างประเทศ, คอร์สอบรมพิเศษ, มีรถประจำตำแหน่ง, หรือแม้แต่สัญญาพิเศษ 1 ปี สำหรับตำแหน่งเฉพาะกิจที่ไม่ได้มีบ่อยๆ ขององค์กรใหญ่ระดับโลก เป็นต้น
10.สรรหานวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้กับระบบสรรหาเสมอ
คนยุคใหม่เติบโตมากับยุคดิจิตอลและเทคโนโลยี และมักจะสนใจนวัตกรรมหรืออะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ สิ่งหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจได้ดีก็คือการพยายามสร้างนวัตกรรมในการสรรหาทรัพยากรบุคคล เพื่อจูงใจคนรุ่นใหม่ที่สนใจ อย่างเช่นยักษ์ใหญ่จากเยอรมัน BOSCH ที่กำลังต้องการคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมงานกับองค์กรก็ประกาศใน Facebook ของตัวเอง ว่าเปิด Career Fair Online ครั้งแรกในเมืองไทย ที่ไม่ใช่แค่ส่งเรซูเม่เฉยๆ แต่ฝ่าย HR ยังเตรียม Live Chat เพื่อสื่อสารตอบโต้กันด้วย เรียกร้องความน่าสนใจจากผู้สมัครงานรุ่นใหม่หรือคนที่คลุกคลีกับโลกดิจิตอลได้เป็นอย่างดีทีเดียว เป็นต้น
User Friendly สิ่งสำคัญยุคนี้ของการใช้เทคโนโลยีให้ประสบความสำเร็จมากที่สุดก็คือต้อง User Friendly เป็นมิตรกับผู้ใช้ ใช้ง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่เกิดปัญหาทำให้หงุดหงิด เพราะหากเทคโนโลยีล้ำเกินไป ใช้ยาก ก็ทำให้ผู้ใช้ไม่อยากเข้าไปใช้งานได้ หรือใช้แล้วเกิดปัญหาจนทำให้หงุดหงิด ก็อาจทำให้ผู้ใช้เลิกได้กลางครัน ถ้าไม่เตรียมรับมือ หรือเตรียมแก้ปัญหาให้ดี วิธีที่ดีอาจจะกลายเป็นการสร้างผลเสียให้กับองค์กรได้เช่นกัน |
บทสรุป
ประกาศรับสมัครงานที่ดีย่อมมีประสิทธิภาพในการชักจูงผู้สมัครอยากเข้ามาร่วมงานกับบริษัท ในขณะเดียวกันมันก็สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรได้ในคราวเดียวกัน ดังนั้นฝ่าย HR ควรใส่ใจให้ดี ตั้งแต่หน้าตาไปจนถึงข้อมูล ที่สำคัญควรสื่อสารอย่างจริงใจ ไม่โกหก หรือเอาเปรียบ บางครั้งการทำประกาศที่อยากเรียกคนมาสนใจนั้นอาจเกิดจากความนึกสนุก ความไม่เหมาะสมอาจทำให้ภาพลักษณ์องค์กรแย่ลงได้เหมือนกัน หรือประกาศบางครั้งที่ใช้คำจูงใจ แต่โกหก หรือบอกไม่เคลียร์ เพื่อสร้างความเข้าใจผิด เมื่อผู้สนใจเข้ามาสมัครแล้วไม่เป็นไปตามข้อมูลที่ได้รับ ก็อาจทำให้เกิดการเสียความรู้สึกได้เช่นกัน หรือบางทีอาจทำให้บริษัทไร้ความน่าเชื่อถือไปเลยก็เป็นได้