การสรรหาพนักงานผ่าน Social Media

HIGHLIGHT
  • องค์กรประกาศรับสมัครงานได้โดยตรง รวดเร็ว และสื่อสารสองทางกับผู้สมัครได้
  • ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ใช้ Social Media ทำความรู้จักผู้สมัครเบื้องต้นได้ และตรวจสอบปฎิสัมพันธ์ของผู้สมัครระหว่างผู้อื่นได้
  • องค์กรใช้ Social Media ในการสร้างภาพลักษณ์องค์กรที่ดี ให้ผู้สมัครประทับใจและอยากร่วมงานด้วย
  • ผู้สมัครสามารถเรียนรู้วัฒนธรรมองค์กรผ่านทาง Social Media ได้

ปัจจุบัน Social Media เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนทั่วโลกไปแล้ว รวมถึงประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการใช้ Social Media สูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลกด้วย นอกจากจะใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารติดต่อกันแล้ว ยุคนี้ Social Media ยังถือเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญเลยทีเดียว ตั้งแต่ธุรกิจ SMEs ไปจนถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างก็หันมาให้ความสำคัญกับ Social Media กันทั้งนั้น

ทุกวันนี้ Social Media กลายเป็นสื่อและเครื่องมือที่มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายๆ ด้าน รวมถึงเทรนด์นิยมทั่วโลกล่าสุดกับ การใช้ Social Media ให้เป็นประโยชน์กับแวดวงสรรหาทรัพยากรบุคคล เครื่องมือนี้เป็นประโยชน์ที่ทำให้บริษัทขนาดเล็กหางานได้ง่ายไม่ต้องเสียงบประมาณมาก ในขณะที่ทำให้บริษัทขนาดใหญ่สื่อสารกับวงกว้างได้มากกว่าเก่าและมีโอกาสได้ผู้สมัครที่หลากหลายขึ้น นั่นเป็นเพียงประโยชน์ส่วนหนึ่งสำหรับกระบวนการรับสมัครงาน

นอกจากนี้ Social Media ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ การเป็นเครื่องมือในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร, การเผยแพร่วัฒนธรรมองค์กรเพื่อสร้างความอยากร่วมงาน, หรือแม้แต่การให้ความรู้กับคนทั่วไปที่ทำให้คนรู้จักธุรกิจและวิสัยทัศน์ขององค์กรได้มากขึ้นด้วย

Social Media หางานยอดนิยมในเมืองไทย

+ LinkedIn : Social Media อันดับหนึ่งของโลกในการหางาน สร้างขึ้นมาเพื่อสร้างเครือข่ายในเรื่องนี้โดยเฉพาะ มีแหล่งงานคุณภาพดีๆ จากทั่วโลก ฝ่าย HR ไปจนถึงหัวหน้างานต่างๆ สามารถติดต่อกับผู้สมัครได้โดยตรง บริษัทสามารถใช้ Social Media นี้ประกาศรับสมัครงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจัดการด้วยตัวเองได้หมดโดยไม่ต้องผ่านบริษัทจัดหางานที่เป็นตัวกลาง

+ Facebook : Social Media สารพัดประโยชน์ที่ฝ่าย HR ของบริษัทต่างๆ นิยมใช้ในการรับสมัครงานเช่นกัน โดยเฉพาะการประกาศรับสมัครงานที่สามารถเช็คการตอบรับจากผู้ที่สนใจได้โดยตรงและรวดเร็ว

+ LINE JOBS : เพิ่งเปิดตัวล่าสุด และได้รับความนิยม Online Recruitment Platform นี้เป็นการผสมผสานระหว่าง Social Media และ Online Recruitment Agency สื่อกลางในการหางานได้ดี ด้วยความที่ LINE เป็นเจ้าของ Social Media เอง ทำให้มีการใช้เทคโนโลยีมาพัฒนามีเดียนี้หลากหลายรูปแบบให้น่าสนใจ

ข้อดีของการใช้ Social Media สรรหาทรัพยากรบุคคล

การสรรหาพนักงานผ่าน Social Media

+ รวดเร็ว ว่องไว ทันเวลา : การที่ฝ่าย HR ใช้ Social Media ประกาศรับสมัครงานโดยตรงนั้น นอกจากทางองค์กรเองจะขยับตัวได้ไว กำหนดเวลาได้ด้วยตัวเอง แถมยังได้การตอบกลับที่ไวอีกด้วย เป็นการสื่อสารโดยตรงกับผู้สมัครงานเลย โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง แต่อาจมีข้อเสียบ้างที่ฝ่าย HR อาจจะต้องคัดกรองผู้สมัครเองจำนวนมาก การประกาศงานผ่าน Social Media นี้จะมีประโยชน์สูงมากสำหรับกรณีที่ต้องการพนักงานอย่างเร่งด่วน

+ เข้าถึงผู้คนได้จำนวนมาก : ปัจจุบันประเทศไทยมีคนใช้ Social Media จำมาก การที่ฝ่าย HR หันมาใช้ Social Media นั้นทำให้สามารถสื่อสารกับคนได้จำนวนมากขึ้น วงกว้างขึ้น และบางครั้งอาจกระจายได้ว่องไวรวดเร็วจากการช่วยแชร์ข้อมูลของคนที่สนใจ ทำให้มีโอกาสได้คนที่ตรงตามคุณลักษณะที่ประกาศไว้มากขึ้น

+ เรียนรู้ผู้สมัครได้เบื้องต้น : ในการสัมภาษณ์งานนั้นฝ่าย HR มีเวลาค่อนข้างจำกัดในการทำความรู้จักผู้สมัครให้ลึกซึ้ง แต่ในยุคนี้ฝ่าย HR สามารถทำความรู้จักกับผู้สมัครเบื้องต้นผ่านทาง Social Media ต่างๆ ได้ อาทิ เนื้อหาที่โพสท์ ความเชื่อมโยงกับผู้อื่นใน Social Media ซึ่งจะทำให้รู้จักบุคลิกลักษณะเบื้องต้นของผู้สมัครได้เป็นอย่างดี การใช้ Social Media ของผู้สมัครก็ยังสามารถเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเบื้องต้นได้ เห็นปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่น กริยามารยาท รวมถึงทัศนคติด้วย

+ ตรวจสอบปฎิสัมพันธ์จากผู้อื่น : การสัมภาษณ์งานอาจได้เรียนรู้ผู้สมัครเชิงลึกก็จริง แต่ข้อมูลและทัศนคติจะมาจากผู้สมัครเพียงฝ่ายเดียว การเรียนรู้ Social Media ของผู้สมัครงานนั้นเราสามารถเห็นการตอบโต้ตลอดจน feedback จากผู้อื่นได้ด้วย ตลอดจนปฎิกิริยาทางสังคมที่ผู้อื่นมีต่อผู้สมัคร

+ คัดกรองผู้สมัครเบื้องต้นได้ดีขึ้น : ปกติแล้วฝ่าย HR อาจจะคัดกรองผู้สมัครงานเบื้องต้นจากประวัติส่วนตัวที่กรอกไว้ในใบสมัครได้เท่านั้น ซึ่งการอ่านแค่ตัวหนังสือจากกระดาษที่เขียนนั้นอาจจะทำให้บริษัทได้ผู้สมัครงานที่ไม่ตรงตามความต้องการนัก กรณีนี้ Social Media ของผู้สมัครจะทำให้เราประมวลผลได้รอบด้านขึ้น มีข้อมูลในการคัดกรองหลากหลาย และอาจทำให้คัดเลือกผู้สมัครได้ใกล้เคียงกับคุณสมบัติที่ต้องการได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

+ หาผู้สนใจสมัครงานได้จากทั่วโลก : Social Media ไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนในประเทศนั้นๆ เท่านั้น เพราะมันเป็นเครือข่ายทั่วโลกที่ใครๆ ก็สามารถรับรู้ข้อมูลได้ การประกาศรับสมัครงานผ่าน Social Media นี้จะทำให้กระจายข้อมูลข่าวสารได้ดีและกว้างไกลขึ้น ทำให้มีตัวเลือกของผู้สมัครหลากหลายขึ้น มีความสามารถหลากรูปแบบ และมาจากหลายเชื้อชาติ แถมยังใช้งบประมาณไม่สูงแต่ได้ผลคุ้มค่าทีเดียว

+ เรียนรู้วัฒนธรรมองค์กร : นอกจากบริษัทจะได้ประโยชน์จาก Social Media ในการสมัครงานแล้ว ผู้สมัครงานเองก็ยังได้ประโยชน์จาก Social Media ขององค์กรไปพร้อมกันด้วย โดยเฉพาะภาพลักษณ์ขององค์กร, การสื่อสารขององค์กร, วิสัยทัศน์ขององค์กร, ตลอดจนวัฒนธรรมองค์กรเบื้องต้น ซึ่งผู้สมัครสามารถพิจารณาได้ว่าวัฒนธรรมองค์กรนั้นๆ เหมาะกับตัวเองหรือไม่ หรือเป็นภาพลักษณ์องค์กรที่เราชอบหรือเปล่า

+ ลดช่องว่างระหว่างองค์กรและผู้สมัครงาน : การหางานผ่านทาง Social Media นั้นแตกต่างจากหางานเว็บไซต์ตรงที่สามารถสื่อสารสองทางได้ ผู้สมัครงานสามารถสื่อสารกับฝ่าย HR ได้โดยตรง สอบถามข้อมูลได้รวดเร็ว มีปฎิกิริยาระหว่างกัน ทำให้ระยะห่างระหว่างกันลดลง ผู้สมัครรู้สึกใกล้ชิดกับองค์กรได้มากขึ้น ในขณะที่องค์กรก็สามารถสื่อสารกับผู้สมัครงานได้อย่างตรงจุดประสงค์ เรียนรู้กันได้ง่ายขึ้น

ใช้ Chatbot ให้เป็นประโยชน์
Chatbot คือ Call Center สมองกลที่พร้อมจะตอบคำถามคุณได้ตลอดเวลา เปรียบเสมือน FAQ หรือ Q&A ที่มีการโต้ตอบแบบสื่อสารสองทาง ปัจจุบัน Chatbot นิยมใช้ในเรื่องการบริการและการตลาดเป็นอย่างมาก หากเป็นองค์กรใหญ่ฝ่าย HR เองก็สามารถใช้ Chatbot ให้เป็นประโยชน์เพื่อตอบปัญหาเบื้องต้นให้กับผู้สมัครได้อย่างอัตโนมัติ ซึ่งการที่ฝ่าย HR ใส่ใจตรงจุดนี้ไมว่าจะเป็น Chatbot หรือ Q&A ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสรรหาบุคคลากรได้ดียิ่งขึ้นด้วย

โอกาสที่ฝ่าย HR จะใช้ Social Media ให้เป็นประโยชน์

การสรรหาพนักงานผ่าน Social Media

ใช้ค้นหาผู้สมัคร

  • ฝ่าย HR สามารถโพสท์บทความการรับสมัครงานลงบน Social Media, Website หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ ได้ ทำให้ผู้สนใจสมัครงานมีโอกาสเข้ามาดูได้มากขึ้น เพราะสื่อแพร่หลายและกระจายในวงกว้าง นอกจากนี้ยังสามารถใช้การโฆษณาเพื่อกระตุ้นให้การสื่อสารเกิดประสิทธิภาพได้มากขึ้นอีกด้วย

ใช้เมื่อมีการคัดเลือกผู้สมัคร

  • ฝ่าย HR สามารถใช้ Social Media ในการตรวสอบและทำความรู้จักกับผู้สมัครเบื้องต้นได้ ทั้งจากลักษณะการใช้งาน Social Media ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร ตลอดจนความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกับคนอื่นๆ

ใช้สร้างภาพลักษณ์องค์กร

  • ฝ่าย HR สามารถเผยแพร่ภาพลักษณ์ตลอดจนความสำเร็จขององค์กรในด้านต่างๆ ผ่าน Social Media ได้ รวมถึงเผยแพร่กระบวนการในการพัฒนาบุคคลากร อาทิ การอบรมต่างๆ เพื่อให้คนภายนอกสามารถรับรู้ภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร และอยากที่จะมาร่วมงานด้วย
  • หลายองค์กรมีการจัดกิจกรรมด้าน CSR หรือกิจกรรมด้านรับผิดชอบต่อสังคม ทางองค์กรก็สามารถใช้ Social Media เผยแพร่ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรได้เช่นกัน และทำให้คนสนใจหรือสนับสนุนองค์กรได้ และพร้อมจะร่วมงานเมื่อมีการประกาศสรรหาบุคคลากร

ตัวอย่างองค์กรในไทยที่มีการใช้ Social Media ในกระบวนการรับสมัครงานที่มีประสิทธิภาพ

การสรรหาพนักงานผ่าน Social Media

+ Central Group +

เซ็นทรัลเริ่มขยายธุรกิจศูนย์การค้าแบรนด์ไทยไปในระดับโลกแล้ว ทั้งยังมีธุรกิจในเครือมากมาย ด้วยลักษณะของธุรกิจทำให้ต้องการสรรหาบุคคลากรจำนวนมาก และตลอดเวลา นั่นทำให้ฝ่าย HR ของเซ็นทรัลมีการปรับตัวและสื่อสารตลอดเวลาเช่นกัน องค์กรนี้เป็นหนึ่งในองค์กรของไทยที่มีการใช้ประโยชน์จาก LinkedIn ได้ยอดเยี่ยม ตั้งแต่การโพสท์เพื่อสร้างภาพลักษณ์องค์กร ไปจนถึงการโพสท์รับสมัครงาน และสร้างเครือข่ายงานที่ดี ทั้งยังมีการคัดสรรที่เป็นระบบ เหมาะสมกับแต่ละระดับงานด้วย รวมไปถึงการใช้ Facebook สื่อสารองค์กรในทุกรูปแบบ ตั้งแต่ Cooperate Information, Promotion ไปจนถึงประกาศรับสมัครงาน

+ DTAC +

นอกจากเรื่องการเป็นหนึ่งในยักษ์ด้านการสื่อสารรายใหญ่ของไทย หลายคนรู้ดีว่า DTAC เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนธุรกิจ Startup อย่างจริงจัง สร้าง Brand Royalty ให้กับคนรุ่นใหม่ได้ดี รวมถึงการพัฒนาองค์กรให้มีความสนุก น่าทำงานด้วย ในรูปแบบเดียวกับ Google และ Facebook ทำให้กลายเป็นองค์กรที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานด้วยอันดับต้นๆ ของประเทศ ด้วยความที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี DTAC ก็ใช้ Social Media ในเรื่องการรับสมัครงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการสร้างโปรไฟล์และให้ความสำคัญกับการประกาศงานใน LinkedIn และให้โอกาสกับคนกลุ่มที่ใช้เทคโนลีนี้สมัครงานสูงด้วย

+ Tencent +

ยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีของจีนที่ประสบความสำเร็จระดับโลก ในไทยเอง Tencent เป็นเจ้าของ Online Media ชื่อดังอย่าง Snook! และ Music Portal ชื่อดังอย่าง Joox ที่เป็นขวัญใจของคนรุ่นใหม่ ฝ่ายบุคคลของ Tencent สามารถใช้ LinkedIn ในการสรรหาบุคคลากรได้ดี และเป็นการสรรหาแบบทั่วโลกพร้อมกัน โดยทุกคนสามารถเลือกงานในประเทศที่ตนเองสนใจด้วย รวมถึงประเทศไทย ทำให้ Tencent มีตัวเลือกมากขึ้น มีโอกาสที่จะได้คนเก่งๆ มาร่วมงานมากขึ้น ในส่วนของเว็บไซต์ Tencent เมืองไทยเอง ก็มีการประกาศรับสมัครงานที่เป็นกิจลักษณะ ให้รายละเอียดชัดเจน และสามารถสมัครงานได้โดยตรงด้วย

+ PRIMAL +

ปัจจุบันเมืองไทยมี Digital Agency เกิดขึ้นเยอะมาก และมักมีคนรุ่นใหม่เป็นเจ้าของกิจการ ซึ่ง Digital Agency มักจะเป็นองค์กรที่ใช้ Social Media ในการรับสมัครงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ประกาศรับสมัครงานเฉพาะใน Facebook ของตัวเอง, การสร้างเครือข่ายใน LinkedIn, ไปจนถึงการมีหัวข้อ Career/Jobs เป็นหนึ่งในเมนูหลักของเว็บไซต์บริษัท สำหรับ Digital Agency ที่ดูมาแรงที่สุดก็เห็นจะเป็น PRIMAL บริษัทรุ่นใหม่ที่ได้รับรางวัลการันตีมากมายในเมืองไทย รวมถึงรางวัลใหญ่อย่าง Agency of the year และ Best Digital Marketing Agency ด้วย นอกจากจะเผยแพร่ VDO สภาพแวดล้อมของออฟฟิศ, วิถีชีวิตการทำงานแบบคนยุคใหม่, ซึ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์องค์กรแบบคนรุ่นใหม่แล้ว ทาง Primal ก็ใช้ Social Media ได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา รวมถึงใช้ LinkedIn ในการรับสมัครงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีการเคลื่อนไหวสม่ำเสมอ และมี Feedback ที่รวดเร็ว

+ Traveloka +

Travel Business Platform จากอินโดนีเซียที่ถือเป็น Startup ระดับ Unicorn ของ South East Asia นี้มีสำนักงานในเมืองไทยด้วย ด้วยความที่เป็นบริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีเป็นหลักทำให้องค์กรนี้สามารถใช้ Social Media ได้อย่างเป็นประโยชน์มาก หากใครติดตามองค์กรนี้จะเห็นได้ว่าเป็นองค์กรคนรุ่นใหม่ที่เผยแพร่ Corporate Image ตลอดจนวัฒนธรรมองค์กรผ่าน Social Media อย่างสม่ำเสมอ เพื่อดึงดูดคนที่มีไลฟ์สไตล์ลักษณะเดียวกันมาร่วมงานด้วย นอกจากนี้ Traveloka ยังเป็นองค์กรที่ใช้ LinkedIn ได้มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การสร้างภาพลักษณ์องค์กรไปจนถึงการสมัครงานที่เป็นระบบสากล ผู้สมัครสามารถเลือกทำงานในประเทศที่ตนอยากร่วมงานได้

บทสรุป

การสรรหาพนักงานผ่าน Social Media

  • โลกที่พัฒนาอย่างว่องไวทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับการสมัครงานที่ปัจจุบันฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) จะต้องตามเทคโนโลยีให้ทัน การปรับทัศนคติใหม่ที่ว่า Social Media ไม่ใช่เทคโนโลยีไร้สาระ แต่กลับเป็นเครื่องมือที่ช่วยประโยชน์ได้อย่างมหาศาล อาจทำให้บริษัทไม่สูญเสียประโยชน์ก้อนใหญ่ได้
  • การดู Resume หรือ CV แค่ในกระดาษนั้นอาจทำให้คุณรู้จักผู้สมัครงานในแง่มุมเดียว ถ้าใช้ Social Media ให้เกิดประโยชน์อาจทำให้เรารู้จักผู้สมัครได้หลากหลายมิติมากขึ้น และคัดกรองผู้สมัครได้ดียิ่งขึ้น
  • การประกาศรับสมัครงานในยุคนี้ฝ่าย HR เองไม่ใช่เป็นฝ่ายตั้งรับแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนในสมัยก่อน ไม่ต้องประกาศผ่านหนังสือพิมพ์ รอผู้สมัครจากอีเมล์ หรือจากเอเจนท์หางานเท่านั้น แต่ฝ่าย HR สามารถใช้ Social Media เพื่อควบคุมการประกาศงานตลอดจนรับสมัครงานเองได้ทั้งหมด ทำให้กระบวนการรวดเร็ว ว่องไว และสื่อสารกับผู้สมัครได้โดยตรง

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง