Search
Close this search box.

Q&A of the Month: คำถามเด็ด HR ประจำเดือนตุลาคม 2024

Q&A of the Month: คำถามเด็ด HR ประจำเดือนตุลาคม 2024

ถึงเวลาสรุป Q&A Of the Month แล้ว สำหรับเดือนตุลาคม 2024 ที่ผ่านมา มีผู้เข้ามาตั้งคำถามใน HR Community หรือเว็บบอร์ดถาม-ตอบ (Q&A Forum) ของ HREX เยอะทีเดียว แต่นี่คือ 5 คำถามไหนที่น่าสนใจที่สุดของเดือน

มาดูกันดีกว่าว่า HR Expert ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลแต่ละท่าน มาแสดงทัศนะที่มีประโยชน์ เชื่อถือ อ้างอิง และนำไปปรับใช้จริงได้ เป็นวิทยาทานแก่คนทำงาน HR ทุกคนอย่างไรบ้าง

Q1 : ทำไมพนักงานไม่ค่อยฟัง HR เลย

Q&A of the Month: คำถามเด็ด HR ประจำเดือนตุลาคม 2024

เป็น HR ในโรงงานนะคะ เวลาเตือน แนะนำอะไรพนักงานไป เขาไม่ค่อยฟังเลย มีข้อแนะนำอะไรไหม ว่าควรสื่อสารอย่างไร

A: ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

ให้ HR พิจารณาตัวเองก่อน ว่ามีคุณลักษณะที่เหมาะสมกับงาน HR หรือไม่ ขอแนะนำโดยย่อค่ะ

  1. ภาวะผู้นำ
  2. ความสามารถในการสื่อสาร
  3. ความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจ HR ต้องสร้าง Trust
  4. มนุษยสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ทุกฝ่ายทุกแผนก
  5. เป็นผู้สรรค์สร้างกิจกรรมต่าง ๆ ให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน
  6. เป็นที่พึ่งให้พนักงานได้ สามารถให้คำปรึกษาหารือได้
  7. มีอัธยาศัยดี มีความถ่อมตนและให้เกียรติทุกคน
  8. เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับพนักงาน ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว

ข้อสังเกตจากคำถาม : การตักเตือนพนักงานเป็นหน้าที่โดยตรงของผู้บังคับบัญชาในสายงานนั้น ๆ กรณีที่ HR ตักเตือนโดยตรง ไม่ถูกต้อง

หากต้องตักเตือนก็ขอให้มีหัวหน้าในสายงานนั้น ๆ อยู่ด้วย อย่าลืมว่า HR for non HR

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community 

Q2 : ก่อนดูแลสุขภาพจิตพนักงาน HR ควรดูแลสุขภาพจิตตัวเองก่อนไหม ?

Q&A of the Month: คำถามเด็ด HR ประจำเดือนตุลาคม 2024

เข้าใจว่าเทรนด์สุขภาพจิตกำลังมีความสำคัญมากขึ้น แต่งาน HR เองก็มีความเครียดและกดดันไม่ต่างกัน 

มีข้อแนะนำอะไรให้ดูแลตัวเองก่อนบ้าง ก่อนไปช่วยคนอื่น

A: ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

งานทุกประเภทมีความเครียดแตกต่างกันค่ะ ขึ้นอยู่กับทัศนคติของบุคคลนั้น ๆ วิธีจัดการกับความเครียดที่ใช้ได้จริง 

(เป็นประสบการณ์ตรงของผู้ตอบค่ะ….ในอดีตเคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการเขต HR ต้องดูแลพนักงานเกือบ 5,000 คน)

  1. ให้คิดบวก คิดบวก ท่องไว้ค่ะ งานหนักไม่เคยฆ่าคน
  2. ต้องถามตัวเองว่ามีกิจกรรมใด ๆ หรืองานอดิเรกที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด เช่น ออกกำลังกายหลังเลิกงาน เต้นแอโรบิค เต้นรำ ทำอาหาร ปลูกต้นไม้  ฟังเพลง เล่นดนตรี พบปะเพื่อนฝูงที่สามารถพูดคุยกันได้  งานคืองาน พักคือพัก แยกหัวสมองให้ได้
  3. ให้อยู่กับคนที่มีพลังบวกเยอะ ๆ 
  4. ฝึกสมาธิ ให้จิตใจนิ่งๆ สร้างพลังจิตให้เข้มแข็ง เพื่อลุยงานในวันรุ่งขึ้น
  5. ท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และต่างประเทศ 
  6. กินอาหารอร่อย ๆ ให้มีความสุขกับการกิน

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community

Q3 : การลดวันหยุดตามประเพณีแบบไม่ผิดกฎหมาย

Q&A of the Month: คำถามเด็ด HR ประจำเดือนตุลาคม 2024

ตอนนี้บริษัท มีการประกาศวันหยุดประจำปี 15 วัน วันลาพักร้อน 8 วัน แต่ด้วยต้องการปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องด้วยเรื่องของการส่งงาน บริษัทสามารถลดวันหยุดประจำปีเป็น 13 วัน และวันลาพักร้อนเป็น 6 วัน ขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงานระบุได้หรือไม่

A: วัฒนศักดิ์ วิบูลย์ชัยกุล

ขออนุญาตตอบแยกเป็นสองส่วนนะครับ

  •  บริษัทสามารถลดวันหยุดประจำปีจากเป็น 15 วัน เป็น 13 วัน 

ข้อนี้ต้องดูก่อนครับว่าบริษัทกำหนด จำนวนวัน ของวันหยุดตามประเพณีประจำปี ลงในระเบียบข้อบังคับหรือไม่ หรือเป็นลักษณะประกาศปีต่อปี ถ้าหากบริษัททำการประกาศเป็นลักษณะปีต่อปีก็สามารถลดได้ในปีถัดไป โดยประกาศล่วงหน้า โดยไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพิ่มเติม แต่ขอให้อยู่ในกรอบ 13 วันตามกฎหมายครับ และมีประกาศชัดเจน

กรณีนี้มีเคสตัวอย่างด้วย อาจลองอ่านดูได้ครับทางลิงก์นี้

แต่ถ้าหากลงในระเบียบข้อบังคับในจำนวนวันหยุด 15 วัน แบบนี้จะเป็นการกระทบสภาพการจ้าง ต้องเจรจา และ ทำบันทึกการยอมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างให้พนักงานลงนามเป็นหลักฐานครับ

  • กรณีลดวันลาพักร้อน 8 วัน เป็น 6 วัน

ข้อนี้กระทบสภาพการจ้างโดยตรงครับ ดังนั้นแม้จะอยู่ในกรอบกฎหมายแรงงาน แต่คุณจำเป็นจะต้องมีการพูดคุยกับพนักงานและเจรจาปรับลด ซึ่งอาจจะพิจารณาจ่ายเป็นเงินทดแทนในวันหยุดที่ลดลงก็เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถทำได้ครับ

นอกจากนี้หลังเจรจาตกลงกันได้แล้ว ควรทำบันทึกการยอมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างให้พนักงานลงนามเป็นหลักฐานด้วย

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community 

Q4 : กฎหมายแรงงานไทย ศักดิ์สิทธิ์แค่ไหนกัน ?

Q&A of the Month: คำถามเด็ด HR ประจำเดือนตุลาคม 2024

เข้าใจว่ามีกฎหมายแรงงาน และมีข้อบังคับที่คุ้มครองลูกจ้างหลายข้อ

แต่พอถึงการทำงานจริง ทำไมหลายครั้งนายจ้างกลับเอาเปรียบลูกจ้างตลอด 

โดยเฉพาะเรื่องการทำงานนอกเวลางาน ทั้ง ๆ ที่ตามกฎหมายมีการกำหนดเอาไว้ว่า หากมีการทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวันหรือเกินจากที่ได้มีการตกลงเอาไว้ในสัญญา และทางผู้ประกอบการหรือบริษัทไม่ทำการจ่ายค่า OT หรือค่าทำงานล่วงเวลา ถือว่าผิดกฎหมายแรงงาน 

แต่สุดท้ายพวกนายจ้างก็พร่ำสอนว่า ต้องขยัน ต้องตื่นตัวตลอดเวลา ต้องเสียสละเพื่อองค์กร แล้วจะเจริญเติบโต

สุดท้าย กลับเป็นพวกนายจ้างเองที่ไม่ทำตามที่กฎหมายกำหนด

งง แล้วอย่างนี้ กฎหมายแรงงานไทย ยังศักดิ์สิทธิ์อยู่ไหมนะ ?

A: ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

กฎหมายคุ้มครองแรงงานยังศักดิ์สิทธิ์อยู่เสมอ ขอให้ลูกจ้างและนายจ้างมีความเข้าใจและใช้สิทธิ์ให้ถูกต้อง โดยกฎหมาย ได้กำหนดหน้าที่ของลูกจ้างและนายจ้างไว้อย่างชัดเจน 

กรณีที่ถามมา หากลูกจ้างมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถเรียกร้องให้นายจ้างปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องโดยฝ่าย HR ของบริษัท ต้องมีความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ด้วย 

  1. การทำงานนอกเวลา ในวันทำงานปกติ นายจ้างต้องจ่ายค่า OT 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง
  2. การทำงานนอกเวลา ในวันหยุด นายจ้างต้องจ่ายค่า OT 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง
  3. การทำงานในวันหยุดสำหรับลูกจ้างรายเดือน นายจ้างต้องค่าทำงานในวันหยุด เพิ่มขึ้น 1 เท่า (1 แรง)
  4. การทำงานในวันหยุดสำหรับลูกจ้างรายวัน นายจ้างต้องค่าทำงานในวันหยุด เพิ่มขึ้น 2 เท่า (2 แรง)

โดยปกติทุกบริษัทที่มีพนักงานตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปต้องจัดทำ “ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน” ตามที่ระบุไว้ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หากนายจ้างไม่ปฏิบัติงานถือว่าไม่ถูกต้อง ลูกจ้างสามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งมีอยู่ในทุกจังหวัด

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community 

Q5 : พนักงานในทีมทำผิดกฎแต่ลงโทษไม่ได้เพราะเป็นญาติ

Q&A of the Month: คำถามเด็ด HR ประจำเดือนตุลาคม 2024

พนักงานในทีมทำผิดกฏบริษัท เช่น ออกไปทำธุระส่วนตัวในเวลางาน ไม่สแกนนิ้วแต่ลงใบลงเวลามาให้เซ็น มีหลักฐานแต่ทำอะไรไม่ได้เนื่องจากเป็นญาติผู้บริหาร แบบนี้สามารถทำอย่างไรได้บ้างคะ

A: Poonie HR

กรณีแบบนี้ ผมเรียกว่า Conflict of Interest ในรูปแบบของ การเอื้อผลประโยชน์ให้ครอบครัว หรือญาติมิตร

การให้สิทธิพิเศษหรือให้ความช่วยเหลือครอบครัว ญาติ เพื่อนสนิท อาจเป็นในเรื่องของการจ้างงาน การเลื่อนตำแหน่ง การโอนทรัพย์สิน หรือการเลิกจ้าง ตัวอย่างเช่น การจ้างคนในครอบครัวมาทำงานแต่อาจไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม

การบริหารจัดการเหตุการณ์แบบนี้ ในมุมของ HR ผมจะไม่ชี้ว่าเป็นความผิดให้ผู้บริหารทราบ แต่จะขอหารือแนวทางการบริหารจัดการพนักงานท่านนี้จากผู้บริหารแทนครับ  น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

A: Sahatorn Petvirojchai

สถานการณ์นี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนครับ เนื่องจากมีความเกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ทางครอบครัวของผู้บังคับบัญชา แต่ในมุมของ HR สิ่งสำคัญคือการรักษามาตรฐานและความเท่าเทียมในการจัดการกับปัญหาเรื่องการทำผิดกฎภายในองค์กร เพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเป็นมืออาชีพ

หากกรณีนี้มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับการทำผิดกฎ เราต้องทำตามขั้นตอนการจัดการของบริษัท ซึ่งอาจรวมถึงการเตือนหรือการให้คำปรึกษา โดย HR จะต้องทำการพูดคุยกับผู้บังคับบัญชาและพนักงานเพื่อหาทางแก้ไข และต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อทีมและองค์กร

โดยอาจเริ่มต้นด้วยการพูดคุยกับพนักงานคนนั้นเพื่อทำความเข้าใจและเสนอแนวทางแก้ไข เช่น การให้คำปรึกษาหรือการทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อองค์กรก่อนที่จะพิจารณาถึงมาตรการลงโทษที่หนักขึ้น

พยายามเน้นการพูดคุยด้วยเหตุผลเป็นสิ่งสำคัญครับ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพนักงาน รวมถึงการรักษาความเท่าเทียมในที่ทำงานด้วย

อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community 

ผู้เขียน

Picture of Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง