เดือนกรกฎาคม 2024 กันแล้ว คำถาม HR ยังคงมีเข้ามาเรื่อย ๆ ซึ่งทุกคำถามก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล มาแสดงทัศนะที่มีประโยชน์ เพื่อให้ทุกคนนำไปใช้งานได้จริงเช่นเคย
เดือนที่ผ่านมา มีคำถามไหนที่น่าสนใจบ้าง หาคำตอบได้เลยในบทความนี้
Contents
Q1 : ปัจจุบันมีการนำ AI มาใช้ในงาน HR ด้านใดบ้าง ?
ปัจจุบันมีการนำ AI มาใช้ในงาน HR ด้านใดบ้าง ?
A: โดย สหธร เพชรวิโรจน์ชัย
ได้หลายทางเลยครับ แต่หากแยกตามงานของ HR เท่าที่นึกออกตอนนี้คือ
- การสรรหาและคัดเลือกบุคลากร (Recruitment and Selection)
เช่น เอามาช่วยคัดกรองใบสมัครและเรซูเม่ เพื่อหาผู้สมัครที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการ วิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารสมัครงานและช่วยจัดอันดับผู้สมัครตามความเหมาะสม นอกจากนี้ AI ยังสามารถช่วยในการสัมภาษณ์เบื้องต้นผ่านแชทบอทหรือวิดีโอเพื่อประเมินความสามารถและความเหมาะสมของผู้สมัครได้
- การพัฒนาและฝึกอบรมพนักงาน (Employee Development and Training)
มี AI ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและแนะนำโปรแกรมการฝึกอบรมที่เหมาะสมสำหรับพนักงานแต่ละคนได้ครับ ซึ่งช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แถมยังมีการใช้ AI ในการสร้างคอนเทนต์การเรียนรู้ที่ปรับแต่งตามระดับความรู้และความต้องการของพนักงานได้
- การประเมินผลการปฏิบัติงาน (Performance Evaluation)
AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจากการทำงานประจำวันของพนักงาน เช่น ผลงาน การเข้าร่วมประชุม หรือการมีส่วนร่วมในโครงการต่าง ๆ เพื่อให้ข้อมูลในการประเมินผลการทำงานเป็นไปอย่างเที่ยงตรงและยุติธรรม นอกจากนี้ AI ยังช่วยในการวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์การพัฒนาและเส้นทางอาชีพของพนักงานได้ด้วย
- การจัดการประสบการณ์พนักงาน (Employee Experience Management)
AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสำรวจและการสื่อสารภายในองค์กร เพื่อประเมินและปรับปรุงประสบการณ์ของพนักงานในที่ทำงาน ช่วยให้องค์กรสามารถตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาของพนักงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
- การคาดการณ์และการวางแผนกำลังคน (Workforce Planning and Forecasting)
AI ยังสามารถวิเคราะห์แนวโน้มของตลาดแรงงานและข้อมูลภายในองค์กรเพื่อช่วยในการวางแผนกำลังคน ทั้งในด้านการคาดการณ์ความต้องการบุคลากรในอนาคต การวิเคราะห์การเลื่อนตำแหน่ง หรือการปรับโครงสร้างองค์กร
- การจัดการค่าตอบแทนและสวัสดิการ (Compensation and Benefits Management)
AI ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อกำหนดค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับพนักงาน โดยคำนึงถึงข้อมูลตลาด แรงงานภายในองค์กร และประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน เพื่อให้การจัดการค่าตอบแทนเป็นไปอย่างยุติธรรมและแข่งขันได้ในตลาด
การนำ AI มาใช้ในงาน HR ไม่เพียงแต่ช่วยลดภาระงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ แต่ยังช่วยเพิ่มความแม่นยำและประสิทธิภาพในการตัดสินใจ ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งองค์กรและพนักงานในระยะยาวครับ
สรุปก็คือ AI จะเข้ามช่วยงาน HR ลดภาระงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ และยังช่วยเพิ่มความแม่นยำและประสิทธิภาพในการตัดสินใจ ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งองค์กรและพนักงานในระยะยาวครับ
👉 อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community
Q2 : ทำไม HR Developer ต้องเข้าใจลักษณะการทํางานของพนักงานอายุต่างกันด้วยคะ ?
คือเราอยากรู้ว่าทำไมนักทรัพยากรมนุษย์จึงต้องเข้าใจกับลักษณะการทำงานของพนักงานที่มีอายุต่างกัน เพราะอะไรคะ
A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร
จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารงาน HR ค่ะ การที่ HR มีความเข้าใจเรื่อง Generation Gap
- สามารถวิเคราะห์และมีความเข้าใจในลักษณะนิสัยของคนในวัยที่แตกต่างกัน
- ลดความผิดพลาดในการสื่อสาร
- เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
- สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในรูปแบบที่หลากหลาย เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย
👉 อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community
Q3 : ค่าสวัสดิการต่าง ๆ ที่จ่ายให้พร้อมเงินเดือน คิดแบบรายวันได้หรือไม่ ?
ผมอยากปรึกษาในส่วนของการคำนวนค่าตอบแทน ที่เป็นลักษณะสวัสดิการที่พนักงานได้รับรายเดือน เช่น ค่าบ้าน ค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์ ในกรณีที่พนักงานทำงานไม่ครบเดือน หรือ ลาออกกลางเดือน ส่วนนี้ HR สามารถคิดเป็นรายวัน และจ่ายตามจำนวนวันที่พนักงานทำงาน หรือต้องจ่ายแบบเต็มจำนวนครับ
A: โดย HR on the Rocks
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ไม่ได้กำหนดเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการจ่ายสวัสดิการนอกเหนือจากค่าจ้างดังนั้นนายจ้างมีอิสระในการกำหนดนโยบายสวัสดิการ ตราบใดที่ไม่ขัดต่อกฎหมายแรงงานและไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ
แนวทางการปฏิบัติ:
- สามารถกำหนดนโยบายการจ่ายสวัสดิการตามสัดส่วนวันทำงานจริงได้
- ควรระบุเงื่อนไขนี้ให้ชัดเจนในสัญญาจ้างหรือข้อบังคับการทำงาน
- ต้องใช้นโยบายนี้อย่างสม่ำเสมอกับพนักงานทุกคนในตำแหน่งหรือระดับเดียวกัน
- การคำนวณควรสอดคล้องกับการนับวันตาม มาตรา 68 คือ 1 เดือนมี 30 วัน
- ตัวอย่าง สูตรการคำนวณ: (มูลค่าสวัสดิการต่อเดือน / 30) x จำนวนวันที่ทำงานจริง
- อาจใช้หลักการ No work no pay เป็นการประกอบได้
- ตรวจสอบสัญญาจ้างงานว่าระบุเรื่องการจ่ายสวัสดิการไว้เช่นไร
โดยหลักทัวไป ในกรณีที่พนักงานทำงานไม่ครบเดือน หรือ ลาออกกลางเดือน สวัสดิการนั้นก็จะสิ้นสภาพตามพนักงานไป
เช่น พนักงานได้ค่าเช่าบ้าน เดือนละ 6000 บาท ปรากฎ พนักงานลาออกและพ้นสภาพ วันที่ 16 ดังนั้น เงินเดือน ท่านจ่ายถึงวันที่ 15 โดยการคำนวณแบบ prorate ดังนั้นถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ค่าเช่าบ้านก็ต้องคำนวณเป็น prorate เช่นกันตามสูตรข้างต้น
= (6000/30)*15 = 3000 เป็นต้น กรณีนี้เป็นกรณีที่จ่ายเป็นตัวเงินให้แก่พนักงาน แต่หากเป็นการจ่าย ให้แก่ผู้ใช้เช่า ต้องไปดูสัญญาเช่าอีกครั้ง
ขอให้โชคดีครับ
👉 อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community
Q4 : จัดการพนักงานที่ ลางานบ่อย โดยเปลี่ยนสภาพการจ้าง
บริษัทจ้างพนักงานเป็นรายเดือน แต่พนักงานลางานบ่อย โดยอ้างว่ามีเหตุจำเป็นส่วนตัวต่าง ๆ นา ๆ เช่น จ้างพนักงานรายเดือน จัดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ 1วัน แต่พนักงานลาเพิ่ม มาทำงานรวมทั้งเดือน 19 กะ
ถ้าในสัญญาจ้างงานได้ระบุชัดเจนว่า หากลาเกินกว่า 5 วัน ในเดือนนั้น ๆ พนักงานจะถูกปรับลงจากรายเดือนเป็นรายวัน และพนักงานเซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้ว เมื่อบังคับใช้จะผิดกฎหมายข้อไหนไหมคะ
ขอบคุณผู้ให้ความรู้ทุกท่านค่ะ
A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร
ขอชี้แจงก่อนตอบคำถามค่ะ ให้แยกเป็น 2 กรณี
- พนักงานประจำรายเดือน จะได้รับสิทธิการลาตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของบริษัท และเป็นไปตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด
กรณีลาเกินกำหนด บริษัทหักค่าจ้างได้ตามจำนวนวันที่ลาเกิน
- พนักงานประจำรายวัน จะได้รับค่าจ้างเฉพาะวันที่มาทำงาน โดยได้รับสิทธิวันหยุดพักร้อนประจำปี และวันหยุดประเพณี ตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด
จากคำถาม : ถ้าในสัญญาจ้างงานได้ระบุชัดเจนว่า หาก ลาเกินกว่า 5 วัน ในเดือนนั้น ๆ พนักงานจะถูกปรับลงจากรายเดือนเป็นรายวัน และพนักงานเซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้ว เมื่อบังคับใช้จะผิดกฎหมายข้อไหนไหมคะ
คำตอบ
- การปรับจากรายเดือนเป็นรายวัน เป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้าง สามารถทำได้แต่แนะนำให้จัดทำหนังสือการเปลี่ยนสภาพการจ้างแนบท้ายสัญญา ไม่แนะนำให้ระบุในสัญญาจ้าง จะเป็นปัญหาภายหลังเช่น กรณีเกิดข้อเรียกร้องต่างๆ
- พนักงานที่ลางานบ่อย ๆ ให้ดูเรื่องผลงานประกอบ หากผลงานขาดประสิทธิภาพ ให้พิจารณาด้วยว่าควรจะให้พ้นสภาพการทำงานหรือไม่
พนักงานมีเหตุผลความจำเป็นอะไรจึงลางานบ่อย ๆ ระยะยาวจะเป็นผลเสียต่อบริษัท และเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อเพื่อนพนักงาน
👉 อ่านคำตอบเพิ่มเติมใน HR Community
Q5 : การแต่งตั้งคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการ ควรมีลักษณะการตัดตั้งในรูปแบบใด มีการกำหนดแบบเป็นมาตรฐานหรือไม่
การแต่งตั้งคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการ ควรมีลักษณะการตัดตั้งในรูปแบบใด มีการกำหนดแบบเป็นมาตรฐานหรือไม่
A: โดย HR on the Rocks
- นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป จะต้องจัดให้มี คณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายลูกจ้างแต่เพียงฝ่ายเดียวอย่างน้อย 5 คน ตาม พรบ คุ้มครองแรงงาน 2541 ม.96 (อาศัยการเลือกตั้ง)
- คณะนี้มีหน้าที่ ตาม พรบ คุ้มครองแรงงาน 2541 ม.97
(๑) ร่วมหารือกับนายจ้างเพื่อจัดสวัสดิการแก่ลูกจ้าง
(๒) ให้คําปรึกษาหารือและเสนอแนะความเห็นแก่นายจ้างในการจัดสวัสดิการสําหรับลูกจ้าง
(๓) ตรวจตรา ควบคุม ดูแล การจัดสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้แก่ลูกจ้าง
(๔) เสนอข้อคิดเห็น และแนวทางในการจัดสวัสดิการที่เป็นประโยชน์สําหรับลูกจ้างต่อคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน
- คณะนี้ต้องประชุมกับนายจ้ายอย่างน้อย 3 เดือน ต่อ 1 ครั้ง ตาม พรบ คุ้มครองแรงงาน 2541 ม.98
- การจัดตั้งคณะนี้ต้องปฎิบัติตาม “ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ” ซึ่งจะมีบอกกรรมวิธีในการสรรหาผู้สมัคร การลงคะแนน การนับคะแนน ตลอดจนการประกาศผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง และรวมถึงการสำเนาเอกสารทุกอย่างส่งให้พนักงานตรวจแรงงานภายในระยะเวลาเท่าไร่ ก็มีระบุไว้ครับ