Search
Close this search box.

Winter is Coming ทำงานช่วงหน้าหนาว / อากาศหนาวอย่างไรให้มีความสุข

HIGHLIGHT

  • รู้หรือไม่ อากาศหนาวเย็น ไม่ได้ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ตรงกันข้าม การทำงานหน้าหนาว (Winter) ที่อากาศเย็น ยิ่งทำให้พนักงานทำงานดีขึ้นเสียอีก
  • สำนักงานบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา แนะนำว่า การปรับอุณหภูมิสถานที่ทำงานให้อยู่ระหว่าง 68-76 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 20-25 องศาเซลเซียส ที่มีอากาศหนาวเย็นกำลังดี เป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการทำงานที่สุด
  • ในช่วงหน้าหนาว (Winter) HR ต้องเน้นย้ำพนักงานให้ทำงานด้วยความปลอดภัย และเตรียมมาตรการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย ป้องกันปัญหาหากพนักงานเกิดป่วยขึ้นมาสักคน งานต่าง ๆ จะได้เดินหน้าต่อไปได้
  • ในหลายองค์กร HR จะจับผิดการลาป่วยของพนักงานช่วงหน้าหนาว (Winter) ว่าป่วยจริงหรือไม่ แต่บางองค์กรให้อิสระในการลา ขอเพียงรับผิดชอบงานครบถ้วน บางองค์กรอาจอนุญาตให้ Work From Home ช่วงอากาศหนาวได้ ทั้งนี้ HR ต้องพิจารณาว่า แนวทางใดเหมาะสมกับการทำงานและทำให้องค์กรได้รับประโยชน์สูงสุดกว่ากัน

Winter is Coming เมื่ออากาศวันนี้เป็นใจ ทำงานหน้าหนาวอย่างไรให้มีความสุข

ประเทศโซนอากาศร้อนอย่างไทย มักจะอิจฉาหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกที่มีอากาศหนาวเย็นสบายไปจนถึงขั้นหิมะตก เพราะช่วงเวลาเหล่านี้เกิดขึ้นไม่บ่อย โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ที่ถ้าพยากรณ์อากาศบอกว่า จะมีอุณหภูมิเย็นลงที่ 24-25 องศา เพียง 20 วันต่อปี แล้วหนาวจริงแค่ครึ่งเดียวก็ถือว่าหรูแล้ว แถมบางปียังอาจจะไม่ได้หนาวถึงขั้นต้องเอาเสื้อกันหนาวมาใส่ด้วย

แต่รู้หรือไม่ว่า พออากาศหนาวเย็นขึ้นมาจริง ๆ มันกลับเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำงานมากทีเดียว ไม่ว่าตอนที่อ่านบทความนี้อยู่ จะเป็นช่วงที่อากาศหนาวเย็นสบาย หรืออากาศร้อนระอุแล้วก็ตาม แต่ HREX.asia ขอเชิญชวนให้ดูว่า เมื่อหน้าหนาวมาเยือน HR ควรทำอย่างไรถึงจะส่งเสริมให้ทุกคนในองค์กรทำงานอย่างมีความสุขที่สุด

หน้าหนาว (Winter) อากาศหนาวทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงจริงหรือไม่

Winter is Coming เมื่ออากาศวันนี้เป็นใจ ทำงานหน้าหนาวอย่างไรให้มีความสุข

เคยหรือไม่ เวลาตื่นมาแล้วอากาศหนาว รู้สึกไม่ค่อยอยากไปทำงาน ไม่อยากแม้กระทั่งเข้าห้องน้ำ แต่อยากนอนอยู่บนเตียง ห่มผ้าอุ่น ๆ จนหมดวันแทน ความรู้สึกเหล่านั้นต่อให้อากาศไม่หนาวก็เกิดขึ้นบ่อยอยู่แล้ว แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่อากาศหนาวเย็นผิดปกติ หลายคนก็มักจะถือโอกาสนี้อู้งาน และมองว่ามันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงมากทีเดียว

อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยพบว่า จริงอยู่ว่าคนอาจขี้เกียจตื่นเช้า เพราะอยากนอนสัมผัสอากาศเย็น ๆ แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ได้ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานน้อยลงแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ยิ่งอากาศเย็น ยิ่งทำให้พนักงานทำงานดีมากขึ้นเสียอย่างนั้น 

Harvard Business School พบว่า การทำงานท่ามกลางสภาพอากาศแย่ ๆ  (ฝนตก, หิมะตก) จะช่วยให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเมื่อสภาพอากาศไม่เป็นใจ สมองจะเล่นเกมจิตวิทยา ว่าในเมื่อเราไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมข้างนอกได้ ก็ให้หันมาจดจ่อกับงานตรงหน้ามากกว่าแทน

สอดคล้องกับ CareerBuilder ที่เก็บข้อมูลจากพนักงานประจำในสหรัฐอเมริกา 4,285 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 22% ตอบตรงกันว่า การทำงานในที่ทำงานร้อน ๆ จะทำให้พนักงานมีสมาธิทำงานน้อยกว่าเวลาทำงานในสภาพอากาศหนาวเย็น

อากาศหนาว (Winter) หรือร้อนดีกว่ากัน? ปรับอุณหภูมิที่ใช่ให้เหมาะกับการทำงาน

Winter is Coming เมื่ออากาศวันนี้เป็นใจ ทำงานหน้าหนาวอย่างไรให้มีความสุข

อากาศหนาวเกินไป พนักงานไม่ชอบ แต่พออากาศร้อนเกินไป คนทำงานทั้งหลายก็ไม่ชอบอีก แล้วอุณหภูมิเท่าไหร่กันแน่ ถึงจะเหมาะกับการทำงานของมนุษย์

หากยึดตาม U.S. Occupational Safety and Health Administration (OSHA) หรือ สำนักงานบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ที่ให้ขอบเขตกว้างๆ ไว้ว่า การปรับอุณหภูมิสถานที่ทำงานให้อยู่ระหว่าง 68-76 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 20-25 องศาเซลเซียส เหมาะสมต่อการทำงานมากที่สุดแล้ว

ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าออฟฟิศใหญ่ ๆ ทั่วโลก จะตั้งอุณหภูมิในออฟฟิศตามนี้เป๊ะ ๆ มาดูกันดีกว่าว่า ผู้บริหารใหญ่ของหลายบริษัทกำหนดอุณหภูมิในออฟฟิศไว้ที่เท่าไหร่กันบ้าง

  • มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก บอกว่า เขาตั้งอุณหภูมิในออฟฟิศของ Meta ไว้ที่ 59 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 15 องศาเซลเซียส
  • ไมเคิล บริกกส์ ผู้ก่อตั้ง Briggs Acquisitions เล่าว่าที่ออฟฟิศ เขาตั้งใจตั้งอุณหภูมิให้อยู่ที่ 65 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 18.3 องศาเซลเซียส ด้วยความคิดว่าอุณหภูมิเท่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และมีสมาธิในการทำงานมากขึ้น 
  • ฌอน พัวร์ ผู้ก่อตั้ง SellMax ก็เห็นด้วยว่า การตั้งอุณหภูมิในออฟฟิศให้เย็นเข้าไว้ จะช่วยให้พนักงานมีโฟกัสในการทำงานมากกว่าให้ทำงานในอุณหภูมิร้อน ๆ โดยตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 69 องศาฟาเรนไฮต์ หรือประมาณ 21-22 องศาเซลเซียส
  • จาเร็ด ไวต์ซ CEO ของ United Capital Source เล่าว่า ที่สำนักงานของเขากำหนดอุณหภูมิที่ 73 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งอาจดูสูงกว่าใคร แต่จริง ๆ แล้วคิดเป็น 22 องศาเซลเซียสเท่านั้น โดยหากใครคิดว่าหนาวเกินไปก็สามารถเอาเสื้อกันหนาวมาใส่ได้ หรือหากใครรู้สึกว่าร้อนเกิน ก็อาจเอาพัดลมมาตั้งไว้ให้อากาศรอบตัวเย็นลงก็ไม่ว่ากัน

เน้นย้ำมาตรการความปลอดภัย ช่วยให้ทำงานกลางอากาศหนาว (Winter) อย่างมีความสุข

Winter is Coming เมื่ออากาศวันนี้เป็นใจ ทำงานหน้าหนาวอย่างไรให้มีความสุข

ในต่างประเทศ การทำงานหน้าหนาวแม้จะมาพร้อมความสุข แต่ก็เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายทั้งจากหิมะตก และจากแรงลมที่พัดแรงอย่างเลี่ยงไม่ได้ หากต้องทำงานในโรงงาน ทำงานกับเครื่องจักร หรือทำงานกับสารเคมีที่อันตรายอยู่แล้ว ก็จะยิ่งทวีความอันตรายมากขึ้นไปอีก

แต่หากต้องทำงานท่ามกลางสภาพอากาศเช่นนี้จริง ๆ HR สามารถยึดตามมารตรการเหล่านี้เป็นคัมภีร์โดยคร่าว ได้ เพื่อให้พนักงานในองค์กรทำงานอย่างปลอดภัย และมีความสุขมากยิ่งขึ้น

1. เน้นย้ำความสำคัญของการทำงานอย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะทำงานตอนไหน ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ แต่ยิ่งอากาศหนาว ที่จะส่งผลให้ร่างกายหนาวสั่น มีอาการป่วยไข้ได้ง่ายกว่า และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสายงานที่ต้องทำงานกับเครื่องจักร ทำงานในโรงงาน ทำงานกับสารเคมี เป็นต้น

HR จำเป็นต้องเน้นย้ำความสำคัญของการทำงานอย่างปลอดภัยยิ่งกว่าเดิม และในช่วงนี้อาจสามารถจัดอบรมความปลอดภัยให้พนักงานในองค์กรได้เช่นกัน

2. ปรับแก้กฎการทำงานให้สอดคล้องกับการทำงานจริง กฎของบริษัทมีหลายข้อ แต่ไม่ใช่ทุกข้อจะสามารถบังคับใช้ได้ในทุกสถานการณ์ ในช่วงที่อากาศหนาวเย็น HR ควรถือโอกาสนี้ปรับแก้กฎข้อบังคับในการทำงานเสียใหม่ ดูว่ามีอะไรที่สามารถทำได้ในช่วงอากาศหนาว ซึ่งจะช่วยให้ประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้นตามมา 

3. แจ้งพนักงานให้รับมืออากาศที่เปลี่ยนแปลงก่อนเวลา แม้การพยากรณ์อากาศอาจให้ผลไม่ตรงกับความเป็นจริง และบ่อยครั้งที่มีการพยากรณ์ว่า อากาศจะหนาวในช่วงนั้นช่วงนี้ กลับไม่ได้หนาวอย่างที่ทำนาย แต่ก็เป็นหน้าที่ของ HR ที่จำเป็นต้องแจ้งพนักงาน หรือเน้นย้ำเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเสมอ ไม่เพียงแค่ในตอนหน้าหนาวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหน้าร้อน หน้าฝน และในช่วงช่วงที่อาจมีภัยพิบัติอื่น ๆ เกิดขึ้น เช่น การกลับมาของฝุ่น PM2.5 เป็นต้น 

อย่างน้อยการเตือนของ HR จะช่วยให้พนักงานเตรียมตัวได้เร็วขึ้น และถือว่า HR ไม่ได้หละหลวมหรือละเลยต่อหน้าที่แต่อย่างใด

4. จัดหาอาหารหรือดื่มน้ำที่อุ่น ๆ ให้พนักงาน HR สามารถจัดเตรียมอุปกรณ์ในการอุปโภคบริโภคในองค์กรได้ เช่น หากที่บริษัทมีโซนร้านอาหารอยู่ ก็อาจสามารถประสานงานกับร้านค้าเหล่านั้น เพื่อเตรียมอาหารที่รับประทานแล้วช่วยให้ร่างกายอบอุ่น เป็นต้น 

5. เตรียมเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับการทำงาน หากรู้สึกว่า ในออฟฟิศอากาศหนาวเกินไป พนักงานเองอาจสามารถนำเสื้อกันหนาวมาใส่ในออฟฟิศได้ หากรู้สึกว่าอุณหภูมินั้นหนาวเย็นเกินไป หรือหาก HR จะจัดหาเสื้อกันหนาวให้ ก็จะช่วยซื้อใจพนักงานได้เช่นกัน เช่น Briggs Acquisitions ที่แจกเสื้อกันหนาวแบรนด์ของบริษัทให้พนักงานใส่ทำงานอย่างมีความสุขได้เลย และไม่ต้องลำบากเอามาจากที่บ้านเพิ่มเติม 

6. เตรียมรับมือกับอาการป่วยอื่น ๆ ที่ตามมาจากความหนาว ต่อให้ทำงานอย่างปลอดภัย แต่เมื่อเข้าหน้าหนาว ปฏิเสธไม่ได้ว่าโอกาสจะป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ก็จะมีมากขึ้น เช่น โรคหวัด หรือแม้กระทั่งโรคโควิด-19 ที่ชอบแพร่เชื้อในฤดูนี้มากเป็นพิเศษ HR ควรใช้โอกาสนี้วางมาตรการรับมืออาการป่วยไข้ดังกล่าว เป็นการตัดไฟแต่ต้นลมหากเกิดการป่วยที่ไม่คาดคิดขึ้นมาจริง ๆ

เมื่อพนักงานอยากลางานเลี่ยงอากาศหนาวช่วงหน้าหนาว (WInter) HR ควรทำอย่างไร

Winter is Coming เมื่ออากาศวันนี้เป็นใจ ทำงานหน้าหนาวอย่างไรให้มีความสุข

ใครบ้างไม่เคยขอลางานเพราะอากาศหนาว ยกมือ! ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นเรื่องปกติหากหลายคนจะอยากลางาน เพราะสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ แต่ถ้าเกิดเอาเหตุผลนี้มาลางานจริง ๆ เป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นในความคิดของ HR หรือไม่ อาจต้องแจกแจงดังต่อไปนี้

1. HR อนุญาตให้ลา แต่อย่ามากเกินไปจนผิดสังเกต ทุกองค์กรมีวันให้ลาให้พนักงานเพียงพออยู่แล้ว หากลาในกรอบที่กำหนดไว้ HR รวมถึงหัวหน้างานก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่บ่อยครั้งที่พนักงานเลือกใช้วันลาผิดประเภทมาเป็นเหตุผลในการลาช่วงหน้าหนาว เช่น พอตื่นมาเจออากาศหนาว ๆ ก็เลยขอลาป่วยเสียเลย ต้องบอกว่าหากลาแบบนี้ 1-2 ครั้งก็อาจไม่ผิดสังเกตอะไร แต่ถ้าอ้างบ่อย ๆ แถมยังลาก่อนถึงวันหยุดยาวด้วยล่ะก็ อาจโดน HR ซักถามได้ว่า ป่วยเป็นอะไร ป่วยจริงหรือไม่ อ้างว่าลาป่วยแต่จริง ๆ แล้วอยากหาเวลาไปเที่ยวเพิ่มอีกวันกันแน่ 

หากพบว่าไม่ได้ป่วยจริงล่ะก็ อาจมีปัญหาตามมาได้ เช่น อาจโดนใบตักเตือน หรือโดนโทษที่หนักขึ้นตามกฎข้อบังคับของบริษัท

2. ลาแบบไหนก็ลาไปเลย ขอเพียงรับผิดชอบในหน้าที่เรียบร้อย ไม่ใช่ HR ทุกคนจะอนุญาตแบบนี้ แต่หากเจอ HR แบบนี้ แสดงว่าองค์กรนั้นมีวัฒนธรรมที่เชื่อมั่นในความรับผิดชอบของพนักงาน ว่าในเมื่ออยู่ในวัยทำงานนั้นโต ๆ กันแล้ว ทุกคนต่างมีความรับผิดชอบกันทั้งนั้น ดังนั้น ขอเพียงการลาไม่กระทบกับงานที่ทำ และงานสำเร็จเสร็จสิ้นเรียบร้อย หรือหาวิธีอื่นที่จะจัดการกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น หากลางานต้องอากาศหนาวจัดได้ ก็ไม่มีปัญหาใดตามมา

3. ยืดหยุ่นให้ Work From Home ได้ ในยุคสมัยของการทำงานจากที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ การยังบังคับให้พนักงานต้องเข้าออฟฟิศไปทำงานอยู่ อาจเป็นเรื่องล้าหลังไปแล้ว การยืดหยุ่นให้พนักงาน Work From Home ทำงานจากที่บ้านแทนได้ เป็นวิธีลดปัญหาพนักงานไม่อยากลุกขึ้นมาทำงานที่ออฟฟิศอย่างได้ผลดีทีเดียว และอย่างน้อย พนักงานก็ไม่ต้องเสียวันลา อีกทั้งยังได้ประสิทธิภาพในการทำงานที่เพิ่มขึ้นอีกด้วยด้วย

ทั้งนี้ทั้งนั้น HR ต้องประเมินด้วยว่า บริษัทควรเลือกมาตรการไหนมาบังคับใช้หากพนักงานขอลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลาแบบกระทันหัน และหากเป็นเช่นนั้นบ่อย ๆ จะส่งผลกระทบต่องานหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่ HR จำเป็นต้องประเมินให้ดีเช่นกัน

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q&A HR Board

Q:พนักงานลาป่วยบ่อย(แต่ยังไม่เกินสิทธิ์)และมีใบรับรองแพทย์ในกรณีป่วยเกิน3วัน จะสามารถออกใบเตือนได้ไหมคะ

เนื่องด้วยภายในระยะเวลา 6 เดือน ม.ค.65-มิ.ย.65 พนักงานท่านนี้ใช้สิทธิ์ลาป่วยไปแล้ว12วัน กรณีแบบนี้สามารถออกใบเตือนหรือกนังสือแจ้งเตือนการลาป่วยบ่อยและให้พนักงานเซ็นชื่อรับรองการได้รับหนังสือแจ้งเตือนได้หรือไม่คะ

A: ให้สอบถามสาเหตุการลาป่วย เป็นโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัวร้ายแรงโดยให้แพทย์รับรอง หากป่วยบ่อย จะมีผลถึงประสิทธิภาพการทำงาน

ควรเจรจาพูดคุยกับพนักงาน ใช้หลักการแรงงานสัมพันธ์

  1. ให้โอกาสปรับปรุงตัว
  2. พิจารณาเลิกจ้าง โดยจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เนื่องจากสภาพร่างกายไม่สามารถปฏิบัติงานได้และหย่อนประสิทธิภาพในการทำงาน

,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

Q&A HR Board

สำรวจเครื่องมือด้าน Leave & Attendance Management ลดปัญหาเข้างานช้าช่วงหน้าหนาว (Winter)

หากอากาศหนาวเกินไป เป็นผลให้พนักงานลางานบ่อย ส่งผลให้การทำงานของหลายฝ่ายยากขึ้น รวมทั้ง HR ก็จำเป็นต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ช่วย เพื่อให้ไม่พลาดหากมีพนักงานลากระทันหัน จะได้ทำให้องค์กรดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น

ทั้งนี้ HR สามารถค้นหาผลิตภัณฑ์และบริการด้าน Leave & Attendance Management หรือผลิตภัณฑ์และผู้ให้บริการระบบบันทึกเวลาเข้า-ออกงาน ที่จะช่วยบันทึกการลาของพนักงานได้อย่างรวดเร็ว ฉับไวได้ ผ่านทางเว็บไซต์ HREX ปัจจุบัน มีเครื่องมือให้ค้นหาและเลือกใช้หลายอย่าง ที่สามารถใช้งานได้ง่าย ทั้งฝั่งของพนักงานในการลงเวลาเข้าออกงาน ลงเวลาลางาน ไปจนถึง HR ที่สามารถตรวจสอบได้ง่ายกว่าระบบที่ผ่านมา

ผลิตภัณฑ์ด้าน Leave & Attendance Management ตอบโจทย์กับความต้องการขององค์กรได้จริง มีอะไรบ้าง สามารถค้นหาและลองใช้บริการได้แล้วทางลิงก์นี้

CTA Leave & Attendance

บทสรุป

การทำงานหน้าหนาว หรือกลางอากาศหนาว แม้จะมีงานวิจัยชี้ว่าเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่าเวลาอื่น ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุง่ายกว่าเช่นกัน ดังนั้น HR ผู้มีหน้าที่ดูแลทรัพยากรบุคคลในองค์กรโดยเฉพาะ ต้องเป็นด่านหน้าในการรณรงค์เรื่องความปลอดภัย จะทำอย่างไรให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข มีประสิทธิภาพที่สุด

และหาก HR ช่วยให้องค์กรฝ่าฟันช่วงเวลาแห่งความหนาวเหน็บไปได้อย่างราบรื่น ย่อมเป็นประโยชน์ต่อองค์กรที่สุดตามมาด้วย

Sources:

ผู้เขียน

Picture of Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง