HIGHLIGHT
|
เวลา HR รับพนักงานเข้ามาแต่ละครั้ง ย่อมอยากให้พนักงานอยู่ร่วมพัฒนาองค์กรไปนาน ๆ แต่บ่อยครั้งเรามักจะพบว่า พนักงานกลับไม่ได้อยู่นานอย่างที่คิด บางคนเพิ่งทำงานผ่านโปรไม่ทันไร ก็ยื่นใบลาออก หรือบางคนแม้จะทำงานมาหลายปี มีสัญญาณว่าจะอยู่จนเกษียณ แต่จู่ ๆ กลับลาออกดื้อ ๆ ได้เหมือนกัน
แต่ทุกครั้งที่มีพนักงานลาออก HR อย่าชะล่าใจเด็ดขาด เพราะมันอาจเป็นสัญญาณอันตรายบางอย่าง ที่จะทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวตามมาได้
HREX จึงขอพาท่านผู้อ่านไปสำรวจกันว่า สิ่งที่เรียกว่า “อัตราการลาออกของพนักงาน” หรือ Turnover Rate นั้นสำคัญอย่างไรต่อองค์กร หากมีเยอะ บ่งบอกว่าองค์กรกำลังเผชิญสถานการณ์ใดบ้าง แล้วขณะเดียวกันหากมีน้อย ถือเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ ถ้าพร้อมแล้วไปหาคำตอบในบทความกันได้เลย
Contents
- Turnover Rate คืออะไร ทำไมถึงมีผลต่อความสำเร็จขององค์กร
- Voluntary Turnover vs Involuntary Turnover
- Turnover Rate ต่ำ ดีจริงหรือไม่
- คำนวณ Turnover Rate คิดอย่างไร
- Turnover Rate ปี 2023 อุตสาหกรรมไหน ใครมาก ใครน้อย
- Turnover Rate ปี 2024 แนวโน้มที่น่าสนใจว่าพนักงานในอเมริกาลาออกน้อยลง
- HR ควรใช้กลยุทธ์อะไร เพื่อแก้ปัญหา Turnover Rate ในองค์กรสูง
- สรุป
Turnover Rate คืออะไร ทำไมถึงมีผลต่อความสำเร็จขององค์กร
หากใครเป็นคอกีฬา เช่น บาสเกตบอล ล่ะก็ น่าจะคุ้นเคยกับคำว่า Turnover ดี เพราะในการแข่งขัน นอกจากจะได้ดูว่านักกีฬาทำแต้มได้เท่าไหร่ รีบาวนด์บอลได้กี่ครั้ง ลงแข่งในสนามนานแค่ไหน ตอนอยู่ในสนามมีส่วนให้ทีมทำแต้มได้เยอะหรือน้อยอย่างไร ฯลฯ อีกสิ่งที่ต้องดูด้วยก็คือ นักกีฬาและทีมทำบอลเสียเอง หรือ Turnover กี่ครั้ง
เช่น บางทีจ่ายบอลดีแล้วแต่เพื่อนรับไม่ได้จนออกนอกสนาม หรือจ่ายบอลพลาด โดนคู่แข่งขโมย เป็นต้น ค่า Turnover เหล่านี้บ่งบอกถึงความผิดพลาดจากน้ำมือตัวเอง ซึ่งหากนักกีฬาทีมไหนมี Turnover สูง มันอาจเปลี่ยนผลให้ทีมที่มีแต้มนำอยู่ กลายเป็นฝ่ายตามหลังและแพ้ได้ในที่สุด
หากเทียบกับนิยามนี้ในการทำงานล่ะก็ Turnover Rate ก็หมายถึงอัตราการลาออกของพนักงานในแต่ละปี หรือบางคนอาจเรียกว่าอัตราการหมุนเวียนของพนักงานก็ได้ เมื่อเราต้องเสียพนักงานไปให้กับองค์กรอื่นไปจากหลายสาเหตุ และเป็นภารกิจของ HR ที่ต้องหาคำตอบว่า ทำไมพนักงานถึงลาออก และจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร
Voluntary Turnover vs Involuntary Turnover
เมื่อพูดถึง Turnover Rate จะมีคำศัพท์ 2 คำที่ HR น่าจะได้ยินกันบ่อย ๆ คือ Voluntary Turnover และ Involuntary Turnover ทั้ง 2 คำมีความหมายดังต่อไปนี้
Voluntary Turnover
หมายถึง การที่พนักงานลาออกเองโดยสมัครใจ ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น พนักงานรู้สึกไม่ภาคภูมิใจกับงานที่ทำ หมดความท้าทาย ไม่ชอบบรรยากาศการทำงาน ไม่มีโอกาสการเติบโตใน Career Path จึงขอย้ายไปทำงานที่อื่นเพื่อจะได้เฉิดฉายมากกว่า
นอกจากนั้นยังมีเรื่องเงินเดือนและสวัสดิการเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เมื่อพนักงานอาจได้รับข้อเสนอที่เย้ายวนใจจากองค์กรอื่น เช่น ได้เงินเดือนสูงกว่า มีสวัสดิการครอบคลุมกว่า หรือเปิดโอกาสให้ Work from Home ได้มากกว่า หรือบางครั้งการลาออกอาจเป็นเพราะปัญหาส่วนตัว เช่น ลาออกเพื่อย้ายกลับถิ่นฐานไปดูแลครอบครัว เป็นต้น
Involuntary Turnover
หมายถึงการลาออกเองโดยไม่สมัครใจ หรือพูดง่าย ๆ คือโดนไล่ออก / โดนยกเลิกสัญญานั่นเอง ซึ่งจะนับรวมอยู่ใน Turnover Rate ด้วย
กรณีที่พนักงานจะโดนไล่ออกมีหลายรูปแบบ เช่น พนักงานทำงานผิดพลาด ได้ผลงานที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่สมกับความคาดหวังของบริษัทบ่อยครั้ง หรือมีปัญหาด้านวินัย มาสายบ่อย ขาดงานโดยไม่แจ้งล่วงหน้า และมีปัญหากับพนักงานคนอื่นในองค์กรบ่อยครั้ง ไปจนถึงโดนจับได้ว่าทำเรื่องทุจริตผิดกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่า HR ไม่สามารถเก็บคนแบบนี้เอาไว้ในองค์กรต่อได้
ทั้งนี้ การโดนไล่ออกยังมีเหตุผลมาจากการปรับโครงสร้างขององค์กร เมื่อบริษัทต้องการลดจำนวนพนักงานหรือตัดสินใจปิดแผนกบางส่วน ซึ่งบ่อยครั้งยังเกี่ยวพันกับปัญหาทางการเงิน หรือสภาพคล่อง เป็นเหตุให้ต้องลดค่าใช้จ่ายด้วยการลดจำนวนพนักงานนั่นเอง
Turnover Rate กับผลกระทบที่ตามมา
ทุกการลาออกของพนักงานย่อมส่งผลกระทบต่อองค์กรเสมอ มาดูกันดีกว่าว่า ผลกระทบที่องค์กรต้องเผชิญเมื่อพนักงานลาออก มีอะไรบ้าง
1. เสียเงิน เสียเวลาและทรัพยากร เพื่อรับสมัครพนักงานใหม่ แล้วกระบวนการรับสมัครนั้นก็มีหลายขั้นตอน ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะได้พนักงานมาช่วยเติมเต็มองค์กร ไม่เพียงแค่นั้นยังเสียเงินและเสียเวลาฝึกอบรมพนักงานให้เข้าใจเป้าหมายของงานที่ทำ และทำให้เขาเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรด้วย กลายเป็นว่าแทนที่องค์กรจะโฟกัสกับการหารายได้เต็มที่ กลับต้องเจอรายจ่ายระหว่างทางมาบดบังผลกำไรแทน
หากเป็นกรณีไล่ออก บริษัทยังต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายหรือสัญญาจ้าง ไม่อย่างนั้นแล้วก็ต้องเสียค่าจ้างทนาย สู้คดีหรือดำเนินคดีทางกฎหมายด้วย
2. สูญเสีย Productivity ขาดความต่อเนื่องในการทำงาน บางครั้งหาคนไม่ได้ ก็ทำให้พนักงานในทีมต้องรับงานหนักเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นหมายความว่าผลิตผลที่ได้จะน้อยลงหรือได้ช้ากว่าเดิมนั่นเอง
3. การลาออกของพนักงานสักคน ย่อมส่งผลต่อขวัญและกำลังใจของพนักงานที่ยังอยู่ไม่มากก็น้อย อาจนำไปสู่กำลังใจในการทำงานที่ลดลง ประสิทธิภาพการทำงานน้อยลง จนสุดท้ายเกิดการลาออกเพิ่มขึ้น
4. การลาออกหรือไล่คนออกยังมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์บริษัท ทำให้บุคคลภายนอกตั้งคำถามถึงสถานะความมั่นคงขององค์กร อาจทำให้พนักงานที่เหลือรู้สึกไม่มั่นคงในชะตาของตัวเอง นำมาสู่ความเครียดที่มากขึ้นด้วย
Turnover Rate ต่ำ ดีจริงหรือไม่
จากผลกระทบด้านบนจะเห็นว่า Turnover Rate ที่สูงนั้นมีแต่เรื่องแย่ ๆ ทั้งนั้น จนอาจคิดว่าการมี Turnover Rate ต่ำน่าจะเป็นเรื่องดีเสียมากกว่า อย่างไรก็ตามเหรียญทุกอย่างมี 2 ด้านเสมอ Turnover Rate ที่ต่ำไม่ได้มีแต่ข้อดีเสมอไป โดยเราสามารถสรุปออกมาคร่าว ๆ ได้ดังนี้
ข้อดีของ Turnover Rate ต่ำ
- ช่วยรักษาพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ทำให้ความรู้และทักษะไม่ได้สูญหายไป
- ช่วยรักษาความต่อเนื่องในการทำงาน ไม่มีการหยุดชะงักเนื่องจากการลาออกของพนักงาน
- ลูกค้าจะรู้สึกมีความพึงพอใจมากขึ้น เมื่อพนักงานที่ให้บริการหรือทำงานร่วมกันเป็นคนเดิม
- องค์กรประหยัดค่าใช้จ่ายในการหาพนักงานใหม่และการฝึกอบรมพนักงานใหม่ได้มหาศาล
ข้อเสียของ Turnover Rate ต่ำ
- พนักงานที่อยู่มานานอาจไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับบริบทการทำงานใหม่ ๆ ไม่สามารถใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ดีเมื่อเทียบกับพนักงานใหม่
- พนักงานอาจรู้สึกอิ่มตัวกับการทำงานแบบเดิม ๆ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานลดลงด้วย
- ขาดความท้าทายและการพัฒนา เพราะอยู่ในตำแหน่งเดิมนาน จนไม่รู้สึกว่าต้องพัฒนาทักษะใหม่ ๆ
คำนวณ Turnover Rate คิดอย่างไร
เวลาเราพูดกันว่า ยอด Turnover Rate มากหรือน้อย HR ไม่ได้จู่ ๆ จะนั่งเทียนตัวเลขขึ้นมาเอง แต่มันมาจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์ซึ่งมีวิธีคำนวณของมันอยู่หลากหลายรูปแบบ ดังนี้
1. คำนวณแบบพื้นฐาน (Basic Turnover Rate)
Turnover Rate = (จำนวนพนักงานที่ลาออกในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ÷ จำนวนพนักงานเฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกัน) x 100
ตัวอย่าง :
ถ้าในช่วงเวลาหนึ่งปี มีพนักงานลาออก 20 คน และจำนวนพนักงานเฉลี่ยในปีนั้นคือ 200 คน
Turnover Rate = (20÷200) x 100 = 10%
2. คำนวณแบบแยกประเภทการลาออก (Voluntary และ Involuntary Turnover Rate)
Voluntary Turnover Rate = (จำนวนพนักงานที่ลาออกในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ÷ จำนวนพนักงานเฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกัน) x 100
Involuntary Turnover Rate = (จำนวนพนักงานที่ถูกปลด ÷ จำนวนพนักงานเฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกัน) x 100
ตัวอย่าง :
ถ้าในปีนั้น มีพนักงานลาออกโดยสมัครใจ 15 คน และถูกปลดออก 5 คน จากพนักงานเฉลี่ย 200 คน จะคำนวณได้ดังนี้
ดังนั้น Voluntary Turnover Rate = (15÷200) x 100 = 7.5%
และ Involuntary Turnover Rate: = (5÷200) x 100 = 2.5%
3. คำนวณแบบรายเดือน (Monthly Turnover Rate)
Monthly Turnover Rate = (จำนวนพนักงานที่ลาออกในเดือนนั้น ÷ จำนวนพนักงานเฉลี่ยในเดือนนั้น) x 100
ตัวอย่าง :
เดือนมิถุนายน 2024 มีพนักงานลาออก 3 คน และจำนวนพนักงานเฉลี่ยในเดือนนั้นคือ 150 คน
Monthly Turnover Rate ประจำเดือนมิถุนายน 2024 = (3÷150) x 100 = 2%
4. คำนวณแบบ Rolling Turnover Rate
Rolling Turnover Rate = (จำนวนพนักงานที่ลาออกในช่วงเวลาที่กำหนด ÷ จำนวนพนักงานเฉลี่ยในช่วงเวลาที่กำหนด) x 100
วิธีนี้ใช้ในการคำนวณค่าเฉลี่ยของ Turnover Rate ในช่วงเวลาหลาย ๆ เดือนหรือหลาย ๆ ปี เพื่อให้เห็นแนวโน้ม
ตัวอย่าง :
ถ้าในช่วงเวลา 12 เดือน หรือ 1 ปีที่ผ่านมา มีพนักงานลาออก 30 คน จากจำนวนพนักงานเฉลี่ย 250 คน
ดังนั้น 1 ปีที่ผ่านมา Rolling Turnover Rate ขององค์กร = (30÷250) x 100 = 12%
5. คำนวณแบบเฉพาะเจาะจง (Specific Turnover Rates)
การคำนวณ Turnover Rate สำหรับกลุ่มพนักงานเฉพาะเจาะจง เช่น พนักงานในแผนกใดแผนกหนึ่ง หรือพนักงานในระดับตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง
Specific Turnover Rate = (จำนวนพนักงานที่ลาออกในกลุ่มเฉพาะ ÷ จำนวนพนักงานเฉลี่ยในกลุ่มเฉพาะ) x 100
ตัวอย่าง :
ในฝ่าย HR มีพนักงานลาออก 5 คน จากจำนวนพนักงานเฉลี่ยในแผนก 50 คน
Specific Turnover Rate = (5÷50) x 100 = 10%
Turnover Rate ปี 2023 อุตสาหกรรมไหน ใครมาก ใครน้อย
จากการคำนวณตามสูตรทั้งหมด จะเห็นได้ว่าแม้สูตรคำนวณ Turnover Rate จะเป็นสูตรเดียวกัน แต่หากตัวแปรแตกต่างกัน ค่าที่ได้ก็จะไม่เท่ากันด้วย ดังนั้นพอ HR รู้แล้วว่า Turnover Rate นั้นอยู่ที่เท่าไหร่ ก็ต้องลองเปรียบเทียบตัวเลขกับองค์กรอื่น ๆ ด้วย จึงจะทราบว่าค่าที่ออกมาสูงหรือต่ำกว่าที่อื่น
แต่หากไม่รู้จะไปหาตัวเปรียบมาจากไหน imercer.com รวบรวมค่าเฉลี่ย Turnover Rate จากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2023 มาให้แล้ว โดยมีรายละเอียดคร่าว ๆ ดังต่อไปนี้
- สายผู้บริหาร = 5.1%
- สายงานการสื่อสาร = 4.8%
- สายสื่อ สายครีเอทีฟ = 3.1%
- สาย Customer Service = 8.9%
- สายงาน Data Analytics = 4.0%
- สายงานการเงินการบัญชี = 8.3%
- สายงาน HR = 8.4%
- สายงาน Information Technology = 6.5%
- สายงานการตลาด เซลส์ = 10.0%
- สายงานขนส่ง = 8.4%
จากการสัมภาษณ์คุณทิพย์สุคนธ์ นาควงศ์ Office Manager จาก Reeracoen Thailand บริษัท Recruitment Agency ชื่อดังของไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เวลาจะเปรียบเทียบว่า Turnover Rate สูงหรือต่ำ นอกจากจะเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นในอุตสาหกรรมแล้ว ยังสามารถเปรียบเทียบกับช่วงปีอื่น ๆ ขององค์กรได้ด้วย จะทำให้เห็นแนวโน้มว่า ยอดคนออกจากองค์กรนั้นมากขึ้น น้อยลง หรือทรงตัว
เช่น หากปีก่อนยอดคนลาออกอยู่ที่ 10% ขณะที่ยอดปีนี้มีคนลาออกเพียงแค่ 5% ก็แสดงว่า Turnover Rate น้อยลง แต่ในขณะเดียวกัน หากยอดปีที่ผ่านมามีคนลาออกทั้งปี 10% แล้วปรากฏว่าในเวลาแค่ 6 เดือน ยอดคนลาออกกลับมากกว่ายอดทั้งปีที่ผ่านมาแล้ว ก็แสดงว่า Turnover Rate กำลังสูงขึ้นมาก แล้วถ้าเป็นยอดลาออกที่ไม่ได้คาดคิดด้วย ก็จะยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้นกว่าเดิม ก็ต้องหากลยุทธ์เพื่อรับมือให้ได้
คุณทิพย์สุคนธ์ ยังกล่าวอีกว่า Turnover Rate ที่สูงนั้นยังขึ้นอยู่กับลักษณะอาชีพที่แตกต่างกันไป เช่น หากทำงานเป็นเซลส์ มักจะมียอด Turnover Rate สูงกว่าอาชีพอื่น เพราะบางบริษัทอาจคาดหวังให้ทำงานที่เดิมแค่ 2-3 ปีจากนั้นจะเปลี่ยนถ่ายเอาคนใหม่มาทำงาน ดังนั้นถ้าเกิดพนักงานที่เป็นเซลส์ตัดสินใจเปลี่ยนงานในช่วงนั้นพอดี จะถือว่าเป็นสิ่งที่ HR คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว
นอกจากนั้นวัฒนธรรมการทำงานของบริษัทก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เช่น บริษัทในสหรัฐอเมริกาอาจไม่อยากให้พนักงานอยู่กับองค์กรนานเกินไป แต่หากเป็นบริษัทญี่ปุ่น ก็จะมีวัฒนธรรมองค์กรอีกแบบ ที่อยากให้พนักงานอยู่กับองค์กรไปนาน ๆ หากมี Turnover Rate ต่ำก็อาจจะถือเป็นเรื่องปกติได้เช่นกัน
Turnover Rate ปี 2024 แนวโน้มที่น่าสนใจว่าพนักงานในอเมริกาลาออกน้อยลง
เว็บไซต์ iMercer เปิดเผยข้อมูล Turnover Rate ในสหรัฐอเมริกา และในอเมริกาเหนือของปี 2024 แสดงให้เห็นแนวโน้มที่น่าสนใจ ว่าโดยรวมแล้วยอด Turnover Rate อยู่ที่ 13.5% ซึ่งลดลงจาก 17.3% ในปี 2023 และ 24.7% ในปี 2022 ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่น่าสนใจว่าพนักงานมีอัตราการลาออกน้อยลง
แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจวิเคราะห์ได้ด้วยว่า พนักงานตัดสินใจย้ายงานยากขึ้น ซึ่งมีผลกระทบมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนมากมาย จนไม่กล้าเสี่ยงลาออกและเปลี่ยนงานใหม่ แต่เลือกที่จะรักษางานเดิมที่ทำเอาไว้ให้นานที่สุดนั่นเอง
ส่วนเว็บไซต์ Reward Gateway ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแต่ละอุตสาหกรรมที่ค่า Turnover Rate สูงอย่างมีนัยสำคัญอันดับต้น ๆ โดย 5 อันดับแรกมีดังต่อไปนี้
- ธุรกิจเทคโนโลยี 60%
- ธุรกิจการผลิต 28.6%
- ธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง 32.9%
- ธุรกิจการเงิน/ธนาคาร 19.8%
- ธุรกิจสายสุขภาพ แบ่งได้ 3 หมวด ได้แก่
-
- โรงพยาบาล 22.7%
- บ้านพักสำหรับดูแลผู้สูงอายุ 53.3%
- บริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน 31.1%
ถึงแม้ตัวเลขนี้จะมาจากฝั่งสหรัฐฯ ที่อาจมีวัฒนธรรมการทำงาน หรือบริบทที่แตกต่างกับประเทศไทยไม่น้อย แต่มันก็มีนัยนะที่ส่งผลถึงประเทศไทยในหลายมิติ อาทิ
ผลกระทบต่อบริษัทข้ามชาติ: บริษัทในไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่โลกต้องเตรียมปรับตัว
แนวโน้มการย้ายงานในไทย: หาก Turnover ลดลงในระดับโลก บริษัทไทยอาจต้องยกระดับกลยุทธ์ด้านการรักษาพนักงานเพิ่มขึ้น
ผลกระทบต่อ Recruitment Agency: ในสถานการณ์ที่คนย้ายงานน้อยลง Recruitment Agency ต้องเผชิญกับความท้าทายในการตอบสนองความต้องการของผู้สมัครงานที่มีความคาดหวังสูงขึ้น เช่น ค่าตอบแทนที่ดีกว่า สวัสดิการที่มากขึ้น หรือแม้กระทั่งโอกาสก้าวหน้าในงาน ซึ่งทำให้ยากที่จะหาพนักงานที่ตอบโจทย์กับลูกค้าได้
บทเรียนจากอุตสาหกรรม: อุตสาหกรรมค้าปลีกและเทคโนโลยีในไทยควรจับตา เพราะมีแนวโน้ม Turnover คล้ายกับอเมริกา
Turnover Rate ไม่ใช่แค่ตัวเลขในองค์กร แต่สะท้อนถึง สุขภาพของตลาดแรงงาน และทิศทางการทำงานในอนาคต การจับตามองและเรียนรู้จากเทรนด์เหล่านี้คือโอกาสสำคัญที่องค์กรไทยต้องใช้ในการวางกลยุทธ์เพื่อก้าวทันโลก
HR ควรใช้กลยุทธ์อะไร เพื่อแก้ปัญหา Turnover Rate ในองค์กรสูง
การลาออกของพนักงานเป็นสิ่งที่ห้ามกันไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจู่ ๆ พนักงานจะลาออกโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย แต่ความคิดอยากลาออกนั้นมักเกิดขึ้นนานแล้ว เมื่อพบเจอปัญหาหลายอย่างรุมเร้าทับถม จนสุดท้ายก็มีฟางเส้นสุดท้ายที่ช่วยให้ตัดสินใจได้ว่า ไม่อยากอยู่ในองค์กรอีกต่อไป
ทั้งนี้ หากไม่อยากให้พนักงานลาออก HR สามารถใช้กลยุทธ์เหล่านี้ตั้งแต่แรกเริ่มได้ อย่างน้อยก็จะลดปัญหาที่เร่งปฏิกิริยาให้คนอยากลาออกเร็วขึ้นและเพิ่มขึ้นในทุกวัน ดังนี้
1. ปรับปรุงกระบวนการจ้างงาน
งานวิจัยหลายชิ้นระบุตรงกันว่า องค์กรที่มีกระบวนการจ้างงานที่ดี สรรหาพนักงานรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เป็นด่านแรกที่ทำให้พนักงานอยากอยู่กับองค์กรนานขึ้นถึง 82%
และหากมีกระบวนการ Onboarding ที่ช่วยให้พนักงานปรับตัวเข้ากับการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างรวดเร็ว จะยิ่งช่วยให้พนักงานมีความสุขที่จะทำงาน ได้ยกระดับองค์กรอีกนานขึ้นด้วยเช่นกัน
2. ให้เงินเดือน สวัสดิการที่สมเหตุสมผลและสามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้
องค์กรไหนที่ให้เงินเดือนพนักงานเยอะกว่าที่อื่น มีการขึ้นเงินเดือนให้เป็นประจำ จะเป็นแต้มต่อในการยื้อพนักงานคนเก่าให้อยู่กับองค์กรต่อ และดึงดูดพนักงานใหม่ให้เข้ามาร่วมผลักดันองค์กรต่อไปได้มากกว่าองค์กรที่ให้เงินเดือนน้อย เมื่อเทียบกับคู่แข่ง แถมยังไม่มอบสวัสดิการที่เหมาะสมให้พนักงานอีก
3. สนับสนุนการเติบโตในเส้นทางอาชีพ ช่วยให้พนักงานเป็นคนที่เก่งขึ้น
หากพนักงานรับรู้ว่า การทำงานในองค์กรนี้จะนำไปสู่เส้นทางใดต่อไป เช่น มีโอกาสได้เติบโต เลื่อนขั้น มีโอกาสได้ทำงานที่ท้าทายความสามารถเพื่อเพิ่มทักษะ และเพิ่มเงินเดือน จะทำให้พนักงานถึง 94% อยากอยู่กับองค์กรต่อ
แต่ทั้งนี้ องค์กรก็ต้องลงทุนกับการพัฒนาศักยภาพพนักงานด้วยเช่นกัน เพื่อให้พนักงานมั่นใจว่าเมื่อโอกาสมาถึงมือ พวกเขาจะสามารถทำงานนั้นจนประสบความสำเร็จได้ตามเป้า แล้วเติบโตต่อไปตาม Career Path ที่วางไว้
4. ให้ความชื่นชมคนเก่งและทีมที่ประสบความสำเร็จ
หากใครทำงานได้ดี ก็ควรได้รับคำชื่นชม องค์กรก็ควรชื่นชมพนักงานที่ทำงานดี เพื่อทำให้พนักงานคนอื่นได้เห็นเป็นแบบอย่างว่า แล้วอยากทำงานให้ดีขึ้น เพื่อรับคำชื่นชมต่อหน้าสาธารณชนเช่นนั้นบ้าง
5. อย่าลืมฝึกฝนผู้จัดการด้วย
เมื่อฝึกฝนพนักงานแล้ว อย่าลืมฝึกฝนผู้จัดการ หรือผู้นำในตำแหน่งต่าง ๆ ขององค์กรด้วย เพราะตำแหน่งผู้จัดการ หัวหัวหน้างาน คือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับพนักงานในกำกับมากที่สุด มากกว่า HR เองเสียอีก และบ่อยครั้งการที่พนักงานตัดสินใจลาออกก็มาจากผู้นำเช่นกัน
การมีผู้นำที่ดี สื่อสารกับพนักงานชัดเจน สร้างความผูกพันที่เหนียวแน่นกับทีมได้ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้พนักงานทำงานที่รักได้อย่างราบรื่นและมีความสุข
6. วิเคราะห์ข้อมูลของพนักงาน ป้องกันการลาออกในอนาคต
องค์กรย่อมอยากให้พนักงานมีความพึงพอใจในการทำงาน แต่เคยสอบถามหรือไม่ว่าพนักงานพึงพอใจเรื่องอะไร เคยให้พนักงานทำแบบสอบถาม เคยคุยตัวต่อตัวกับพนักงานบ้างหรือไม่ สิ่งนี้ HR รวมไปถึงคนเป็นหัวหน้าต้องรู้และทำการบ้าน
โลกทุกวันนี้แข่งขันกันที่ข้อมูล การลาออกของพนักงานแต่ละครั้ง หากมีการเก็บสถิติ เก็บข้อมูลว่าลาออกเพราะอะไร จะช่วยให้ HR สามารถนำมาวิเคราะห์อัตราการลาออกในอดีตเพื่อทำนายแนวโน้มในอนาคต แล้ววางแผนรับมือก่อนพนักงานจะลาออกก่อนได้
และเมื่อรู้แล้วจะได้นำสิ่งเหล่านั้นมาพัฒนาให้เป็นจุดแข็ง ปรับแก้จุดอ่อน และรักษามาตรฐานที่ดีต่อไป
ทั้งนี้ หาก HR ไม่รู้ว่าจะหาเครื่องมือใดมาช่วยให้กลยุทธ์ที่วางไว้สำเร็จด้วยดี สามารถค้นหา HR Solution จากแพลตฟอร์ม HR Products and Services ของ HREX มาใช้ได้เลย เรารวบรวมเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับยกระดับงานด้าน HR ไว้มากมาย
เช่น เครื่องมือ Employee Engagement สำหรับสร้างความผูกพันให้พนักงาน, เครื่องมือการ Training & Coaching เพื่อฝึกฝนพนักงานให้เก่งขึ้น หรือหากองค์กรไหนประสบปัญหาหาคนได้ไม่เร็วเท่าที่ใจต้องการ ก็สามารถใช้บริการ Recruitment Solution จากในแพลตฟอร์มได้เช่นกัน
สรุป
การลาออกของพนักงานเป็นเรื่องน่าปวดหัวที่ HR ต้องรับมือด้วยเสมอ เพราะอย่างไรเสีย เมื่อถึงจุดหนึ่งจะต้องมีพนักงานลาออกเสมอ แต่ขอเพียงแค่องค์กรวางแผนทุกอย่างรัดหกุม เมื่อนั้นการจะลาออกหรือไม่ของพนักงาน จะไม่ใช่สิ่งที่มาขัดขวางการเติบโตและความสำเร็จขององค์กร
ทั้งนี้ การเดินทางสายกลาง การหาสมดุลระหว่าง Turnover Rate ที่เหมาะสม แล้วสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี หาโอกาสให้พนักงานพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง และให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมกับที่พนักงานควรได้รับ จะรักษาพนักงานที่มีความสามารถและดึงดูดพนักงานใหม่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาองค์กรต่อไป
Sources: |