HIGHLIGHT
|
ในโลกของการทำงาน บทบาทของหัวหน้า ผู้นำ หรือที่ใคร ๆ เรียกว่า “บอส” (Leader) เป็นสิ่งที่ทรงอิทธิพลมาก เพราะหัวหน้าเป็นผู้กำหนดทิศทาง และบรรยากาศการทำงานของทีม
แต่บางครั้งหัวหน้าอาจกลายเป็น “บอสตัวร้าย” (Toxic Boss) ในสายตาของลูกน้อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจในทางที่ผิด สร้างบรรยากาศที่ตึงเครียด หรือแม้แต่การเอาเปรียบคนในทีม
คำถามที่เกิดขึ้นคือ เมื่อหัวหน้ากลายเป็นตัวร้ายเช่นนี้ เขาจะยังคงมีอำนาจและสถานะเป็นหัวหน้าได้ต่อไปหรือไม่ ?
Contents
นิยามของ “บอสตัวร้าย” ในที่ทำงาน
นิยามความดี ความร้ายเป็นสิ่งที่นามธรรมมาก แต่เอาที่คนทั่วไปเห็นพ้องต้องกันก็คือ หัวหน้าที่ถูกมองว่าเป็น “บอสตัวร้าย” คือผู้ที่ใช้ตำแหน่งอำนาจในทางที่ผิดและมีพฤติกรรมที่ทำให้บรรยากาศการทำงานเป็นพิษ ซึ่งอาจรวมถึงการใช้อำนาจข่มขู่ การไม่ยุติธรรมในการปฏิบัติต่อพนักงาน การสื่อสารเชิงลบ การไม่สนับสนุนลูกน้อง หรือแม้กระทั่งการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว
พฤติกรรมเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลต่อขวัญและกำลังใจของพนักงาน แต่ยังสร้างความตึงเครียด ทำลายความไว้วางใจ และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
บอสตัวร้ายกับความท้าทายที่เกิดขึ้น
งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของหัวหน้าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการทำงานของทีม
อาทิ งานวิจัยจาก Life Meets Work พบว่า 56% ของพนักงานชาวอเมริกันมองว่าหัวหน้าของพวกเขามีลักษณะเป็นพิษ ขณะที่ผลสำรวจจาก American Psychological Association ชี้ว่า 75% ของชาวอเมริกันบอกว่า “หัวหน้าเป็นส่วนที่ทำให้เกิดความเครียดมากที่สุดในวันทำงาน” และงานวิจัยจาก Gallup ยังพบว่า 1 ใน 2 ของพนักงานลาออกเพื่อหนีจากหัวหน้าในบางช่วงของการทำงาน
โดยเฉพาะงานวิจัยจาก Abigail Phillips นักวิจัยด้านจิตวิทยาองค์กร แสดงให้เห็นว่าหัวหน้าที่มีลักษณะนิสัยเชิงลบหรือ “ลักษณะด้านมืด” เช่น ความเป็นโรคจิตเภท (Psychopathy) และความหลงตัวเอง (Narcissism) สามารถส่งผลกระทบร้ายแรงต่อพนักงานและองค์กรได้ โดยหัวหน้าที่มีลักษณะเหล่านี้มักจะขาดความเห็นอกเห็นใจ ใช้อำนาจในทางที่ผิด เอาเปรียบผู้อื่น และสร้างบรรยากาศที่เป็นพิษในที่ทำงาน
จากการศึกษาในพนักงานมากกว่า 1,200 คนในหลายอุตสาหกรรมพบว่า พนักงานที่ทำงานภายใต้หัวหน้าที่มีความเป็นโรคจิตเภทและหลงตัวเอง มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับการกลั่นแกล้งในที่ทำงาน มีความไม่พึงพอใจในงานสูงขึ้น และเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและความเครียดทางจิตใจมากขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจคือ การกลั่นแกล้งในที่ทำงานไม่ได้เกิดจากหัวหน้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานเองด้วย เมื่อหัวหน้าแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ ลูกน้องมักจะตอบโต้ด้วยการกลั่นแกล้งซึ่งกันและกัน หรือแสดงพฤติกรรมเชิงลบต่อองค์กรด้วย
ดังนั้น การระมัดระวังในการคัดเลือกหัวหน้าและการวางแผนป้องกันการกลั่นแกล้งในที่ทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันผลกระทบที่ทำลายทั้งขวัญกำลังใจของพนักงานและประสิทธิภาพการทำงานในองค์กร
ทำไมบอสตัวร้ายยังคงมีอำนาจ ?
แม้หัวหน้าบางคนจะมีพฤติกรรมเป็นตัวร้าย แต่ก็ยังสามารถรักษาตำแหน่งได้ หนึ่งเหตุผลสำคัญหนึ่งคือการรับรู้ในเชิงอำนาจและการเมืองภายในองค์กร
เพราะหัวหน้าที่มีเครือข่ายการสนับสนุนจากผู้อื่นในองค์กร อาจได้รับการปกป้องและไม่ถูกตัดสินจากการกระทำที่ผิดพลาดของเขาเอง ในกรณีเช่นนี้ หัวหน้ามักจะถูกมองในมุมที่เป็นประโยชน์กับผู้มีอำนาจสูงสุด หรืออาจมีผลงานที่ทำให้ถูกมองข้ามข้อบกพร่องทางพฤติกรรม
ยกตัวอย่าง งานวิจัยจาก Journal of Business Ethics ได้อธิบายว่าหัวหน้าที่มีพฤติกรรมเชิงลบหรือบอสตัวร้าย สามารถคงอยู่ในตำแหน่งได้ด้วยกลไกที่เรียกว่า “ระบบการสนับสนุนจากลูกน้อง” (subordinate reinforcement system) กล่าวคือ หัวหน้าอาจใช้วิธีการสร้างพันธมิตรกับพนักงานบางกลุ่ม ทำให้เกิดการสนับสนุนทางอ้อมในการดำรงตำแหน่ง ซึ่งช่วยให้เขายังคงมีอำนาจต่อไป
เพราะหากไม่มีลูกน้องที่คอยสนับสนุนพฤติกรรมหรือเลือกที่จะไม่ต่อต้าน หัวหน้าคงไม่สามารถสร้างสภาวะแห่งความไม่เป็นธรรมขึ้นได้ง่าย ๆ
นี่สะท้อนถึงแนวคิดจากงานวิจัยในด้านจิตวิทยาองค์กรที่แสดงให้เห็นว่า คนที่อยู่ในตำแหน่งอำนาจมักจะขึ้นอยู่กับระบบความสัมพันธ์ทางสังคม หากระบบนั้นสนับสนุนพฤติกรรมเชิงลบ พฤติกรรมนั้นก็จะยังคงดำเนินต่อไปนั่นเอง
ทำไมเราควรต่อต้านบอสตัวร้ายในโลกการทำงาน
รู้ไหมว่าพนักงานโดยทั่วไปยินยอมที่จะทำงานกับบอสตัวร้ายนานกว่าบอสปกติเฉลี่ย 2 ปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยทางจิตวิทยา ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลเรื่องเงินเดือน สวัสดิการ หรือความสัมพันธ์ที่มีกับเพื่อนร่วมงาน แม้การเปลี่ยนงานอาจดูเป็นเรื่องยากและไม่มั่นคง
ทั้งนี้การให้อภัยหรือการมองข้ามพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของหัวหน้า ก็ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาใด ๆ อะไรเลย แต่กลับทำให้หัวหน้ายังคงใช้พฤติกรรมก้าวร้าวซ้ำ ๆ
ฉะนั้นสิ่งที่ HR หรือกระทั่งพนักงานเองควรทำคือไม่ใช่การปล่อยผ่าน แต่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาและหาทางป้องกันการละเมิดในอนาคต เพราะหากเราเลือกที่จะทน หรือหาเหตุผลมาแก้ตัวให้หัวหน้า เราก็อาจจะตกอยู่ในวัฏจักรของการถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งคุณสามารถเริ่มด้วยวิธีต่อไปนี้:
- พูดคุยอย่างตรงไปตรงมา: หากเป็นไปได้ ลองพูดคุยกับหัวหน้าอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ควรเลือกเวลาที่เหมาะสมและเตรียมคำพูดให้ชัดเจนและเป็นมืออาชีพ โดยไม่ต้องพุ่งเป้าไปที่การตำหนิ แต่ควรเน้นไปที่การหาทางแก้ไขร่วมกัน
- สร้างเครือข่ายสนับสนุน: หันไปพึ่งเพื่อนร่วมงานที่คุณไว้ใจ หรือหากมีโอกาส ให้ปรึกษาฝ่าย HR เพื่อหาทางออก หากองค์กรมีวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหานี้ HR อาจช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้
- ดูแลสุขภาพกายและใจ: การทำงานในสภาวะกดดันอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและร่างกาย ดังนั้นควรหาทางผ่อนคลาย เช่น การออกกำลังกาย การนอนหลับเพียงพอ หรือการทำกิจกรรมที่คุณชื่นชอบนอกเวลางาน เพื่อให้จิตใจแข็งแรงพอที่จะรับมือกับสถานการณ์
- พิจารณาโอกาสอื่นในองค์กร: หากการเผชิญหน้ากับหัวหน้าไม่ได้ผล ลองมองหาตำแหน่งหรือโอกาสใหม่ๆ ในองค์กร อาจมีทีมอื่นหรือโปรเจกต์ที่เหมาะสมกับคุณมากกว่า
ถ้าทุกอย่างไม่ได้ผล และปัญหานี้ยังคงมีผลกระทบต่อชีวิตคุณ การลาออกอาจเป็นทางเลือกสุดท้ายที่สมเหตุสมผล เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ในระยะยาว
บทสรุป
เมื่อหัวหน้าเป็นตัวร้าย เขาอาจยังคงมีตำแหน่งและอำนาจอยู่ต่อได้หากมีปัจจัยที่สนับสนุน ทั้งจากลูกน้องและระบบการทำงานที่ทำให้หัวหน้าสามารถใช้อำนาจในเชิงลบได้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม การรักษาสภาวะเช่นนี้ไว้ก็ขึ้นอยู่กับลูกน้องด้วย เพราะแท้จริงแล้ว คนที่ร้ายที่สุดอาจไม่ใช่หัวหน้า แต่เป็นเหล่าลูกน้องที่เลือกจะสนับสนุนให้หัวหน้าตัวร้ายสามารถทำงานในลักษณะนี้ต่อไปมากกว่านั่นเอง
Source |