Search
Close this search box.

Too Hot to Work อากาศวันนี้ร้อนเกินไปแล้ว HR ดูแลพนักงานอย่างไรได้บ้าง

HIGHLIGHT

  • Too Hot to Work คุณคิดว่าอากาศวันนี้ของเมืองไทยร้อนเกินไปหรือไม่ ขอยืนยันว่าคุณคิดถูกแล้ว เพราะตอนนี้ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงที่สุดในรอบ 73 ปีเลยทีเดียว
  • ถึงอุณหภูมิร้อนจน Too Hot to Work แต่ผู้คนก็ยังต้องทำงานกันต่ออยู่ดี อย่างไรก็ตาม พึงระวังไว้ว่าการทำงานกลางอากาศร้อน มีข้อเสียหลายประการ นอกจากจะทำให้ป่วยง่าย เป็นลม ขาดน้ำ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
  • ปัญหาโลกร้อนที่ส่งผลต่อการทำงาน (Too Hot to Work) เป็นปัญหาที่พบเจอกันทั่วโลก หลายองค์กรจึงมี Heat Safety หรือแนวทางปฏิบัติเพื่อรับมือกับอากาศร้อนระอุ เพื่อให้พนักงานปลอดภัยจากการทำงาน
  • หากอยากเห็นองค์กรเดินหน้าไปสู่เป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ HR ก็ต้องดูแลพนักงานอย่างเต็มที่ ผ่านบริการดูแลสุขภาพพนักงาน (Health & Wellness Solution) แต่หากไม่รู้ใช้บริการอะไร สามารถมาค้นหาผ่าน HREX ได้เลย

Too Hot to Work อากาศวันนี้ร้อนเกินไปแล้ว HR ดูแลพนักงานอย่างไรได้บ้าง

อากาศวันนี้มันร้อนเกินไปแล้ว คุณรู้สึกอย่างนั้นหรือไม่ ? 

ถ้าคิดอย่างนั้นล่ะก็ คุณคิดถูกต้องแล้ว ! เพราะนับตั้งแต่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่า ประเทศไทยเข้าสู่หน้าร้อนอย่างเป็นทางการ อุณหภูมิของประเทศก็ร้อนระอุขึ้นเรื่อย ๆ และมีแนวโน้มว่าจะพุ่งสูงขึ้นอีก ชนิดที่ประวัติศาสตร์แห่งความร้อนต้องบันทึกไว้เลยทีเดียว ! 

แต่นี่ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีแต่อย่างใด เพราะยิ่งอากาศร้อน มันยิ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตและการทำงานของประชาชนทุกคนตามไปด้วย ในช่วงเวลาแบบนี้ HR ผู้มีหน้าที่ดูแลพนักงานโดยตรง จึงควรทำทุกอย่างเพื่อดูแลพนักงาน และช่วยเหลือพวกเขาให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบาย Heat Safety

HR สามารถทำอย่างไรได้บ้าง หาคำตอบได้จากบทความนี้ได้เลย 

ภาพรวมประเทศไทย อากาศร้อนเกินไปแล้ว

Too Hot to Work อากาศวันนี้ร้อนเกินไปแล้ว HR ดูแลพนักงานอย่างไรได้บ้างย้อนกลับไปเมื่อปี 2566 กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยทั่วไป โดยค่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 28.1 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี (2534-2563) 0.7 องศาเซลเซียส

ไม่เพียงแค่นั้น นี่ยังเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งนับถอยหลังกลับไปตั้งแต่ปี 2494 ทีเดียว

หลายคนอาจคิดว่า แค่อุณหภูมิเฉลี่ย 28.1 องศา ก็ดูไม่แย่เท่าไหร่ แต่หากเจาะเฉพาะตอนกลางวัน ซึ่งเป็นช่วงที่ร้อนที่สุด ในหลายภูมิภาคโดยเฉพาะในภาคกลางจะร้อนจัด มีอุณหภูมิสูงสุดถึง 42 องศา และยังคาดการณ์อีกว่า อุณหภูมิสูงสุดหน้าร้อนไทยปีนี้ สามารถสูงถึง 44.5 องศาได้เลยทีเดียว

ทั้งนี้ หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้อากาศร้อนรุนแรงมาก ก็เพราะเกิดไฟป่าตามธรรมชาติ รวมทั้งยังมีการเผาป่าในหลายพื้นที่ ทำให้อากาศที่ว่าร้อนอยู่แล้ว ยิ่งรู้สึกเหมือนตกนรกมากขึ้น แถมยังเกิดฝุ่น PM2.5 ปกคลุมในหลายภูมิภาค ยิ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตมากขึ้นอีก

หลายคนอาจคิดว่า อากาศประเทศไทยร้อนเป็นธรรมดาอยู่แล้ว แต่เพราะนี่คือปัญหาโลกร้อน ที่พบเจอกันได้แทบทุกพื้นที่ทั่วโลก ไม่มีใครสามารถหนีพ้น อย่างประเทศสิงคโปร์ มีรายงานว่าตั้งแต่ปี 2556-2565 นี่คือช่วงเวลา 1 ทศวรรษที่ร้อนที่สุดของดินแดนเมอร์ไลออนทีเดียว

โดยสำนักข่าว CNA ของสิงคโปร์ยังรายงานด้วยว่า มีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะทะลุจุดแตกเกิน 40 องศาภายในเดือนพฤษภาคม 2567 กลายเป็นสถิติใหม่ของอีกประเทศเช่นกัน

ส่วนในยุโรป ซึ่งมีสภาพอากาศค่อนข้างเย็นอยู่แล้ว ก็มีรายงานว่าอากาศร้อนขึ้นอย่างสังเกตเห็นได้ Euronews รายงานว่าเมื่อเดือนกันยายน 2566 หลายประเทศในยุโรปเผชิญกับปัญหาคลื่นความร้อน หรือ Heat Wave ที่ร้อนระอุเกินต้าน ทำให้เกิดการพูดคุยกันอีกครั้งว่า หากไม่รีบแก้ไขหรือหามาตรการป้องกันและบรรเทาความร้อนตั้งแต่ตอนนี้ อาจเกิดความเสียหายตามมาในอนาคตซึ่งหนักหนากว่าที่ใครจะคาดคิด

Too Hot to Work อากาศวันนี้ร้อนเกินไปแล้ว HR ดูแลพนักงานอย่างไรได้บ้าง

เมื่ออากาศร้อนเกินไป ส่งผลเสียอย่างไรในการทำงาน (Too Hot to Work)

แสงแดดและความร้อนมีประโยชน์ต่อร่างกายในหลายสถานการณ์ของชีวิต เช่น มอบวิตามินดีให้ร่างกาย ซึ่งช่วยให้กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น เป็นต้น

แต่นั่นอยู่ภายใต้แนวคิดที่ว่า เราควรรับแสงแดดแบบพอดีและไม่มากเกินไป แตกต่างจากการออกไปทำงานกลางแดดทั้งวัน ที่ยิ่งอากาศร้อนมาก มันก็ยิ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิต รวมถึงการทำงานตามไปด้วย

สำหรับข้อเสียของการทำงานกลางอากาศร้อน ๆ ที่เห็นได้ชัดก็คือ ทำให้ร่างกายล้มป่วยง่าย โดนรุมเร้าด้วยหลายโรคภัย เริ่มจากการเป็นไข้ เป็นลม ร่างกายขาดน้ำ ไปจนถึงการเกิดภาวะความเครียดจากความร้อน (Heat Stress) ป่วยเป็นโรคลมร้อน (Heat Illness / Heat Stroke) ซึ่งไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เพราะมันสามารถทำให้เสียชีวิตได้เลยทีเดียว ต้องเสียเงินค่ารักษา ค่าปฐมพยาบาลด้วย

และหากพนักงานต้องทำงานในสภาพนี้ทั้งวันล่ะก็ ยังเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุตามมาอีกเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ต้องทำงานในโรงงาน ทำงานกลางแจ้ง หรืออยู่ในจุดที่ไม่มีอากาศไหลเวียนที่ดี บางครั้งอุบัติเหตุยังเกิดขึ้นจากความเสียหายของอุปกรณ์การทำงาน ที่เจอความร้อนจนสภาพเสียหายก่อนเวลาอันควร

แม้การทำงานในที่ร่ม การทำงานในออฟฟิศจะปลอดภัยกว่า แต่มันก็มีต้นทุนที่องค์กรต้องรองรับ เช่น ค่าไฟที่จะแพงขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องจากต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา และก็ต้องภาวนาว่าอย่าให้เครื่องปรับอากาศมีปัญหาด้วย มิฉะนั้นก็ต้องเสียค่าซ่อมบำรุงเพิ่มเติม และอาจต้องใช้เวลาพักใหญ่ทีเดียว กว่าจะกลับมาใช้งานได้ตามปกติ

Too Hot to Work อากาศวันนี้ร้อนเกินไปแล้ว HR ดูแลพนักงานอย่างไรได้บ้าง

ตัวอย่าง 3 กรณีอันตราย ทำงานกลางอากาศร้อนที่ไม่ปลอดภัย

ปัญหาเรื่องการทำงานกลางอากาศร้อน อุณหภูมิสูงไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ แต่ละองค์กรจำเป็นต้องมีมาตรฐานการทำงานที่ปลอดภัย เพื่อปกป้องและดูแลพนักงานจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด

ในสหรัฐอเมริกา มีหน่วยงานชื่อว่า สำนักงานบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ  (Occupational Safety and Health Administration : OSHA) ซึ่งระบุว่า แทบทุกธุรกิจในสหรัฐฯ ต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยหลากหลายรูปแบบ รวมถึงความปลอดภัยเมื่อพนักงานต้องทำงานกลางอากาศร้อน ๆ ด้วย 

แต่ก็ไม่ใช่ทุกองค์กรที่จะทำได้เช่นนั้น และนั่นเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินขึ้น HREX ค้นพบว่า OSHA เคยรายงานถึง 3 กรณีการทำงานกลางอากาศร้อนอย่างไม่ปลอดภัย ที่เราควรศึกษาไว้ และไม่เอาเป็นเยี่ยงอย่าง ดังต่อไปนี้

(OSHA ไม่เปิดเผยชื่อและองค์กรของผู้ประสบภัยในแต่ละกรณี ด้วยเหตุผลว่าเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของพนักงาน)

1. ช่างมุงหลังคาเผชิญโรคลมแดด

กรณีแรกเป็นเรื่องของช่างมุงหลังคาอายุ 42 ปีที่ล้มป่วยเป็นลมแดดใน 3 วันแรกของการทำงาน ช่วง 2 วันแรก เขาไม่รู้สึกว่ามีปัญหาแต่อย่างใด ก่อนที่ในวันสุดท้ายจะรู้สึกร้อนและไม่สบายตัวขึ้นเรื่อย ๆ จึงลงมาจากหลังคา (แต่ยังมานั่งพักกลางแดด ไม่เข้าที่ร่ม) ผลก็คือเขาป่วยเป็นโรคลมแดดค่อนข้างร้ายแรง ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ก็ไม่ทันท่วงทีเพราะสุดท้าย พนักงานคนนี้เสียชีวิต

แม้จะมีรายงานว่า นายจ้างจัดหาน้ำดื่ม น้ำแข็ง และน้ำเกลือแร่จัดไว้เพียงพอในบริเวณที่ทำงาน แต่นายจ้างไม่ได้มีแผนการที่รัดกุมเพียงพอ ไม่ได้สังเกตเห็นอาการอย่างรวดเร็ว และปล่อยให้พนักงานอยู่คนเดียวนานเกินไป เป็นผลให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงขึ้นในที่สุด

แต่เมื่อถึงวันที่สามซึ่งมี โดยมีอุณหภูมิสูงสุดประมาณ 30 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสัมพัทธ์ 57 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคิดเป็นดัชนีความร้อนถึง 32 องศาเซลเซียส ในช่วงบ่ายเขาจึงบอกกับเพื่อนร่วมงานว่ร้ายแรงในตัวเขา

2. ทำงานรับส่งของขาดน้ำ

กรณีนี้เกิดขึ้นกับพนักงานส่งพัสดุวัย 50 ปี ที่ทำงานนี้มา 6 ปีแล้ว หน้าที่ของเขาคือการส่งพัสดุด้วยวิธีการรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขับรถหรือการเดินส่งจดหมาย

ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี จนกระทั่งปลายเดือนพฤษภาคมปีหนึ่ง สภาพอากาศกลับร้อนอบอ้าวกะทันหัน เขาเริ่มประสบอาการกล้ามเนื้อเกร็งจากความร้อน และหน้ามืดจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลา 2 วัน ผลการรักษาพบว่า เขามีอาการไตวายเฉียบพลันเพราะขาดน้ำ

เคราะห์ยังดีว่า อาการของเขาดีขึ้นหลังได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จึงไม่มีการเสียชีวิตขึ้น

3. ทำงานบริเวณเตาหลอม

แม้จะไม่ได้ทำงานกลางแจ้ง เจอแสงแดดจัง ๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยเสมอไป เพราะความร้อนสามารถมาได้หลากหลายรูปแบบ

เหตุการณ์ในข้อนี้เกิดขึ้นในโรงงานโลหะแห่งหนึ่ง เมื่อพนักงานชายวัย 35 ปีเสียชีวิตเพราะได้รับความร้อนสูงเกินกว่าที่ร่างกายจะรับได้ จากการทำงานใกล้กับเตาหลอม

OSHA รายงานว่า วันหนึ่งพนักงานคนนี้ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณเตาหลอมที่มีความร้อนสูง ถึงแม้เขาจะสวมชุดป้องกันความร้อนระหว่างทำงานอย่างดี แต่เพราะต้องทำงานในสภาพร้อนอบอ้าวหลายชั่วโมง ทำให้ร่างกายของเขาถึงขีดจำกัดจนล้มลง หมดสติ และสิ้นชีวิตในเวลาต่อมา

ทั้ง 3 กรณีนี้ถือเป็นกรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงภัยของการทำงานกลางความร้อนที่ขาดมาตรการดูแลที่ดีเท่าที่ควร และเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า ทำไมแต่ละองค์กรจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันความร้อน เพื่อจะได้ไม่สูญเสียพนักงานที่มีค่าโดยใช่เหตุ

Too Hot to Work อากาศวันนี้ร้อนเกินไปแล้ว HR ดูแลพนักงานอย่างไรได้บ้าง

รู้จักหลักการ Heat Safety อยากทำงานหน้าร้อนให้ปลอดภัย ต้องตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้

เมื่อการทำงานท่ามกลางอากาศร้อน ๆ ไม่เป็นผลดีต่อใคร หากใครเป็น HR ที่มีหน้าที่ดูแลพนักงานในองค์กร ก็ไม่สามารถอยู่เฉยได้ ต้องหาวิธีช่วยเหลือพนักงานให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด 

นำมาสู่การออกแบบหลักการที่ชื่อว่า Heat Safety หรือแนวทางการทำงานที่ช่วยให้พนักงานทำงานกลางอากาศร้อนระอุได้อย่างปลอดภัย 

ทั้งนี้ แต่ละองค์กรจะมีมาตรการ Heat Safety แตกต่างกันไป แต่หลักใหญ่ใจความแล้วมีอยู่ 7 สิ่งที่พบเจอบ่อย ๆ โดย HREX ขอรวบรวมออกมาเป็นแนวทางโดยรวมดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการเผชิญความร้อนโดยไม่จำเป็น เช่น การเปลี่ยนเวลาทำงาน ช่วยให้พนักงานเลี่ยงความร้อนระอุที่สุดของวันได้ อย่างไรก็ตาม อาจไม่ใช่ทุกองค์กรที่สามารถเปลี่ยนแปลงเวลาการทำงาน แต่หนึ่งในสิ่งที่ช่วยได้คือการอนุมัติให้พนักงาน Work From Home ช่วยให้ผู้คนออกจากบ้านเพื่อมาทำงานน้อยที่สุด
  2. ส่งเสริมให้แต่งกายสบาย ๆ แต่ละองค์กรอาจคาดหวังว่าการแต่งตัวดี แต่งตัวสุภาพเรียบร้อย และมีความมิดชิดบ่งบอกถึงความเป็นมืออาชีพในการทำงาน แต่ในยุคสมัยใหม่ หลายองค์กรตระหนักแล้วว่าไม่จำเป็นต้องให้พนักงานแต่งตัวเต็มยศก็ได้ เพราะประสิทธิภาพของการทำงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับการแต่งกายแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หากงานไหนจำเป็นต้องสวมใส่ชุดแต่งกายที่มิดชิดเพื่อทำงาน เช่น ทำงานในโรงงาน ก็ยังจำเป็นต้องคงไว้เช่นนั้นนะ
  1. จัดหาน้ำดื่มให้พร้อม ที่ใดมีน้ำที่นั่นมีชีวิต แทบทุกองค์กรล้วนมีตู้กดน้ำให้พนักงานอยู่แล้ว แต่ต้องดูแลให้มั่นใจว่า สามารถจัดสรรน้ำดื่มที่เพียงพอต่อจำนวนพนักงานได้ทุกคน ไม่ให้ใครต้องขาดน้ำแม้แต่คนเดียว 
  2. ห้ามดื่มของมึนเมา แต่ละองค์กรน่าจะมีกฎว่าห้ามดื่มแอลกอฮอล์ขณะปฏิบัติงานอยู่แล้ว เพราะทำให้สติสัมปชัญญะลดน้อยลง อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น โดยจากข้อมูลของ ThaiPBS ระบุว่า เหตุผลสำคัญที่ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ช่วงหน้าร้อน เพราะความร้อนจัดจะทำให้แอลกอฮอล์ซึมเข้าเลือดเร็วขึ้น เพิ่มแรงดันเลือดให้สูงขึ้น ร่างกายจะขับเหงื่อ และปัสสาวะมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่อาการช็อกหมดสติ และเสียชีวิตได้
  1. อบรมเรื่องความปลอดภัย แต่ละบริษัทต้องหันมาเอาจริงเอาจังกับการอบรมความปลอดภัยให้กับพนักงานมากขึ้น ให้เกิดความเข้าใจตรงกันว่า ควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ พื้นที่ไหนที่เข้าไปแล้วต้องสวมชุดป้องกันเต็มรูปแบบ เครื่องมือแบบใดที่ห้ามพนักงานที่ยังไม่ผ่านการฝึกใช้เด็ดขาด ไปจนถึงการตรวจตราว่า เครื่องมือที่ใช้งานเสื่อมสภาพเพราะอากาศร้อนหรือไม่ จะช่วยป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
  1. หาเวลาให้พนักงานอยู่ในร่มมากขึ้น หากพนักงานต้องทำงานกลางแจ้ง นายจ้างต้องดูแลและจัดสรรพื้นที่ร่มให้พนักงานได้พักผ่อน ปกป้องร่างกายจากแสงแดดที่จัดจ้านเกินไป และอย่าลืมตรวจสอบด้วยว่า เครื่องปรับอากาศในองค์กรทำงานตามประสิทธิภาพของมันหรือไม่ หากมีปัญหาจะได้ซ่อมแซมได้รวดเร็ว
  2. มุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนในองค์กรให้มากขึ้น วิกฤติโลกร้อนเป็นปัญหาที่องค์กรทั่วโลกให้ความสำคัญ และกำลังร่วมกันหาทางแก้ไข เพราะทุกคนตระหนักแล้วว่า จะสนใจแต่ผลประกอบการ ไม่สนใจความเป็นอยู่ของพนักงาน ไม่ได้อีกต่อไปดังนั้น ดังนั้นต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ต่อส่วนรวม เพื่อร่วมสร้างสังคมที่ดีขึ้นไปพร้อมกัน เพื่อให้ทุกชีวิตเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง โดยเริ่มจากในองค์กรตัวเองตั้งแต่วันนี้

หากองค์กรไหนไม่รู้จะเริ่มอย่างไร สามารถยึดหลัก SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ และหลักแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ESG (Environment, Social, Governance) ได้เลย

ไทยฮอนด้า (Thai Honda) ดูแลพนักงานอย่างไร เมื่อต้องทำงานกลางความร้อน

HREX มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณ นวรัตน์ มรุธาวานิช ผู้จัดการฝ่ายบุคคล บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด เพื่อสอบถามว่า ไทย ฮอนด้า มีแนวทางในการทำงาน และดูแลพนักงานที่ต้องทำงานกลางอากาศร้อน ๆ อย่างไรบ้าง

Too Hot to Work อากาศวันนี้ร้อนเกินไปแล้ว HR ดูแลพนักงานอย่างไรได้บ้าง

คุณนวรัตน์ อธิบายว่า นโยบายการทำงานของไทยฮอนด้า จะไม่มีการมอบหมายให้พนักงานต้องไปทำงานกลางอากาศร้อน ๆ กลางแจ้ง ทั้งนี้จะมีหน่วยงานหนึ่งที่ต้องทำงานบริเวณเตาหลอมซึ่งมีความร้อนสูง แต่พนักงานจะได้รับการอบรมความปลอดภัยตั้งแต่ก่อนเริ่มงานว่า เมื่อต้องทำงานในจุดนี้ จะต้องสวมใส่ชุดป้องกันที่ได้มาตรฐาน และมีเวลาทำงาน 2 ชั่วโมงต่อ 1 กะ รวมแล้ว 3 กะต่อวัน ไม่มากไปกว่านั้น

โดยเมื่อถึงเวลาพัก พนักงานก็จะได้พักผ่อนในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศ และมีน้ำดื่มเย็น ๆ ที่พนักงานสามารถดื่มเพื่อเติมพลัง เติมความชุ่มชื่นในร่างกายได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ไทยฮอนด้า หากพนักงานพบว่ามีอาการไม่สบายเพราะความร้อน ก็สามารถมาปฐมพยาบาลที่ห้องพยาบาลได้เลย โดยจะมีแพทย์และพยาบาลพร้อมปฐมพยาบาลกู้ชีพเบื้องต้นประจำการตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีรถพยาบาลพร้อมรับส่งพนักงานไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลอย่างทันท่วงทีด้วย 

“ไทยฮอนด้า ดูแลความปลอดภัยของพนักงานอย่างดี เพราะเราตระหนักว่าพนักงานทุกชีวิตสำคัญต่อองค์กรทั้งสิ้นค่ะ” ผู้จัดการฝ่ายบุคคล ไทยฮอนด้า ยืนยัน

บริษัทก่อสร้าง SYNTEC Construction ดูแลพนักงานกลางอากาศร้อนอย่างไร

Too Hot to Work อากาศวันนี้ร้อนเกินไปแล้ว HR ดูแลพนักงานอย่างไรได้บ้าง

เรามาดูตัวอย่างของบริษัทรับเหมาก่อสร้าง SYNTEC Construction กันบ้างดีกว่า HREX มีโอกาสพูดคุยกับคุณ สิทธิพร อร่ามวิทย์ Director of People & Digital Solutions ถึงการดูแลพนักงานขององค์กรที่ต้องทำงานก่อสร้างกลางอากาศร้อน ๆ ว่า ด้วยอากาศประเทศไทยที่ร้อนขึ้นเสมอ ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการที่ดูแลพนักงานให้ดีมาก ทั้งพนักงานขององค์กรเองรวมถึงพนักงาน Subcontract จากองค์กรอื่นที่ต้องทำงานร่วมกัน

คุณสิทธิพร เล่าว่า ในแต่ละวันองค์กรจะเช็คพยากรณ์อากาศก่อนเสมอว่า สภาพอากาศเป็นอย่างไร เพื่อจะได้นำมาตรการที่มีมาปรับใช้ตามสภาพอากาศที่เกิดขึ้นได้ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยของคนทำงานทุกคน โดย HR จะแบ่งกะทำงานกลางแจ้งของพนักงานอย่างชัดเจนว่า พนักงานจะทำงานกลางแจ้ง 1-2 ชั่วโมงต่อ 1 กะ ขึ้นอยู่กับว่าช่วงนั้นแดดร้อนเพียงใด จากนั้นจะให้เข้ามาพักในที่ร่ม ก่อนส่งไม้ต่อให้พนักงานอีกทีมเข้ามาทำงานต่อ เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนจบวัน

นอกจากนั้น องค์กรจะติดตั้งแทงค์น้ำดื่มและน้ำสำหรับล้างตัวไว้ใกล้ ๆ กับจุดที่ทำงานเสมอ และจัดหาอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมให้ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อคลุมที่ไม่เพียงช่วยกันแดดได้ แต่ยังระบายความร้อน ระบายเหงื่อได้ดีแบบเดียวกับที่นักกีฬามืออาชีพใช้ และมีหมวกกันน็อคที่ช่วยป้องกันแสง UV ด้วย เพื่อให้มั่นใจว่า พนักงานจะไม่เป็นอันตรายหากทำงานกลางแจ้ง

SYNTEC Construction ยังจัดเทรนนิ่งพนักงานเสมอ เพื่อให้พนักงานรับรู้ถึงวิธีการทำงานกลางแดดร้อนอย่างปลอดภัย ให้พวกเขารู้จักสังเกตอาการตัวเองและคนรอบข้างว่า มีอาการป่วยเป็นโรคลมแดดหรือโรคอื่นใดหรือไม่ ผลของการทำงานที่ผ่านมา คุณสิทธิภาคภูมิใจว่า SYNTEC Construction สามารถช่วยป้องกันพนักงานจากการล้มป่วยกลางแดดได้แบบ 100%

ใช้บริการ Health & Wellness Solution ดูแลพนักงานที่ทำงานกลางอากาศร้อน

ยิ่งอากาศร้อน HR ยิ่งต้องดูแลพนักงานอย่างเต็มที่ เพราะอย่าลืมว่า พนักงานคือคนสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรเติบโตไปสู่เป้าหมายได้ 

แต่นอกเหนือจากการออกนโยบาย Heat Safety ให้พนักงานทำงานอย่างปลอดภัย อีกวิธีที่สามารถช่วยเหลือพนักงานได้คือการหาบริการ Health & Wellness สวัสดิการที่ช่วยดูแลพนักงานด้านสุขภาพกาย (Physical) และสุขภาพจิต (Mental) ช่วยดูแลสุขภาพของพนักงานอย่างรอบด้าน ให้มั่นใจว่าจะช่วยป้องกันพนักงานจากการล้มป่วยเพราะทำงานกลางแจ้ง และช่วยรักษาพนักงานหากเกิดเรื่องไม่คาดฝัน

โดยหาก HR องค์กรไหน ยังไม่มีบริการดังกล่าวให้กับพนักงานล่ะก็ สามารถมาค้นหา Health & Wellness Solution ได้ผ่าน HREX ทางลิงก์นี้ได้เลย

บทสรุป

อากาศร้อนไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ นับวันอุณหภูมิจะยิ่งร้อนระอุขึ้นเรื่อย ๆ ร้อนแล้ว ร้อนอยู่ ร้อนต่อ เป็นปัญหาระยะยาวที่จำเป็นต้องเร่งแก้ไขกันทั้งสังคม รวมไปถึงทั้งโลก ธุรกิจต่าง ๆ และ HR ขององค์กรถึงเวลาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้แล้ว หากไม่รีบเข้ามาช่วยดูแลพนักงานตั้งแต่วันนี้ อาจส่งผลกระทบต่อการทำงาน และไม่สามารถไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้เลย

Sources:

ผู้เขียน

Picture of Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง