HIGHLIGHT
|
เราต้องการจ้างคนเก่งที่มีพรสวรรค์โดดเด่น และเราไม่อยากให้คนเก่งเหล่านี้ลาออกจากองค์กรไปเลย
ประโยคนี้มักจะเป็นความต้องการของทุกองค์กร ไม่มีใครอยากสูญเสียคนที่มีความสามารถไปจากบริษัท และนั่นก็เป็นข้อกังวลใจอย่างหนึ่งสำหรับฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ของทุกองค์กรด้วยเช่นกัน ปัญหาการลาออกส่วนใหญ่นั้นมันเป็นเรื่องการทำงานตลอดจนสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งหากสภาพแวดล้อมน่าอยู่ก็เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานที่ดีได้เช่นกัน แต่เรื่องสำคัญอีกเรื่องที่มีส่วนอยู่ไม่น้อยก็คือเรื่องสวัสดิการพนักงานนั่นเอง ซึ่งนั่นสะท้อนถึงการที่องค์กรดูและเอาใจใส่พนักงานดีหรือไม่ได้เหมือนกัน มาถึงตรงนี้องค์กรหรือแม้กระทั่งฝ่าย HR เองก็ตาม ก็คงตั้งคำถามเดียวกันว่า … แล้วสวัสดิการแบบไหนล่ะที่พนักงานต้องการจริงๆ
Contents
สวัสดิการที่องค์กรมอบให้แก่พนักงาน กับ สวัสดิการที่พนักงานต้องการ นั้น บางเรื่องก็เป็นสิ่งที่ตรงกัน ส่วนบางเรื่องก็เป็นสิ่งที่ต่างความเห็นกัน ในเรื่องนี้ทาง Jobthai (jobthai.com) เคยทำบทความนำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นจากคนทำงานทั่วประเทศในประเด็นที่ว่า “สวัสดิการที่คนทำงานต้องการจากองค์กร” ซึ่งเป็นการทำผลสำรวจจากคนทำงานที่เป็นพนักงานทั่วไปจำนวน 7,420 คน ทั่วประเทศ โดยมีผลการสำรวจออกมาดังนี้
10 สวัสดิการ (Employee Benefit) ที่ “พนักงาน” ให้ความสำคัญมากที่สุด
- โบนัส
- วันหยุด-วันลาตามกฎหมาย
- ประกันสังคม
- ประกันสุขภาพ
- ค่าล่วงเวลา
- เงินออมพิเศษ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- ค่ารักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวของพนักงาน
- เวลาทำงานที่ยืดหยุ่นได้ (Flexible Hour)
- ประกันชีวิต
- เบี้ยขยัน
จากนั้นทาง Jobthai (jobthai.com) ได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมกับฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ในองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศกว่าอีก 457 คน ในหัวข้อ “สวัสดิการที่องค์กรจัดสรรให้กับพนักงาน” โดยมีผลการสำรวจออกมาดังนี้
10 สวัสดิการที่ “องค์กร” นิยมจัดสรรให้กับพนักงานมากที่สุด
- วันหยุด-วันลาตามกฎหมาย
- ประกันสังคม
- โบนัส
- ค่าล่วงเวลา
- กิจกรรมสันทนาการ
- ชุดทำงาน
- ตรวจสุขภาพประจำปี
- เบี้ยขยัน
- เงินสนับสนุน เช่น งานแต่งงาน งานอุปสมบท
- ประกันอุบัติเหตุ
ข้อมูลอ้างอิง : Jobthai (jobthai.com)
หากเปรียบเทียบระหว่าง “สวัสดิการที่พนักงานให้ความสำคัญมากที่สุด” กับ “สวัสดิการที่องค์กรนิยมจัดสรรให้กับพนักงานมากที่สุด” จะพบว่า มี 5 สวัสดิการที่ตรงกัน ได้แก่ โบนัส, วันหยุด-วันลาตามกฎหมาย, ประกันสังคม, ค่าล่วงเวลา และเบี้ยขยัน เท่านั้น ส่วนอีกปัจจัยสำคัญที่พนักงานยุคนี้ต้องการก็คือสวัสดิการด้านสุขภาพ ตั้งแต่ประกันสุขภาพ, ประกันชีวิต, ค่ารักษาพยาบาลของพนักงานและคนในครอบครัว เป็นต้น ซึ่งอาจไม่รวมอยู่ในสวัสดิการที่ฝ่าย HR มักนิยมจัดให้ในองค์กรทั่วไป
นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจที่มักเป็นความต้องการของคนทำงานรุ่นใหม่นั่นก็คือ “เวลาทำงานที่ยืดหยุ่นได้ (Flexible Hour)” โดยคนรุ่นใหม่มักจะเน้นที่ประสิทธิพลในการทำงานมากกว่าระบบการทำงานในแบบเก่าที่เน้นปริมาณมากกว่า ตรงจุดนี้หลายบริษัทเริ่มมีการปรับตัวกันมานานแล้ว โดยเฉพาะบริษัทของคนรุ่นใหม่ทั้งหลาย แต่ก็ยังมีหลายบริษัทโดยเฉพาะองค์กรระดับใหญ่หรือองค์กรเก่าแก่ที่ยังคงใช้เรื่องเวลาตอกบัตร, เวลาเข้างาน, หรือแม้แต่ชั่วโมงในการทำงาน มาเป็นตัววัดผล ในขณะที่บริษัทเหล่านี้ต่างก็ต้องการคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเสริมทัพการทำงานของตนด้วย สิ่งนี้อาจจะต้องศึกษาอย่างลึกซึ้ง ปรับให้เหมาะกับลักษณะงาน และเป็นวิจารณญาณของแต่ละองค์กรอีกทีด้วยนั่นเอง
HR ที่มีข้อสงสัยหรือมีคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้
Q. วิธีการหาสวัสดิการที่โดนใจพนักงานสำหรับบริษัทขนาดกลาง
เราจะรู้ได้อย่างไรคะว่าพนักงานในบริษัทของเราอยากได้สวัสดิการอะไร มีวิธีการในการเก็บข้อมูลอย่างไร ไม่ใช้บริษัทนาดเล็กที่จะถามกันได้ง่ายๆ แต่ก็ไม่ได้ใหญ่มาก มีพนักงานราวๆ 100-200 คนค่ะ
A. ตามที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ ปกติหลายๆองค์กรจะมีการทำ engagement survey หรือ organization health survey เป็นประจำทุกๆปี หรือทุก2ปี ซึ่งสวัสดิการมักเป็นหนึ่งในหัวข้อหลักที่องค์กรจะสำรวจ ดังนั้น องค์กรจะสามารถรู้ได้ว่าพนักงานพึงพอใจสวัสดิการที่มีอยู่หรือไม่ และต้องการอะไรเพิ่มเติมได้จาก engagement survey หรือ organization health survey ตัวอย่างคำถามที่มักใช้ ได้แก่,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)
ทำไมสวัสดิการจึงมีความสำคัญ
สวัสดิการคือผลประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับเพิ่มเติมนอกเหนือจากเงินเดือน ในขณะเดียวกันมันก็ช่วยลดรายจ่ายในชีวิตประจำวันได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะรายจ่ายสำคัญอย่างค่ารักษาพยาบาลที่เราคาดเดาไม่ได้เลยว่าจะต้องจ่ายเมื่อไร และจะต้องใช้เงินเล็กหรือก้อนโตเพียงไร
อีกอย่างผู้สมัครงานในยุคนี้ส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับเรื่องสวัสดิการด้วยเหมือนกัน บางบริษัทอาจจะให้อัตราค่าจ้างที่น้อยกว่า แต่มีสวัสดิการให้กับพนักงานที่ดีและคุ้มค่ากว่า ก็เป็นผลในการตัดสินใจร่วมงานกับบริษัทได้เหมือนกัน ในกรณีนี้ฝ่าย HR หลายบริษัทก็มักจะนำเรื่องสวัสดิการมาเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการจูงใจผู้สมัครเพื่อดึงดูดให้อยากร่วมงานกับบริษัทมากขึ้น โดยอาจแจ้งรายละเอียดของสวัสดิการที่จะได้รับไว้ในประกาศรับสมัครงานเลย หรืออาจชี้แจงสวัสดิการเพิ่มเติมในขั้นตอนสัมภาษณ์งานนั่นเอง แน่นอนว่าสิ่งนี้มีผลต่อการตัดสินใจของผู้สมัครเป็นอย่างมาก และเป็นสิ่งที่ผู้สมัครจะให้ความเชื่อถือในองค์กรด้วย ว่าองค์กรนี้ดูแลพนักงานอย่างไร และดูแลดีหรือเปล่า
ขณะเดียวกันการที่องค์กรไม่จัดสรรสวัสดิการที่ดีให้กับพนักงานก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในอัตราเปลี่ยนงาน (Turn Over) สูงเช่นกัน เพราะพนักงานรู้สึกว่าได้รับสิทธิประโยชน์ที่น้อย รวมถึงได้รับการดูแลจากองค์กรที่ไม่ดีพอ ก็ย่อมเปลี่ยนไปทำงานกับบริษัทที่ดูแลดีกว่า ซึ่งหากบริษัทไหนมีอัตราของการเปลี่ยนแปลงพนักงานบ่อยๆ แน่นอนว่าย่อมทำให้มีผลกระทบกับงานได้ไม่มากก็น้อย ในขณะเดียวกันก็ลดความน่าเชื่อถือของบริษัทลงได้เหมือนกัน ธุรกิจของบริษัทก็อาจได้รับผลเสียหาย และอาจนำไปสู่การยุติการประกอบการได้ในที่สุด
4 สวัสดิการที่มีผลต่อการตัดสินใจร่วมงานกับองค์กรเป็นพิเศษ
ประเภทของสวัสดิการนั้นมีมากมายหลากหลายรูปแบบตั้งแต่ สวัสดิการที่เป็นข้อบังคับตามกฎหมาย, สวัสดิการพื้นฐาน, สวัสดิการพิเศษตามรายตำแหน่งหรือรายบุคคล, สวัสดิการนอกเงื่อนไขต่างๆ ที่เกิดจากการเจรจาร่วมกัน, หรือแม้กระทั่งสวัสดิการที่ได้ตามอายุงานในองค์กร เป็นต้น แต่มีอยู่ 3 สวัสดิการหลักๆ ที่ผู้สมัครงานส่วนใหญ่สนใจ หรือต้องเช็คเป็นอันดับต้นๆ และมีผลอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจร่วมงานในแต่ละองค์กร
1.สวัสดิการด้านสุขภาพ
- การตรวจสุขภาพประจำปี
- ประกันสุขภาพ / ประกันชีวิต
- การดูแลสุขภาพจิต
- สวัสดิการด้านทันตกรรม
การมีสุขภาพที่ดีย่อมส่งผลต่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ บริษัทส่วนใหญ่จึงหันมาใส่ใจในสุขภาพของพนักงานเพื่อให้พนักงานทำงานให้กับองค์กรอย่างมีความสุขที่สุด ขณะเดียวกันก็ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าตนเองจะป่วยหรือแม้กระทั่งประสบอุบัติเหตุเมื่อไร และไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้เท่าไร ความเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ และเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นสวัสดิการด้านสุขภาพตลอดจนการแพทย์ต่างๆ จะเป็นปัจจัยแรกๆ ที่พนักงานจะสำรวจข้อเสนอในแต่ละบริษัท บางบริษัทจัดให้แค่สวัสดิการพื้นฐาน อย่างเช่น ประกันสงคม เท่านั้น แต่บางบริษัทก็เพิ่มประกันสุขภาพตลอดจนประกันชีวิตให้ด้วย หรือแม้แต่การตรวจสุขภาพประจำปีที่บางบริษัทใช้โรงพยบาลที่ดีได้มาตรฐาน บางบริษัทก็ใช้โรงพยาบาลที่มีคุณภาพรองลงมา แต่บางบริษัทก็ไม่มีเรื่องนี้ให้เลย หรือกระแสที่กำลังมาแรงอย่างเรื่องการดูแลสุขภาพจิต บริษัทใหญ่ๆ มักเพิ่มสวัสดิการส่วนนี้เข้ามาแล้ว มีจิตแพทย์ให้บริการ แต่สำหรับบริษัทเล็กก็อาจไม่คุ้มค่าใช้จ่ายได้เช่นกัน อย่างไรก็ดีผู้สมัครทุกคนจะประเมินความพึงพอใจของตนเองประกอบกับปัจจัยอื่นๆ ด้วย
2.สวัสดิการด้านการเดินทาง
- ค่าเดินทาง
- รถประจำตำแหน่ง
- ค่าเครื่องบิน
- รถรับ-ส่ง
- ค่าน้ำมัน
ไม่ว่าบริษัทจะอยู่ใจกลางเมือง บริษัทอยู่ชานเมือง บริษัทอยู่ในนิคมอุสหากรรมห่างไกลเมือง บริษัทอยู่ต่างจังหวัด หรือแม้งานที่ต้องมีการเดินทางบ่อยๆ สวัสดิการข้อนี้เป็นส่วนสำคัญในการพิจารณาร่วมงานกับบริษัททั้งสิ้น ฝ่าย HR ในองค์กรต่างๆ มักใช้ข้อเสนอนี้เป็นสวัสดิการเพิ่มเติมนอกเหนือจากเงินเดือนเพื่อดึงดูดใจเสมอ บางครั้งอาจรวมอยู่ในอัตราเงินเดือนที่ได้รับ แล้วมีการแจ้งเพิ่มเติมด้วย แต่กรณีนี้ผู้สมัครอาจรู้สึกถูกเอาเปรียบมากกว่าที่จะเสนอค่าเดินทางพิเศษแยกออกมา บางองค์กรที่ตั้งอยู่ไกลและต้องการประหยัดงบก็อาจใช้วิธีจ้างรถรับ-ส่งประจำเพื่อเสริมเป็นสวัสดิการให้กับพนักงานบริษัทได้เช่นกัน
กรณีที่บริษัทตั้งอยู่ไกลจากชุมชนเมือง เดินทางไม่สะดวก หรือแม้แต่งานที่ต้องมีการเดินทางบ่อยๆ บางองค์กรอาจเพิ่มข้อเสนอพิเศษอย่างรถประจำตำแหน่งให้เลย เป็นอีกสวัสดิการที่ดึงดูดใจได้เป็นอย่างดี หรือบางองค์กรจะให้เป็นค่าน้ำมันหรือบัตรเติมน้ำมันด้วย ก็ถือเป็นสวัสดิการที่คุ้มค่าทีเดียว
อย่างไรก็ดีก็ยังมีกรณีของการเดินทางไปทำงานต่างจังหวัดหรือต่างประเทศทั้งแบบประจำและแบบครั้งคราว อาจมีสวัสดิการเรื่องค่าเดินทางโดยเครื่องบินให้ ซึ่งนี่ถือเป็นสวัสดิการสำคัญที่ควรให้กับพนักงานในกรณีที่เดินทางไปทำงานด้วย และเป็นข้อได้เปรียบที่จะช่วยให้ผู้สมัครสนใจร่วมงานกับบริษัทได้ดีอีกด้วย
ไม่นับบริษัทที่ไม่สามารถเลือกที่ตั้งได้ อย่างเช่น บริษัทที่ต้องอยู่ในเขตอุสาหกรรม คนที่มีเอนเนอร์ยีในการทำงานส่วนใหญ่มักชอบทำงานในเมืองที่เต็มไปด้วยออฟฟิศและการแข่งขันเสียมากกว่า เพราะศูนย์กลางของธุรกิจมักกระจุกตัวอยู่ที่นั่น การเลือกทำเลบริษัทที่ไกลชุมชนเมืองจึงต้องตัดสินใจให้ดี แน่นอนว่ามันจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเช่า และเรื่องอีกมากมายของบริษัท แต่องค์กรที่ห่างไกลก็มักไม่ดึงดูดใจให้คนมีความสามารถไปร่วมงานด้วยได้ อาจจะได้พนักงานในกลุ่มที่อยากทำงานใกล้บ้าน ซึ่งบ่อยครั้งพนักงานกลุ่มนี้มักเป็นกลุ่มที่เอื่อยเฉื่อย ทำงานให้จบไปวันๆ ไม่ต้องการย้ายไปไหนเพราะจะลำบากในการเดินทาง และเมื่อพนักงานไม่มีประสิทธิภาพก็ทำให้บริษัทไม่มีประสิทธิภาพตามไปด้วยเช่นกัน
อย่างไรบริษัทที่เลือกตั้งอยู่ในที่ที่ห่างไกลชุมชนเมือง อาจสร้างแรงจูงใจพิเศษอื่นๆ แทนได้ เพื่อจูงใจพนักงานที่มีศักยภาพที่ดีมาทำงานได้เช่นกัน เช่น เลือกพื้นที่กว้างขวาง อากาศบริสิทธิ์ มีออฟฟิศคล้ายกับ Campus มหาวิทยาลัย ที่ให้คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าอยู่ในเมือง หรือ ออฟฟิศที่ไกลแต่ว่าผลงานดีมีประสิทธิภาพมากๆ มีชื่อเสียง มีคุณภาพ ก็ดึงดูดให้คนไปร่วมงานได้เช่นกัน หรือแม้การจัดบริการรถรับส่งให้ ก็เป็นปัจจัยช่วยลดความลำบากที่จะทำให้ผู้สมัครตัดสินใจร่วมงานได้ง่ายขึ้นด้วย
3.สวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย
- ที่พักสวัสดิการ
- ค่าเช่าบ้าน/ที่พักอาศัย
- ค่าโรงแรม
สวัสดิการกลุ่มนี้มักไม่เจอในระบบออฟฟิศในเมืองใหญ่นัก แต่มักเจอกับบริษัทที่ต้องไปตั้งสำนักงานในพื้นที่ห่างไกลที่ต้องเดินทาง อย่างเช่น เขตอุตสหากรรม, โรงงานของบริษัท, หรือแม้แต่การไปทำงานยังสำนักงานสาขาต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ฝ่าย HR มักมีข้อเสนอเรื่องสวัสดิการที่พัก ทั้งระยะยาวและระยะสั้น องค์กรที่ประกอบอุตสหกรรมขนาดใหญ่มักลงทุนสร้างที่พักสวัสิการเป็นของตัวเอง ที่มองระยะยาวแล้วคุ้มค่ากว่า แต่บางองค์กรก็ไม่ต้องการเพิ่มภาระตรงนี้ ก็อาจเป็นการเซนสัญญากับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ในการดูแลให้ หรือจ่ายเป็นค่าเช่าที่พักอาศัยให้กับพนักงานไปจัดการดูแลตัวเองตามสะดวก
ในกรณีเดินทางไปทำงานแบบระยะสั้น หรือเดินทางไปทำงานต่างประเทศในระยะสั้น ก็อาจบริการจองโรงแรม (ที่ฝ่าย HR อาจดีลไว้ในราคาพิเศษและใช้บริการประจำ) หรือให้ค่าโรงแรมกับพนักงานได้เช่นกัน ทั้งนี้ข้อเสนอต่างๆ ก็จะช่วยประกอบการตัดสินใจได้ดีขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตามข้อเสนอเรื่องสวัสดิการค่าที่อยู่อาศัยนี้ก็มักไม่พบในกลุ่มคนทำงานระดับชนชั้นกลางที่ทำงานในเมือง แต่กลับเป็นข้อเสนอที่จูงใจสำหรับพนักงานชนชั้นแรงงาน หรือพนักงานรายวัน เป็นอย่างมาก ซึ่งมักจะมีปัญหาด้านการบริหารจัดการเงินและเรื่องที่อยู่อาศัย การมีสวัสดิการนี้จะทำให้เขาภักดีต่อองค์กร และร่วมงานในระยะยาวได้ด้วย
4.สวัสดิการคลอดบุตรและเลี้ยงดูบุตร
- วันลาคลอดบุตร / เลี้ยงดูบุตร
- ค่าช่วยเหลือการคลอดบุตร
- บริการเลี้ยงดูบุตร
- การลาเลี้ยงดูบุตรสำหรับพนักงานเพศชาย
สวัสดิการเรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับพนักงานเพศหญิงเป็นพิเศษ แต่เบื้องต้นสิทธินี้ก็ได้รับการดูแลคุ้มครองโดยกฎหมายอยู่แล้ว นอกจากสิทธิในการลาคลอด 90 วัน ตามกฎหมายแล้ว บางบริษัทยังให้สิทธิเพิ่มเติม เช่น วันลาเพิ่มเติม, ค่าช่วยเหลือการคลอดบุตร, หรือแม้แต่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างของขวัญสำหรับบุตรที่เกิดใหม่ เป็นต้น
สำหรับองค์กรใหญ่ หรือองค์กรที่มีการจ้างพนักงานระดับแรงงานเป็นจำนวนมาก อาจเพิ่มเติมสวัสดิการในด้านศูนย์รับเลี้ยงดูบุตรที่รับฝากดูแลบุตรระหว่างที่พอแม่ไปทำงานให้ด้วย อย่างไรก็ดีบางบริษัทก็มีข้อเสนอที่ดีกว่านั้นเพิ่มเติม เช่น การให้สิทธิวันลาสำหรับเลี้ยงดูบุตรให้กับพนักงานเพศชายผู้เป็นพ่อ เป็นต้น ก็เป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวก และเป็นสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมที่น่าสนใจเช่นกัน
อย่างไรก็ดีบริษัทขนาดกลางหรือเล็กที่อาจไม่ได้มีงบประมาณในการดูแลเรื่องนี้มากนัก ก็อาจช่วยพนักงานเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างอาจจะนำห้องประชุมมาช่วยจัดสรรพื้นที่ไว้รองรับเด็กอ่อนชั่วคราว ในกรณีวันที่พนักงานอาจประสบปัญหาจริงๆ เป็นต้น ซึ่งส่วนนี้อาจจะไม่ใช่เป็นเรื่องของกฎหมาย หรือสิทธิประโยชน์ แต่เป็นเรื่องการแสดงความเอาใจใส่เพิ่มเติมได้เช่นกัน
เงินเดือนสำคัญกว่าสวัสดิการหรือไม่?
หลายคนอาจจะเห็นว่าเงินเดือนสำคัญกว่าสวัสดิการ เพราะเป็นเงินที่พนักงานจะได้รับจริงทุกเดือน และมันก็เป็นผลประโยชน์ที่จับต้องได้โดยตรง ต่างกับสวัสดิการที่บางอย่างเป็นเหมือนสิทธิประโยชน์เฉพาะโอกาส ไม่ได้มาเป็นค่าตอบแทนโดยตรง แต่ในทางตรงกันข้ามหากมองให้ดีมันก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เช่นกัน สำหรับพนักงานที่มีการวางแผนชีวิตที่ดีอาจจะต้องการเงินเดือนมากกว่าสวัสดิการ เพราะเขาสามารถนำเงินนั้นไปจัดการบริหารชีวิตของเขาได้ แต่สำหรับคนที่ไม่ได้มีการวางแผนในชีวิตนัก สวัสดิการต่างๆ ก็เป็นสิ่งช่วยเหลือฉุกเฉินที่ดีทีเดียว
อย่างไรก็ดีหากบริษัทต้องจ่ายเงินเพื่อเป็นประโยชน์กับพนักงานอย่างเดียว อาจจะเป็นงบประมาณที่มากจนเกินไปที่บริษัทอาจแบกรับไม่ไหว บริษัทจึงอาจลดภาระด้วยการให้สิทธิประโยชน์ด้านอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงินแทน ซึ่งบริษัทอาจจะเจรจาค่าใช้จ่ายในราคาที่ถูกได้ดีกว่า ซึ่งการให้สวัสดิการกับพนักงานนั้นก็เป็นการบริหารงบประมาณของบริษัทวิธีหนึ่งเช่นกัน
อันที่จริงแล้วทั้งเงินเดือนและสวัสดิการต่างก็มีความสำคัญด้วยกันทั้งสิ้น บริษัทส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะจัดการทั้งสองอย่างให้เหมาะสม และถือเป็นการดูแลความเป็นอยู่พนักงานในระยะยาวด้วย เพราะบางครั้งในยามที่ลำบากสวัสดิการบางอย่างอาจจะช่วยเหลือพนักงานได้ดีกว่า ในขณะที่เขาอาจจะไม่ได้มีเงินพอในขณะนั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการช่างน้ำหนักความสำคัญของแต่ละบริษัทด้วยนั่นเอง
จุดแข็งของสวัสดิการ
ข้อถกเถียงเรื่องควรให้ความสำคัญกับเงินเดือนหรือสวัสดิการมากกว่ากันนั้นจะยงคงมีอยู่เรื่อยไป แต่สำหรับจุดแข็งของเรื่องสวัสดิการนั้นก็คือการเป็นแรงจูงใจที่ดี และการอำนวยความสะดวกในการทำงานให้ราบรื่นขึ้น รวมถึงสร้างความพึงพอใจให้กับพนักงานในการดูแลขององค์กรด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพได้เช่นกัน
เรื่องของสวัสดิการนั้นยังมีรายละเอียดอีกมากมาย ตั้งแต่สวัสดิการเรื่องวันหยุด, สวัสดิการจ่ายค่าทำงานล่วงเวลา, สวัสดิการลาระยะยาวแบบไม่รับเงินเดือน เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นแรงจูงใจที่ดีที่ทำให้พนักงานอยากร่วมงานกับองค์กรได้มากขึ้นอีกด้วย
นอกจากนั้นสวัสดิการยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยทำให้พนักงานอยากทำงานร่วมกับบริษัทได้ หลายคนเลือกทำงานกับบริษัทที่ให้สวัสดิการที่ดีเพราะระยะยาวแล้วคุ้มค่า สร้างความจงรักภักดีให้กับบริษัทได้เช่นกัน หรือสวัสดิการที่ดีนั้นจะทำให้คนตัดสินใจลาออกจากบริษัทได้ยากขึ้น และสวัสดิการยังเป็นตัวรั้งคนที่ทำงานดีมีความสามารถให้อยู่กับบริษัทได้ดีอีกด้วย
HR ที่มีข้อสงสัยหรือมีคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้
Q. มาแชร์กันว่า “สวัสดิการพนักงาน” ที่เวิร์คหรือไม่เวิร์คอีกต่อไปแล้วสำหรับพนักงานรุ่นไหม่ มีอะไรกันบ้าง
เริ่มจากตัวอย่างในบริษัทของทุกคนก่อนก็ได้ค่ะ แบบว่าเริ่มเห็นแล้วมั๊ยว่าสวัสดิการณ์บางอย่างที่มีมาเป็นสิบๆ ปี แต่กลายเป็นสิ่งที่พนักงานรู้สึกเฉยๆ มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ หรือคำเรียกร้องจากพนักงานถึงสวัสดิการใหม่ๆ ที่บริษัทไม่เคยทมี แต่เห็นเทรนด์ เห็นแนวโน้มแล้วว่ามีคนอยากได้เยอะมากขึ้นเรื่อยๆ
คิดว่าเรื่องนี้คอนข้างสำคัญกว่าที่เราคิดกันนะคะ เพราะมันส่งผลหลายอย่างไล่ตั้งแต่ความน่าดึงดูดในการสมัครงาน ความพึงพอใจในการทำงาน (engagement) ที่สุดท้ายก็จะส่งผลต่อ performance โดยรวมของพนักงาน ซึ่งสุดท้ายก็จะส่งผลมาถึงความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจด้วยค่ะ
A. เนื่องจากโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน ทำให้วิถีชีวิตผู้คนเปลี่ยนไป ซึ่งก็หมายความว่าแรงจูงใจของคนก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วย ดังนั้น สวัสดิการซึ่งถือเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งจึงต้องมีการตรวจสอบหรือสำรวจอย่างสม่ำเสมอ และพิจารณาเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม (โดยคำนึงเรื่องกฎหมายด้วยหากต้องมีการลดสวัสดิการบางอย่างเพื่อเพิ่มบางอย่าง) เพื่อให้สวัสดิการเหล่านั้นสามารถดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพในช่วง recruitment & selection และสามารถรักษา (retain) พนักงานที่มีอยู่ไว้ได้ กล่าวคือแรงจูงใจเป็นสิ่งที่ต้องดูแลตลอด cycle ของการทำ talent management
โดยปกติ หน่วยงานภายใต้ HR…
บทสรุป
สวัสดิการการทำงานในยุคปัจจุบันไม่ใช่เป็นหลักการตายตัวเหมือนในยุคสมัยก่อนแล้ว ในขณะเดียวกันมันกลับกลายเป็นเรื่องสำคัญขึ้นมากว่าสมัยก่อนด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดีสวัสดิการอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามขนาดธุรกิจ, ขนาดองค์กร, ลักษณะขององค์กร, รวมถึงสายงานแต่ละอย่างก็มีรายละเอียดของสวัสดิการที่แตกต่างกัน จะว่าไปแล้วสวัสดิการก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน หากใช้เครื่องมือนี้ในการเป็นแรงจูงใจได้ไม่ดีพอ ก็ก่อให้เกิดผลเสียกับบริษัทได้เช่นกัน ดังนั้นฝ่าย HR ควรบริหารเรื่องสวัสดิการให้เป็น เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายให้คุ้มค่ามากที่สุด