HIGHLIGHT
|
หากองค์กรพบว่าพนักงานมีความเครียดสูง ปกติแล้วสิ่งที่องค์กรควรทำคือการเข้าไปสอบถามถึงต้นตอของความเครียด และหาทางช่วยเหลือ ฟื้นฟู เพื่อให้พนักงานสามารถตั้งหลัก แล้วกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับ YesMadam แพลตฟอร์มด้านความสวยความงามและการดูแลสุขภาพในประเทศอินเดีย กลับตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตำรา HR ทุกเล่มพร่ำสอน เพราะสิ่งที่ YesMadam ทำคือการไล่พนักงานมากกว่า 100 คนที่ให้ข้อมูลว่าพวกเขามีความเครียดสูงออกแทน หลังจากให้ทำแบบสอบถามเพื่อขอข้อมูลว่า ความเครียดของพวกเขาอยู่ในระดับไหน
เหตุการณ์นี้นำมาซึ่งการถกเถียงเกี่ยวกับวิธีที่บริษัทจัดการกับความเครียดของพนักงานที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร ไม่เพียงแค่ในอินเดีย แต่ลุกลามไปทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม YesMadam ออกมาชี้แจงว่า องค์กรไม่ได้เลิกจ้างพนักงาน เพียงแต่บริษัทให้โอกาสพวกเขาไปพักผ่อน เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ เพื่อให้เกิดความผ่อนคลายเท่านั้นตามนโยบายที่ชื่อว่า De-Stress Leave Policy และเมื่อพวกเขาพร้อม ก็จะกลับมาทำงานอีกที
ทั้งหมดนี้เป็นแคมเปญของบริษัทที่ต้องการเน้นย้ำให้ผู้คนตระหนักว่า ปัญหาความเครียดในองค์กรนั้นสำคัญเพียงใด นอกจากนั้นยังสื่อว่าบริษัทให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของพนักงาน ต้องการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี และดูแลพนักงานทุกคนเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัวจริง ๆ
จับสัญญาณเตือน ใครเข้าข่ายอยากได้ Stress Leave
Stress Leave หรือ Mental Health Leave คือการให้พนักงานลาไปพักฟื้นสุขภาพจิต แก้ไขปัญหาความเครียด สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถือเป็นสวัสดิการ หรือนโยบายเพื่อดูแลพนักงานที่หลายองค์กรมีมานานแล้ว เพื่อให้ตอบโจทย์พนักงานหยุดพักจากการทำงานหากมีความเครียดที่เกี่ยวข้องกับงาน หรือมีปัญหาสุขภาพจิตด้านอื่น ๆ เกินกว่าจะรับมือได้ จนมันเริ่มส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพนักงานมีความจำเป็นต้องใช้ Stress Leave จริง ๆ อาจดูอาการเบื้องต้นได้ดังต่อไปนี้
1.สัญญาณเตือนทางร่างกายและอารมณ์
หากเป็นทางกาย อาจมองเห็นได้จากการแสดงอาการเหนื่อยล้า เจ็บป่วยบ่อยของพนักงาน หรือมีประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง ส่วนสัญญาณทางอารมณ์อาจรวมถึงความหงุดหงิดง่าย การหลีกเลี่ยงไม่ยอมมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในทีม หรือมีความกระตือรือร้นที่จะทำงานลดลงอย่างเห็นได้ชัด
2.การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงาน
หากใครเริ่มมาทำงานสายเป็นประจำ ขอกลับก่อนเวลา หรือขอลาป่วยบ่อยเกินปกติ เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่บ่งชี้ว่าพนักงานเริ่มไม่ปกติแล้ว ความเครียดเรื้อรังยังอาจทำให้สมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับการทำงานเสียไป ส่งผลให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
3.เสียงจากเพื่อนร่วมงานผู้ใกล้ชิด
บ่อยครั้งเพื่อนร่วมงานมักสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมหรือผลงานได้เร็วกว่าผู้บริหารและ HR หากองค์กรไหนมีพนักงานแบบนี้ บ่งชี้ว่าวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดโอกาสให้พนักงานสามารถแสดงความคิดเห็นหรือแสดงความห่วงใยต่อเพื่อนร่วมงาน ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่ง
เมื่อพนักงานมาขอ Stress Leave ควรทำอย่างไรต่อ
เปิดใจรับฟังอย่างจริงใจ
สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ทำให้พนักงานรู้สึกสบายใจในการพูดคุยเรื่องความเครียดหรือปัญหาสุขภาพจิต โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เมื่อพนักงานเข้ามาพูดคุยกับฝ่าย HR หรือผู้บริหาร จงรับฟังอย่างเข้าใจและใส่ใจในความรู้สึกของพวกเขา
เก็บรักษาความลับ
โปรดเคารพความเป็นส่วนตัวของพนักงาน ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตหรือคำขอลาพักงานควรถูกเก็บไว้เป็นความลับ และไม่ควรเผยแพร่ให้ผู้อื่นทราบ
เข้าใจต้นตอของปัญหา แล้วแก้ปัญหาในองค์กรให้ดีขึ้น
หลังรับฟังและเก็บรักษาความลับแล้ว โปรดพยายามทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงของความเครียดด้วย ซึ่งอาจมาจากปัญหาส่วนตัวหรือปัจจัยในที่ทำงาน เช่น งานที่มากเกินไปหรือความคาดหวังที่ไม่สมเหตุสมผล การรู้ที่มาของปัญหาจะช่วยให้คุณสามารถหาวิธีสนับสนุนและแก้ไขได้อย่างตรงจุด
Stress Leave ลาได้นานแค่ไหน
ปัญหาความเครียดของแต่ละคน ใช้เวลาช้าเร็วไม่เท่ากันในการกำจัด HR ในหลายองค์กรอาจเกิดคำถามตามมาว่า แล้วควรให้พนักงาน Stress Leave นานแค่ไหนดี ?
ทั้งนี้ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดระยะเวลาการลาประเภทนี้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม การกำหนดระยะเวลาการลาพักงานเนื่องจากความเครียดควรพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ความรุนแรงของอาการ ความจำเป็นในการฟื้นฟูสุขภาพจิต และความพร้อมของพนักงานในการกลับมาทำงาน การปรึกษาแพทย์หรือนักจิตวิทยาอาจช่วยในการประเมินระยะเวลาที่เหมาะสมได้
แต่หากองค์กรไหนที่ยังไม่มี Stress Leave อย่างเป็นทางการ ก็อาจเริ่มจากการให้ใช้วันลาประเภทต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น วันลาป่วยหรือวันลาพักร้อน ตามกฎหมายแรงงานไทย พนักงานมีสิทธิ์ลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง และลาพักร้อนได้อย่างน้อย 6 วันต่อปี เมื่อทำงานครบหนึ่งปี เป็นหลักในการพิจารณาเบื้องต้นก็ได้
เหนืออื่นใด องค์กรควรมีนโยบายที่ยืดหยุ่นและเอื้อเฟื้อต่อการดูแลสุขภาพจิตของพนักงาน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีและส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานในระยะยาว
บทสรุป
แม้ Stress Leave จะเป็นสวัสดิการที่ช่วยให้พนักงานได้หยุดพักเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ แต่การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ความเครียดสะสมจนถึงจุดวิกฤต องค์กรควรสร้างวัฒนธรรมที่ใส่ใจสุขภาพจิตของพนักงานอย่างจริงจัง สนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมไม่ใช่เพียงแค่มีนโยบายไว้ให้ดูดีเท่านั้น เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้อต่อความสุข เกิดความสมดุลระหว่างชีวิต และหน้าที่การงาน
และเมื่อองค์กรสามารถลดความเครียดในที่ทำงานได้จริง ประสิทธิภาพในการทำงานจะดีขึ้น พนักงานจะมีความสุข และท้ายที่สุดองค์กรก็จะเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะคนคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุดขององค์กร
สำหรับองค์กรไหนที่อยากสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อพนักงาน และต้องการหาสวัสดิการที่ช่วยสร้างความสุขให้กับพนักงานได้ แต่ยังไม่รู้จะเริ่มจากอะไร อาจเริ่มจากการมาค้นหา HR Solution ผู้ให้บริการ Employee Engagement ผ่านแพลตฟอร์ม HR Products & Services ของ HREX ทางลิงก์นี้ได้เลย
Sourced |