HIGHLIGHT
|
ความรัก สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา โดยเฉพาะเมื่อเราได้ใช้เวลาร่วมกับใครสักคนอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง จึงไม่แปลกหาก “ที่ทำงาน” จะกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีความรักก่อตัวมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการแอบชอบเพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่ระดับผู้บังคับบัญชาก็ตาม โดยบริษัท Reboot ประเทศอังกฤษได้ทำการสำรวจกลุ่มเป้าหมายกว่า 4,000 คน และพบว่ามีถึง 48% ที่เคยออกเดทกับเพื่อนร่วมงาน , 22% ที่คบหากับหัวหน้าตนเอง และ 36% ที่คบหากับพนักงานที่แต่งงานแล้ว
ความรักในที่ทำงานสามารถนำไปสู่ข้อดีและข้อเสียมากมายที่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้นการหาแนวทางรับมือสถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกบริษัทต้องให้ความสำคัญ
Contents
ความรักในที่ทำงาน (Office Romance) เกิดขึ้นได้อย่างไร
อาร์ต มาร์กแมน (Art Markman) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาการตลาดจาก University of Texas at Austin กล่าวว่ามันเป็นเรื่องง่ายมากที่่เราจะแอบชอบเพื่อนร่วมงาน เพราะความใกล้ชิดที่ต้องเจอหน้า ทานข้าว พูดคุย และตัดสินใจหลาย ๆ เรื่องร่วมกันเกือบทุกวันจะทำให้เกิดความผูกพันที่ส่งผลต่อหัวใจแน่ ๆ นอกจากนี้ศาสตราจารย์เอมี่ นิโคล เบคเกอร์ (Amy Nicole Baker) จาก University of New Haven ยังเสริมต่ออีกว่ามนุษย์มักแอบชอบคนที่มีลักษณะนิสัยหรือมีแนวคิดใกล้เคียงกัน เพื่อนร่วมงานในแผนกจึงมักตรงโจทย์ที่ว่านี้ทุกอย่าง
ประโยชน์ของความรักในที่ทำงาน
แน่นอนว่าทุก ๆ ความสัมพันธ์มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ก่อนอื่นเราจะอธิบายให้เห็นภาพว่าหากพนักงานและบริษัทสามารถจัดการเรื่องความรักในที่ทำงานได้ จะส่งผลดีต่อการทำงานอย่างไร
– ความรักทำให้บรรยากาศในที่ทำงานดีขึ้น : มีผลวิจัยจาก University of Oxford ประเทศอังกฤษที่ยืนยันว่าพนักงานที่ไม่เครียดจะสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่าปกติ ดังนั้นความรักในที่ทำงานก็สามารถกลายเป็นพลังบวกที่ช่วยลดความตึงเครียดและเสริมบรรยากาศของออฟฟิศให้ดีขึ้น ส่งผลต่อทัศนคติของพนักงานท่านอื่น ๆ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการสร้างสรรค์ มีพลังในการทำงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นเรื่องดีต่อผลประกอบการของบริษัทในภาพรวม
– ความรักสร้างแรงจูงใจให้พนักงาน : โดยปกติแล้วความรักของพนักงานในบริษัทมักถูกมองในแง่ลบ แต่หากบริษัทสามารถจัดการควบคุมได้อย่างเหมาะสม ก็เป็นไปได้สูงว่าพนักงานที่อยู่ในความสัมพันธ์ดังกล่าวจะตั้งใจทำงานมากกว่าปกติเพื่อพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าตนยังคงทำงานที่ถูกมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ได้นำไปสู่ความยุ่งยากในการทำงานอย่างที่หลายฝ่ายกังวล
– ความรักช่วยเพิ่มพลังสร้างสรรค์ : ปกติแล้วพนักงานจะอยู่ที่ออฟฟิศราว 7 – 10 ชั่วโมง แต่คู่รักจะใช้เวลาอยู่ด้วยกันทั้งวัน และคอยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตลอดเวลา ดังนั้นหากบริษัทมอบหมายให้ทั้งคู่ทำโปรเจกต์ร่วมกัน ก็มีโอกาสที่จะได้แนวคิดหรือมุมมองใหม่ ๆ ที่หาไม่ได้ในสถานการณ์ปกติ นอกจากนี้การใช้เวลาร่วมกันมากกว่ายังช่วยให้การทำงานเสร็จเร็วขึ้นด้วย
ข้อเสียของความรักในที่ทำงาน
แน่นอนว่าทุกอย่างมีสองด้านเสมอ หมายความว่าความรักในที่ทำงานสามารถส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อบริษัทหากปราศจากการบริหารจัดการที่ถูกต้อง โดยผลวิจัยของ Reboot ประเทศอังกฤษเผยว่า มีพนักงานถึง 21% ที่ตัดสินใจออกจากงานเมื่อเลิกรากับคนรัก และมี 4% ที่ถูกไล่ออกหลังมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมจากความรักในที่ทำงาน โดยเราสามารถอธิบายข้อเสียของความรักของพนักงานได้ ดังนี้
– เกิดความติดขัดในการทำงาน : อย่างที่กล่าวในข้างต้นว่าบรรยากาศที่ดีส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้นบรรยากาศที่แย่ก็จะส่งผลตรงข้ามทันที โดยปัจจัยที่ส่งผลเสียต่อการทำงานมากที่สุดก็คือการทะเลาะของคู่รัก เพราะจะทำให้เกิดความเกลียดชัง และบีบบังคับให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกระหว่างพนักงานที่สนิทสนมกับแต่ละฝ่าย นำไปสู่ความยุ่งยากในการประสานงานระหว่างแผนก ส่งผลกับประสิทธิภาพในการทำงานและการรักษาผลประโยชน์ของบริษัท
– ไม่มีสมาธิในการทำงาน และเกิดความเข้าใจผิดในทีม : ความรักเมื่อถูกดูแลอย่างเหมาะสมก็จะส่งผลดีกับการทำงาน แต่ในมุมกลับหากคู่รักหลงระเริงไปกับความสัมพันธ์ ก็มีโอกาสสูงที่ความใส่ใจกับเนื้องานจะลดถอยลง นอกจากนี้ในบางกรณีแม้ตัวพนักงานจะสามารถทำผลงานได้ตามมาตรฐานแล้ว แต่ความสัมพันธ์ก็จะทำให้ทั้งคู่มีพฤติกรรมระหว่างกันเป็นมากพิเศษอยู่ดี ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่พนักงานท่านอื่น ๆ จะเข้าใจไปว่าทั้งคู่ให้ความสำคัญกับคนรักมากกว่าคนในทีมอย่างที่ควรจะเป็น
– เกิดปัญหาเรื่องการรักษาความลับ : โดยปกติแล้วแต่ละแผนกจะมีข้อมูลที่เป็นความลับอยู่ แต่เมื่อมีพนักงานที่มีความสัมพันธ์กัน ก็เป็นไปได้สูงมากที่ข้อมูลดังกล่าวจะหลุดไปถึงอีกฝ่าย ซึ่งอาจทำให้บริษัทสูญเสียผลประโยชน์ได้
HR ควรรับมือกับความรักในที่ทำงานอย่างไร
Reboot ยังได้รายงานอีกว่า มีนายจ้างถึง 84% ที่ไม่สนับสนุนการมีความรักในที่ทำงาน เพราะมองว่ามันจะส่งผลเสียต่อบริษัทมากกว่าผลดี ในที่นี้คุณอนา โดเวลล์ (Ana Dowell) ทนายความด้านการจ้างงานจากบริษัท Akerman LLP ได้ให้คำแนะนำกับ HR ถึงวิธีรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวเอาไว้ดังนี้
– เลือกใช้นโยบายที่เหมาะสมกับบริษัท : บริษัทแต่ละแห่งมีแนวทางดูแลพนักงานแตกต่างกัน บ้างก็ไม่ยินยอมให้เกิดความรักในที่ทำงานเลย บ้างก็มีข้อห้ามเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานทั่วไปกับหัวหน้างาน และบ้างก็เปิดรับทุกรูปแบบแต่ต้องรายงานให้ฝ่ายบุคคลทราบ โดย Reboot รายงานว่ามีคู่รักในที่ทำงานถึง 57% ที่เลือกปิดความสัมพันธ์นี้เป็นความลับ ดังนั้นคงดีกว่าหากฝ่ายบุคคลสามารถทำให้พนักงานเปิดใจ เพราะจะช่วยให้สามารถกำกับดูแลได้อย่างเหมาะสมและส่งผลกระทบต่อบริษัทน้อยที่สุด
– เน้นย้ำนโยบายให้พนักงานเข้าใจร่วมกัน : เมื่อบริษัทกำหนดนโยบายขึ้นมา ก็ต้องประกาศให้พนักงานรับรู้โดยทั่วกันเพื่อให้มั่นใจได้ว่าพวกเขาได้ตัดสินใจเริ่มต้นความสัมพันธ์โดยรับรู้ถึงข้อกำหนดดังกล่าวแล้ว โดยฝ่ายบุคคลสามารถเน้นย้ำนโยบายและอธิบายปัญหาอาจเกิดขึ้นทั้งในแง่ความสัมพันธ์ตลอดจนพฤติกรรมอันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง ผ่านการประชุมหรือการฝึกอบรมต่าง ๆ เป็นระยะก็ได้
– เปิดช่องทางให้พนักงานสื่อสารกับฝ่ายบุคคลได้อย่างสบายใจ : ความรักเป็นสิ่งที่ห้ามได้ยาก ดังนั้นเมื่อเกิดความรักระหว่างพนักงานขึ้นแล้ว การที่ฝ่ายบุคคลรับรู้และกำกับดูแลได้คือวิธีป้องกันปัญหาที่มีประสิทธิภาพที่สุด อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นหากตัวพนักงานไม่รู้สึกสบายใจมากพอในการบอกเล่าเรื่องที่ละเอียดอ่อนให้ฝ่ายบุคคลรับทราบ (ในที่นี่อาจรวมถึงปัญหาอื่น ๆ ด้วย เช่นการถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือปัญหากับเพื่อนร่วมงานที่ไม่สามารถพูดถึงได้ในสถานการณ์ปกติ) โดยวิธีที่นำมาใช้ได้ก็คือการเปิดรับเรื่องร้องเรียนแบบไม่ระบุตัวตน (Anonymous Report) รวมถึงจัดอบรมวิธีรับมือให้กับหัวหน้าของแต่ละแผนก เพราะถือเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับพนักงานมากที่สุด
– ฝ่ายบุคคลต้องมีความเด็ดขาด ชัดเจน เมื่อเกิดความรักในที่ทำงาน : ไม่ว่านโยบายเกี่ยวกับความรักในออฟฟิศของแต่ละบริษัทจะเป็นอย่างไร แต่หากความรักทำให้เกิดผลกระทบกับประสิทธิภาพในการทำงานหรือสร้างความไม่สบายใจให้กับพนักงานท่านอื่น ฝ่ายบุคคลควรเรียกคุยกับทางคู่รักแบบส่วนตัวและบันทึกการพูดคุยไว้เป็นหลักฐาน โดยอาจมีการเซ็นสัญญาข้อตกลงบางอย่างร่วมกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทก็ได้ ทั้งนี้หากความสัมพันธ์นั้นกลายเป็นพลังลบที่ส่งผลเสียในวงกว้าง ฝ่ายบุคคลก็สามารถพิจารณาเรื่องการโยกย้ายหรือยกเลิกสัญญาได้ แต่ควรปรึกษากับฝ่ายกฏหมายให้ชัดเจนก่อนว่าการตัดสินใจดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายแรงงาน
บทสรุป
การมีความรัก การแอบชอบใครสักคน หรือการมีคนคอยแบ่งปันเรื่องราวทั้งสุขและทุกข์ในแต่ละวันถือเป็นเรื่องดี แต่เมื่ออยู่ในบริบทของการทำงานแล้ว ก็จำเป็นต้องใช้ความเป็นมืออาชีพมากกว่าปกติ หากเป็นความสัมพันธ์ที่ดี ก็สามารถส่งเสริมกันจนกลายเป็นประโยชน์กับทั้งตัวพนักงานและบริษัท กลับกันหากความสัมพันธ์ดังกล่าวยุติลงแบบไม่สวยงาม ก็จะนำไปสู่ปัญหามากมาย เช่นพลังลบจากทั้งคู่ที่ยังคงต้องเจอหน้ากันในที่ทำงาน, ความยากลำบากในการประสานงานหากจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน และร้ายที่สุดคือการลาออกที่ส่งผลเสียกับบริษัทมากที่สุด ดังนั้นการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบนี่เองที่จะทำให้ “ความรัก” ยังคงเป็น “ความสุข” สำหรับทุกคนได้อย่างแท้จริง
Source : |