Search
Close this search box.

ทำไมเกม Kahoot! ถึงช่วยฝึกฝนพนักงาน และสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้ดีกว่าที่คิด

HIGHLIGHT

  • เกม Kahoot! เป็นผลงานการคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษามหาวิทยาลัย 3 คน ที่ต้องการสร้างเกมที่ผู้คนสามารถเล่นและใช้เวลาร่วมกันได้ แม้จะไม่ได้อยู่ที่เดียวกันก็ตาม
  • ปัจจุบัน Kahoot! ถือเป็นเกมออนไลน์ที่ได้รับความนิยม ในฐานะสื่อการเรียนการสอนในรั้วโรงเรียน และเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญสำหรับการเทรนนิ่งของบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก
  • Kahoot! ได้รับความนิยมเพราะเป็นเกมที่เล่นง่าย ใช้งานง่าย มีหลากหลายรูปแบบให้ลองใช้ โดยเฉพาะช่วงแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ HR นำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมให้พนักงานในองค์กร  
  • หลายองค์กรใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ล้วนใช้ Kahoot! เป็นตัวกลางในการสร้างสัมพันธ์อันดีให้คนในองค์กร หนึ่งในนั้นก็คือ Meta หรือ Facebook ที่ชื่นชอบการใช้ Kahoot! มากเป็นพิเศษ
  • หากอยากใช้เกม Kahoot! ให้ได้ใจพนักงาน และเกิดผลดีต่อองค์กร HR สามารถใช้สื่อต่าง ๆ ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว มาใช้ประกอบการเล่นได้ ที่สำคัญต้องไม่ลืมคิดคำนึงว่า เล่มเกมเหล่านี้แล้วพนักงานได้ประโยชน์อะไรในการทำงาน ทำไมพวกเขาถึงต้องรู้เหล่านี้ด้วย เป็นต้น

ทำไมเกม Kahoot! ถึงช่วยฝึกฝนพนักงาน และสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้ดีกว่าที่คิด

ในเวลาทำงานตามปกติ บริษัทอาจไม่ค่อยชอบใจเท่าไหร่หากเห็นพนักงานสุมหัวเล่มเกมออนไลน์ แต่จะมีอยู่เกมหนึ่งที่ HR รวมถึงบอสใหญ่ขององค์กรไม่ว่าแต่อย่างใด แถมอาจจะเป็นคนที่เอามาให้ลองเล่นเองด้วยซ้ำ นั่นคือ Kahoot! (คาฮูต) หรือ Kahoot it เกมออนไลน์ที่แทบทุกบริษัทบนโลก น่าจะต้องเคยเล่นกันทุกสัปดาห์

ทำไม Kahoot! ถึงเป็นเกมที่ได้รับความนิยมอย่างสูง เกมนี้มีประโยชน์อย่างไรกันแน่ในการทำงานของมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย และช่วยสร้างสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นในองค์กรได้อย่างไรบ้าง สามารถหาคำตอบได้ในบทความนี้

Kahoot! คืออะไร ทำไมเกมนี้ถึงดังระดับโลกที่ HR ต้องรู้จัก

ทำไมเกม Kahoot! ถึงช่วยฝึกฝนพนักงาน และสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้ดีกว่าที่คิด

หากอธิบายสั้น ๆ Kahoot! ก็คือเกมออนไลน์ อยู่ในรูปของเกมถาม-ตอบคำถาม ที่เปิดโอกาสให้ผู้ตั้งคำถามได้ตั้งคำถามทั้งง่าย ทั้งยาก เพื่อให้คนจำนวนหนึ่งได้แล้วใช้ถามตอบกันในกลุ่ม 

กติกาของ Kahoot! อาจดูเหมือนธรรมดา แต่ความสนุกของเกมนี้คือการเปิดโอกาสให้ผู้ตั้งคำถามได้ถามอะไรก็ได้ ตามใจชอบ บางครั้งอาจเป็นคำถามที่ไร้สาระ บางครั้งอาจมีสาระ ถือเป็นอุปกรณ์ที่ดีสำหรับการ Ice Breaking หรือละลายพฤติกรรมคนกลุ่มหนึ่งที่อาจไม่รู้จักกันมาก่อน ให้ได้สนิทสนมกันในเวลารวดเร็ว

และที่สำคัญคือ Kahoot! ใช้งานได้ฟรี

Kahoot! ถือเป็นผลงานการคิดสร้างสรรค์ของ โยฮัน แบรนด์ (Johan Brand), เจมี่ บรูคเกอร์ (Jamie Brooker) และมอร์เต็น เวอร์สวิค (Morten Versvik) 3 นักศึกษาจากมหาวิทยาลัย Norwegian University of Science and Technology แต่จริง ๆ แล้ว ต้นกำเนิดของเกมนี้อาจต้องย้อนไปหาเกมที่ชื่อว่า Lecture Quiz ซึ่งศาสตราจารย์ อัลฟ์ อินจ์ แวง (Professor Alf Inge Wang) เคยคิดค้นไว้ เพื่อหวังว่าจะนำมาใช้ในการเรียนการสอน ช่วยสร้างความสนุกในการเรียน 

เพียงแต่มันอาจไม่ปังเท่าที่ควร จนกระทั่ง แบรนด์, บรูคเกอร์ และเวอร์สวิค นำมาดัดแปลงจนเป็นรูปเป็นร่าง อีกทั้งด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไปไกล และความนิยมของสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกม Kahoot! เป็นที่นิยมขึ้นมาถึงปัจจุบัน ถูกใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนที่สำคัญในรั้วสถาบันการศึกษา รวมถึงในบริษัทใหญ่ ๆ กว่า 200 ประเทศทั่วโลก

HR จะเล่นเกม Kahoot! อย่างไร ให้องค์กรได้ประโยชน์

ทำไมเกม Kahoot! ถึงช่วยฝึกฝนพนักงาน และสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้ดีกว่าที่คิด

ความตั้งใจแรกของผู้ก่อตั้งเกมนี้ คือการให้เป็นสื่อการเรียนการสอน ที่ช่วยให้นักเรียนนักศึกษาสามารถเข้าใจบทเรียนได้ดีขึ้น ผ่านการตั้งคำถาม แล้วให้คนอื่น ๆ ได้ตอบคำถามที่ยิ่งตอบถูกเท่าไหร่ คะแนนก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เท่านั้น แล้วถ้าหากถูกในเวลาอันรวดเร็ว ก็ยิ่งได้คะแนนมากขึ้นตามมา

ถึงแม้รางวัลของผู้ชนะอาจไม่ได้รางวัลเป็นเงินมหาศาล แต่ก็จะได้รับการจารึกอยู่บนโพเดี้ยม 3 อันดับแรก เป็นเกียรติประวัติสุดฮานั่นเอง

ความง่าย สบาย ๆ ของ Kahoot! ทำให้กลายเป็นสื่อการเรียนการสอนที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เกม Kahoot! สามารถนำมาใช้ให้ความรู้นักเรียนนักศึกษาวิชาได้แทบทุกวิชา ไม่ว่าจะเป็น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ไปจนถึงเรื่องสัพเพเหระต่าง ๆ เพื่อคลายความเครียด เพื่อเล่นยามว่างก็ได้เช่นกัน

ปัจจุบัน Kahoot! ยังเพิ่มฟีเจอร์ที่มีลูกเล่นน่าสนใจมากมาย เพียงแต่อาจต้องจ่ายเงินเพื่อเข้าถึงลูกเล่นเหล่านั้น แต่หากจะใช้ฟรีต่อไป ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

ทั้งนี้ บริษัทหรือองค์กรทั่วโลกเอง สามารถนำ Kahoot! มาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน เริ่มตั้งแต่การทำ Employee Engagement เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นภายในองค์กร เพื่อละลายพฤติกรรมพนักงานที่อาจไม่ได้สนิทสนมกันมาก่อน ให้ได้รู้จักกันมากขึ้น เข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น และได้เข้าใจถึงเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการจะพิชิต

หรือจะใช้ Kahoot! เป็นเครื่องมือสำหรับเทรนนิ่งพนักงานก็ได้เช่นกัน และรู้หรือไม่ว่า การใช้เกมเป็นสื่อการเรียนรู้หรือ Gamification ยังช่วยให้พนักงานจดจำความรู้ที่ได้มากขึ้น ใช้งานจริงได้มากกว่าความรู้ที่ได้จากการจัดอบรมธรรมดา ๆ ที่มีวิทยากรมาพูดให้ฟังเรื่อยเปื่อย ชนิดที่ความรู้เหล่านั้นก็จะหลุดลอยออกจากสมองไปทันทีหากอบรมเสร็จ

โควิด-19 ตัวการสำคัญ ช่วยสร้างความนิยมให้ HR เล่นเกม Kahoot!

ในสถานการณ์ปกติ Kahoot! ก็เป็นเกมที่ได้รับความนิยมสูงอยู่แล้ว แต่แล้วจู่ ๆ ช่วงต้นปี 2020 เป็นต้นมา ก็มีปัจจัยที่ทำให้ Kahoot! ยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้น ก็คือ โรคโควิด-19 นั่นเองงง !

ไม่รู้ว่าลึก ๆ แล้วทีมงาน Kahoot! จะอยากให้เกมแมสด้วยเหตุผลนี้หรือไม่ แต่เมื่อน้ำขึ้นก็ต้องรีบตัก เพราะสถานการณ์ที่บีบบังคับให้ทุกคนบนโลกต้องอยู่ที่บ้าน ทำงานที่บ้าน ไม่ออกไปไหน ไม่เข้าออฟฟิศ ทำให้เกม Kahoot! ได้เฉิดฉายอย่างเต็มประสิทธิภาพ ตามความต้องการของเหล่าผู้สร้างที่วาดฝันมาตั้งแต่แรกแล้วนั่นคือ อยากให้เกมนี้เป็นเกมที่ทุกคนสามารถเล่นจากที่ไหนก็ได้ ขอเพียงมีอินเทอร์เน็ต มีสมาร์ทโฟนอยู่ในมือ 

สถานการณ์บีบให้ HR ในหลายองค์กรต้องมองหาเครื่องมือใหม่ ๆ ในการทำงาน จากบริษัทที่ไม่เคยใช้ Kahoot! ในการฝึกฝนพนักงานด้วยวิธีการประชุมออนไลน์มาก่อน ก็ต้องใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั่นเอง

และอาจเรียกได้ว่าในช่วงที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด Kahoot! คือโปรแกรมที่ได้รับความนิยมสูงไม่แพ้โปรแกรมประชุมออนไลน์อย่าง Zoom, Microsoft Teams และ Google Meet เลยทีเดียว

เปิดกรณีศึกษา HR ใช้ Kahoot! อย่างไรให้วัฒนธรรมองค์กรแข็งแกร่ง

Kahoot! เป็นเกมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายตามองค์กรใหญ่เล็กทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ที่มีการสำรวจพบว่า 97% ของบริษัทที่ติดอันดับ Fortune 500 หรือบริษัท 500 แห่งในอเมริกาที่ใหญ่ที่สุด ล้วนใช้งาน Kahoot ทั้งเพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กร และเพื่อเทรนนิ่งพนักงาน ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยประหยัดเวลาในการเทรนนิ่งแบบปกติได้มหาศาล

และหนึ่งในองค์กรที่ชื่นชอบการใช้งาน Kahoot! มาก ๆ ก็คือ Facebook หรือ Meta ในปัจจุบันนั่นเอง 

1. Meta / Facebook

ลีโอ ซิลบา (Leo Silva) Sales Training Partner ของ Meta ในแถบลาตินอเมริกา เคยเล่าไว้ว่า Facebook ใช้ Kahoot! เป็นเครื่องมือสำหรับเทรนพนักงานมาตั้งแต่ปี 2016 แล้ว

“ตอนที่เราใช้ Kahoot! ครั้งแรก มันเป็นเครื่องมือที่ง่ายต่อการใช้งาน มีความยืดหยุ่นสูง ช่วยให้เราประเมินได้ดีเลยว่า พนักงานได้เรียนรู้อะไรไปมากน้อยแค่ไหน สามารถผสมผสานด้วยคำถามที่ง่ายและคำถามที่ยาก ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับผู้คน และทำให้แน่ใจว่าคนในทีมจะได้รับประโยชน์สูงสุดเสมอ”

2. Getty Images

อีกองค์กรที่ใช้ Kahoot! อย่างได้ผลก็คือแพลตฟอน์มขายภาพออนไลน์ Getty Images เกร็ก แมคลัฟคลิน (Greg McLaughlin) VP of global sales operations ของ Getty Images ยืนยันว่า พวกเขาเอามาใข้ในขั้นตอนการฝึกฝนเซลล์จำนวนมากกว่า 1,000 คนใน 20 ประเทศ พวกเขาจะใช้เวลาเล่นเกมถามตอบนี้นานกันเกือบชั่วโมง ทุกคนจะให้ความสนใจที่เนื้อหาที่ได้รับ ไม่พลาดรายละเอียดอะไรไปนอกจากนั้นยังช่วยสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้แข็งแกร่งเป็นผลพลอยได้อีกด้วย

อยากใช้ Kahoot! สนุก HR ควรออกแบบคำถามอย่างไร

ทำไมเกม Kahoot! ถึงช่วยฝึกฝนพนักงาน และสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้ดีกว่าที่คิด

จริงอยู่ว่า เวลาออกแบบคำถามใน Kahoot! เราสามารถใช้คำถามง่าย ๆ ธรรมดา ๆ ก็ได้ เพราะบางทีแค่เล่นเฉย ๆ ก็สนุกแล้ว แต่หาก HR อยากเติมรสชาติให้การเล่นเปี่ยมสีสันขึ้นล่ะก็ มีคำแนะนำ 5 ข้อที่จะช่วยให้พนักงานรู้สึกเพลิดเพลินไปกับการ Kahoot! ยิ่งขึ้น และอยากตอบคำถามตั้งแต่ข้อแรกจนถึงข้อสุดท้าย ดังนี้

1. วางแผนให้ชัดเจนว่า ต้องการให้พนักงานได้ประโยชน์อะไรจาก Kahoot!

ถ้าอยากให้คำถาม Kahoot! ส่งอิทธิพลไปถึงตัวผู้ตอบ HR ต้องวางแผนก่อนจะทำคำถามขึ้นระบบออนไลน์ว่า เกมที่จะทำ คำถามที่จะถาม มีประโยชน์อย่างไรต่อองค์กร คำถามเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ตอบทุกคนหรือไม่ คำถามที่ถามเป็นสิ่งที่ผู้ตอบรู้อยู่แล้วหรือไม่ เป็นต้น และเมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าอยากให้พนักงานได้อะไร เมื่อนั้นจะทำให้คำถามที่ออกมา มีชั้นเชิง มีความน่าติดตาม ชวนให้เล่นไปจนจบ

2. เล่น Kahoot! สนุกแล้วอย่าลืมชวนตกผลึกทางความคิด

ความสนุกของ Kahoot อยู่ที่การออกแบบคำถามที่เหนือชั้น ไม่คาดคิดมาก่อน แต่ถ้าเล่นเสร็จแล้ว หรือระหว่างที่เล่นอยู่ อย่าลืมกระตุ้นให้ผู้เล่นได้คิด หรือได้แลกเปลี่ยนกันว่า ทำไมคำตอบข้อนั้นถึงเป็นแบบนี้ ชวนพูดคุยในข้อที่ผิดกันเยอะ ๆ น่าจะเป็นเพราะเหตุผลใด เพราะบางครั้ง คำตอบนั้นอาจเกิดจากการส่งต่อความรู้กันแบบผิด ๆ ก็จะได้ถือโอกาสนี้แก้ไขความรู้ผิด ๆ นั้นด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง (ซึ่งต้องผ่านการหาข้อมูลมาอย่างดีแล้วด้วยนะ มิฉะนั้นอาจโดนแย้งจนหลังหักได้) และอย่าลืมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่ตอบผิดเยอะ ๆ ด้วย เพราะบ่อยครั้ง การไม่รู้คำตอบในบางเรื่อง ไม่ได้แปลว่าผู้เล่นคนนั้นโง่แต่อย่างใด

3. อย่าลืมผสมผสานคำถามที่ง่ายและยากให้ลงตัวเวลาเล่น Kahoot!

ความสนุกของการเล่น Kahoot! คือการพยายามหาคำตอบที่ถูกต้อง ท่ามกลางตัวเลือกที่ผิด แต่หากทุกคนถูกหมด หรือผิดหมดเยอะ ๆ มันย่อมลดทอนความน่าเล่นลงไปพอสมควร ดังนั้นก่อนตั้งคำถาม อย่าลืมพิจารณาว่า คำถามที่ยากเกินไปหรือง่ายเกินไปหรือไม่ เพื่อที่จะได้เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเป็นผู้ชนะได้อย่างแท้จริง

4. เติมความคิดสร้างสรรค์ ด้วยการใช้ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวใน Kahoot! ได้

เวลาตั้งคำถามใน Kahoot! ไม่ได้มีแค่ตัวอักษรเท่านั้นที่ใช้ได้ บางทีการใช้แต่คำถามที่เป็นคำบรรยาย ตัวอักษรอย่างเดียวก็อาจจะน่าเบื่อเกินไปได้ในระยะยาว การเปลี่ยนมาใช้สื่ออื่น ๆ ประกอบด้วยก็ได้ เช่น ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ก็จะช่วยเติมประสบการณ์ที่ดีในการเล่นเกมนี้ได้ บางครั้งอาจใช้ภาพที่เป็นมีม (Meme) สนุก ๆ ฮา ๆ มาลดความตึงเครียดของบรรยากาศก็ได้เช่นกัน

5. ทำเกม Kahoot! ให้ผู้คนอยากออกไปผจญภัย

การทำเกม Kahoot! จริง ๆ แล้วก็ไม่ต่างกับการทำสไลด์พรีเซนเตชั่นนำเสนองาน หรือการทำหนังผจญภัยสักเรื่องเลย เพราะมันก็คือการพาผู้เล่นร่วมผจญภัยสุดหฤหรรษ์ไปพร้อม ๆ กัน หรือบางคนอาจออกแบบคำถาม โดยมองว่าเป็นการทำให้ผู้คนได้หลุดเข้าไปอยู่ในโลกอันน่าตื่นตา และหลบหนีออกมาจากโลกแห่งความเป็นจริงอันโหดร้าย  หากทำให้ผู้คนรู้สึกสนุกจนลืมโลกแห่งความเป็นจริงได้แม้จะเพียงแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ มั่นใจได้ว่ามันจะกลายเป็นประสบการณ์สุดประทับใจที่พนักงานจะลืมไม่ลงของจริง

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q: กลัวพนักงานใหม่ที่รับเข้ามาในช่วง Work from home จะรู้สึกแปลกแยกเพราะไม่ชินกับ Culture ของทีม

พนักงานคนอื่นๆที่อยู่มานานไม่ค่อยมีปัญหาอะไรค่ะเวลาต้องมาคุยมาสื่อสารแบบใหม่เพราะพื้นฐานแล้วรู้จักนิสัยใจคอกันมาก่อน ถ้าพิมพ์มาแบบนี้ก็พอเดาได้ว่าคิดอะไร จะทำอะไร แต่กับพนักงานใหม่ที่เข้ามาช่วงนี้มันจะไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย

ขอคำปรึกษาจากเพื่อนๆ หน่อยค่ะ

A: แนะนำว่า ควรทำการประเมินลักษณะการเรียนรู้ของพนักงานว่าชอบแนวทางการเรียนรู้และถนัดการพัฒนารูปแบบไหนค่ะ

สำหรับองค์กรผมจะมีกลุ่มพนักงานผ่านไลน์ไว้พูดคุย เล่าเรื่องสถานการณ์ต่างๆ โดยไม่มี Level หรือตำแหน่งเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำมานานแล้วครับ เหมือนชุมชนคนบริษัท ประมาณนั้น ช่วง WFH ห้องนี้ก็เงียบเหงาไปเพราะไม่มี Lunch ที่ชวนกันกิน หรือ Friday Fine Night กันแล้ว เลยเงียบๆ ไป  บทบาทของผมคงทำอะไรไม่ได้มากแต่ผมจะโพสท์รูปวิวที่เที่ยว วันเว้นวัน ประมาณเที่ยวทิพย์ สดชื่นจัง แล้วก็มีน้องๆ เริ่มโพสท์รูปที่เคยไปเที่ยวในที่ต่างๆ มาแบ่งปัน ประมาณเที่ยวทิพย์ครับ

การทานข้าวกลางวันด้วยกัน ผ่านโปรแกรม เนื่องจากต้อง Online อยู่แล้วเพื่อการทำงาน ดังนั้น ก็ทานข้าวกลางวันด้วยกันผ่านจอคอมพิวเตอร์ ได้นั่งคุยกัน เหมือนอยู่ออฟฟิศ ก็พอช่วยให้หายเหงาแบบ Online ได้บ้าง

,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

สำรวจเครื่องมือด้าน Employee Engagement ใน HREX นอกจากเกม Kahoot! จะใช้อะไรพัฒนาองค์กรได้อีกบ้าง

Kahoot! เป็นเพียงอีกเครื่องมือเท่านั้นที่จะช่วยให้องค์กรเกิดวัฒนธรรมการทำงานที่ดี สร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นให้คนในองค์กร แต่ในโลกอันกว้างใหญ่ไพศาล ยังมีหลายเครื่องมือให้ HR ได้ค้นหาและลองใช้งานเพื่อยกระดับองค์กร

หากไม่รู้จะค้นหาจากไหน ขอชี้เป้า HREX.asia แพลตฟอร์มที่รวบรวมผลิตภัณธ์และบริการด้าน HR ที่น่าสนใจมากกว่า 10 หมวดหมู่ หนึ่งในนั้นก็คือผลิตภัณฑ์และบริการด้าน Employee Engagement หรือผลิตภัณฑ์และผู้ให้บริการการมีส่วนร่วมและผูกพันของบุคคลากร ที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีของพนักงานในองค์กร ช่วยทำให้มองเห็นแนวทางในการขับเคลื่อนองค์กรไปพร้อมกันอย่างสมบูรณ์แบบ 

หรือหาก HR บริษัทไหน สนใจใช้เครื่องมือด้าน Training & Coaching ผลิตภัณฑ์และผู้ให้บริการการฝึกอบรมและการโค้ชก็มีให้ได้ลองเข้าไปสำรวจ แล้วนำมาใช้งานจริงในองค์กรเช่นกัน

หากใครอยากรู้ว่าผลิตภัณฑ์ด้าน Employee Engagement ตอบโจทย์กับความต้องการขององค์กรได้จริง มีอะไรบ้าง สามารถค้นหาและลองใช้บริการได้แล้วทางลิงก์นี้

บทสรุป

หลายคนอาจติดภาพจำว่า การเล่นเกมย่อมไม่ส่งผลดีต่อชีวิตและการทำงาน แต่จากกรณีศึกษาเรื่อง Kahoot! นั้นปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่า การนำเกมมาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน จะช่วยให้การทำงานของพนักงานเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ได้เรียนรู้มากขึ้น ช่วยให้องค์กรเกิดความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้น และทำให้วัฒนธรรมองค์กรยิ่งแข็งแรงขึ้นอีกด้วย

ถือเป็นบทเรียนที่แสดงให้ HR ได้เห็นว่า ขอเพียงเลือกใช้เครื่องมือที่ถูกต้อง ก็จะนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้อย่างแน่นอน และบางทีการลองมองและคิดนอกกรอบ ก็จะช่วยให้ได้เรียนรู้ และได้ผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิดตามมาอีกเช่นกัน

Sources:

Kahoot

Kahoot

Kahoot

Semantic Scholar

Four Week MBA

Trustradius

PR News Wire

ผู้เขียน

Picture of Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง